หากจะมีใครสักคนริอ่านจัดทำเนียบกีฬายอดนิยมของครอบครัวไทยเมื่อสัก 10 ปีที่แล้ว สเกตบอร์ดก็คงจะรั้งอันดับเกือบโหล่ ไม่ก็ถูกตัดชื่อออกไปจากโผแต่แรก เพราะยุคนั้นคงไม่มีบุพการีคนไหนอยากให้ลูกตัวเองมาเล่นกีฬาที่เต็มไปด้วยภาพลักษณ์ไม่ดีอย่างนี้แน่

ทั้งการเล่นท่าซึ่งล้วนผาดโผน โอกาสเกิดแผลมากกว่ากีฬาชนิดอื่นใด ไหนจะสภาพผู้เล่นซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นที่นิยมการแต่งกายลุคจิ๊กโก๋ ชอบรวมกลุ่มสุมหัวกันอยู่ตามลานข้างทาง…ถ้าเลือกได้ พ่อแม่ทุกคนก็ประสงค์จะให้ลูกน้อยได้โตมากับกิจกรรมอื่นที่ดูดีกว่ากีฬาเอ็กซ์ตรีมประเภทนี้

แต่ภาพจำข้างต้นคงใช้ไม่ได้กับ ‘DREG SkatePark’ สนามสเกตบอร์ดในเมืองนนทบุรีที่ ไก่-ณัฐภัทร ปัญญารัตนา และผองเพื่อนร่วมกันรังสรรค์ขึ้นมา

ลานกว้างแห่งนี้เป็นสนามสเกตบอร์ดของเอกชนเจ้าแรก ๆ ที่สร้างมาเพื่อเล่นสเกตบอร์ดโดยเฉพาะ ไม่ต้องแชร์พื้นที่กับกีฬาลู่และลานอื่น ๆ อย่างสนามกีฬาทั่วไป ซ้ำยังไม่เก็บค่าเข้าแม้แต่บาทเดียว

ผู้ใช้สนามนี้ ถึงจะมีก๊วนชายวัยโจ๋ สวมเสื้อตัวโคร่งกับกางเกงหลวมโพรกอยู่บ้าง แต่ก็นับว่าน้อยนัก เมื่อเทียบกับจำนวนลูกเด็กเล็กแดงที่เพิ่งหัดทรงตัวบนแผ่นกระดาน

พวกเขาคือ ‘คุณครู-ลูกศิษย์’ ของกันและกัน ต่างคนต่างมีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะกับการได้เล่นสเกตบอร์ด ยังส่งความสุขไปถึงบรรดาผู้ปกครองที่ตามมาเฝ้าลูกหลานจนสนิทกันไปด้วย

สิ่งสวยงามมากมายได้เกิดขึ้นบนสนามกีฬาริมถนนราชพฤกษ์แห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นทักษะการกีฬา อาชีพ ชีวิตใหม่ของใครหลายคน รวมทั้งกระแสคลั่งไคล้สเกตบอร์ดที่แพร่ไปทั่วไทยเมื่อไม่นานนี้

เหล่านี้ล้วนเป็นทั้งความฝันและความภูมิใจของ ครูไก่ ชายคนหนึ่งซึ่งขีดเส้นทางชีวิตตัวเองด้วยวงล้อสเกต และพร้อมจะทำทุกวิถีทางเพื่อยกระดับวงการสเกตบอร์ดไทยให้ไปถึงฝั่งฝัน

คิดถึงแต่สเกตบอร์ด

นานมาแล้ว เด็กหนุ่มชาวนนท์คนหนึ่งได้รู้จักการเล่นสเกตบอร์ดครั้งแรกจากพี่ชาย ก่อนที่ตัวเขาเองจะเริ่มรู้สึกสนุกกับการทรงตัวบนแผ่นกระดานติดล้อ เมื่อเพื่อนคนหนึ่งชวนไปเล่นที่เมืองทองธานี 

สเกตบอร์ดกลายเป็นยอดกีฬาในดวงใจของเขามานับแต่นั้น ทั้งวันเขาเฝ้าคิดถึงแต่การได้ไถสเกตบอร์ดเล่น ไปเรียนแต่ละวันก็แค่รอให้โมงยามผ่านไป ใจเขาแล่นลิ่วไปถึงเวลาออดสุดท้ายดัง เพื่อจะได้ทิ้งกระเป๋า เปลี่ยนชุด นั่งรถเมล์ไปเล่นสเกตบอร์ดกับเพื่อน ๆ

“ช่วงนั้นจำได้ดีครับ มันเป็นช่วงที่สนุกมาก ผมไม่มีอะไรต้องคิดเลยนอกจากสเกตบอร์ดอย่างเดียว” นัยน์ตาของไก่วาววามด้วยความคิดถึงชีวิตวัยรุ่น “นอนก็ต้องคิดแล้วว่าพรุ่งนี้เราจะเล่นท่าอะไรดี จะไปเล่นที่ไหน นั่งเรียนอยู่ก็เอาปากกามาเขียนชื่อท่านั้นท่านี้ว่าเล่นได้รึยัง ทำได้แล้วก็ติ๊กถูก ตอนนั้นคลิปสเกตมันหาดูยาก ยังไม่มียูทูบ ต้องเข้าเว็บไซต์ไปดาวน์โหลดมาหรือเอาแผ่นซีดีไปไรต์มาดูที่บ้าน”

ทว่าสมัยนั้นสเกตบอร์ดยังเป็นกีฬาที่สังคมไทยไม่ยอมรับนัก ด้วยผู้ใหญ่หลายคนมองว่าเสียงล้อและแผ่นกระดานของพวกมันเป็นที่รบกวนใจ รูปแบบการเล่นก็เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่ก็เป็นที่ชื่นชอบในหมู่เด็กหนุ่มวัยอยากรู้อยากลอง อบายมุขก็เป็นสิ่งหนึ่งซึ่งอยู่คู่กับวงการสเกตบอร์ด ไก่ยอมรับว่าในกลุ่มของเขามีการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้าและเบียร์ ทำให้หลายคนยิ่งตราหน้ากีฬาที่เขารัก

พอเข้าสู่วัยมหาวิทยาลัย ไก่ก็ต้องห่างเหินจากสเกตบอร์ดไปหลายปี ด้วยเหตุที่เขาเรียนไกลบ้าน และอยู่ท่ามกลางกลุ่มเพื่อนที่มีรสนิยมต่างออกไป ประกอบกับสถานที่ที่เคยเล่นประจำถูกยกเลิกไป เพื่อนฝูงที่เล่นมาด้วยกันต่างก็ต้องแยกย้ายไปเรียนหรือทำงานคนละที่ แต่ทั้งหลายทั้งปวงนี้ไม่ได้ทำให้ความรักสเกตบอร์ดของเขาลดลงเลย

“เห็นอะไรก็อยากเล่นไปหมด สมมติเห็นบันไดก็นึกอยากโดดลงมาจากตรงนั้น อยากเอาแผ่นไปรูดขอบบันไดลงมาจังเลย คอยมองอยู่ตลอด ใฝ่หาทุกเวลา เพียงแค่เลิกเรียนแล้วไม่ได้กระสันอยากรีบออกไปเล่นอย่างเมื่อก่อนเท่านั้นครับ” ไก่อธิบายความอัดอั้นใจที่มีในเวลานั้น ก่อนจะอธิบายถึงที่มาของแบรนด์ DREG ซึ่งเขาไม่ได้ตั้งชื่อด้วยตัวเอง

ขายอะไรก็ไม่ดีเท่าสเกตบอร์ด

นอกเหนือจากสเกตบอร์ด อีกหนึ่งความฝันของไก่คือการได้เป็นนักธุรกิจใหญ่ผู้มีชีวิตหรูหราบนตึกสูง ก่อนจะพบความจริงว่าเป็นไปได้ยาก แต่ก็ไม่ละทิ้งฝันที่จะเป็นเจ้าของธุรกิจไปเสียทีเดียว เขาตั้งใจไว้ว่าสักวันจะต้องมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ซึ่งก็บังเอิญว่าเขาได้เรียนรู้เรื่องการส่งออก-นำเข้าสินค้าจากงานประจำที่ไปทำเพื่อหาเงินทุน ใจเขาจึงหวนกลับมาที่สเกตบอร์ดอีกครั้ง

“ตอนนั้นผมคิดขึ้นมาว่า กูจะนำเข้าสเกตบอร์ดมาขายเว้ย! มันต้องเป็นสิ่งที่กูทำได้แน่ ๆ ถ้าไปขายอุปกรณ์มือถือ นำเข้าเสื้อผ้าก็คงไม่ถนัด เพราะเราไม่ใช่สายแฟชั่น ไม่ได้สนใจ Gadget แต่รู้จักสเกตบอร์ดแต่ละยี่ห้อดีว่าเป็นยังไง ใครเป็นเจ้าของ ซื้อได้จากที่ไหน และได้ที่ทำงานช่วยสอนเรื่องการนำเข้าสินค้าว่าต้องทำยังไง”

ปี 2013 ไก่ลาออกจากงานประจำพร้อมเงินทุนเปิดตัวแบรนด์ที่ร่วมหุ้นกันกับเพื่อน ๆ ชื่อ DREG ที่กลายมาเป็นชื่อแบรนด์ เพื่อนหุ้นส่วนคนหนึ่งเป็นผู้ตั้ง ให้ความหมายว่า ตะกอน เศษซาก ของเหลือ ซึ่งไก่ก็ยอมซื้อไอเดียนี้ เพราะเห็นว่า 4 ตัวอักษรสั้นกระชับดี และยังเป็นเครื่องเตือนสติชั้นดีอีกด้วย

“ผมอยากมองตัวเราต้อยต่ำ เป็นสิ่งเล็ก ๆ เศษตะกอนที่ไม่ได้ยิ่งใหญ่ เราไม่ต้องโอ่อ่า เป็นแค่มดตัวเล็ก ๆ ถ้างั้นก็ตั้งเป็นแค่แบรนด์เล็ก ๆ อยู่แถวนนทบุรีแค่นี้พอ”

ที่ตั้งแรกของร้าน DREG เป็นห้องแถวคูหาเดียว บริหารจัดการโดยเพื่อน 3 คนที่เล่นสเกตด้วยกันมา แต่เพราะขาดความเจนจัดทางการค้า มิช้าร้านของพวกเขาก็เริ่มขาดทุนจนแทบไปต่อไม่ได้ เพื่อนฝูงพากันถอนตัวออกไป ส่วนไก่ยังดิ้นรนด้วยการกลับไปทำงานประจำเพื่อหาเงินมาจ่ายค่าเช่า

ตอนนั้นเองที่ไก่ได้หุ้นส่วนคนใหม่ คือ พี่จักร ซึ่งเป็นผู้ผลักดันให้ DREG ก้าวต่อไปได้ดีกว่าเก่า คือการมีสนามสเกตบอร์ดเป็นของตัวเอง

อยากมีสนามไว้เล่นสเกตบอร์ดเท่านั้น

ย้อนไปสมัยวัยรุ่น ไก่เคยทดลองสร้างสนามสเกตบอร์ดที่บ้านคุณตาคุณยายในต่างจังหวัด โดยนำปูนมาก่อเองง่าย ๆ แต่เมื่อกลับมาใช้ชีวิตที่นนทบุรี เขาก็ต้องพบกับวังวนเดิม ๆ

“ลานที่เราเล่นอยู่ประจำ ทั้งเมืองทองธานี ศาลากลางจังหวัด ห้างโลตัสแคราย หรือใต้ทางด่วนงามวงศ์วาน ต่างก็ถูกไล่ที่ ถูกเขามองว่าเสียงดัง ทำลายข้าวของ โดดไปโดดมา น่ารำคาญ ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย เราก็ไม่มีที่เล่น ถามว่าสนามของสเกตบอร์ดเคยมีมั้ย มันมี เป็นของรัฐบาล คือที่หัวหมาก แต่เป็นสนามกีฬาสหฯ ใครจะมาเล่นก็ได้ จักรยาน โรลเลอร์เบลดมั่วไปหมด”

จะหาสนามที่ให้เล่นเฉพาะสเกตบอร์ดเท่านั้น ก็มีแต่เก็บค่าเข้าแพงจนเด็กอย่างเขาจ่ายไม่ไหว

“มีสนามหนึ่งที่เอกชนสร้าง ดีมาก อยู่ในร่ม ติดแอร์ด้วย แต่เก็บค่าเข้าประมาณ 100 บาท ตอนผมอายุ 17 – 18 ได้เงินไปโรงเรียนวันละ 100 คงมีโอกาสไปแค่เดือนละครั้งเองครับ”

นั่นคือที่มาความฝันที่อยากจะมีสนามสเกตบอร์ดใกล้บ้านตัวเองสักแห่ง ด้วยเงินจากการขายสเกตบอร์ดของ DREG ค่าน้ำ ค่าอาหารพอเป็นค่าใช้จ่ายได้ สำคัญที่สุดคือต้องเปิดให้ทุกคนเล่นได้ฟรี เหมือนกับที่เขาเคยต้องการเมื่อครั้งตนยังไม่มีรายได้

“ที่หลายคนมองว่าเด็กเล่นสเกตบอร์ดเป็นเด็กเกเร มีภาพลักษณ์ไม่ดี ที่จริงทุกชนิดกีฬาก็มีได้ เพียงแค่สเกตบอร์ดมันไม่มีสถานที่เป็นกิจจะลักษณะ” ไก่ให้ทรรศนะ “สมมติว่าคุณไปตีแบดฯ ในคอร์ตแบดมินตันเขาไม่อนุญาตให้สูบบุหรี่ ก็สูบไม่ได้ แต่ถ้าตีข้างทางก็สูบได้ มันก็เหมือนกัน ถ้ามีสนามสเกตเป็นเรื่องเป็นราว เขาก็ไม่สูบกัน พอไม่มีสนามเป็นกิจจะลักษณะเหมือนคนอื่นเขา มันก็เลยถูกมองแบบนั้น”

เพื่อให้คนรักสเกตบอร์ดมีที่เล่นกีฬาโปรดของพวกเขาในสภาพที่ดีขึ้น ไก่เลือกที่ดินเชิงสะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์ที่เพิ่งสร้างใหม่ มีพื้นที่กว้างขวางในราคาไม่แพงนัก เขายอมกู้เงินก้อนหนึ่งมาเพื่อการนี้ ส่วนการออกแบบสนาม พี่จักรซึ่งมีความรู้ด้านการผสมปูน วัสดุอุปกรณ์ทั้งหลาย จะเป็นคนรับผิดชอบออกแบบ ความที่เป็นสนามแรกของทั้งคู่ พวกเขาจึงต้องช่วยกันสร้างช่วยกันรื้อ ทุบทิ้งสร้างใหม่หลายต่อหลายรอบ กว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ดีดังนี้

ประตูสนามจะเปิดตั้งแต่เที่ยงวัน ทว่าเวลาปิดสนามก็ไม่ได้กำหนดไว้ตายตัว เวลาปิดไฟคือราวตี 1 ซึ่งเจ้าหน้าที่กลับกันหมดแล้ว แต่ถ้ามีใครเล่นต่อหรือนั่งกันต่อไป ไก่และทีมงาน DREG ก็ไม่มีนโยบายต้อนใครออกจากสนาม จะมาเล่นดึกกว่านั้นก็ได้ ขอแค่ช่วยปิดไฟ ปิดประตู ดูแลความเรียบร้อยให้เป็นพอ

DREG SkatePark ถือเป็นสนามเอกชนแห่งแรกในไทยที่เปิดให้เล่นฟรีอย่างเป็นทางการ วงการสเกตบอร์ดที่ค่อนข้างแคบต่างพากันฮือฮาถึงการเปิดตัวสนามนี้ บรรดาชาวบ้านในละแวกนั้นที่เคยเล่นสเกตและเลิกรากันไป เมื่อทราบข่าวก็พากันกลับมาเล่นสเกต ประกอบแผ่นกระดานกันใหม่อีกครั้ง

แต่นั่นยังไม่ทำให้ไก่ต้องทึ่งเท่ากับการที่ผู้มาใช้บริการส่วนใหญ่เป็นเด็กวัยกระเตาะ

เปลี่ยนทั้งคุณครู เปลี่ยนทั้งนักเรียน

ในความรับรู้ของคนที่เริ่มเล่นสเกตบอร์ดตอนอายุ 14 – 15 อย่างไก่ คนหลงใหลในกีฬานี้ต้องเป็นวัยรุ่นเหมือนกัน มากันเป็นแก๊ง แต่คนมากมายที่เดินเข้ามาที่นี่กลับเป็นพ่อแม่ที่จูงมือเด็กเล็กเข้ามา พร้อมตั้งคำถามว่า อันนี้เล่นยังไง ช่วยสอนลูกเราหน่อยสิ

ถ้าเป็นผู้ปกครองยุคก่อน คงไม่เห็นค่ากีฬาเสี่ยงอันตรายเช่นนี้ แต่ด้วยมุมมองของผู้ปกครองรุ่นใหม่ที่คิดว่าการออกกำลังกายทุกชนิดย่อมดีต่อพัฒนาการของเด็กมากกว่าให้ลูกขลุกอยู่กับหน้าจอมือถือ แหล่งรายได้สำคัญของลานสเกตฟรีจึงเป็นเด็กและครอบครัว ไก่จะสอนเองตัวคนเดียวก็ไม่ไหว เลยไปรวมตัวเพื่อนฝูงชาวแก๊งสเกตบอร์ดด้วยกันมาสอน และแบ่งรายได้ให้เพื่อน ๆ

“พวกนี้ไม่ได้ผ่านหลักสูตรการเรียนอะไรมาหรอกครับ เดิมเป็นเด็กเล่นสเกตด้วยกัน เรียนจบบ้าง ไม่จบบ้าง ต่างก็มาทำงานร่วมกันโดยการคุยกันว่า เฮ้ย! มึงว่างมั้ยวันนี้ มีเด็กอยากให้สอน เดี๋ยวกูให้เงินมึงนะ สอน ๆ กันไปก็กลายเป็นอาชีพให้พวกเขาไปเฉยเลย”

บนลานกว้างของ DREG SkatePark มีผู้สอนประจำอยู่ทั้งหมด 7 คน ต่างเป็นเพื่อนเก่าแก่ที่เล่นสเกตบอร์ดมากับไก่ รู้มือ รู้เท้า รู้นิสัยใจคอทุกคนดีว่าเป็นอย่างไร

“พื้นเพเด็กสเกตบอร์ดทุกคนไม่มีใครไม่สูบบุหรี่ แน่นอนว่าคุณครูทุกคนที่นี่เขาก็เคยกินเหล้า เมา สูบบุหรี่ เราก็ต้องปรับตัวให้อยู่กับเด็ก ๆ ได้ ต้องคอยบอกกันให้ปรับ Mindset ใหม่นะมึง สูบบุหรี่ไปสูบข้างนอกนะ กินเหล้าหลังเลิกงานนะ เหมือนพนักงานทั่วไปเลยครับ”

‘นักเรียน’ ของ DREG มีหลายรุ่น เด็กสุดราว 4 ขวบ โตสุดมักไม่เกิน 12 แต่ส่วนใหญ่จะเริ่มเรียนเมื่ออายุราว 6 – 7 ปี ซึ่งเป็นวัยที่เริ่มเดินได้ดี เหมาะจะสร้างกล้ามเนื้อมากที่สุด

‘ครูไก่’ ของนักเรียนเล่าว่าครูทุกคนต้องทำการบ้านให้ดีในการสอนศิษย์แต่ละคน บ่อยครั้งไปที่พวกเขาต้องวิ่งไล่จับเด็กที่ซุกซนให้กลับมาเรียนได้

เด็กที่มาเรียนทุกคนได้กล้ามเนื้อ ได้ทักษะกีฬา และความกล้ากลับไป ขณะที่ ‘คุณครู’ ก็ได้รับชีวิตใหม่ที่ดีขึ้นกับตัวพวกเขาเอง

“การสอนที่นี่ทำให้พวกครูเขาเปลี่ยนจากคนที่สักลายเละเทะ คิดแต่จะต่อยคู่อริให้ได้ อยากมีเรื่องมีราว กลายเป็นคนใจเย็นลง มีอารมณ์ขันมากขึ้น เหมือนเรามีลูกที่ต้องคอยประคบประหงมเขา เมื่อเห็นเด็กจะล้มก็ต้องคอยเข้าไปดู ถามเขาว่าเป็นอะไรมั้ยลูก ทำได้มั้ย ต้องการให้ช่วยอะไรมั้ย จากที่แต่ละคนเคยเป็นคนห่าม ๆ ก็กลายเป็นคนน่ารักไปเลยครับ”

ทำทุกอย่างก็เพื่อสเกตบอร์ด

แสงอาทิตย์เพิ่งลาลับขอบฟ้า รอบอาณาบริเวณดูเงียบงันวังเวง แต่สนามสเกตบอร์ดเชิงสะพานแห่งนี้ยังสว่างไสวด้วยไฟสปอตไลต์ และอื้ออึงไปด้วยสรรพเสียงของการเรียน การสอน และการเล่นของนักเรียนกับคุณครูที่วาดลวดลายวงล้อไปรอบทิศ

“เด็กแต่ละคนมาจากคนละที่ ต่างคนต่างมาแล้วมาเจอกันที่นี่ มันน่ารักตรงที่เด็กสนิทกับคนที่นี่มากกว่าเพื่อนที่โรงเรียนอีก หลาย ๆ คนเป็นแบบนี้ นี่แหละมันคือเสน่ห์ที่ผมงงว่าเด็กเลิกเรียนแล้วจ้องจะมาที่นี่กัน เขามีเพื่อนของเขา กลายเป็นว่าสเกตบอร์ดก็นำพาเขามาเจอกันครับ”

ใช่แต่เด็กนักเรียนที่เป็นเพื่อนกันเท่านั้น พ่อแม่ที่นั่งกินดื่มอยู่ข้างสนามก็เช่นกัน จากคนแปลกหน้าซึ่งพบกันเพียงเพราะต่างคนต่างมาเฝ้าลูก บทสนทนาแก้เบื่อบนโต๊ะริมทางได้ถักทอมิตรภาพให้พวกเขากลายมาเป็นเพื่อนที่รู้ใจ โดย DREG ได้จัดค่ายชื่อ Skate Camp เพื่อกระชับความสัมพันธ์ พา 10 ครอบครัวมารู้จัก ไปเที่ยว ตั้งกลุ่มทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นที่ถูกอกถูกใจของทุกคน

ครูไก่เดินวนรอบสนาม ตลอดทางมีเด็กยกมือไหว้ บ้างอวดท่ากระโดดที่เพิ่งหัดได้ บ้างขอคำปรึกษาเรื่องการซ้อม เรียกรอยยิ้มจากผู้เป็นต้นคิดในการสร้างสนามและทุกอย่างบนที่ผืนนี้เสมอ

“ตัวผมและคุณครูทุกคนกลายเป็นเหมือนคนที่พร้อมจะเริ่มเดินทางไปด้วยกัน ต่างมีเป้าหมายว่าเราจะทำให้เด็กเก่งขึ้นไปให้ได้นะ เราอยากจะเห็นคนไทยเก่งระดับไปแข่งขัน ไปยืนอยู่ในพื้นที่ระดับต่างประเทศให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นในสายโอลิมปิก หรือสายที่จะกลายเป็น Brand Ambassador ของต่างประเทศ หรือระดับโลกครับ” อยู่ ๆ เขาก็เปรยความตั้งใจใหม่ขึ้นมา

ในปี 2024 ที่มหกรรมกีฬาของมวลมนุษยชาติอย่างโอลิมปิกเกมส์เวียนมาจัดอีกครั้ง ประจวบเหมาะกับ 10 ปีที่ไก่เปิดตัวแบรนด์ของเขา ชื่อเสียงของ DREG ก็ยิ่งขจรไกล เมื่อศิษย์เอกที่ฝึกหัดมาตั้งแต่ขั้นพื้นฐานอย่าง เอสที-วารีรยา สุขเกษม วัย 12 ปี ได้รับเลือกเป็นตัวแทนชาติไทย พาธงไตรรงค์ไปโบกสะบัดถึงสนามสเกตบอร์ดที่ปารีส โอลิมปิกเกมส์ กลางปีนี้

เสียงร่ำลือจากหลายฝ่ายกระเด็นมาถึงหูเจ้าของแบรนด์ DREG ว่าเขาเป็นตัวจุดประกายทุกอย่างให้กับวงการสเกตบอร์ดไทย ด้วยเหตุที่เขาเป็นคนแรกที่สร้างสนาม หลายคนเลยพากันไปสร้างสนามสเกตบอร์ดตามท้องที่ต่าง ๆ ทั้งในระดับชุมชน เทศบาล จังหวัด โดยเอกชนบ้าง ราชการบ้าง เมื่อมีสนามก็มีคนเล่นตาม เกิดเป็นกระแส Skateboard Fever เมื่อช่วงโควิดที่ผ่านมา

“ทุกวันนี้สนามสเกตเริ่มผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดแล้วครับ คำถามคือทำไมเมื่อ 10 ปีก่อนไม่มีใครสร้าง ทั้งที่มีคนเล่นก่อนผมมาเป็นสิบ ๆ ปี นั่นเพราะเขาไม่บ้าเท่าผม ผมบ้าพอที่จะกู้เงินมาสร้าง ถ้าผมสร้างที่นี่โดยมีเงินถุงเงินถังอยู่แล้วคงไม่แปลก แต่ผมเป็นหนี้เพื่อสนองตัณหาที่ต้องการมีสนามอยู่ใกล้บ้านตัวเอง มันเลยเป็นโมเดลให้คนอื่นเห็นว่าเขาสร้างมาก็อยู่ได้ ไม่เจ๊งนี่นา”

ผู้ก่อตั้งร้านนำเข้าสเกตบอร์ดที่ตั้งชื่อว่า ‘ตะกอน’ หัวเราะครืน ตั้งแต่บัดนั้นจนบัดนี้ เขายังพอใจที่จะมองตัวเองเป็นเศษซากเล็ก ๆ คอยรอวันคนอื่นมาทับถมเพื่อสร้างผลที่งดงามสืบไป

“ผมบอกกับตัวเองเสมอครับว่าผมไม่ได้เท่ แบรนด์ DREG ก็ไม่ใช่แบรนด์ยิ่งใหญ่ที่ใคร ๆ ก็อยากจะมาหา แต่สิ่งหนึ่งที่ผมภูมิใจกับการทำทุกอย่างที่นี่คือ DREG เหมือนเป็นเฟืองเล็ก ๆ ตัวหนึ่งที่ไปสะกิดเฟืองอีกตัว หมุนแก๊กเดียวพานให้ทุกอย่างหมุนไปหมด ดีใจที่ได้เป็นฟันเฟืองหนึ่งซึ่งช่วยพาให้วงการสเกตบอร์ดบ้านเราพัฒนาไปในทางดี สร้างอาชีพให้หลาย ๆ คนครับ”

ฝันต่อไปของไก่คือการจุดประกายความสำคัญของวงการสเกตบอร์ดให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองได้เห็นคุณค่า พร้อมจะสนับสนุนนักกีฬาและสนามเหมือนตัวเขา ไม่ว่าต้องใช้พลังและเวลาสักเพียงไร เฟืองเล็ก ตัวนี้ก็จะไม่หยุดหมุนเพื่อสร้างแรงกระเพื่อมต่อไปอย่างแน่นอน

Writer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์