ก่อนอื่นขอสวัสดีปีใหม่คุณผู้อ่านที่ติดตามคอลัมน์ The Entrepreneur ทุกท่าน มกราคมเวียนมาทีไร เรามักจะตื่นเต้นเสมอ ยิ่งช่วงใกล้วันเด็ก ยิ่งเป็นธรรมเนียมของแผนกบทความธุรกิจไปแล้วที่จะเสาะหากิจการเหมาะแก่เด็กและเยาวชนมานำเสนอ 

ปีนี้เราขอชวนพี่วัยประถมทุกท่าน จัดชุดสวยตัวเก่ง แพ็กกระเป๋า เตรียมมาเช็กอินที่โรงแรมครีมกันค่ะ

ผู้ปกครองหลายท่านอาจเคยได้ยินชื่อของ ‘โรงแรมครีม’ หรือ CREAM Bangkok มาก่อน ซึ่งที่นี่เป็นพื้นที่การเรียนรู้ในรูปแบบของโรงแรมมหัศรรย์ 

The Cloud เองก็เฝ้ามองและหาโอกาสเหมาะ ๆ อยากเข้าไปทำความรู้จัก จนกระทั่งได้อ่านโพสต์คุณแม่นักเขียนรุ่นพี่ เล่าถึง ‘หนังสือพิมพ์ ข่าวเมืองผี ฝีมือของอนุบาลและประถมต้น’ เราก็สนใจ เมื่อค้นหาก็ได้รู้ว่านี่เป็นเวิร์กช็อปหนึ่งใน Holiday Workshop ที่โรงแรมมหัศจรรย์ CREAM Bangkok 

ท่ามกลางธุรกิจโรงเรียนและพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กมากมาย ที่นี่แตกต่างทั้งโจทย์การทำพื้นที่และวิธีการนำเสนอ เราจึงไม่รอช้า ชวน ครูใบปอ-อ้อมขวัญ เวชยชัย ผู้ก่อตั้ง พูดคุยถึงเรื่องที่ไม่เคยเล่าอย่างการสวมหมวกผู้ประกอบการ นอกจากเรื่องวิธีคิดเบื้องหลังโรงแรมครีม พื้นที่มหัศจรรย์ที่ดีต่อจินตนาการ ทำให้เด็กรักการอ่าน การเขียน และการเรียนรู้ อะไรคือสิ่งที่ทำให้ธุรกิจนี้ดำเนินการมาได้ต่อเนื่องยาวนานมาถึง 5 ปี 

ถ้าพร้อมแล้วขอเชิญเช็กอินที่ล็อบบี้ของโรงแรมได้เลยค่ะ

กาลครั้งหนึ่ง ไม่นานมานี้…

ครูใบปอเติบโตมาในครอบครัวที่แม่เป็นบรรณาธิการหนังสือ เธอจึงคุ้นเคยและรักหนังสือเด็กมาตั้งแต่เด็ก หลังจบจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครูใบปอก็ตัดสินใจไปเรียนวาดภาพประกอบหนังสือเด็กที่ประเทศอังกฤษ 

“หลักสูตรที่ไปเรียนนั้นดีมาก เพราะเขาไม่ได้สอนเทคนิคการวาดภาพ แต่สอนการเลือกมอง เทอมแรกทั้งเทอมก็มอบหมายภารกิจให้ออกไปสำรวจสิ่งต่าง ๆ และจดบันทึกผ่านการวาด ส่งไปฟังเสวนา ขณะเดียวกันเราก็สังเกตว่าประเทศนี้ให้ความสำคัญกับเด็กมาก ๆ ไม่ใช่แค่นิทาน แต่มีโรงละครเด็กเยอะมาก เราพบว่ามีหนทางให้เราได้รู้จักวิธีการคุยกับเด็กผ่านแพลตฟอร์มอื่น ๆ อีกมากมาย”

หนึ่งในนั้นคือ Writing Center หรือพื้นที่การเรียนรู้ ซึ่งเปิดความคิดสร้างสรรค์ผ่านการเล่าเรื่องและการเขียน โดยไม่จำกัดรูปแบบว่าต้องเป็นโรงเรียน ยิ่งได้เจอก็ประทับใจ พื้นที่แบบนี้กระจายตัวอยู่ในหลาย ๆ เมืองใหญ่ทั่วโลก เช่น ร้านขายของโจรสลัดในซานฟรานซิสโก ของ Dave Eggers (บรรณาธิการ นักเขียน และเจ้าของสำนักพิมพ์) มีหน้าร้านและมีข้าวของมากมาย โดยตัวงาน Creative Writing ต่าง ๆ จะมาในรูปแบบสินค้าและฉลากสินค้า ซึ่งเขียนสรรพคุณและวิธีใช้งานแสนสนุก ครูใบปอชื่นชอบไอเดียแบบนี้มาก ถึงกับจดทดไว้ในใจว่าอยากทำในไทยบ้าง

“หลังเรียนจบ เรารู้ตัวว่าไม่ได้สนุกกับการทำนิทานขนาดนั้น แต่เราชอบเจอเด็ก ชอบฟังความคิดของเด็ก อยากทำสิ่งที่ทำให้ได้เจอเด็กทุกวัน ระหว่างที่คิดกับตัวเองว่าถ้าไม่ใช่นิทานแล้วจะทำงานอะไรดี เลยไปสมัครเป็นครูอนุบาล” 

รู้ตัวอีกที ครูใบปอก็เก็บทดความฝันเรื่องการทำ Writing Center ไว้ในใจเกือบ 10 ปี

อยู่มาวันหนึ่ง ครูใบปอก็ได้ไปร่วมงานสัมมนาที่สิงคโปร์ และตอนที่พูดถึงพื้นที่เรียนรู้ของเด็ก เขามอบโจทย์ให้แลกเปลี่ยนกับคนข้าง ๆ ซึ่งครูใบปอบังเอิญได้ไปนั่งข้างคนที่เป็นเจ้าของ Writing Center ที่ประเทศออสเตรเลีย และเขาเป็นคุณครูมาก่อนเหมือนกัน 

“ต้องเล่าก่อนว่า ส่วนใหญ่ที่ทำ Writing Center มักจะเป็นนักเขียนดัง ๆ ทั้งนั้น ไม่เพียต่อยอดไปทำสำนักพิมพ์หรือหนังสืออื่น ๆ ได้ง่าย คนเหล่านี้ยังมีเพื่อนร่วมวงการมาช่วยสนับสนุนมาก พอรู้ว่าเขาเป็นครูมาก่อนเหมือนกันก็ตื่นเต้น หลังจากวันนั้นเราก็รีบติดต่อขอไปฝึกงานที่นั่นเป็นเวลา 1 เดือน”

ครูใบปอเล่าถึงช่วงฝึกงานให้ฟังว่า 100 Story Building เป็นอาคารชั้นเดียว มีประตูลับอยู่ที่พื้น มีป้ายเขียนบอกว่า นี่คือทางลงไปสู่ 99 ชั้นซึ่งอยู่ใต้ดิน นอกจากบอร์ดประกาศจากคนชั้นต่าง ๆ เช่น ประกาศตามหาลามะอวกาศของคนที่อยู่ห้องชั้น 67 หรือประกาศรับสมัครแมวเหมียวประจำชั้น 89 ยังมีข้อเขียนมากมายประดับประดาทั่วอาคาร (ขนาด 1 ชั้นแห่งนี้) และทั้งหมดนี้คือ Creative Writing ในคราบพื้นที่มหัศรรย์

“ถ้ารู้จักเด็กจริง ๆ จะรู้ว่า แม้เริ่มต้นด้วยการบอกข้อมูลแค่นี้ สำหรับเด็ก นี่คือเรื่องจริง ถึงรู้ว่าไม่จริงหรอก มันไม่ได้มีอะไร แต่อยากจะเชื่อว่าจริง อยากจะเล่นด้วย รูปแบบมันประมาณนั้น พอเห็นว่าเด็กมีปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่แบบนั้น พร้อมจะเชื่ออย่างสุดหัวใจ เขาทำให้การเขียนสนุกสำหรับเด็กได้จริง ๆ มีอะไรน่ามาเอามาเล่นต่อเยอะมาก ๆ ตอนไปฝึกงานที่นั่น เขาพาไปดูทุกซอกทุกมุมของธุรกิจเลย แชร์งานเอกสาร พาไปรู้จักนายทุน เปิดให้ดูดราฟต์แรกว่าวันแรกพื้นที่นี้เริ่มจากอะไร พอกลับมาเราก็ตัดสินใจลาออกเลย”

โรงแรมมหัศรรย์

เหตุผลที่ครูใบปอเริ่มต้นทำโรงแรม แม้ไม่ได้เรียนจบด้านการโรงแรมมาก่อน นั่นเป็นเพราะโรงแรมมีส่วนผสมที่เหมาะกับการเล่นจินตนาการต่อ เช่น คิดว่าแขกที่มาพักเป็นแบบไหน ของชิ้นนี้เป็นของแขกคนเมื่อวานที่ลืมทิ้งไว้ 

หรือแม้แต่ขั้นตอนละลายพฤติกรรมที่จุดเช็กอิน

ยินดีต้อนรับแขกมหัศจรรย์คนสำคัญ ไม่ทราบว่าวันนี้คุณรู้สึกอย่างไรบ้าง คุณคิดว่าถ้าปีนบันไดที่อยู่บนดาดฟ้าของโรงแรมขึ้นไปแล้วจะเจออะไร 

นี่คือตัวอย่างของคำถามเช็กอินที่จะเปลี่ยนไปในทุกวัน 

สำหรับโรงแรมครีมแล้ว นิยามของ ‘ความมหัศจรรย์’ คืออะไรก็เกิดขึ้นได้

นั่นเพราะสิ่งที่จำเป็นและควรจะต้องมีอยู่ในตัวเด็กทุกคน คือความรู้สึกถึงความเป็นไปได้ ไม่ว่าจะกับเรื่องอะไรก็ตาม

“เมื่อไม่มีขีดจำกัดในการเล่าเรื่อง เด็ก ๆ จะคิดถึงสิ่งที่เพี้ยนแค่ไหนก็ได้ ความคิดที่จับสิ่งนั้นมาชนสิ่งนี้จะไหลลื่น พรั่งพรู เช่น มีพื้นพัง เราก็จะชวนเด็ก ๆ มามุงดู พร้อมตั้งข้อสงสัยว่ามียานอวกาศมาจอดหรืออะไรพุ่งขึ้นมาตรงนี้ หรือไม่ว่าเด็ก ๆ จะทำสิ่งที่เพี้ยนแค่ไหน เราก็จะดึงให้กลายเป็นเรื่องเล่ามหัศจรรย์ได้ทั้งหมด เขาก็จะรู้สึกว่า ไม่ว่าเรื่องอะไรก็หยิบมาสร้างเรื่องเล่าใหม่ ๆ ของเขาเองได้”

ที่นี่เป็นโรงแรมกี่ดาวคะ – เราถาม

“แขกมหัศจรรย์บางคนให้หลายร้อย บางคนให้หลายล้าน ให้กันแบบเปลือง ๆ เลย”

เวลาอิสระ

ขณะที่พื้นที่การเรียนรู้สำหรับเด็กทั่วไปเต็มไปด้วยวิชาเรียนหรือตารางกิจกรรม

โรงแรมครีมมีช่วงเวลาโล่ง ๆ

.

.

.

โล่ง

โล่งโล่ง

.

.

โล่งมาก ๆ

.

.

.

ในแต่ละวัน แขกของโรงแรมครีมจะเป็นคนบอกเองว่าอยากทำอะไร

แม้จะเป็นพื้นที่มหัศจรรย์ที่เปิดให้ถาม เปิดให้คิดได้ไม่จำกัด แต่โรงแรมครีมจะไม่ถามเด็ก ๆ ว่า โตขึ้นอยากเป็นอะไร มีแต่ถามว่า วันนี้อยากทำอะไร

“ช่วงเวลาที่เขาอยู่ในพื้นที่นี้ เราอยากให้เขารู้สึกเป็นเจ้าของเวลา ครูใบปอจะไม่มาบอกว่าเขาต้องทำอะไร แต่เขาจะได้ทำในสิ่งที่อยากทำ ครูคิดว่าถ้าความรู้สึกการเป็นเจ้าของเวลานี้แข็งแรงมากพอ เมื่อใดก็ตามที่เขาเจอสิ่งที่ขับเคลื่อนหัวใจเขา เมื่อเขาโตขึ้น เขาจะเป็นได้ทุกอย่าง แต่เขาต้องรู้ก่อนว่าตอนนี้อยากทำอะไร”

แม้แต่ในสัปดาห์วาระพิเศษที่มีเวิร์กช็อปจริงจัง โรงแรมครีมก็จะบอกแค่ธีมงานว่าเกี่ยวกับอะไร แต่ไม่ได้บอกว่าจะให้ทำอะไร หรือใครควรจะทำอะไร เพื่อเปิดโอกาสให้เขาค้นหาและทดลองเรื่องเล่า ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะอลังการหรือเล็กน้อยแค่ไหน ทั้งหมดล้วนมีค่าต่อหัวใจของพวกเขา

“ถ้าเราเชื่อว่าเรื่องเล่าอยู่ในตัวเขาเยอะแยะ ทำไมเราไม่ให้เวลาเขา ให้แนวทาง เตรียมวัตถุดิบให้เขา หนังสือก็เป็นหนึ่งในวัตถุดิบให้เขาทดลองเล่าเรื่องแบบนี้บ้าง”

จะเห็นว่านอกจากพื้นที่เรียนรู้และเล่น เด็ก ๆ ต้องการเวลาและผู้ใหญ่ที่จะนั่งทำอยู่ข้าง ๆ ช่วยทำให้ไอเดียนั้นเป็นไปได้

เบื้องหลังแผนธุรกิจโรงแรมแสนสนุก

ที่ผ่านมาโรงแรมครีมไม่เคยทำการตลาดใด ๆ อาศัยแค่การบอกต่อกันของผู้ปกครองโรงเรียนในละแวกใกล้เคียง ซึ่งโชคดีที่ย่านนี้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนทางเลือกซึ่งเข้าใจการเล่นเป็นอย่างดี

แล้วโรงแรมครีมในมุมธุรกิจน่าสนใจอย่างไร เราจะเล่าให้ฟัง

แม้ว่าโรงแรมมหัศจรรย์แห่งนี้จะโฟกัสที่การเล่าเรื่องเป็นหลัก แต่ครูใบปอตั้งใจลดทอนนิยามพื้นที่ ไม่สื่อสารว่าเป็นพื้นที่ที่สอนการเขียนตรง ๆ เพราะกลัวจะสร้างความเข้าใจคลาดเคลื่อนหรือสร้างความคาดหวังที่มากเกินไป เช่น พ่อแม่อาจคาดหวังว่าส่งลูกมาที่นี่แล้วต้องเป็นนักเขียนที่เก่ง จบแล้วถืองานเขียนกลับบ้านไป ครูใบปอจึงพยายามสื่อสารว่าโรงแรมมหัศจรรย์แห่งนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องเล่า ซึ่งนักเขียนคือคนที่มีเรื่องเล่าและรู้วิธีถ่ายทอดออกมา

“เราให้ความสำคัญกับเรื่องเล่าและความคิดสร้างสรรค์มากกว่า อยากให้เด็ก ๆ มีประสบการณ์ ทำความรู้จักหนทางที่จะเล่าเรื่องหลาย ๆ แบบ กิจกรรมที่เกิดขึ้นที่นี่จึงไม่ใช่งานเขียนเพียงอย่างเดียว เราทำงานกับหนังสือเยอะ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะจำกัดความการเล่าเรื่องอยู่แค่นั้น เราขยายออกไปหลากหลายแบบ เพื่อหาหนทางการเล่าเรื่องที่เป็นธรรมชาติและเหมาะกับเรื่องเล่าของเขาที่สุด

อ่านมาถึงตรงนี้ คุณคงสงสัยว่าแล้วโรงแรมครีมสื่อสารเรื่องนี้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมไทยที่ทุกอย่างต้องการเป้าหมายชัดเจน เช่น มาเรียนว่ายน้ำก็ต้องว่ายน้ำได้ มาเรียนเปียโนก็ต้องเล่นเพลงนี้ได้ 

แล้วโรงแรมครีมทำอย่างไรกับเซอร์วิสที่ออกแบบมาเพื่อเวลาอิสระแบบนี้

“โชคดีที่มีคนที่เห็นคุณค่าของอิสระแบบนี้อยู่ และโชคดีที่โรงแรมเปิดรับแขกได้ไม่เยอะมาก กิจการของโรงแรมจึงยังคงดำเนินต่อไปได้แบบไม่ติดขัด” 

นอกจากแขกประจำที่แวะเวียนมาเข้าพักในช่วงเวลาอิสระจนแน่นขนัด โรงแรมครีมยังเปิดรับแขกขาจรเข้าร่วมกิจกรรมพิเศษตามความสนใจ 

และนี่คือตัวอย่างวิชาและเวิร์กช็อปที่เกิดขึ้นในโรงแรมแห่งนี้

Books & Cooking Club ตอน เมนูพิสดารจาก เรื่องพิสดารของเด็กชายโนริยาสึ (โดย ยาดามะ ชิโร สำนักพิมพ์ JBOOK) ไม่ว่าจะเป็น ดินสอชุบแป้งทอด กับ ข้าวแกงกะหรี่สูตรล่อปีศาจแกงกะหรี่ให้ออกมาจากนิทานคามิชิไบ ไปจนถึงกิจการเฉพาะกิจน่ารัก ๆ อย่างร้านลูกอมวิเศษหรือบริษัทดินสอประหลาด

หรือในช่วงฮาลโลวีนก็มีกิจกรรมอย่าง sCREAM School of Journalism ชวนเด็ก ๆ มาทำหนังสือพิมพ์ฉบับพิเศษ เล่าข่าวเมืองผีได้น่ารักน่าขนลุก โดยให้เด็ก ๆ มีส่วนร่วมตั้งแต่กระบวนการคิด ประชุมและแบ่งปันไอเดียกัน ไปจนเขียนข่าวและวาดภาพประกอบ

ครูใบปอเล่าว่าไอเดียส่วนใหญ่มาจากการสังเกตเด็ก ๆ ว่าอยากเล่นสนุกอะไร หรือ ณ ตอนนั้นมี Prompt หรือมีวัตถุดิบอะไรที่หยิบมาใช้ได้ เราต้องมองเห็นความเป็นไปได้เยอะ ๆ ทำคำจำกัดให้น้อย ๆ เท่านี้เราก็จะคิดออกมาได้เยอะแยะ 

“เราเรียนมาทางด้านการเขียนก็จริง แต่ไม่ได้มีหลักการออกแบบกิจกรรมหรือสร้างประสบการณ์ที่ตายตัวขนาดนั้น เราเพียงพยายามใส่ความมหัศจรรย์ลงไปให้หยิบจับได้ง่าย มีการโยน รับ-ส่งไอเดียกันระหว่างเพื่อน ๆ ไม่เพียงเด็ก ๆ จะได้ไอเดียการเรียนรู้ เรายังได้ไอเดียเพื่อสร้างเวิร์กช็อปมหัศจรรย์ใหม่ ๆ และเมื่อใจเราคิดจะเล่นสนุกตลอดเวลา พอเห็นอะไรที่ทำได้ เราทำเลย อยากทำอีก และอยากทำให้จริงจังขึ้นกว่านี้”

สำหรับผู้ที่สนใจมาเป็นแขกมหัศจรรย์ของโรงแรมครีม เราขอแจ้งกำหนดการช่วง Low Season และ High Season ดังนี้

หากเป็นช่วงปิดเทอม แขกจะหนาแน่นในช่วงวันธรรมดา ตั้งแต่เช้าจรดเย็น ขณะที่วันเสาร์-อาทิตย์แขกจะเบาบาง ซึ่งระบบปิดเทอมที่ไม่เหมือนกันของโรงเรียนไทยและโรงเรียนนานาชาติทำให้โรงแรมครีมมีแขกหนาแน่นเกือบตลอดทั้งปี

ส่วนในช่วงเปิดเทอม แขกจะหนาแน่นวันเสาร์-อาทิตย์ ถึงอย่างนั้นโรงแรมในวันธรรมดาก็มีอะไรสนุกให้ทำมากมาย พร้อมบริการสำหรับแขกกลุ่มอื่น ๆ เช่น แขกโฮมสกูลและแขกน้องเล็กที่ยังไม่เข้าโรงเรียน

ไม่ใช่แค่ตารางเรียนที่โล่งและแสนยืดหยุ่น วิธีคิดทำธุรกิจของโรงแรมครีมก็เรียบง่าย ยืดหยุ่น ตั้งใจให้ปรับแผนได้ตลอดเวลา 

“ตอนเริ่มต้น ตั้งใจจะทำพื้นที่เหมาะกับการเล่าเรื่อง เราไม่ได้คิดมาก่อนว่าต้องรองรับเด็กเล็ก แต่เป็นความต้องการของผู้ปกครองที่อยากให้ลูกวัยยังไม่เข้าโรงเรียนได้เล่นและทำกิจกรรม ทำให้เราเริ่มคิดถึงแผนงานและออกแบบสำหรับเด็กเล็ก ๆ”

ถึงแม้โมเดลหารายได้สำหรับเซอร์วิส After School จะไม่ใช่สิ่งที่ทำรายได้หลัก แต่สำหรับโรงแรมครีม บริการที่เปิดให้แขกเริ่มเข้าพักหลังเลิกเรียน (After School) นั้นมีค่าทางใจมาก เพราะเป็นช่วงเวลาโล่ง ๆ ที่เด็กจะมาจริง ๆ

เรื่องเล่ามหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่

จริงอยู่ที่การปล่อยให้เด็กเล่นสนุกเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ ผู้ปกครองจัดหาหนังสือและอุปกรณ์ให้พร้อมเท่าไหร่ก็ได้ แต่การใช้เวลาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน เวลาเดียวกัน มีคนอื่น ๆ ที่พร้อมเล่นสนุกกับเขา สิ่งนี้ทำให้เครื่องบินที่ประดิษฐ์ที่บ้านกับเครื่องบินที่ประดิษฐ์ที่โรงแรมมหัศจรรย์แตกต่าง

“เราให้ความสำคัญกับสิ่งที่เราจะนำเสนอ ซึ่งเป็นสิ่งธรรมดาที่สุด เราอยากให้เด็ก ๆ มีโอกาสคิดและทำเต็มที่ อาจเป็นของธรรมดา แต่สำหรับเด็กมันพิเศษจริง ๆ”

รวมถึงพิเศษสำหรับครูใบปอและทีมงานโรงแรมครีมทุกคนด้วย ความสัมพันธ์ที่มากกว่าครู-นักเรียน ที่พบกันเพียง 1 ภาคการศึกษา หรือสถานที่ที่เคยไปครั้งหนึ่ง แต่โรงแรมครีมอยู่ในใจของแขกทุกคนเสมอ บ้างใกล้ชิดประหนึ่งเป็นครอบครัว ยังติดต่อส่งข่าวกันตลอด 5 ปี บ้างขอสมัครเป็นพนักงานโรงแรมมหัศจรรย์

“มีแขกมหัศจรรย์ถามเข้ามาเยอะมาก ๆๆๆๆๆๆๆ ว่า หากอยากเป็นพนักงานของโรงแรมมหัศจรรย์ต้องทำอย่างไร หรือต้องมีอายุเท่าไหร่ถึงจะขอเข้ามาฝึกงานได้บ้าง”

เมื่อถามถึงผลงานที่ภูมิใจ ครูใบปอตอบทันทีว่า ‘ทุกชิ้น’ ซึ่งมีมากมายนับไม่ถ้วน และต่อให้ตั้งใจนับจำนวนก็คงไม่หวาดไม่ไหว เพราะมันช่าง ‘พรั่งพรูออกมา ไหลออกเหมือนเขื่อนแตก’ ครูใบปอเปรียบเปรยให้เราคิดภาพตามอย่างง่าย ๆ 

“เราโชคดีมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในช่วงเวลาที่เขาทำโปรเจกต์เล็กใหญ่ของเขา มันเป็นโมเมนต์ที่ดีมากเลยนะคะ การได้เฝ้ามองเขาง่วนอยู่กับอะไรสักอย่าง ได้เห็นตอนที่เขาภูมิใจมาก ๆ เห็นตอนที่เจอกับอุปสรรคบางอย่างแล้วฮึดกลับมาได้ สำหรับเรา ทุกอย่างมันสำคัญหมดเลย”

แล้วในฐานะโรงแรมมหัศจรรย์ แขกของโรมแรมครีมมักออกจากโรงแรมไปด้วยความรู้สึกแบบไหน – เราถาม

“เป้าหมายของที่นี่ คือทำให้แขกมหัศจรรย์รู้สึกดีกับตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองมหัศจรรย์”

วัยซนคนมหัศจรรย์ ตอน จินตนาการที่หล่นหาย

รู้ตัวอีกทีพวกเราก็อยู่ในพื้นที่มหัศจรรย์นี้ร่วมหลายชั่วโมง สนุกกับจินตนาการที่ซ่อนอยู่จนลืมเวลาในโลกจริง ขณะเดียวกันก็อยากย้อนเวลากลับไปเป็นเด็กเสียเดี๋ยวนั้น พอ ๆ กับที่คิดถึงตัวเองในเวอร์ชันเด็กจิ๋วที่เพี้ยนสุดขั้ว 

จริงมั้ยคะที่จินตนาการจะค่อย ๆ หายไปเมื่อเราโตขึ้น อะไรคือปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้จินตนาการของเราเพิ่มขึ้นหรือหายไปกันแน่ – เราชวนครูใบปอคุยทิ้งท้ายถึงจินตนาการที่หายไป

“ครูใบปอคิดว่าจินตนาการอยู่ในตัวเด็กทุกคนเสมอ เพียงแค่เขามีเวลาว่าง ๆ และรู้วิธีการถ่ายทอดเรื่องเล่า ซึ่งไม่ใช่การเขียนออกมาในรูปแบบรายงาน จะเล่าเรื่องโดยปากเปล่าแล้วมีใครสักคนตั้งใจฟังเขา ชวนเขาคุยต่อ หรือชาเลนจ์เรื่องเล่ากันไปมาด้วยความคิดที่เพี้ยนมาก ๆ จินตนาการก็จะยิ่งมีมากขึ้นและออกมาเรื่อย ๆ 

“สิ่งที่น่าเสียดายคือจินตนาการนั้นไม่ได้หายไปหรอก เพียงแต่เด็ก ๆ ไม่ได้ปล่อยพลังออกมาหรือไม่มีใครได้เห็นมัน”

เหตุผลจริง ๆ ที่เราสนใจประเด็นจินตนาการในวัยเด็ก เพราะคนเจ๋ง ๆ ที่ The Cloud ได้พบและมีโอกาสพูดคุยมักมีจุดร่วมจุดเดียวกันที่น่าสนใจ นั่นคือชีวิตในวัยเด็กที่เติบโตอย่างอิสระ หรือมีวัยเด็กที่มีอิทธิผลต่อตัวตนและผลงานในปัจจุบันมาก ๆ และเราก็รู้ดีว่าผู้ปกครองทุกคนอยากมอบสิ่งดีที่สุดให้แก่ลูก ทั้งการเรียนเป็นเลิศ สนับสนุนความรักและความฝันทุกทาง โดยมักจะลืมว่า ‘เวลาว่าง ๆ’ คือกุญแจดอกวิเศษที่ปลดล็อกความมหัศจรรย์ของเด็ก ๆ ได้

Lessons Learned

  • เชื่อเรื่องการหากันจนเจอ คิดเสมอและชัดเจนกับตัวเองว่านี่คือสิ่งที่อยากทำ เราอยากเป็นโรงแรมมหัศจรรย์ พยายามเล่าเรื่องของเรา แล้วอยู่ ๆ ก็มีคนหาเราเจอ เคยมีคนเตือนให้ระวังคนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นโรงแรมจริง ๆ และแม้การทำให้คนเข้าใจจะยากมาก แต่ไม่เป็นไร เพราะอย่างน้อยเด็ก ๆ เข้าใจ
  • การทำงานกับเด็กไม่ใช่แค่เข้าใจเด็ก แต่ต้องมีความเป็นเด็ก โดยเฉพาะชอบเล่นสนุก
  • แม้ว่าโตแล้ว เราก็อยู่กับความมหัศจรรย์สุดเพี้ยนแบบเด็ก ๆ ได้ ความมหัศจรรย์จะนําไปสู่ความอยากรู้ อยากเห็น อยากเรียนรู้ และต้องมีหัวใจนักสำรวจ ตามหาเรื่องราวมากมายในโลกที่เต็มไปด้วยอะไรก็ไม่รู้เยอะแยะไปหมด

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

โตมร เช้าสาคร

โตมร เช้าสาคร

ชอบถ่ายวิวมากกว่าคน ชอบกินเผ็ดและกาแฟมาก เป็นคนอีโค่เฟรนลี่ รักสีเขียว ชวนไปไหนก็ได้ไม่ติด ถ้ามีตัง