ธุรกิจจะยั่งยืน อยู่รอดในระยะยาวได้ ก็ต่อเมื่อสังคมมีความยั่งยืน ผู้คนในสังคมอยู่รอดไปด้วยกัน การดำเนินธุรกิจให้ยั่งยืนจึงควรควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจที่ใส่ใจต่อสังคม
ตัวอย่างของธุรกิจครอบครัวที่ยึดมั่นในเป้าหมายความยั่งยืนของธุรกิจและของสังคม คือธุรกิจของตระกูล Faber-Castell

บริษัทนี้ดำเนินกิจการมาแล้วมากกว่า 260 ปี สืบทอดผ่านทายาทมา 9 รุ่น

ปัจจุบันเป็นผู้ผลิตดินสอรายใหญ่ที่สุดของโลก ผลิตดินสอปีละ 2,300 ล้านแท่ง โดยใช้ไม้สนจากสวนป่าปลูกแบบยั่งยืนในประเทศบราซิล

ครอบครัวดินสอ

ธุรกิจดินสอของครอบครัว Faber-Castell เริ่มต้นขึ้นในปี 1761 ที่เมือง Stein ใกล้ ๆ กับเมือง Nuremberg ปัจจุบันอยู่ในแคว้นบาวาเรีย ประเทศเยอรมนี 

ธุรกิจเริ่มต้นโดย Kasper Faber ช่างทำตู้ไม้ที่เปลี่ยนมาก่อตั้งโรงงานผลิตดินสอ กับ Maria ภรรยา และ Anton Wilhelm ลูกชาย

หลังจากที่ Kasper เสียชีวิตในปี 1784 Anton Wilhelm ทายาทรุ่นสองได้รับช่วงธุรกิจต่อจากพ่อ เขาได้ซื้อที่ดินชานเมือง Stein ขยายกิจการเป็นโรงงานอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ที่ดินนี้ยังคงเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของกิจการ Faber-Castell มาจนถึงปัจจุบัน

Anton Wilhelm สร้างธุรกิจครอบครัวให้ผงาดขึ้นมาเป็นผู้ผลิตดินสอรายใหญ่ ต่อมาบริษัทจึงเปลี่ยนชื่อเป็น A.W. Faber ตามชื่อของเขา

อย่างไรก็ตาม เมื่อ Georg Leonhard ทายาทรุ่นสาม ลูกชายของ Anton Wilhelm รับช่วงธุรกิจต่อมาจากพ่อ กิจการครอบครัวก็ต้องเผชิญปัญหามากมายจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ปั่นป่วนในช่วงสงครามนโปเลียน แต่เขาก็ประคับประคองให้บริษัท A.W. Faber อยู่รอดมาได้

Georg Leonhard มีลูกชาย 3 คน คือ Lothar Freiherr, Johann และ Johann Eberhard และมีลูกสาว 2 คน คือ Line Richter และ Babette

Lothar Freiherr Faber ลูกชายคนโต ทายาทรุ่นสี่ รับช่วงธุรกิจ A.W. Faber หลังจาก Georg Leonhard เสียชีวิตในปี 1839

Johann Faber ลูกชายคนรองเริ่มแรกได้ทำงานในธุรกิจครอบครัวกับ Lothar พี่ชาย แต่ต่อมาได้แยกตัวออกมาตั้งบริษัทดินสอของตัวเองในเมือง Nuremberg โดยใช้ชื่อแบรนด์ว่า Johann Faber อย่างไรก็ตาม หลายสิบปีต่อมาบริษัท A.W. Faber ซื้อบริษัทนี้ไปในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในทศวรรษ 1920

ส่วน Johann Eberhard Faber หรือ John Eberhard Faber ลูกชายคนสุดท้องย้ายไปสหรัฐอเมริกากับ Jenny ภรรยาและลูก ๆ ของเขา บริหารสาขาในนิวยอร์ก จัดส่งไม้ซีดาร์แดงกลับไปให้โรงงาน A.W. Faber ในยุโรป ต่อมาเขาได้ตั้งธุรกิจดินสอของตัวเองในชื่อแบรนด์ Eberhard Faber ซึ่งเป็นผู้ผลิตดินสอรายแรกในสหรัฐอเมริกา

หลายสิบปีต่อมา บริษัท STAEDTLER ผู้ผลิตเครื่องเขียนรายใหญ่อีกรายหนึ่งของโลกได้ซื้อสิทธิ์ชื่อการค้า Eberhard Faber ในยุโรปไป แต่สุดท้าย ในปี 2010 STAEDTLER ขายสิทธิ์นี้ให้บริษัท A.W. Faber ที่ในขณะนั้นเปลี่ยนชื่อเป็น Faber-Castell ไปแล้ว

สรุปได้ว่าในที่สุด ธุรกิจดินสอของลูกๆ 3 คนของ Georg Leonhard ก็ได้กลับมารวมกันอีกครั้งหลังแยกจากกันไปกว่า 150 ปี

เจ้าพ่อดินสอ

สำหรับบริษัท A.W. Faber นั้น Lothar เน้นการผลิตดินสอที่คุณภาพดีที่สุด ในปี 1856 เขาได้ซื้อสิทธิ์เหมืองแกรไฟต์ในแคว้นไซบีเรีย ประเทศรัสเซีย หลังจากทราบว่าแกรไฟต์จากเหมืองนี้มีคุณภาพยอดเยี่ยม เพื่อเป็นหลักประกันว่าไส้ดินสอของ A.W. Faber ที่ทำจากแกรไฟต์จะมีคุณภาพที่ดีเยี่ยมไปอีกหลายชั่วอายุคน

Lothar ยังได้ผลักดันกฎหมายเครื่องหมายการค้าให้ผ่านสภาของเยอรมนีและจดทะเบียนชื่อการค้า A.W. Faber เขาพิมพ์ชื่อยี่ห้อลงบนแท่งดินสอเพื่อแยกผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงของเขาออกจากดินสอยี่ห้ออื่น ๆ ที่มีคุณภาพต่ำกว่า A.W. Faber จึงถือเป็นแบรนด์ดินสอแบรนด์แรกของโลก

นอกจากนี้ Lothar ยังเริ่มผลิตดินสอที่เป็นแท่งหกเหลี่ยม ซึ่งต่างจากดินสอที่เป็นแท่งกลมแบบเดิมที่กลิ้งหล่นจากโต๊ะได้ง่าย ถือเป็นนวัตกรรมที่แก้ปัญหาให้ผู้ใช้ดินสอที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน

เมื่อบริษัท A.W. Faber ครบรอบ 100 ปี Lothar เฉลิมฉลองด้วยการตั้งโรงงานผลิตกระดานชนวน (Writing Slate) ที่ต่อมาพัฒนาเป็นโรงงานผลิตเครื่องคำนวณด้วยมือ (Slide Rule) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

Lothar เป็นนักธุรกิจที่ใส่ใจความเป็นอยู่ของคนงาน เขาได้ปรับปรุงโรงงานให้มีหน้าต่างเพื่อให้มีแสงและอากาศถ่ายเท จัดตั้งระบบประกันสุขภาพให้คนงานเป็นแห่งแรก ๆ ของเยอรมนี สร้างบ้านพัก สนับสนุนโรงเรียน โบสถ์ และตั้งธนาคารออมทรัพย์และกองทุนบำนาญสำหรับลูกจ้าง

คุณูปการของ Lothar ต่ออุตสาหกรรมดินสอทำให้เขาได้รับสมญาว่า ‘The Pencil Tycoon’ หรือเจ้าพ่อดินสอ เขายังได้รับแต่งตั้งเป็นขุนนาง จึงใช้ชื่อว่า Lothar von Faber ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ขาดทายาทชาย

สำหรับชีวิตครอบครัวนั้น Lother แต่งงานกับ Ottilie Richter ทั้งคู่มีลูกคนเดียวชื่อ Wilhelm ซึ่งเป็นทายาทรุ่นห้าและเริ่มทำงานกับธุรกิจครอบครัว Faber ตั้งแต่อายุ 18 ปี 

Wilhelm von Faber แต่งงานกับ Berta ลูกพี่ลูกน้องของเขาเองที่เป็นลูกสาวของ Johann Eberhard ทั้งคู่มีลูกชาย 2 คนและลูกสาว 3 คน เขาหัวใจวายเสียชีวิตกะทันหันระหว่างการไปพักผ่อนล่ากวางในปี 1893 เมื่ออายุเพียง 42 ปี

ลูกชายทั้ง 2 คนของ Wilhelm เสียชีวิตตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ทำให้ทายาทชายของตระกูล Faber ในสายนี้สิ้นสุดลง ส่วนลูกสาว 3 คน คือ Ottilie หรือ Tilly, Sophie และ Hedwig มีชีวิตเติบโตจนเป็นผู้ใหญ่

เมื่อขาดทายาทผู้ชาย Lothar จึงวางแผนให้ Ottilie ภรรยาของเขารับช่วงบริษัท A.W. Faber ต่อ เพราะเธอช่วยงานเขามาตลอดในแทบทุกเรื่อง รวมถึงเลี้ยงหลานย่าผู้หญิง 3 คนหลังจากที่ Wilhelm เสียชีวิตด้วย Lothar จึงเชื่อใจและเชื่อฝีมือ Ottilie มาก

เพียง 3 ปีหลังจาก Wilhelm จากไป Lothar ก็เสียชีวิต ทิ้งธุรกิจครอบครัวให้อยู่ใต้การบริหารของ Ottilie ภรรยาหม้ายของเขา

จาก Faber สู่ Faber-Castell

หลังจาก Lothar เสียชีวิตได้ 2 ปี Tilly หลานสาวคนโตก็แต่งงานกับ Count Alexander zu Castell-Rüdenhausen แต่เนื่องจาก Lothar สั่งไว้ว่า นามสกุล Faber จะต้องคงอยู่หากทายาทหญิงของตระกูลแต่งงาน Tilly และ Alexander จึงได้ใช้นามสกุล Faber-Castell และใช้ชื่อว่า Countess Ottilie และ Count Alexander von Faber-Castell

Alexander มาช่วยงานธุรกิจของตระกูล Faber จนย่า Ottilie ยอมรับและมอบการบริหารธุรกิจให้เขารับผิดชอบ เมื่อ Ottilie เสียชีวิตในปี 1903 Tilly จึงได้รับมรดกธุรกิจครอบครัวต่อมา โดยมี Alexander เป็น Managing Director ของบริษัท A.W. Faber ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท Faber-Castell ตามนามสกุลใหม่ของครอบครัว

ธุรกิจครอบครัวของตระกูล Faber ภายใต้การบริหารของ Alexander ผู้เป็นเขย เริ่มผลิตดินสอรุ่นใหม่ภายใต้ชื่อแบรนด์ Castell เป็นแท่งสีเขียวซึ่งเป็นสีเครื่องแบบทหารของ Alexander มีโลโก้เป็นรูปปราสาทหรือ Castle ซึ่งก็คือ Castell นั่นเอง 

นอกจากนี้ Alexander ยังออกแบบสัญลักษณ์นักรบขี่ม้าประลองอาวุธ โดยที่อาวุธมีรูปร่างเหมือนแท่งดินสอ สัญลักษณ์นี้ยังใช้เป็นแบรนด์ของบริษัท Faber-Castell มาจนถึงปัจจุบัน

Tilly กับ Alexander มีลูกสาวด้วยกัน 3 คน และมีลูกชาย 2 คน ลูกชายคนโตเสียชีวิตตั้งแต่อายุเพียงไม่กี่เดือน ส่วน Roland ลูกชายคนสุดท้องอยู่รอดจนเติบโต

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 Alexander ถูกเกณฑ์ทหารและต้องไปประจำการในเบลเยียม ทำให้ความสัมพันธ์ของเขาและ Tilly เหินห่างออกไป ในขณะที่ Tilly ไปตกหลุมรัก Philipp Freiherr von Brand zu Neidstein และขอหย่ากับ Alexander เพื่อไปแต่งงานใหม่กับ Philipp

Tilly ย้ายออกจาก Stein และยกธุรกิจ Faber-Castell ให้ Alexander บริหาร ส่วนมูลนิธิครอบครัวก็โอนให้ Roland ลูกชายคนเล็กจัดการ

หลังจากหย่าร้างจาก Tilly ได้ 2 ปี Alexander ก็แต่งงานใหม่กับ Margot Gräfin von Zedtwitz ทั้งคู่มีลูกด้วยกันชื่อ Radulf

จากครอบครัวสู่มืออาชีพ

เมื่อ Alexander เสียชีวิตในปี 1928 Count Roland von Faber-Castell ลูกคนสุดท้อง ทายาทรุ่นเจ็ดของตระกูลได้สืบทอดธุรกิจครอบครัว Faber-Castell ต่อมา

Roland แต่งงานครั้งแรกกับ Alix-May มีลูก 5 คน และแต่งงานครั้งที่ 2 กับ Katharina Sprecher von Bernegg มีลูกชายชื่อ Anton-Wolfgang

เมื่อ Roland เสียชีวิตในปี 1978 หลังจากเป็นผู้นำธุรกิจของครอบครัวมา 50 ปี Count Anton-Wolfgang von Faber-Castell ทายาทรุ่นแปด รับสืบทอดธุรกิจครอบครัวต่อมาอีก 38 ปีจนเขาเสียชีวิตในปี 2016

Anton แต่งงานครั้งแรกกับ Carla Lamesch มีลูกชายชื่อ Charles และแต่งงานครั้งที่ 2 กับ Mary Hogan มีลูกสาว 3 คน ชื่อ Katharina, Victoria และ Sarah

ภายหลังจากที่ Anton เสียชีวิต พี่น้องทายาทรุ่นเก้าหรือรุ่นปัจจุบัน ทั้ง 4 คนตกลงเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารธุรกิจครอบครัว โดยตั้งผู้บริหารมืออาชีพจากนอกตระกูลมาเป็น CEO ส่วนพี่น้องทั้ง 4 คนจะทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการ

ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์กว่า 260 ปีของ Faber-Castell ที่ให้คนนอกครอบครัวมาบริหารกิจการ

ฝ่า 3 วิกฤต

ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา บริษัท Faber-Castell เผชิญกับวิกฤตที่ทำให้ต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่หลายครั้ง

วิกฤตครั้งแรก เกิดจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก (The Great Depression) ในช่วงปลายทศวรรษ 1920 ที่กระทบธุรกิจในแทบทุกอุตสาหกรรม รวมถึงอุตสาหกรรมดินสอด้วย

บริษัท Faber-Castell ได้ปรับตัวโดยจับมือกับบริษัทผู้ผลิตดินสอสัญชาติเยอรมันในเมือง Nuremberg อีกรายหนึ่ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนของทั้งคู่ บริษัทนี้ก็ไม่ใช่คนอื่นคนไกล แต่เป็นบริษัท Johann Faber ที่ก่อตั้งโดยน้องชายของ Lothar นั่นเอง

ต่อมา Roland ทายาทรุ่นเจ็ด ทยอยซื้อหุ้นบริษัท Johann Faber จนในที่สุดได้เป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว และทำให้ Faber-Castell เป็นเจ้าของบริษัทลูกชื่อ Lapis Johann Faber ในประเทศบราซิลอีกด้วย ซึ่งบริษัทนี้ปัจจุบันเป็นเจ้าของโรงงานผลิตดินสอที่ใหญ่ที่สุดในโลก

วิกฤตครั้งที่ 2 เกิดจากนวัตกรรมเครื่องคิดเลขพกพาสมัยใหม่ที่ออกสู่ตลาดในปลายทศวรรษ 1970 ทำให้ Slide Rule ซึ่งเป็นเครื่องคำนวณด้วยมือล้าสมัยไปในชั่วเวลาข้ามคืน ขณะนั้นรายรับจาก Slide Rule คิดเป็น 1 ใน 3 ของยอดขายทั้งหมด

แต่แทนที่ Anton จะให้ Faber-Castell เปลี่ยนไปผลิตเครื่องคิดเลขตามความต้องการตลาด เขากลับตัดสินใจทดแทนรายได้ที่หายไปด้วยการตั้งธุรกิจเครื่องสำอาง Faber-Castell Cosmetic ขึ้นมาในปี 1978 โดยเริ่มจากการผลิตดินสอสีสำหรับแต่งหน้า ซึ่งเป็นการต่อยอดจากจุดแข็งของผลิตภัณฑ์ที่ Faber-Castell มีอยู่

วิกฤตครั้งที่ 3 เกิดจากนวัตกรรมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ ทำให้ความต้องการอุปกรณ์เครื่องเขียนแบบดั้งเดิมลดลงอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา

แต่แทนที่ Anton จะเลิกผลิตเครื่องเขียนที่เป็นสินค้าหลักของธุรกิจครอบครัวมามากกว่า 200 ปีและหันไปพัฒนาอุปกรณ์ดิจิทัล เขากลับออกผลิตภัณฑ์เครื่องเขียนคุณภาพพรีเมียมแบรนด์ Graf von Faber-Castell สู่ตลาดในปี 1993 แทน โดยมีดินสอ ‘Perfect Pencil’ เป็นสินค้าชูโรง

Perfect Pencil นี้ได้รับความนิยมจากลูกค้าและยังคงผลิตต่อมาจนถึงทุกวันนี้ โดยมีราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 275 ดอลลาร์สหรัฐฯ

จะเห็นได้ว่าการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของบริษัท Faber-Castell เป็นการปรับตัวโดยไม่ทิ้งรากเหง้าของธุรกิจ ซึ่งก็คือการผลิตดินสอ เพราะตระกูล Faber-Castell มีความภูมิใจในดินสอที่มีคุณภาพสูงที่พวกเขาผลิตอย่างมาก

ครั้งหนึ่ง Anton ถึงกับปีนขึ้นไปบนยอดหอคอยของปราสาทประจำตระกูลแล้วโยนดินสอ Faber-Castell สีเขียวคลาสสิก 500 แท่งลงมาที่พื้นด้านล่าง เขาท้าให้ตรวจสอบดูว่าไส้ดินสอแตกหักหรือไม่

เมื่อทดลองผ่าแท่งดินสอดูก็พบว่าไส้ดินสอไม่ได้แตกหักแต่อย่างใด

Anton พูดด้วยความภูมิใจว่า “เห็นมั้ย มันไม่แตกเลย เพราะเราผลิตดินสอที่ดีที่สุดในโลก”

จากต้นสน สู่ดินสอ

ช่วงกลางทศวรรษ 1980 บริษัท Faber-Castell ภายใต้การนำของ Anton เริ่มโครงการปลูกป่าในเขตตะวันออกเฉียงใต้ของบราซิล บนพื้นที่ 100 ตารางกิโลเมตรหรือเท่ากับสนามฟุตบอลถึง 14,000 สนามเลยทีเดียว

ทุก ๆ ปีทางบริษัทจะปลูกต้นสน 3 แสนต้น ซึ่งต้นสนเหล่านี้จะใช้เวลา 20 ปีจึงจะโตพอที่จะนำไม้มาทำดินสอได้ Anton กล่าวว่าการปลูกป่าที่ใช้เวลา 20 ปีจึงจะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้นี้ ถ้า Faber-Castell เป็นบริษัทจดทะเบียนใน Wall Street เขาคงโดนไล่ออกไป 3 รอบแล้ว

แต่การลงทุนเพื่อผลตอบแทนระยะยาว ‘From Pine to Pencil’ หรือ ‘จากต้นสนสู่ดินสอ’ นี้เป็นการสร้างความมั่นคงให้กับการผลิตวัตถุดิบสำหรับดินสอไปชั่วลูกชั่วหลาน เฉกเช่นเดียวกับการซื้อเหมืองกราไฟต์ในไซบีเรียโดย Lothar ปู่ทวดของเขา

มองไกล และ มองกว้าง

ธุรกิจครอบครัว Faber-Castell ไม่เพียงแค่ ‘มองไกล’ ข้ามรุ่นไปในอนาคต แต่ยัง ‘มองกว้าง’ เกินกว่าสมาชิกครอบครัวตัวเองอีกด้วย

Anton กล่าวไว้ว่า “สำหรับผมในฐานะนักธุรกิจนั้น สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งคือการไม่ทำกำไรจากต้นทุนของคนรุ่นต่อไปในอนาคต” ซึ่งคนรุ่นต่อไปไม่ใช่แค่ทายาทตระกูลเท่านั้น แต่เป็นคนรุ่นต่อไปที่จะอาศัยอยู่บนโลกใบนี้ทั้งหมด

การปลูกป่าสนในบราซิลจึงไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับธุรกิจครอบครัว Faber-Castell แต่ยังเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอีกด้วย

บริษัท Faber-Castell ได้กันพื้นที่ 1 ใน 3 ของป่าที่ปลูกไว้ตลอดไปโดยไม่มีการตัดไม้มาใช้ เพื่อให้เป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์พืชและสัตว์ ซึ่งในปัจจุบันมีอยู่ทั้งหมด 722 สปีชีส์ รวมถึง 50 สปีชีส์ที่พบไม่ได้ในที่อื่นใดอีกแล้ว

ป่าสนของ Faber-Castell ยังช่วยชดเชย Carbon Footprint จากกิจกรรมของบริษัทอีกด้วย โดยป่าสนนี้ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 9 หมื่นตันจากการสังเคราะห์ด้วยแสงที่เปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศให้เป็นมวลชีวภาพ นอกจากนี้ ความใส่ใจต่อสังคมของธุรกิจนี้ยังสะท้อนให้เห็นจากการให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยต่อผู้ใช้ผลิตภัณฑ์

วันหนึ่งในปี 2012 Anton ได้สร้างความฮือฮาไปทั่วโลกด้วยการดื่มของเหลวสีส้มสด 1 จอกต่อหน้าผู้คนที่ห้อมล้อมเขา ซึ่งของเหลวนี้คือสีที่ Faber-Castell ใช้ผลิตปากกาเมจิกสำหรับเด็ก เป็นการยืนยันว่าผลิตภัณฑ์ของ Faber-Castell ปลอดภัยไม่มีพิษ

เป้าหมายคือความยั่งยืน

ธุรกิจครอบครัวมัก ‘มองไกล’ คือคำนึงถึงคนรุ่นต่อ ๆ ไปในอนาคตนอกเหนือจากคนรุ่นปัจจุบัน และ ‘มองกว้าง’ คือคำนึงถึง Stakeholders ต่าง ๆ นอกเหนือจากสมาชิกในครอบครัว ตั้งแต่ลูกจ้าง ลูกค้า และสังคม

การมองไกลและมองกว้างที่สืบต่อกันมาหลายรุ่นนี้เป็นเคล็ดลับอย่างหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจของตระกูล Faber-Castell สืบทอดยั่งยืนยาวนานมาหลายร้อยปี

ประสบการณ์ที่ผ่านมาของ Faber-Castell จึงแสดงให้เห็นว่า ความยั่งยืนของธุรกิจและความยั่งยืนของสังคมเป็นเป้าหมายที่ต้องบรรลุไปพร้อมกัน

ข้อมูลอ้างอิง
  • www.firstversions.com/2016/01/faber-castell.html
  • https://www.faber-castell.com/corporate/history/familiy/lothar
  • www.contrapuntalism.wordpress.com
  • www.cossma.com/production/article
  • www.mathsinstruments.me.uk/page16.html
  • www.penpaperpencil.net/faber-castell-9000-perfect-pencil-review
  • Environmental Sustainability at Faber-Castell, Faber-Castell Aktiengesellschaft.
  • History, Faber-Castell Aktiengesellschaft.
  • Faber-Castell, Wikipedia.
  • John Eberhard Faber, Wikipedia.
  • Anton-Wolfgang Graf von Faber-Castell, Wikipedia.
  • The Unmatched Legacy of German Pencil Manufacturing, Brand Name Pencils, July 7, 2021.
  • Hands-On Bavarian Count Presides Over a Pencil-Making Empire, The New York Times, December 3, 2013.
  • Pencil Boss Out to Prove a Point, Mirror, May 16, 2012.
  • The Story of the 255-Year Old Business Behind Your Pencils and Pens, CNBC, August 19, 2016.

Writer

Avatar

ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์

ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ University of California, San Diego นักวิชาการผู้หลงใหลเรื่องราวจากโลกอดีต รักการเดินทางสำรวจโลกปัจจุบัน และสนใจวิถีชีวิตของผู้คนในโลกอนาคต