ดัตช์ เนเธอร์แลนด์ ฮอลันดา

ไม่ว่าคุณจะคุ้นเคยกับชื่อไหนของประเทศขนาดกะทัดรัดนี้ แต่เราเชื่อว่าคุณไม่น่าคุ้นเคยกับเรื่องราวการเดินทางของผู้คนจากเนเธอร์แลนด์มายังสยาม ในวันที่อโยธยายังเป็นศูนย์กลางการปกครอง การตั้งรกราก การสร้างความสัมพันธ์กับส่วนราชการและผู้คนพื้นถิ่น อย่างลึกซึ้งไปกว่าที่เคยได้ยินจากชั้นเรียนวิชาสังคมศึกษา

ไม่ต่างอะไรกับ เฮเลน (Helen Goossens) และ โยสต์ (Joost de Nooy – “ชื่อผมออกเสียงเหมือน โทสต์ แต่เปลี่ยน ท ทหาร เป็น ย ยักษ์” จากคำบอกเล่าของเจ้าตัว) ตัวแทนทีมออกแบบจาก ‘ฟาบริค’ (Fabrique) บริษัทออกแบบชื่อดังจากอัมสเตอร์ดัม ก่อนพวกเขาได้เข้ามามีส่วนร่วมกับโปรเจกต์ออกแบบการสื่อสารให้กับพิพิธภัณฑ์บ้านฮอลันดา 

ไม่ต้องห่วง บทความนี้ไม่ได้มาเล่าประวัติศาสตร์ เราชวนเฮเลนกับโยสต์ให้มาเล่าแนวคิดเบื้องหลังการทำงานออกแบบโปรเจกต์นี้ให้เราฟังต่างหาก เลยอยากชวนคุณข้ามสะพานเชื่อมวัฒนธรรมและกาลเวลา จากอัมสเตอร์ดัม สู่อโยธยา ไปฟังพร้อมกัน

โยสต์ (Joost de Nooy) และ เฮเลน (Helen Goossens)

ฟาบริค เรียกตัวเองว่า Strategic Digital Design Agency แปลเป็นไทยแบบไม่ให้งงมาก คือทีมออกแบบสำหรับแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ใช้กระบวนการคิดแบบมีกลยุทธ์ พวกเขามีประสบการณ์ในการร่วมงานกับทั้งลูกค้าเชิงพาณิชย์และลูกค้าในวงการพิพิธภัณฑ์ หนึ่งในนั้นคือโปรเจกต์การนำคอลเลกชันของไรจ์กส์มิวเซียม (Rijksmuseum) ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งชาติของเนเธอร์แลนด์ ขึ้นสู่แพลตฟอร์มออนไลน์

บ้านฮอลันดาไม่ใช่โปรเจกต์พิพิธภัณฑ์โปรเจกต์แรก ไม่ใช่โปรเจกต์ใหญ่ที่สุดหรือมีงบประมาณมากมายอะไรสำหรับเอเจนซี่ดีไซน์ฟอร์มใหญ่แบบนี้ พวกเขาจึงวางตัวทีมงานอย่างมีกลยุทธ์ ให้ได้ทีมที่เล็กและคล่องตัว ทำงานได้หลากหลายอย่างมีประสิทธิภาพ

เฮเลนข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากสกอตแลนด์ และข้ามศาสตร์ จากเคยทำงานในวงการผลิตสารคดี พกเอาความสามารถในการสื่อสารเล่าเรื่อง มาร่วมงานกับฟาบริคในฐานะ Project Leader ส่วนโยสต์ข้ามขอบเขตของตัวเอง จากเคยเป็นอาจารย์สอนออกแบบทั้งในเนเธอร์แลนด์และในจีน ขยับออกจากบริษัทรับออกแบบของตัวเอง มาเติมความหลากหลายให้กับทีมในฐานะ Visual Designer ที่เข้าใจเนื้อหางานตั้งแต่ต้นจนจบ

ทีมทั้ง 2 คนเล่าให้เราฟังว่าพวกเขาไม่เคยทำงานด้วยกันตรง ๆ มาก่อนเลย เฮเลนไม่เคยเดินทางมาประเทศไทย โยสต์คุ้นชินกับวัฒนธรรมเอเชียมากกว่า แต่ก่อนหน้าจะเริ่มโปรเจกต์ เขาไม่รู้เลยว่ามีพิพิธภัณฑ์ชื่อบ้านฮอลันดาอยู่ แต่เมื่อได้รับการทาบทามจากสถานทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย สิ่งที่พวกเขาเห็นตรงกัน คือโปรเจกต์นี้น่าสนใจจากหลากหลายแง่มุม

“เราได้รับการติดต่อมาว่ามีโปรเจกต์ในอยุธยากำลังจะกลับมาเปิดให้บริการ และอยากใช้เครื่องมือดิจิทัลมาสร้างชีวิตชีวาค่ะ” เฮเลน ผู้เป็นหน้าด่าน ประสานงานกับลูกค้าเริ่มต้นเล่า “ฉันชอบโปรเจกต์พิพิธภัณฑ์บ้านฮอลันดามาก ๆ อย่างแรกเลยคือมันให้ความรู้สึก ‘นานาชาติ’ การเลื่อนไหลไปมาของวัฒนธรรมในเนื้อหาและในบรรยากาศการทำงานทั้งสนุกและน่าสนใจ มันไม่ใช่แค่การทำเว็บไซต์ให้เสร็จเท่านั้น”

โยสต์เสริมต่อไปว่า “จริง ๆ Fabrique เราทำงานกับลูกค้าหลากหลาย บางโปรเจกต์ธุรกิจนำมาเลย อย่างธนาคาร อีคอมเมิร์ซ ซึ่งน่าสนใจในแบบของมัน ทำยังไงให้ผู้ใช้เว็บได้รับประสบการณ์ดี เว็บไซต์โหลดเร็ว แต่ไม่ใช่ทุกโปรเจกต์จะเปิดโอกาสให้เราได้ทำงานกับประเด็นวัฒนธรรมเหมือนพิพิธภัณฑ์บ้านฮอลันดา”

โปรเจกต์ดูน่าสนุกก็จริง แต่ความท้าทายน่าจะมีอยู่ไม่น้อย ทั้งการทำงานข้ามภาษา วัฒนธรรม กำแพงการเดินทางข้ามประเทศ เพราะอยู่ในช่วงโรคระบาด งบประมาณจำกัด กับการจัดการข้อมูลปริมาณมหาศาล ทำให้กลยุทธ์การทำงานออกแบบครั้งนี้น่าสนใจ

“ความท้าทายแรก แน่นอน เราพูดไทยไม่ได้เลยสักแอะ” โยสต์หัวเราะ ส่วนเฮเลนพยักหน้าเห็นด้วย “แต่สิ่งที่ผมชอบในการทำงานออกแบบก็คือ มันไม่มี ‘คำถามโง่ ๆ’ อยู่เลย ฟาบริคไม่ได้ทำงานเพื่อลูกค้าอย่างเดียว แต่เราทำงานเป็นทีมกับลูกค้าครับ”

“มันคือคำถามเบื้องหลังคำถามอีกทีค่ะ” เฮเลนเสริมต่อ “คำถามว่า ทำไม คุณต้องมีสิ่งที่คุณอยากมี เว็บไซต์ช่วยอะไรคุณและองค์กร”

“ช่วงแรกเราคุยกันเยอะในเชิงเทคนิค เพราะเป็นการทำงานช่วงโควิด จัดการการเดินทาง เวลา งบประมาณยังไง ทำชิ้นงานออกมาเป็นแบบไหนได้บ้าง แล้วเราก็พิจารณากลุ่มเป้าหมาย ซึ่งมีทั้งคนที่มาเที่ยวสถานที่จริง และคนที่เดินทางมาไม่ได้ เราอยากเล่าเรื่องราวให้พวกเขาฟังเหมือนกัน”

แม้ท่าทีการเล่าเรื่องของทีมงานทั้งสองดูสบาย ๆ มีเสียงหัวเราะไม่ขาด แต่เชื่อว่าบทสนทนาเหล่านี้น่าจะผ่านการพูดคุยตกผลึกอย่างยาวนาน จนทีมงานได้ทิศทางชัดเจนว่าพวกเขาจะออกแบบประสบการณ์เข้าชมพิพิธภัณฑ์บ้านฮอลันดาผ่านหน้าเว็บไซต์อย่างไร เพื่อให้ฟาบริคเริ่มสร้างสะพานข้ามฟากจากอัมสเตอร์ดัมมาถึงอยุธยา เริ่มต้นงานออกแบบได้อย่างมั่นใจ

บ้านฮอลันดา เปิดทำการในฐานะพิพิธภัณฑ์มาตั้งแต่ พ.ศ. 2547 ตั้งอยู่บนพื้นที่หมู่บ้านเก่าที่ชาวฮอลันดาอพยพมาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดอยุธยาตั้งแต่ พ.ศ. 2186 ดูจากอายุอานามแล้วคงเดาความสำคัญของสถานที่แห่งนี้ และปริมาณขององค์ความรู้ที่เก็บซ่อน ทับถมเอาไว้ในพื้นที่ได้ไม่ยาก

งานลำบากของทีมออกแบบการสื่อสารสำหรับบ้านฮอลันดา จึงมีตั้งแต่การรวบรวมข้อมูล ทำความเข้าใจว่าอะไรสำคัญหรือไม่ ข้อมูลแต่ละจุดใจเชื่อมโยงกันอย่างไร ซึ่งอย่างที่ทีมออกแบบได้บอกไว้ก่อนหน้านี้ว่า พวกเขาทำงานเป็นทีมกับลูกค้า มีนักประวัติศาสตร์หลายชีวิตร่วมกันลงแรงกายและสมอง เพื่อปั้นเรื่องราวที่กระจัดกระจายให้เป็นรูปร่าง

โยสต์และเฮเลนเน้นย้ำกับเราว่า การทำงานลักษณะนี้คือการเข้าใจความเป็นองค์รวม และใช้ความเป็นมนุษย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“เรื่องราวที่เป็นจุดเด่นของพิพิธภัณฑ์บ้านฮอลันดา คือเรื่องเส้นทางการค้าของเนเธอร์แลนด์ครับ” โยสต์อธิบาย “ในการทำงานโปรเจกต์นี้เรามีนักประวัติศาสตร์พร้อมจะให้การสนับสนุนและให้คำตอบเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเนเธอร์แลนด์กับไทย ซึ่งแตกต่างจากการไปหาข้อมูลในห้องสมุดแบบแห้ง ๆ มากเลย”

“ก่อนเริ่มโปรเจกต์ เราไม่รู้อะไรเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเลยค่ะ แต่ตอนนี้เรารู้แล้ว เอาไปเมาท์มอยกับเพื่อน ๆ ต่อได้ด้วย (หัวเราะ)” เฮเลนเสริมต่อ “เราเป็นทีมออกแบบมีหน้าที่เอาไอเดียสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ไปนำเสนอ แต่ต้องเคารพประสบการณ์และองค์ความรู้ของลูกค้าซึ่งอยู่ในธุรกิจของเขามายาวนานด้วย ใครจะรู้ดีไปกว่าธนาคารว่าธุรกรรมการเงินทำงานยังไง จริงไหมคะ”

แน่นอนว่าที่ผ่านมาความรู้ที่เฉพาะทาง เฉพาะกลุ่มคนเหล่านี้ ไม่ได้เป็นสิ่งที่หาได้ทั่วไปหากไม่ได้เป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องอย่างพิพิธภัณฑ์หรือกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ ไม่ใช่องค์ความรู้ที่เข้าถึงได้โดยง่าย แต่โปรเจกต์ออกแบบการสื่อสารของบ้านฮอลันดาครั้งนี้ กำลังสร้างสะพานใหม่เชื่อมให้สังคมมีโอกาสได้เรียนรู้อย่างเป็นวงกว้างมากขึ้น

โยสต์อธิบายประสบการณ์ตรงในฐานะผู้รับสารของเขาให้เราฟังว่า

“ระหว่างที่ทำงานโปรเจกต์นี้ ผมได้เห็นภาพวาดของศิลปินชาวดัตช์จากช่วงเวลานั้นที่วาดภูมิประเทศของอยุธยา ดูเหมือนเขาวาดเนินเขาเอาไว้ด้วย แต่ผมจำไม่เห็นได้เลยว่าอยุธยามีเนินเขา (หัวเราะ) พอมาคิดอีกทีก็เข้าใจได้ครับ เพราะสำหรับคนเนเธอร์แลนด์ผู้ชินกับพื้นที่ลุ่มน้ำ ก็คงมองพื้นที่ราบลุ่มในอยุธยาเป็นเนินเขาได้ ทุกเรื่องที่ถูกเล่าล้วนผ่านมุมมองของผู้เล่าทั้งนั้น” 

เฮเลนผงกหัวอย่างเข้าใจ พร้อมขยายความต่อ “ประเด็นพวกนี้มีผลกับงานออกแบบของเราด้วยเหมือนกันค่ะ เราต้องเข้าใจว่ากำลังเล่าเรื่องอะไร จากมุมมองของใคร อย่างเรื่องภาพที่เล่าไป ต่อให้มันไม่ถูกต้องในเชิงภูมิศาสตร์ เพราะในอยุธยาไม่มีเนินเขาสักหน่อย แต่ภาพนั้นยังบอกเล่ามุมมองบางอย่าง และชวนให้ตั้งคำถามว่า ทำไมศิลปินถึงวาดภาพออกมาแบบนั้น”

“หลายคนอาจไม่รู้ว่าพิพิธภัณฑ์บ้านฮอลันดาอยู่ที่ไหน หรือไม่เคยไปเลย แต่องค์ความรู้นั้นกว้างใหญ่เกินกว่าจะบรรจุในพิพิธภัณฑ์แห่งใดแห่งหนึ่ง และเราก็ไม่อาจไปเยือนพิพิธภัณฑ์ทุกที่ได้ การเอาคอนเทนต์ของพิพิธภัณฑ์ใด ๆ ขึ้นมาสู่ดิจิทัลแพลตฟอร์มเลยมีคุณค่าในตัวมันเอง คือการกระจายองค์ความรู้สู่ผู้คนที่ไม่เคยเข้าถึง สื่อสารในรูปแบบสวยงามน่ามอง ให้ผู้คนได้ใช้เวลาไปกับมัน ท่องเที่ยวผ่านเว็บไซต์” 

เมื่อฟังเรื่องราวจากมุมของทีมงานเบื้องหลังอย่างนี้แล้ว เราอดคิดไม่ได้ว่าโปรเจกต์การออกแบบที่ดูเหมือนเล็กน้อยในครั้งนี้ จึงนับเป็นหนึ่งในสะพานที่หยิบยื่นทางเชื่อมองค์ความรู้เชิงประวัติศาสตร์ สู่สังคมที่ยังมีความเหลื่อมล้ำทางการเข้าถึงข้อมูลอยู่อย่างมหาศาล ผ่านกระบวนการทำงานโดยมนุษย์ อย่างเป็นมนุษย์ เพื่อมนุษย์

แต่นอกเหนือจากการกระจายเนื้อหาเฉพาะทางให้เปิดกว้าง โปรเจกต์นี้ยังมีอีกคุณค่าที่น่าสนใจ คือการเป็นสะพานเชื่อมระหว่างพื้นที่จากอดีตมาสู่ชีวิตคนในปัจจุบัน ซึ่งทั้งเฮเลนและโยสต์ให้ความเห็นเอาไว้อย่างน่าสนใจ

“เคยมีข้อถกเถียงว่าการขึ้นมาอยู่บนโลกดิจิทัลของพิพิธภัณฑ์ทั่วโลกทำให้คนอยากไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์จริง ๆ น้อยลงไหม ซึ่งคำตอบคือไม่เลย คนกลับอยากไปมากขึ้นด้วยซ้ำ พอได้เห็นอะไรบนโลกออนไลน์แล้ว เราก็อยากเห็นของจริงขึ้นมา” โยสต์เปิดประเด็น

เฮเลนเติมต่อว่า “ทีมเราทำงานกับไรจ์กส์มิวเซียมและพิพิธภัณฑ์อื่น ๆ ที่เป็นผู้นำในการทุ่มงบประมาณจำนวนมากกับการนำเอาคอนเทนต์ขึ้นมาอยู่บนโลกออนไลน์ในรูปแบบ High-resolution เราพบว่า หลังจากซูมดูบนหน้าจอจนหนำใจแล้ว ผู้คนอยากไปเห็นชิ้นงานศิลปะของจริง ค้นหารายละเอียดเล็ก ๆ ในชิ้นงานนั้นว่ามีอะไรให้เห็นเหมือนที่เขาเคยเห็นบนหน้าจอจริงไหม ดิจิทัลช่วยให้ประสบการณ์การชมพิพิธภัณฑ์รุ่มรวยมากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากความเชื่อดั้งเดิมโดยสิ้นเชิงค่ะ”

แนวคิดการแยกระหว่างโลกจริงกับโลกเสมือนเป็นเรื่องในเมื่อวานไปแล้ว เพราะทุกวันนี้การขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจากโลกกายภาพสู่โลกดิจิทัลไม่ได้เกิดจากพฤติกรรมผู้บริโภคเท่านั้น แต่หน่วยงานสำคัญ ๆ ยังสะท้อนคุณค่านั้นออกมาในเชิงนโยบายและการจัดสรรงบประมาณ

“การมีสถานทูตเนเธอร์แลนด์ให้การสนับสนุนโปรเจกต์เปลี่ยนผ่านพิพิธภัณฑ์ให้อยู่บนดิจิทัลแพลตฟอร์มแบบนี้เป็นเรื่องน่ายินดี” เฮเลนเน้นย้ำ “โลกดิจิทัลกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตมนุษย์แล้ว และไม่หายไปไหนเร็ว ๆ นี้แน่ พิพิธภัณฑ์บ้านฮอลันดาในฐานะสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ต้องมีตัวตนเช่นกันในโลกปัจจุบันเพื่อให้อยู่รอดต่อไปได้ เพิ่มร่องรอยของเรื่องราวที่พิพิธภัณฑ์ต้องการสื่อสารกับผู้คนให้เข้มข้นหนักแน่นมากขึ้น” 

นอกจากเป็นการสร้างตัวตนเพิ่มเติมบนโลกออนไลน์ ยังเป็นโอกาสในการทดลองการสื่อสารแนวใหม่กับกลุ่มผู้ชมรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโตขึ้นมา

“ในฐานะนักออกแบบ ผมอยากส่งต่อความอยากรู้อยากเห็นให้กับผู้ที่เข้าชมเว็บไซต์ของบ้านฮอลันดา ความอยากรู้อยากเห็นมักมาพร้อมกับความตื่นเต้น เราได้ค้นพบมุมมอง การเชื่อมโยง เครือข่ายน่าสนใจมากมายจากการทำงานโปรเจกต์นี้ คิดว่าถ้าผู้คนเห็นแล้วรู้สึกอยากรู้เพิ่มเติมบ้างสักนิดก็น่าจะดี” โยสต์เล่าแนวคิดของเขาพร้อมรอยยิ้ม

“เหมือนสะกิดบอกเพื่อนว่า เฮ้ย ดูดิ อันนี้เจ๋ง แต่เป็นการสะกิดคนที่ไม่รู้จักผ่านออนไลน์แทน ผ่านเว็บไซต์ ให้เขาได้ลองมาเจอกับข้อมูลมากมายที่เขายังไม่เคยรู้มาก่อน” เฮเลนเสริมอย่างตื่นเต้น

จากมุมมองของนักสื่อสารทั้ง 2 คน ดูเหมือนพิพิธภัณฑ์จะเป็นได้มากกว่าพื้นที่ที่เดินไปหาวไป แต่เราอาจได้เห็นอะไรเจ๋ง ๆ ผ่านประสบการณ์การรับชมที่หลอมรวมเนื้อหา เรื่องราวในอดีตเข้ากับวิธีการรับสารในปัจจุบัน ซึ่งสำหรับเราแล้วก็น่าสนุกอยู่ไม่น้อย

หลังจากพูดคุยกับทีมงานฟาบริคถึงโปรเจกต์บ้านฮอลันดาและแนวทางการทำงานเบื้องหลังมาสักระยะ เราจึงระลึกได้ว่าพิพิธภัณฑ์และหน่วยงานต่าง ๆ กำลังปรับตัวตามโลกที่เปลี่ยนแปลงวันต่อวันกันอย่างขันแข็ง นักออกแบบเองก็ต้องปรับตัวตามไป ในฐานะส่วนหนึ่งของระบบที่ซับซ้อนของโลก ซึ่งเฮเลนและโยสต์เองก็เห็นไม่ต่างกัน

“ผมเชื่อว่าความอยากรู้อยากเห็นคือหนึ่งในหน้าที่ของนักออกแบบครับ” โยสต์ให้ความเห็นต่อยอดจากแนวคิดในการทำงานของเขา 

“ถ้าเราไม่อยากรู้อยากเห็น เราจะตั้งคำถามที่จำเป็นต่อการทำงานไม่ได้ ทำไมเราทำแบบนี้ ทำไมเราถึงใช้สื่อชนิดนี้ เพื่อให้ได้งานออกแบบตอบโจทย์การใช้งาน เพราะเก้าอี้แค่สวยอย่างเดียวแต่นั่งไม่ได้ นับเป็นงานศิลปะ ไม่ใช่งานออกแบบ นักออกแบบต้องใส่ใจทั้งกระบวนการคิดเบื้องหลังและการสร้างงานออกมาให้จับต้องได้จริงครับ” นักออกแบบหนุ่มสรุปความ ก่อนส่งไม้ต่อให้เพื่อนร่วมงานของเขาได้เล่าบ้าง

“การพัฒนาในโลกยุคใหม่มันเริ่มจากลองลงมือทำดูก่อนค่ะ เราเริ่มเห็นบางโรงแรมมี Google Home ในทุกห้องเพื่อให้บริการและรับคำสั่งจากผู้เข้าพัก แต่หลังจากนั้นเราค่อย ๆ พิจารณาว่ามันเวิร์กไม่เวิร์กเพราะอะไร เราแค่ต้องยอมรับ ปรับตัว และอยู่กับมัน” 

“ทีมออกแบบต้องกล้าตั้งคำถามและกล้าผิดพลาด เตรียมพร้อมสำหรับการปรับเปลี่ยน ปรับตัวเสมอ เพราะนั่นคือส่วนหนึ่งของกระบวนการทำงานออกแบบ ไม่มีใครคิดหรือตัดสินใจได้ถูกต้องเสมอ และ 1 คำถามอาจไม่ได้มีคำตอบที่ถูกเพียงคำตอบเดียว” เฮเลนขมวดประเด็นอย่างเฉียบคม ก่อนส่งท้ายด้วยการฝากแนวคิดให้กับนักออกแบบรุ่นใหม่

“สิ่งที่เราสอนนักออกแบบรุ่นใหม่ ๆ ในทีมอยู่เสมอ คือต้องฝึกทักษะในการสื่อสารความคิด ถ้าคิดได้แต่เล่าออกมาไม่ได้ก็ไม่มีใครเข้าใจงานออกแบบของเราอยู่ดี”

“การอธิบายกระบวนการคิดไม่ใช่การแก้ต่างหรือแก้ตัวให้กับงานของตัวเอง แต่เป็นการสนับสนุนให้ลูกค้าหรือผู้ชมเข้าใจและชื่นชมกับงานของเราได้มากยิ่งขึ้น ในฟิลด์งานแบบเรา คนที่แปลภาษาเทคนิคให้กลายเป็นภาษาที่คนทั่วไปเข้าใจง่ายได้มีค่าเสมอ”

สมกับเป็นคำแนะนำจากทีมออกแบบที่ทำงานเชื่อมโยงภาษา วัฒนธรรม องค์ความรู้ ผู้คนหลากหลาย และทำให้อดีตผสมรวมเข้ากับปัจจุบันกาล เพราะแม้กระทั่งบทบาทนักออกแบบที่พวกเขามอง ยังไม่วายเป็นเรื่องการสร้างสะพานระหว่างความคิดฝันกับการลงมือทำให้เกิดจริงได้

ก่อนจากกัน เราจึงขอบคุณพวกเขาสำหรับการพาเราข้ามสะพานด้วยกันมามากมาย จนได้แนวคิดมาฝากผู้อ่าน-นักออกแบบจากฝั่งไทย โยเดีย อโยธยา

(สุดท้าย หากคุณเริ่มสนใจข้ามสะพานไปเที่ยวบ้านฮอลันดา ผ่านผลงานการออกแบบของทีมฟาบริค เชิญสแกน QR Code ด้านล่างนี้ได้เลย)

Writer

Avatar

เกวลิน ศักดิ์สยามกุล

นักออกแบบ-สื่อสารเพื่อความยั่งยืน ที่อยากเล่าเรื่องสิ่งแวดล้อมผ่านชีวิต บทสนทนา และแบรนด์ยาสีฟันเม็ดเล็กๆ ของตัวเอง

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์