00 ประชาธิปไตยในการศึกษาเติบโตเพื่อให้รักและเคารพ
เมื่อเราคิดถึงประชาธิปไตย เราพูดถึงประชาธิปไตย เราอาจคิดถึงสองขั้วตรงข้ามกันทางความคิด
แต่สำหรับโรงเรียนที่ให้ประชาธิปไตยเป็นหัวใจในการเรียนรู้ เชื่อว่าประชาธิปไตยทำให้เติบโตขึ้นด้วยรักและเคารพ ด้วยการตัดสินใจด้วยตัวเอง โรงเรียน Democratic School of Hadera ในอิสราเอล เป็นโรงเรียนประชาธิปไตยที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก สิ่งที่ผู้ก่อตั้งโรงเรียนนี้ให้คำมั่นสัญญาในการสร้างโรงเรียนขึ้นมา คือ บรรยากาศแห่งการเรียนรู้ที่เปี่ยมไปด้วยความหวัง และความรักจากการรู้จักตัวเองดีขึ้น จากเคารพตัวเองและเคารพซึ่งกันและกัน


01 คนเราเรียนรู้ด้วยสิ่งที่รู้สึก
ยาคอบ เฮนซ์ (Yaacov Hecht) คือผู้นำในการจัดการศึกษาแนวทางประชาธิปไตยในการศึกษาในอิสราเอลและขยายไปหลายพันโรงเรียนทั่วโลก เราได้พบกับเขาครั้งแรกที่การประชุมการศึกษาทางเลือกที่ชื่อว่า IDEC (International Democratic Education Conference) นิวยอร์ก เมื่อตอนศึกษาวิชาครูโรงเรียนทางเลือกที่โรงเรียน Upattinas School

กลาง พ.ศ. 2562 เมื่อเราได้เริ่มทำข้อมูลรายการ บินสิ! สารคดีเดินทางเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาทางเลือก ทางสถานีไทยพีบีเอส เรานึกถึงยาคอบเป็นคนแรก เขาเป็นเพื่อนกับเราทางเฟซบุ๊ก เราเขียนข้อความไปหาเขาขอสัมภาษณ์ ยาขอบวิดีโอคอลกลับมาหาเราทันที และเหมือนเขาจะจำเราได้แม่นมาก
เราถามยาคอบไปว่าจำเราได้ตรงไหน เขาบอกว่าในการประชุม IDEC นั้นเขาไม่สบาย เราเป็นคนหนึ่งที่เห็นว่าเขาไม่สบาย แล้วเดินเอายาหม่องยาดมยาอม สารพัดยาสมุนไพรไปให้เขา นั่นทำให้เขาจำเราได้ไม่เคยลืม เราเองกลับจำเหตุการณ์นั้นไม่ได้ด้วยซ้ำ
บทเรียนแรกยาคอบบอกเราว่า “คนเราไม่ได้จำกันได้ในสิ่งที่เราสอนหรือเราพูด แต่จำสิ่งที่ทำให้เขารู้สึกว่าใส่ใจ”
“เช่นเดียวกับการจัดการศึกษา ครูที่สักแต่สอน แต่ไม่ได้ทำให้เด็กรู้สึกในสิ่งที่เด็กได้เรียนรู้และรู้สึกจริงๆ เขาจะไม่เคยจำ แล้วก็ไม่เปลี่ยนแปลง”
02 Democratic Education

ทำไมยาคอบถึงลุกขึ้นมาทำการศึกษาที่เขาเรียกว่า การศึกษาแบบประชาธิปไตย (Democratic Education) เรื่องเล่าของยาขอบมีอยู่ว่า ตอนเป็นเด็กเขาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้เก่ง จนกระทั่งอายุ 10 กว่าๆ ครูในโรงเรียนต่างบอกว่า เขาเป็นเด็กมีปัญหา จนเขารู้สึกว่าเป็นปัญหาใหญ่โตจริงๆ
แต่แล้วก็มีครูคนหนึ่งบอกเขาว่าเขาไม่ใช่เด็กมีปัญหา เขาเป็นเด็กที่เรียนรู้ต่างจากคนอื่น เขาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้เพราะยังไม่พร้อม เมื่อวันหนึ่งที่พร้อม เขาจะพัฒนาด้านเขียนอ่านเอง ยังมีด้านอื่นๆ ของเขาที่ระบบโรงเรียนทั่วไปไม่เอามาวัดผล เขาเป็นอัจฉริยะด้านการมีมนุษยสัมพันธ์ เชื่อมโยง และคิดแก้ปัญหารอบตัวได้อย่างเป็นผู้นำ
“โรงเรียนแบบนี้ไม่เหมาะกับเธอ” เมื่อครูคนหนึ่งพูดอย่างนั้น ยาคอบตัดสินใจลาออกจากโรงเรียน และบอกกับครอบครัวว่าเขาจะสร้างโรงเรียนที่เหมาะกับเด็กอย่างเขา และเมื่อเขาอายุ 20 ต้นๆ เขาเป็นผู้สร้างโรงเรียนประชาธิปไตย Democratic School ในเมือง Hadera เป็นแห่งแรกในอิสราเอล ใน ค.ศ. 1987 และตอนนี้มีโรงแรียนแบบนี้ในอิสราเอลนับพัน และขยายไปนานาชาติ ใน ค.ศ. 1993 เขาได้จัดการประชุมการศึกษาประชาธิปไตยนานาชาติขึ้นครั้งแรก (IDEC) และจัดต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ทุกปี และวนไปจัดในประเทศต่างๆ ทั่วโลก
“โรงเรียนที่เชื่อในความแตกต่างหลากหลายตัวเด็กแต่ละคน และเชื่อว่าความแตกต่างหลากหลายเหล่านั้นอยู่ร่วมกันได้ในสังคม”
03 โรงเรียนที่จัดการศึกษาแบบประชาธิปไตย


ยาคอบบอกว่า เขาไม่มีคำจำกัดความที่กว้างพอและแคบพอ แต่เขาพอจะบอกสิ่งที่เป็นสังเขปและคุณลักษณะของโรงเรียนประชาธิปไตยในแบบของเขาได้ว่า
หนึ่ง เป็นโรงเรียนที่เกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองปัญหาของชุมชนเฉพาะนั้นๆ “ฉันรู้ว่าฉันต้องการอะไรในชีวิต”
สอง เป็นโรงเรียนที่ออกแบบการเรียนการสอนโดยผู้เรียนและผู้สอน “ฉันรู้ว่าฉันจะเรียนรู้อย่างไรเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ฉันต้องการ”
สาม เป็นโรงเรียนที่รู้จักตัวเอง เป็นแบบฉบับของตัวเอง “ฉันรู้ว่าฉันเป็นใคร”
04 กระบวนการในโรงเรียน Democratic School
โรงเรียนที่จัดการศึกษาแบบประชาธิปไตยต้องกำจัด ‘เผด็จการทางความคิด’ และ ‘ปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิด’ ของเด็กๆ โรงเรียนมีหน้าที่รักษาเปลวไฟในความอยากรู้อยากเห็นของเด็กๆ ด้วยการให้พื้นที่พวกเขาสำรวจความอยากเรียนรู้ของพวกเขาให้เป็นไปอย่างเป็นธรรมชาติ
นักเรียนสามารถเลือกเรียนในสิ่งที่เขาสนใจ หรือเปิดห้องเรียนใหม่ที่เขาสนใจขึ้นมาได้ แต่เมื่อเขาเลือกที่จะเปิดห้องเรียนใหม่ขึ้นมา ต้องปฏิบัติตามกฎที่พวกเขาตั้งขึ้นมาในการเข้าชั้นเรียนนั้นๆ ด้วย
ครูแต่ละคนกำหนดชั้นเรียนของตนเพื่อเป็นตัวเลือกแรกให้เด็กๆ เลือกวิธีการเรียนการสอนที่ครูคิดว่าน่าสนใจ
แต่หากเด็กไม่รู้สึกว่าอยากมีส่วนร่วมเพียงพอ ก็สามารถมองหาวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะกับตัวเองได้ตลอดเวลา เช่น เรียนรู้ด้วยตัวเอง เรียนออนไลน์นอกชั้นเรียน
‘รัฐสภา’ เป็นหัวใจสำคัญของโรงเรียนในการตัดสินใจทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นในแต่ละวันในโรงเรียน ทุกคนสามารถนำหัวข้อมาอภิปราย เช่น เรื่องการเมนูอาหารกลางวันของโรงเรียน นักเรียน ครู ผู้ปกครอง มีคะแนนเสียงนับเป็นหนึ่งเท่ากัน
‘พี่เลี้ยง’ เปรียบเสมือนครูที่ปรึกษาในทุกเรื่อง นักเรียนมีสิทธิเลือกพี่เลี้ยงของเขาเอง และมีเวลาให้คำปรึกษาอย่างชัดเจนในทุกสัปดาห์
‘เพิ่มพลังให้ครู’ ครูจะรวมตัวกันเสริมพลังบวกให้กันในทุกสัปดาห์ และอภิปรายสิ่งที่ได้เรียนรู้ร่วมกัน แต่ละปีพวกเขาได้ออกไปชาร์จพลังร่วมกันในพื้นที่ธรรมชาติ
‘คัดเลือกครูของพวกเขา’ นักเรียน ผู้ปกครอง คณะกรรมการครู เลือกครูของพวกเขาเอง คุณลักษณะที่สำคัญในการเลือกครูของพวกเขา คือมองเด็กอย่างเคารพและเท่าเทียมและไร้ซึ่งระบบอุปถัมภ์
‘คุยกันได้ทุกความขัดแย้ง’ ทุกวันจะมีเวลาจัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในโรงเรียน การพูดคุยกันในที่สว่าง และเรียนรู้ที่จะสื่อสารอย่างเคารพกันโดยไม่ใช่ความรุนแรง (Non-violence Language)
05 I See YOU ฉันเห็นคุณ


รูปร่างสูงใหญ่ อ้วนกลม คล้ายกับโตโตโร่ของยาคอบทำให้เรารู้สึกอบอุ่น เวลาที่ได้พูดคุยกับเขาจากวิดีโอคอลเมืองไทย-ลำพูน กับอิสราเอล กลาง พ.ศ. 2562 ถึงกรุงโซลเกาหลีใต้ ปลาย พ.ศ. 2562
เราได้พบยาขอบกลางสวนสาธารณะนัมซาน ช่วงฤดูใบไม้เปลี่ยนสี ยาขอบเลี้ยงกาแฟอุ่นๆ ให้ทีมงานของเราในช่วงที่แดดกำลังจะหมดวัน สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากยาคอบไม่ใช่หลักการของโรงเรียนแบบประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ที่สำคัญกว่าหลักการศึกษาแบบนั้นคือคน
ครูต่างหาก พ่อแม่ต่างหาก ที่ต้องเห็นตัวตนเด็ก เชื่อในตัวเด็ก เพราะความรู้สึกว่าการที่ใครสักคนเชื่อในเรา เห็นบางสิ่งบางอย่างที่มีเฉพาะในตัวเรา พิเศษแบบเรา ไม่เหมือนใคร ทำให้เรากล้าก้าวเดินและบินได้สูงในวันข้างหน้า ความเชื่อนั้นเป็นเหมือนลมใต้ปีก ทำให้เราบินได้สูงแบบไม่ต้องกระพือปีก
เรารู้สึกว่านิยามการศึกษาแบบประชาธิปไตยของเขาช่างยิ่งใหญ่และแผ่ขยายไปทั่วโลก ยาคอบบอกว่าครูที่ยิ่งใหญ่ที่แท้จริงไม่มีความต้องการเปลี่ยนโลกนี้เลย เขาเป็นครูประเภทที่อยากจะแบ่งปันส่งต่อความรู้สึกข้างในที่เขามีออกไปสู่โลก
ถ้าครูรู้สึกว่ารักที่จะให้ รักที่จะเรียนรู้ และอยากให้นักเรียนของเขาเรียนรู้ แล้วก็ส่งต่อความรู้สึกนั้นออกไปมันจะทำให้คนรับรู้สึกเบา ไม่มีความคาดหวัง ไม่มีถูกผิด เต็มไปด้วยอิสระภาพและเสรีที่จะเติบโตแบบที่ตัวเองอยากจะเป็น
06 ช่องว่างระหว่างความฝันกับความจริง


เราเล่าเรื่องห้องเรียนศิลปะ ป.5 ให้ยาขอบฟัง ตอนที่เราวาดภาพใบไม้สีม่วงไปส่งครู แล้วครูบอกว่า “วาดอย่างนี้จะไม่ได้รางวัล ใบไม้สีม่วงไม่มีจริง” ฆ่าจินตนาการของเราไปเด็กอย่างเราไปนานเท่าไหร่ สิ่งที่เด็กคนนั้นรู้สึกคือความไม่มั่นใจที่จะคิดแปลกแตกต่างอย่างเป็นตัวเอง
ถ้าย้อนกลับไปวันนั้นแล้วครูบอกว่า “ต้องอย่างนี้สิ วาดอย่างที่เธอจินตนาการไปเลย”
เราถามยาคอบว่า “เด็กคนนั้นจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่แบบที่แตกต่างไปจากวันนี้อย่างไร”
ยาคอบบอกกับเราว่า “ช่องว่างระหว่างความฝันกับความจริง คือการลงมือทำในสิ่งที่เชื่อ”
“เราย้อนกลับไปตำหนิอดีตไม่ได้ สุดท้ายแล้วถ้าไม่มีใครเห็นเรา เราก็ต้องไม่สูญเสียตัวเอง”