01
พอร์ตโฟลิโอที่ผมจะถือไปหาพระเจ้า
“เดินดิน คือหนึ่งในผลงานที่ผมหวังความโปรดปรานจากพระเจ้า ผมเป็นมุสลิม ผมเชื่อว่าเป้าหมายสุดท้ายในชีวิตคือการกลับบ้านที่เป็นสวรรค์ของมนุษย์ทุกคน เมื่อผมตายไปแล้ววิญญาณได้กลับไปเฝ้าพระเจ้า ผมจะนำผลงาน ‘เดินดิน’ ให้พระองค์ตัดสินว่าผมได้สร้างความรู้ที่เป็นประโยชน์ เป็นทานบริจาคต่อเนื่อง หรือทำสิ่งที่เป็นประโยชน์กับชุมชนแล้วหรือยัง นี่คือพอร์ตโฟลิโอที่ผมตั้งใจจะทำทิ้งไว้ก่อนกลับสู่ดิน” เอ็ม-เอ็มโซเฟียน เบญจเมธา ตอบคำถามสุดท้ายของการสัมภาษณ์ไว้แบบนั้น
เขาเดินเข้าครัวไปแล้ว ทิ้งผมไว้กับคำพูดที่ยังคงค้างอยู่ในหัว
ผมคุยกับคนทำงานคราฟต์มาก็มาก ฟังคนทำงานชุมชนมาก็เยอะ นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้ยินการพูดถึงงานตัวเองแบบนี้
เอ็มเป็นชาวปัตตานี เรียนสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่กรุงเทพฯ แล้วไปเรียนศิลปะกับการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่ฝรั่งเศส กลับมาทำงานออกแบบที่กรุงเทพฯ ช่วงสั้น ๆ แล้วตัดสินใจกลับบ้านมาเริ่มงานเซรามิกสไตล์มลายูเป็นครั้งแรกในเมืองไทยจนโด่งดัง


เขาทุ่มเทกับการพัฒนาสายพันธุ์แพะพื้นเมือง ตั้งใจเลี้ยงไก่ไข่ เต็มที่กับการเลี้ยงชันโรง จริงจังกับการยิงธนูพื้นเมือง และในรอบปีที่ผ่านมา เขามุ่งมั่นกับการทำ ‘ครามปัตตานี’ ฟื้นประวัติศาสตร์เมื่อ 300 ปีก่อนให้คืนมาอีกครั้ง
เขาเรียกงานทั้งหมดนี้ว่า ‘เดินดิน’ (Derndin)
มันคืองานที่จะพาชายผู้นี้ ‘กลับบ้าน’
02
กลับบ้าน
เรากลับบ้านมาเกือบทันดูพระอาทิตย์ตก ระยะทางจากตัวเมืองปัตตานีถึง เบญจเมธา เซรามิก บ้านและสตูดิโอของเอ็มที่อำเภอปะนาเระใช้เวลาราวครึ่งชั่วโมง ผมได้รับเกียรติให้นั่งหน้า เบาะหลังเป็นภรรยาของเขา ลูกสาว 1 คน และลูกชายอีก 3 คนที่เพิ่งเสร็จจากการเรียนพิเศษในเมือง

เอ็มขอเลี้ยงอาหารเย็นผมด้วยการตั้งเตาเนื้อกระทะที่บ้าน เขาสั่งเนื้อสไลซ์หลายแบบจากร้านเนื้อแท้ของบังโต สหายรุ่นพี่อันเป็นที่รัก มาเป็นประจำเดือนละครั้ง ผมโชคดีที่มาตรงวันพิเศษพอดี
“กินแบบนี้คุ้มกว่าไปกินตามร้านครับ” เอ็มคีบเนื้อคลี่ลงบนเตาโดยมีลูก ๆ ช่วยอย่างคล่องแคล่ว ส่วนผมก็รินน้ำอัดลมใส่ถ้วยเซรามิกสุดสวยของเบญจเมธาครบคน
เมื่อช่วงเวลาแห่งความสุขผ่านไป เสียงฉี่ฉ่าจากเนื้อที่กระทบกระทะเงียบลง เสียงเปิดน้ำจากอ่างล้างจานก็ดังแทนที่ เอ็มส่งเสียงบอกภรรยาของเขาว่าปล่อยเตาไว้อย่างนั้น เดี๋ยวเขาจะล้างให้เอง
“ตอนเด็ก ๆ ที่ผมไปเรียนในเมืองปัตตานี ผมไม่ได้ตื่นเต้นกับอะไรเลย รอว่าเมื่อไหร่จะได้กลับบ้าน จะกลับมาเล่นกองทราย เล่นในป่าหลังบ้าน” เอ็มคุยกับผม
พอโตขึ้นต้องไปเรียนที่วิทยาลัยเทคนิคยะลา ไปเรียนปริญญาตรีที่กรุงเทพฯ และไปเรียนต่อต่างประเทศ เขาก็คิดถึงแต่ช่วงเวลาที่จะได้กลับบ้าน พอทำงานในเมืองหลวงได้ไม่นาน เขาก็มั่นใจว่าเขาอยากกลับบ้านจริง ๆ ในความหมายของการกลับมาใช้ชีวิต สร้างครอบครัว มีภรรยา มีลูก และตายที่นั่น
“ถ้าเราอยากได้ลูกดี ๆ ต้องออกแบบ เราต้องมีภรรยาที่ดีก่อน ต้องเริ่มจากหากลุ่มเพื่อนที่ดี ผมไม่คิดว่าจะไปเดินชนผู้หญิงแล้วเจอคนที่ใช่ เราอยากเจอภรรยาแบบไหน ก็ต้องเข้าไปอยู่ในกลุ่มเพื่อนแบบนั้น” เอ็มเล่าว่าเพื่อน ๆ ของเขาแนะนำให้เจอสาวปัตตานีผู้เรียบร้อย นิสัยดี และอยากสร้างครอบครัวดี ๆ เหมือนเขา ทั้งคู่มีเป้าหมายเดียวกัน จึงใช้เวลาคบกันผ่านผู้ใหญ่แค่ 1 เดือนก็ตัดสินใจแต่งงาน ให้เกียรติสตรีตามหลักการศาสนา แล้วกลับบ้านมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ปัตตานี

พ่อกับแม่ของเอ็มเป็นหมอสาธารณสุขและทำธุรกิจขายอิฐมอญ ส่วนตัวเขาคุ้นเคยกับ ติ้ว-วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ศิลปินเซรามิกชื่อดังแห่งราชบุรีที่จับงานเซรามิกมาตั้งแต่รุ่นก๋ง ในเมื่อ 3 จังหวัดภาคใต้ไม่มีงานเซรามิกมาก่อน เอ็มก็ขอเป็นผู้บุกเบิกเช่นเดียวกับก๋งของติ้ว
“คุณไม่มีทางทำงานเซรามิกให้ต่างจากคนอื่นได้หรอก มันมีมาเป็นพันปี ทุกอย่างมีคนทำหมดแล้ว ถ้าจะทำให้คนสนใจงานผม ผมจะไม่พูดเรื่องความสวย แต่จะเล่าว่ามันมาจากดินปัตตานี ซึ่งต่างจากที่อื่น งานผมจะเคลือบและทิ้งพื้นที่ให้เห็นเนื้อแท้ของดิน เพื่อเล่าว่านี่คือดินปัตตานีที่เราภูมิใจ”

เขาเริ่ม ‘ติดดิน’ นับแต่นั้น
“ศาสนาอิสลามปลูกฝังให้เราอ่อนน้อมถ่อมตนบนหน้าแผ่นดินแล้วจะประสบความสำเร็จ ผมเลยได้คำว่า ‘เดินดิน’ คือเดินติดดินนี่แหละ เป็นวิถีของเรา และพระเจ้าทรงรักคนถ่อมตน”
03
เกิดจากดิน อยู่กับดิน กลับสู่ดิน
เกิดจากดิน อยู่กับดิน กลับสู่ดิน คือข้อความในป้ายหน้าบ้านและบนเสื้อยืดที่เอ็มทำขาย
“มันคือวิถีของมุสลิม เราไม่ได้เกิดมาเพื่อใช้ชีวิตแล้วจากไปด้วยความว่างเปล่า หลังตายเรายังต้องเดินทางต่อไป ถ้าเราเชื่อเรื่องโลกหลังความตาย เราจะไม่กล้าทำชั่ว และจะพิถีพิถันในการทำความดี ท่านนบีมุฮัมมัดสอนว่า เมื่อมนุษย์คนหนึ่งตายไป ทุกผลกรรมของเขาจะถูกตัดขาด เขาจะทำความดีไม่ได้อีกแล้ว เว้น 3 ประการด้วยกันที่ทำทิ้งไว้และยังคงดำรงความดีต่อไป คือ
“หนึ่ง การบริจาคทานที่ดีต่อเนื่อง เช่น สร้างถนน สะพาน โรงพยาบาล ฯลฯ ที่ยังให้บริการผู้คนต่อไป สอง องค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ ถูกส่งต่อถ่ายทอดไปเรื่อย ๆ และสาม การมีลูกที่ดี ทำประโยชน์ และพวกเขาภาวนาให้พ่อแม่ที่จากไปแล้ว เวลาทำงานผมคิดตลอดว่างานของเราเป็นองค์ความรู้ใหม่ไหม จะเป็นทานบริจาคต่อเนื่องไหม สร้างรายได้ให้ชุมชนไหม แล้วลูกหลานเราจะต่อยอดทำประโยชน์ต่อได้ไหม ฉะนั้น เซรามิกก็เป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้นเอง”
เบญจเมธา คือธุรกิจหลักที่ดูแลครอบครัวใหญ่ของเขา
ส่วน เดินดิน คืองานที่เป็นความสนใจส่วนตัว ซึ่งเขารัก ถนัด และทำเพื่อสร้างประโยชน์ให้ชุมชน
04
นะคราฟต์
ศิลปินเซรามิกมลายูเล่าว่าเขากำลังคิดทำตลาดนัดงานคราฟต์ของศิลปิน 3 จังหวัดภาคใต้ ที่สนามบ้านเขา ตั้งชื่องานว่า ‘นะคราฟต์’ คำว่า ‘นะ’ ในภาษาท้องถิ่นมีความหมายว่า ‘ตลาดนัด’
เขามีแบรนด์เดินดินคราฟต์ ซึ่งไม่ได้มีจุดเริ่มต้นจากสินค้า แต่อยากชวนชาวบ้านทำงานฝีมือในอีกรูปแบบ ขายในอีกช่องทาง งานแรกที่ทดลองทำ คืออุปกรณ์แกะสลักไม้
“บางทีนักออกแบบยิ่งเรียนเยอะ ก็ยิ่งชอบใช้ของที่ออกแบบโดยนักออกแบบดัง ๆ ทำไมคุณถึงไม่เอาทักษะที่มีมาออกแบบเครื่องมือของคุณเองล่ะ ผมจึงทำเครื่องมือใช้สอยของตัวเอง เช่น ขวานเดินดินในวิถีตัวเอง และสอดแทรกปรัชญาคำสอนให้ลูก ๆ ปลายด้ามขวานขดวนเป็นก้นหอย แสดงถึงความอ่อนน้อมถ่อมตน ถ้าใจเราไม่อ่อนน้อม เราไม่ควรจับของมีคม”


เอ็มบอกว่าเขาจ้างช่างตีเหล็กและช่างแกะไม้ในพื้นที่ทำมา 3 ชุด ไม่ได้คิดเรื่องการขาย แค่อยากเริ่มจากสิ่งที่ตัวเองใช้ และหางานให้ช่างพื้นที่ วันดีคืนดีก็อยากหางานให้ช่างกลึงไม้ที่ทำยอดกรงนก เลยออกแบบงานเซรามิกที่มีที่จับเป็นไม้เหมือนยอดกรงนกมาเป็นองค์ประกอบ นอกจากสร้างรายได้ให้ช่างแล้ว ยังสร้างสไตล์เซรามิกผสมไม้ที่แตกต่างและไม่มีใครเลียนแบบได้

วิถีที่ชัดเจนของเขาเชื่อมโยงทุกงานไว้ด้วยกัน เมื่อเขาสนใจการยิงธนูพื้นเมือง ก็ชวนช่างหนังมาทำซองใส่ลูกธนู ชวนชาวบ้านที่ทำนาเก็บฟางมาทำเป้าธนูฟาง แล้วลงมือทำงานผ้าเพื่อเป็นชุดในการแข่งธนู และการยิงธนูก็ทำให้เกิดการทำผ้าครามปัตตานี

05
เข้าเป้า
หากใครติดตามอินสตาแกรม @emsophian และ TikTok @emsophianbenjamet คงได้เห็นความสามารถในการยิงธนูของเขาผ่านคลิปสารพัด ทั้งยิงฝาขวดน้ำ ยิงเป้าเคลื่อนที่ แม้กระทั่งยิงดับเทียน เขาตั้งใจกับการยิงธนูมาก ทั้งการซ้อม การเดินทางไปแข่งขันและร่ำเรียนธนูถึงเมืองจีน รวมถึงการถ่ายทอดให้เยาวชน พรุ่งนี้ก็จะมีนักศึกษาชมรมยิงธนูจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.) เดินทางมาเรียนกับเขา

เอ็มยิงธนูดอกแรกจากคันธนูแบบท้องถิ่นของ อาร์ม-ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย ผู้ร่วมก่อตั้ง ‘ทะเลจร’ รองเท้าแตะจากเศษขยะ สิ่งที่อยู่คู่การแข่งธนูประเภทนี้ คือการแต่งกายที่สะท้อนความเป็นพื้นถิ่นของตัวเอง ยิ่งเวลาไปแข่งต่างประเทศ นอกจากประชันฝีมือกันแล้ว ยังแข่งกันเรื่องชุดประจำถิ่นกันด้วย ตอนไปแข่งที่มาเลเซีย เขาดูไม่ต่างจากชาวมาเลเซียเพราะมีวัฒนธรรมการแต่งกายแบบมลายูร่วมกัน เมื่อไปแข่งที่ตุรกี เขาจึงแสดงความเป็นไทยด้วยการสวมเสื้อม่อฮ่อม จนโดนแซวว่าเป็นชาวนาไปแข่งธนู นั่นเป็นจุดเริ่มต้นในการทำผ้าของตัวเอง

“เราเริ่มทำผ้าเลอปัส (Lepas) เป็นผ้าโพกหัวอเนกประสงค์ที่คนไทยมลายู 3 จังหวัดใช้ในอดีต ตอนแรกทำเป็นผ้าบาติกย้อมสีเคมี จนมารู้จักกับ อาจารย์เจี๊ยบ (นราวดี โลหะจินดา) ที่ ม.อ. เขาทำวิจัยเรื่องครามปัตตานี แล้วพบว่าปัตตานีมีชื่อเสียงเรื่องครามมา 300 ปีแล้ว ขึ้นใกล้ทะเลและนาเกลือ เมื่อก่อนครามปัตตานีดังมาก ฮอลันดาต้องมาเอาครามปัตตานีไปปลูกที่อินโดนีเซีย เพราะเชื่อว่าเป็นครามที่ดี มีบันทึกว่าสินค้าหลัก ๆ ที่ส่งออกจากปัตตานีผ่านเรือสำเภามีข้าวสาร เกลือหวาน และคราม หรือ ‘นีลอ’ ในภาษาพื้นเมือง แต่ไม่เจอหลักฐานที่เป็นงานผ้ามากนัก คงเน้นส่งเนื้อคราม คนทำครามคนสุดท้ายอายุ 100 กว่าปีก็เสียชีวิตไปแล้ว” เอ็มถ่ายทอดเรื่องราวต่อจากอาจารย์เจี๊ยบ
เอ็มสนใจเรื่องครามมา 1 ปีเต็ม เริ่มปลูกและลงมือย้อมอย่างจริงจังมาได้ครึ่งปี
เขาชวนลูกสาววัย 3 ขวบไปเก็บเมล็ดต้นครามมาปลูกที่บ้าน พบว่าขึ้นง่าย น้ำท่วมก็ไม่ตาย แสดงว่าเป็นพันธุ์พื้นเมืองจริง ๆ ที่ปรึกษาหลักของเอ็มคือ อาจารย์ตุ๊กตา (วาสนา แผลติตะ) แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลฯ และยังมีพี่ ๆ จากอีสานคอยให้ความรู้และกำลังใจอย่าง เจษ (เจษฎา กัลยาบาล) แบรนด์ Jetsada Studio แม่จิ๋ว (ประไพพันธ์ แดงใจ) แบรนด์แม่ฑีตา แมน (ปราชญ์ นิยมค้า) แบรนด์ Mann Craft มะเหมี่ยว (ปิลันธน์ ไทยสรวง) แบรนด์ภูคราม และ ยิปซี (ยิปซี จันทร์เพ็งเพ็ญ) กลุ่มสกลเฮ็ด


“ผมไม่รู้เลยว่าครามบ้านผมต่างจากครามสกลยังไง ตอนเอาไปแสดงในงานคราฟต์ก็มีคนชมว่าสีสวยดี ผมไม่เคยคิดจะเอาไปเทียบกับที่อื่น ก็คงเหมือนเซรามิก ดินที่ดีที่สุดคือดินที่อยู่ที่บ้านของเรา และเราเข้าใจมัน ครามก็แบบนั้น”
เอ็มบอกว่าคนมลายูท้องถิ่นผูกพันกับผ้ามาก ๆ ใช้ผ้าเลอปัสเป็นผ้าอเนกประสงค์ ไม่ต่างจากผ้าฟุโรชิกิของญี่ปุ่น เขาเลยเปิดตัวผ้าเลอปัสด้วยภาพการใช้งานแบบฟุโรชิกิสไตล์มลายู ซึ่งมีเสียงตอบรับดีมาก
06
ทำลาย
เอ็มคลี่ผ้าบาติกที่พันคอเขาออกมาให้ดู ผ้าบาติกคือผ้าที่พิมพ์ด้วยเทียน แล้วเอาไปย้อมสี ตรงไหนโดนเทียนสีก็ไม่ติด เกิดเป็นเส้นและลวดลายต่าง ๆ

“ปกติใช้บล็อกโลหะ แต่บ้านเราหาคนทำยาก มันเป็นชิ้นงานที่คงกระพันเกินไป ไม่ต้องซ่อม ไม่ต้องทำใหม่ ทำยาก คนทำจึงแทบไม่มีแล้ว คราฟต์คือชีวิต มันต้องง่ายในวิถี แต่ประณีตได้ ผมจึงออกแบบบล็อกใหม่ให้ง่าย มีการพัง ส่งมาซ่อม และทำใหม่ได้เป็นเรื่องสามัญ ผมคิดค้นแม่พิมพ์ไม้ไผ่เป็นครั้งแรก เปรียบเหมือนโลหะธรรมชาติ มีความยืดหยุ่น ทนความร้อน และให้ลายที่มีเสน่ห์กว่า บ้านเรามีช่างทำว่าวเบอร์อามัสจากโครงไม้ไผ่ เชี่ยวชาญเรื่องไม้ไผ่อยู่แล้ว ช่างก็ได้งานใหม่ ๆ ด้วย เชื่อมโยงกับวิถีและวิธีมาก”

ศิลปินคนนี้ยื่นจดสิทธิบัตรแม่พิมพ์ไม้ไผ่เรียบร้อยจากคำแนะนำ เขาว่าใครจะทำก็ทำไปเถิด ไม่หวงไม่ห้าม เขาจดไว้เพื่อป้องกันไม่ให้มีคนมาชิงจดตัดหน้าแล้วมาห้ามพวกเราทำเท่านั้นเอง
เอ็มไม่ได้เริ่มออกแบบลายจากความสวย แต่เขาเลือกลายที่ผูกพันกับตัวเขาหรือชุมชน เช่น ลายฉลามวาฬ เพราะมีฉลามวาฬที่เกาะโลซินซึ่งอุดมสมบูรณ์มาก ลายปลากัดป่า ปลาตะพัดลุ่มแม่น้ำสายบุรีที่กำลังจะสูญหาย ลายนกชนหินที่ใกล้สูญพันธุ์ และลายกระซู่ในบ้านเกิดซึ่งสูญพันธุ์ไปแล้ว เพื่อตอกย้ำเล่าบทเรียนให้ลูกหลาน แล้วก็ยังมีลายบ้านมลายูโบราณ ลายเรือสำเภามีความหมายกับวิถีมลายูในอดีต ทวดของเขาก็มีเรือสำเภาที่โล้ไปขายทองเหลืองถึงตรังกานู มันจึงเป็นลายเพื่อการสื่อสารถึงรากเหง้าของตัวเอง


งานผ้าบาติกย้อมครามพิมพ์ลายด้วยแม่พิมพ์ไม้ไผ่เพิ่งเปิดตัวเป็นครั้งแรกในงาน Crafts Bangkok 2023 ที่ผ่านมา พร้อมกับสบู่ครามปัตตานีซึ่งมีคุณสมบัติแอนตี้แบคทีเรีย และสบู่เกลือหวานปัตตานี ปรากฏว่ามีเสียงตอบรับดีมาก เพราะไม่ค่อยมีใครทำผ้าบาติกย้อมครามพื้นเมืองจากปัตตานีแล้วพิมพ์ลายสไตล์กราฟิกแบบนี้มาก่อน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างงานสร้างรายได้ให้ชาวชุมชนในจังหวัดปัตตานี

07
ลายคราม
บทสนทนาของเรากำลังจะสิ้นสุด
อนาคตอันใกล้ เขาคงจะเดินไปล้างเตาเนื้อกระทะ
อนาคตอันใกล้ที่ไกลกว่านั้น เขาอยากเอาคันธนูมาย้อมคราม ต่อยอดเสื้อผ้าย้อมครามให้หลากหลายขึ้น
“ผมอยากเขียนลายครามบนเซรามิกด้วยคราม” เอ็มพูดถึงฝันที่อยากไปให้ถึง “จะด้วยวิธีลงรักหรือเคลือบก็อยากทดลอง เอ็มลูบมืออย่างคันไม้คันมือ มือของเขาเปื้อนสีจากครามแบบนี้มาตลอด 6 เดือน ติดแน่นจนเขาเลิกพยายามล้างแล้ว
ลูกชายของเอ็มเดินผ่านพวกเราไปหยิบน้ำในตู้เย็น

“ผมทำบ้านเดินดินให้ตอบโจทย์ก่อนตาย เหมือนที่ผมทำกุโบร์ (สุสาน) ไว้หน้าบ้าน ข้างแปลงปลูกคราม เราสอนลูก ๆ ตั้งแต่เด็กว่านี่คือความจริง เดี๋ยวอบี (พ่อ) จะอยู่ตรงนี้นะ พวกเราอยู่ตรงนี้กันนะ พอเราสอนกันตั้งแต่เด็ก เขาก็จะเข้าใจ บางคนไม่สอนเรื่องความตายให้ลูกเพราะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว ถ้าคุณสอนคณิตศาสตร์หรือกีฬาตั้งแต่เด็ก ๆ ได้ ทำไมจะสอนเรื่องความตายไม่ได้ เดี๋ยวลูกคุณก็ต้องเจอ เราต้องสร้างความมั่นคงและทักษะทางจิตใจให้เขา พ่อแม่เดินทางแล้ว ลูกก็ต้องทำหน้าที่ต่อ ผมก็พยายามทำงานที่จะส่งต่อเป็นเครื่องมือให้ลูกใช้ต่อไป” เอ็มหันไปยิ้มกับลูกชายที่เดินกลับมา

“เดินดิน คืออีกหนึ่งพอร์ตโฟลิโอที่ผมจะถือไปยื่นหาพระเจ้าของผม” เขาเปล่งเสียงด้วยความมั่นใจทุกคำ
เอ็มโซเฟียนล้างกระทะเสร็จแล้ว ส่วนผมยังคงนั่งอยู่ที่เดิม นึกทบทวนประมวลเรื่องที่เพิ่งได้ฟัง
มันติดแน่นเกินกว่าจะล้างออกจากหัวจริง ๆ