หากใครกำลังศึกษาเรื่องระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ในทุกตำราย่อมพบเห็นชื่อ ‘Ellen MacArthur Foundation’ ปรากฏอยู่ บรรดานักวิชาการ นักธุรกิจ ผู้กำหนดนโยบายทั่วโลกต่างให้การยอมรับแนวคิดเปลี่ยนโลกสู่ความยั่งยืนจากองค์กรแห่งนี้ 

ใบหน้าของหญิงสาวผมสั้นแววตามุ่งมั่นคนหนึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ของ Circular Economy ในโลกยุคใหม่นี้ไปเสียแล้ว

ย้อนไปเมื่อปี 2005 สาวอังกฤษวัย 24 ปี เอลเลน แมคอาเธอร์ (Ellen MacArthur) ได้ทำในสิ่งที่ทุบสถิติชายหญิงทั้งโลก ด้วยการแล่นเรือใบเพียงคนเดียวรอบโลกแบบนอนสต็อป ระยะทางกว่า 43,452 กิโลเมตร ในเวลาเพียง 71 วัน 14 ชั่วโมง 18 นาที 33 วินาที

ท่ามกลางพายุที่โหมกระหน่ำ อากาศอันเย็นยะเยือกในช่วงฤดูหนาว ผ่านเส้นศูนย์สูตรและแหลมกู๊ดโฮปที่ไม่ได้ปรานีดังชื่อ เอลเลนได้ต่อสู้กับคลื่นลมและขีดจำกัดทางร่างกายเพียงลำพัง แม้แต่สมองก็พักไม่ได้ เพราะต้องบริหารสถานการณ์บนเรือตลอดเวลา ข้าวของที่มีจำกัด ทั้งของใช้ อาหาร น้ำดื่ม รวมทั้งเชื้อเพลิงต้องใช้ให้คุ้มค่าที่สุด 

“เมื่ออยู่กลางทะเล เสบียงที่เตรียมไว้เป็นอย่างดีย่อมลดลงไปตามกาลเวลา น้ำมันถูกใช้จนหยดสุดท้าย ร้านสะดวกซื้อที่อยู่ห่างออกไป 4,000 กิโลเมตรไม่มีทางช่วยอะไรเราได้ ความเป็นความตายขึ้นอยู่กับของที่มีเหลืออยู่บนเรือ” เอลเลนให้สัมภาษณ์ถึงการผจญภัยสุดโหดหินที่มีเพียงไม่กี่คนบนโลกได้สัมผัส

ในที่สุดเธอก็ทำตามความฝันตั้งแต่อายุ 4 ขวบสำเร็จ กับตำแหน่งนักเดินทางรอบโลกด้วยเรือใบที่เร็วที่สุดในโลก แต่เมื่อเธอก้าวขาขึ้นฝั่งพร้อมกับชัยชนะ ธรรมชาติที่สวยงามและทรงพลัง ทรัพยากรบนเรือที่จำกัด และภาพโลกปัจจุบันกลับกระแทกความรู้สึกเธอชนิดที่ปล่อยผ่านไปไม่ได้

เธอเห็นโลกที่ทุกคนไม่เคยคำนึงถึงเลยว่าทรัพยากรมีวันหมด โลกทุนนิยมทำให้คนใช้เงินซื้อทุกอย่าง และทิ้งทุกอย่างที่ไม่อยากใช้อีกต่อไปแม้มันยังคงใช้งานได้ โลกที่ไม่เคยตั้งคำถามว่าจะเอาของที่ทิ้งไปกลับมาใช้ประโยชน์อย่างไรดี โลกที่จะแตกสลายในไม่ช้า เพราะทรัพยากรหมดลงอย่างรวดเร็ว

“น่าแปลกใจที่ประสบการณ์กลางมหาสมุทรในครั้งนั้นไม่ได้ทำให้ฉันมองสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป แต่เป็นมุมมองต่อระบบเศรษฐกิจต่างหาก โลก 1 ใบของเราก็มีทรัพยากรอยู่เพียงเท่านี้ แต่เรากลับเลือกใช้ระบบเศรษฐกิจที่ถลุงมันจนหมด”

จากนักกีฬาสาวแกร่งที่เคยมุ่งมั่นอยู่กับการเดินหน้าทำลายสถิติโลก เอลเลนได้พบความสนุกอีกหนึ่งอย่างจากการค้นคว้าหาวิธีที่ทำให้โลกใบเก่าใบเดิมยังคงอยู่ต่อไปได้ เรียบง่ายตามหลักเศรษฐศาสตร์ คือทำอย่างไรให้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเกิดประโยชน์สุงสุด จนกระทั่งเธอค้นพบแนวคิดของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ซึ่งเป็นแนวคิดที่ถือกำเนิดแบบเงียบ ๆ ขึ้นมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 

เอลเลนเกษียณจากการเป็นนักแล่นเรือใบมือชีพใน 5 ปีต่อมา หันมาก่อตั้งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Ellen MacArthur Foundation (EMF) ในปี 2010 ชักชวนให้คนทั้งโลกมารู้จักระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ที่ต้องไม่เป็นเส้นตรง แต่เป็นวงกลม

ระบบเศรษฐกิจเส้นตรง (Linear Economy) คือการขุดทรัพยากรธรรมชาติมาผลิต ใช้เพียงชั่วคราว และโยนทิ้งไป เมื่อต้องการใช้ใหม่ก็ไปขุดทรัพยากรมาผลิตใหม่ ต่างจากระบบเศรษฐกิจวงกลม (Circular Economy) ที่จะทำทุกวิถีทางให้ไม่ต้องไปขุดทรัพยากรมาใหม่ และหาทางหมุนเวียนสิ่งของที่ผลิตมาแล้วให้ได้นานที่สุด 

หากใครอยู่ในวงการ Circular Economy ต้องเคยเห็นแผนภาพผีเสื้อหรือ Butterfly Diagram อันโด่งดังจากองค์กรของเธอ แผนภาพนี้มีวงกลมอยู่ 2 วงที่แยกกันอยู่ หมายถึงการหมุนเวียนทรัพยากรใน 2 ลักษณะ คือทรัพยากรที่ย่อยสลายได้และทรัพยากรที่ย่อยสลายไม่ได้ 

วงจรสีเขียวมีชื่อว่า Biological Cycle เก่าแก่ยิ่งกว่ามวลมนุษยชาติด้วยซ้ำไป ความสมดุลทางธรรมชาติไม่เคยสร้างขยะในระบบนิเวศ ทุกสิ่งล้วนมีคุณค่าในตัวเอง แม้แต่ของเสียจากสัตว์ก็กลายเป็นปุ๋ยทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตงอกงาม ในปัจจุบัน อาหารเหลือทิ้งจากที่การบริโภคกันไม่ควรตีค่าว่าเป็นขยะไร้ความหมาย ผักเน่า ๆ คืออาหารชั้นดีต่อดินและสัตว์บางประเภท เราแค่ต้องนำไปวางให้ถูกที่ถูกทาง การโยนทุกอย่างลงถังขยะถือเป็นการทำลายระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนซึ่งมักง่ายที่สุด

ในขณะที่วงจรสีน้ำเงิน ชื่อ Technical Cycle เกิดขึ้นมาพร้อมกับมันสมองของมนุษย์ ด้วยความฉลาดในการคัดแยกสสารทางธรรมชาติออกจากกันและความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมในการผลิตวัสดุคงทน เช่น โลหะ พลาสติก พอลิเมอร์ ทำให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นของที่ไม่ย่อยสลายไปเองตามธรรมชาติ ต้องผ่านกระบวนการทางอุตสาหกรรมในการย่อยสลาย หรือแปรรูปให้กลับมาใช้งานใหม่ได้อีก แต่ก็แลกมาด้วยการใช้พลังงานและค่าใช้จ่ายมหาศาล ดังนั้น ของแต่ละอย่างก็ควรใช้ซ้ำในสภาพเดิมให้นานที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

แผนภาพผีเสื้อทำให้ผู้บริโภคเริ่มหันกลับมามองของใช้ในชีวิตประจำวัน หลายครั้งอาจรู้สึกท้อใจเมื่อของที่คิดว่าย่อยสลายได้อย่างเสื้อยืด 1 ตัวที่มีฝ้าย (Cotton) เป็นองค์ประกอบหลัก กลับถูกนำมาผสมกับโพลีเอสเตอร์ซึ่งเป็นพลาสติกรูปแบบหนึ่ง เพื่อเสริมสร้างความคงทน แต่คนกลับใช้เพียงไม่กี่ครั้งและโยนทิ้งไป เมื่อเสื้อยืดผสมโพลีเอสเตอร์ถูกฝังกลบในหลุมขยะก็ย่อยสลายต่อไม่ได้ ทั้งที่ความจริงแล้ว หากเป็นผ้าฝ้าย 100% จะย่อยได้ภายใน 6 เดือนเมื่อสัมผัสกับแบคทีเรียในพื้นดิน

เอลเลนจุดประกายให้ผู้บริโภคเดินหน้าตั้งคำถามกับผู้ผลิตต่อว่า จะแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ย่อยสลายตามธรรมชาติไม่ได้อย่างไร มีกระบวนการนำกลับไปใช้ซ้ำ ซ่อมแซม และรีไซเคิลหรือไม่ ภาครัฐควรออกนโยบายหรือเก็บภาษีผู้ผลิตเหล่านี้ไหม แต่หัวใจสำคัญที่สุด คือการออกแบบการผลิตทุกอย่างใหม่ตั้งแต่ต้น (Redesign) ให้วัสดุหมุนเวียนได้ทุกขั้นตอนโดยไม่มีของเสียเกิดขึ้น และมีโมเดลธุรกิจรองรับเพื่อจูงใจผู้ประกอบการให้เปลี่ยนพฤติกรรม จะนับว่าเป็นทางออกที่ยั่งยืนที่สุดให้กับทั้งระบบเศรษฐกิจ 

กว่า 10 ปีที่เอลเลนพยายามนำแนวคิด Circular Economy หรือการหมุนเวียนทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจออกจากตำราไปสู่ภาคปฏิบัติที่แท้จริง ทั้งการเป็นผู้กำหนดนโยบายร่วมกับสหภาพยุโรป เป็นที่ปรึกษาให้กับบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก เช่น Google, IKEA, H&M เป็นผู้ร่วมออกแบบนโยบายสร้างเมืองหมุนเวียนร่วมกับรัฐบาลในเมืองต่าง ๆ เช่น ลอนดอน นิวยอร์ก

ในวันที่ทั้งโลกพูดกันแต่เรื่อง Net Zero หรือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050 ตามข้อตกลงปารีส จากรายงานของ EMF ประเมินว่า หากทั้งโลกเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดกันหมด จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 55% แต่อีก 45% ที่เหลือต้องมาจากการเปลี่ยนกระบวนการผลิตใน 5 อุตสาหกรรมหลัก คือซีเมนต์ พลาสติก เหล็ก อะลูมิเนียม และอาหาร

เสียงของเอลเลนในวันนี้ดังกึกก้องบนทุกเวทีสำคัญของโลก ทั้งเวที COP28 ที่ดูไบ และเวที World Economic Forum Annual Meeting 2024 ที่ดาวอส ข้อความที่เธอสื่อสารจำง่ายคล้ายกับเนื้อเพลงที่พยายามย้ำให้ทุกคนเห็นว่า ความฉลาดสร้างสรรค์ของมนุษย์จะช่วยให้เรื่องนี้สำเร็จได้ไม่ไกลเกินเอื้อม

By design, you eliminate waste and pollution.

By design, you circulate products and materials at their highest value.

By design, you regenerate nature.

ด้วยการออกแบบ เรากำจัดของเสียและมลพิษได้

ด้วยการออกแบบ เราหมุนเวียนสิ่งของและวัสดุให้ยังคงคุณค่าสูงสุดได้

ด้วยการออกแบบ เราฟื้นฟูธรรมชาติให้ดีขึ้นได้

มาถึงจุดนี้ ทุกคนอาจลืมไปแล้วว่าเธอคือสาวแกร่งผู้เคยโลดแล่นอยู่บนเรือใบสีขาว เรื่องราวของเอลเลนบอกเราว่าจุดมุ่งหมายของชีวิตไม่จำเป็นต้องยึดติดอยู่กับทักษะที่ติดตัวเสมอไป แต่อยู่ที่ว่าเราอยากอยู่ในโลกแบบไหน จงพาตัวเองไปสร้างโลกใบนั้น ซึ่งโลกของเอลเลนคือโลกที่ไร้ขยะ และทุกอย่างกลับมาหมุนเวียนได้ไม่รู้จบ

ภาพ : Ellen MacArthur Foundation

ข้อมูลอ้างอิง 

  • nbcnews.com
  • ellenmacarthurfoundation.org

Writer

ธันยมัย อนันตกรณีวัฒน์

ธันยมัย อนันตกรณีวัฒน์

นักข่าวเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยเชื่อว่า GDP คือคำตอบ แต่กลับชื่นชอบในแนวคิด Circular Economy ว่าจะสร้างอนาคตอันสดใสให้กับโลกที่ร้อนขึ้นทุกวัน