เหมือนฉากหนึ่งในหนังอินดี้ยุโรป

เรายืนกอด Apartamento เล่มที่ 21 แล้วยิ้มอยู่อย่างนั้นเมื่อคิดถึงเหตุการณ์ 30 นาทีก่อนหน้า

หนึ่งในรายการที่ต้องทำให้ได้เมื่อไปถึงบาร์เซโลนาของผู้เขียน คือการไปเดินผ่านหน้าประตูออฟฟิศของ Apartamento นิตยสารที่เล่าเรื่องบ้านได้เท่ที่สุดเล่มหนึ่ง แม้จะไม่ได้ติดตามอ่านทุกเล่มเพราะหาซื้อยากเหลือเกิน แต่การได้ยืนอยู่ใต้อาคารหลังเดียวกันเป็นเรื่องที่ชุบชีวิตจิตวิญญาณติ่งของผู้เขียนมากๆ

Apartamento เป็นนิตยสารราย 6 เดือนที่เรียกตัวเองว่าเป็น ‘an everyday life interiors magazine’ เหตุผลที่ไม่เรียกตัวเองเต็มปากว่าเป็นหนังสือตกแต่งบ้าน มาจากจุดเริ่มต้นของโอมาร์ โซซา (Omar Sosa) และ นาโช อาเลเกร (Nacho Alegre) ผู้ก่อตั้ง ที่สงสัยว่าทำไมหนังสือแต่งบ้านต้องบ้านสวยเนี้ยบอยู่ตลอด หรือประดับประดาด้วยงานศิลปะราคาแพง แล้วบอกเล่าแต่ที่มาแก่นสารของงานออกแบบหรูหรา แทนที่จะนั่งคุยกับเจ้าบ้านเรื่องพื้นที่ชีวิต ส่วนประกอบที่หลอมรวมจนคนหนึ่งสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ออกมาในทางของตัวเอง รวมถึงฉายภาพจริง อารมณ์ และความรู้สึกจริงของเจ้าของพื้นที่กับที่อยู่อาศัย เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ภาพถ่ายและเรื่องราวด้านใน Apartamento โดดเด่นเกินหน้านิตยสารหัวอื่นๆ ในหมวดเดียวกัน

Apartamento, แต่งบ้าน
Apartamento, แต่งบ้าน
Apartamento, แต่งบ้าน

ยิ่งไปกว่านั้น วิธีการเลือกคนในเล่มก็เท่สุดๆ แม้จะเป็นศิลปินหรือคนทำงานสร้างสรรค์ในอีกฝั่งโลกที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน แต่บทสัมภาษณ์ที่ให้ความรู้สึกเป็นบทสนทนามากกว่าแบบนี้อ่านง่ายและทำให้เรารู้จักบ้านและเจ้าบ้านไปพร้อมกันอย่างเปิดใจ ซึ่งหนึ่งในนั้นมีเรื่องราว ณ บ้านที่แม่ริมของ เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล อยู่ใน Apartamento เล่มที่ 11 (เรื่องและภาพโดย Jeremy Liebman) ด้วย

ด้วยองค์ประกอบเหล่านี้ทำให้ Apartamento ซึ่งวางแผงปีละ 2 เล่มเป็นที่รอคอยของนักอ่านจากทั่วโลกเสมอ และบางเล่มขายหมดตั้งแต่วันแรกๆ ที่วางแผง

Apartamento, แต่งบ้าน
Apartamento, แต่งบ้าน
Apartamento, แต่งบ้าน

ถ้าระบบนำทางไม่มีปัญหา ตอนนี้เรากำลังอยู่หน้าอาคารที่ทำการของนิตยสารสุดเท่ในฝัน

ระหว่างที่ถอดใจเลิกออกตามหาเพราะไม่มีป้ายเขียนบอกว่ามาถูกทาง หนุ่มผมยาวที่เราคิดเองว่าเขาน่าเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ของ Apartamento ก็เปิดประตูเข็นรถจักรยานออกมาพอดี เราและชาวคณะจึงรวบรวมความกล้าส่งเสียงกริ่งตามสายขึ้นไปยังชั้น 3 ของอาคารไม่มีชื่อแห่งนี้

“ที่นั่นใช่ออฟฟิศของ Apartamento หรือเปล่าคะ พวกเราเป็นแฟนคลับจากประเทศไทย ไม่แน่ใจว่าจะขอขึ้นไปทักทายเยี่ยมชมออฟฟิศของคุณได้หรือเปล่า” ตัวแทนชาวคณะเริ่มต้นถาม ทั้งที่เผื่อใจกับคำตอบไว้บ้างแล้วแต่ก็อดลุ้นไม่ได้อยู่ดี

“ใช่แล้ว ที่นี่เลย ได้เลยๆ ขึ้นมาที่นี่ได้เลยค่ะ” คนที่ปลายสายส่งสัญญาณเปิดประตู

รู้ตัวอีกทีเราก็กำลังกอดหนังสือ Apartamento เล่มที่ 21 แน่นกับตัว

Apartamento, แต่งบ้าน
Apartamento, แต่งบ้าน


1

นิตยสารเล่าเรื่องบ้านที่ออกจากกรอบการเล่าเรื่องแบบนิตยสารแต่งบ้าน

Apartamento ฉบับแรกเกิดขึ้นในปี 2008 โดยโอมาร์ โซซา (อาร์ตไดเรกเตอร์) และ นาโช อาเลเกร (ครีเอทีฟไดเรกเตอร์) จุดเริ่มต้นมาจากคืนหนึ่งที่ผู้ก่อตั้งไปนอนค้างคืนบ้านเพื่อนที่เป็นช่างภาพ

ก่อนจะกลายเป็นนิตยสารราย 6 เดือนอย่างทุกวันนี้ แรกเริ่มเดิมทีทั้งสองผู้ก่อตั้งตั้งใจจะเล่าเรื่องบ้านและผู้คนออกมาเป็นหนังสือ แต่เมื่อ Apartamento 2 เล่มแรกได้รับความสนใจและขายหมดอย่างรวดเร็ว พวกเขาจึงมีเงินทุนสำหรับฉบับต่อๆ มา รวมถึงชวน มาร์โก เวลาร์ดี (Marco Velardi) จากมิลานมาเป็นบรรณาธิการบริหาร ก่อนตามด้วยทัพนักเขียนและช่างภาพจากทั่วโลก

โดยทั่วไปของนิตยสารเล่าเรื่องบ้าน มักจะพูดถึงศิลปะการตกแต่งตามสมัยนิยม ความโก้เก๋ น้อยแต่มาก เรียบแต่โก้ หรือบ้านที่ประดับประดาด้วยของชิ้นงานของศิลปินและนักออกแบบชื่อดังแห่งยุค เมื่อเห็นช่องว่างในตลาด Apartamento จึงนำเสนอเรื่องพื้นที่อยู่อาศัยและชีวิตในนั้น เหมือนอพาร์ตเมนต์ที่แม้จะเล็กแต่ก็เต็มไปด้วยชีวิตชีวา และเพราะในความเป็นจริงผู้คนส่วนใหญ่ก็ยังเช่าห้องอยู่ บ้างก็ยังอยู่กับครอบครัว พื้นที่ที่ทิ้งร่องรอยความรกรุงรังจากการใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นจริง

Apartamento, แต่งบ้าน
Apartamento, แต่งบ้าน


2

เนื้อหาเจ๋งๆ ที่มาจากผู้คนเจ๋งๆ

ผู้คนในหนังสือล้วนมาจากแวดวงสร้างสรรค์หลากหลายสัญชาติ ทั้งช่างภาพ ศิลปิน นักออกแบบ นักดนตรี ผู้กำกับ เชฟ ต่างมาพูดคุยเรื่องพื้นที่ของพวกเขา “เราไม่ได้กำลังเล่าเรื่องการออกแบบและสินค้า หัวใจหลักของหนังสือ เรากำลังพาไปดูว่าคนเหล่านี้ใช้ชีวิตกันอย่างไร บ้านเขาเป็นอย่างไร เขาถึงคิดหรือทำสิ่งที่เขาเป็นอยู่ได้ขนาดนี้” นาโช อาเลเกร เล่าความตั้งใจแรกของ Apartamento ในบทความของ The Guardian

Apartamento ไม่ใช่หนังสือสร้างแรงบันดาลใจในการแต่งบ้านสวย

บทความใน Apartamento จะขึ้นนำด้วยชื่อของเจ้าของเรื่องราวมากกว่าจะเล่าเรื่อง 10 วิธีการทำให้บ้านโล่งสบายน่าอยู่ คุณจะไม่มีทางพบเนื้อหาแบบนั้นแต่จะพบกับ นานาวิธีการจัดสวนดาดฟ้า เมนูสลัดแก้ฝันร้ายสำหรับเพื่อนข้างห้อง การฝากบ้านไว้กับ Airbnb แล้วออกไปพักร้อนที่บ้านใครสักคนอีกฝั่งโลก จดหมายรักจากศิลปินสาวถึงอพาร์ตเมนต์ของเธอในนิวยอร์ก หรือบทความที่หลานชายเขียนถึงการเติบโตในบ้านของย่าผู้เป็นศิลปินระดับไอคอน

แม้เราจะไม่รู้จักบุคคลต้นเรื่องมาก่อน แต่การไปเยี่ยมบ้านผ่านตัวอักษรและรูปภาพเท่ๆ ไร้กฎเกณฑ์ในแบบ Apartamento ก็ทำให้รู้สึกว่ากำลังเยี่ยมบ้านเพื่อนของเพื่อนอยู่จริงๆ ภาพเขาและเธอยืนอยู่ในมุมโปรด หรือนั่งบนอยู่โซฟาที่ถกเถียงประเด็นทั้งเล็กและใหญ่กับคนรู้ใจ ล้วนส่งผลให้เรื่องที่มาจาก Apartamento พิเศษกว่าหนังสือเล่มไหนๆ

Apartamento, แต่งบ้าน

Apartamento, แต่งบ้าน
3

นิตยสารของกลุ่มนักออกแบบที่ไม่พยายามออกแบบนิตยสารให้สวยปัง แต่กลับได้รางวัลนิตยสารที่ออกแบบดีเยี่ยม

ขนาดของเล่มที่หนาจำนวน 344 หน้าอาจจะดูหนักและหนาสำหรับนิตยสาร แต่นักออกแบบหลายสำนักต่างชื่นชม เพราะเป็นการออกแบบหน้ากระดาษที่ทำให้ตัวอักษรและผู้อ่านมีพื้นที่หายใจ ถึงขั้นนิยาม Apartamento ว่าเป็นหนังสือของนักออกแบบที่ไม่คลั่งการออกแบบ หรือพยายามจัดหน้ากระดาษให้สวยเป๊ะปังจนมากเกิน แต่กลับได้รับรางวัลการออกแบบนิตยสารที่ดีที่สุดหรือ Yellow Pencil Award 2010 รายการ Global Association for Creative Advertising & Design Awards จาก D&AD หรือ Designers and Art Directors Association (UK)

Apartamento, แต่งบ้าน

Apartamento, แต่งบ้าน

4

กลยุทธ์การขายที่ทำให้คนอ่านอยากอ่านและห้างร้านดังอยากซื้อหน้าโฆษณา

หากเป็นนิตยสารแต่งบ้านทั่วไป การประกาศตัวว่าเป็นนิตยสารที่จัดจำหน่ายไปทั่วโลก สร้างอำนาจต่อรองมากพอที่จะกำหนดราคาหน้าโฆษณาและเนื้อหาด้านใน

แต่ Apartamento ไม่เลือกที่จะทำแบบนั้น เพราะอยากรักษาตัวตนและความสดของเนื้อหา เราจึงไม่เห็นเนื้อหาที่พูดถึงสินค้าและเฟอร์นิเจอร์หรู

รายได้ของนิตยสาร Apartamento มาจากหน้าโฆษณาในจำนวนจำกัด และการกำหนดราคาหนังสือที่สูงกว่าเจ้าอื่นๆ ในตลาดเดียวกัน เพื่อให้ผู้อ่านมั่นใจว่าจะไม่เจอโฆษณาแฝงในเล่มแน่นอน และด้วยกลยุทธ์นี้ยิ่งทำให้คนอ่านอยากอ่าน และลูกค้าอยากซื้อหน้าโฆษณาในพื้นที่ที่อนุญาต

ขณะที่การจัดจำหน่ายหนังสือ Apartamento ใช้วิธีจัดจำหน่ายตรงกับร้านหนังสือและร้านคอนเซปต์สโตร์ เพราะเชื่อว่าระบบการกระจายสินค้าแบบนี้จะช่วยตอกย้ำสิ่งที่หนังสือเชื่อ เรื่องการเชื่อมผู้อ่าน ร้านค้า และคนทำหนังสือ เข้าด้วยกัน

Apartamento, แต่งบ้าน

Apartamento, แต่งบ้าน
5

เยี่ยมออฟฟิศและคุยกับกองบรรณาธิการ Apartamento

หลังจากเราและชาวคณะแนะนำตัวกันสั้นๆ มาเดอลีน วิลลิส (Madeleine Willis) หรือ Content Editor ของ Apartamento ที่ออกมาต้อนรับก็พาชมพื้นที่การทำงานของ Apartamento Studio ครีเอทีฟเอเจนซี่ที่ทำงานเป็นที่ปรึกษางานสร้างสรรค์และดูแลองค์ประกอบศิลป์ให้กับงานออกแบบต่างๆ ซึ่งนอกจากนิตยสาร Apartamento ยังมี Apartamento Cookbook และกำลังจะมี Architecture Series เร็วๆ นี้อีกด้วย

สำหรับวิธีการทำงานของทีมงานนิตยสาร ซึ่งประกอบด้วยผู้ก่อตั้ง 3 คนและกองบรรณาธิการอีก 4 คนที่ทำหน้าที่ผลิตเนื้อหาและออกแบบนิตยสาร The Cloud ได้มีโอกาสพูดคุยสั้นๆ กับ ร็อบบี้ ไวต์เฮด (Robbie Whitehead) Managing Editor ผู้ดูแลเนื้อหา บริหารจัดการช่างภาพและนักเขียนสำหรับบทความแต่ละตอน ถึงวิธีการทำงานสนุกๆ และเบื้องหลังของหนังสือที่ผู้อ่านทั้งโลกรอคอย

ซึ่งแม้ว่าจะเป็นทีมเล็กๆ แต่ก็มีเครือข่ายยอดฝีมือมากมายกระจายตัวอยู่ทุกภูมิภาคทั่วทั้งโลก

และนี่คือบทสนทนาระหว่างเรา

อะไรคือการเปลี่ยนแปลงของ Apartamento ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และความตั้งใจต่อจากนี้

ถ้าคุณเห็นเล่มแรกและเล่มสิบ คุณจะเห็นความต่าง เพราะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด แต่เป็นไปอย่างธรรมชาติ ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป ขึ้นกับผู้อ่านของเราและรสนิยมที่เปลี่ยนไป 10 ปีที่ผ่านมาเราทำตามสิ่งที่เราเชื่อ ด้วยการหาลูกเล่นหรือวิธีการเล่าเรื่องใหม่ๆ เพื่อคงความเป็น Apartamento อย่างในวันแรก มันเลยไม่ง่ายที่จะตอบว่าหนังสือเราเป็นอย่างไรในวันครบรอบ 10 ปีหน้า เรายังคงมีรายชื่อคนอีกมากมายที่เราอยากทำเรื่องของเขา 10 ปีที่ผ่านมาไม่พอจะเล่าเรื่องคนเหล่านั้นทั้งหมด” คุณร็อบบี้ก็ตอบอย่างตั้งใจ ก่อนจะเล่าว่า หนึ่งในจำนวนนั้น ที่ชาว Apartamento รอคอยที่สุดคือ เดวิด ฮอกนีย์ (David Hockney) ศิลปินป๊อปอาร์ตรุ่นใหญ่

ชาว Apartamento ทำอย่างไรถึงมีคนเจ๋งๆ อยู่ในหนังสือของคุณมากมายเต็มไปหมด

เป็นเรื่องของคอนเนกชันและการติดต่อ บางทีก็ง่ายมากเพราะเป็นคนรู้จักของเพื่อนของเพื่อนของเพื่อน บางทีก็ต้องเขียนอีเมลไป รอเขาตอบกลับมา ซึ่งกับคุณเดวิด ฮอกนีย์ เราลองทุกช่องทางแล้ว ส่งนิตยสารไป ส่งจดหมายไป แต่ยังไม่ถึงเขาเสียที เขาเป็นหนึ่งคนที่เราอยากสัมภาษณ์มากๆ

ซึ่งนอกจากคนในวงการสร้างสรรค์รุ่นใหญ่แล้ว เราตั้งใจอยากทำเนื้อหาที่หลากหลายและไปไกลกว่าเดิม ไม่จำกัดว่าต้องเป็นเรื่องราวจากคนในภาคพื้นยุโรปเท่านั้น แต่รวมเรื่องราวของคนจากเอเชีย แอฟริกา และใน Apartamento เล่มหน้าจะมีเรื่องของคนอินเดียด้วยนะ

ทำไมชาว Apartamento ซึ่งเป็นนักออกแบบและคนที่ทำงานในวงการสร้างสรรค์จึงมองเรื่องของชีวิตและการอยู่บ้านน่าสนใจกว่าข้าวของแต่งบ้านและเส้นสีของอาคาร

เราบอกเสมอว่าเราไม่ใช่หนังสือแต่งบ้าน เราเพียงสนใจชีวิตของคนที่ทำงานสร้างสรรค์ในแขนงสาขาต่างๆ และเชื่อว่าบ้านเป็นภาพสะท้อนตัวตนและวิธีคิดของแต่ละคนได้ดีกว่าภาพใดภาพหนึ่ง หลายครั้งเราพบว่าตัวบ้านก็ไม่ได้สร้างแรงบันดาลใจเท่าเรื่องราวของคนในนั้น มันน่าสนใจมากนะโดยเฉพาะเมื่อต้องเล่าออกมาเป็นภาพถ่าย

Apartamento, แต่งบ้าน

คุณชอบเล่มไหนหรือเรื่องราวของใครมากที่สุด

เยอะมาก เลือกไม่ได้เลย

เลือกจากเล่มล่าสุดก็ได้ค่ะ

ขอคิดแป๊บหนึ่งนะ ถ้าต้องตอบจริงๆ ผมชอบเรื่องของนิโคลัส ปาร์ตี้ (Nicolas Party) ศิลปินจากบรัสเซลส์ที่ตอนนี้อยู่นิวยอร์ก ถ้าคุณได้อ่าน เป็นเรื่องที่ดีมากนะ หรือเรื่องของปีเตอร์ เบอร์ลิน (Peter Berlin) ไอคอนของคนโฮโมเซ็กชวล กับอพาร์ตเมนต์ของเขาที่ซานฟรานซิสโก เป็นผู้ชายที่มี Sexuality Lifestyle น่าสนใจมาก เนื่องจากผมมาจากสายกราฟิกดีไซเนอร์ ปกติผมจึงชอบภาพประกอบบทความเป็นพิเศษ แต่กับเรื่องนี้ผมสนใจและจดจำเรื่องได้มากกว่าภาพ อ้อ มีเรื่องของนิโกลา แอล. (Nicola L.) ศิลปินจากฝรั่งเศสที่ตอนนี้อยู่นิวยอร์กเช่นกัน เป็นบทความที่หลานชายเขียนเรื่องชีวิตที่โตมากับยายผู้เป็นศิลปิน น่าประทับใจมาก เพราะครั้งหนึ่งใน Apartamento เล่มที่ 10 เราเคยใช้ภาพที่มีงานของนิโกลา แอล. เป็นภาพปกด้วย

รู้ไหมว่าคนส่วนใหญ่กรี๊ดปกของ Apartamento มากๆ เบื้องหลังการเลือกปกแต่ละฉบับเป็นยังไง

เลือกจากรูปที่ดีที่สุด (เดินไปหยิบหนังสือ THE WORLD OF APARTAMENTO: 10 YEARS OF EVERYDAY LIFE INTERIORS เปิดให้ดูรูปปกที่เกือบจะได้เป็นปกของ Apartamento แต่ละเล่ม) อธิบายยากเหมือนกันว่าทำไม เป็นเรื่องของความรู้สึก ใช่เลย! สำหรับพวกเราทีมงาน

เห็นว่า Apartamento เพิ่งทำเว็บไซต์ออนไลน์และแอพพลิเคชันเป็นของตัวเองด้วย ถือเป็นการปรับตัวมาสู่โลกออนไลน์ไหม

เราเพิ่งทำเว็บไซต์เมื่อปีที่ผ่านมา เราแค่พยายามทำเพื่อเป็นช่องทางหนึ่งในการสื่อสาร ไม่ได้คิดจะเปลี่ยนไปเป็นนิตยสารออนไลน์ ถ้าถามว่าที่นี่มีปัญหาทำนองการเปลี่ยนผ่านแพลตฟอร์มไหม ก็มีนะ แต่เราค่อนข้างโชคดีที่คนอ่านยังให้การตอบรับที่ดีเสมอ และมีหลายเล่มเลยที่เราขายหมดอย่างรวดเร็ว

ถือว่ารอดชีวิตสวยงาม?

เราภูมิใจที่อยู่รอดนะ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะหยุดเพราะว่าพอใจแล้วหรอกนะ ในตลาดนิตยสารอิสระ ไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำนิตยสารให้เป็นที่รู้จัก สำหรับระยะเวลาเท่านี้เราถือว่าจุดแข็งที่เรามีเป็นสิ่งที่เราภูมิใจจะรักษาไว้

หนึ่งสิ่งในออฟฟิศของ Apartamento ที่สะท้อนตัวตนของ Apartamento ที่สุด

เราเพิ่งเปลี่ยนกันสาดเป็นสีส้ม

Apartamento, แต่งบ้าน

ทำไมต้องสีส้ม

ไม่รู้เหมือนกัน จำได้ว่าวันที่พวกเราต้องเลือกสี บรรยากาศเหมือนทุกครั้งที่เราต้องประชุมกัน ‘ไม่ มันต้องสีส้มนี้เท่านั้น’ จริงๆ อาจจะเป็นเพราะเราทาสีผนังสีชมพู ซึ่งมันเคยเป็นสีเขียวมาก่อน และทำให้ห้องดูมืดไปหน่อย แต่ตอนนี้ก็ดีขึ้นนะ

Apartamento, แต่งบ้าน
 
ขอขอบคุณ: Qatar Airways

Writer & Photographer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ