01 น้ำ-ป่า

“ข้อมูลเกี่ยวกับน้ำหาในอินเทอร์เน็ตก็ได้”

เมื่อชวนคุยเรื่องน้ำ ประโยคด้านบนนี้ก็ดังจากปากของ อ้วน-นิคม พุทธา นักอนุรักษ์รุ่นใหญ่ผู้ขับเคลื่อนกิจกรรมอนุรักษ์ผืนป่าและสายน้ำมานานหลายสิบปี

และเพราะเชื่อไม่ต่างกัน ในบ่ายวันพุธที่ 22 พฤศจิกายน 2560 ทริป ‘ตามน้ำ’ ที่พาคนเมืองมาเรียนรู้เรื่องน้ำถึงต้นน้ำที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ พร้อม 3 นักแสดงคือ กมลเนตร เรืองศรี, พิพัฒน์ และ ศิรพันธ์ อภิรักษ์ธนากร จึงถือกำเนิด ทริปนี้เป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรม Earth Appreciation ของเว็บไซต์ The Cloud ที่ตั้งใจพาคนเมืองไปรู้จักธรรมชาติแบบ 101 โดยมีผู้สนับสนุนคือ โครงการ ‘รักน้ำ’ ของกลุ่มธุรกิจ โคคา-โคลา ในประเทศไทย

แทนที่จะนั่งฟังบรรยายและอ่านตำราว่าแม่น้ำยาวกี่กิโลเมตร หรือวิธีประหยัดน้ำมีกี่วิธี

เราได้มารู้จักน้ำผ่านประสบการณ์ตรงในพื้นที่ต้นน้ำของจริง ที่สำคัญ ทริปนี้ไม่ได้พาไปลงมือสร้างผลประกอบการจับต้องได้ ผู้จัดประเมินผลสะดวก เช่น ปลูกต้นไม้ได้ 1,000 ต้น หรือถือป้ายถ่ายรูปกับแม่น้ำ

แต่เป็นการเดินทางบนวิธีคิดใหม่ นั่นคือพาคนเมืองไปรับ ‘แรงบันดาลใจ’ ที่ไม่อาจเห็นด้วยตาเปล่า

อ้วน-นิคม พุทธา

และแน่นอน ครูคนสำคัญของทริปคือพี่อ้วน นักอนุรักษ์รุ่นใหญ่รอเราอยู่ที่ค่ายเยาวชนอนุรักษ์ดอยหลวงเชียงดาวที่ก่อตั้งเพื่อเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมอนุรักษ์กับเด็กๆ แล้วฉันและชาวทริปก็ได้เดินทางพร้อมพี่อ้วน ตามสายน้ำนั้นไปยังด้านหลังสถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาวซึ่งอยู่ใกล้เคียง

ป่า ลำธาร

สีเขียวรอบตัวที่เราเห็นคือ ‘ป่าต้นน้ำ’ ป่าผืนนี้ช่วยกักเก็บน้ำฝนที่ตกลงมาไว้ในต้นไม้ ไว้ในผืนดิน (ป่าต้นน้ำชั้นเยี่ยมเก็บได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์) และปล่อยน้ำบางส่วนให้ทยอยไหลลงมาทีละน้อย กลายเป็นสายน้ำเล็กๆ ใสสะอาด ก่อนกลายเป็นแม่น้ำกว้าง

การมีป่าต้นน้ำคุณภาพเหมือนมีฟองน้ำก้อนโต เวลาฝนตกก็ไร้ปัญหาน้ำหลาก ดินถล่ม พอเข้าหน้าแล้ง น้ำที่ป่าทยอยปล่อยก็ทำให้เรามีน้ำใช้ตลอดปี และดอยหลวงเชียงดาวก็คือฟองน้ำก้อนใหญ่ของพื้นที่ป่าต้นน้ำแม่ปิงนั่นเอง

ทริปตามน้ำ

พืชป่า นิคม พุทธา

พี่อ้วนบอกว่าทุกครั้งที่น้ำไหลผ่านก้อนหิน การกระฉอกจะช่วยเติมออกซิเจนเป็น ‘ลมหายใจ’ ที่หล่อเลี้ยงชีวิต เพราะสายน้ำเป็นบ้านของสิ่งมีชีวิตนานาชนิด และสังคมพืชริมน้ำก็สำคัญ เป็นแหล่งพันธุกรรมของพืชและสัตว์ เช่น ใต้รากของต้นกล้วยป่าริมน้ำเป็นบ้านของปลารากกล้วย

เหล่าสิ่งมีชีวิตในน้ำอพยพหากินไม่หยุดอยู่กับที่ เราจึงไม่ควรสร้างเขื่อนคอนกรีตขวางสายน้ำ แต่สิ่งชะลอน้ำอย่างฝายแม้วที่สร้างจากหินและไม้นั้นไม่เป็นปัญหา เพราะมีช่องว่างให้น้ำและสิ่งมีชีวิตเคลื่อนผ่าน

 ศิรพันธ์ อภิรักษ์ธนากร

ท็อป นุ่น ทริปตามน้ำ

ระหว่างลุยน้ำตามหลังพี่อ้วน หยุดมอง ทำความรู้จักสิ่งรอบตัว ฉันเริ่มเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างภูเขา ผืนป่า สายน้ำ และแน่นอน มนุษย์มากขึ้นทีละน้อย เป็นความเข้าใจจากประสบการณ์ปฐมภูมิแท้จริง

“ข้อมูลเกี่ยวกับน้ำหาในอินเทอร์เน็ตก็ได้”

ส่วนสิ่งที่ไม่มีในนั้นก็อยู่กับฉันที่นี่ ตรงนี้แล้ว

เดินป่า

02 เอาเท้าแช่น้ำ แล้วเดินต่อไป

2 กิโลเมตร คือระยะทางที่ชาวทริป ‘ตามน้ำ’ เดินตามสายน้ำกันในช่วงบ่าย

1,200 กิโลเมตร คือระยะทางที่พี่อ้วนเดินตามสายน้ำเมื่อ พ.ศ. 2553

หลังกินมื้อเย็นอิ่มหนำ พี่อ้วนนั่งลงในวงสนทนายามค่ำคืนแล้วเล่าให้ฟังว่า เคยใช้เวลา 3 เดือนออกเดิน ‘ธรรมยาตรา’ ตามสายน้ำตั้งแต่ต้นแม่น้ำปิงถึงเจ้าพระยา

นิคม พุทธา

จากเด็กที่เกิดริมแม่น้ำปิงและสงสัยว่าสายน้ำตรงหน้าไหลไปไหน พี่อ้วนเติบโตขึ้น เคยเป็นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าซึ่งจับปืนต่อสู้ เป็นเอ็นจีโอผู้โดดเข้าปะทะเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม จนเวลาผ่านไป พี่อ้วนได้รู้เรื่องราวของสาทิศ กุมาร ปราชญ์ชาวอินเดียผู้ออกเดินเพื่อรณรงค์ยับยั้งการใช้ระเบิดนิวเคลียร์ และอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ ที่ออกเดินเพื่อทำสมาธิและทบทวนชีวิตจากกรุงเทพฯ ถึงบ้านเกิดที่เกาะสมุย

พี่อ้วนเริ่มสนใจอยากลองใช้เครื่องมือเรียบง่าย นุ่มนวลอย่างสองเท้าของตัวเอง เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง จนเกิดเป็น ‘ธรรมยาตรา ศรัทธาแห่งสายน้ำ’ การเดินทางตามสายน้ำจากแม่ปิงสู่เจ้าพระยา เพื่อฝึกฝนตนเอง เรียนรู้ธรรมชาติ ที่สำคัญคือรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ให้ผู้คน

สองเท้าพาพี่อ้วนไปพบเห็นความเริงร่าของสายน้ำเมื่อไหลผ่านป่า เห็นบาดแผลขณะสายน้ำไหลผ่านเมือง ท้ายที่สุด หลังผ่านไปกว่า 100 วัน นักอนุรักษ์รุ่นใหญ่ได้เห็นสายน้ำนั้นไหลลงสู่ทะเล

ทริปตามน้ำ

“ก่อนหน้านั้น เราพูดคุยว่า เรามีความปีติที่ได้เดินทางมากับสายน้ำ แล้วบัดนี้ สายน้ำได้เดินทางมาถึงบ้านคือท้องทะเล แต่ภาพที่ปรากฏให้เห็นคือ เงาเมฆในน้ำ ผมรู้ว่าแม่น้ำไม่ได้จบการเดินทาง แม่น้ำยังต้องเดินทางต่อไป ไปหล่อเลี้ยงสิ่งมีชีวิตโดยไม่เลือกว่าผู้คนหรือสัตว์ ไม่เลือกแม้กระทั่งคนที่เคยทำร้ายแม่น้ำ เมื่อถึงเวลาคุณหิวกระหาย น้ำก็ให้คุณดื่มกินได้ตลอดเวลา” พี่อ้วนแบ่งปันบทเรียนครั้งนั้น

การเดินทางตามสายน้ำยังมอบความเปลี่ยนแปลงภายใน ใจสงบเย็นลงไม่ต่างจากสายน้ำ ขณะเดียวกัน พี่อ้วนยังสานต่องานอนุรักษ์ อาจไม่ใช่การจับปืนหรือวิวาทะ แต่หนทางเปลี่ยนแปลงย่อมหลากหลาย

เช่น การมานั่งอยู่กับฉันและผู้ร่วมทริป ‘ตามน้ำ’ ในเวลานี้

บทสนทนายามค่ำคืนสิ้นสุดลง ในความมืดมิดที่มีเสียงสายน้ำข้างค่ายเยาวชนฯ ขับกล่อม ฉันพบว่าขณะที่นักอนุรักษ์คนนั้นยังเดินเคียงข้างสายน้ำ

การเดินทางของเขายังดำเนินต่อในใจเรา

03 ฆ่าน้ำ

โชคดีที่เช้านี้ไม่มีแดด

ประโยคนี้ผุดขึ้นในหัวฉันขณะลงจากรถตู้พร้อมผู้ร่วมทริปตามน้ำที่เหลือ เพราะรอบตัวเราตอนนี้คือพื้นที่โล่งกว้างที่ใช้ทำการเกษตร ถ้าวันนี้แดดจัดจ้า พวกเราคงโดนแดดเผาไม่มีร่มให้หลบเหมือนในป่าวันก่อน

ที่นี่คืออดีตป่าต้นน้ำเขียวชอุ่มที่ถูกชาวบ้านตัดถางเพื่อเพิ่มพื้นที่ผลิตอาหาร เมื่อมองไปลิบๆ จะเห็นภูเขาที่อุดมสีเขียวหนาแน่น พื้นที่ตรงนั้นคือเขตแดนพม่าที่ยังไม่มีการพัฒนา

ชายแดน ชายแดน

บางทีไม่พัฒนายังดีกว่า-พี่อ้วนบอก แล้วเล่าต่อว่าการทำเกษตรบริเวณนี้ไม่ได้กระทบแค่ผืนป่า พี่อ้วนพาเราเดินต่อเข้าไปจนเห็นทิวเขาเขียวครึ้มซึ่งมีสายน้ำไหลออกมา

นี่คือต้นกำเนิดแม่น้ำปิง

จุดเริ่มต้นของสายน้ำที่ไหลลงสู่เจ้าพระยาอยู่ที่นี่ แต่สิ่งที่เราทำคือใช้น้ำอย่างหนัก ใช้สารเคมีรุนแรง สารเคมีอย่างน้อย 3 ชนิดคือยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง และปุ๋ยหรือฮอร์โมน จะถูกชะล้างสู่แม่น้ำ

“สายน้ำตรงนี้ก็เหมือนเด็กขวบแรกๆ และนี่คือสิ่งที่เราทำกับเด็กเพิ่งคลอดจากครรภ์มารดา” นักอนุรักษ์ที่ยืนอยู่ใกล้ฉันเปรียบเทียบกินใจ แต่ก็อธิบายเพิ่มว่า โทษชาวบ้านอย่างเดียวก็ไม่ถูกเพราะพอคนเพิ่มความต้องการพื้นที่ทำกินก็เพิ่มตาม ส่วนเจ้าหน้าที่ดูแลบริเวณนี้ก็มาแล้วไป ไม่อาจแก้ปัญหาอย่างลึกซึ้ง

พูดถึงการแก้ปัญหาใหญ่ เรามักนึกถึงการใช้กฎหมาย แต่พี่อ้วนเล่าให้ฟังถึงอีกเครื่องมือที่เคยใช้ นั่นคือ ‘ความเชื่อ’ เมื่อครั้งรัฐบาลมีแผนสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นดอยหลวงเชียงดาว พี่อ้วนคัดค้านด้วยเหตุผลเชิงวิชาการแต่ไม่ได้ผล จนเมื่อเปลี่ยนมาสื่อสารว่า การสร้างกระเช้านี้ลบหลู่ ‘พ่อหลวงคำแดง’ สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองดอยหลวงเชียงดาว ปรากฏว่าไม่มีใครกล้าสนับสนุน โครงการสร้างกระเช้าเลยยุติไปตามระเบียบ

ตามน้ำ

“เมื่อไหร่ที่เราเคารพ สิ่งนั้นย่อมศักสิทธิ์” พี่อ้วนกล่าว

หลังจากนั้น พวกเราก็เดินไปสัมผัสสายน้ำที่ยังคงชื่นฉ่ำเหมือนวันก่อน แต่เราต่างรู้ว่าเด็กคนนี้มีสารเคมีปนเปื้อนอยู่ไม่มากก็น้อย แล้วเมื่อถึงจุดต่อไป เราก็ได้เห็นเด็กน้อยเดินทางต่อ ที่ด้านหนึ่งของสะพานข้ามน้ำ เราเห็นแม่น้ำปิงบรรจบกับแม่น้ำนะ เป็นสิ่งเล็กที่รวมกันกลายเป็นสิ่งยิ่งใหญ่ไหลไปหล่อเลี้ยงสรรพชีวิต

อายอายส์

ตามน้ำ ตามน้ำ

แต่เมื่อมองอีกฝั่ง เราเห็นฝายคอนกรีตที่เก็บน้ำไม่ได้เพราะตะกอนทับถม และแน่นอน การตัดตอนแม่น้ำยังกระทบสิ่งมีชีวิต พี่อ้วนชี้ให้ดูบันไดปลาโจน สายน้ำเชี่ยวกราก ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าปลาโจนขึ้นมาได้ไหม

ทริปตามน้ำ

“สายน้ำขาดช่วงก็เหมือนลมหายใจสิ่งมีชีวิตในน้ำขาดหาย” พี่อ้วนบอกพวกเรา

หากการตามน้ำเมื่อวานคือการไปเห็นว่าน้ำมีค่าอย่างไร ขณะยืนมองฝายคอนกรีต ฉันก็เห็นแล้วว่าน้ำถูกฆ่าอย่างไร

และใครคือฆาตกร

ทริปตามน้ำ

04 ในน้ำมีปลา

เกือบ 2 วันที่ผ่านมา เราเรียนรู้เรื่องน้ำด้วยการตามน้ำที่ไหลผ่านผืนป่าและพื้นที่เกษตร แต่เพราะเชื่อว่าวิธีเรียนรู้มีได้หลากหลาย เย็นวันนี้เลยมีคนกลุ่มหนึ่งมาเตรียมวิธีเรียนรู้เรื่องน้ำให้เราอยู่บนเตาไฟ

เราจะมาตามน้ำที่ไหลผ่านจานอาหาร

เชฟแบล็ก

หัวหน้าทีมมื้อนี้คือ แบล็ก-ภานุภน บุลสุวรรณ เจ้าของร้าน Blackitch Artisan Kitchen แห่งเชียงใหม่ เชฟแบล็กชอบหยิบของท้องถิ่นมาพลิกแพลง สำหรับมื้อนี้ เขาจะทำเซ็ตอาหารที่หลายวัตถุดิบมาจากต้นน้ำ

เราได้กินอะไรบ้าง? เริ่มจากน้ำแร่ในขวดข้างจานที่มาจากพื้นที่ต้นน้ำอย่างเชียงดาว ตามมาด้วยขนมปังที่มาจากข้าวชาวปกาเกอะญอและใช้เมือกกระเจี๊ยบเขียวแทนยีสต์ จิ้มกับอ่องปูนา เนยถั่วเซียนท้อ และตับไก่ป่าบด ต่อด้วยเห็ดจากต้นน้ำ 3 อย่าง คือเห็ดหล่ม เห็ดโคนน้อย และเห็ดก่อ ย่างเสียบไม้เสิร์ฟมาในจานที่รองด้วย ‘เตา’ และ ‘ผำ’ สาหร่ายสีเขียวสดที่เป็นตัวชี้วัดความสะอาดสายน้ำ ถัดมาคือยำยอดผักและดอกไม้ป่ากินกับปลาสลิดแห้ง และซุปผักกาดแห้งกินกับซี่โครงหมูตุ๋น

chef's table อาหาร

สลัด

อีกจานที่พิเศษมากคือ ข้าวอบจากข้าวดอยชาวปกาเกอะญอ กินกับห่อหมกสัตว์จากต้นน้ำอย่างปลาเล็กปลาน้อยและหอยโข่ง แนมกับไข่เป็ดไล่ทุ่งจากลำปางที่เหยาะน้ำปลาสร้อยจากสุโขทัย เคียงด้วยน้ำพริกที่ได้รสเค็มจากปลาดุกร้า รสมันจากตัวต่อ และมีส่วนผสมพิเศษจากต้นน้ำคือเขียดแห้ง ตบท้ายด้วยของหวานอย่างไอศครีมมะตูม พร้อมของตัดเลี่ยนอย่างข้าวเหนียวกล่ำหมักจนเป็นข้าวหมาก และคาราเมลจากตัวอ่อนผึ้ง

อาหาร

เมนูเด็ดแต่ละจานรวมกันเป็นมื้ออาหารพิเศษที่พาเราไปรู้จักวัตถุดิบท้องถิ่นที่ต้นน้ำและธรรมชาติในแต่ละภูมิภาคให้มา หลายอย่างไม่คุ้นเคย แต่เชฟแบล็กบอกว่าทุกอย่างในจานไม่ใช่สิ่งแปลกประหลาด

“ของแปลกของผมคือไข่หอยเม่นและล็อบสเตอร์ แต่เขียดเอย หนอนต่อเอย สิ่งเหล่านี้มีอยู่ในประเทศไทย แล้วเป็นสิ่งที่คนในชุมชนหรือภูมิภาคนั้นกินเป็นปกติ เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้เป็นของปกติ เป็นของธรรมชาติ และกินได้ เราเองนั่นแหละเลือกไม่กิน บอกว่าไม่น่ากิน แต่ตอนกินเข้าไปทุกคนบอกอร่อยหมด จนบอกว่ามีเขียดถึงไม่น่ากิน ถูกมั้ย เพราะฉะนั้น มันเป็นการรับรู้ของคน อาหารก็คืออาหาร ที่สำคัญคือราคาไม่แพงด้วย” เชฟแบล็กกล่าว ก่อนปล่อยให้เราละเลียด ‘ความรู้กินได้’ ในจานต่ออย่างเอร็ดอร่อย

อาหาร

05 รักน้ำ

น้ำสำคัญต่อชีวิตแค่ไหน ประสบการณ์ตลอด 2 วันในทริปตามน้ำทำให้เราเข้าใจแจ่มแจ้ง และตอนนี้มากกว่าความรู้คือคำถามที่ผุดขึ้นในใจ

เราจะรักษาสิ่งสำคัญนี้ได้ยังไง

ค่ายเยาวชนเชียงดาว

หลังมื้อค่ำสุดสร้างสรรค์ ก้อง-ทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการและผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ The Cloud จึงชวนเรานั่งลงเรียนรู้วิธีดูแลจัดการน้ำ พี่ก้องย่อยข้อมูลออกเป็น 10 วิธีรักน้ำ แล้วเล่าผ่าน 10 เคสจัดการน้ำที่สนุกและสร้างสรรค์

หลังสนุกกับเคสน่าสนใจ พี่อ้วนก็มาสรุปสิ่งที่น่ารู้จาก 2 วันที่ผ่านมา พี่อ้วนชวนเราย้อนมองตั้งแต่วัฏจักรของน้ำ ก่อนจะบอกว่า การเดินทางกับพวกเราตลอด 2 วันที่ผ่านมา ทำให้พี่อ้วนมีกำลังใจรักน้ำต่อไป

“ผมคิดว่าเราทุกคนเป็นเหมือนหยดน้ำที่ไหลมารวมกันแล้วมีพลัง และเราจะเป็นเหมือนพลังแห่งความปรารถนาดีของสายน้ำ” พี่อ้วนทิ้งท้ายนุ่มนวล ก่อนจะชวนเราเดินลงไปริมน้ำเพื่อฟังเสียงสายน้ำก่อนเข้านอน

ในความมืดมิด เสียงสายน้ำไหลรินยังคงดังต่อเนื่อง แต่ทุกอย่างจะเป็นเช่นที่เคยเป็นต่อไปหรือไม่

อยู่ที่พวกเราทุกคน

ทริปตามน้ำ ดูดาว

06 ตามน้ำ

เช้าวันสุดท้ายของทริปตามน้ำ ดอยหลวงเชียงดาวแสนสวยยังคงยืนตระหง่านต้อนรับทุกคน แต่อีกไม่นาน ภาพนี้จะกลายเป็นความทรงจำที่มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้

เช่นเดียวกับ ‘แรงบันดาลใจ’

ค่ายเยาวชนเชียงดาว

เราลงนั่งล้อมวงเป็นครั้งสุดท้ายเพื่อแบ่งปันความรู้สึกและสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเดินทางตามสายน้ำ ทริปนี้ประกอบด้วยคนหลากหลาย ตั้งแต่นักศึกษาที่ไม่เคยเดินป่าลุยน้ำมาก่อน เกษตรกรตัวจริง จนถึงเจ้าหน้าที่จากองค์การสหประชาชาติ นอกจากพื้นเพแตกต่าง ความคาดหวังที่ถือติดมือมาก็ต่างกัน

  แต่เมื่อได้ฟัง ฉันก็พบว่า พวกเขาต่างรู้จักและรักน้ำมากขึ้น 2 วันอาจไม่ได้เปลี่ยนแปลงใครในพริบตา และแรงบันดาลใจอาจวัดผลเป็นตัวเลขไม่ได้ แต่แน่นอนว่า ประสบการณ์เรียนรู้เรื่องน้ำจะคงอยู่ในใจ

ทริปตามน้ำ

  เป็น ‘เมล็ดพันธุ์’ ที่รอวันงอกงามเมื่อถึงเวลา เหมือนการมาพบกันของเราในทริปนี้ ก็อาจเริ่มจากเมล็ดพันธุ์ในตัวแต่ละคน

          “โค้กตั้งใจให้ทริปตามน้ำเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ เราอยากชวนให้ทุกคนหันมารักน้ำเหมือนที่เราทำโครงการรักน้ำมาตลอดสิบปี ฉะนั้น ทริปนี้จึงไม่มีการใส่เสื้อแบรนด์ ไม่มีการถือป้ายแบรนด์ถ่ายรูป ไม่ใช่ว่าเราลืมเอาป้ายมา (หัวเราะ) แต่เพราะเราไม่ได้ทำเพื่อขายของ เราอยากชวนทุกคนมาร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วยกันกับเรา ซึ่งมันอาจจะดูแปลกหรือแตกต่างจากทริปที่แบรนด์ใหญ่ๆ สนับสนุนทั่วๆ ไป แต่เราก็กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ควรทำ แม้คนอื่นอาจจะงงๆ บ้างก็ตาม”พี่เอ็ด-นันทิวัต ธรรมหทัย จากโคคา โคลา อธิบายความตั้งใจแต่แรกเริ่มให้เราฟัง

หลังจากนั้น โปสการ์ดสีน้ำตาลใบเล็กก็ถูกแจกจ่ายรอบวง เพื่อประหยัดกระดาษ (ซึ่งทำมาจากต้นไม้อีกที) จึงมาการออกแบบให้มันถูกฉีกแบ่งเป็น 2 แผ่น แผ่นหนึ่งไว้เขียนถึงคนที่เราอยากเล่าประสบการณ์ให้ฟัง อีกแผ่นเอาไว้เขียนถึงตัวเอง

The Cloud โปสการ์ด

เป็นการส่งต่อแรงบันดาลใจจากต้นน้ำ สู่คนอื่นและตัวเราที่ปลายน้ำ

เมื่อไหร่ก็ตามที่เรากินน้ำ ใช้น้ำ ก็ขอให้ระลึกนึกถึงว่าน้ำมาจากป่า จากธรรมชาติ อาจมีสักครั้งหนึ่งในชีวิตที่เราเปิดก๊อก รินน้ำใส่แก้ว แล้วมันมีส่วนผสมที่ไหลไปจากที่นี่ เมื่อระลึกอย่างนี้ เราก็จะเห็นคุณค่า หากมีโอกาสก็จะช่วยรักษาแม่น้ำและธรรมชาติไว้ ในตัวเราเองก็มีน้ำอยู่ ถ้ารักษาแม่น้ำข้างนอก ไม่ว่าแม่น้ำนั้นจะอยู่ที่ไหน สิ่งที่ได้คือน้ำในตัวเราจะดีด้วย” ระหว่างทริป พี่อ้วนเคยบอกเราเช่นนี้

การตามน้ำจึงไม่สิ้นสุดลงที่นี่ เรายังเดินทางต่อด้วยพลังเมล็ดพันธุ์เล็กๆ ในหัวใจ

ทริป The Cloud


Writer

ธารริน อดุลยานนท์

ธารริน อดุลยานนท์

สาวอักษรฯ ผู้หลงรักการเขียนเสมอมา และฝันอยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ด้วยสิ่งที่มี ณ จุดที่ยืนอยู่ รวมผลงานการมองโลกผ่านตัวอักษรไว้ที่เพจ RINN

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล