ย้อนกลับไปเมื่อ 50 ปีก่อน คำว่า ‘บัลเลต์’ ช่างเป็นสิ่งไกลตัวคนไทยเหลือเกิน และยิ่งในแผ่นดินอีสานด้วยแล้ว ความห่างไกลที่ว่ายิ่งทิ้งช่องว่างกว้างกว่าที่ไหน ๆ ในประเทศ 

เวลานั้น เอก-เอกชัย ไก่แก้ว พื้นเพเดิมมาจากจังหวัดกาญจนบุรี เขาเป็นเพียงนักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้ไม่เคยรู้จักบัลเลต์มาก่อนและคงไม่ทันคิดว่านาฏกรรมสากลบนปลายเท้านี้กำลังจะผลักพาชีวิตของเขาให้เคลื่อนคล้อยไปสู่การเป็นนักบัลเลต์ต่อหน้าพระพักตร์ ผู้รับบทพระเอกของการแสดงหลายต่อหลายครั้ง ครูผู้ไม่รู้ดนตรีแต่ฟอร์มทีมให้กับนักเรียนโนเนมในอีสานไปชนะเลิศวงโยธวาทิตระดับประเทศ และครูบัลเลต์ผู้ร่างหลักสูตรการเรียนการสอนบัลเลต์ในระดับมัธยมเป็นคนแรกของไทย จนทำให้เด็กอีสานบ้านนาสอบผ่านเกรดระดับสูงสุดของ The Choreographic School โรงเรียนระดับโลกที่ผลิตนักเต้นให้กับ The Bolshoi Ballet Company สำเร็จ

อีสาน Lifehacker ครานี้ จึงอยากชวนคุณผู้อ่านร่วมเปิดม่านชีวิต เข้ามาสัมผัสกับเรื่องราวของครูศิลป์ผู้ใช้หัวใจ ความรู้สึก และบัลเลต์ คอยนำทางทั้งตนเองและลูกศิษย์ชาวอีสานให้ก้าวไปถึงเป้าหมายได้สำเร็จ 

เปิดม่านชีวิต กับการเรียนบัลเลต์เพียง 6 วัน และบัลเลต์มโนห์ราในตำนาน

เอก-เอกชัย ไก่แก้ว ครูบัลเลต์ผู้ร่างหลักสูตรการเรียนการสอนบัลเลต์ในระดับมัธยมเป็นคนแรกของไทย

แสงแดดยามเช้าลอดผ่านช่องว่างระหว่างใบไม้ในสวนของร้านกาแฟ Goodbeans Roastery ย่านกังสดาล จังหวัดขอนแก่น อาจารย์เอกชัย ไก่แก้ว แย้มยิ้มทักทายเราด้วยหน้าตาแจ่มใส จนคาดไม่ถึงว่าชายที่อยู่ตรงหน้าเราอายุ 70 ปีแล้ว 

อาจารย์เลือกที่นั่งโซนริมน้ำในสวน พร้อมวางโน้ตบุ๊กของท่านลงบนโต๊ะ ก่อนหันมากล่าวว่า “วันนี้ครูนำภาพเก่า ๆ เท่าที่หามาได้มาให้ดูไปด้วยนะ จะได้เข้าใจเรื่องราวที่จะเล่าถึงได้ชัดเจนขึ้น” เป็นจังหวะเดียวกันกับที่พนักงานนำกาแฟกลิ่นหอมที่สั่งไว้วางเสิร์ฟลงบนโต๊ะ อาจารย์ยกกาแฟขึ้นจิบแล้ววางแก้วลง ก่อนจะเริ่มเปิดม่านชีวิตให้เราได้เข้าไปสัมผัสเรื่องราวในอดีตระดับตำนานอันแสนงดงามของท่าน

 “ครูมาจากจังหวัดกาญจนบุรีครับ มาเรียนคณะศึกษาศาสตร์ เอกเคมี-ชีววิทยา ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อช่วง 50 ปีก่อนนู้นขอนแก่นไม่ค่อยมีสถานบันเทิง การเดินทางก็ไม่ค่อยสะดวกนัก สิ่งเดียวที่มีคือรถสองแถวจากมหาวิทยาลัยเข้าเมือง ช่วงเย็นพอรถมา ครูก็จะนั่งรถเข้าเมืองมาที่สำนักงาน USIS ก็คือสำนักข่าวสารอเมริกัน ซึ่งเขามีหนังฉายทุกวันและมีหนังสือให้อ่าน 

“กระทั่งวันหนึ่ง มิสเตอร์แฟรงค์ อัลเบิร์ต ผู้อำนวยการสำนักงานก็มาบอกกับครูว่า มีนักบัลเลต์ชื่อดังที่ติดอันดับโลกมาเมืองไทย คือ มาดามเจเนเวียฟ เลสปันยอล เดมอน เป็นนักบัลเลต์ที่เก่งมากจนกระทั่งมีชื่ออยู่ในดิกชันนารีบัลเลต์ เขาตามสามีซึ่งเป็นทูตทหารอเมริกันมาเมืองไทย และทางสำนักข่าวสารอเมริกันก็อยากให้เขาเอาศิลปะบัลเลต์มาเผยแพร่ที่ มข. อยากให้ครูเป็นคนช่วยประสานเรื่องนี้ โดยค่าใช้จ่ายทั้งหมด ทาง USIS รับผิดชอบให้ เขาขอแค่อย่างเดียว คือพอเสร็จงานแล้ว ขอให้มีผลงาน ได้ทำการแสดง ถ่ายรูปเป็นหลักฐาน เพื่อใช้ประกอบเอกสารรายงานของทางสำนักงาน 

“ครูไปคุยกับทางมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยก็ไม่ขัดข้องอะไรเพราะมันฟรี จากนั้นก็ไปรวบรวมว่าใครสนใจจะเข้าคลาสเรียนกับมาดามบ้าง ได้นักศึกษาที่สนใจทั้งหมด 13 คน โดยมาดามจะมาสอนให้ทั้งหมด 6 วัน พวกเราต้องหยุดเรียนกัน 1 สัปดาห์เพื่อฝึก พอเรียนจบคอร์สก็ต้องทำการแสดงตามที่ตกลงไว้ ตอนนั้นทาง USIS จะมีฟิล์มบัลเลต์ ครูก็ไปขอยืมมาดูที่หอพัก เป็นเรื่อง มโนห์รา เห็นว่า เอ้อ สวยดีนะ แต่เอาเข้าจริงเราเองก็ไม่รู้จักหรอก เกิดมาครูก็ไม่เคยเต้นรำ ไม่เคยเรียนอะไรเลย ถ้าจะถามว่าสนใจทางนี้ไหมก็ไม่เลย แต่จะบอกว่าไม่เลยเสียทีเดียวก็ไม่ถูกนะครับ เพราะจริง ๆ ควรบอกว่าไม่รู้จักมากกว่า พอไม่รู้จัก เราก็ไม่รู้ว่าสนใจหรือไม่สนใจ

ภาพคลาสเรียนบัลเลต์ 6 วัน ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น และการฝึกของอาจารย์เอกชัย (ชายสวมเสื้อกล้ามสีขาวฝั่งขวา) โดยมีมาดามเดมอน (บุคคลด้านหน้าฝั่งขวา) เป็นผู้ฝึกสอน 
ภาพคลาสเรียนบัลเลต์ 6 วัน ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น และการฝึกของอาจารย์เอกชัย (ชายสวมเสื้อกล้ามสีขาวฝั่งขวา) โดยมีมาดามเดมอน (บุคคลด้านหน้าฝั่งขวา) เป็นผู้ฝึกสอน 

“ตอนนั้นคิดว่าเรียนจบ 6 วันแค่นั้นก็จบกันไป ทีนี้เรื่องจัดการแสดงครูก็เลยจัดการแสดงบัลเลต์เรื่อง มโนห์รา ขึ้นมาที่หอประชุมโรงเรียนขอนแก่นวิทยายน เรียกว่าสร้างเวทีเสียใหญ่โตมโหฬาร ในฟิล์มเป็นอย่างไร ก็พยายามทำให้เหมือนอย่างนั้น เรียกว่าทำโดยไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่านี่เป็นงานใหญ่ งานยากทีเดียว เพราะมารู้ภายหลังว่าบัลเลต์มโนห์ราเรื่องนี้เป็นการแสดงที่เกิดขึ้นตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระราชินีนาถฯ ที่อยากผสานศิลปะการแสดงของไทยไว้กับศิลปะการแสดงแบบสากล เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารวัฒนธรรมไทยให้ชาวต่างชาติรับชมและรับรู้อย่างเข้าใจ หรือพูดอย่างภาษาทุกวันนี้ คือบัลเลต์มโนห์รานี้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ด้านวัฒนธรรมไทยในยุคนั้นนั่นเอง 

“การเต้นก็ได้มาดามเดมอนเป็นผู้ออกแบบท่า โดยผสมผสานท่วงท่าของรำไทยเข้าไป เช่น การจีบมือ และเป็นผู้ฝึกฝน ส่วนดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงนี้เป็นบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9

“เรื่องเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ครูเดินทางไปในวังเลย ไปขอยืมชุดที่ใช้แสดงบัลเลต์มโนห์ราตั้งแต่ พ.ศ. 2505 มายกชุด เพื่อนำมาใช้แสดงใน พ.ศ. 2520 ชุดเหล่านี้เก็บไว้นานกว่า 15 ปี จึงค่อนข้างเก่าแก่แล้ว มารู้ภายหลังว่าชุดเหล่านี้ไม่ธรรมดา โดยชุดของตัวละครหลักได้รับการออกแบบจาก ปิแอร์ บัลแมง กูตูริเยร์หลวงจากกรุงปารีส ผู้มีชื่อเสียงในยุคนั้น และทำงานร่วมกับช่างฝีมือไทยในพระราชวังหลวงของไทย จึงออกมาวิจิตรงดงามมาก 

“อย่างชุดนางมโนห์รา ใช้ถุงน่องตาข่ายนำมาปักประดับด้วยเพชร เมื่อต้องแสงไฟก็จะระยิบระยับคล้ายกับขานกจริง ๆ ส่วนชุดของพระสุธน ครูเดาว่าน่าจะมีอิทธิพลจากหนังที่ใช้ทำหนังตะลุง นำมาฉลุลายและปักเพชรปักเลื่อม ประดับจนสวยงาม ซึ่งตอนที่ครูนำมาใช้แสดงนั้นหนังแข็งหมดแล้ว พอนำมาใส่ก็บาดตัวเจ็บผิวไปหมด 

“ครูกับนักแสดงคนอื่น ๆ ซ้อมทำการแสดงกันมาเกือบปี พอใกล้ถึงวันแสดงจริง ปรากฏว่ามีเหตุการณ์ที่ว่า สั่งห้ามนักศึกษาทั่วประเทศทำกิจกรรมในที่สาธารณะ เพราะเหตุผลทางการเมือง นักศึกษามีประท้วงในกรุงเทพฯ มข. เองก็ระงับ พอระงับ ครูก็คิดว่าใกล้ถึงวันแสดงกันอยู่แล้ว และตอนนั้นจาก 13 คนก็มีคนมาเพิ่ม ฝึกรวม ๆ กัน ร่วม 60 ชีวิตได้ เรามาซ้อมกันทุกวัน ๆ จนพร้อมแสดงแล้ว ครูจึงขอเข้าพบท่านอธิการบดีเพื่ออธิบายไปว่าที่จริงไม่ต้องระงับก็ได้นะ เพราะการแสดงนี้เป็นเรื่องของความบันเทิง ความจงรักภักดี เป็นการนำเอาบทเพลงพระราชนิพนธ์มาแสดง แล้วนักศึกษาก็ทำให้ประชาชนมีความสุข นี่น่าจะไม่ใช่ฝ่าฝืนนะ แต่น่าจะทำให้ภาพพจน์นักศึกษาดีขึ้น 

เอกชัย ไก่แก้ว ครูผู้ใช้บัลเลต์นำทาง จนพาเด็กอีสานสอบผ่านโรงเรียนผลิตนักเต้นระดับโลก

“วันนั้นว่าไปครูยังเป็นเด็กอยู่เลยนะ ก็ทำไปตามที่นักศึกษาคนหนึ่งจะคิดได้ ปรากฏว่าทางมหาวิทยาลัยอนุญาตให้จัดการแสดงบัลเลต์มโนห์ราได้ และงานก็ออกมาดีมาก ๆ ด้วยความช่วยเหลือของทางมหาวิทยาลัยและหลายหน่วยงานที่ระดมกำลังมาร่วมด้วยช่วยกัน เช่น เรื่องเวที ตอนนั้นได้สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 จังหวัดขอนแก่น กรมประชาสัมพันธ์ เป็นผู้ช่วยจัดฉากและเวที และมีเรื่องที่น่าแปลกใจคือชุดบัลเลต์ที่ยืมมาจากในวังนั้นใส่ได้พอดีกับนักแสดงทุกคน ทุกบทบาท ราวกับสั่งตัดมาเพื่อการณ์นี้โดยเฉพาะ ทำให้การแสดงครั้งนั้นสำเร็จอย่างงดงาม”

หลังจากการแสดงครั้งนั้นเอง อาจารย์เอกชัยเรียนจบและสอบบรรจุเป็นครูที่โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย ในจังหวัดขอนแก่น ไม่นานจากนั้นก็มีหนังสือจากมาดามเดมอนส่งมาแจ้งกับอาจารย์ว่า สมเด็จพระราชินีนาถฯ มีพระราชประสงค์ให้จัดการแสดงหน้าพระที่นั่ง ในโอกาสต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง หรือในโอกาสที่เป็นการกุศลของในวัง และหากไม่ขัดข้องก็จะขอให้อาจารย์มาเป็นนักแสดงในโอกาสสำคัญดังกล่าวด้วย

“พอได้รับจดหมายนั้น ทำให้ครูย้อนนึกถึงเมื่อตอนที่ได้เรียนบัลเลต์กับมาดาม 6 วัน ก่อนที่มาดามจะกลับ ท่านบอกกับครูว่า เจอนักเต้นแล้ว อยู่ที่ขอนแก่นนี่เอง ครูก็ขอบคุณไป เพราะคิดว่าคงเป็นคำพูดตามมารยาท คือเวลาเจอกันแล้วจะจากกัน เหมือนพูดตามมารยาทว่า เจอแล้ว อะไรอย่างนั้น ไม่ได้คิดเลยว่ามันจะดี มันจะเก่ง หรือมันจะอะไร ๆ แต่มาดามก็คงเห็นอะไรบางอย่างในตัวครูจริง ๆ ครูเลยตัดสินใจที่จะถวายงานรับใช้ในโอกาสสำคัญตามพระราชประสงค์”

เล่าถึงตรงนี้ อาจารย์เอกชัยชี้ให้เราดูภาพตอนที่ท่านเรียนบัลเลต์กับมาดามเดมอน และกล่าวว่า ท่านเพิ่งเข้าใจสิ่งที่มาดามพูดไว้ครานั้น เมื่อได้เห็นภาพตนเองอีกครั้ง เพราะดูจากองศาการวางมือ การยืน ระเบียบร่างกายของท่านบนแผ่นภาพในอดีตนั้นดูสง่างาม และเป็นองศาเดียวกันกับมาดามเดมอน ซึ่งเป็นนักบัลเลต์ระดับโลกผู้สอน ราวกับฝึกฝนมานานทีเดียว

เอกชัย ไก่แก้ว ครูผู้ใช้บัลเลต์นำทาง จนพาเด็กอีสานสอบผ่านโรงเรียนผลิตนักเต้นระดับโลก

สู่การเป็นนักบัลเลต์ต่อหน้าพระพักตร์ และช่างภาพปริศนาหน้าพระที่นั่ง

สุ้มเสียงอ่อนโยนน่าฟังของอาจารย์เอกชัยร้อยเรียงเรื่องราวในอดีตต่อไปว่า 

“พอมีการแสดงต่อหน้าพระพักตร์ เขาจะซ้อมกัน 1 ปี สัปดาห์ละ 2 วัน คือวันอังคารและวันเสาร์ ซึ่งครูไปซ้อมได้แค่วันเสาร์เพราะวันอังคารติดสอน ในที่สุดเลยได้เป็นนักบัลเลต์ร่วมแสดงนับจากนั้นเป็นต้นมา เวลาที่มีแปรพระราชฐานไปที่ไหน หรือเวลาที่มีแขกบ้านแขกเมืองมาเยือน งานการกุศลต่าง ๆ ก็เลยได้เข้ามาสู่วงการบัลเลต์  

พระบรมฉายาลักษณ์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร) และนักบัลเลต์ หนึ่งในนั้นคืออาจารย์เอกชัย ไก่แก้ว
พระบรมฉายาลักษณ์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร) และนักบัลเลต์ หนึ่งในนั้นคืออาจารย์เอกชัย ไก่แก้ว
อาจารย์เอกชัย ไก่แก้ว ในการแต่งกายบัลเลต์ในราชสำนักสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 รับประทานช่อดอกไม้จาก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ครั้งที่ยังดำรงพระราชอิสริยยศเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายาฯ
อาจารย์เอกชัย ไก่แก้ว ในการแต่งกายบัลเลต์ในราชสำนักสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 รับประทานช่อดอกไม้จาก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ครั้งที่ยังดำรงพระราชอิสริยยศเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายาฯ

“หลังจากนั้นเวลามีงานสำคัญ ๆ หรือแปรพระราชฐานไปตามหัวเมืองต่าง ๆ ครูก็ได้ตามเสด็จไปเพื่อไปถวายงาน ซึ่งช่วงเริ่มต้นที่ไปซ้อม มาดามบอกว่าให้หาเพื่อนไปด้วยก็ได้ เพราะกลัวว่าครูเดินทางคนเดียวแล้วจะเหงา ตอนนั้นครูก็บรรจุเป็นครูแล้ว เลยถามนักเรียนว่าคนไหนอยากจะไปกับครูบ้าง เขาเปิดโอกาสให้ร่วมแสดงหน้าพระที่นั่ง โอ้โห สมัครกันเต็มหมดเลย ครูก็เลยทำการออดิชัน ในที่สุดก็เลยได้มา 2 คน 

“ทีนี้พอไป 2 คน มาดามเลยให้บทเป็นบทเสือในป่าหิมพานต์ เป็นเสือ 3 ตัว ครูเป็นเสือที่อยู่ตรงกลางและมีเสือข้าง ๆ 2 ตัว จากนั้นก็มี คุณโจ้-สุธีศักดิ์ ภักดีเทวา มาแสดงด้วย คุณโจ้เขาเลยได้เป็นเสือ ครูได้เป็นพรานบุญ ตอนนั้นพระสุธนก็คือ พี่สมศักดิ์ พลสิทธิ์ คุณพ่อของ คุณคาร่า พลสิทธิ์ คือพี่สมศักดิ์ก็เป็นพระเอกตลอด ส่วนครูก็เป็นพรานบุญตลอด จนกระทั่งระยะหลังครูก็เป็นพระสุธนบ้าง”

อาจารย์เอกชัยในชุดบัลเลต์ รับบทท้าวทุมราช พระบิดาของนางมโนราห์ 
อาจารย์เอกชัยในชุดบัลเลต์ รับบทท้าวทุมราช พระบิดาของนางมโนราห์ 

“ทุกครั้งที่แสดงไม่เคยเหมือนกันเลย เป็นสิ่งที่วิเศษมาก ๆ พระองค์ท่านทรงให้เกียรติ ให้ความเมตตาเราแบบเรานึกไม่ถึง พระราชทานการดูแลอย่างดี เดินทางดี อาหารดี อะไร ๆ ดี เวลาแสดงเราแสดงเต็มที่ ครูเองก็มีความรู้สึกว่าได้ทำหน้าที่สำคัญ เพราะการแปรพระราชฐานและมีพระราชกระแสรับสั่งให้จัดแสดงแต่ละครั้ง เพราะพระองค์มีพระราชประสงค์อยากตอบแทนน้ำใจให้กับข้าราชการทางหัวเมืองที่ทำงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาท 

อาจารย์เอกชัยซ้อมบัลเลต์เรื่องมโนห์รา ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พร้อมนักแสดงท่านอื่น และวงซิมโฟนีออร์เคสตรา

“มีครั้งหนึ่ง น่าจะเป็นตอนที่ เจ้าหญิงอเล็กซานดรา เสด็จมาชมการแสดงที่พระราชวังบางปะอิน ตอนแสดง ครูรู้ว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 สมเด็จพระราชินี และเจ้าหญิง ประทับอยู่ที่ไกล ๆ แต่เวลาอยู่บนเวที มันมีแต่ไฟ เรามองไปข้างล่างไม่ค่อยเห็นอะไร ตาก็มืดหมด ตอนนั้นครูแสดงเป็นพรานบุญ พอพรานออกมา พรานจะค่อนข้างดุนะ โดยเฉพาะตอนที่จับกินรีแล้วมันจับไม่ได้ มันขัดใจ ซึ่งตอนที่กำลังโกรธ ๆ นั้น ครูก็นึกโกรธจริง ๆ เลย เพราะมีคนที่ไม่รู้กาลเทศะคนหนึ่ง ครูคิดว่าน่าจะเป็นนักข่าว เขามาเดินถ่ายรูป แล้วใช้แฟลชด้วย แสงแฟลชแปลบ ๆ ครูจะแสดงไปทางไหนก็ตามถ่ายอยู่นั่นแหละ แล้วลองคิดดูสิว่าเวทีแสดงครานั้นเป็นเนินดิน ไม่ได้สูงไม่ได้อะไร ที่นั่งชมก็เป็นแค่พื้นเรียบ ๆ ก็เท่ากับบังในหลวงสิ ครูจึงนึกโกรธ หน้าตานี่ก็โกรธเชียวนะตามบท เหมือนจะโฟกัสกับคนนั้นว่าทำไมมาทำอย่างนี้ เหมือนจะดุกลาย ๆ ให้ออกไปสักที

อาจารย์เอกชัย ไก่แก้ว ในชุดพรานบุญ สตรีชุดสีน้ำตาลคือ รศ.สุนันทนี จันทร์ทิพย์ ครูผู้สอนการละครนักเรียนการละครรุ่นแรกของช่อง 3
อาจารย์เอกชัย ไก่แก้ว ในชุดพรานบุญ สตรีชุดสีน้ำตาลคือ รศ.สุนันทนี จันทร์ทิพย์ ครูผู้สอนการละครนักเรียนการละครรุ่นแรกของช่อง 3

“จนกระทั่งการแสดงเสร็จ ทีนี้ไฟก็เปิดหมด ทั้งผู้ชม ทั้งนักแสดงได้เห็นหน้ากัน เราเลยเพิ่งรู้ว่าช่างภาพคนนั้นคือในหลวงรัชกาลที่ 9 เอาล่ะสิ แย่แล้วเราจะรู้สึกยังไงดีหว่า ตะกี้นี้เราก็ออกสีหน้าท่าทางเต็มที่เลย (หัวเราะ) หลังจากนั้นพอเสร็จแล้วเราก็เข้าไปที่ข้างหลังเวทีเตรียมกลับบ้าน สักครู่เดียวก็มีคนพูดต่อ ๆ กันมาจนถึงหูครูว่า อีก 5 นาที แสดงอีก 1 รอบ รอบนี้พิเศษมากเลย สมเด็จพระราชินีท่านได้พากย์บรรยายตามเนื้อเรื่องและตัวละครตลอดการแสดงด้วย (หัวเราะ) เรื่องช่างภาพปริศนานี้เวลาที่ครูไปถวายพระพร ครูก็ยังเขียนเล่าลงในสมุดถวายพระพรว่า ผมเคยทำอย่างนี้” 

เมื่อครูผู้ไม่รู้ดนตรี ต้องฟอร์มวงโยธวาทิตแข่งระดับประเทศ

อาจารย์เอกชัยเผยกับเราว่า ชีวิตท่านมักได้ทำในสิ่งที่ไม่ได้ร่ำเรียนมาเสมอ เรียนจบศึกษาศาสตร์มา แต่ได้ไปเป็นนักเต้นบัลเลต์ แล้วพอบรรจุเป็นครูสอนชีววิทยา ก็มีเหตุให้ได้ฟอร์มวงโยธวาทิตเพื่อไปแข่งขันระดับประเทศ ทั้งที่ตนเองไม่รู้เรื่องดนตรีเลยแม้แต่น้อย และจากจุดนั้นเองที่เชื่อมโยงไปสู่การเป็นครูคนแรกที่เขียนหลักสูตรบัลเลต์ในระดับมัธยมศึกษา

“พอครูบรรจุเป็นครูที่โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย ในทันทีก็ได้รับการขอให้ไปช่วยราชการที่โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน ทางโรงเรียนได้ขอให้ครูไปทำวงโยธวาทิต ครูก็ปฏิเสธเพราะเล่นดนตรีไม่เป็น อ่านโน้ตไม่ออก จะทำได้อย่างไร เขาก็บอกว่า เออ ก็ไปหลอกเด็กมา ให้มาทำตึ้ง ๆ ตั้ง ๆ ไปก่อน แล้วเดี๋ยวจะมีครูผู้ใหญ่มาช่วยสอน ครูเลยไปรวบรวมเด็กมาเล่น มาฝึกแถว มาออกกำลังกาย ครูหลอกเด็กแล้วครูก็โดนหลอกอีกที คือไม่มีใครมาช่วยสอน (หัวเราะ) เรียกว่ากรรมตามสนองใช่ไหม 

“พอเป็นแบบนี้ประมาณสัก 2 เดือน เด็กก็ถามครูว่า เมื่อไรผมจะได้เล่นดนตรีครับ ครูจึงขอกับทางโรงเรียนว่าต้องขอไปศึกษาดูงาน เพราะไม่มีความรู้ด้านนี้ เลยต้องไปดู ครูนั่งรถไปกรุงเทพฯ เลย ไปที่โรงเรียนวัดสุทธิวราราม ซึ่งตอนนั้นถือว่าเก่งเรื่องวงโยธวาทิตที่สุด ครูก็นั่งไปดู แล้วก็ได้โน้ตที่เขาบริจาคมาบ้าง เลยเข้าใจว่า อ๋อ โน้ตสากลมันเป็นแบบนี้เอง 

ด้วยความที่ครูเป็นครูดนตรีที่ไม่รู้ภาษาอะไรเลย คนอื่นเขาเขียนโน้ตขึ้นกระดานได้ แต่ครูเขียนไม่เป็น ครูก็เลยเอาสกอร์โน้ตมาสอนเด็ก ซึ่งโน้ตเพลงเหล่านั้นดันเป็นโน้ตมาตรฐานสากล คือครูไปซื้อของ จอห์น ฟิลิป ซูซา ราชาแห่งเพลงมาร์ช มาใช้เลย มันก็เลยกลายเป็นวงโยธวาทิตของครูตอนนั้นมีความแตกต่าง เพราะส่วนใหญ่ในยุคนั้นวงโยธวาทิตจะคล้ายแตรวงทั่ว ๆ ไป แล้วมีวงที่มีมาตรฐานที่มีเสียงประสานมากันบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นวงในกรุงเทพฯ ทีนี้ด้วยความไม่รู้ ครูและวงก็เลยนำโน้ตของมาร์ชชิงแบนด์มาตรฐานสากลที่แต่ละเครื่องเล่นไม่เหมือนกันมาฝึกเล่นไป ซึ่งตอนนั้นครูเต้นบัลเลต์อยู่แล้ว จึงฟังเพลงคลาสสิกได้ เพราะฉะนั้น เพลงวงโยฯ นี่ไม่ยากแล้ว 

“วิธีฝึกของวง ครูจะบอกกับเด็กว่า พวกเรารู้ว่าครูไม่มีความรู้เรื่องดนตรีเลย เล่นดนตรีก็ไม่เป็น แต่ครูฟังเพลงเป็น ดันนั้น ถ้าหากเราจะอยู่ด้วยกัน เอาเป็นว่า ถ้าเล่นดนตรีไปแล้วครูบอกว่าตรงนี้ไม่ชอบ อยากให้เป็นแบบนั้นแบบนี้ครูจะบอก แล้วอย่าถามคืนว่า ต้องทำยังไง เพราะถ้าถามคำถามนั้น คำตอบของครูก็มีแค่ว่า ไม่รู้ ครูจะบอกวิธีทำไม่ได้ เอาเป็นว่า ให้พวกนักเรียนทุกคนไปทำดนตรีตามที่ครูต้องการ ห้ามถามคืน ซึ่งครูก็จะพยายามหาวิทยากรเก่ง ๆ มาช่วยดูแลด้วยเป็นครั้งเป็นคราว แค่นี้แหละ แล้วก็ตั้งใจมาซ้อมเช้า กลางวัน เย็น และวันหยุด 

“ท้ายที่สุด วงเราก็ได้เป็นแชมป์ประเทศไทยในการแข่งขันประกวดวงโยธวาทิตชิงชนะเลิศประเทศไทย ในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ใน พ.ศ. 2525 ครั้งนั้น โดยโรงเรียนขอนแก่นวิทยายนได้อันดับ 1 โรงเรียนเทพศิรินทร์ได้อันดับ 2 และโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัยได้อันดับ 3 หลังจากนั้นก็จะไปประกวดต่อระดับโลก แต่ด้วยการขาดทุนสนับสนุน ขอนแก่นวิทยฯ จึงไม่ได้ไปประกวด เทพศิรินทร์เองก็ไม่ได้ไปประกวด ปรากฏว่ามงฟอร์ตฯ ซึ่งได้ที่ 3 ไปประกวดแล้วเขาได้อันดับ 1 ของโลกมาเลย ครูก็ยังแอบพูดแบบติดตลกกับลูกศิษย์ว่า นี่ขนาดอันดับ 3 ไปประกวดยังชนะระดับโลกเลยนะ ถ้าเราได้ไปประกวดต้องชนะแน่ ๆ แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่หรอก มันต่างกาลกัน เป็นเพียงการพูดกันสนุก ๆ 

“เบื้องหลังความสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้ ครูสังเกตเห็นชัดเจนระหว่างฝึกซ้อมว่า เด็กอีสานมีความพยายามมาก หากจะทำอะไรเขาจะทำจริง ๆ อย่างตอนที่ทำวง ทางโรงเรียนไม่ได้มีงบสนับสนุนค่าใช่จ่ายนะ ครูต้องแบ่งเงินเดือนมาซื้อไข่ต้มแจกเด็กเวลาออกงาน และมารู้ภายหลังว่าเวลามีซ้อมช่วงวันหยุด เด็ก ๆ เขาจะรวมเงินกันไปซื้อโจ๊ก จั๊บ ต้มเส้น ตรงรถเข็นหน้าตลาดบางลำภู ขอนแก่น แบ่งกันกินแบบเวียนช้อน แล้วค่อยมาซ้อมด้วยหน้าตายิ้มแย้ม โดยไม่ให้ครูรู้ว่าพวกเขาเผชิญอะไร 

“ขณะเดียวกัน ไอ้ตอนปีที่ขอนแก่นวิทยฯ ไปประกวดแล้วได้แชมป์กลับมา หลังจากนั้นเขาก็แขวนนวม พอแล้ว ไม่ประกวดอีก พอปีถัดไปโรงเรียนแก่นนครวิทยาลัยก็ไปประกวดบ้าง ซึ่งครูได้ไปช่วยดูในช่วง 3 วันสุดท้ายของการซ้อม ปรากฏว่าพอไปแข่งแล้วตกรอบกลับมา พอโรงเรียนแก่นนครฯ ตกรอบมา ครูเกรงว่า ผอ. จะเสียใจแล้วจะวางมือเรื่องวงฯ ครูก็เลยไปหา ผอ. และบอกท่านว่า ผอ. อย่าเพิ่งเสียใจนะครับ เด็กเก่งอยู่นะ ถ้าเกิดว่าฝึกต่อไปจะต้องมีอะไรดี ๆ เกิดขึ้นแน่ ๆ ประสบความสำเร็จแน่ ๆ ผอ. จึงบอกว่าจะทำต่อก็ได้ แต่จะทำก็ต่อเมื่อคุณจะต้องกลับมาช่วยแก่นนครฯ มาช่วยที่โรงเรียนเดิมบ้าง เอาล่ะสิ กลายเป็นเกี่ยวกับครูขึ้นมาแล้วสิ แต่ครูก็ตอบ ผอ. ไปว่าไม่ติดขัดอะไร เพราะเราเป็นครูไทย สอนที่ไหนก็สอนเด็กไทย แล้วถ้าหากว่ามีทุกอย่างที่มันทำให้มันดีขึ้นครูก็ยินดี”

ภาพวงโยธวาทิต โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย

การกลับสู่โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย อาจารย์เอกชัยมีสิ่งที่ต้องขอจาก ผอ. 3 ข้อ คือข้อแรก ด้วยการที่อาจารย์เป็นนักบัลเลต์ที่ต้องถวายงานเป็นครั้งคราว หากมีเหตุให้ต้องไปทำการแสดง ทางโรงเรียนต้องอนุญาตให้อาจารย์ไปได้ทันที  

ข้อที่ 2 ตอนที่อยู่โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน ยังมีนักเรียนกลุ่มหนึ่งที่ยังรักดนตรีและศรัทธาในตัวท่าน ซึ่งบางคนต้องการเอาดีด้านดนตรีเพื่อก้าวไปสู่การรับราชการทหารหรือประกอบอาชีพ หากมีนักเรียนคนใดต้องการย้ายตามมา ขอให้ทางโรงเรียนแก่นนครรับเด็กเหล่านั้นเข้าเรียนโดยไม่มีเงื่อนไข เพื่อเด็กจะได้รับการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง

สิ่งที่ร้องขอข้อสุดท้าย คือด้วยความที่อาจารย์ไม่มีความรู้เรื่องดนตรี แม้จะเป็นแชมป์แล้วก็ยังรู้สึกว่าตนไม่เก่งและต้องการศึกษาหาความรู้ด้านดนตรีเพิ่มเติมเพื่อนำมาใช้สอนเด็ก ดังนั้น หากมีการแสดงทางดนตรีหรือศิลปะอะไรที่เกี่ยวข้องกัน ต้องขอให้โรงเรียนอนุญาตให้ไปศึกษาดูงานได้ ซึ่งปรากฏว่า ผอ. ของทางโรงเรียนแก่นนครวิทยาลัยก็ตกลง 

อาจารย์เอกชัย ไก่แก้ว และนักดนตรีวงโยธวาทิตของโรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย ซึ่งอาจารย์ฝึกฝนบัลเลต์ให้ เพื่อพัฒนาบุคลิกภาพที่ดีก่อนเข้าประกวด

หลังจากวันนั้น อาจารย์เอกชัยพร้อมนักเรียนนักดนตรีจากโรงเรียนขอนแก่นวิทยายนกลุ่มหนึ่งที่ศรัทธาในตัวท่านและมีใจรักดนตรี ก็ได้ย้ายมาสู่โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย และได้ฝึกซ้อมวงโยธวาทิต เพื่อเข้าประกวดในปีถัดจากนั้น ผลปรากฏว่าโรงเรียนแก่นนครวิทยาลัยได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 โดยปีนั้นแชมป์คือโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัยซึ่งรั้งตำแหน่งแชมป์โลก อาจารย์เอกชัยมารู้ภายหลังว่าทางโรงเรียนแก่นนครฯ พ่ายแชมป์ไปเพียง 0.5 คะแนนเท่านั้น แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับสิ่งที่เกิดขึ้นตามมา คือหลังจากประกวดเสร็จ กองดุริยางค์ทหารอากาศยินดีรับนักเรียนที่เข้าแข่งขันของโรงเรียนแก่นนครทั้งหมดเข้ารับราชการสมดังที่เด็ก ๆ หลายคนเขาตั้งใจไว้ และสร้างความชื่นใจให้ผู้ฝึกสอนอย่างยิ่ง 

เปิดหลักสูตรการสอนบัลเลต์ครั้งแรกในประเทศไทยจากความไม่รู้

ระหว่างช่วงที่ฝึกซ้อมวงโยธวาทิตของโรงเรียนแก่นนครวิทยาลัยเพื่อไปประกวดนั้น อาจารย์เอกชัยยังคงถวายงานแสดงบัลเลต์ต่อหน้าพระพักตร์ด้วย จึงต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ในวันเสาร์-อาทิตย์ และซ้อมวงโยธวาทิตกันในวันธรรมดาอย่างหนักหน่วง ทำให้ผู้บริหารโรงเรียนเริ่มหวั่นไหวว่าอาจารย์เอกชัยจะทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายทั้งหมดอย่างไม่บกพร่องหรือไม่ ผอ. ของโรงเรียนจึงตามไปชมอาจารย์ซ้อมบัลเลต์ที่กรุงเทพฯ โดยไม่บอกก่อนล่วงหน้า กลายเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้เกิดหลักสูตรการเรียนการสอนบัลเลต์ระดับมัธยมขึ้นที่ภาคอีสานและประเทศไทย

“วันหนึ่งครูก็จะมีซ้อมบัลเลต์ที่โรงละครแห่งชาติ ที่วิทยาลัยนาฏศิลปช่วงบ่าย ตอนเช้าว่าง ไม่รู้จะทำอะไร เลยไปดูละครไทยที่กรมศิลปากร ที่โรงละครแห่งชาติ พอดูเสร็จก็ไม่รู้ไปไหนอีก ก็มานั่งตรงระเบียง มองลงด้านล่าง เห็นผู้หญิงคนหนึ่งเดินหิ้วกระเป๋าพะรุงพะรังมา ครูก็ตกใจนิดหนึ่ง เพราะนั่นคือ ผอ.สุนันทา ศุภนีละ ผู้อำนวยการโรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย

“ผอ. ท่านเป็นคนใจดี แต่ท่านเป็นคนเฮียบ ครูก็คิดว่าท่านมานี่ต้องมาจับผิดแน่ ๆ เลยเนี่ย (หัวเราะ) ว่ามาซ้อมบัลเลต์จริงไหม ทีนี้ไหน ๆ มาถึง แล้วครูเลยพาไปดูห้องซ้อม บนชั้น 4 ของวิทยาลัยนาฏศิลป พอไป ทีนี้พวกผู้ปกครองทั้งหลายเขาก็ไม่รู้จักหรอกว่านี่คือ ผอ. เพราะแต่ละคนล้วนไฮโซทั้งนั้น ก็จะมีความเป็นส่วนตัวและวางตัวกันพอประมาณ (หัวเราะ) แต่ไม่ใช่ว่าเขาจะไม่สมาคมกับใครอะไรนะ เพียงแค่พอไม่รู้ว่าคนที่ขึ้นมากับครูเป็นใคร คงยังไม่รู้ว่าจะต้อนรับหรือพูดคุยด้วยอย่างไร

อาจารย์เอกชัย ไก่แก้ว ฝึกซ้อมการเต้นระบำในราชสำนักให้กับผู้ที่เตรียมแสดงต่อหน้าพระพักตร์ หนึ่งในนั้นคือ คุณอาภัสรา หงสกุล นางงามจักรวาลคนแรกของไทย

“เวลาครูซ้อม ผอ. นั่งอยู่คนเดียว เหมือนมีเสาอะไรสักต้นหนึ่งท่ามกลางงานชุมนุม ก็เข้าใจนะว่าในความเป็น ผอ. ปกติไปไหนจะมักมีคนห้อมล้อมหรือให้เกียรติใช่ไหม แต่พอมาอยู่ตรงนี้รู้สึกโดดเดี่ยว ครูก็สงสารท่าน พอครูแสดงเสร็จก็พัก ครูเลยเดินไปคุยกับ ผอ. โดยที่ครูเลือกนั่งพื้น พอครูซึ่งเป็นพระเอกนั่งพื้นและคุยกับคนคนหนึ่ง ทำให้คนอื่นในห้องซ้อมนั้นหันมามอง เพราะสปอตไลต์มันอยู่ที่ครูอยู่แล้วใช่ไหม พอครูไปนั่งพื้นปุ๊บ คนอื่นก็จะรู้สึกว่า แล้วคนที่นั่งอยู่บนเก้าอี้นั้นเป็นใคร จบแค่นั้นแหละ แผล็บเดียว ผอ. ก็มีเพื่อนคุยแล้ว (หัวเราะ)

อาจารย์เอกชัย ในงานการแสดงระบำในราชสำนักในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และ คุณอาภัสรา หงสกุล นางงามจักรวาลคนแรกของไทย

“หลังจากไปดูครูซ้อมเต้นครั้งนั้นเอง พอกลับมาที่โรงเรียน ผอ. ท่านก็พูดกับครูว่า คุณเอกชัย ผอ. ว่าคุณเปิดสอนบัลเลต์ที่โรงเรียนเราเถอะ ครูก็บอกว่าจะสอนได้ยังไง สอนไม่ได้หรอกครับ เพราะไม่เคยเรียน ได้ฝึกมาแค่ 6 วันเท่านั้นเอง ครูปฏิเสธไป แต่ ผอ. ท่านก็พยายามเกลี้ยกล่อมว่า ดีนะหากมีการเปิดสอน คือเขารู้ว่าครูมักจะใจอ่อนกับเด็ก ผอ. ให้เหตุผลว่า จะได้ทำให้เด็กนักเรียนในส่วนภูมิภาคมีโอกาสบ้าง ซึ่งตอนนั้นเวลาแสดงต่อหน้าพระพักตร์ ครูก็ได้พาเด็กนักเรียนมาแสดงด้วยนะ ฝึกให้ แต่ก็ไม่ได้ฝึกแบบมาตรฐานบัลเลต์มาก ๆ 

“ทีนี้ ผอ. ก็เริ่มเอาเรื่องราชการมาเกี่ยวข้องแล้ว บอกครูว่า ทางผู้ใหญ่เขาบอกมาว่า ถ้าทางโรงเรียนจะมีอะไรที่ทัดเทียมส่วนกลางได้ให้ช่วยจัดให้หน่อย เพราะเวลาจะย้ายข้าราชการออกต่างจังหวัด บางทีเขาไม่ค่อยอยากย้ายมากัน เหตุผลคือ ไม่ใช่เขาไม่อยากมา แต่เขาไม่อยากให้ลูกเสียโอกาส เลยทำให้การบริหารโยกย้ายทำได้ลำบาก

“ครูปฏิเสธมาเรื่อย ๆ จนเป็นเวลา 1 ปีเต็ม กระทั่งปีนั้นเป็นปีแรกที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดเอกวิชาบัลเลต์ เป็นโครงการช้างเผือก คือทั่วประเทศมาแข่งกันแล้วรับแค่ 1 คน ครูเลยส่งลูกศิษย์ไป เพราะเขาอยากไปเรียนต่อด้านนี้อยู่แล้ว เขาต้องสอบทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ ครูจึงเริ่มค้นคว้าทฤษฎีมาติวให้ ทีนี้คู่แข่งก็คือนักบัลเลต์ในกรุงเทพฯ แต่ผลปรากฏว่าลูกศิษย์ครูสอบได้ แล้ว ผอ. ก็เรียกพบครู ท่านไม่พูดอะไร แต่หยิบกระดาษและปากกาส่งให้ แล้วพูดว่า คุณเอกชัย การที่จะเปิดสอนบัลเลต์ ห้องจะต้องเป็นยังไง ต้องใช้อะไร มีหน้าตาอย่างไรบ้าง คุณเขียนให้เสร็จก่อนที่จะออกจากห้อง ผอ. ไปนะ แล้วท่านก็เดินออกจากห้องหลบหนีไปเลย 

“ครูเลยต้องเขียนให้เสร็จตามที่ท่าน ผอ. สั่งไว้ โดยอาศัยประสบการณ์ของตัวเองว่าห้องเรียนควรต้องเป็นอย่างนี้ ๆ แต่ตอนนั้นด้วยความที่ต้องประหยัด คิดว่าไม่ต้องติดแอร์ก็น่าจะได้ แต่ที่จริงถ้าตอนนั้นวาดไปให้มีฟังก์ชันเต็มสตรีมเลยก็น่าจะได้อยู่ พอได้ห้อง ครูก็ขออนุญาต ผอ. ไปว่า ถ้าเกิดจะต้องเปิดสอนจริง ๆ ต้องสอนตามหลักสูตรใช่ไหมครับ ครูก็ควรจะต้องไปดูงานตามโรงเรียนที่สอน ขออนุญาต ผอ. ไปที่กรุงเทพฯ และไปที่หน่วยศึกษานิเทศก์ศิลปะ ไปถามว่าที่ไหนเขามีสอนจะได้ไปดูงาน ขอดูหลักสูตร ครูก็ไปหาศึกษานิเทศก์ที่กรุงเทพฯ แล้ว ครูก็เล่าเรื่องต่าง ๆ ให้ฟัง ศึกษานิเทศก์ก็บอกว่า โรงเรียนอาจารย์จะเปิดสอนบัลเลต์เหรอคะถ้าอย่างนั้น โรงเรียนของอาจารย์ก็จะเป็นโรงเรียนแรกของประเทศไทย

“(หัวเราะ) ก็แปลว่าที่จะไปขอดูหลักสูตรเขานี้ไม่มี เลยต้องกลับมาเขียนหลักสูตรอะไรไป ทีแรกยังเป็นวิชาเลือกนะครับ สอนไปได้ไม่นานหรอก ครูก็มีความรู้สึกว่า การที่เราจะก้าวสู่ความเป็นเลิศหรือเก่งทางนี้จริง ๆ และครูก็มีครูที่เป็นไอดอลระดับโลก ครูคิดว่าวันหนึ่งเด็กที่เราสอนก็น่าจะไปถึงตรงนั้นได้บ้าง เพราะฉะนั้น ควรเพิ่มชั่วโมงสอน โดยที่ตอนนั้นมีเด็กมาสนใจอยู่หลายคนเหมือนกัน และหลายคนก็อยากจะไปทางนี้ เลยเปิดการเรียนสายศิลป์ ศิลปะ-บัลเลต์ ขึ้นมา ซึ่งเป็นแห่งแรกในประเทศไทยเหมือนกัน 

“ตอนสอนก็พยายามนึกนะว่ามาดามสอนอะไรเราบ้าง แล้วก็ไอ้ที่สอนแบบนี้และไอ้ที่เต้นแบบนี้ต้องการจะสื่ออะไร ซึ่งเวลานี้ก็เก่งกว่าตอนแรกที่ครูฝึกมา 6 วันเยอะแล้ว เพราะเราได้ไปแสดงต่อหน้าพระพักตร์มาหลายรอบ และการแสดงแต่ละครั้งนี่ก็ไปซ้อมที่กรุงเทพฯ ได้เข้าคลาส ได้ฝึกตัวเองมาพอสมควร แต่เรียกว่าไม่รู้เรื่องหรอก เหมือนกับรถเสีย เราพอจะทำได้เล็ก ๆ น้อย ๆ แต่เชิงช่างเราไม่รู้ พอยังไม่รู้ก็ต้องศึกษากันเป็นการใหญ่ 

“การสอนของครูประหลาดอยู่อย่างหนึ่งนะ คือครูจะใช้ความรู้สึกเป็นหลักสำคัญในการสอน” 

นักเรียนโรงเรียนแก่นนครฯ นายศิริมงคล นาฏยกุล กำลังกระโดดในท่วงท่าบัลเลต์ที่ห้องฝึกซ้อมของโรงเรียนแก่นนครฯ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น รศ.ดร.ศิริมงคล นาฏยกุลวงศ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิตและศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาศิลปะการแสดง ภาควิชาศิลปะการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
อาจารย์เอกชัยและเหล่าลูกศิษย์แห่งโรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย

“การสอนบัลเลต์ของครู ครูใช้ความรู้สึกเป็นหัวใจสำคัญ เช่น เราวาดมือไปที่ Second Position และอยากให้อยู่ในสภาพที่สวยงาม ให้ดูเบาเหมือนใบไม้ที่ร่วงลงมา จะทำยังไงจึงได้ภาพเหล่านี้ออกมา หลังจากที่ครูสอนมาได้สัก 2 – 3 เดือน ครูเองเพิ่งรู้สึกว่า เออ ครูเองเริ่มเต้นบัลเลต์ได้แล้วนะ (หัวเราะ) ไอ้ที่แสดงมาทั้งหมดก่อนหน้านั้นยังไม่ใช่ พอเราได้สอนเป็นจริงเป็นจัง เราถึงเข้าใจแก่นของการเต้น ยังรู้สึกและจำได้ในวันแรกว่า อ้อ เราเริ่มทำเป็นแล้วนะ 

“อย่างเช่นการฝึกต้องดูที่เอาขาชี้ไปในตำแหน่งต่าง ๆ ทั้งด้านหน้า ด้านข้าง ด้านหลัง ในวันที่รู้สึกว่าเราเริ่มเข้าใจการเต้นแล้ว เวลาที่เราวาดขาไปข้างหน้า พอไปสุดข้างหน้าจะเหมือนมีเส้นพลังเป็นพาวเวอร์พุ่งปรื๊ดออกไปไกล ๆ กว่าขาเราที่มีอยู่ ครูก็สอนตามความรู้สึกของเราแบบนั้นไปเรื่อย ๆ 

นักเรียนบัลเลต์หญิงชาวอีสานของโรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย นางสาวรวิวรรณ ราชสุนทร ผู้ที่ภายหลังสอบผ่านการเต้นระดับสูงของบอลชอยได้ 

“เวลามีการแสดงบัลเลต์จากต่างประเทศที่กรุงเทพฯ ครูจะพาเด็กไปชม ซึ่งตอนนั้นครูสอนพิเศษเสาร์-อาทิตย์ด้วย ก็มีเด็กข้างนอกมาเรียน และนำเงินที่เก็บได้มาเป็นค่าตั๋วค่าเดินทางสมทบให้เด็กที่เรียนบัลเลต์ เพราะเด็กพวกนี้ไม่ใช่ว่ามีตังค์อะไรมากมาย ชุดบัลเลต์ รองเท้า อะไรก็แพง ทำยังไงถึงจะได้ในราคาถูก 

“ครูต้องมาศึกษาว่าส่วนไหนที่จะทำได้เอง ส่วนไหนที่จะทำบางส่วนแล้วส่งต่อ เพื่อจะให้ประหยัด คิดไปหลายอย่าง จนในที่สุดไอ้เงินที่สอนพิเศษก็ทำให้เด็กนี่เก่ง ได้ไปดูงาน ซึ่งตอนหลัง ๆ เลิกสอนไปแล้ว เพราะมีบางคนเขาเริ่มว่า เอ๊ะ มันได้เงินมาจากไหน เอาเงินไปไหน ซึ่งเราไม่ได้เบิกเงินโรงเรียน แต่เงินที่ได้มาควรจะต้องไปเข้าส่วนนู้นส่วนนี้ แล้วเบิกไม่ได้ แล้วจะต้องมาอัดฉีดครู ครูเลยเลิกสอนพิเศษ เอาเฉพาะเงินเดือนของเราช่วยสนับสนุนเด็กไปก็แล้วกัน นี่ก็คือบรรยากาศการเรียนการสอนบัลเลต์ของครูและนักเรียนยุคนั้น” 

จดหมายเชิญจากบัลเลต์บอลชอย เมื่อเด็กอีสานหาญสอบบัลเลต์ระดับโลก

และแล้ววันที่บัลเลต์กำลังจะเคลื่อนพาชีวิตครูและเด็กอีสานที่ฝึกฝนบัลเลต์ด้วยหัวใจให้ก้าวไปสู่ระดับโลกก็มาถึง อาจารย์เอกชัยเล่าถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นให้ฟังว่า 

“จนกระทั่งวันหนึ่ง คณะบอลชอยมาแสดงที่ไทยและครูได้พานักเรียนไปดู เขาแสดงได้ดีมาก ทำให้เรารู้สึกว่าในโลกนี้มีอย่างนี้ด้วยเหรอ เราก็เต้นบัลเลต์มาอยู่นะ แต่เขาทำได้แบบที่มันเลิศเลอเพอร์เฟกต์ เหมือนว่าเขามีพลังวิเศษที่ถ่ายทอดออกมา ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือแม้แต่การปรากฏตัวครั้งแรก 

“พอจบการแสดง ครูเดินเข้าไปหลังเวที ซึ่งตอนนั้นต้องเรียกว่าฟลุกนะ เพราะว่าทางนู้นเขาเป็นคอมมิวนิสต์ ปกติไม่อนุญาตให้คนนอกเข้าไปพบ พอครูเข้าไปก็พูดภาษาอังกฤษกับเขา เจ้าหน้าที่ก็บอกว่า พูดกับเขาไม่รู้เรื่องหรอก ครูพูดกับเขา เขาก็ได้แต่พูด Thank you แต่ละคนก็คุยไม่รู้เรื่องหรอก ครูเข้าไปคุยกับ Mr.Vasily Klochko พระเอกในการแสดงครั้งนั้น ปีถัดมาเขาก็มาแสดงอีกครั้งหนึ่งก็จำกันได้ เขาบอกว่าเขาพักที่โรงแรมดุสิตธานีแถวสีลม และบอกครูว่า Today disco tomorrow classic, OK? เขาพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ แต่ครูก็โอเคได้เลย กะว่าวันรุ่งขึ้นจะพาลูกศิษย์ไปด้วยเพื่อให้เขาช่วยสอน แต่ก็ไม่มั่นใจนะว่าเขาจะมาจริง

Mr.Vasily Klochko พระเอกบัลเลต์จากบอลชอย และสอนนักเรียนบัลเลต์ให้กับลูกศิษย์ของอาจารย์เอกชัย

“ปรากฏว่าตอนเช้าเขามาจริง ๆ มาสอน แล้วสอนแบบโหดมากเลย สมมติว่ามือวาดออกไป ถ้าเกิดไม่ตรงตำแหน่ง ไม่ได้องศา เขาฟาดสุดแรงเลยนะ แต่พอฟาดแล้วทุกอย่างออกมาเป๊ะตามนั้นเลย หลังจากให้เขามาเข้าคลาสช่วยสอนครานั้น เขาก็พูดกับครูว่า ลูกศิษย์ของคุณเก่งมากนะ ครูคิดในใจว่าเก่งอะไรหนอ เขาจะตายกันอยู่แล้ว (หัวเราะ) เขาย้ำว่า เด็กคุณเก่งมากจริง ๆ เก่งกว่าเด็กรัสเซียอีก ครูก็คิดว่าเขาคงพูดไปตามมารยาท

“หลังจากนั้นไม่นาน พระเอกบัลเลต์คนนั้นเขามาที่โรงเรียนแก่นนคร คือเขาเก่งมากนะที่ตามหาเจอ เขามาอยู่ที่ขอนแก่น 2 เดือน มาเที่ยว มาหาครู ครูบอกว่าดีสิ มาก็ดี ให้มาช่วยสอนเลย ครูให้เงินเขาด้วย แต่โรงเรียนไม่รู้เรื่องนะ พอสอนเสร็จเขาก็บอกว่าจะเชิญเราไปที่รัสเซีย ซึ่งตอนนั้นรัสเซียแยกประเทศพอดี

อาจารย์เอกชัย ไก่แก้ว และ Mr.Vasily Klochko พระเอกบัลเลต์จากคณะบัลเลต์บอลชอย กับการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านบัลเลต์ให้กับเด็กไทย 

“ชื่อสถาบันบอลชอย แปลว่า ยอดเยี่ยม Verry Much มีอยู่ 3 ที่ คือที่กรุงมอสโก ที่เคียฟ แล้วก็ที่ทาชเคนต์ อุซเบกิสถาน ซึ่งสอนบัลเลต์ในมาตรฐานเดียวกัน ใช้หลักสูตรเดียวกัน เป็นหลักสูตรกลาง และเวียนจากมอสโกไปที่เคียฟและไปที่ทาชเคนต์ ซึ่งตอนที่แยกประเทศกัน หลักสูตรการเรียนการสอนอยู่ที่ทาชเคนต์ 

“ครูถามว่าจะเชิญเราไปทำอะไร เขาบอกว่าจะเชิญไปสอบที่โน่น ครูบอกว่า ถ้าไปสอบก็สอบตกนะสิ เขาบอกว่าไม่หรอก ยังไงก็แล้วแต่คือเขาเองก็พูดภาษาอังกฤษไม่เก่ง ไอ้สิ่งที่โต้ตอบมาครูก็ไม่มั่นใจว่าสิ่งที่เราเข้าใจจะตรงกับที่เขาต้องการสื่อหรือเปล่า เพราะเท่าที่เข้าใจเขาบอกว่าให้เราพานักเรียนเข้าไปเรียนที่นู่น ซึ่งจะเป็นไปได้ยังไง เพราะสถาบัน The Choreographic School มาตรฐานระดับโลก เขาจะคัดและผลิตนักเต้นเก่ง ๆ ที่จะเข้าคณะบอลชอยบัลเลต์ทาชเคนต์ แล้วจะเป็นไปได้หรือที่เขาจะเชิญนักเรียนเราไปร่วมคลาส ร่วมสอบด้วย 

จดหมายเชิญแลกเปลี่ยนร่วมเรียนและทำการทดสอบ จาก The Choreographic School, Tashkent 

“แล้วก็มีหนังสือเชิญมาจริง ๆ เป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้อำนวยการโรงเรียน บอกว่าจากการแนะนำของมิสเตอร์วาซิลลี พระเอกบัลเลต์ของคณะบอลชอยบัลเลต์ทาชเคนต์ ได้เห็นถึงศักยภาพของเด็กเรา จึงเปิดโอกาสให้เด็กทั้ง 5 คนตามที่มีรายชื่อระบุมา เข้ามาเรียนและทำการทดสอบกับทางสถาบัน โดยค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารการกินและเงินใช้จ่ายส่วนตัวต้องออกกันเอง แต่จะมีที่พักให้ทั้งครูและลูกศิษย์พักที่บ้านของคุณวาซิลลี่เลย 

“โอ้โห ได้พักที่บ้านพระเอกเลยนะ แทบไม่น่าเชื่อ แต่นี่คณะเราได้รับโอกาส ก็ตกลงว่าตอบรับว่าจะไปกัน เพราะลองไปดูก็ไม่เสียหาย ถ้าสอบตกก็ไม่ต้องบอกใคร แต่อย่างน้อยก็จะได้รับประสบการณ์ที่ดี 

“ตอนที่ครูไป ประเทศเขายังเป็นคอมมิวนิสต์ จึงเข้มข้นจริงจังมาก การเรียนที่ The Choreographic School มีเกรด 1 – 5 หากสอบบัลเลต์ได้เกรด 1 เขาจะให้รีไทร์ทันที เกรด 2 อาจให้ไปเต้นระบำพื้นเมือง ถ้าจบได้เกรด 3 จึงถือว่าเรียนจบ เป็นนักเต้นเกรดดีที่สุดคนหนึ่งในโลก ไปอยู่ที่ไหนเขาก็จะมั่นใจในคุณภาพของสถาบัน ทีนี้เกรด 3 ที่ถือว่าดีที่สุดระดับโลกแล้ว แล้วเกรด 4 ล่ะ หมายความว่าดีกว่าเกรด 3 ขึ้นไปอีก แล้วเกรด 5 นี่คือดีสุด ๆ ไม่ได้แสดงอะไรเยอะ แค่ยืนนิ่ง ๆ ก็ส่งพลังออกมาได้ แต่ไม่ใช่ว่าเขาทำอะไรไม่ได้นะ เขาทำได้หมด  

“ปรากฏว่าพอไปเรียนที่นู่น วันแรกที่ไปเข้าคลาส เด็กรัสเซียมาดูกันเต็มไปหมดเลย เพราะข่าวของเราไปสะพัดที่นั่น นักเรียนที่นั่นก็อยากรู้ว่าคนไทยเก่งยังไง เพราะพวกนั้นเขาเอาจริงเอาจังกันมาก ๆ เต้นกันวันละ 8 ชั่วโมงเป็นเวลา 8 ปี ถึงจะได้ขึ้นชื่อว่าเป็นนักเต้น แล้วต้องได้เกรดเกินเกรด 3 ถ้าเรียนวิชาอื่น ๆ ได้เกรด 4 เกรด 5 แต่บัลเลต์ได้เกรด 1 ก็รีไทร์เลยนะ ไม่ได้อยู่หรอก แต่เขาไม่รู้หรอกว่าเด็กที่ครูพาไปนั้นฝึกบัลเลต์กันอยู่แค่ 2 ปีกว่า ๆ เอง  

“พวกเราไปเรียนอยู่ 2 เดือน สิ่งที่ครูแปลกใจคือตรงโน้นเป็นโรงเรียนระดับมืออาชีพใช่ไหมครับ แต่ครูไปดูทุกคลาส ปรากฏว่าแยกไม่ออกเลยว่าไหนคือเด็กเรา ไหนคือเด็กเขา ไม่ว่าจะเป็นการกวาดมือไป หันหน้า อันโน้น อันนี้ เหมือนเลย ครูพาเด็กไป 5 คน เหมือนว่าเรียนร่วมชั้นกันมาตั้งแต่ไหนแต่ไร

“แต่อย่าลืมนะว่าเด็กอีสานที่ครูพาไปเรียนแค่ 2 ปี และครูสอนจากการเดาเอานะ นั่นคือสิ่งที่แปลกใจ เพราะครูเป็นคนสร้างหลักสูตร ทำขึ้นมาเอง และอ่านตาม Text Book ว่าเขาทำท่านี้เพราะต้องการอะไรอยากให้สื่อสารอะไร เราก็นำมาสอนลูกศิษย์ไป 

“พอไปอยู่ที่นั่นได้ราว 2 อาทิตย์ มีคนจากประเทศเกาหลีเข้ามา ทางพระเอกบัลเลต์คนที่ครูและนักเรียนไปพักที่บ้านเขา เขาพูดกับครูว่าวันพรุ่งนี้ให้นำชุดแต่งกายที่ใช้แสดงไปโรงเรียนด้วย เขาจะให้เอาไปใส่แสดง แล้วพวกเราก็ติดชุดแสดงไปด้วยแบบงง ๆ แบบนั้น จนในที่สุดพระเอกคนนั้นเขาอธิบายให้ฟังว่าทางเกาหลีจะมาทำสัญญาทางธุรกิจเพื่อเอาหลักสูตรบัลเลต์ไปสอนที่ประเทศเขา ทีนี้เขาก็ขอดูผลงานของทางโรงเรียน และปรากฏว่าเขาเอาเราไปเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมแสดงให้ลูกค้าชาวเกาหลีดูด้วย 

“ตอนนั้นครูเริ่มแปลกใจแล้วว่าเขากล้าเสี่ยงเอาเราไปชี้ชะตาชีวิตเขาในตอนนั้นได้ยังไง ถ้ามีคนมาติดต่อทางธุรกิจแบบนั้น ตามธรรมชาติเขาก็ต้องอยากขายใช่ไหม แล้วเราจะทำได้ดีแค่ไหนก็ไม่รู้ แต่ในที่สุดงานนั้นก็ผ่านไปได้ด้วยดี จึงเริ่มรู้สึกว่าที่เขาบอกตอนแรกว่าเด็กเราเก่งนั้นเป็นเรื่องจริง เพราะพอมองดูแล้ว ระหว่างการไปเต้นที่ The Choreographic School กับการเต้นที่แก่นนคร เหมือนกันเลย แต่แน่ล่ะว่าพวกเราก็ได้เรียนรู้ทักษะและประสบการณ์มามากมายเลย

นักเรียนชาวอีสานจากโรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย นายศิริมงคล นาฏยกุล ผู้ที่ผู้อำนวยการคณะบอลชอยบัลเลต์ทาชเคนต์ได้ขอให้อยู่ต่อเพื่อเป็นนักแสดงในบทบาทผู้แสดงนำฝ่ายชาย 

“ท้ายที่สุดของการไปฝึกที่ The Choreographic School เป็นการสอบ ตอนนั้นเด็กที่ครูพาไปมีเด็กผู้หญิง 2 คนและเด็กผู้ชาย 3 คน ซึ่งเป็นเด็กอีสานแท้ ๆ ปรากฏว่าผู้หญิงทั้ง 2 คนสอบได้เกรด 4 และผู้ชายได้เกรด 5 ทั้ง 3 คนเลย เป็นเรื่องน่ายินดีมาก 

“หลังจากการสอบ ใกล้วันที่จะเดินทางกลับ มีการแสดงประจำปีของโรงเรียน นักเรียนเรา 2 คน คือ นายศิริมงคล นาฏยกุล และ นางสาวรวิวรรณ ราชสุนทร ได้ขึ้นไปแสดงด้วย หลังการแสดงผู้อำนวยการคณะบอลชอยบัลเลต์ทาชเคนต์ มิสเตอร์ยูซูปอฟ เดินมาคุยกับครูว่า 2 คนที่ขึ้นแสดงไม่ต้องกลับไทยได้ไหม ครูก็ถามว่ายูไม่ให้เขากลับแล้วจะให้เขาทำอะไร ทางนั้นเขาก็ตอบว่าก็ให้เขาอยู่ที่นี่เลย ครูก็ถามว่าให้อยู่ทำอะไร ให้อยู่กวาดพื้นเหรอ (หัวเราะ) เขาบอกว่าจะให้เป็นนักแสดงนำของที่นู่นเลย ซึ่งเขาเอาจริง ครูก็ขอบคุณเขาไป แต่ตอนนั้นเด็ก 2 คนนั้นเพิ่งผ่านการสอบเพื่อเรียนอยู่ที่จุฬาฯ เขาต้องกลับมาเรียน ก็เลยเลือกกลับมาที่เมืองไทย”

ช่างน่าทึ่งและน่าชื่นชมมากที่เด็กอีสานโนเนมแห่งแผ่นดินที่ราบสูงได้รับการฝึกฝนจากครูไทยจนกระทั่งเป็นที่ยอมรับในความสามารถของคณะบัลเลต์ระดับโลกในนาม The Tashkent Bolshoi Ballet Company ได้สำเร็จ ว่าแต่อะไรคือเคล็ดลับของอาจารย์เอกชัย ผู้ที่ในชีวิตเคยเรียนบัลเลต์แค่ 6 วัน แต่ปั้นเด็กไทยให้มีมาตรฐานระดับโลกได้

ความรู้สึก คือหัวใจสำคัญของการสร้างสรรค์งานศิลป์

เราฟังเรื่องราวที่อาจารย์เล่ามาด้วยหลากอารมณ์ ทั้งเพลิดเพลิน แปลกใจ ทึ่ง และชื่นชม ตลอดการเล่าเรื่องของท่าน ราวกับว่าเราได้เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นจริง ๆ นับตั้งแต่ที่อาจารย์เรียนบัลเลต์เพียง 6 วัน สู่การพาเด็กอีสานไปสอบผ่านเกรดระดับสูงสุดของโรงเรียนสอนเต้นบัลเลต์ระดับโลกอย่าง The Choreographic School สำเร็จ 

ทว่าระหว่างเรื่องราวเหล่านั้น มีคำอยู่คำหนึ่งที่อาจารย์พูดออกมาบ่อยครั้ง คือ “ทุกสิ่งที่ทำไปโดยความ ‘ไม่รู้’ ” จนชวนคิดไปว่า ทำไมความไม่รู้ของท่านจึงนำไปสู่ความสำเร็จได้ หรือแท้จริงแล้วมีแก่นแท้สำคัญบางอย่างซ่อนอยู่เบื้องหลัง ซึ่งอาจารย์เผยให้เราเข้าใจว่า

“ในเรื่องการเรียนการสอน ตอนนั้นต้องบอกเลยว่าครูสอนแบบตามใจฉัน ครูคิดว่าสิ่งที่ดีตอนนั้นคือเด็กสู้ครับ ไม่งั้นตอนที่ชวนไปรัสเซีย ต้องห่างบ้าน ห่างพ่อ ห่างแม่ อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เขาไม่อยากไป แต่เขาก็ยินดีที่จะไปกัน เรียกได้ว่าใจสู้ พอมีการแสดงหน้าพระพักตร์ ครูหอบไปทั้ง 20 – 30 คน เขาก็ไป นั่งรถอะไรไปเขาก็ไป อันที่ 2 คือความอดทน อันที่ 3 คือเขาเชื่อฟัง บอกยังไงเขาก็ทำอย่างนั้น มีคนเดียวที่ไม่เก่ง คือครูนี่แหละ (หัวเราะ) เพราะครูไม่ได้เรียนมาตามหลักสูตร ต่างจากครูบัลเลต์ที่อื่น เขาจบมาจากที่โน่นที่นี่ที่นั่น

“ครูก็ไม่รู้หรอกนะว่าการสอนของครูแตกต่างกับที่อื่นไหม เพราะของที่อื่นครูก็ไม่เคยเห็น แต่มีเรื่องหนึ่งที่ครูแปลกใจ คือเวลาแสดงแล้วเกิดสับสนในท่วงท่า จะมีใครคนหนึ่งมาเต้นให้ครูดูอยู่ที่หน้าผนังด้านหลังผู้ชมเสมอ และครูก็เต้นตาม ซึ่งคนคนนี้มีครูเห็นเขาแค่คนเดียว แต่เวลาสอนในคลาสนี่ไม่เคยมีใครมาสอนนะครับ ไม่เคยมีใครมาเต้นให้ดูว่าให้ทำยังไง แต่ครูใช้ความรู้สึกเป็นแก่นของการสอนว่าตรงนี้ต้องทำไปอย่างไร จะดำเนินไปอย่างไร และที่สุดเป็นอย่างไร เหมือนกับว่าเวลาสื่อสารด้วยบัลเลต์ ครูจะเข้าใจถึงเป้าหมายของการทำในแต่ละท่าว่าทำยังไงโดยอาศัยความรู้สึกเป็นตัวกำหนด

“อีกอย่างหนึ่งคือครูรักและเคารพครูที่สอน ครูโชคดีที่ได้แม่พิมพ์ซึ่งเป็นศิลปินจริง ๆ มีความเป็นศิลปินระดับโลก สมัยก่อนนั้นการที่ระดับโลกเขาจะสร้างบัลเลต์เรื่องใหม่ขึ้นมาสักเรื่อง แล้วจะสร้างนางเอกที่เรียกว่าเป็น Prima Ballerina เพื่อรับบทนี้เป็นคนแรกไม่ใช่เรื่องง่าย และมาดามที่สอนครูคือนางเอกคนนั้น เพราะฉะนั้นเขาก็เลยมีทั้งศาสตร์ ทั้งศิลป์ ทั้งกิริยา แค่การปรายตาหรือยิ้มแย้ม ทุกอย่างมันสื่อภาษาทั้งหมด ยกมือขึ้นนิดหน่อย ขยับตัวตรงไหน มันแทนคำพูดเป็นร้อยเป็นพันคำ ต่อให้เราสื่อสารด้วยภาษาพูดก็ไม่ละเอียดเท่า แต่ภาษากายที่ท่านสื่อสารมานั้นเราสัมผัสได้อย่างกระจ่างชัด เลยทำให้ได้ตรงนี้มา 

“ถือเป็นการดีนะที่มาดามพูดไทยไม่ค่อยได้ ระหว่างเรียนและขณะซ้อมการแสดง จึงได้ฝึกการสื่อใจถึงใจกับมาดามอยู่เสมอ นี่ไม่รู้จะเป็นความต่างหรือเปล่านะครับ เพราะครูไม่ค่อยได้ไปดูคนอื่น เลยใช้ใจและความรู้สึกในการทำงาน เหมือนตอนทำดนตรีคือใช้ใจทำ พอมาตอนนี้ก็ใช้ใจในการสอนและถ่ายทอดไป บางคนรับได้ ก็จะถ่ายทอดออกมาทางอารมณ์อะไรมากมาย เลยเกิดความโดดเด่นขึ้นมา ตรงนี้แหละน่าจะเป็นคำตอบ” 

ให้บัลเลต์นำทาง ท่ามกลางยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง

อาจารย์เอกชัยแสดงทัศนคติว่า ปัจจุบันค่านิยมเรื่องการเต้นกินรำกินนั้นไม่มีเหมือนเช่นสมัยก่อน การเต้นไม่ใช่แค่การเต้นอีกต่อไป แต่ยังสอดแทรกวัฒนธรรมและก่อเกิดคุณค่ารวมทั้งมูลค่าขึ้นมาได้ กลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์สำคัญที่หลากหลายประเทศใช้เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรม ตลอดจนขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติ 

ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปนี้เอง ทำให้เราเกิดข้อสงสัยว่าปัจจุบันการแสดงบัลเลต์อาจไม่ได้รับความนิยมเทียบเท่ากับการแสดงนาฏยกรรมสากลแขนงอื่น ๆ ในประเด็นนี้ ครูผู้สอนบัลเลต์และนักบัลเลต์อย่างท่านมีทัศนคติต่อเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งอาจารย์เอกชัยตอบกลับมากับเราอย่างกินใจว่า

“ก่อนนี้นักบัลเลต์เหมือนเป็น Pure Arts ไปเลย เพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อเกิดการปะปนกับอันอื่น มีลายการเต้นที่เป๊ะ สวยมาก ถ้าทำอย่างนั้นได้ก็เป็นสิ่งที่ดี ทว่าเพื่อความอยู่รอดของศิลปิน เขาก็ไม่จำเป็นต้องทำบัลเลต์อย่างเดียว แต่ถ้าเขาพยายามมากขึ้น คือทำอย่างอื่นได้ด้วย เต้นแบบสตรีตแดนซ์ได้ด้วย ทำอะไรได้หลาย ๆ อย่าง ก็จะทำเป็น Commercial Art ในปัจจุบันนี้ได้ และถ้าเขาทำบัลเลต์ได้ ก็จะส่งเสริมให้เขาโดดเด่นไปเลย 

“ในมุมมองของครู เด็กอีสานมีความอดทน มีความจริงจัง มีรูปร่างหน้าตาสรีระที่โอเคอยู่แล้ว ถ้ามีความพยายาม ความเอาจริงเอาจัง มีคนชี้แนะ และมีสถานที่เรียนที่ฝึกโดยไม่ต้องใช้เงินมาก เช่น ในโรงเรียน มันจะดีต่อเด็ก เพราะถ้าไปเรียนตามสตูดิโอต้องใช้เงินค่อนข้างเยอะ ต้องเป็นคนรวย มีพรสวรรค์อย่างเดียวก็อาจไม่พอ จนกว่าที่พรสวรรค์นั้นจะแสดงออกมาให้เห็น ถ้าทุนไม่พอก็อาจไม่มีวันนั้น แต่ถ้ามีสถานที่ที่จะทำให้เขาฝึกฝนได้ มันจะเป็นเรื่องดี แม้จะเป็นจำนวนคนน้อย ๆ ก็คุ้มค่ากับการที่เขาจะเป็น ซอฟต์พาวเวอร์สักอันหนึ่ง อย่าง ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล ที่ไปเป็นศิลปินต่างประเทศ ก็ทำให้ประเทศชาติได้อะไรกลับมาตั้งเยอะแยะ เราคงมองผู้ทำงานศิลปะด้วยค่านิยมเดิม ๆ ไม่ได้แล้วว่า ก็แค่เด็กน้อยคนหนึ่งที่ไปเต้น เพราะเขาแสดงให้เห็นแล้วว่าศิลปะการแสดงก่อเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติได้เพียงใด 

“อีกสิ่งที่อยากจะบอก คือใครที่เริ่มได้เดินเข้ามาสู่เส้นทางบัลเลต์และอยู่ได้ในระยะหนึ่งแล้วรู้สึกว่า เอ ตอนนี้มันอยู่ในเทรนด์หรือเปล่า ในอนาคตจะเป็นอย่างไร ครูจะบอกว่า อนาคตไม่ต้องไปพูดถึงหรอก พูดถึงปัจจุบันดีกว่า อดีตก็ไม่ต้องพูดถึงหรอก เพราะอดีตคือสิ่งที่พาเรามาถึงจุดนี้แล้ว ให้ลองมองดูสิว่าจากจุดเริ่มต้นวันนั้นมาถึงวันนี้ เราได้อะไร สิ่งสำคัญที่สุดคือได้รู้จักตัวเราเอง เรารู้จักวินัย รู้จักการได้จัดการกับตัวเอง รู้จักต่อสู้กับความทุกข์ยากลำบาก 

“บัลเลต์ไม่ง่ายเลยนะ แต่ในความทุกข์ยากลำบาก นักบัลเลต์ยังเผชิญกับความทุกข์ยากนั้นด้วยความสุข นี่คือสิ่งสำคัญ เวลาเต้นไป ใบหน้ายิ้ม แต่ในรองเท้าโทนี่เลือดไหล แค่เล็บเขียวนี่ก็เจ็บแล้ว เดินก็ยังกระย่องกระแย่ง บางทีเล็บหลุด เขาก็ยังเต้นได้หน้าตายิ้มแย้ม แล้วเขาก็มีความสุขจริง ๆ ที่ได้ส่งความสุขถึงผู้ชม 

“เพราะฉะนั้น บัลเลต์ให้ชีวิต ให้หลาย ๆ อย่าง ทำไปเถอะ จะเป็นหรือไม่เป็นอย่างไรก็ตาม ให้รู้ว่านี่ไม่ใช่แค่การเต้น แต่นำไปใช้กับทั้งชีวิตของเราได้เลย อย่างการที่ครูมาทำดนตรีแล้วได้ที่ 1 ของประเทศไทย ครูว่าก็มาจากการที่ครูเต้นด้วยนะ เพราะบัลเลต์ให้สิ่งที่สวยงาม เพราะฉะนั้น ทำไมตอนที่ครูไปทำดนตรีให้กับโรงเรียนขอนแก่นวิทยฯ หรือโรงเรียนแก่นนครฯ ครูถึงนอนตี 3 ตื่นตี 5 ได้เป็นหลาย ๆ ปี แล้วอย่างช่วงหลังเกษียณมานี้ ครูมาฝึกทำกาแฟ ทำไมครูเทสต์กาแฟตั้งแต่ 7 โมงเช้าถึงตี 3 ได้ คนอื่นอาจคิดว่า ทำทำไม มันเกินไป แต่ครูมีความสุขอะ แล้วกาแฟที่ทำออกมาก็อร่อย (หัวเราะ) ประสบความสำเร็จ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีบัลเลต์นั่นแหละที่นำทาง” 

บทสัมภาษณ์และเรื่องราวชีวิตในอดีตของอาจารย์เอกชัยได้ถูกขมวดจบลงอย่างงดงาม พร้อมด้วยรอยยิ้มของผู้เล่าและประกายแววตาแห่งความสุขที่ฉายพลังส่งมาถึงผู้ฟังอย่างเรา

เราขอถ่ายภาพอาจารย์ในมุมต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้ประกอบบทความนี้ และนาทีนั้นเองคือช่วงเวลาที่ทำให้ได้ประจักษ์กับตาว่า การถ่ายทอดพลังความรู้สึกจากภายในที่ชัดเจนผ่านการเคลื่อนไหว แล้วส่งมายังผู้ชม ซึ่งถือเป็นศิลปะขั้นสูงนั้นเป็นอย่างไร แม้อาจารย์เอกชัยท่านจะไม่ได้ออกท่วงท่ามากมาย ไร้ซึ่งคำพูด แต่ก็ยังประทับอารมณ์และความรู้สึกลงบนดวงจิตของผู้ชมอย่างเราได้อย่างแนบแน่น สมแล้วที่ท่านคือครูศิลป์บัลเลต์ของเมืองไทยระดับตำนานอย่างแท้จริง

ขอบคุณ 

  • ภาพถ่ายประกอบบทความบางส่วนจากอาจารย์เอกชัย ไก่แก้ว
  • คุณธวัชชัย ชีวะเศรษธรรม เจ้าของร้านกาแฟ Goodbeans Roastery เอื้อเฟื้อสถานที่และเครื่องดื่มรับรองแขกผู้ให้สัมภาษณ์และทีมงาน

Writer

สิทธิโชค ศรีโช

สิทธิโชค ศรีโช

มนุษย์ผู้ตกหลุมรักอาหารการกินมาตั้งแต่จำความได้ เคยโลดแล่นอยู่ในวงการสื่อสารด้านอาหารกว่าสิบปี ก่อนกลับบ้านนอกมาใช้ชีวิตติดกลิ่นปลาร้าที่อีสาน และยังคงมุ่งมั่นส่งต่อเรื่องราววัฒนธรรมอาหาร สุขภาพ และการดำรงชีวิตของผู้คนบนที่ราบสูง ให้โลกได้รับรู้

Photographer

Avatar

กานต์ ตำสำสู

จบวารสารศาสตร์ ม.สารคาม อายุ 26 เป็นคนสตูลที่เดินทางมาเรียนที่ภาคอีสาน ชอบฟังเพลงโลโซ คลั่งฟุตบอลไทย และชอบถ่ายภาพบ้านเกิดตัวเองเป็นชีวิตจิตใจ ปัจจุบันเปิดแล็ปล้างฟิล์มและห้องมืด ‘ฟิล์มกาหลง’ อยู่ขอนแก่น