จริงหรือไม่ คนไทยส่วนใหญ่ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง 

เก็บคำตอบของคุณเอาไว้ก่อน ไม่ต้องรีบร้อน ใกล้จบบทความนี้เราค่อยกลับมาพูดคุยกันอีกทีนะครับ

ช่วงบ่ายวันที่แสนร้อนระอุ หลบอุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียสเข้าไปที่ออฟฟิศย่านบรรทัดทอง เรากำลังพูดคุยกับ 2 นักออกแบบคนไทยที่เชื่อในความเป็นไปได้ไม่รู้จบ 

ทั้งคู่จับมือร่วมกันในนามบริษัท ‘DesireSynthesis’ สตูดิโอออกแบบสถาปัตยกรรมด้วยการคำนวณทางคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยี 3D Printing และหุ่นยนต์ Robotic ที่ช่วยอำนวยความสะดวกรวดเร็ว ขยายขอบเขตงานดีไซน์ ใช้เทคโนโลยีเป็นทีมซัพพอร์ตการสร้างอาคารผนังโค้งตามที่จินตนาการจะไปถึง คำนวณชิ้นส่วนข้อต่อผนัง Facade เรียงตัวพลิ้วไหวที่ได้อย่างแม่นยำ นำเสนองานออกแบบแปลกตาที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้

แต่เมื่อต้องการสร้างเส้นทางที่แตกต่างให้งานสถาปัตยกรรมยุคใหม่ ก็ต้องเตรียมใจรับมือกับพงหญ้าขวากหนามระหว่างทางเอาไว้ด้วย เพราะทริปนี้ไม่มีแค่กลีบดอกไม้ ส่วนจุดหมายก็ยังอยู่อีกไกล 

ขอชวนทุกคนเปิดอ่านบันทึกเดินทางตลอด 4 ปีของ DesireSynthesis ที่เต็มไปด้วยงานออกแบบที่อยากท้าทายระบบความคิดที่คุณเคยรู้มา 

ได้โอกาสใหม่ เมื่อใกล้ยอมแพ้

พัด-พชร เรือนทองดี

น็อต-เศณวี ชาตะเมธีวงศ์

2 นักเรียนไทยที่ไปเจอกันที่ลอนดอน ในวิทยาลัยสถาปัตยกรรมเฉพาะทาง Architectural Association School of Architecture หรือชื่อเล่นว่า เอเอ (AA) ซึ่งเป็นสถาบันทางสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่สุดในสหราชอาณาจักร ได้รับการยอมรับและมีอัตราการแข่งขันสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก 

พัดเริ่มพูดถึงจุดเริ่มต้น 

“เราทั้งคู่บังเอิญจบปริญญาโทที่เดียวกันที่เอเอ (AA) เป็นจังหวะสวนกัน คนหนึ่งเพิ่งจบ อีกคนเพิ่งเข้าเรียนต่อ เลยมีโอกาสเจอกันก่อน คร่าว ๆ คุยกันว่าน็อตเลือกเรียนอะไร เราเลือกเอก Digital Fabrication (การประมวลผลทางคณิตศาสตร์ร่วมในการออกแบบ การผลิตชิ้นงานที่ใช้รูปทรงสามมิติ 3D Modeling) ส่วนน็อตเรียนเอก Machine Learning (การทำให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ และพัฒนาการทำงานให้ดีขึ้นได้ด้วยตัวเองจากข้อมูลที่เราป้อนให้) เลยคิดว่าน่าจะลิงก์กันได้” 

คนหนึ่งคิดประมวลผล ส่งต่อให้อีกคนหนึ่งสร้างงาน 

“จริง ๆ ตอนนั้นก็มีบริษัทที่นู่นที่จะเข้าทํางานได้ แต่สัญญากับแฟนไว้แล้วว่า ถ้าไม่ได้ทำงานในออฟฟิศที่ชอบจริง ๆ ก็จะตัดใจ เลยกลับมาแต่งงานที่ไทย พอกลับมาก็ได้ทํางานในบริษัท Consult เกี่ยวกับ Machine Learning ให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์” 

น็อตเล่าเรื่องในฝั่งตัวเอง ก่อนที่จะหยุดคิดไปครู่หนึ่ง

“ก่อนที่จะชวนพี่พัด ตอนนั้นผมจะกลับไปเมืองนอกแล้วแหละ เพราะว่าไม่มีโอกาสในการสร้างงานแบบนี้ในไทยเลย จริง ๆ คิดยอมแพ้กับงานในประเทศนี้ไปแล้ว คงไม่มีงานแนวนี้ให้เราทําหรอก บริษัทใหญ่ก็ยังไม่พร้อมที่จะเปิดใจกับเรื่องนี้ Robotic, 3D Printing, Machine Learning มันใหม่มาก ๆ ในบริบทบ้านเราเมื่อ 5 – 6 ปีก่อน 

“จนได้เพื่อนสนิทคนหนึ่ง เขาพาไปเจอคุณน้าที่สนใจจะทําบ้านหลังหนึ่งพอดี เลยเป็นเหตุให้ผมชวนพี่พัดมาตั้งออฟฟิศด้วยกัน 

“และบ้านที่หนองจอกก็เป็นบ้านหลังแรกของเรา” 

เทคฯ ทำ ไทย 

เมืองไทยมักมองสถาปนิกเป็นเหมือนช่าง ไม่ได้มองเหมือนหมอ เหมือนทนาย

“แต่ลูกค้าบ้านหนองจอกเนี่ย เขาบอกผมว่าเขามองผมเป็นเหมือนหมอ เขาบอกอาการเขาอย่างเดียว เหมือนบอกฟังก์ชันที่เขาอยากได้ ส่วนวิธีการรักษาหรือวิธีการดูแลต่าง ๆ เป็นยังไงก็ได้แล้วแต่ผม จะเลือกใช้เครื่องมืออะไรก็ได้ ให้ตอบโจทย์ตามที่เขาบอก

“อันนี้คือจุดเริ่มต้นที่ผมรู้สึกว่ามุมมองของลูกค้าตรงกับเรา คุยกันรู้เรื่อง เราแฮปปี้ที่จะทำงานกับลูกค้าแบบนี้”

4 งานของ DesireSynthesis

01 บ้านหนองจอก 

บ้านพักตากอากาศหนองจอกเป็นบ้านชั้นเดียว พื้นที่ประมาณ 1,000 ตารางเมตร ลูกค้าให้โจทย์แค่เขาอยากได้บ้านตากอากาศที่อยู่ในกรุงเทพฯ อยู่กลางที่ดิน 130 ไร่ ให้เราขุดบ่อน้ำขนาดใหญ่แล้ววางบ้านไปกลางบ่อน้ำ

“ตอนไปขายงานก็บอกว่าจะทําเป็นบ้านไทยแบบสไตล์ใหม่ เป็นสถาปัตยกรรมไทยพื้นถิ่นที่มีส่วนโค้งเว้าแปลกตาจากเดิม เป็นบ้านอยู่สบายที่เหมาะกับอากาศร้อน ๆ ฝนตกเยอะ ๆ ในไทย 

“ถ้าผสมงานไทย Vernacular ที่ใส่เทคโนโลยีใหม่เข้าไปรวมกัน แล้วมันหน้าตาเป็นยังไงนะ นี่คือต้นตอไอเดียสำคัญที่เราอยากจะให้มันอยู่ในทุก ๆ งานของเรา ”

บ้านหนองจอกเป็นงานแรกที่ได้ทดลองใช้เทคโนโลยีทำงานออกแบบสถาปัตยกรรมไทยพื้นถิ่น ทั้งรูปทรงอาคาร เทคนิคการก่อสร้าง ชิ้นส่วนวัสดุต่าง ๆ ทั้งหมด ตามแนวความคิด Computational Design ที่สถาปนิกจะใส่โจทย์ที่ต้องการลงไป ปล่อยให้เทคโนโลยีจัดการให้ตามคำสั่ง แล้วนำผลลัพธ์ที่ได้มาสร้างสรรค์ต่อให้เป็นคำตอบที่ดีที่สุด

“เราไม่อยากถมดินกันใหม่ ตั้งใจจะขุดบ่อแล้วเอาดินถมกลับมาแล้วปลูกบ้านได้ ก็ลองใช้ Computational Tool เขียนคำสั่งว่า ถ้าขุดดินลงในรูปทรงโค้งเว้าตามนี้ ลึกเท่านี้ จะได้ดินกลับมาเท่าไหร่”

ถ้าต่างประเทศเขาทําอะไรที่มาจากรากของเขาได้ เราก็อยากทําอะไรที่มาจากรากของเราบ้าง ด้วยการสร้างสรรค์สิ่งแปลกใหม่

“ลองสังเกตที่ตะเข้สัน ตะเข้ราง ที่ปกติจะเป็นมุมแหลมคม เราลองเปลี่ยนทําให้มันดูเป็น Double Curve เปลี่ยนรูปทรงตะเข้สัน ตะเข้ราง ที่คนคุ้นตากันให้โค้งเว้าอ่อนช้อยมากขึ้น อย่างการมุงกระเบื้องที่โค้ง ต้องคำนวณรูปทรงกระเบื้องทุกแผ่นให้ไม่เหมือนกัน กำหนดรอยต่อและตำแหน่งวางให้แม่น แล้วต้องหาช่างไทยที่ทำได้ด้วย 

“มีการทดลองเกิดขึ้นหลาย ๆ อย่างเลย การเรียงอิฐบล็อกออกมาเป็นลายผ้าไทย ออกแบบฝ้าโค้ง เหมือนผลงานต้นแบบที่เราได้เรียนรู้ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ อย่างละนิดอย่างละหน่อย ที่งานออกมาแบบนี้ได้ก็เพราะการตั้งโจทย์ที่ชัดเจน แต่ไม่กำหนดวิธีการแก้ปัญหา”

เติ้ง เสี่ยวผิง บอกว่า “แมวสีอะไรให้จับหนูได้เป็นพอ”

Computational Design เป็นแนวคิดที่จะช่วย เติ้ง เสี่ยวผิง ค้นหาต่อว่าแล้วแมวสีไหนจับหนูได้ดีที่สุดกันล่ะ 

ถ้าโจทย์คือแมวที่จับหนูได้ ขั้นตอนแรกนักออกแบบจะใช้ Machine Learning Simulation จำลองหาความเป็นไปได้ทั้งหมดของแมวทุกสี ว่าแมวแต่ละสีมีประสิทธิภาพจับหนูได้ยังไงบ้าง จุดเด่นของแมวที่จับหนูเก่งคืออะไร 

ขั้นต่อมาคือการหยิบเอาจุดเด่นทั้งหลายมาพัฒนาต่อยอด สร้างสรรค์แมวตัวใหม่ที่ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน ด้วยเทคโนโลยี Robotic, 3D Printing เพื่อให้แมวตัวใหม่นี้มีลายสีผสมผสานแบบใหม่ มีทักษะร่างกาย ความสามารถใหม่ซึ่งจับหนูได้ดีที่สุด 

“พอฟังเรื่องรูปแบบวิธีคิดแบบนี้ เลยคิดต่อว่าลูกค้าเองก็ต้องเข้าใจก่อน ถ้ามีบรีฟมา อยากได้บ้านพักตากอากาศไม่จำกัดสไตล์ มีหลังคาที่กันแดดฝนบ้านเราได้ อยู่สบาย รูปทรงสไตล์ไหนก็ได้ อันนี้คือลูกค้าเรา แต่ถ้าตอนแรกคุณมาด้วย Pinterest แบบบ้านโรมัน คือจบเลย เราจะส่งงานนี้ให้กับคนที่ถนัดในสไตล์นั้นแทน 

“เราส่งงานต่อให้เพื่อนคนหนึ่ง จนวันนี้เพื่อนตั้งออฟฟิศเองได้แล้ว” เขาหัวเราะ “เรามองว่าสถาปนิกสําหรับเราไม่ควรเป็นคนที่ทําได้ทุกอย่าง แต่ควรเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเรื่องไหนเรื่องนั้นไปเลย”

02 S Pavilion

“เกิดจากบ้านเดิมมีพื้นที่สวนอยู่ไม่เยอะ และบ้านลูกหลานที่อยู่ใกล้เรือนเคียงกันก็ไม่ค่อยได้มีพื้นที่มาพบปะเห็นหน้ากัน ทางเจ้าของเลยอยากได้สวนเพิ่มขึ้น พร้อมกับเป็นเหมือนส่วนต่อขยายห้องนั่งเล่นในสวน ให้ทุกคนในบ้านได้ใช้เวลาร่วมกันได้มากขึ้น” 

มาสู่การสร้างห้องนั่งเล่นในสวนของบ้าน Urban Sanctuary ที่หลบหนีจากความวุ่นวายของเมือง ทำให้ด้านหน้าของอาคารเป็นผนังอิฐทึบ เผื่อปิดกั้นความวุ่นวายจากภายนอก เน้นให้มีคาแรกเตอร์ต่างจากบ้านที่อยู่อาศัยเดิมที่แยกกันอยู่เป็นหลัง ๆ ทำให้ไม่ว่าคนจะยืนตรงไหนของ S Pavillion ก็ยังมองเห็นคนอื่นในอาคารได้ 

อาคารที่มีการเรียงตัวเหมือนบ้านทรงไทยพื้นถิ่น มีชานพื้นที่เชื่อมตัวห้องแต่ละห้อง แต่ปรับให้ทั้งหมดรวมกันเพื่อการใช้งานที่ยืดหยุ่น หลังคาทรงสูงเพื่อระบายอากาศร้อน ในภาษาออกแบบของ Computational Design

03 KiN

อาคาร Innovation Center ที่แสดงออกถึงภาพลักษณ์องค์กรยุคใหม่ เน้นปฏิสัมพันธ์ระหว่างพนักงานที่ปกติไม่ค่อยได้เจอกัน ให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างแผนกมากขึ้น จึงมีพื้นที่คาเฟ่ที่อยู่ตรงกลางโครงการเหมือนเป็นหัวใจที่ดึงลูกค้าเข้ามาเห็นกระบวนการทำงานของพนักงาน รวมถึงเป็นที่ให้พนักงานทุกระดับมีโอกาสได้เจอกัน มองเห็นสวนตลอดเวลา 

“โรงงานปกติที่อื่น ๆ จะเป็นสเปซแบบปิด ไม่ค่อยมีหน้าต่างเท่าไหร่ มองออกมาไม่เห็นวิวอะไร แต่ที่ KiN มี Gradient Facade ระหว่างช่องเปิด ทำให้พนักงานภายในเห็นสวนบริเวณตรงกลางของโครงการได้ เปิดบานเกล็ดนี้ได้เมื่ออากาศร้อน นอกจากนี้ยังทำให้ผู้มาติดต่อหรือคนที่มาคาเฟ่เห็น Live Factory ได้ตลอดเวลา”

ส่วนตัว CEO เองเป็นคนชอบใช้ชีวิตเอาต์ดอร์ อาคารในอุดมคติของทางเจ้าของ คืออยากได้อาคารที่เวลาฝนตกแล้วยังออกไปนั่งข้างนอกได้โดยไม่เปียกฝน ช่วงเย็นของทุก ๆ วันก็อยากออกมานั่งที่ระเบียงได้โดยไม่ร้อน

“การออกแบบเริ่มที่การทำภาพจำลองเพื่อหาแนวการวางอาคารที่รับแดดน้อยที่สุด และจากฟังก์ชันของอาคารที่ต้องการกระจกรอบด้าน ทำให้รับแดดเยอะ ทีมเลยออกแบบ Facade ทุกด้านให้มีลักษณะเป็น Fin ระแนงที่มีความยาวต่างกัน ส่วนที่ต้องการบังแดดมากจะมีความยาวมากกว่าส่วนที่โดนแดดบังน้อย เพื่อให้อาคารโดนแดดน้อยที่สุด ”

04 BKK Design Week : 3D Print Catenary Arch 

“เป็นโจทย์จาก CPAC อยากได้ งาน 3D Printing แสดงถึงศักยภาพของคอนกรีตที่รับแรงอัดได้ดี ด้วยวิธีการพรินต์ที่แตกต่างออกจากการพรินต์ปกติ เราเลยได้รูปทรงออกมาเป็น Catenary Arch เสนอกับ CPAC ให้ใช้ทดลองใช้เครื่องพรินต์ตัวใหม่ และตั้งใจทดลองดึงประสิทธิภาพของหุ่นออกมาให้ได้มากที่สุด” 

3D Printing Concrete มีข้อจำกัดในการพรินต์ขึ้นอยู่กับองศาการบิดของหุ่น ลักษณะของวัสดุ การออกแบบต้องคำนึงถึงจุดนี้มากกว่าแค่ปั้นโมเดลและส่งให้หน้างานพรินต์ ต้องมีการสื่อสารกันมากกว่างานทั่ว ๆ ไป

“จากเดิมที่ชิ้นงานนี้เป็นเหมือน Prototype ของทาง CPAC ที่จะพัฒนาต่อไปทำสะพานในปลายปีนี้อยู่แล้ว การทำงานชิ้นนี้ช่วยทำให้ทีมเราและ CPAC มีความเข้าใจในข้อจำกัดต่าง ๆ ของทางหุ่นยนต์ ซอฟต์แวร์หรือวัสดุคอนกรีตมากขึ้น และเกิดความเชื่อมั่นมากขึ้นกับเทคโนโลยีนี้ 

“เร็ว ๆ นี้ทางทีมจะมีงาน 3D Print สะพานกับทาง CPAC อีกครั้งครับ” 

#อยากท้าทายระบบ 

DesireSynthesis ไม่ได้รับสร้างบ้านสร้างอาคารเพียงอย่างเดียว พวกเขายังส่งต่อความรู้ใหม่ ๆ เข้าไปเติมเต็มช่องว่างในกระบวนการสร้างสถาปัตยกรรมด้วย 

“ตอนนั้นผมได้ไปพูดในงาน Expo งานหนึ่ง บนเวทีเดียวกับบริษัททำวัสดุก่อสร้างระดับประเทศ พอเขาเห็นงานเรา เห็นสิ่งที่เราทํา เขาเลยชวนมาทำโปรเจกต์ Robot Fabrication พัฒนาแรงงานหุ่นยนต์ Printing วัสดุปูนด้วยกัน 

“ทีมเขามีคนทำสูตรปูนใหม่ ๆ อยู่แล้ว แต่ยังขาดคนที่ทําเรื่อง Machine Robot ควบคุมหุ่นยนต์ เราก็เข้าไปทําเทรนนิ่งให้เขาด้วย”

พอได้เข้าไปทำงานองค์กรใหญ่ ๆ พูดคุยกับสถาบันการศึกษาหลาย ๆ แห่ง ได้เจอทั้งผู้ใหญ่ที่เริ่มเปิดใจ และคนที่ยังไม่เปิดรับ ไม่ทำความเข้าใจในเทคโนโลยี กลัวไปก่อนเองในสิ่งที่ยังไม่รู้ ก็ยิ่งเห็นรูโหว่ว่าประเทศไทยยังขาดคนที่ความสามารถทำงานวิศกรรมก่อสร้างที่ผสมผสานความรู้เรื่องเทคโนโลยี ขาดวิศวกรที่คุมหุ่นยนต์ให้ทำงานตามที่สั่ง และเขียนสคริปต์คำสั่งได้ ทำให้การทำงานในหลาย ๆ ครั้งต้องติดต่อคนต่างชาติเข้ามาร่วมงานด้วย 

ที่น่าเสียดายกว่านั้น เมื่อบริษัทใหญ่ขาดคนใช้งานเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพสูงสุดแล้ว หุ่นยนต์ Robotic สุดล้ำหน้าที่ต่างชาติยังต้องประหลาดใจกลับถูกใช้เป็นเพียงแค่ของวางประดับในเวิร์กช็อปโรงงานบริษัท
เป็นไก่ขี้อวดทุ่มเงินเพื่อพลอยน้ำงาม 

เหมือนซื้อรถสปอร์ต McLaren มาให้คุณยายขับไปจ่ายตลาด 

คอมฯ ลองให้ผิด คนเลือกให้ถูก 

เพราะยังไม่รู้ เลยไม่เข้าใจ
เมื่อได้เรียนรู้เพิ่มเติม จึงเข้าใจว่าใครกันแน่ที่เป็นเพียงเครื่องมือ 

“พอได้ทำงานออกแบบมากขึ้นเรื่อย ๆ เราก็เอา 3D Printing มาใช้ทดลองสร้างสิ่งต่าง ๆ 

ไม่ว่าจะเป็นเครื่องพรินต์ 3D หุ่นยนต์ คอมพิวเตอร์ และ AI 

“จริง ๆ อยากให้มองเป็นแค่เครื่องมือชิ้นหนึ่งดีกว่าครับ อย่างการใช้ 3D Printing ช่วยเรื่องความสะดวกในการพูดคุยกัน เอาแบบโมเดลที่พรินต์มาให้ผู้รับเหมา ให้ลูกค้าดูแล้วเข้าใจกันง่ายขึ้น คำนวณว่าแบบไหนทำได้หรือไม่ได้ ไม่ต้องมาทำผิดพลาดเอง สั่งการทำได้ไวกว่ามานั่งต่อโมเดลเอง ประหยัดแรง ประหยัดเวลา

“ความแม่นยำที่มากขึ้นก็ช่วยผลักขีดจำกัดเดิม ๆ จากงานก่อสร้างที่ใช้กันทั่วไป เป็นมิตรกับทรัพยากรสิ่งแวดล้อมด้วย หมายความว่าการพรินต์โมเดลออกมาเป๊ะ ๆ ช่วยลดวัสดุเหลือใช้ให้น้อยลง”

1 คำถาม 1 ล้านคำตอบ 

ข้อจำกัดทำให้คนมักเลือกท่าถนัด แต่คอมฯ ไม่ได้คิดแบบนั้น 

“การใช้ Machine Learning ทำให้เราก้าวข้ามอคติของมนุษย์ไป มากกว่าเรื่องสวยหรือไม่สวย ชอบตามรสนิยมหรือไม่ชอบ เพราะเราเป็นการตั้งโจทย์ให้กับคนที่ไม่มีอคติเลย 

“เทียบกับตัวเราก็ได้” เขาว่า “การออกแบบอะไรก็ตามมักใช้วิธีการปัญหาตามสัญชาตญาณเลย ถนัดท่าไหนก็ใช้ท่านั้นบ่อย ๆ ทั้งที่อาจจะยังไม่ได้สำรวจความเป็นไปได้อื่น ๆ ยังไม่ได้เสาะหาร้านลับ ๆ ที่น่าจะมีเมนูอร่อยซ่อนอยู่ จะเป็นเพราะความเหนื่อยล้า เวลาน้อย คนไม่พอ ผิดกับ Machine Learning ที่เป็นการตั้งโจทย์ให้คนที่ไม่มีอคติเลย โปรแกรมจะช่วยเราทดลองหาวิธีการใหม่ ๆ จนเราไปเจอช้างเผือกในป่าให้ก็ได้”

“เหมือนเราได้มองในมุมที่ไม่เคยมอง บางทีไปเที่ยวในเมืองที่ไปมาเป็นสิบรอบแล้ว แต่ถ้าไปในแมปของเพื่อนแทนบ้าง สรุปว่าร้านอาหารที่ได้ไม่เหมือนกันแล้ว”

AI ไม่ได้จ้องจะเล่นคุณ 

ทุกวันต่อจากนี้จะมีเทคโนโลยีพัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ 

เต็กจบใหม่กับเทคฯ เกิดใหม่ จะมีใครถูกแย่งงานมั้ย (เต็ก คือชื่อเล่นสั้น ๆ ของสถาปนิก มาจากคำว่า อาคิเต็ก)

“รู้สึกว่าไม่นะ มันจะแย่งงานคนที่ไม่พร้อมใช้มันมากกว่า ถ้าเราใช้มันไม่เป็น เราก็จะเป็นทาส ไม่มีวันที่จะควบคุมมันได้ ถึงแม้คุณจะมีเครื่องมือดีที่สุด แต่คุณไม่รู้วิธีใช้ เหมือนเอาปืนเลเซอร์ต่างดาวไปให้คนป่าใช้ เราต้องปรับตัวและเรียนรู้ที่จะใช้มันด้วย คนที่ตกงานคือคนที่หยุดเรียนรู้มากกว่า

“แต่ก็อย่าให้ AI หาผลลัพธ์แล้วเอามาก๊อบฯ วางเลยนะ โห แบบนั้นเราก็เป็นทาส AI เหมือนกัน ให้หยิบเอาไอเดียหลาย ๆ อย่างที่ได้มาออกแบบด้วยตัวเราเอง เทคโนโลยีเป็นแค่ตัวที่ขยายช่องที่เราเคยมองอยู่เล็ก ๆ ให้กว้างขึ้น สุดท้ายคนที่จบงานคือมนุษย์อยู่ดี” 

มีคอมเมนต์จากชาวเน็ตมากมายที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับราคาค่าแบบของสถาปนิก กระดาษแผ่นเดียวทำไมราคาแพงจัง อะไรคือคุณค่าในงานที่ทำอยู่ และอะไรคือมูลค่าในงานที่ลูกค้ามองหาอยู่ – เราถาม

“สถาปนิกเราขายกระดาษแบบอย่างเดียว รูปรูปหนึ่ง .jpg มูลค่าเป็นล้านหรือ 20 – 30 ล้าน 

“เราอยากจะบอกว่า โห มันขายยากยิ่งกว่ารถอีกนะ สมมติซื้อรถ McLaren เล่นสักคัน อย่างน้อยมาเดินดู ทดลองขับก่อนได้ แต่ของเราไม่มีอะไรให้เดินดูเลยนะ

“อยากบอกน้องในออฟฟิศหรือว่าน้อง ๆ นักเรียนสถาปัตยกรรมศาสตร์เหมือนกันว่า ลูกค้าไม่ได้ซื้อจากหน้าตาของตึกอย่างเดียว เขาซื้อจากการที่เราทดลองมาให้ทุกทางที่จะเป็นไปได้ เลือกนำเสนอแบบที่ตอบโจทย์ที่สุด 

“ถ้างานออกแบบตอบคำถามที่ตั้งไว้แต่แรก อยู่ในงบที่มีสร้างจริงได้ก็จบแล้ว” 

อนาคต ออกแบบจากปัจจุบัน

“เรามองว่าทุกโปรเจกต์เป็นจุดเริ่มต้นของก้าวต่อไปตลอด เรามีนักอเมริกันฟุตบอลคนหนึ่งที่เราชอบมาก ชื่อ ทอม เบรดี้ มีคนเคยถามเขาว่า What is your favorite rings? เขาตอบกลับว่า The next one เราก็เป็นแบบนั้นเหมือนกัน

“ในทุก ๆ งานของเรา เราพยายามจะทําอะไรก็ตามที่เป็นขั้นบันไดให้งานต่อไปอยู่แล้ว ในทุกงานเราว่าสิ่งที่ได้เรียนรู้มา คือเมื่อคนร่วมงานเราดีขึ้น เราก็ดีขึ้นตาม ได้เรียนรู้อะไรจากพวกเขามากขึ้น ไปประชุมทุกครั้ง เราเหมือนเด็กนักเรียนทุกครั้งเลย 

“ผมว่านั่นเป็นความสุขของการทํางานด้วย เราได้ทํากับคนที่เก่ง และได้รู้ในสิ่งที่ไม่รู้ไปเรื่อย ๆ ในทุก ๆ วัน”

ยิ่งเรียนรู้มากแค่ไหน ยิ่งรู้ว่ายังมีเรื่องที่ไม่รู้อีกมากมาย 

DNA สำคัญของ DesireSynthesis คือ ‘Growth Mindset’ ยืดหยุ่นกับปัญหา มองความล้มเหลวเป็นการเรียนรู้ เติบโตพัฒนาต่อไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อประสิทธิภาพที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ 

“มีอีกหลายเรื่องที่ไม่รู้ เหมือนยิ่งรู้ก็ยิ่งไม่รู้ และเป็นสิ่งที่ทําให้เราจะไม่หยุดเดินด้วย เพราะถ้าใครยังทําแบบเดิมอยู่ โอกาสในอนาคตคุณจะน้อยลงด้วยนะครับ

“ในระดับภาพรวมของโลก เราเชื่อว่าสิ่งที่ทําอยู่จะกลายเป็นสิ่งสำคัญในอนาคตแน่ ๆ ในหลาย ๆ ประเทศก็มีบริษัทสถาปนิกที่ทำงานแบบนี้อยู่ ตอนนี้ทีมเราเองก็เริ่มมีลูกค้าฝรั่งแล้ว เราอยากขยายฐานการทำงานลูกค้าเมืองนอกมากขึ้นด้วย ชาวต่างชาติดูมีความเข้าใจในสิ่งที่ทีมเราออกแบบ มีวิธีการตั้งโจทย์ การบรีฟงานแตกต่างจากลูกค้าในบ้านเรา” 

นอกเหนือจากแนวคิดการออกแบบสถาปัตยกรรม เทคนิคการก่อสร้างใหม่ ๆ ในทุกงาน ควรจะสร้างคุณค่าที่มากกว่าแค่สิ่งปลูกสร้างไว้ด้วย

“งานที่เราออกแบบไม่ว่าจะให้ใครหรือแนวไหนก็ตาม เรามองว่าควรตอบให้ได้ 2 อย่าง

“หนึ่ง คือสิ่งที่ทําให้สังคมดีขึ้นยังไง จะเป็นเรื่องฟังก์ชันเรื่องอะไรก็ได้

“สอง สิ่งนี้ทําให้วิชาชีพของคุณก้าวไปข้างหน้ายังไงได้บ้าง ในเชิงวิธีการก่อสร้างหรือวิธีการออกแบบก็ได้ อันนี้ต่างกับที่ฝรั่งเขาทํามายังไง ดีกว่าที่ฝรั่งเขาทํามายังไง หรือดีกว่าที่ประเทศนี้ทํากันมายังไง

“เราควรมองงานให้ใหญ่กว่าตัวเอง ถ้าเรามองแค่ว่าสวย เราชอบแล้ว แต่มันทําอะไรให้สังคม ให้ประโยชน์อะไรกับโลกนี้บ้าง ชีวิตคนสั้นมาก เราอาจจะเป็นจุดหนึ่งในสังคมไทยที่ขึ้นมาแล้วหายไปก็ได้ วันหนึ่งอาจจะตกงาน ออฟฟิศปิดก็ได้ แต่อย่างน้อยพี่ก็ได้ทิ้งอะไรบางอย่างไว้เหมือนกัน”

ถ้าเทคโนโลยีไม่หยุดพัฒนาไปเรื่อย ๆ งานที่มันก็จะท้าทายขึ้น ทีมที่เก่งขึ้นเรื่อย ๆ เป็นโอกาสใหม่ให้เราทุกคนพร้อมที่จะวิ่งให้เร็วขึ้นได้เรื่อย ๆ 

จริงหรือไม่ คนไทยส่วนใหญ่ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง

คำตอบของคุณยังเหมือนเดิมอยู่มั้ยครับ 

แต่ไม่ว่าจะเลือกฝ่ายชอบหรือไม่ชอบ ก็ต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องควบคุมไม่ได้ โลกเราจะมีความท้าทายใหม่ ๆ เข้ามาในระบบระเบียบที่เคยมีมาเสมอ การไม่หยุดพัฒนาหาความทางออกใหม่ ไม่หยุดเรียนรู้ ทำให้เราไม่ถูกทิ้งเอาไว้ข้างหลัง 

นี่อาจไม่ใช้เส้นทางที่ราบเรียบ ไม่ง่ายดายไปถึงจุดที่หวังไว้ แต่คนเราหยุดพัฒนาได้จริงเหรอ

บทความนี้ มีเทคฯ AI ช่วยถอดเสียงสัมภาษณ์เป็นตัวอักษร 

ก่อนที่ผู้เขียนจะนำมาเรียบเรียงเนื้อหาใหม่ด้วยตัวเองทั้งหมด

Writer

ประภวิษณ์ สิงขรอาจ

ประภวิษณ์ สิงขรอาจ

ใจดี สปอร์ต กทม. ชอบสีน้ำเงินเข้ม ที่ดูสว่าง