17 ตุลาคม 2019
9 K

The Cloud x Sustainable Development Goals

Sustainable Development Goals หรือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คือข้อตกลงระหว่างองค์การสหประชาชาติ (UN) กับประเทศต่างๆ ว่าจะร่วมมือสร้างโลกให้เติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกันใน 17 เป้าหมาย

สไลด์ถูกฉายขึ้นบนจอกลางห้องเรียน คุณครูสวมไมค์ลอย มีคอมพิวเตอร์วางบนโต๊ะคู่กับหนังสือเรียนเวอร์ชันอักษรเบรลล์ 

เสียงหัวเราะของนักเรียนในห้องสะท้อนความสนุกในการเรียนผ่านสื่อการสอนรูปแบบใหม่อย่าง Kahoot ที่คุณครูเลือกใช้เป็นสื่อการสอนเพื่อให้ห้องเรียนก้าวทันโลก เมื่อจบคาบนักเรียนจะได้รับโจทย์ผ่าน QR Code และส่งการบ้านผ่านเฟซบุ๊กกรุ๊ปและสอบถามส่วนที่สงสัยกับคุณครูได้ตลอดเวลา 

มาถึงตรงนี้ ถ้าเริ่มอยากเข้าไปนั่งเรียนกับพวกเขา ขอให้เตรียมตัวรับความเซอร์ไพรส์ที่มากกว่านั้นไว้สักนิด 

หนึ่ง เพราะห้องเรียนภาษาอังกฤษแห่งนี้ใช้หัวใจสอน

และสอง นอกจากวิชาที่เขาถ่ายทอด เส้นทางชีวิตของคุณครูคนนี้ยังเป็นแรงบันดาลใจให้ใครต่อใครทั้งในและนอกห้องเรียน

คอลัมน์ Sustainable Development Goals พาคุณเข้าไปนั่งในชั้นเรียนของ ครูไอซ์-ดำเกิง มุ่งธัญญา ชายผู้เป็นแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อน เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อที่ 10 Reduced Inequality ภายใน พ.ศ. 2573 สร้างความเข้มแข็งและส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ของทุกคน โดยไม่จำกัดอายุ เพศ ความพิการ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ รวมถึงสร้างหลักประกันถึงโอกาสที่เท่าเทียมด้านผลลัพธ์ และขจัดกฎหมายนโยบาย การดำเนินงานที่เลือกปฏิบัติ

ดำเกิง มุ่งธัญญา ผู้ก้าวข้ามการมองไม่เห็นสู่พ่อพิมพ์ของชาติที่มอบแรงบันดาลใจให้คนทุกคน

จากเด็กชายดำเกิงผู้ค้นพบความสุขจากการได้อธิบายการบ้านให้รุ่นน้อง สู่การเป็นบัณฑิตเกียรตินิยมจากรั้วจามจุรี และพิชิตฝันแรกเมื่อได้บรรจุเป็นคุณครูสมใจจากความรู้ความสามารถของตัวเอง ด้วยตั้งใจเต็มเปี่ยม เทคโนโลยี และเทคนิคการสอนใหม่ๆ ทำให้ห้องเรียนของครูไอซ์เต็มไปด้วยกิจกรรมและสื่อการสอนสุดครีเอตอยู่เสมอ

ทว่าความฝันของเขาไม่หยุดเท่านั้น ล่าสุดเขาได้รับทุน Fulbright ไปศึกษาระดับปริญญาโทด้านการสอนที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 2020 ที่จะถึงนี้ คำถามจึงไม่ใช่เพียงว่า เขามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร แต่ลึกลงไปคือ สิ่งแวดล้อมและตัวตนแบบไหนที่ผลักดันให้เขาเดินทางมาถึงจุดนี้ จุดที่การมองเห็นไม่ใช่ข้ออ้างสำหรับความสำเร็จอีกแล้ว

ไอซ์บอกว่า เขาอยากสนับสนุน Inclusive Education หรือห้องเรียนที่ให้คนพิการได้มีโอกาสเรียนร่วมกับนักเรียนปกติเพื่อเป็นการจุดประกายอย่างหนึ่งให้คนตาดีกับคนตาบอดเข้าใจกันมากขึ้น และรู้ว่าจะใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมได้อย่างไร

ดำเกิง มุ่งธัญญา ผู้ก้าวข้ามการมองไม่เห็นสู่พ่อพิมพ์ของชาติที่มอบแรงบันดาลใจให้คนทุกคน

“พอเราเริ่มมีชื่อเสียงในระดับหนึ่ง เราไม่ได้ภูมิใจที่มีคนรู้จัก แต่ภูมิใจที่มีคนเชิญไปพูดเรื่องการสนับสนุนให้คนพิการมีงานทำ กลายเป็นว่าเราสร้างแรงบันดาลใจให้คนพิการและคนปกติได้ด้วย ทำให้พบว่าจริงๆ แล้วเราทำได้มากกว่าในสเกลโรงเรียนนะ ถึงแม้เราจะเป็นครูธรรมดาคนหนึ่ง แต่เราช่วยอะไรสังคมได้อีกเยอะ”

ไม่มีกำแพงแห่งข้อจำกัดใดสูงใหญ่ไปกว่าความมุ่งมั่นตั้งใจ และนี่คือบทสนทนากับครูไอซ์ที่เราเชื่อว่าจะมอบแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตอย่างเต็มเปี่ยม และไม่ใช่แค่เพื่อตัวเองเท่านั้น แต่เป็นการใช้ชีวิตเพื่อคนอื่นๆ ในสังคมด้วย 

01

ต้น ที่ กล้า

ต้นไม้จะงาม ไม่ใช่เพียงจากเมล็ดพันธ์ที่ดี หากต้องการดินดี เช่นเดียวกับไอซ์ที่เติบโตขึ้นด้วยความอบอุ่นและโอกาส จากครอบครัว เพื่อน และโรงเรียน จนกลายมาเป็นไม้งามที่ให้ร่มและประโยชน์ต่อสิ่งมีชีวิตอื่นต่อไป 

ย้อนกลับไปในช่วงวัยเยาว์ ยุคนั้นยังไม่มีอินเทอร์เน็ตหรือของเล่นมากนัก เวลาว่างของเด็กชายไอซ์ถูกใช้ไปกับการอ่านหนังสือ วิ่งเล่นกับเพื่อนที่โรงเรียน และเล่นกับน้องชายด้วยการรับบทเป็นคุณครู 

หลังเรียนจบชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ เด็กนักเรียนผู้พิการทางสายตามีทางเลือกในการเรียนต่อไม่มาก บ้างเลือกออกจากระบบการเรียนด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น ครอบครัวไม่เชื่อว่าการเรียนจะส่งผลที่ดีต่อชีวิตมากนัก ต้องไปช่วยที่บ้านหาเงิน บ้างเลือกเรียนสายอาชีพ หรือถ้าเลือกเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาก็จะเข้าสู่ระบบการเรียนรวม (Inclusive Education) ซึ่งเปิดโอกาสให้นักเรียนผู้มีความพิการเข้าร่วมชั้นเรียนกับนักเรียนปกติเพื่อให้ได้ฝึกการอยู่ร่วมกันในสังคม

การเรียนระดับมัธยมในระบบเรียนร่วมนั้น เปรียบเสมือนการย้ายต้นอ่อนจากแผงเพาะชำมาลงดินครั้งแรก ที่นี่จึงเป็นด่านแรกที่นักเรียนตาบอดทุกคนต้องปรับตัว ทั้งในเรื่องการเข้าสังคม การใช้ชีวิตประจำวัน และการเปลี่ยนจากการเรียนด้วยอักษรเบรลล์ในชั้นประถม สู่การอ่านและส่งการบ้านแบบตัวอักษรปกติ ทางเลือกนี้จึงไม่ใช่ทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากนัก 

ทว่าต้นกล้าต้นนี้เลือกจะเติบโตในชั้นมัธยมที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ดินแปลงแรกที่ทำให้เขาเริ่มเห็นภาพอนาคตของตัวเองชัดเจนขึ้น

ดำเกิง มุ่งธัญญา ผู้ก้าวข้ามการมองไม่เห็นสู่พ่อพิมพ์ของชาติที่มอบแรงบันดาลใจให้คนทุกคน

“โรงเรียนเซนต์คาเบรียลมีโควตาให้ทุนนักเรียนตาบอดมาเรียนร่วมปีละสองคน ซึ่งที่นี่เป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษ (Intensive English) คือวิชาหลักเป็นภาษาไทย และมีวิชาเสริมเป็นภาษาอังกฤษ เช่น คณิตศาสตร์เพิ่มเติม วิทยาศาสตร์เพิ่มเติมจะเป็นภาษาอังกฤษ พอเป็นภาษาอังกฤษเด็กก็จะกลัว เลือกไปเรียนที่อื่นกัน ตอนนั้นเหงามาก พอมีรุ่นน้องตาบอดเข้ามาเรียน เราได้ไปช่วยอธิบาย พอเห็นน้องเข้าใจแล้วเราก็มีความสุข รู้สึกว่านี่แหละคือสิ่งที่อยากทำ เลยเริ่มอยากเป็นครู

“พอได้เรียนหลักสูตรภาษาอังกฤษทำให้ได้ใช้ภาษาอังกฤษบ่อย แล้วเรารู้สึกว่าเราทำได้ บวกกับเราสนุกกับภาษาอังกฤษอยู่แล้ว เราเคยอยากเป็นครูสอนเลข แต่เลขเราเข้าใจอยู่คนเดียว เลยอยากสอนอะไรที่เราถ่ายทอดได้จริงๆ และตอนนั้นคิดอีกอย่างหนึ่งว่าถ้าเป็นครูไม่ได้ ภาษาอังกฤษก็ยังมีประโยชน์ต่อชีวิต เอาไปทำอย่างอื่นได้” 

ชีวิตในรั้วมัธยมของไอซ์ มีเพื่อนและครอบครัวช่วยอ่านหนังสือเสียงให้ หากต้องเขียนรายงานส่ง เขาจะใช้วิธีนำการบ้านกลับมาให้คุณแม่ช่วยอ่านและเขียนให้ แต่ถ้าเป็นการบ้านที่คุณครูอนุญาตให้ใช้คอมพิวเตอร์ได้ เขาก็ใช้โปรแกรมอ่านจอภาพช่วยอ่านและพิมพ์งานส่งได้ด้วยตัวเอง 

หลังจบมัธยม ไอซ์เลือกสาขาที่สนใจศึกษาต่อไว้ 2 ทาง คือสายครุศาสตร์ และสายอักษรศาสตร์ 

“ตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัยเตรียมตัวเยอะมาก ถ้าเป็นคนปกติอาจจะไปซื้อหนังสือติวได้ แต่เราต้องหาโหลดจากเว็บ ถ้าเป็นไฟล์ PDF จะใช้โปรแกรมอ่านจอภาพช่วยอ่านได้ แต่ถ้าเป็นไฟล์รูปก็จะอ่านไม่ได้ และหาเรียนเพิ่มเติมจาก Youtube ใช้ฟังเสียงเอา ไม่ได้ไปเรียนพิเศษที่ไหน เพราะคิดว่าไม่ช่วยอะไรนะ” 

ซึ่งความพยายามก็พาให้เขาได้เข้ามาเรียนที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาวิชามัธยมศึกษา มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ วิชาเอกภาษาอังกฤษขั้นสูง 

02

ชีวิตนักเรียนครูของคุณครูไอซ์

ต้นไม้ที่กำลังแตกยอดอ่อนได้ย้ายมาอยู่ใต้ร่มต้นจามจุรี ดินผืนใหม่ที่มีพื้นที่ให้เขาได้เติบโตแผ่นกิ่งก้าน และแน่นอนว่า การรับมือกับ แรงลม แดด ฝน หนักกว่าเคย ในห้องเรียนไอซ์เป็นนักเรียนแถวหน้าที่พกความตั้งใจไปเต็มกระเป๋าทุกวัน จนเป็นที่รักของเพื่อนๆ และอาจารย์ จนเมื่อขึ้นชั้นปีที่ 3 เขาก็ได้รับคำชวนจากเพื่อนให้ลองออกมาทำกิจกรรมนอกห้องเรียน

“ชีวิตการเรียนปกติต้องรบกวนให้เพื่อนช่วยอ่านเอกสารให้ เลยอาจจะอ่านช้ากว่าคนอื่นหน่อย แต่ก็ผ่านมาได้ เรามาสนุกขึ้นตอนเพื่อนชวนมาทำค่าย ‘อยากเป็นครู’ เป็นค่ายที่ให้เด็กมัธยมปลายมาเรียนรู้คณะ เหมือนโอเพ่นเฮาส์ พอทำจึงได้มาเจอเด็กๆ มัธยม เขามาขอคำแนะนำ แล้วเราได้ให้คำเเนะนำเขา เรารู้สึกว่านี่แหละ ใช่เลย คือการได้เป็นครูแบบชัดๆ เลย

ดำเกิง มุ่งธัญญา ผู้ก้าวข้ามการมองไม่เห็นสู่พ่อพิมพ์ของชาติที่มอบแรงบันดาลใจให้คนทุกคน

“ตอนแรกก็ไม่กล้าทำ แต่เพื่อนให้โอกาส เพื่อนคุยเรื่องค่ายกันอยู่แล้วเราอยากลองทำ เพื่อนก็เลยชวนให้มาอยู่ฝ่ายวิชาการ เหมือนเส้นเข้ามาเลย (หัวเราะ) ซึ่งนั่นกลายมาเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก เพราะถ้าเราไม่ได้ทำตรงนี้ เราก็คงเอาแต่เรียนในห้องเรียน” 

ความรู้สึกจากการทำค่ายในวันนั้นเสมือนเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่ทำให้ภาพการเป็นครูของเขาชัดเจนขึ้น และช่วยย้ำว่าเขากำลังเดินมาถูกทาง แต่ใครก็รู้เส้นทางสายนี้โรยด้วยหนามกุหลาบ ด่านต่อไปที่นิสิตคณะครุศาสตร์ทุกคนจะต้องเจอในการเรียนปีสุดท้ายคือ การฝึกสอนในโรงเรียน

ดำเกิง มุ่งธัญญา ผู้ก้าวข้ามการมองไม่เห็นสู่พ่อพิมพ์ของชาติที่มอบแรงบันดาลใจให้คนทุกคน

“การที่เรามาฝึกสอน ช่วงแรกคนอาจจะสงสัย ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เพราะขนาดตัวเราเองตอนนั้นยังกลัวเลยว่าเราจะฝึกสอนได้รึเปล่า ตอนแรกเขาจะให้ฝึกสอนที่โรงเรียนสอนคนตาบอด แต่โรงเรียนมีแค่ชั้นประถมศึกษา ซึ่งเราเรียนสาขามัธยมศึกษา ตัวเราเองก็กังวลว่าจะทำได้ไหม 

“จึงเริ่มจากการฝึกสอนรุ่นน้องที่รู้จัก เป็นลูกพี่ลูกน้องกัน และด้วยความที่เคยทำค่ายอยากเป็นครู ทำให้ได้รู้จักรุ่นน้องมากขึ้น เราเลยเอาตรงนี้มาเป็นจุดเริ่มต้นให้เราพัฒนาตัวเอง ไปสอนน้องๆ ฟรี ในขณะที่เพื่อนคนอื่นไปเป็นติวเตอร์หารายได้เสริมกัน เราก็ใช้ตรงนี้เป็นการฝึกตัวเอง”

ไอซ์ฝึกสอนเทอมแรกที่โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นด่านปราบเซียนของนิสิตฝึกสอน และใช้เวลาเทอมสองที่โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย ไอซ์ใช้ความขยันเป็นจีพีเอสนำทางและมีความตั้งใจจริงเป็นเกราะคุ้มภัย เขาผ่านด่านฝึกสอนมาได้พร้อมบาดแผลเล็กน้อยทว่าสวยงาม ไอซ์เรียนจบพร้อมเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง (เกรดเฉลี่ย 3.95) และคว้าฝันแรกสำเร็จด้วยการสอบผ่านเข้าบรรจุเป็นข้าราชการครู สอนวิชาภาษาอังกฤษได้ที่โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย

03

กำแพงของการมองไม่เห็น

เมื่อบัดนี้ต้นไม้ต้นนี้เติบใหญ่ ถึงเวลาย้ายสู่ดินผืนใหม่เผื่อให้เขาได้หยั่งรากและแผ่กิ่ง เขาเคยฝึกสอนที่โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัยมาแล้ว นี่จึงเหมือนการได้กลับบ้านอีกครั้ง เพียงแต่คราวนี้เขากลับมาในฐานะของคุณครูอย่างเต็มตัว 

แม้จะได้กลับคืนสู่ผืนดินอุดมที่คุ้นเคย แต่ภาพของการเป็นผู้พิการทางสายตานั้นดึงดูดความสงสัย ความไม่เชื่อใจ จากทั้งครูคนอื่นในโรงเรียน นักเรียน และผู้ปกครอง อย่างเลี่ยงไม่ได้ ในบทบาทของการเป็นครูเขาเองก็ต้องทำการบ้านหนักไม่แพ้นักเรียน

“ตั้งแต่ตอนที่มาฝึกสอน แรกๆ เด็กก็สงสัยว่าครูจะสอนได้ไหม แต่เด็กไม่พูดนะ แต่เด็กมายอมรับทีหลังว่าคิดเหมือนกันว่าครูจะไหวไหม จะทำได้หรือเปล่า แต่พอเขาลองเรียนก็เห็นว่าเราทำได้

ดำเกิง มุ่งธัญญา ผู้ก้าวข้ามการมองไม่เห็นสู่พ่อพิมพ์ของชาติที่มอบแรงบันดาลใจให้คนทุกคน

“พอได้มาบรรจุก็หนักกว่าตอนฝึกสอน เราได้รับการต้อนรับจากโรงเรียนอย่างดี แต่ก็มีผู้ปกครองบางคนที่มีความกังวลเพราะเขาไม่ได้รู้ว่าเราจบอะไรมา หรืออาจจะรู้แต่ก็ยังมีติดนิดหนึ่งกับคำว่าตาบอด จะสอนลูกเขายังไง จะคุมห้องยังไง ซึ่งเราเข้าใจนะ ไม่ว่าเราจะไปอยู่ที่ไหนเราก็ต้องเจอกับคำถามพวกนี้อยู่แล้ว 

“ต้องขอบคุณคุณครูในหมวด คุณครูพี่เลี้ยงที่คอยช่วย และ คุณครูวีณา รัตนสุมาวงค์ หัวหน้าหมวดภาษาต่างประเทศ ที่ให้โอกาส เขาพยายามบอกว่าเราทำได้นะ โดยให้สอนเเบบค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากให้สอนในระดับเดิมก่อน มีไปติวสอบ O-Net บ้าง ช่วงแรกชั่วโมงยังไม่เยอะมากเท่าไหร่”

ไอซ์เล่าต่อว่า “เวลามีประชุมผู้ปกครองเราไม่เคยโดนคำพูดหรือปะทะตรงๆ แต่จะมีครูพี่เลี้ยงเล่าให้ฟังว่ามีคนมองบ้าง มีคนสงสัยบ้าง จากภาพที่เขาเห็นเรา เราคิดเสมอว่าเราจะทำอย่างไรให้เขามั่นใจว่าเราสอนลูกเขาได้

“เราก็มานั่งลิสต์ว่าเรายังทำอะไรไม่ได้ เราก็ต้องยอมรับตรงๆ ว่ามีบางอย่างที่เรายังทำได้ไม่เต็มที่ สมมติวันนั้นไม่มีคอมพิวเตอร์เราจะแก้ปัญหายังไง เราเขียนกระดานไม่ได้ เราก็ต้องพูดสดสอน หรือเราคุมเด็กด้วยสายตาไม่ได้ ก็มานั่งคิดว่าจะทำยังไงให้เด็กฟังเรา จึงหาเทคนิคใหม่ๆ มาทำให้เขาอยากเรียนกับเรา

“กับเพื่อนครูและการทำงานอื่นๆ ที่โรงเรียนอย่างยืนเวรเราก็ช่วย เขาจะให้ยืนในจุดที่ยืนหลายคน ทางโรงเรียนพยายามช่วยให้เราได้ทำสิ่งที่เราทำได้ เช่น ช่วงสอบเราคุมสอบไม่ได้ ก็มารับหน้าที่เป็นคนประกาศเวลาสอบแทน มีคุณครูพิมพ์ข้อมูลมาให้ในคอมพิวเตอร์ ซึ่งปกติเขาเขียน นี่ก็เป็นความช่วยเหลือ พอมาทำตรงนี้ก็เลยได้เป็นประชาสัมพันธ์ให้โรงเรียนด้วย เพราะเราใช้เสียงพูดได้ เราประทับใจโรงเรียนในแง่ที่เขาดึงจุดที่เราทำได้มาให้เราได้ทำด้วย”  

เมื่อเจอกำแพงของความไม่เชื่อใจและถนนสายนี้ไม่มีทางลัด ทางเดียวที่จะก้าวข้ามกำแพงนั้นไปได้ คือการทำให้เห็น โดยที่ไม่ลืมเห็นคุณค่าของตัวเอง 

“เราให้กำลังใจตัวเองด้วยการมองสิ่งที่เรามี วันที่เราท้อมันไม่ได้แปลว่าเราล้มเหลวไปทุกอย่าง มันมีจุดที่เราทำได้ เช่น ตอนช่วงเรียน ท้อมาก เหนื่อยกับการทำเอกสาร เราก็มองย้อนกลับไปว่าเราก็สอบเข้าครุฯ จุฬาฯ เอกอังกฤษ ได้นะ เรายังผ่านพวกนั้นมาได้ ไม่ใช่ว่าเราไม่ได้อะไรเลย เราผ่านมาเยอะ จนทุกวันนี้เราพิสูจน์ให้คนเห็นแล้วว่าเราทำได้”  

04

ห้องเรียนของครูไอซ์

ห้องเรียนของเขาสร้างด้วยคานความตั้งใจ วางบนเสาความทุ่มเท แล้วบรรจงเรียงอิฐความใส่ใจทีละก้อน ก่อนจะฉาบทับด้วยความอยากพัฒนาอยู่เสมอ นอกจากนั้น เทคโนโลยีเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เข้ามาเป็นสื่อสำคัญในห้องเรียนนี้อีกด้วย 

ผู้มีความบกพร่องทางสายตาใช้คอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนได้ปกติ ด้วยการติดตั้งโปรแกรมอ่านจอภาพ เช่น โปรแกรม NVDA (Non Visual Desktop Access) ซึ่งเป็นโปรแกรมอ่านจอภาพบนระบบปฏิบัติการวินโดว์ที่พัฒนาโดยคนไทย หรือการเปิดโหมด Accessibility Access ในโทรศัพท์มือถือ ซึ่งช่วยอ่านไฟล์เทกซ์ทั้งจากโปรแกรมต่างๆ และบนอินเทอร์เน็ตออกมาเป็นเสียง

ผู้ก้าวข้ามการมองไม่เห็นสู่พ่อพิมพ์ของชาติที่มอบแรงบันดาลใจให้คนทุกคน

ไอซ์ส่งหนังสือเรียนทุกเล่มไปให้อาจารย์ช่วยแปลงเป็นอักษรเบรลล์เพื่อใช้อ่านเตรียมตัวก่อนมาสอนและง่ายต่อการจดโน้ตเป็นอักษรเบรลล์ในส่วนที่นักเรียนยังไม่เข้าใจเพื่อที่เขาจะได้ไปทำการบ้านมาเพิ่ม พร้อมทำสไลด์ PowerPoint เพื่อใช้สอนเนื้อหาในแต่ละคาบ

เวลาว่างส่วนใหญ่ของครูไอซ์ถูกใช้ไปกับการหาเทคนิคใหม่ๆ ในการมาสอนจากเว็บต่างๆ เช่น British Council และ English Teaching Forum ห้องเรียนของเขาจึงเต็มไปด้วยกิจกรรมและสื่อการสอนใหม่ๆ เสมอ 

หนึ่งในนั้นคือ Kahoot แอปพลิเคชันในการสร้างและตอบคำถามออนไลน์ ที่กำลังได้รับความนิยมในห้องเรียนและการสัมมนาทั่วโลก โปรแกรมจะคล้ายๆ การเล่นเกมตอบคำถามแบบ ก ข ค ง โดยฉายคำถามขึ้นจอ แล้วเด็กๆ จะกดตอบคำถามจากมือถือหรือคอมพิวเตอร์ของตัวเองได้ เพื่อแข่งกันว่าใครจะได้คะแนนมากที่สุด การบ้านของเขาถูกจัดทำด้วยโปรแกรม Microsoft Word พร้อมมี QR Code ให้นักเรียนทำควิซต่อได้อีก

ผู้ก้าวข้ามการมองไม่เห็นสู่พ่อพิมพ์ของชาติที่มอบแรงบันดาลใจให้คนทุกคน

“คนมักจะสงสัยเรื่องตรวจการบ้านยังไง เราใช้ Google Quiz สร้างการบ้าน ทำไฟล์เอกสารแล้วให้เด็กส่งมาทางอีเมลล์หรือเฟซบุ๊ก ส่วนข้อสอบปรนัยจะมีคอมพิวเตอร์ช่วยตรวจอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นตัวข้อสอบอัตนัยนี่ต้องให้น้องฝึกสอนหรือครูในหมวดช่วยอ่านให้ โดยเราจะทำเฉลยไว้ แล้วมานั่งคุยกันให้ผลการตรวจเป็นเรามากที่สุด ก็ต้องยอมรับว่าบางอย่างเราต้องพึ่งพาคนอื่นบ้าง” 

ระหว่างทางที่เราเดินคุยกับครูไอซ์ มีนักเรียนส่งเสียงสวัสดีและวิ่งเข้ามาชวนคุยอยู่ตลอดทาง จนอดสงสัยไม่ได้ว่านี่เราเดินอยู่กับคุณครูหรือดารากันแน่ เด็กๆ เล่าให้เราฟัง (แอบเม้าลับหลังครูไอซ์) ว่า ช่วงแรกมีไม่มั่นใจบ้างว่าครูจะสอนไหวไหม แต่พอได้ลองเรียนก็ชอบ ครูสอนสนุก ส่วนบางคนมีรุ่นพี่บอกต่อกันมาว่าครูสอนดีทำให้อยากเรียน 

เด็กๆ ยังเล่าเสริมอีกว่า ถึงแม้คุณครูจะมองไม่เห็น แต่คุณครูรู้ทุกครั้งถ้ามีใครแอบคุยกันหรือใครไม่ตั้งใจเรียน เขาจะใช้วิธีเรียกถามคำถาม ถ้าตอบไม่ได้ก็จะโดนจับได้ทันทีว่าไม่ตั้งใจฟังครู

“ครูไอซ์มีหนังสือเรียนเวอร์ชันอักษรเบรลล์ของเขาเอง เขาตอบได้หมดเลยว่าอะไรอยู่หน้าไหน แม่นกว่าหนูอีก บางทีบอกถูกหน้ากว่าครูบางคนด้วยค่ะ” 

“ครูไอซ์มีเกมมาตลอด มีชิพมาแจกเด็กๆ หนูชอบมาก (ประสานเสียง) ใครตอบคำถามได้ก็จะได้ชิพ แล้วไปบวกเป็นคะแนนจิตพิสัยท้ายเทอม” 

  ไอซ์เปลี่ยนภาพจำของคุณครูที่เด็กๆ ต้องเคารพแต่ไม่กล้าสบตา เป็นคุณครูที่ลูกศิษย์หลากรุ่นต่างวิ่งเข้ามาหา มาอัพเดตชีวิตส่วนตัวให้ฟัง ไม่ต้องมองเห็นก็รับรู้ได้ว่าดอกไม้ที่เขาใช้ความตั้งใจรดนั้นกำลังบานสะพรั่ง

05

ข้อสอบอัตนัย

มาถึงตรงนี้คงไม่มีคำถามอีกแล้วว่าเขาสอนได้อย่างไร ต้นไม้ต้นนี้หยั่งรากยืนต้นอย่างมั่นคง แผ่ร่มเงาให้แก่ทุกคนที่อยู่ใกล้ ไอซ์ได้รับการยอมรับจากทั้งนักเรียน เพื่อนร่วมงาน และผู้ปกครอง แล้ววันนี้อะไรคือสิ่งที่ยากที่สุดในการสอน เราถาม

“จะทำยังไงให้เด็กอยากเรียน” ไอซ์ตอบกลับทันที พร้อมย้ำหลายครั้งว่าคำถามนี้ไม่มีคำตอบตายตัว และเป็นสิ่งที่เขาก็พยายามหาคำตอบใหม่ๆ มาอัพเดตห้องเรียนของเขาอยู่เสมอ 

“เราสอนแบบมีเกม มีกิจกรรม ให้เด็กได้พูด ได้จับคู่กัน อย่าง ม.ต้น เขาจะชอบพูด ส่วน ม.ปลาย ก็เอาข้อสอบเข้ามหา’ลัยมาติวเสริมให้เขา ที่สำคัญ เราจะเปิดโอกาสให้เด็กกล้าตอบ ถ้าตอบผิดก็จะไม่ว่า เพราะภาษาอังกฤษ สิ่งสำคัญคือต้องกล้า เด็กต้องเรียนรู้จากข้อผิดพลาดให้ได้ มันทำให้เด็กอยากเรียนขนาดนั้นไหม มันก็ยังนะ เราก็ยังมีประสบการณ์ไม่มาก ยังต้องหากันต่อไป” 

แล้วถ้าให้ออกแบบวิชาของตัวเองได้ อยากสอนวิชาอะไร เราถามต่อ 

“English for Life สอนภาษาอังกฤษพื้นฐานในการใช้ชีวิต เช่น ทักษะการสื่อสาร การพูด การเขียน การติดต่อ อาจจะเป็นการเขียนจดหมาย Complain เขียนชื่นชม หรืออวยพรวันคริสต์มาส แล้วก็มีเสริมส่วนการค้นหาตัวเอง” ไอซ์ตอบพร้อมรอยยิ้ม 

ดำเกิง มุ่งธัญญา ผู้ก้าวข้ามการมองไม่เห็นสู่พ่อพิมพ์ของชาติที่มอบแรงบันดาลใจให้คนทุกคน

ปัจจุบันไอซ์สอนที่โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัยมาเกือบ 3 ปีแล้ว มีสอนสัปดาห์ละ 18 คาบ ให้นักเรียนชั้น ม.2 กับ ม.6 และยังคงหาวิธีการสอนใหม่ๆ มาให้นักเรียนของเขาเสมอ 

ล่าสุด ไอซ์ได้รับทุน Fulbright เพื่อไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเขาตั้งใจว่าจะไปศึกษาเพิ่มเติมด้านการสอนภาษาอังกฤษ หาประสบการณ์เพิ่มเติมเพื่อกลับมาพัฒนาการสอนของเขา 

จากเด็กชายไอซ์ที่เคยเป็นนักเรียนร่วมในชั้นมัธยม ค่อยๆ ค้นพบตัวเองและก้าวข้ามอุปสรรคในการเรียน จนกลายมาเป็นคุณครูผู้สอนในชั้นเรียนของเด็กสายตาปกติ เขาพิสูจน์ให้คนเห็นแล้วว่าการมองไม่เห็นไม่ใช่ข้อจำกัดของการเรียนการสอน แล้วอะไรคือข้อจำกัดของวงการการศึกษาไทย อันนี้เป็นคำถามที่เราต้องช่วยกันตอบ (100 คะแนน) 

“เรื่องการศึกษา เราอยากให้เน้นภาคปฏิบัติมากขึ้น ทฤษฎีบางอย่างก็ต้องรู้ แกรมม่าก็ต้องเรียน แต่อยากให้เน้นการเอาไปใช้มากขึ้น เปิดให้นักเรียนได้ใช้ความคิดที่หลากหลาย ไม่จำกัดกรอบเขามาก ส่วนในภาพรวม ตอนนี้มีสอบเยอะมาก อยากให้ลดลง ให้นักเรียนได้เรียนรู้จากเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น 

“เช่นบางคนรู้เรื่องวิชาการหมดเลย แต่มาโรงเรียนยังไงไม่รู้ ควรให้เด็กได้มีทักษะชีวิต สิ่งสำคัญเลยคือทักษะที่จะใช้ในการแก้ปัญหา ไม่ใช่ปัญหาที่คุณครูกำหนดนะ แต่เป็นปัญหาในชีวิต ตรงนี้น่าจะเสริม ไม่อยากให้เรียนเพื่อแข่งเกรดกัน อยากให้ทุกคนช่วยกันเรียนแล้วประสบความสำเร็จไปด้วยกัน

ดำเกิง มุ่งธัญญา ผู้ก้าวข้ามการมองไม่เห็นสู่พ่อพิมพ์ของชาติที่มอบแรงบันดาลใจให้คนทุกคน

“เด็กแต่ละคนเขามีความต้องการแตกต่างกัน ไม่จำเป็นจะต้องไปในทางเดียวกัน ไม่ใช่ว่าจบวิทย์ต้องไปเป็นหมอทุกคน นี่คือสิ่งที่อยากเห็น การเรียนที่ตอบสนองความหลากหลายของแต่ละคน เขาเป็นอย่างไรให้เขาได้เป็น ให้เขาได้ลอง” 

เรามีโอกาสได้คุยกับคุณครูวีณา รัตนสุมาวงค์ หัวหน้าหมวดวิชาภาษาอังกฤษ ถึงความรู้สึกวันแรกที่ได้เจอไอซ์ เธอเล่าให้ฟังว่า ตอนแรกเธอเองก็กังวลและสงสัยว่าจะทำได้อย่างไร แต่เธอเชื่อมั่นว่าเขาผ่านอะไรมาเยอะ ความเป็นครูสำหรับเธอคือการให้โอกาส แม้ในช่วงแรกจะมีความสงสัยจากคนรอบข้างบ้าง แต่สุดท้ายไอซ์ก็พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าเขาทำได้ และเป็นครูที่มีศักยภาพสูง ทางโรงเรียนยินดีที่มีครูเก่งๆ มาสอนที่โรงเรียน 

“ทางโรงเรียนไม่ได้มีโควตาเพื่อคนพิการให้ เราให้โอกาสเขา ไม่ใช่แค่เพราะเขาเป็นคนพิการ แต่เราเห็นว่ามีความตั้งใจจริงและเขาพิสูจน์ให้เห็นว่าเขาทำได้ เขาได้มาเป็นครูเพราะเขามีความสามารถผ่านเกณฑ์ของโรงเรียน นักเรียนทุกคนรักครูไอซ์ ถ้าวันหน้ามีคนที่มีความสามารถ มีความตั้งใจอยากเป็นครู ไม่ว่าจะพิการหรือไม่ เรายินดีต้อนรับ” คุณครูวีณากล่าว 

06

Inclusive Society

ต้นไม้จะงาม ไม่ใช่เพียงจากเมล็ดพันธ์ที่ดี หากต้องการดินดี ที่นั่นจึงจะกลายเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์

เรื่องราวของครูไอซ์เป็นบทพิสูจน์ว่าการเติบโตขึ้นท่ามกลางดินที่อุดมไปด้วยโอกาส และความเข้าใจทั้งจากครอบครัว เพื่อน โรงเรียน และสังคม ส่งผลให้เขากลายมาเป็นไม้งามที่ให้ร่มและแรงบันดาลใจต่อคนอื่นๆ ในการช่วยกันขับเคลื่อน เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อที่ 10 Reduced Inequality

ในวันนี้ไอซ์วาดอนาคตไว้ว่าหลังจากเรียนจบเขาจะกลับมาเป็นคุณครูสอนเด็กๆ ไปเรื่อยๆ และถ้ามีโอกาสก็อยากเป็นวิทยากรหรือให้คำแนะนำเรื่องงานให้แก่ผู้พิการคนอื่นๆ ด้วย

“เราอยากสนับสนุน Inclusive Education การเรียนรวมให้คนพิการได้มีโอกาสเรียนร่วมกับนักเรียนปกติ อย่างที่เราได้รับโอกาส อีกอย่างเราคิดว่าการที่เรามาอยู่ตรงนี้ มันน่าจะเป็นการจุดประกายอย่างหนึ่งให้คนตาดีกับคนตาบอดเข้าใจกัน อย่างน้อยนักเรียนที่นี่เข้าใจเรา อย่างน้อยเขาเคยพาเราเดินและรู้ว่าเพียงให้คนตาบอดจับที่แขนเหนือข้อศอกแล้วเดินตามปกติ เขาก็ไปช่วยคนอื่นต่อได้ ซึ่งถ้าเราสอนแค่โรงเรียนสอนคนตาบอด ชีวิตจริงเด็กตาบอดไม่ได้อยู่ด้วยกันตลอดเวลา เลยคิดว่าเราอยู่ตรงนี้ถูกที่แล้ว” 

หากผืนดินที่ต้นไม้หลากพันธุ์อยู่ร่วมกันกลายเป็นผืนป่า เปรียบดั่งสังคมที่ผู้พิการและคนอื่นๆ อยู่ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งการอยู่ร่วมกันนั้นไม่ใช่การให้อภิสิทธิ์ใครอยู่เหนือใคร หากแต่เป็นการโอบรับความต้องการที่แตกต่างอย่างเปิดใจ เกื้อกูลในจุดที่อีกฝ่ายขาด และเลือกสรรจุดเด่นมาใช้เพื่อเติมเต็มกันและกัน สังคมคงกลายเป็นผืนป่าที่ร่มเย็นและน่าอยู่ 

ผู้ก้าวข้ามการมองไม่เห็นสู่พ่อพิมพ์ของชาติที่มอบแรงบันดาลใจให้คนทุกคน

Writer

Avatar

ภาพพิมพ์ พิมมะรัตน์

บัณฑิตจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำลังศึกษาต่อสาขา design for social innovation ที่สถาบัน School of Visual Art ในนิวยอร์ก สนใจงานศิลปะ และการออกแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องงานออกแบบเพื่อแก้ปัญหาสังคม