โต๊ะ เก้าอี้ หรือที่นอนดี ๆ อาจช่วยบรรเทาอาการเคล็ดขัดยอกจากภาวะ Office Syndrome ได้ในระดับหนึ่ง แต่หากอิริยาบทต่าง ๆ ในชีวิตเรายังเหมือนเดิม คงยากที่จะทำให้ความปวดเมื่อยเหล่านั้นหายเป็นปลิดทิ้ง

นิว-พรพิมล สถิรรัตน์ คือคนหนึ่งที่ก็ประสบปัญหานั้น หลังจากต้องเผชิญกับ Office Syndrome จนต้องไปพบแพทย์และทำกายภาพบำบัด เธอจึงได้เข้าใจว่าความปวดเมื่อยเป็นปกติที่เธอเผชิญมาตลอดนั้นไม่ใช่เรื่องปกติ 

ในทางกลับกัน หากเรามีอิริยาบทที่ถูกต้องหรือได้ยืดเหยียดเพื่อทำกายบริหารบ้างแล้ว จริง ๆ ทุกคนก็ใช้ชีวิตโดยปราศจากความปวดเมื่อยได้

เธอจึงตัดสินใจจับมือกับ เบ็ญ-บุญญา กิจพิทักษ์ เพื่อก่อตั้งสตาร์ทอัพที่มีชื่อว่า ERTIGO ขึ้นมา เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงท่ากายบริหารที่ถูกเลือกและออกแบบมาเฉพาะบุคคลได้ผ่านแอปพลิเคชัน ทำให้ทุกคนกายบริหารได้ทุกที่ในชีวิตประจำวัน โดยไม่ต้องห่วงว่าจะลืมท่าหรือต้องทำท่าไหนบ้าง

วันนี้เราจึงชวนทั้งคู่มาเล่าเรื่องราวเบื้องหลัง ERTIGO สตาร์ทอัพที่ตั้งใจจะจบปัญหาการปวดเมื่อย

เอาล่ะ ถ้าทุกคนพร้อมแล้ว ก็ขอเชิญทุกท่านมายืดเหยียดไปพร้อม ๆ กันได้เลย 1 2 3 เริ่ม!

นิวและเบ็ญพบกันครั้งแรกเมื่อครั้นเรียนด้วยกันที่สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยนิวเรียนด้านการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ และเบ็ญเรียนด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์

เมื่อเรียนจบมา ทั้งสองก็ได้คลุกคลีอยู่ในวงการสตาร์ทอัพอย่างไม่จางหาย โดยนิวก็ได้ต่อยอดความรู้ด้านการบริหารของเธอในบริษัทสตาร์ทอัพ ในขณะที่เบ็ญก็กลายเป็น Application Developer อย่างเต็มตัว

“ระหว่างทำงานประจำเป็น Software Developer เราก็มีแอปพลิเคชันเป็น Pet Project มาเรื่อย ๆ ด้วย อย่างเราเลี้ยงสัตว์ เราก็ทำแอปฯ สัตว์เลี้ยง หรือเราต้องนั่งทำงาน เราก็เลยทำแอปฯ เกี่ยวกับ Focus Timer 

“แต่ถ้าทำเรื่อง Focus Timer อย่างเดียว มันก็ไม่ค่อยยูนีก เราเลยพยายามใส่เรื่องการยืดเหยียดระหว่างทำงานไปด้วย คนจะได้ทั้งโฟกัสและยืดเหยียดไปได้ด้วย” เบ็ญเล่าถึงจุดเริ่มต้นของแอปพลิเคชันนี้

นอกจากความสนใจในด้านแอปพลิเคชันของเบ็ญแล้ว อีกส่วนหนึ่งที่เป็นไอเดียจุดประกายคอนเซปต์ของ ERTIGO คือประสบการณ์ตรงของนิวที่เคยเป็น Office Syndrome ตั้งแต่ในวัย 20 ต้น ๆ จนต้องไปพบแพทย์และทำกายภาพบำบัด

“สุดท้าย แก้ยังไงก็ไม่ได้หายอย่างยั่งยืน แต่พอกลับบ้านมาเราก็ไม่ได้ไปทำการยืดเหยียดหรือกายบริหารท่าอะไร แค่เพียงออกมาจากห้องตรวจเราก็ลืมแล้ว มันก็เลยดีขึ้นแบบไม่ยั่งยืน แป๊บ ๆ เดี๋ยวก็กลับมาเป็น” นิวเสริมถึงปลายทางว่าการจบปัญหาพวกนี้ต้องจบด้วยการปรับพฤติกรรมหรือบริหารร่างกายให้ถูกต้องและเหมาะสมกับตัวเรา

เมื่อเบ็ญเริ่มทำแอปพลิเคชันขึ้นมา ประกอบกับประสบการณ์ส่วนตัวของนิว ทั้งสองจึงเห็นว่า Pet Project นี้มีโอกาสที่จะเติบโตและแก้ปัญหาการปวดเมื่อยให้กับหลาย ๆ คนได้

ทั้งคู่จึงตัดสินใจเอาจริงเอาจังกับโปรเจกต์นี้ เพื่อปั้นให้เป็นสตาร์ทอัพ โดยได้รับทุนจาก TED Fund เพื่อนำมาพัฒนาแอปพลิเคชันนี้ต่อไป

นี่คือจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ของ ERTIGO แม้ว่าตอนแรกคอนเซปต์ของสตาร์ทอัพแห่งนี้จะเป็นเพียง Ergonomic + Timer แต่ว่าในเวลาต่อมาทั้งคู่ก็ได้เพิ่มเติมฟีเจอร์เข้าไป ทำให้ ERTIGO เป็นมากกว่าแค่แอปพลิเคชันที่มีวิดีโอสอนยืดเหยียดธรรมดาทั่วไป

หลังจากที่มีภาพเป้าหมายอย่างชัดเจน นิวและเบ็ญจึงค่อย ๆ พัฒนาฟีเจอร์ต่าง ๆ เข้ามา เพื่อทำให้แอปพลิเคชันของ ERTIGO กลายเป็นตัวจบสำหรับปัญหา Office Syndrome ได้อย่างแท้จริง

“เราไม่ได้เป็น Telemedicine เราไม่ได้ไปแข่งกับแอปฯ ฟิตเนสหรือแอป Ergonomic ที่เน้นการออกกำลังกายหรือการเช็กท่านั่ง แต่เราเน้นการแนะนำท่ายืดเหยียดที่ใช้ในการรักษาอาการปวด”

ปัจจุบัน ERTIGO มีการนำผู้เชี่ยวชาญทั้งแพทย์แผนไทยและนักกายภาพบำบัดเข้ามาเพื่อออกแบบท่ากายบริหารให้ผู้ใช้งานทำตามได้อย่างถูกต้อง และมากไปกว่านั้น สำหรับลูกค้าพรีเมียม ERTIGO ก็จะมีผู้เชี่ยวชาญที่คอยคุยและ Monitor Progress ผู้ใช้งานแต่ละคนอีกด้วย

“สิ่งที่ทำให้เราแตกต่างจากวิดีโอที่แนะนำท่ายืดเหยียดทั่ว ๆ ไปบน YouTube คือแอปพลิเคชันของเรามีการปรับให้เฉพาะบุคคล โดยเราจะแนะนำทั้งท่าและระยะเวลาในการยืดเหยียดที่ตรงกับโปรไฟล์และเวลาว่างของแต่ละผู้ใช้”

การแนะนำท่ากายบริหารที่เฉพาะเจาะจงกับแต่ละบุคคลไม่ได้เพียงแต่ทำให้ผู้ใช้งานทำตามได้ถูกท่าเท่านั้น แต่ยังเพิ่มประสิทธิภาพ ป้องกันอาการบาดเจ็บเช่นกัน

เพราะนอกจากการจับเวลา ERTIGO ก็คอยแจ้งเตือนและเช็กสภาพร่างกายของผู้ใช้งานก่อนเริ่มทำท่าต่าง ๆ ทำให้ปรับท่าต่าง ๆ ในแอปพลิเคชันให้เข้ากับสภาพร่างกายและไลฟ์สไตล์ของแต่ละคนได้

มากไปกว่าการบริหารร่างกาย ERTIGO ก็ยังมีการให้คำแนะนำสินค้าผลิตภัณฑ์ด้าน Ergonomic ตามอาการของผู้ใช้แต่ละคน เพื่อให้ทุกคนหาเครื่องมือมาช่วยลดอาการปวดเมื่อยได้ถูกจุดด้วยเช่นกัน

อ่านมาถึงตรงนี้ หลาย ๆ คนอาจสงสัยว่าเราจะใช้งาน ERTIGO ผ่านช่องทางไหนได้บ้าง

ดังนั้น เพื่อให้ ERTIGO เข้าถึงทุกคนและก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดจริง ๆ นิวและเบ็ญจึงไม่ได้ออกแบบให้ ERTIGO เป็นเพียงแอปพลิเคชันทั่ว ๆ ไปที่มีระบบพรีเมียมเท่านั้น แต่ ERTIGO ยังมีการจับมือกับคลินิกกายภาพบำบัดและฟิตเนสต่าง ๆ โดยมีลูกค้า 2 กลุ่มหลัก

  1. ลูกค้าทั่วไป

สำหรับลูกค้าทั่วไป เมื่อเข้ามาใช้งาน ERTIGO ครั้งแรก จะมีการเช็กสภาพร่างกายเบื้องต้น และมีท่ากายบริหารเฉพาะบุคคลให้ทำตาม โดยหากผู้ใช้งานชอบ ก็อัปเกรดเป็นพรีเมียมเพื่อเพิ่มฟีเจอร์ต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อกับผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น เพื่อใช้ ERTIGO ให้มีประสิทธิภาพได้ยิ่งขึ้นต่อไป

  1. ลูกค้าคลินิกกายภาพบำบัดและฟิตเนส

สำหรับลูกค้าที่เคยใช้บริการคลินิกหรือฟิตเนสที่เป็นพาร์ตเนอร์กับ ERTIGO ลูกค้าเหล่านั้นก็จะได้รับ QR Code สำหรับสมัครใช้บริการ ERTIGO โดยทำให้นอกจากจะได้ท่ากายบริหารเฉพาะบุคคล ลูกค้าเหล่านั้นก็ให้นักกายภาพบำบัดหรือเทรนเนอร์ในคลินิกหรือฟิตเนสจ่ายท่าบริหารร่างกายผ่าน ERTIGO ได้อีกด้วย

หลังจากนี้ ERTIGO ยังมีแผนที่จะขยายบริการไปสู่ลูกค้าองค์กร โดยมีการจัดคอร์สเรียนให้กับเทรนเนอร์และฝ่ายบุคคลขององค์กรต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านกายบริหาร

โดยนิววางแผนให้คอร์สเรียนด้านกายบริหารเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นในการทำให้องค์กรใหญ่ ๆ หันมาเห็นความสำคัญของการบริหารร่างกายในขณะทำงาน เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของพนักงาน โดย ERTIGO จะเป็นส่วนสำคัญที่จะ Facilitate การบริหารร่างกายนี้ให้เกิดขึ้นได้จริง

“ในอนาคต อีกหนึ่งกลุ่มลูกค้าหลักจะเป็นลูกค้าองค์กร แอปพลิเคชัน ERTIGO ก็จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือการสอนที่ใช้ควบคู่ไปกับการสอนของผู้เชี่ยวชาญในการทำกายบริหารเฉพาะบุคคล และเฉพาะเจาะจงกับไลฟ์สไตล์และสภาพแวดล้อมของพนักงานในแต่ละแผนกของบริษัทนั้น ๆ”

โดยเป้าหมายในอนาคตของ ERTIGO คือการทำให้ทุกคนทำท่ากายบริหารอย่างมีประสิทธิภาพในชีวิตประจำวันได้ และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อน Trend Rehabilitation เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการรักษาของสถานให้บริการทางด้านสุขภาพต่าง ๆ อีกด้วย

Writer

Avatar

วุฒิเมศร์ ฉัตรอิสราวิชญ์

นักเรียนรู้ผู้ชื่นชอบการได้สนทนากับผู้คนและพบเจอสิ่งใหม่ๆ หลงใหลในการจิบชา และเชื่อว่าทุกสิ่งล้วนมีเรื่องราวให้ค้นหา

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล