บางบ้าน เรื่องราวจากบรรพบุรุษ คือความช้าเชย กีดขวางความเจริญ ไม่ทันยุคสมัย

แต่บางบ้าน รากเหง้าและบรรพบุรุษ คือจิตวิญญาณ และสินทรัพย์ที่ประเมินค่าไม่ได้ 

เรื่องราวของ ‘ดอยซิลเวอร์’ และ ‘วาณิชจิวเวลรี่’ เป็นอย่างหลัง 

นี่คือแบรนด์เครื่องประดับที่ดูแลโดย ชัยพฤกษ์, เชาวภัณฑ์ และ วัชระ รุ่งรชตะวาณิช ทายาทและสะใภ้รุ่นที่ 5 ผู้สืบต่อธุรกิจที่มีต้นกำเนิดมาจากชนเผ่าอิ้วเมี่ยน หรือ เย้า หนึ่งในชาติพันธ์ุสำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งรกรากสร้างครอบครัวในจังหวัดน่าน

นี่คือแบรนด์เครื่องเงินที่เติบโตในช่วงนโยบาย OTOP ถือกำเนิด และกำลังพาภูมิปัญญาเครื่องเงินน่านสู่ตลาดโลก 

ถ้าเวลาน้อย เราสรุปสั้น ๆ ให้ว่า เคล็ดลับความสำเร็จ คือการไม่ลืมคุณของบรรพบุรุษ

ถ้ามีเวลา อยากรู้มั้ยว่าเราจะทำธุรกิจที่เกิดจากบรรพบุรุษเมื่อ 100 กว่าปีก่อน ขายให้คนต่างชาติตื่นเต้น ฝ่าคลื่นลม Disruption อย่างสง่างามได้อย่างไร

ธุรกิจ : ดอยซิลเวอร์ และ วาณิชจิวเวลรี่

ประเภท : เครื่องประดับ

ปีที่ก่อตั้ง : พ.ศ. 2540

ผู้ก่อตั้ง : สมชาย และ พิมพร รุ่งรชตะวาณิช

ทายาทรุ่นห้า : ชัยพฤกษ์ และ วัชระ รุ่งรชตะวาณิช

อิ้วเมี่ยน แปลว่า มนุษย์

พวกเขาเชื่อว่ามนุษย์ไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว จักรวาลมีระเบียบแบบแผน เพื่อความสุขและสันติมนุษย์จึงควรสร้างสัมพันธภาพที่ถูกต้องกับสิ่งแวดล้อม ทั้งสิ่งที่เป็นกายและสิ่งที่มองไม่เห็นอย่างจิตวิญญาณ

ขนบของอิ้วเมี่ยนจึงให้ความสำคัญกับรากเหง้า เคารพบรรพบุรุษ กตัญูญูต่อผู้มีพระคุณ บุคลิกสุภาพ ใฝ่ความถูกต้อง

พิธีไหว้บรรพชนของอิ้วเมี่ยนนั้นยาวนาน กินเวลาแทบทั้งวัน สะท้อนว่าชนเผ่านี้ให้ความสำคัญกับครอบครัวมากแค่ไหน

นอกจากครอบครัวอิ้วเมี่ยนจะแข็งแรง ชนเผ่านี้ยังมีฝีมือทางการช่าง ถักทอเครื่องเงินได้ดี ผู้หญิงทุกบ้านถักสร้อยเงินเป็น เวลาลูกหลานที่จากบ้านกลับมาเยี่ยมเยียนปู่ย่า ผู้อาวุโสมักเตรียมเหรียญเงินโบราณที่ทำเอง มอบให้ลูกหลานเพื่อแสดงความเอ็นดูและเมตตา

“เครื่องเงินอยู่กับชนเผ่ามาตั้งแต่เกิดจนวาระสุดท้ายของชีวิต เมื่อมีเด็กเกิดในบ้าน ครอบครัวจะทำหมวกที่มีเครื่องเงินให้ติดตัว สมัยก่อนการรักษาโรคยังไม่มี ความเชื่อของชนเผ่าเรา คือเงินดูดพิษจากร่างกายได้ ถ้าเราตัวร้อน ปู่ย่าจะเอาแท่งเงินแท้ใส่ในผ้ามาถูตัว ถ้าเงินกลายเป็นสีดำ แสดงว่าพิษออกมาจากร่างกายแล้ว ชนเผ่าอิ้วเมี่ยนใช้วิธีนี้แต่โบราณ เป็นหนึ่งในที่มาว่าทำไมเราถึงอยู่และผูกพันกับเครื่องเงิน” ชัยพฤกษ์และเชาวภัณฑ์เล่า

ปู่ทวดของชัยพฤกษ์คือช่างเงินประจำเผ่าอิ้วเมี่ยนรุ่นแรก เขาโตมากับเครื่องเงินมาตลอด วันหนึ่ง ปู่จั้นต้อง คุณปู่ของชัยพฤกษ์ซึ่งเป็นช่างเงินประจำเผ่ารุ่นที่ 3 มีโอกาสได้เข้าไปทำงานในศูนย์ศิลปาชีพ 2 ปี ได้เรียนรู้ศาสตร์งานฝีมือของชนเผ่าทั่วประเทศ และนำหลักการบางอย่างมาประยุกต์กับเครื่องเงินของตัวเอง

แต่ก่อนคนอิ้วเมี่ยนจะทำลวดลายในเครื่องเงินอยู่ไม่กี่แบบ ส่วนมากเป็นลายโบราณที่ตกทอดในครอบครัว คุณปู่ของชัยพฤกษ์นำความรู้มาประดิษฐ์เป็นลายใหม่

นี่คือจุดเปลี่ยนแรกที่ทำให้เครื่องเงินของชนเผ่าขยายออกมาสู่โลกภายนอก เดิมลายของเครื่องเงินจะเป็นสิ่งที่อิ้วเมี่ยนด้วยกันจะเข้าใจ ความรู้จากคุณปู่เติมความเป็นสากลในเครื่องเงินของครอบครัวมากขึ้น

ความสามารถของคุณปู่ทำให้ชนเผ่าข้างเคียงสนใจ จ้างให้คุณปู่ทำเครื่องเงินให้ เมื่อมาสู่รุ่นพ่อ สมชาย และแม่ พิมพร รุ่งรชตะวาณิช เริ่มตั้งบริษัท ลองเอาเครื่องเงินไปขายต่างจังหวัด ทำเป็นสร้อยคอและแขนที่หลากหลายมากขึ้น

“จุดเปลี่ยนของเราคือการเริ่มไปเปิดตลาดใหม่ หาลูกค้า ไปในที่ที่มีคนเข้าถึงเยอะ 

“วันหนึ่งคุณพ่อไปเชียงใหม่ แกหิ้วสร้อยไปประมาณ 10 กว่าเส้น เพราะได้ยินว่าเชียงใหม่มีคนเยอะ มีคนขายเครื่องเงิน ตอนแรกแกเอาสร้อยไปฝากเขาขายก่อน พอได้เงิน เจ้าของร้านจะส่งธนาณัติมาให้ เจ้าของร้านหนึ่งบอกว่างานคุณพ่อขายดี มีลูกค้าจะสั่งเยอะเลย แต่ตอนนั้นคุณพ่อไม่มีทุน เลยบอกว่าถ้าอยากให้ทำ ช่วยซื้อเม็ดเงินมาให้ก่อนได้มั้ย เหมือนมัดจำไว้ก่อน ทำเสร็จเดี๋ยวส่งไปให้ที่เชียงใหม่ กลายเป็นลูกค้าขายส่งเจ้าแรก แล้วก็ค่อย ๆ เพิ่มจำนวนขึ้นมา” ลูกชายคนโตของสมชายเล่า 

ธุรกิจดอยซิลเวอร์เริ่มโต มีหน้าร้านของตัวเอง แม้จะเจริญขึ้น แต่สมชายก็ยังชวนกึ่งบังคับให้ชัยพฤกษ์และวัชระทำเครื่องเงินเองได้เหมือนบรรพบุรุษ ถ้าอยากได้เงินซื้อขนม สมชายจะให้ทำเครื่องเงิน ทำได้เท่าไหร่ก็เอามาชั่ง กิโลกรัมละ 5 บาท ได้เท่าไหร่ก็เอาเงินนี้ไปซื้อขนมเท่านั้น

สมชายเป็นคนอิ้วเมี่ยนที่วิสัยทัศน์ไกล เขามองว่า ถ้าทำเครื่องเงินเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ยังไงก็ไม่มีวันรวย เขาฝึกฝนตัวเองให้ทะเยอทะยาน คิดใหญ่ ด้วยใจหวังว่าไม่อยากให้ลูกมาลำบากเหมือนตนเอง

“พ่อชอบสอนให้ตื่นเช้า จะได้มีเวลาทำอะไรมากกว่าคนอื่น” คำสอนเรียบง่ายนี้บอกตัวตนของสมชายได้ดี

ช่างเงินอิ้วเมี่ยนรุ่นที่ 4 ปลูกฝังแนวคิดนี้สู่รุ่นที่ 5 ชัยพฤกษ์มองออกว่า ถ้าอยากเติบโต ต้องจริงจังกับการส่งออก เขาเรียนมาในคณะเกี่ยวกับธุรกิจระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยศรีปทุม จึงได้นำศาสตร์การตลาดยุคใหม่มาปรับปรุงธุรกิจของบรรพบุรุษให้เข้ากับยุคสมัย 

ชัยพฤกษ์รับช่วงต่อทันทีที่เรียนจบตอนอายุประมาณ 25 ปี ปัจจุบันเขาและเชาวภัณฑ์ดูแลโรงงาน ส่วนน้องดูแลด้านการตลาด ออกบูท ลุยในสนามนอกบ้าน 

เขาทำหลายอย่างต่างจากพ่อแม่ งานที่เด่นที่สุด คือการสร้างแบรนด์ใหม่ชื่อว่า ‘วาณิชจิวเวลรี่’

หลังทำธุรกิจมาถึงรุ่นที่ 4 ดอยซิลเวอร์ก็ติดตลาด โดยเฉพาะในยุคที่ประเทศไทยมีนโยบาย OTOP ส่งเสริมสินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่ตลาดโลก 

ด้วยภาพลักษณ์สินค้าที่ดูเป็นเครื่องเงินจากชนเผ่า คนจึงมักจำภาพแบรนด์ว่าเป็นสินค้าแนวเดียวกับที่ขายใน OTOP เท่านั้น ขายดีนั้นดีอยู่แล้ว แต่อีกแง่หนึ่ง มันทำให้แบรนด์โตต่อในทิศทางอื่นยาก โดยเฉพาะการพาแบรนด์ไปสู่สินค้าที่มีความหรูหรามากขึ้นเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า 

ชัยพฤกษ์จึงสร้าง วาณิชจิวเวลรี่ เพื่อตอบโจทย์นี้ เขาใช้คำจากนามสกุลมาเป็นชื่อแบรนด์ เพราะอยากรักษาความเป็นครอบครัว ส่วนสินค้าจะเป็นแนวมินิมอลมากกว่า เพิ่มเพชร พลอย และองค์ประกอบอื่นที่ทำให้สินค้าตอบโจทย์กลุ่มบนมากขึ้น

ถ้าเป็นเรา การแยกออกมาทำแบรนด์ใหม่ทั้งที่แบรนด์ดั้งเดิมดีอยู่แล้วเป็นเรื่องท้าทายมาก สำหรับชัยพฤกษ์ เขามองว่าวันหนึ่งก็ต้องทำ โชคดีที่รุ่นที่ 4 เองก็เห็นด้วย

“พ่อแม่บอกว่าดีแล้ว แบรนด์เดิมของเราก็ยังมี ทำส่งต่างชาติได้อยู่ เราทำ 2 แบรนด์คู่ไปกันได้

ผมมองว่าบริษัทใหญ่ ๆ อย่าง Beauty Gems เขาก็แตกแบรนด์เป็นสิบ ๆ แบบ งานหนึ่งขายที่ยุโรป อีกงานขายที่ไทย งานหนึ่งขายสหรัฐฯ แตกแบรนด์ตามพื้นทีที่จะไปขาย มันเป็นเรื่องช่องทางการตลาดและการสร้างการรับรู้ ถ้าเราจะไปขายสินค้าที่ประเทศหนึ่ง รูปแบบสินค้าของเราจะต้องตอบโจทย์เขา” ชัยพฤกษ์เล่า

“เหมือนเราหว่านเมล็ดพืช พอมันโต ก็ยังโตภายใต้เครือข่ายบริษัทแม่ ผลิตที่เดียวกัน แต่เรากระจายช่องทางการตลาดมากขึ้น” เชาวภัณฑ์เสริม

ลูกค้าของ 2 แบรนด์ต่างกันอย่างสิ้นเชิง ดอยซิลเวอร์ตอบโจทย์ผู้ใหญ่ วาณิชจิวเวลรี่เป็นแนวคนรุ่นใหม่ถึงวัยกลางคน เน้นขายออนไลน์เป็นหลัก

เทรนด์เครื่องประดับยุคนี้ไม่มีใครเป็นเจ้าตลาด คนแต่ละวัยมีบุคลิกของตัวเอง ต้องการสินค้าที่แตกต่างมาก จุดร่วมเดียวกันคือใส่เพื่อเสริมความมั่นใจ ส่วนใส่แบบไหนขึ้นอยู่กับชีวิตและสังคมของแต่ละคน

เชาวภัณฑ์เล่าว่าบ้านนี้คิดเรื่องช่องทางการขายละเอียด ปกติเรามักเห็นสินค้าของบริษัทหนึ่ง กระจายขายในทุกช่องทาง แต่ดอยซิลเวอร์และวาณิชจิวเวลรี่คิดว่าเราขายของทุกชิ้นบนทุกช่องทางไม่ได้ เพราะพฤติกรรมกลุ่มเป้าหมายต่างกัน

ใน Instagram จึงมีเครื่องประดับชิ้นเล็ก หรูหรา ในขณะที่ Facebook ขายงานชิ้นใหญ่ขึ้น ตอบโจทย์คนมีอายุที่เล่น Facebook มากกว่า 

ปัจจุบันดอยซิลเวอร์และวาณิชจิวเวลรี่ส่งออกไปขายที่สหรัฐอเมริกาและจีน คนอเมริกันชอบงานแบบนี้มากกว่า เพราะไม่มีงานสร้อยถักแบบนี้ขายในประเทศเลย 

แบรนด์ยุคนี้มักเน้นการเล่าเรื่องหรือ Storytelling เพราะช่วยสร้างยอดขายได้ แล้วกับธุรกิจที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ เรื่องของอิ้วเมี่ยนขายในตลาดโลกได้มั้ย

เชาวภัณฑ์บอกว่าได้แค่บางส่วน คนไทยคุ้นเคยกับเรื่องราวของชาติพันธ์ุ รู้ว่าเครื่องเงินของอิ้วเมี่ยนหายาก แต่ออกนอกประเทศ คนต่างชาติสนใจคุณภาพ ความประณีต และรายละเอียดของสินค้ามากกว่า ถ้าสวยและเหมาะกับบุคลิกถึงจะตัดสินใจซื้อ

ปัจจุบันดอยซิลเวอร์และวาณิชจิวเวลรี่มีรายได้จากการขายสินค้าแบรนด์ตัวเอง และรับทำเครื่องประดับแบบ OEM ให้แบรนด์อื่น มีหน้าร้านแค่ 3 แห่งเท่านั้น คือโรงงานและพิพิธภัณฑ์ที่อำเภอปัว ร้านขายสินค้า OTOP ในเมืองน่าน และร้านของวาณิชจิวเวลรี่ในห้างสรรพสินค้า Blúport เมืองหัวหิน ประจวบคีรีขันธ์

เป็นเรื่องปกติไปแล้วที่เครื่องประดับจะขายทางออนไลน์ เรื่องน่าสนใจของแบรนด์นี้คือการขายเครื่องประดับที่ขายความละเอียดและคุณภาพผ่านช่องทางออนไลน์ด้วยเครื่องมือและวิธีการวัดขนาดที่ไม่ยากเท่าเมื่อก่อน ทำให้ธุรกิจโตขึ้นมาก

ในจังหวัดน่านยังมีครอบครัวอิ้วเมี่ยนและชาติพันธุ์อื่นทำเครื่องประดับเป็นธุรกิจไม่น้อย ชัยพฤกษ์เล่าว่า เพราะเครื่องเงินสำหรับครอบครัวไม่ใช่แค่เครื่องประดับ มันคือทักษะและวิถีชีวิตที่บรรพบุรุษมอบให้

“เป้าหมายต่อไปของคุณคืออะไร”

“วันหนึ่งเราอยากให้วาณิชจิวเวลรี่เป็น Louis Vuitton” ชัยพฤกษ์ระเบิดหัวเราะ

“อยากให้ ลิซ่า BLACKPINK มาใส่” ภรรยาเสริม 

ไม่ไร้สาระเลย เรารู้ว่ามันมีโอกาสเป็นไปได้

อิ้วเมี่ยน แปลว่า มนุษย์

ถ้าจะมีสักเรื่องที่เราเรียนรู้ได้จากดอยซิลเวอร์ มาจนถึงวาณิชจิวเวลรี่ คือการทำธุรกิจอย่างมีความเป็นมนุษย์

คนทุกคนมีเลือดเนื้อ มีรากเหง้า เราต่างมีเรื่องราวที่ต่อยอดไปสู่สิ่งใหม่ได้มากมาย

หากชัยพฤกษ์ เชาวภัณฑ์ และวัชระ สานต่อธุรกิจโดยไม่คิดถึงสิ่งที่บรรพบุรุษสร้างไว้ ทำการตลาดบนตำรา มองทุกอย่างเพียงด้านเดียว ธุรกิจนี้คงไม่มาถึงทุกวันนี้

หลายธุรกิจตามหาหัวใจของตน เพราะหวังว่าจะเป็นสูตรลับสู่ความสำเร็จ

เดินทางไขว่คว้าภายนอกมากมาย บางครั้ง คำตอบนั้นอาจซ่อนอยู่ในบ้านของตัวเอง 

Facebook : เครื่องเงินน่าน by Doi Silver – ดอยซิลเวอร์

Website : wanichjewelry.com

Writer

ศิวะภาค เจียรวนาลี

ศิวะภาค เจียรวนาลี

บรรณาธิการที่ปั่นจักรยานเป็นงานหลัก เขียนหนังสือเป็นงานอดิเรก

Photographer

Avatar

ทิฐธรรม คลี่ใบ

ช่างภาพ เจ้าของเพจ Momanggo Studio