‘Mango Art Festival 2023’ คือเทศกาลศิลปะร่วมสมัยซึ่งจัดเป็นปีที่ 2 ที่เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 2 – 10 ธันวาคม พ.ศ. 2566 เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2566 (Chiang Mai Design Week 2023) เช่นเดียวกับปีที่แล้ว เทศกาลศิลปะที่จัดแสดงผลงานของศิลปินไทยและต่างประเทศนับร้อยคนงานนี้จัดขึ้นในสวนพื้นที่กว่า 30 ไร่ ของ De Siam Warehouse หรือพื้นที่โกดังสำหรับเก็บงานแอนทีกกว่า 10,000 ชิ้นของ De Siam Antiques Chiangmai ในอำเภอหางดง 

สอดรับไปกับสถานที่จัดแสดง ธีมงานของเทศกาลฯ ปีนี้คือ Treasure Discovered ซึ่งผู้จัดชวนศิลปินร่วมสมัยทั้งไทยและต่างประเทศหลายสิบรายมาสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อสร้างบทสนทนากับโบราณวัตถุที่เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ 

เรามีโอกาสไปชมงานสด ๆ ร้อน ๆ เมื่อวันก่อน น่าตื่นตามากทีเดียว และคิดว่าคนที่ชอบงานศิลปะและของเก่าต้องไม่พลาด อย่างไรก็ดี อีกสิ่งที่น่าสนใจคือพื้นที่จัดแสดงเป็นสวนที่รายล้อมด้วยยุ้งข้าวและโกดังขนาดใหญ่ เพราะไม่เพียงสวยเหลือเกิน หากด้วยธุรกิจที่เป็นต้นกำเนิดของพื้นที่ก็อัดแน่นไปด้วยเรื่องราวสนุก ๆ ที่อยากนำมาเล่า เราจึงชวน จิรัฏฐ์​ ประเสริฐทรัพย์ นักเขียนจากเชียงใหม่ ไปสัมภาษณ์เจ้าของพื้นที่เสียเลย

และนี่คือเรื่องราวของ De Siam Antiques ผ่านมุมมองของ เอก-อนุศักดิ์ พานิชยากรณ์ ผู้ก่อตั้ง พ่อค้า และนักสะสมงานแอนทีกเบอร์ต้น ๆ ของเมืองไทย กับการเปิดอาณาจักรแอนทีกของตัวเองสู่โลกศิลปะร่วมสมัย ไปชมงานและอ่านบทความนี้พร้อมกัน 

ถ้าไม่ได้หาข้อมูลมาก่อน ผมอาจไม่ทราบเลยว่าชายวัยกลางคนสวมเสื้อโปโล กางเกงขาสั้น และรองเท้าแตะที่กำลังจอดมอเตอร์ไซค์ยามาฮ่าฟีโน่ตรงหน้า คือเจ้าของที่ดินพื้นที่กว่า 30 ไร่แห่งนี้

ไม่สิ ถ้าดูจากโกดังที่เรียงรายและทรัพย์สมบัติประเมินราคาไม่ได้มากมายที่อยู่ภายใน ไม่เกินไปที่จะเรียกว่า ‘อาณาจักร’ มากกว่า

เอก-อนุศักดิ์ พานิชยากรณ์ คือชายคนดังกล่าว เขาเป็นเจ้าของ De Siam Antiques Chiangmai หนึ่งในธุรกิจขายงานแอนทีกใหญ่ที่สุดในเชียงใหม่และระดับประเทศ 

“ตามสบายเลยนะครับ” เจ้าบ้านกล่าวทักทาย ก่อนชวนผมนั่งบนเก้าอี้ไม้สักสไตล์โคโลเนียลจากเมียนมาที่วางอยู่ใต้ร่มเงาของต้นกระบกอายุกว่า 300 ปีกลางสนามหญ้า มองออกไปเห็น ‘ยุ้งข้าว’ หรือเรือนไม้สำหรับเก็บข้าวในสมัยก่อน วางสลับกับต้นไม้ใหญ่หลายสิบต้นที่อายุไล่เลี่ยกับต้นกระบกสุดลูกตา 

หลองข้าวพวกนี้ ดีสยามก็ขายด้วยเหรอครับ ผมสงสัย

“ไม่ครับ เป็นของสะสมส่วนตัว ทุกวันนี้แทบไม่เหลือให้เห็นแล้ว ผมเลยพยายามเก็บมาอนุรักษ์ไว้” เขาตอบ

รถไฟนั่นก็ด้วย – ผมหมายถึงรถไฟจำนวน 4 ตู้ที่จอดอยู่ข้างสวน อายุน่าจะเกือบศตวรรษได้แล้ว

“ใช่ครับ” เขาตอบ

แม้ผมจะรู้จักเศรษฐีไม่เยอะนัก แต่ก็พอรู้จักคนที่สะสมซูเปอร์คาร์ นาฬิกา หรืองานศิลปะอยู่บ้าง นั่นล่ะ เกิดมาก็เพิ่งเคยเจอคนสะสมยุ้งข้าวกับรถไฟ

คุณเอกเป็นคนอำเภอสันป่าตอง เป็นลูกชายคนโตของนายธนาคารและเจ้าของธุรกิจลีสซิ่งและรถเช่าขนาดเล็กในเชียงใหม่ เขาเรียนหนังสือไม่จบ แต่โชคดีที่มีโอกาสทำงานในบริษัทค้าข้าวของคุณอาที่กรุงเทพฯ ซึ่งเมื่อเขาทำงานไปได้สักพักก็ค้นพบตัวเองว่าอยากเป็นพ่อค้า

“เริ่มจากอยากหารายได้เสริม แล้วเอาของมาขายเนี่ย บางทีมันฟลุก เราอาจตั้งตัวได้ เลยทดลองไปเรื่อย” เขาเล่า 

เริ่มจากเร่ขายมะม่วง ตามมาด้วยการหุ้นกับภรรยาเช่าล็อกที่ตลาดนัดจตุจักร ขายเทียนหอม ตุ๊กตาดินเผา และของแต่งบ้าน ก่อนย้ายไปเปิดร้านในย่านสีลม นำเฟอร์นิเจอร์ไม้จากบ้านถวายในเชียงใหม่มาขาย และที่นั่นเองที่จุดประกายความคิดใหม่ให้กับพ่อค้าหนุ่มรายนี้

“ผมเริ่มจากขายของเล็ก ๆ ก่อน ไป ๆ มา ๆ ก็เจอตลาดของแต่งบ้าน ตอนแรกหาของจากในจตุจักรมาขาย แล้วก็กลับไปขนเฟอร์นิเจอร์จากบ้านถวายมาขายต่อ สมัยนั้นเฟอร์นิเจอร์ที่ช่างบ้านถวายทำเกือบทั้งหมดเอาไม้เก่าหรือเฟอร์นิเจอร์เก่ามาขัดให้เหมือนของใหม่ แต่ผมมองว่าของเก่าเดิมก็มีเสน่ห์ เราแค่รักษาสภาพให้ดี ๆ และเอาความสวยงามจากกาลเวลานั้นมาขาย” คุณเอกย้อนความหลัง

พอดีกับที่เขาได้รู้จักรุ่นพี่ที่เป็นคู่ค้า ‘เครื่องเขิน’ ที่ร้านเขาขายอยู่แล้ว รุ่นพี่คนนั้นเลยชวนเขาไปหาของเก่าจากเมียนมามาวางจำหน่าย 

“ผมมีเงินเก็บจากการขายของในร้านที่สีลมอยู่ 170,000 บาท นั่นคือเงินเริ่มต้นหลังจากตัดสินใจหันมาขายของเก่า เนื่องจากสินค้าหลัก ๆ ที่เอามาขายส่วนใหญ่มาจากพม่า นั่งรถเข้าไปเลือกหาทางอำเภอแม่สอด เลยคุยกับภรรยาว่า งั้นเราย้ายไปเปิดร้านที่เชียงใหม่ดีกว่าไหม เพราะอยู่ใกล้กับแหล่งสินค้ามากกว่า และตอนนั้นก็เห็นแนวโน้มว่ามีตลาดของมันอยู่ที่นั่น ซึ่งเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางของงานหัตถกรรมและแอนทีก ภรรยาผมก็ตอบตกลง”

คุณเอกแบ่งเงิน 170,000 บาท ไว้ 3 ส่วน ส่วนแรกเอาไปซื้อของเก่ามาขาย สอง สำหรับค่าเช่าที่ดินที่หางดง เพื่อปลูกอาคารหลังเล็ก ๆ เป็นโชว์รูมขายของ และสาม สำหรับค่าจ้างช่างมาซ่อมเฟอร์นิเจอร์ ก่อนจะแบ่งอีกส่วนเล็ก ๆ สำหรับค่าหนังสือเพื่อศึกษาศาสตร์เกี่ยวกับงานแอนทีกอย่างจริงจัง 

จุดเริ่มต้นของ De Siam Antiques Chiangmai เป็นเช่นนั้น ธุรกิจเล็ก ๆ ของคู่สามีภรรยาเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว

ปัจจุบัน De Siam Antiques Chiangmai มีโชว์รูมอยู่ 2 แห่งในบ้านถวาย อำเภอหางดง และมีโกดังอีก 1 แห่งไม่ไกลจากกัน (De Siam Warehouse) มีสินค้าแอนทีกจากล้านนา พม่า อินเดีย และยุโรป กว่า 10,000 ชิ้น ซึ่งคุณเอกเป็นคนเดินทางไปเลือกสรรหรือไปประมูลสินค้าด้วยตัวเองยังต่างประเทศทุกครั้ง เมื่อเลือกเสร็จ ตัวแทนจากที่ต่าง ๆ จะบรรทุกของแอนทีกเหล่านี้ใส่ตู้คอนเทนเนอร์ และส่งมายังโกดังแห่งนี้ ก่อนที่ทีมช่างจะนำของที่ได้ไปบูรณะให้สมบูรณ์ตามแบบที่ของชิ้นนั้นเคยเป็นมาให้มากที่สุด ซึ่งแน่นอน คุณเอกก็เป็นคนควบคุมการบูรณะตามหลักของพิพิธภัณฑ์ด้วยตัวเองทุกชิ้น

“ตอนแรกคิดแค่เอาแอนทีกมาบูรณะและขายนี่แหละ แต่พอยิ่งศึกษาลงลึก ยิ่งเข้าใจ ก็ยิ่งอิน จากพ่อค้าเลยกลายเป็นนักสะสมเสียเอง ผมโชคดีที่เริ่มทำธุรกิจในยุคที่เชียงใหม่บูมเรื่องของเก่า มีโรงแรมทั้งห้าดาวและบูทีกโฮเต็ลหลายแห่งที่ต้องการเฟอร์นิเจอร์แอนทีกไปประดับ ขณะเดียวกัน เมืองก็ดึงดูดนักสะสมของเก่าจากทั่วสารทิศมากขึ้นเรื่อย ๆ 

“จุดเด่นของดีสยามคือแพสชัน ผมตั้งสโลแกนของร้านไว้แต่แรกเลยว่า Passion to be Unique เพราะเราคัดสรรงานอย่างละเอียด ไม่เคยคิดว่าซื้อมาเพื่อเอาไปขายได้ทันทีเลย แต่จะพิถีพิถันกับการบูรณะและฟินิชชิ่ง ทำให้ถูกต้องสวยงามที่สุด ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับการบริการมาก ลูกค้าส่วนมากคือกลุ่มที่ซื้อกับเราต่อเนื่องเรื่อย ๆ เป็นเหมือนเพื่อนกันไปแล้ว” คุณเอกกล่าว 

“และคุณนึกออกไหมว่าขายแอนทีกไม่ใช่ขายเฟอร์นิเจอร์ ถ้าคุณต้องการเก้าอี้ คุณไปร้านเฟอร์นิเจอร์ก็ได้เก้าอี้มานั่ง แต่ถ้าคุณต้องการงานแอนทีก ไม่ว่าจะไปแต่งบ้าน ไปสะสม หรือไปใช้งาน มันต้องเป็นเก้าอี้ตัวใดตัวหนึ่งที่คุณชอบและอยากได้จริง ๆ ซึ่งไม่ใช่ว่านึกอยากได้ก็สั่งให้ช่างผลิตขึ้นมาได้เลย แต่มันคืองานหัตถกรรมจากอดีตที่เราต้องออกไปค้นหาและกลับมาบูรณะ ซึ่งผมมีความสุขที่ได้ขายงานแอนทีกให้คนที่อยากได้มันจริง ๆ ของบางอย่างสร้างมาเพื่อคนบางคนน่ะ เราจึงต้องเก็บงานให้เนี้ยบที่สุด แพสชันที่เรามีตรงนี้น่าจะเป็นเหตุผลว่าทำไมเราโตมาได้ถึงทุกวันนี้ครับ” 

ทั้งนี้ ข้อสังเกตอีกเรื่องของแบรนด์สินค้าแอนทีกเจ้าใหญ่แบรนด์นี้ คือการไม่ทำหมวดหมู่ นอกจากสินค้าที่วางจำหน่ายอยู่ในโชว์รูมทั้ง 2 สาขา สินค้าทุกชิ้นจะเก็บไว้ที่โกดังแห่งนี้ โดยแทบไม่มีการจำแนกประเภท ไม่มีโกดังของบานประตูจากพม่า โกดังของเก้าอี้จากราชวงศ์ชิง ตู้เสื้อผ้าสไตล์อาร์ตนูโว หรือคอลเลกชันจากศตวรรษที่ 17 หรือ 18 ฯลฯ 

สินค้าเหล่านี้จัดวางคละกันไปในแต่ละโกดังซึ่งมีทางเดินแคบ ๆ รอให้ผู้ที่สนใจเดินมาเลือกสรรด้วยตัวเอง คุณเอกให้เหตุผลว่า ไม่ใช่เพราะสินค้าที่มีอยู่มากเสียจนยากจะเคลื่อนย้ายเพื่อจัดหมู่ แต่เป็นความสนุกของลูกค้าที่ได้เดินเลือกสรรตามโกดังต่าง ๆ ด้วยตัวเอง ซึ่งเขาให้ความสำคัญ

“ถ้าลูกค้ามีความต้องการสินค้าที่เฉพาะเจาะจงชัดเจน ผมและพนักงานที่นี่ก็บอกได้ว่าสินค้าชิ้นนั้นอยู่ตรงไหน ผมอยากให้เขาเดินดูให้ทั่วก่อนน่ะ มีลูกค้านักสะสมหลายรายบอกว่าที่โกดังเราเหมือนดิสนีย์แลนด์ของงานแอนทีก เขารู้สึกสนุกกับการเลือกดู ดื่มด่ำกับรายละเอียดของงานคราฟต์ ต่อให้สุดท้ายไม่ซื้อก็ไม่เป็นไร ผมยินดีให้บริการเต็มที่ แค่คุณมาแล้วรู้สึกสนุกกลับไป ผมก็ดีใจแล้ว”

แม้จะอยู่ในแวดวงของเก่ามามากกว่า 20 ปี คุณเอกบอกผมว่าเขาเพิ่งมาสนใจงานศิลปะจริง ๆ เมื่อราว 3 ปีมานี้เท่านั้น ความสนใจที่ไม่เพียงทำให้เขาหันมาเป็นนักสะสม แต่ยังถลำลึกไปจนถึงขั้นลงทุนสร้างพื้นที่ศิลปะของตัวเอง

“ไม่ใช่ว่าเมื่อก่อนไม่เคยสนใจเสียทีเดียว เพราะงานแอนทีกก็เป็นศิลปะอยู่แล้ว ไม้แกะสลัก งานประดับกระจก หรือจิตรกรรมที่มากับเฟอร์นิเจอร์ ขณะเดียวกัน เวลาเราแต่งบ้านก็ต้องหารูปเขียนสวย ๆ มาแขวนคู่กับงานแอนทีกให้เสริมความงาม หรือพอไปประมูลงานที่ต่างประเทศ เขาก็จะเอางานศิลปะมาประมูลด้วย ทั้ง 2 อย่างนี้เติมเต็มกันและกันมาตลอด แต่ที่บอกว่าเพิ่งหันมาสนใจจริง ๆ เพราะก่อนหน้านี้ ผมไม่รู้จักผู้คนในวงการเท่าไหร่นัก ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง จนได้มาสนิทกับ พี่บี นี่แหละ ชีวิตเปลี่ยนเลย (หัวเราะ)”

พี่บีที่คุณเอกกล่าวถึงคือ สุชาย พรศิริกุล นักธุรกิจสิ่งทอ นักสะสม และผู้ก่อตั้ง Mango Art Festival เทศกาลศิลปะร่วมสมัยซึ่งกำลังมาแรงที่สุดงานหนึ่งในบ้านเรา 

“พี่บีเป็นเพื่อนกับพ่อของภรรยาผม เขาสะสมงานศิลปะอยู่แล้ว เลยชักชวนให้ผมไปดูงาน ไปรู้จักศิลปิน ดึงผมเข้าสู่วงการศิลปะ ผมเริ่มสะสมพวกจิตรกรรมและประติมากรรมที่ดูสบาย ๆ ผ่อนคลาย และรับไปกับเฟอร์นิเจอร์เก่า หลัง ๆ มาก็เป็นวัยรุ่นหน่อยอย่าง Art Toy ซึ่งไป ๆ มา ๆ จากแค่สะสม ผมกับพี่บีก็มาคุยกันว่าน่าจะลองทำ Mango Art Festival ในพื้นที่นี้ดู ให้แอนทีกกับศิลปะร่วมสมัยจัดแสดงไปพร้อมกัน” คุณเอกเล่า

นั่นจึงเป็นที่มาของ Mango Art Festival 2022 เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งจัดขึ้นภายในโกดัง สวน และคอลเลกชันยุ้งข้าวของ De Siam Warehouse เทศกาลที่เปลี่ยนจากพื้นที่ที่ขนานนามว่าดิสนีย์แลนด์ของงานแอนทีกให้มีสถานะต่อท้ายเพิ่มขึ้นอีกว่า ‘ดิสนีย์แลนด์ของงานแอนทีกและศิลปะ’

“ปีที่แล้วจัดเป็นปีแรก ความที่เราใหม่ด้วยกันทั้งคู่ เพราะพื้นที่ผมไม่เคยแสดงงานศิลปะ ส่วนทีมงานพี่บีก็เคยแต่จัดในแกลเลอรีหรือในอาคาร ค่อย ๆ เรียนรู้กันไป จะเอาชิ้นงานไปแขวนบนยุ้งข้าวหรือจะติดไฟสปอตไลต์ยังไง หรือถ้าไปวางกับงานแอนทีกในโกดัง จะทำยังไงให้ชิ้นงานโดดเด่น

“แต่ดีที่ธรรมชาติของศิลปะกับของเก่าเขาสวยด้วยกันอยู่แล้ว เลยแทบไม่ต้องทำอะไรมาก เพียงแต่จะทำเส้นทางให้คนมาเดินดูงานทั้งกลางแจ้งและในร่มยังไงให้สะดวกมากกว่า” 

อย่างไรก็ดี แม้เป็นงานในปีแรกที่คนเชียงใหม่ยังไม่คุ้นเคยนัก หากเทศกาลฯ ก็ได้รับเสียงตอบรับอย่างดีเยี่ยม เพราะนอกจากผู้ที่สนใจศิลปะที่เป็นแฟนประจำ Mango Art Festival อยู่แล้ว คุณเอกยังพบกลุ่มผู้ชมที่หลากหลาย ทั้งคนที่สนใจศิลปะในเชียงใหม่ คนรุ่นใหม่ที่ชอบถ่ายรูป หรือครอบครัวทั้งไทยและต่างชาติที่พาลูก ๆ มาวิ่งเล่นในสวน พร้อมดูงานศิลปะและของแอนทีกอย่างผ่อนคลาย 

“ที่ผ่านมา พอคุณคิดถึงเทศกาลศิลปะ คนส่วนใหญ่ก็ต้องคิดว่าต้องมาดูงานศิลปะ ซึ่งบางคนที่ไม่ได้สนใจศิลปะเขาก็ไม่คิดจะมา แต่พอมีงานแอนทีกให้ดูด้วย มีสวน มียุ้งข้าว มีต้นไม้ใหญ่ ๆ และมีการแสดงต่าง ๆ ประกอบ เลยดึงดูดผู้คนหลากหลายเข้ามา องค์ประกอบเหล่านี้มีส่วนทำให้ทุกคนเข้าถึงศิลปะง่ายขึ้น ในบรรยากาศที่สบาย ๆ” คุณเอกเล่า 

“ว่าไปแล้วก็เหมือนกับผมเองนะ อย่างที่บอกว่าผมสนใจศิลปะอยู่แล้ว แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มยังไง เหมือนเรามีโลกของเรา เขามีโลกของเขา พอเราเจอคนมาเชื่อมโลกให้เราได้ มันเลยสนุกขึ้น ผมอยากให้พื้นที่ของผมกับเทศกาลของพี่บีเป็นตัวเชื่อมให้คนส่วนใหญ่เข้าสู่โลกศิลปะเหมือนกัน”

ไม่เพียงการเปิดพื้นที่ส่วนตัวร่วมกับ Mango Art Festival ความสนใจในศิลปะของคุณเอกยังชักพาให้เขาคิดถึงการเพิ่มพื้นที่แสดงงานศิลปะให้เมืองเชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการเปิด Red Dog Gallery แกลเลอรีศิลปะร่วมสมัยที่เพิ่งเปิดตัวได้ไม่นาน โดยตั้งอยู่ติดกับบูทีกโฮเต็ลที่เป็นอีกหนึ่งธุรกิจของเขาอย่าง เดอะ บริดจ์ (The Bridge An Eclectic Luxotel) บนถนนเจริญเมือง เชิงสะพานนวรัฐ หรืออีกหนึ่งโปรเจกต์ที่เขากำลังปลุกปั้นและมีกำหนดจะเปิดตัวช่วงต้นปีหน้า อย่าง Noname Gallery ไม่ไกลจาก De Siam Warehouse แห่งนี้ 

“ผมเพิ่งได้ที่ดินเล็ก ๆ ผืนหนึ่ง ใกล้ ๆ กับโชว์รูมและไม่ไกลจากที่นี่ ตอนแรกก็เอาเรือนไม้เก่าของไทลื้อไปเก็บไว้ตรงนั้น คิดว่าเราทำธุรกิจนี้มา 20 กว่าปีแล้ว น่าจะมีพื้นที่ที่มันคล้าย ๆ มิวเซียม บอกเล่าเรื่องราวของกระบวนการซ่อมแซม คุณค่าของงานแอนทีก และเรื่องราวความเป็นมาของดีสยาม เลยตั้งใจจะทำภายในเรือนไม้หลังนั้นและโรงไม้เก่าที่อยู่ข้าง ๆ ไม่ได้มองว่าต้องเป็นพิพิธภัณฑ์หรอก แค่เป็นพื้นที่ที่คนสนใจของเก่าเข้ามาศึกษาได้ ประมาณนั้น

“ขณะเดียวกัน พื้นที่ด้านหลัง ผมตั้งใจให้เป็นแกลเลอรีจัดแสดงงานศิลปะร่วมสมัยที่อาจไม่ได้โฟกัสเรื่องการขายมากนัก อยากให้เป็นพื้นที่ทางเลือกอีกแห่งของศิลปินรุ่นใหม่ หรือศิลปินรุ่นไหนก็ได้ที่อยากทดลองทำงานใหม่ ๆ หรือต่างไปจากเดิมบ้าง เพราะเห็นว่าแกลเลอรีสำหรับแสดงงานเป็นที่ต้องการของตลาดในเชียงใหม่มีหลายแห่งแล้ว พอเรามีศักยภาพเรื่องพื้นที่ ก็อยากให้พื้นที่เราส่งเสริมศิลปินท้องถิ่นบ้าง และให้พื้นที่นี้กลายเป็นที่ที่คนสนใจทั้งแอนทีก ประวัติศาสตร์ และศิลปะ มาเยี่ยมชมได้ ผมตั้งชื่อว่า Noname Gallery”

ทำไมต้องชื่อ Noname ครับ – ผมสงสัย 

“จริง ๆ ตรงพื้นที่คิดไว้ว่าจะเป็นกึ่ง ๆ พิพิธภัณฑ์ ผมยังไม่ได้ตั้งชื่อ แต่แกลเลอรีด้านในผมตั้งไว้ว่า Noname Gallery คิดว่าคงเรียกรวม ๆ ตรงนั้นด้วยชื่อนี้ไปเลย ส่วนสาเหตุที่ตั้งชื่อนี้ เพราะเอาเข้าจริงผมรู้เรื่องเกี่ยวกับศิลปะน้อยมาก เหมือนเพิ่งเข้ามาศึกษาอย่างจริงจัง และศิลปะร่วมสมัยไม่เหมือนงานแอนทีกที่ยุคสมัยระบุชนิดของวัสดุหรือรูปแบบของงานหัตถกรรมไว้อย่างชัดเจน รวมถึงมันมีฟังก์ชันชัดเจนอยู่แล้ว แต่ศิลปะลื่นไหล ต้องอาศัยการตีความหรือทำความเข้าใจ ไอ้ความที่ผมไม่รู้จักมันเท่าไหร่นี่แหละ เลยคิดว่าสเปซแห่งนี้ก็ไม่น่าจะมีชื่อไประบุหรือกำกับว่าจะต้องเป็นยังไง ใครไปใครมาก็ฟีลฟรี ดื่มด่ำกับงานได้ตามอัธยาศัย เรียนรู้ไปพร้อมกับผม สบาย ๆ เหมือนผมเลย” คุณเอกตอบ 

แม้คุณเอกไม่ได้ขยายความคำว่า ‘สบาย ๆ เหมือนผม’ แต่จากการแต่งตัวอันเรียบง่าย ไกลห่างจากคำว่าหรูหราของเขา (และผมทราบมาทีหลังว่า ตั้งแต่เขาเริ่มต้นทำธุรกิจที่ต่อมาจะกลายเป็นอาณาจักรมูลค่าพันล้านแห่งนี้ เขาแต่งตัวด้วยยูนิฟอร์มเช่นนี้มาตลอด) สิ่งนี้ก็พอจะอธิบายคำพูดของเขาได้อย่างชัดเจน… และใช่ ตั้งแต่คุยกันมาเกือบชั่วโมง ผมได้ยินคำว่า ‘สบาย ๆ’ จากเขามาน่าจะ 5 ครั้งได้แล้ว 

ไม่อยากให้คนดูเกร็ง ผมถามต่อ 

“ครับ อย่างที่รู้กันว่าทั้งงานแอนทีกและงานศิลปะเป็นของมีราคาสูง ไม่ใช่ทุกคนจะซื้อหามาได้ และยิ่งเวลาผ่านไป ของพวกนี้ราคาก็จะสูงขึ้นไปอีก คนที่มีเงินหน่อยเขาจึงสะสมไว้เผื่อเป็นมรดกของลูกหลาน แต่ในทางกลับกัน ถ้าไม่ได้มองในแง่ของการเก็บสะสม ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ก็เข้าถึงความงามของพวกมันได้ คุณมาดูงานศิลปะสวย ๆ คุณก็อาจมีความสุขหรือได้แรงบันดาลใจใหม่ ๆ กลับไป หรืองานแอนทีกก็เป็นต้นแบบของงานหัตถกรรมในยุคสมัยต่าง ๆ คุณเรียนรู้จากมันได้ ของเหล่านี้เป็นของฟรี พอมาทำสเปซแบบนี้ ผมเลยอยากทำให้มันสบาย ๆ อยากให้ทุกคนมาเข้าชม” คุณเอกตอบ

ยิ่งทำให้คนดูรู้สึกผ่อนคลาย ก็ยิ่งทำให้เขาเปิดใจได้ง่ายขึ้น ผมตั้งข้อสังเกต

“น่าจะอย่างนั้นครับ ผมว่าเป็นเหมือนพันธกิจอีกอย่างของคนสะสมงานแอนทีกเลยนะ คือการอนุรักษ์ของมีค่าเหล่านี้ไว้ให้คนรุ่นหลัง แน่นอน ผมอาจซื้อมาบูรณะและขายเพื่อทำกำไร แต่ในทางกลับกัน การที่ผมรวบรวมหลองข้าวเก่ามาสะสม ล้อมต้นไม้ใหญ่อายุ 200 – 300 ปีมาไว้ในสวน หรือกระทั่งการสะสมงานแอนทีกและเปิดโกดังให้คนมาเข้าชม เหล่านี้ก็เป็นวิธีหนึ่งในการอนุรักษ์สิ่งของที่นับวันจะสูญหายไปกับกาลเวลาด้วย 

“เพราะอีกหน่อยสมบัติเหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นของผมและภรรยาแล้ว อาจเป็นลูกหลานผม หรือส่งต่อไปให้คนอื่น แต่การเปิดพื้นที่ให้คนเข้ามาดู มาศึกษา อย่างน้อย ๆ ก็อาจช่วยให้คนอื่น ๆ เข้าใจคุณค่าของงานแอนทีก คุณค่าของประวัติศาสตร์ คุณค่าของงานศิลปะ ไปจนถึงคุณค่าของต้นไม้ใหญ่และสิ่งแวดล้อม เหล่านี้มีส่วนช่วยปลูกฝังความคิดเรื่องการอนุรักษ์ ซึ่งลึก ๆ แล้วผมมองว่าเป็นจุดมุ่งหมายหนึ่งในชีวิต ควบคู่ไปกับการทำธุรกิจในสิ่งที่ผมรัก” คุณเอกทิ้งท้าย

Mango Art Festival 2023 จัดแสดงที่ ‘โกดัง ดีสยาม’ (De Siam Warehouse) ถึงวันที่ 10 ธันวาคม เปิดให้เข้าชมฟรีตั้งแต่เวลา 11.00 – 21.00 น. ข้อมูลเพิ่มเติม Facebook : Mango Art Festival 

De Siam Antiques Chiangmai

Writer

จิรัฏฐ์​ ประเสริฐทรัพย์

จิรัฏฐ์​ ประเสริฐทรัพย์

นักเขียนและนักแปล แต่บางครั้งก็หันมาทำงานศิลปะ อาศัยอยู่ที่เชียงใหม่ ผลงานล่าสุดคือรวมเรื่องสั้น 'รักในลวง'

Photographers

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ

จิรัฏฐ์​ ประเสริฐทรัพย์

จิรัฏฐ์​ ประเสริฐทรัพย์

นักเขียนและนักแปล แต่บางครั้งก็หันมาทำงานศิลปะ อาศัยอยู่ที่เชียงใหม่ ผลงานล่าสุดคือรวมเรื่องสั้น 'รักในลวง'