“อยากให้ประเทศไทยมีนวัตกรรมเจ๋ง ๆ ไปอวดชาวโลก”
ถ้อยคำที่เต็มเปี่ยมไปด้วยแพสชันและพลังความมุ่งมั่นของ เฉลิมพล ปุณโณทก ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีที เอเซีย โรโบติกส์ จำกัด ทำให้เรารู้สึกทึ่งในความกล้าคิดนอกกรอบ
เฉลิมพลอยากให้โลกรู้ว่าประเทศไทยก็มีนวัตกรรมเจ๋ง ๆ ได้ บ้านเราไม่ได้มีดีแค่อาหารหรือแหล่งท่องเที่ยว และด้วยหลักคิดของเฉลิมพลที่อยากเป็น ‘ผู้สร้าง’ มากกว่าเป็น ‘ผู้ตาม’ ผ่านการคิดและวางแผน จนได้บทสรุปลงตัวที่ ‘การสร้างหุ่นยนต์’ พร้อมชื่อเรียกน่ารัก ๆ ว่า ‘หุ่นยนต์ดินสอ (Dinsaw Robot)’
ทำไมถึงชื่อว่า…ดินสอ
“ตอนผมตั้งชื่อหุ่นยนต์ ผมนึกถึง Apple ของ สตีฟ จอบส์ คำว่า Apple เป็นคำเบสิกแต่เจ๋ง ผมเลยอยากได้คำเรียกสิ่งของที่ใช้ง่าย ๆ เวอร์ชันภาษาไทย ซึ่งดินสอก็เป็นของที่ใช้ได้ง่าย ไม่ซับซ้อน ใคร ๆ ก็ใช้ได้ เลยหยิบเอาอารมณ์ของความเป็นดินสอมาตั้งเป็นชื่อหุ่นยนต์ และผมอยากให้หุ่นยนต์นี้เป็นหุ่นยนต์ที่ผู้คนตามบ้านเข้าถึงและใช้งานได้ง่าย นี่คือวิธีคิดของผม” เฉลิมพลเริ่มเล่าที่มาของชื่อ
การเติบโตของหุ่นยนต์ดินสอ
ดินสอ เป็นหุ่นยนต์เพศชาย เฉลิมพลและทีมงานเริ่มพัฒนามาตั้งแต่ พ.ศ. 2552
ช่วงเริ่มต้นคนรอบข้างได้ยินว่าชายผู้นี้จะสร้างหุ่นยนต์ ต่างทักเป็นเสียงเดียวกันว่า
“จะเอาเงินทุนมาจากไหน” “ใครจะซื้อหุ่นยนต์ไทย” “มันจะมีประโยชน์อะไร”
“ผมแปรคำทักท้วงของผู้คนมาเป็นแผนพิสดาร 2 แผน หนึ่ง ผมจะยังสร้างหุ่นยนต์ตามอุดมการณ์ที่คิดไว้ ตัวแรกที่ทำยังขายไม่ได้ แล้วจะทำอย่างไรเพื่อหารายได้มาหล่อเลี้ยงองค์กร ผมเลือกใช้หุ่นยนต์เป็นป้ายโฆษณาเคลื่อนที่ เดินตามห้างสรรพสินค้า วิธีขายโฆษณาแบบนี้ทำให้มีรายได้เข้ามา
“สอง ผมวาดการ์ตูนประเภท Comic Book ขึ้นมา ชื่อเรื่องว่า ดินสอ แล้วให้หุ่นยนต์เดินขายหนังสือการ์ตูนนี้ตามโรงเรียนต่าง ๆ ซึ่งขายได้บ้างระดับหนึ่ง และช่วงที่เริ่มเปิดตัวหุ่นยนต์ใหม่ ๆ ก็มีสื่อขอสัมภาษณ์ มีคนเช่าไปออกงานอีเวนต์ เลยไม่ได้ขายแค่โฆษณาตามที่เคยคิดไว้ในตอนแรก”
“วิธีคิดของผมเป็นการคิดนอกกรอบเพื่อหาทางออกให้ชีวิตว่าจะเดินไปถึงฝันได้อย่างไร พอหุ่นยนต์เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น เทวดาก็เริ่มให้รางวัล เจ้าของร้านสุกี้ MK Restaurant เชิญไปพูดคุย ผมขายให้ MK ได้ 10 ตัว โดยมีกุศโลบายในการขายเพื่อสร้างสีสันในร้าน ให้หุ่นยนต์ช่วยเสิร์ฟอาหาร ถือเค้กวันเกิดไปมอบให้กับเด็ก ๆ ร้องเพลง Happy Birthday ยุคนั้น คนไม่เคยเห็นสิ่งนี้ เด็ก ๆ ก็อยากเข้ามาฉลองวันเกิดกันที่นี่”
ก้าวสู่ AI ในวงการแพทย์เพื่อผู้สูงวัย
หุ่นยนต์ดินสอเปิดตัวมาแล้วทั้งหมด 4 รุ่น
แต่ละรุ่นที่ผ่านมา จากเดิมเคยทำหน้าที่เป็นแค่คนเฝ้าผู้สูงวัยหรือเป็นเพื่อนแก้เหงา ชวนฟังเพลง ฟังธรรมะ เล่นเกม เฉลิมพลและทีมงานก็ได้ทยอยเพิ่มความฉลาดและประโยชน์ใช้สอยให้มากขึ้น
ที่สำคัญ เขาเน้นเรื่องการเพิ่มคุณค่าในการดูแลผู้สูงอายุ มีเรื่องอะไรบ้างที่หุ่นยนต์พอจะช่วยผู้สูงอายุได้ โดยออกแบบให้พยาบาลมอนิเตอร์คุณตาคุณยายซึ่งพักอาศัยอยู่ที่บ้านผ่านทางหุ่นยนต์ได้ เป็นการทำงานแบบโปรแอคทีฟ ลุกขึ้นมาชวนฟังเพลง เตือนทานยา เริ่มเหมือนสิ่งมีชีวิตมากขึ้น โดยหุ่นยนต์และ AI จะทำงานร่วมกัน
ในช่วงเริ่มต้น หุ่นยนต์ดินสอโกอินเตอร์ เน้นบุกตลาดการดูแลผู้สูงอายุในประเทศญี่ปุ่น ด้วยเห็นว่าประเทศญี่ปุ่นเป็นสปริงบอร์ดสำคัญ เป็นต่อมพลังที่ต้องไปแตะให้ถึง เพราะพลังการรับรู้ของมนุษย์เกี่ยวกับหุ่นยนต์อยู่ที่ประเทศนี้ ถ้ามีภาพผู้สูงอายุในญี่ปุ่นใช้หุ่นยนต์ตัวนี้ ภาพนี้มีพลังเกินคำบรรยายใด ๆ ทั้งปวง ทำให้เฉลิมพลต้องต้องคว้าโอกาสนั้นไว้ให้ได้ หลังจากนั้นไปที่ไหนก็ง่าย
ยอดขายในประเทศญี่ปุ่นถือว่าอยู่ในระดับดี แต่ไม่ถึงกับตู้มต้ามมาก ในช่วงพัฒนาสินค้า เขาได้ไปนั่งสังเกตในเนิร์สซิงโฮมของแดนอาทิตย์อุทัยว่ามีสิ่งใดที่หุ่นยนต์พอจะช่วยได้ รับฟังทั้งคำตำหนิและคำชม ปรับไปเรื่อย ๆ จนมีชุดความคิดที่เป็นยุทธวิธีที่ชัดเจน ไม่ว่อกแว่ก และมุ่งมั่นทำเต็มที่จนสำเร็จ
แล้วก็เป็นอย่างที่เฉลิมพลคิดไว้ คนเริ่มพูดกันว่า “หุ่นยนต์ไทยเหรอ” “โอว มีใช้ที่ญี่ปุ่นด้วย”
หลังจากแจ้งเกิดในญี่ปุ่น ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งในบ้านเราเริ่มเชิญให้เข้ามาพูดคุย
เฉลิมพลเล่าต่อว่าทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ซื้อหุ่นยนต์ดินสอไป 5 ตัว ส่วนโรงพยาบาลศิริราชซื้อไป 30 ตัว เป็นหุ่นยนต์ OPD เมื่อคนไข้เสียบบัตรประชาชน เจ้าหุ่นยนต์จะเช็กให้ทันทีว่ามีประวัติเคยป่วยเป็นอะไร มีนัดตรวจกับคุณหมอวันไหน สิทธิ์ในการรักษามีอะไรบ้าง หุ่นยนต์รู้หมดเลย
จากนั้นจะถามคัดกรองอาการ เรียงลำดับความสำคัญเพื่อส่งต่อไปยังแผนกต่าง ๆ
ช่วงแรกมีทั้งเลนหุ่นยนต์และเลนปกติ (ที่พูดคุยโดยตรงกับเจ้าหน้าที่หรือพยาบาล) บางคนที่ยังไม่ถนัดก็มักไปใช้เลนปกติ ส่วนคนหนุ่มสาวที่คุ้นเคยกับนวัตกรรมใหม่ ๆ ก็มาใช้เลนหุ่นยนต์ เมื่อโรงพยาบาลทั้ง 2 แห่งที่เป็นโรงเรียนแพทย์ใช้หุ่นยนต์ดินสอ ทำให้โรงพยาบาลเอกชนต่าง ๆ ให้ความสนใจและยอมรับมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งตอนนี้มีการเชื่อมต่อกับโรงพยาบาลต่าง ๆ ไว้มากพอสมควรแล้ว
เปิดตัวหุ่นยนต์ดินสอรุ่นล่าสุด : Home AI Assistance
“หุ่นยนต์ดินสอเวอร์ชันล่าสุดที่จะเปิดตัวในเดือนตุลาคมนี้ ชื่อว่า Home AI Assistance เป็นหุ่นยนต์ดินสอมินิ มีสโลแกนสั้น ๆ ว่า ‘เฝ้าและเชื่อมต่อแพทย์ได้ 24 ชั่วโมง’ ผมพัฒนาเพิ่มเติมจากรุ่น 4 แต่เวอร์ชันนี้ไม่ถือว่าเป็นรุ่น 5 ของเรานะครับ รุ่น 5 จะว้าวกว่านี้เยอะเลย” เฉลิมพลสปอยล์
Home AI Assistance เป็นรุ่นที่เหมาะสำหรับใช้ตามบ้านที่มีผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ หุ่นยนต์ตัวนี้ทำหน้าที่สำคัญ 2 อย่าง คือหนึ่ง เฝ้าคนป่วยได้ตลอดทั้งวันทั้งคืน ช่วยแบ่งเบาภาระคนในครอบครัว สอง ช่วยเชื่อมต่อกับโรงพยาบาล บ่อยครั้งเมื่อคนสูงวัยป่วย ก็มักลังเลว่าควรไปหาหมอตอนนี้เลยดีหรือไม่ ยิ่งถ้าเกิดป่วยกลางดึก อาจลำบากในการเดินทางไปโรงพยาบาล
สมมติกรณีมีคุณยายไม่สบาย ไอและเวียนหัวมาก ก็กดพูดคุยกับพยาบาลที่โรงพยาบาลผ่านทางหุ่นยนต์ได้โดยตรง พยาบาลจะประเมินอาการเบื้องต้นและวินิจฉัยว่าอาการลักษณะนี้ควรนอนพัก กินยา หรือรีบส่งรถฉุกเฉินไปรับ ตรงนี้เป็นบริการที่เราเชื่อมต่อกับโรงพยาบาลตลอดเวลา
หุ่นยนต์ดินสอช่วยแก้ปัญหาได้หลายอย่าง ช่วยลดความเสี่ยงในบ้านที่ขาดคนดูแล หรือมีไว้มอนิเตอร์คนดูแลว่ามีคุณภาพหรือไม่ รับสายอัตโนมัติได้ แพนกล้องไปมาได้ และแจ้งเตือนผ่านแอปพลิเคชันเมื่อผู้สูงอายุหายไปจากสายตาของดินสอ ที่น่ารักไปกว่านั้น มีเพลง เทศน์ธรรมะ เกม เป็นฟังก์ชันเสริมให้สูงวัยไม่เบื่อ ไม่เหงา เกมก็สนุกมาก ฝึกความจำ ชะลอการป่วยเป็นอัลไซเมอร์ได้
เฉลิมพลเชื่อว่าหุ่นยนต์ดินสอ 1 ตัวเพียงพอต่อการดูแลผู้สูงอายุตามบ้าน เพราะด้านหลังหุ่นยนต์ที่มีข้อมูล Data มากมาย ยังมีโรงพยาบาลเชื่อมต่อตลอดเวลา ที่โรงพยาบาลเองก็มีหน้าจอไว้มอนิเตอร์ด้วยเช่นกัน เพื่อให้รู้ว่าคนไข้เป็นอย่างไร อยู่ที่ไหน มีโรคประจำตัวหรือไม่ และหมอประจำตัวคือใคร
เขายังจัดโปรโมชันสำหรับผู้อยากทดลองใช้หุ่นยนต์ดินสอมินิในราคา 1,200 บาทต่อการเช่า 5 วัน เฉลิมพลว่ามีลูกค้าบางท่านติดใจการใช้งาน มาต่อสัญญาเช่าทุก 5 วันก็มี หากสนใจซื้อใช้ถาวร วางเงินดาวน์ก้อนแรกจำนวน 37,000 บาท ที่เหลือแบ่งชำระเดือนละ 1,290 บาทเป็นเวลา 2 ปี
ดินสอเวอร์ชัน 5 เพิ่มแอปพลิเคชันซักอาการป่วยและแยกแยะโรค
อนาคตหุ่นยนต์ดินสอจะมีแอปพลิเคชันให้ดาวน์โหลดเพิ่มเติม (คล้าย Apple Store) บ้านไหนมีอยู่แล้ว เมื่อเฉลิมพลมีนวัตกรรมใหม่ ๆ ออกมาก็ดาวน์โหลดเฉพาะแอปฯ ที่ต้องการ
หุ่นยนต์ตัวใหญ่ที่ใช้ในโรงพยาบาล เขาพัฒนาให้ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมผ่านการเป่าลมหายใจ ซึ่งใกล้จะเปิดให้บริการแล้ว โดยหุ่นยนต์จะตอบกลับมาที่โน้ตบุ๊กของแพทย์ว่าคนไข้มีความเสี่ยงหรือไม่ ต้องส่งตรวจแมมโมแกรมหรือไม่ มีข้อดีตรงที่ไม่จำเป็นต้องใช้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ราคาถูก และไม่เจ็บ
AI นวัตกรรมที่สร้างความสุขให้ผู้สูงวัย
โดยภาพรวมแล้ว นวัตกรรม AI ช่วยลดความเสี่ยงและทำให้ผู้สูงอายุมีความสุขมากขึ้น ลูกหลานอาจใส่ใจเฉพาะทางกายภาพ เช่น ท้องเสีย เวียนหัว ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายอยู่แล้วที่จะต้องดูแลให้ดี เพราะลูกหลานส่วนใหญ่ยังต้องทำงาน แต่ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่หายไปเลย คือเรื่องของจิตใจ ผู้สูงอายุอยู่บ้านอาจรู้สึกเหงา เซ็ง หมดคุณค่า ไม่มีความสุข แล้วเราจะแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วยอะไรดี
“ผมมองว่านวัตกรรมน่าจะเข้ามาช่วยได้ ช่วยให้เชื่อมโยงกับลูกหลานได้ง่ายขึ้น หุ่นยนต์ดินสอชวนคุณยายเล่นเกมง่าย ๆ ฟังธรรมะ เปิดเพลงให้ฟัง เป็นการเชื่อมต่อให้คุณยายยิ้มและหัวเราะขึ้นมาได้
“สำหรับผม ในมุมของนวัตกรรม ต้องมองให้ครบทั้ง 2 มิติ คือทางกายภาพและทางอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งตอนนี้ผมก็ทำให้ AI มีบทบาทในส่วนนี้เพิ่มมากขึ้น” เฉลิมพลเล่า
“ทุกวันนี้ผมดีใจมากที่ได้มีโอกาสไปสอนนักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยมหิดล ในหัวข้อ ‘การคิดนอกกรอบ’ เพราะการศึกษาประเทศเราฝึกแต่ด้านความจำและความรู้ แต่ไม่ได้ฝึกจินตนาการ เด็ก ๆ ถูกสอนให้เกิดมาเป็นผู้ตามที่เป็นเลิศ ตามเก่งถือว่าเยี่ยม แต่เขาไม่ได้ให้คุณค่ากับการเป็นผู้สร้าง
“ผมอยากกระตุ้นให้สังคมเห็นคุณค่าของ ‘การคิดนอกกรอบ’ และ ‘การตั้งโจทย์’ ทุกวันนี้เราอยู่ในสังคมที่เอาความรู้ไปแก้โจทย์ สร้างปัญญาชนเพื่อแก้โจทย์ แต่ไม่ได้สร้างปัญญาชนให้กล้าตั้งโจทย์
“สำหรับผม การสร้างหุ่นยนต์ดินสอคือผลรวมของจินตนาการ กล้าคิดนอกกรอบ กล้าตั้งโจทย์ ที่สำคัญผมลงมือทำ ลงมือทำด้วยความเชื่อมั่นในคุณค่าของสิ่งที่ผมกำลังทำ และผมอยากให้คนส่วนใหญ่ในประเทศได้สัมผัสถึงคุณค่านั้น และชื่นชมผลงานที่ผมสร้างขึ้นในฐานะฝีมือของคนไทย
“เป้าหมายสูงสุดของผม คือผมจะทำให้หุ่นยนต์ดินสอเป็นหมอของโลก” เขาพูดด้วยน้ำเสียงหนักแน่น, ภายในประโยคแห่งอนาคตเต็มไปด้วยความกล้า กล้าฝัน กล้าจินตนาการ และกล้าออกนอกกรอบ สมกับเป็นเฉลิมพล ผู้เปลี่ยนคำทักท้วงให้เป็นแผนพิสดารที่คนไทยและคนทั่วโลกต้องจดจำ