หากถามว่าไอศกรีมถ้วยโปรดของคุณหน้าตาเป็นยังไง คำตอบของหลายคนคงไม่พ้นสกูปวานิลลา ช็อกโกแลต หรือสตอรว์เบอร์รี โรยหน้าด้วยขนมหวาน

แต่หากถามเด็กและเยาวชนในสถานพินิจว่าไอศกรีมถ้วยโปรดของพวกเขาหน้าตาเป็นยังไง คำตอบที่ได้จะต่างออกไปจากพวกเราทุกคน

รสชาติไอศกรีมของพวกเขาแทนตัวตนที่เขาเป็น เลือกวิชาและความสนใจเป็นท็อปปิ้งโรยด้านบน ราดซอสด้วยรูปแบบการเรียนที่ต้องการ และประดับด้วยเวเฟอร์แทนการมีทรัพยากรอื่น ๆ มาสนับสนุน

ร้านไอศกรีมแห่งโอกาสนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ‘โอกาส Open House’ ที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และภาคีเครือข่ายการศึกษา เปิดลานกิจกรรมให้เด็ก ๆ ในสถานพินิจแสดงศักยภาพและสื่อสารให้สังคมรับทราบว่าพวกเขาเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพไม่แพ้ใคร เพียงหยิบยื่นโอกาสทางการศึกษาให้กับพวกเขา

วันนี้ The Cloud เดินทางมาพูดคุยกับ พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อธิบดีกรมพินิจฯ และ ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผอ.สำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. ถึงโครงการที่ทั้งสองปลุกปั้นด้วยความหวัง

“เราเอาเด็กออกไปโลกภายนอกในตอนนี้ไม่ได้ แต่ไม่มีอะไรขวางเราไม่ให้เอาโลกเข้ามาข้างใน” ท่านอธิบดีกล่าว ก่อนจะเริ่มต้นเล่าให้เราฟัง

พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อธิบดีกรมพินิจฯ และ ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผอ.สำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ.
พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อธิบดีกรมพินิจฯ และ ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผอ.สำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ.

“เราจะทำให้เด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กที่มีคุณภาพมากที่สุด”

“ย้อนหลัง 5 ปี เรามีเด็กเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเกือบ 130,000 คน เฉลี่ยปีละ 20,000 คน ถามว่าเขามีศักยภาพไหม เราไม่มีสิทธิ์รู้หรอก เพราะเรายังไม่เคยฟูมฟักเขาเลย เราปล่อยให้เขาอยู่กับปัญหามาตลอด” นั่นคือจุดเริ่มต้น

ส่วนเด็กและเยาวชนในกลุ่มเปราะบาง คือคำเรียกที่สะท้อนปัญหาของพวกเขา หลัก ๆ แล้วมี 3 ประการด้วยกัน

หนึ่ง ปัญหาครอบครัวทุกรูปแบบ ร้อยละ 70 ของคดีทั้งหมด ผู้กระทำความผิดไม่ได้อยู่กับพ่อแม่หรือพ่อแม่แยกกันอยู่ สอง ปัญหาการศึกษาที่หยุดชะงักหรือหลุดออกจากระบบ ทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา สาม ปัญหาสถานภาพทางเศรษฐกิจ หรือมีความยากจน ขาดแคลนรายได้ เหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุที่อาจทำให้พวกเขาเลือกเดินทางผิด

แต่หากก้าวขาผิดพลาดไปแล้ว อย่างต่อมาคือกรมพินิจฯ ต้องดูแลพวกเขา 

“ถ้าเราไม่ดูแลเขาให้ดี เขาจะไม่ได้รับโอกาสที่ดี แล้วเขาก็จะไม่ได้เป็นทรัพยากรที่ดี เราจะทำให้เด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กที่มีคุณภาพมากที่สุด เพื่อให้เขาเป็นประชากรที่ดีของเรา สิ่งสำคัญคือเด็กและเยาวชนทุกคนควรได้รับการพัฒนาและมีโอกาสเสมอภาคเท่าเทียมกันในหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะการศึกษา

“เราแก้ไขเรื่องครอบครัวให้เขาไม่ได้ มันเป็นอดีตของเขา แต่ประเทศไทยมีระบบการศึกษาที่หลากหลายมาก นี่คือโอกาส แล้ว กสศ. ก็มาเติมเต็มตรงนี้พอดี”

ผอ.ธันว์ธิดาเองก็มีความเชื่อเดียวกัน จากการทำงานเรื่องการศึกษาที่ครอบคลุมตลอดชีวิต พบว่าสถานการณ์เด็กและเยาวชนในภาพรวมยังมีปัญหา 2 เรื่องหลัก คือการเข้าถึงโอกาสทางการเรียนรู้และการมีผลต่อการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน

“สถานการณ์ของเด็กมีหลายเฉดแตกต่างกันและมีความซับซ้อน ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน ในกรณีเด็กและเยาวชนที่เป็นผู้กระทำผิดและอยู่ในกระบวนการยุติธรรมก็เช่นกัน เราคุยกับกรมพินิจฯ ว่าจะใช้การศึกษาเข้ามาเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงชีวิตเขา เป็นภารกิจที่ต้องศึกษาให้ตอบโจทย์เยาวชนกลุ่มนี้ได้มากที่สุด ผ่านการเรียนรู้และพัฒนาทักษะ”

“วิชาการอย่างเดียวไม่พอ เขาต้องการทักษะชีวิตและแรงบันดาลใจ”

เด็กในระบบการศึกษาเข้าโรงเรียนมาตอนอายุเท่ากัน มีระดับความรู้ใกล้เคียงสูสีกัน แต่เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ไม่มีสิทธิ์เลือก กลไกในการจัดการจึงทำด้วยมาตรฐานปกติไม่ได้ ทั้งที่ระบบการศึกษาต้องไม่ละทิ้งหรือผลักใครไว้ข้างหลัง

การศึกษาของเด็กกลุ่มนี้จะอยู่ประมาณ ม.1 ครึ่ง ม.2 ครึ่ง ก่อนเข้ามาอยู่ในกระบวนการยุติธรรม โจทย์คือ จะทำอย่างไรให้การศึกษามีความต่อเนื่อง ไม่หยุดชะงัก

ท่านอธิบดีกล่าวว่า ที่ผ่านมาภายในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเองก็มีจัดการเรียนการสอน แต่อาจไม่ยืดหยุ่นเพียงพอ กระตุ้นให้เด็กแสดงศักยภาพไม่ได้ แต่พอมีการออกแบบการศึกษาสมัยใหม่ที่ กสศ. เปิดกว้างและเข้าถึงง่ายขึ้น ทำให้รองรับเด็กของพวกเขาได้ 

“ซึ่งไม่ง่าย” ผอ.ธันว์ธิดายอมรับ “การช่วยเหลือน้อง ๆ กลุ่มนี้ที่มีความซับซ้อนเข้มข้น ต้องมาจากหลายมิติ ทำงานด้วยองค์กรใดองค์กรหนึ่งไม่ได้ ต้องเชื่อมโยงและบูรณาการมา ช่วยกันแก้ปัญหา เพื่อให้เด็กกลุ่มนี้สำเร็จการศึกษา ประกอบอาชีพ หรือเรียนต่อได้ 

“เราต้องทำงานหลายคน ต้องมีความเข้าใจพอสมควร โดยเฉพาะครูในศูนย์ฝึกที่มีบทบาทเยอะมาก เพราะสิ่งที่เราเจอคือดูแลด้านวิชาการอย่างเดียวไม่พอ เขาต้องการทักษะชีวิตและแรงบันดาลใจ”

เด็กกลุ่มนี้ก้าวขาผิดพลาด การหลุดออกจากระบบทำให้พวกเขาหันหลังให้กับการศึกษา ไม่มีความหมายอะไรกับเขา การจะเอาคนที่หันหลังกลับไปแล้วให้หันหน้ามาศึกษาอีกครั้งจึงต้องทำให้พวกเขาเห็นความหมายของการศึกษา และให้เขารู้ว่าการยอมรับความผิดพลาดจะเป็นบทเรียนที่ทำให้เขาแก้ไขและฟื้นฟูได้ 

กระบวนการสร้างแรงบันดาลใจของที่นี่เป็นรูปธรรม เริ่มตั้งแต่ผู้บริหารศูนย์ฝึก ครู ครูที่ปรึกษา นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ พยาบาล พ่อบ้านแม่บ้าน ครูอาสาจากหน่วยงานนอก โดยนับแต่ก้าวแรกที่เด็กเข้ามา สถานพินิจต้องจำแนกว่าเด็กคนนี้มีความเสี่ยงระดับไหน เพื่อออกแบบการแก้ไขเป็นรายบุคคล

ท่านอธิบดีชี้ให้เห็นว่าการจะฟูมฟักให้เด็ก 1 คนกลับไปเป็นบุคลากรที่ดีในสังคมได้ มีองคาพยพถึง 6 หน่วยงานด้วยกัน ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน และสุดท้ายคือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

“เด็กอยู่กับเราไม่เคยเกิน 5 ปี อีก 50 กว่าปีเขาอยู่ข้างนอก การเรียนในนี้ไม่ทำให้เขาประสบความสำเร็จหรอก แต่การออกแบบการศึกษาต้องทำให้เขาไปต่อยอดได้อีกเมื่อพ้นจากเราไป

“อยู่ข้างนอก คุณตื่นมาต้องทำมาหากิน แต่อยู่ข้างในมีข้าวทานทุกมื้อ มีกีฬาให้เล่น มีการเรียนการสอน ถ้าเด็กเข้าใจว่านี่คือโอกาสเมื่อไหร่ ประตูของเขาจะเปิด นี่เป็นจังหวะที่ดีที่สุดแม้มันจะสั้นก็ตาม” ท่านอธิบดีย้ำ

“ที่กรมฯ ใช้คำว่า ยุทธการทุบกำแพง”

ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็น Community of Learning เป็นการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงโดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ และเอาชีวิตของพวกเขาเป็นตัวตั้ง จึงมีความหลากหลายพอที่จะเอื้อให้เด็กทุกคนค้นพบคุณค่าของตัวเองและมีความก้าวหน้าในเส้นทางการศึกษาที่ตัวเองเลือก

“แต่เดิม เราอาจมองว่าการศึกษามีแบบเดียว One Size Fit All ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนต้องทำให้เด็กเห็นทางเลือกได้ ไม่รู้สึกว่าจำกัดชีวิตเขา เราต้องพลิกโฉมว่าการศึกษาคือความหลากหลายที่ไม่ได้ตอบโจทย์เด็กแค่กลุ่มเดียว ขึ้นอยู่กับบริบทและแรงขับของเด็กว่ามีมากน้อยแค่ไหน” ผอ.ธันว์ธิดาเล่า

“เราใช้อาชีพเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ เพราะเชื่อว่า ถ้าเด็กสนใจอาชีพแล้ว จะเป็นแรงจูงใจให้เขาอยากไปเรียนรู้มากยิ่งขึ้น มีเด็กคนหนึ่งเรียนทำน้ำขาย พอเขาเห็นความหมายของการค้าขาย เขาก็กลับไปเรียนบริหารธุรกิจ เขาได้เรียนรู้ว่าการศึกษาหมายถึงอาชีพนี้”

ท่านอธิบดีเสริม “เมื่อการศึกษาเราได้แล้ว การฝึกอาชีพคือการแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้เขา ถ้าไม่มีทักษะอาชีพที่เลี้ยงตัวได้ โอกาสที่เขาจะกลับเข้ามาก็มีสูง ที่กรมฯ ใช้คำว่า ‘ยุทธการทุบกำแพง’

“เราต้องทุบกำแพง โลกมันใหญ่แล้ว ไม่แคบแล้ว เราเอาเด็กออกไปโลกภายนอกไม่ได้ตอนนี้ แต่ไม่มีอะไรขวางเราไม่ให้เอาโลกเข้ามาข้างใน ประเทศไทยมีองค์กรภาคเอกชนมากมาย เด็กได้ฝึกอาชีพกับร้านอาหารระดับมิชลิน หากผ่านแต่ละโครงการไปได้ก็ทำงานต่อได้ทันที

“กลไกการดูแลเด็กไม่ได้มีเรื่องการลงโทษ อะไรยืดหยุ่นได้ต้องยืด หย่อนได้ก็ต้องหย่อน เราไม่ใช่กฎหมายอาญาที่ต้องตีความตามเจตนารมณ์หรือตัวอักษร เราต้องตีความให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ตัวเด็ก

“ถ้าแก้ปัญหาการศึกษาได้ แก้ไขเรื่องเศรษฐกิจได้ เราเชื่อว่าเด็กกลุ่มนี้จะไปแก้ปัญหาเรื่องครอบครัวในอนาคตต่อไปได้ เพราะเขาต้องมีครอบครัวของตัวเอง และคงไม่สร้างรูปแบบวงจรนี้ให้กลับมาอีก เราเชื่ออย่างนั้น”

ไอศกรีมโอกาสรวมมิตร

ภายในงาน โอกาส Open House เราจะเห็นว่าเด็กและเยาวชนในสถานพินิจฯ ทำอะไรได้มากกว่าที่ใครคิด

ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะกระบวนการทั้งหมดเกิดจากความเชื่อมั่นว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพ หากได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมและเหมาะสม คำถามต่อมาคือการศึกษาที่เหมาะสมกับแต่ละคนเป็นอย่างไร ถ้าพื้นฐานชีวิต ความต้องการ และความสนใจของเด็กทุกคนแตกต่างกัน

คำตอบของการศึกษาที่ตอบโจทย์ทุกคนได้ จึงเป็นการศึกษาที่สร้างโอกาสในการเลือกให้แก่ผู้เรียน ได้เลือกเส้นทางชีวิตของตัวเอง

เพียงเดินเข้ามาในงาน เราจะเห็นร้านไอศกรีมโอกาสรวมมิตรตั้งโต๊ะรอต้อนรับเรา ด้านข้างเป็นโซนขนมแต่งหน้าให้เราเลือกเองตามใจชอบ ผิวเผินอาจดูเหมือนร้านไอศกรีมทั่วไป แท้จริงกลับเป็นตัวแทนของการศึกษาที่ไม่ต่างอะไรกับถ้วยไอศกรีมหากผู้เรียนมีสิทธิ์เลือก

โดยรสชาติไอศกรีมแทนตัวตนของเรา ท็อปปิ้งโรยด้านบนคือวิชาและความสนใจ เช่น ขนมแคร็กเกอร์แทนด้าน E-sports มาร์ชเมลโลว์แทนด้านอาหาร คอร์นเฟล็กซ์แทนกีฬา หรือช็อกโกแลตชิปแทนวิชาชีวิตและทักษะที่จำเป็นอื่น ๆ ราดซอสด้วยรูปแบบการเรียนที่ต้องการ เช่น เรียนที่โรงเรียน เรียนผ่านมือถือ การทดลองงานสายอาชีพ หรือการเรียนควบคู่กับการหารายได้ ตบท้ายด้วยการเติมการสนับสนุนด้วยเวเฟอร์รสเงินทุนและทรัพยากร สภาพจิตใจ หรือคำปรึกษาแนะแนวชีวิต เป็นต้น

เมื่อได้ตักชิมคำแรกย่อมถูกใจ เพราะเป็นไอศกรีมที่เลือกเองทั้งหมด โดยทุกถ้วยล้วนแตกต่างกัน

นอกจากจะได้กินไอศกรีมรสอร่อย ถ้วยในมือยังสะท้อนให้เห็นภาพการศึกษาเลือกเองที่เป็นไปได้ เปลี่ยนเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบให้กลับเข้ามาเป็นเจ้าของชีวิตตัวเองได้สำเร็จ เพียงหยิบยื่นโอกาสคืนให้พวกเขา

“การศึกษาที่ดีและต่อเนื่องจะทำให้เขาอยู่รอด”

ในทางกฎหมาย การดูแลเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมมุ่งเน้นในการพัฒนาและแก้ไขเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง สังคมพยายามมองว่าเด็กกลุ่มนี้ควรถูกลงโทษเพราะเขากระทำผิด 

ลืมไปหรือไม่ว่าวุฒิภาวะหรือชีวิตของเขาเรียนรู้อะไรมา กลไกในการจัดการตัวเอง ความคิด อารมณ์ต่าง ๆ อาจไม่ได้ถูกหล่อหลอมมาในเส้นทางที่เหมาะสม หากจะใช้คำว่าเด็กกลุ่มนี้คือผลผลิตของปัญหาสังคมก็ย่อมได้ 

“เราต้องมองว่าน้อง ๆ กลุ่มนี้ไม่ใช่คนที่อยากกระทำผิด แต่มีปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ทำให้เขาตัดสินใจก้าวผิดพลาด” 

ผอ.ธันว์ธิดาเล่าว่าสิ่งที่ทั้ง 2 หน่วยงานให้ความสำคัญ คือการให้โอกาสผ่านศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน แต่สิ่งที่มากไปกว่านั้น คือการป้องกันไม่ให้เด็กที่มีความเสี่ยงก้าวผิดพลาด หรือพอก้าวพลาดก็มีทางเลือกให้เขาเจอเส้นทางที่สอดคล้องกับชีวิตเขา และกลับเข้าไปอยู่ในสังคมได้เป็นอย่างดี 

“หลังจากน้อง ๆ กลุ่มนี้ออกไปแล้ว ชุมชนของเขาเองต้องเข้าใจและต้องไม่มีการตีตรา กรมพินิจฯ จะติดตามดูแลในระยะเวลา 1 ปี ถ้าเขาออกมาด้วยการศึกษาที่ดีและต่อเนื่องจะทำให้เขาอยู่รอด มีอาชีพติดไม้ติดมือ 

“เราได้มีโอกาสมอบประกาศนียบัตรให้กับเด็กที่จบการศึกษาในศูนย์ฝึกฯ พ่อแม่ดีใจเหมือนลูกรับปริญญาเลย จากเคยสูญเสียความไว้วางใจในตัวลูกไปแล้ว แต่พอทำให้เขาสำเร็จการศึกษา มันเป็นการซ่อมความภาคภูมิใจ และความภาคภูมิใจนี้จะออกไปนอกรั้วศูนย์ฝึกฯ ด้วย พ่อแม่จะไม่โทษหรือซ้ำเติมเขา สิ่งที่เราทำมีความหมายในเชิงรูปธรรมแบบนี้แหละ”

ส่วนความคาดหวังในระดับต่อไปของ ผอ.ธันว์ธิดา คืออยากให้มีระบบที่ดำเนินการต่อเนื่อง ตั้งแต่ป้องกัน ดูแล ฟื้นฟูเยียวยา ให้ไม่มีช่องว่างให้กระทำผิดซ้ำ โดยเฉพาะการป้องกันที่ควรทำมากที่สุด แต่ก็ไม่ใช่โจทย์ที่ง่าย เพราะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน จะไปหวังให้ครอบครัวดูแลคงยาก หากครอบครัวยังมีปัญหาด้านเศรษฐกิจ หาเช้ากินค่ำ หรือเด็กบางคนไม่มีพ่อแม่ด้วยซ้ำ

พื้นที่สร้างสรรค์อาจช่วยได้ไม่มากก็น้อย เช่น สวนสาธารณะที่ใช้ได้จริงในหมู่บ้าน หรือการที่โรงเรียนขยายเวลาเปิดใช้สนามฟุตบอลได้จนถึงมืดค่ำ ทำให้พวกเขาไม่มีมุมมืดมากพอจะเดินทางผิด

ในส่วนของกรมพินิจฯ นับเป็นเรื่องน่ายินดี หลังทำโครงการ โอกาสโมเดล ร่วมกันกับ กสศ. และภาคีเครือข่าย เป็นเวลา 3 ปี พบว่าสถิติการกระทำผิดซ้ำลดลงชัดเจนอย่างมีนัยสำคัญ จากเดิมมีถึงร้อยละ 22.23 ก็ลดลงเหลือร้อยละ 19.66 ใน พ.ศ. 2564 และลดเหลือร้อยละ 15.78 ใน พ.ศ. 2565 

“ผมจะเริ่มตั้งเป้าให้ลดน้อยลงเรื่อย ๆ แล้ว เพราะเราเห็นความสำเร็จจากสิ่งที่เราทำ” ท่านอธิบดีเน้นย้ำอย่างคนไม่หมดหวัง

Writer

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

นักอยากเขียน บ้านอยู่ชานเมือง ไม่ชอบชื่อเล่นที่แม่ตั้งให้ มีคติประจำใจว่าอย่าเชื่ออะไรจนกว่าหมอบีจะทัก รักการดูหนังและเล่นกับแมว

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ