จากสถิติ พ.ศ. 2565 มีผู้สูงอายุในไทยจำนวน 12 ล้านคน คิดเป็น 19% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ในจำนวนนี้มีผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 80 ปีราว ๆ 2 ล้านคน 

คาดการณ์จากมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทยบอกว่า ใน พ.ศ. 2573 จะมีผู้สูงอายุป่วยเป็นอัลไซเมอร์มากกว่า 1 ล้านคน โดยคนอายุ 80 ปีมีโอกาสเป็นสูงถึง 50% แบบที่เดินมา 3 คนจะเป็นสัก 1

เมื่อมีคนแก่เยอะมากขึ้น อัตราการป่วยย่อมเพิ่มขึ้นตาม

ตัวเลขนี้อาจไม่บอกอะไรกับคนหนุ่มสาวอย่างเรา แต่นั่นทำให้เราตั้งคำถามว่า มีแต่คนแก่จริงเหรอที่สมองเสื่อม

21 กันยายน เป็นวันอัลไซเมอร์โลก The Cloud ถือโอกาสดี ตั้งใจชวน พีช-พิชยนันท์ วัฒนวิทูกูร ผู้ประสานงานสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม มาชวนคิดถึงสังคมที่เราจะอยู่ร่วมกับผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมได้อย่างเป็นสุข แต่ความเป็นจริงกลับเปิดเผยขึ้นเรื่อย ๆ จนน่าตกใจ เมื่อพบว่าสมองเสื่อมเป็นภาวะที่ไม่เข้าใครออกใคร มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นกับคนอายุน้อยลงทุกปี แม้กระทั่งนักฟุตบอลที่กระโดดโหม่งทำประตูจนคว้าชัยก็มีสิทธิ์สมองเสื่อมด้วยเช่นกัน

คอลัมน์เมียงเมืองวันนี้ จึงไม่ได้มาวาดฝันถึงเมืองสำหรับผู้สูงอายุเพียงเท่านั้น เพราะนั่นเป็นเมืองเดียวกันกับที่คนหนุ่มสาวอย่างเราต้องอาศัยอยู่ 

สร้างชุมชนเป็นมิตรให้คนธรรมดาอยู่ร่วมกับผู้ป่วยสมองเสื่อมได้อย่างเป็นสุข และเมืองในฝันที่ไทยอยากมี
สร้างชุมชนเป็นมิตรให้คนธรรมดาอยู่ร่วมกับผู้ป่วยสมองเสื่อมได้อย่างเป็นสุข และเมืองในฝันที่ไทยอยากมี

ก่อนอื่น เราต้องมาทำความเข้าใจร่วมกันใหม่ว่า สมองเสื่อมไม่เท่ากับอัลไซเมอร์

ภาวะสมองเสื่อมเกิดขึ้นจาก 2 สาเหตุด้วยกัน คือหนึ่ง เกิดจากความเสื่อมสลายของเซลล์ประสาท มักเกิดขึ้นบ่อยกับคนอายุ 65 ปีขึ้นไป เราเรียกโรคนี้ว่าอัลไซเมอร์ สอง ไม่ได้เกิดจากความเสื่อมสลายของเซลล์ประสาท แต่เกิดจากปัญหาหลอดเลือดสมองซึ่งเป็นผลจากการใช้ชีวิตประจำวันแทบทั้งสิ้น เช่น การกินอาหารของมัน ของทอด นำมาสู่โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ฯลฯ

การแพทย์ที่ก้าวหน้าทำให้คนอายุยืนมากขึ้นจริง แต่อวัยวะหลาย ๆ อย่างรวมถึงสมองอาจไม่ได้เก่งตามไปด้วย แถมเมืองสตรีทฟู้ดที่อยู่ท่ามกลางฝุ่นอุตสาหกรรมและความเร่งรีบบีบคั้นของคนวัยทำงาน ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ พีชบอกกับเราว่านับวันเข้า สาเหตุที่ 2 ก็เริ่มมีปริมาณมากขึ้นไม่แพ้อัลไซเมอร์

“แม้สมองเสื่อมจะมีโอกาสเกิดขึ้นกับคนแก่มากกว่าคนหนุ่มสาว แต่นั่นไม่ใช่สมบัติของความแก่”

1 ใน 12 วิธีการลดความเสี่ยงสมองเสื่อมตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) คือการรักษาโรคซึมเศร้า ถามว่าทำไม

คำตอบคือหากปล่อยให้เป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรัง อาจส่งผลกระทบกับสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความทรงจำและทำให้หลอดเลือดสมองมีประสิทธิภาพน้อยลง จะเห็นได้ว่าหลายคนที่เป็นซึมเศร้าเรื้อรังมักมีอาการมึนเบลอหรือหลง ๆ ลืม ๆ ในบางครั้ง หากรู้ตัวไวและรักษาได้อย่างรวดเร็วก็ยังพอกู้สมองคืนกลับมาได้ 

อีกเรื่องที่เราว่าน่าสนใจ คือการกินยาก็มีผลให้สมองเสื่อม ในสังคมตะวันตกที่ยานับเป็นของหายากอาจไม่ต้องกังวลมากนัก แต่กับประเทศเราที่อะไรเล็กน้อยก็กินยาดักไว้ก่อนนับว่าน่าเป็นห่วง เพราะกลุ่มยาแก้ปวดออกฤทธิ์โดยการกดประสาทไม่ให้ปวด กินเยอะเข้าก็ทำให้สมองและระบบประสาทเสื่อมเสียได้ ยิ่งในคนสูงอายุที่ยิ่งแก่ยิ่งมากโรคยิ่งบริโภคยายิ่งแล้วใหญ่

นอกจากนี้ WHO ยังตอกย้ำประเด็นเดิมที่เราต่างรู้กันมานานนมไว้อีกว่า คนที่นั่ง ๆ นอน ๆ ทั้งวัน ไม่ค่อยทำอะไร มีโอกาสเป็นสมองเสื่อมมากกว่าคนที่แอคทีฟ

ในเมื่อหันไปทางไหน ขยับตัวทำอะไร ก็มีสิทธิ์สมองเสื่อม แล้วเราจะอยู่ร่วมกับมันยังไงได้บ้าง

ไปดูที่ประเทศสิงคโปร์กันก่อน

ที่นั่นมีนักเคลื่อนไหวชื่อ เอมิลี่ อ่อง เธอเป็นคนสิงคโปร์ที่เผชิญภาวะสมองส่วนหน้าเสื่อมตอนอายุเพียง 40 ปี โรคเดียวกับนักแสดงฮอลลีวูดแถวหน้าอย่าง บรูซ วิลลิส ส่งผลให้มีความบกพร่องด้านการสื่อสาร และแน่นอนว่ารักษาไม่หาย

สิ่งที่เอมิลี่อึดอัดมากที่สุด คือเวลาจะไปไหนมาไหนต้องรอลูกและสามีไปรับ-ส่ง ทั้งที่เธอดูแลตัวเองได้หมด อวัยวะอย่างอื่นไม่มีปัญหา เธอแค่จำแนกประสาทสัมผัสไม่ได้ จนเดินทางไม่ได้ด้วยตัวเอง

เอมิลี่ในนามตัวแทน Dementia Singapore จึงร่วมมือกับ SBS Transit เปลี่ยนระบบขนส่งสาธารณะให้เอื้อแก่คนมีภาวะสมองเสื่อม ผลที่ได้ตามมาจากประเทศโลกที่ 1 คือ MRT สิงคโปร์มีทางเดินที่เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ที่เชื่อมโยงกับการละเล่นในความทรงจำวัยเด็กซึ่งง่ายต่อการจดจำ จนผู้ป่วยเดินไปใช้บริการขนส่งสาธารณะที่ต้องการได้สำเร็จ

สร้างชุมชนเป็นมิตรให้คนธรรมดาอยู่ร่วมกับผู้ป่วยสมองเสื่อมได้อย่างเป็นสุข และเมืองในฝันที่ไทยอยากมี
สร้างชุมชนเป็นมิตรให้คนธรรมดาอยู่ร่วมกับผู้ป่วยสมองเสื่อมได้อย่างเป็นสุข และเมืองในฝันที่ไทยอยากมี
สร้างชุมชนเป็นมิตรให้คนธรรมดาอยู่ร่วมกับผู้ป่วยสมองเสื่อมได้อย่างเป็นสุข และเมืองในฝันที่ไทยอยากมี
ภาพ : dementia.org.sg/2022/02/07/find-your-way

ถัดมา เราพากระโดดข้ามไป เมืองบรูกส์ ประเทศเบลเยียม

ที่เมืองใหญ่ประชากรราวแสนคนนี้ได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่บุกเบิกและเป็นต้นแบบของเมืองที่เป็นมิตรกับผู้ป่วยสมองเสื่อม มีกิจกรรมสันทนาการมากมาย ร้านรวงมีสัญลักษณ์ครบถ้วน จะตำรวจหรือข้าราชการอื่น ๆ ก็พร้อมจะเป็น Care Giver ทำให้คนธรรมดากับคนป่วยอยู่ร่วมกันได้อย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย ด้วยแนวทางการสร้างชุมชนเป็นมิตรโดย Alzheimer’s Society UK

โดย 7 องค์ประกอบของเมืองที่เป็นมิตรกับผู้ป่วยสมองเสื่อม มีดังนี้

  1. รัฐมีนโยบาลช่วยเหลือดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อมและผู้ดูแล
  2. ถนนหนทางปลอดภัย มีป้ายชัดเจน มีระบบขนส่งสาธารณะเอื้อให้ผู้มีภาวะสมองเสื่อมเดินทางไปไหนมาไหนเองได้
  3. ห้างร้าน โรงพยาบาล อาคาร สถานที่ต่าง ๆ มีบริการและการออกแบบรองรับการใช้บริการของผู้มีภาวะสมองเสื่อม
  4. คนในชุมชนมีความตระหนักรู้ถึงสัญญาณของภาวะสมองเสื่อม และพร้อมเป็นรั้วช่วยดูแลทั้งคนในชุมชนและครอบครัว
  5. สังคมเข้าใจว่าสมองเสื่อมไม่ใช่เรื่องน่าอาย และทุกท่านยังคงมีคุณค่าต่อสังคมเช่นเคย
  6. สนับสนุนผู้มีภาวะสมองเสื่อมและผู้ดูแลให้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมทางสังคม
  7. ไม่ว่าวัยไหนก็พร้อมใจปรับตัวเข้าหา และเข้าใจผู้มีภาวะสมองเสื่อม

นอกจากบรูกส์ ยังมีเมืองยอร์ก สหราชอาณาจักร, นิวคาสเซิล ออสเตรเลีย และอื่น ๆ อีกมากมายให้น่าศึกษา

เราถามพีชต่อว่า ถ้าอยู่ในบ้านแล้วคนใกล้ตัวโดนดุด่าว่าทอ เป็นไปได้ไหมที่จะพาผู้ป่วยสมองเสื่อมออกมานอกบ้านแล้วมีความสุขมากกว่า

พีชตอบว่า เป็นไปได้มาก 

เมืองไทยและประเทศในเอเชียยังมีความเชื่อว่าการดูแลพ่อแม่เป็นหน้าที่ เป็นความกตัญญู การเอาแม่ไปไว้ที่ศูนย์ดูแลผู้ป่วยไม่ต่างอะไรกับการทอดทิ้ง ทำให้บุตรหลานที่ไม่มีครอบครัวบางคนต้องสูญเสียชีวิตตัวเอง รับหน้าที่ดูแลคนแก่ในบ้านไปโดยปริยาย นอกจากต้องอยู่ดูแลพ่อแม่ ยังต้องมาจัดการความคาดหวังของคนรอบข้างอีก ซึ่งไม่ควรเป็นแบบนั้น 

แล้วทำอย่างไรให้ผู้ป่วยในระยะแรก มีพื้นที่ที่ไม่ผลักให้เขากลายเป็นตัวประหลาด

สมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม มีโครงการ Dementia-friendly Community ขึ้นมา โดยมีโครงการย่อยคือ Dementia Friend ให้คนในชุมชน ประชาชนทั่วไปที่ไม่ต้องเป็นหมอ รู้จักโรคสมองเสื่อมและมีส่วนช่วยเหลือเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่าที่ช่วยได้ ให้คนสมองเสื่อมระยะแรกอยู่ในชุมชนได้นานที่สุด 

โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นโมเดลต้นแบบของ Dementia-friendly Hospital ที่ทำสำเร็จแล้ว จากการอบรมพยาบาลและเจ้าหน้าที่เป็นเวลา 2 ปี เพื่อให้พวกเขาตั้งข้อสังเกตได้ว่าคนไข้ที่กำลังดูแลอยู่มีแนวโน้มสมองเสื่อม เพราะผู้ป่วยโรคนี้มักไม่มานอนโรงพยาบาล แต่จะเข้ามาผ่าเข่าหรือผ่าต้อ มีปัญหาด้านกายภาพเป็นส่วนใหญ่ และปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยคือคนหายในโรงพยาบาล หากเจอคนแก่ที่ดูหลงทาง ไม่รู้จะไปทางไหนต่อ เจ้าหน้าที่ที่ได้รับการอบรมเป็นอย่างดีก็พร้อมเข้าประกบและให้การช่วยเหลือโดยทันที 

หากต้องการพาผู้สูงอายุไปเปิดหูเปิดตานอกบ้าน ห้างสรรพสินค้าเป็นสถานที่แรกที่หลายครอบครัวนึกถึง จะดีแค่ไหนถ้าพนักงานตามห้างมีความเข้าใจผู้สูงอายุ เห็นพวกเขาทำพฤติกรรมแปลกแล้วไม่แสดงอาการรังเกียจ หากเจอคนแก่เดินงง ๆ แล้วช่วยพาเขาไปถึงที่หมาย เจอกับลูกหลานได้ โดยไม่ปล่อยขึ้นแท็กซี่หายไปไหนต่อไหน หรือจัดกิจกรรมที่ผู้ป่วยมีส่วนร่วมได้ เปลี่ยนห้างให้กลายเป็นชุมชมที่ผู้สูงอายุมาพบปะสังสรรค์กันได้ ทำให้คนป่วยไม่รู้สึกว่าตัวเองป่วย ไร้ความสามารถ ความเครียดระหว่างคนดูแลกับคนไข้ก็น้อยลงอีกด้วย

สร้างชุมชนเป็นมิตรให้คนธรรมดาอยู่ร่วมกับผู้ป่วยสมองเสื่อมได้อย่างเป็นสุข และเมืองในฝันที่ไทยอยากมี

ร้านยาในห้างสรรพสินค้ากับร้านยาในชุมชนก็เป็นอีกกลุ่มที่ควรให้ความสำคัญ เพราะเภสัชกรล้วนเป็นคนในท้องถิ่นแทบทั้งนั้น ถ้าบุคลากรมีความรู้ความเข้าใจว่ายาอะไรกินแล้วทำให้สมองไม่ดีก็ช่วยระวังได้ หรือการจับสังเกตว่ายายคนนี้แวะมาซื้อยาถ่าย 3 รอบใน 1 วันไม่ใช่เรื่องปกติ ต้องชวนเขาหาหมอหรือปรึกษากับญาติก็จะช่วยแก้ปัญหาได้ทัน

ร้านตัดผมเป็นอีกงานบริการที่พีชอยากทำให้เกิดขึ้นจริง จากประสบการณ์ตรงของผู้ดูแลแม่อัลไซเมอร์ เธอต้องคอยลุ้นเสมอว่าแม่ที่อยู่ในมือของคนอื่นจะเป็นยังไง ถ้าน้ำเข้าตาขึ้นมาจะดุด่าพนักงานไหม จะอ่อนไหวกับเสียงกรรไกรหรือไม่ หากนั่งอยู่แล้วลุกวิ่งออกมาจากร้านเพราะจำไม่ได้ว่ามาทำไมจะเกิดอะไรขึ้น จะเป็นไปได้ไหมถ้าพนักงานมีทักษะการรับมือกับผู้ป่วยอย่างใจเย็น และมองพฤติกรรมเหล่านี้อย่างเข้าใจ

เพราะหน้าที่การดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมอาจไม่ใช่แค่ของคนในบ้าน แต่คนในสังคมเองก็มีส่วนช่วยได้เช่นกัน 

ปัญหาของเราคือประเทศไทยยังมีความเชื่อว่าสมองเสื่อมเป็นโรคที่น่าอาย ไม่ใช่คนป่วยหรือญาติทุกคนจะกล้าเปิดเผยว่าตัวเองเป็นจนสังคมยอมรับได้ว่านี่ไม่ใช่เรื่องประหลาด

พีชเล่าให้ฟังอย่างติดตลกแต่ขำไม่ออกว่า ถ้าเคยเห็นข่าวว่าบ้านนี้ต้องย้ายไปหลาย ๆ หมู่บ้านเพราะคนในชุมชนกล่าวหาว่าเป็นกระสือ เป็นปอบ ชอบคุยกับผี ความจริงอาจป่วยเป็นโรคทางจิตเวชหรือสมองเสื่อม แต่ชาวบ้านไม่รู้และไม่เข้าใจเสียมากกว่า

ปีนี้ไทยเราเริ่มมองเห็นความสำคัญของผู้สูงอายุ มีนโยบายที่เรียกกันว่าของขวัญปีใหม่สำหรับผู้สูงอายุไทย นั่นคือ ผู้สูงอายุ 12 ล้านคนจะต้องได้รับการคัดกรองสุขภาวะ 9 ด้าน หนึ่งในนั้นคือเรื่องความรู้คิดหรือสมองนั่นแหละ หากคัดกรองแล้วพบผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงสมองเสื่อมหรือหกล้มง่าย 2 กลุ่มนี้ต้องได้รับการส่งเข้ามาตรวจในคลินิกผู้สูงอายุ และจะมีแผนดำเนินการดูแลต่อไป

สร้างชุมชนเป็นมิตรให้คนธรรมดาอยู่ร่วมกับผู้ป่วยสมองเสื่อมได้อย่างเป็นสุข และเมืองในฝันที่ไทยอยากมี

คอขวดของปัญหาคือคนไม่รู้จักสมองเสื่อม ถ้านโยบายบอกให้เฝ้าระวังความเสี่ยง 2 กลุ่มนี้ บุคลากรส่วนมากจะเลือกทำแต่หกล้มอย่างเดียว – เพราะอะไร

อาจเป็นเพราะสมองเสื่อมเป็นโรคที่ต้องอาศัยองค์ประกอบหลายอย่างในการวินิจฉัย เรียกว่า Clinical Diagnosis ตรวจพบผ่านการ MRI สมองไม่ได้ 

แม่ของพีชที่เป็นผู้ป่วยอัลไซเมอร์ กว่าจะมีรอยโรคที่ปรากฏชัดในสมองก็เข้าสู่ปีที่ 5 ของการป่วย ในระยะแรกเริ่ม หมอลงความเห็นว่าแม่ของเธอป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจากการทำแบบประเมินไม่ผ่าน เป็นไปได้ว่าอาการของอัลไซเมอร์ทับซ้อนกับโรคอื่นจนแยกออกได้ยาก และไม่มีตัวชี้วัดให้เห็นเชิงประจักษ์ การเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบหรืออึไม่ออก ก็ส่งผลให้มีอาการหวิว ๆ มึน ๆ ได้เช่นกัน 

“การบอกว่าคนคนหนึ่งเสี่ยงจะหกล้ม กับบอกว่าสมองไม่ดี มันต่างกัน” เธอเล่า

หากเรามีเมืองในฝันที่ทำให้คนธรรมดากับผู้ป่วยอยู่ร่วมกันได้ แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาคือรัฐบาลจะมีค่าใช้จ่ายน้อยลงในการดูแลผู้ป่วย นโยบาย 1 ตำบล 1 ศูนย์ดูแลผู้ป่วยจะหายไป เพราะถึงอย่างไรก็ไม่มีวันสร้างได้เพียงพอต่อจำนวนผู้สูงอายุที่มีมากขึ้นทุกปี สู้เอางบประมาณไปสร้างความรู้ความเข้าใจ ปลูกฝังตั้งแต่เด็ก ๆ ในโรงเรียนให้ดูแลอากงอาม่าที่บ้านได้ดีกว่า 

แต่การสร้างชุมชนเป็นมิตรอาจยังไม่ต้องสร้างตึกรามบ้านช่องหรือทำถนนหนทางให้ตอบโจทย์อย่างใครเขาในเร็ววันนี้ เอาแค่คนเข้าใจก่อน เดี๋ยวอย่างอื่นจะตามมาเอง

สร้างชุมชนเป็นมิตรให้คนธรรมดาอยู่ร่วมกับผู้ป่วยสมองเสื่อมได้อย่างเป็นสุข และเมืองในฝันที่ไทยอยากมี
ข้อมูลอ้างอิง
  • www.bbc.com/news/av
  • www.who.int/publications/i/item
  • theprotocity.com/bruges-dementia-friendly-city
  • www.dop.go.th/th/know
  • dementia.org.sg/2022/02/07/find-your-way

Writer

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

นักอยากเขียน บ้านอยู่ชานเมือง ไม่ชอบชื่อเล่นที่แม่ตั้งให้ มีคติประจำใจว่าอย่าเชื่ออะไรจนกว่าหมอบีจะทัก รักการดูหนังและเล่นกับแมว