The Cloud x สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม
คำพูดที่ว่า ‘ผ้าไทยใส่ไปทิศไหนใคร ๆ ก็ต้องเหลียว’ มาพร้อมกับคำถามที่ว่า แล้วทำไมถึงไม่ค่อยมีคนใส่ ไม่ค่อยมีใครเหลียว หรืออาจเป็นเพราะเข้าถึงยากเกินไป ไม่ร่วมสมัย หรือไม่ได้มีพื้นที่ให้ศิลปะแขนงนี้เฟื่องฟูมากนักหรือเปล่า
สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม จึงจัดทำโครงการพัฒนาลายผ้าไทยร่วมสมัยถิ่นแดนใต้ (Contemporary Southern Batik) เพื่อเปิดโอกาสให้นักออกแบบและผู้ประกอบการท้องถิ่นได้ร่วมงานกัน โดยในครั้งนี้มีนักออกแบบรุ่นใหม่ทั้งหมด 3 คน แต่ละคนจับคู่กับผู้ประกอบการท้องถิ่น 2 แห่ง ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต กระบี่ นครศรีธรรมราช ปัตตานี และยะลา
โจทย์คือ เปลี่ยนให้ผ้าบาติกไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เข้าใกล้วิถีชีวิตคนมากขึ้น ใส่ง่าย ใส่ได้จริง ใส่ในชีวิตประจำวันได้แม้ไม่ได้มีโอกาสสำคัญ
Nobody’s Perfect
นักออกแบบ : ภาณุพงศ์ คำดี
ผู้ประกอบการ : ยิ่งบาติกเพ้นท์ (ภูเก็ต) และ ไฑบาติกเขาคราม (กระบี่)
ผ้าบาติกแบบเบสิกคงไม่ใช่ภาพที่คุ้นตาเท่าไหร่นัก แต่ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีสีสันฉูดฉาดเสมอไป เช่นเดียวกับผลงานของ เดียร์-ภาณุพงศ์ คำดี ที่ตีโจทย์นี้ออกมาเป็นเสื้อผ้าสไตล์ Everyday Look
“เราตั้งใจให้ใส่ได้จริงที่สุดแล้ว เริ่มคิดก่อนว่าถ้าเรากล้าใส่ คนอื่นก็จะกล้าใส่ด้วย”
บาติกแบบของเดียร์เปรียบเสมือนฟุตเทจภาพถ่าย 1 ใบ
เพราะลวดลายบนผ้าเกิดจากไอเดียภาพถ่ายรอยร้าวของตึกรอบเมือง เดียร์เล่าว่าเขาชอบสแนปภาพรอยแตกของตึก รอยน้ำ ร่องรอยบนผนัง หรืออะไรก็ตามแต่ที่ธรรมชาติรังสรรค์ขึ้นมา
“เราว่าสวยดี เป็นความสวยที่ไม่ได้ปรุงแต่ง ไม่ได้สร้างขึ้น” เดียร์บอก ก่อนจะเล่าต่อว่าไม่ได้มีแรงบันดาลใจอะไรเป็นพิเศษ แต่สิ่งที่เกิดรอบตัวนี้ต่างหากที่เป็นแรงบันดาลใจ จึงเลือกหยิบพาร์ตหนึ่งของช่วงชีวิตที่อินมากมาผสานกับเทคนิคบาติก เพราะลายเส้นของบาติกเล่าเรื่องร่องรอยต่าง ๆ นี้ได้
ด้วยความเป็นรอยแตก รอยร้าว พื้นผิวที่ไม่เรียบ เดียร์จึงเลือกใช้เนื้อผ้าที่มีผิวสัมผัสต่าง ๆ แบบหยัก ย่น แบบที่ชาวบ้านไม่เคยลองทำ เช่น ผ้าคอตตอนทอยับ เพื่อให้เกิดเท็กซ์เจอร์สอดคล้องกับลาย
สำหรับผู้ประกอบการเจ้าแรกคือ ยิ่งบาติกเพ้นท์ จังหวัดภูเก็ต หนึ่งในร้านบาติกเก่าแก่ประจำจังหวัดภูเก็ตที่ทำมากว่า 30 ปี ตั้งแต่รุ่นคุณพ่อของ เพ้นท์ ส่วนตัวเธอเข้ามารับช่วงต่อเมื่อ 8 – 9 ปีที่ผ่านมา
จากเดิมที่เป็นลายกนก ลายขอ ลายไทย เพ้นท์เข้ามาปรับให้ลายมีความโมเดิร์นขึ้น เน้นลายกราฟิก เสน่ห์ของเพ้นท์คืองานเพ้นท์โดยใช้พู่กัน เธอถนัดวาดลายด้วยมือมากกว่างานพิมพ์ เพราะการวาดมือจะให้เส้นที่พลิ้วกว่า ดูมีชีวิตชีวากว่า ตอบโจทย์แนวคิดงานชิ้นนี้ของเดียร์ได้อย่างดี
ส่วนเอกลักษ์ณ์ที่เด่นชัดที่สุดของ วิสาหกิจชุมชนไฑบาติกเขาคราม จังหวัดกระบี่ คือการใช้สีธรรมชาติจากพืชพรรณในพื้นที่ ส่วนมากเป็นพืชจากป่าชายเลน เช่น ไม้โกงกาง ไม้โปรงแดง ไม้ตะบูน ต้นจาก หูกวาง และผลไม้ประจำท้องถิ่น เช่น เงาะ สะตอ ลูกเนียง มังคุด ต้นหลอ เป็นต้น
นอกจากพืชให้สีแล้ว ยังเป็นการชูวัตถุดิบท้องถิ่นให้เห็นคุณประโยชน์ที่ซ่อนอยู่
ขึ้นชื่อว่าสีธรรมชาติ แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาไม่ใช่สีโทนอ่อน เบา ๆ ฟุ้ง ๆ อย่างที่สีธรรมชาติส่วนมากมักเป็นสีของไฑบาติก สด สวย ชัด สีที่เป็นไฮไลต์ที่สุดคือสีครามจากครามปัตตานี ได้เมล็ดมาจากวัชพืชริมทะเล และก่อหม้อครามด้วยน้ำทะเล ทำให้สีติดดียิ่งขึ้น
สิ่งที่ทั้งสองเรียนรู้ร่วมกันจากการจับมือกันระหว่างนักออกแบบกับผู้ประกอบการ นั่นคือการจุดประกายไอเดียใหม่ ๆ และแบ่งปันเทคนิคในการทำงานซึ่งกันและกันเพื่อต่อยอดงานสร้างสรรค์
Beauty of Imperfection
นักออกแบบ : สมชัย ธงชัยสว่าง
ผู้ประกอบการ : บาติก เดอ นารา (ปัตตานี) และ อาดือนันบาติก (ยะลา)
ผลงานชิ้นถัดมา คือ ‘Beauty of Imperfection’ ของ ตง-สมชัย ธงชัยสว่าง ดีไซเนอร์ชาวเชียงรายผู้สนใจผ้าท้องถิ่นตั้งแต่ภาคเหนือ ภาคกลาง มาจนถึงภาคใต้อย่างผ้าบาติก
เขาคลุกคลีกับผ้ามาตั้งแต่จำความได้
จากโจทย์ที่ได้รับมาว่าต้องเป็นเสื้อผ้าที่ใส่ได้จริง ตงเลยนึกก่อนว่าอะไรคือความธรรมดา ความเรียบง่าย หรือความเป็นจริงบ้างในชีวิตประจำวัน เขาเลือกแนวคิดของ Wabi Sabi ในการยอมรับความแตกต่างหรือสิ่งที่ไม่สมบูรณ์แบบจากการเปลี่ยนแปลงและกาลเวลา มาถ่ายทอดผ่าน 4 ผลงานนี้
ความไม่สมบูรณ์แบบที่ว่าล้วนมาจากสิ่งรอบตัวที่พบเจอได้ในชีวิตประจำวัน เช่น กาฝากบนต้นไม้ เชื้อราในอาหาร หินผุพังซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของมอสส์และแบคทีเรีย เศษชามแก้วเซรามิกที่แตก ด้วยคอนเซปต์นี้ ตงจึงให้ความสำคัญกับสีและลาย เลยเลือก 2 ผู้ประกอบการท้องถิ่นที่ถนัดในเทคนิคนี้
ผู้ประกอบการรายแรก คือ บาติก เดอ นารา จังหวัดปัตตานี ของ รอวียะ หะยียามา ผู้เริ่มทำบาติกหลังกลับมาอยู่บ้านมาแล้ว 20 กว่าปี แต่เมื่อถามถึงเอกลักษณ์เฉพาะตัว เธอกลับมีมุมมองว่า แฟชั่นไม่ใช่เรื่องตายตัว แบรนด์หนึ่งจำเป็นต้องทำแบบเดียวไปตลอดเหรอ ในเมื่อโลกแฟชั่นหมุนไปทุกวัน
แต่หากจะหาคำจำกัดความที่พอให้เห็นภาพบาติกของ เดอ นารา ก็คืองานที่เนี้ยบ เส้นเทียนคม สีสันเอิร์ทโทน อ่อนละมุน และในกระบวนการทำงานร่วมกัน ตงเลือกทางเดินคนละครึ่งทาง โดยเล่าไอเดียและแรงบันดาลใจแทนการส่งแบบให้ดู เพื่อให้ผู้ประกอบการใช้จินตนาการสร้างสรรค์ลายออกมา
โดยผลงานที่ร่วมสร้างสรรค์ระหว่างรอวียะและตง ถูกถ่ายออกมาอย่างกลมกลืมจากความบังเอิญของการทดลองผสมสีพร้อมทั้งการจรดฝีแปรงลงบนผืนผ้าลินิน และทุกครั้งที่เธอได้รังสรรค์ผลงาน นับเป็นความท้าทาย ครั้งนี้ก็เช่นกัน เธอทดลองใช้วัสดุใหม่ ๆ จนได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นผลงานที่ตรงกับแนวคิดของทั้งนักออกแบบและผู้ประกอบการ
สีผ้าสด ลวดลายตวัดชัด คือเอกลักษณ์ที่ยากจะเลียนแบบของ อาดือนันบาติก จังหวัดยะลา ที่หยิบยกลายหินอ่อนและการทำไม้ไผ่ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งของการทำกรงนกมาเล่าผ่านผืนผ้า
“เชื่อว่าถ้าใส่ความสนุกลงไปในงานจะทำให้ทำงานอย่างมีความสุขและทำได้เรื่อย ๆ” เขาว่า
บาติกทุกผืนของอาดือนันจึงเกิดจากความสุขที่เขาได้ลงมือทำ และมาจากฝีมือของกลุ่มชาวบ้านที่ทำงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดการกระจายงานส่งต่อรายได้อย่างทั่วถึง เช่น บ้านหนึ่งทำสี บ้านหนึ่งทำเสื้อ บ้านหนึ่งทำเดรส การทำสิ่งนี้จึงไม่ใช่แค่ธุรกิจส่วนตัว แต่เป็นเหมือนเครือข่ายชุมชนที่ทำงานด้วยกัน
การสะบัดแปรง การปาดฝีแปรงของแต่ละคนไม่เหมือนกัน และทักษะ ประสบการณ์ของผู้ประกอบการแต่ละคนทำให้งานมีเอกลักษณ์ ไม่จำเป็นต้องเหมือนหรือคล้ายเพื่อทำให้งานสมบูรณ์
“เพราะความสวยงามก็คือความไม่สมบูรณ์แบบ” ตงเชื่อในสิ่งที่สอดคล้องกับงานของเขา
The Wisdom In Imperfection
นักออกแบบ : นรบดี ศรีหะจันทร์
ผู้ประกอบการ : รายา บาติก (ปัตตานี) และ InnoYa Thailand บาติกข้าว (นครศรีธรรมราช)
จากการเข้าร่วมประกวด Young Designer Ready to Wear ของ แม็ค-นรบดี ศรีหะจันทร์ ทำให้ดีไซเนอร์ชาวสุรินทร์ผู้สนใจผ้าพื้นเมืองอยู่แล้ว ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการอย่างไม่ลังเล
แม็คตั้งคำถามว่าทำไมผ้าพื้นเมืองแต่ละชุมชนทำให้ร่วมสมัยไม่ได้ หรือไม่ได้รับการยอมรับโดยคนหมู่มาก เป็นแค่ผ้าที่ใช้ในโอกาสสำคัญเท่านั้น ทั้งที่ผ้าไทยก็สวมใส่จริงในชีวิตประจำวันได้
จากนั้นแม็คตัดสินใจลงมือ ลงพื้นที่ พูดคุย หาเทคนิคร่วมกับผู้ประกอบการ โดยเลือกทำงานร่วมกับ รายา บาติก จังหวัดปัตตานี และ InnoYa Thailand บาติกข้าว จังหวัดนครศรีธรรมราช
เขาใช้ธรรมชาติ พืชพรรณ และความอุดมสมบูรณ์ของป่าเขาลำเนาไพรในภาคใต้เป็นแรงบันดาลใจในการรังสรรค์ผ้าไทยถิ่นแดนใต้ร่วมสมัย ด้วยเทคนิคบาติก ร่วมกับ 2 ผู้ประกอบการจากด้ามขวาน
ผู้ประกอบการรายแรก คือ รายา จาก รายา บาติก จังหวัดปัตตานี เธอรู้ตัวตั้งแต่เด็กว่าชอบวาดรูปและศิลปะ โดยเลือกเรียนคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และตัดสินใจประกอบกิจการผ้าบาติกมาตั้งแต่เรียนจบ เอกลักษณ์งานผ้าของเธอเหมือนสื่อผสม เธอสนุกกับการหาเทคนิคใหม่ ๆ มาใช้ในงาน
ลวดลายที่แม็คออกแบบร่วมกับรายา บาติก เป็นภาพทิวทัศน์ของป่า จากการวาดมือและลงสีซ้อนทับหลายชั้นเพื่อมิติและความทรงจำ และนำมาตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าแนวสปอร์ตและสตรีตแวร์
ผู้ประกอบการรายที่ 2 คือ InnoYa Thailand บาติกข้าว ขึ้นชื่อว่า ‘บาติกข้าว’ หลายคนสงสัยว่าหน้าตาออกมาเป็นยังไง ซึ่งเป็นเทคนิคที่ ชญาชล และ จักรทอง ทองเกียว คิดค้นขึ้นจากการมองวัตถุดิบท้องถิ่นและต้องการพัฒนาข้าวไทย พืชเศรษฐกิจหลักของอำเภอเฉลิมพระเกียรติ โดยเริ่มจากนำข้าวไปโม่แล้วนำน้ำข้าวมากั้นสีแทนน้ำเทียน กรองเอาโคลนมาละเลงบนผ้าและสร้างลวดลาย เมื่อโคลนแห้งก็เผยผิวสัมผัสของเมล็ดข้าว ปกติชญาชลนำผ้าไปซักก่อน 1 รอบเพื่อรักษาอายุผ้าจากความเสี่ยงเชื้อรา แต่แม็คมองว่าเท็กซ์เจอร์ที่เหลืออยู่นั้นนำมาเล่าเรื่องต่อได้อีก จึงเลือกคงกระบวนการนั้นเอาไว้
ไม่เพียงแต่ได้เทคนิคใหม่ วิธีทำนี้ยังลดมลพิษในอากาศ เพราะไม่เกิดควันเผาไหม้จากการต้มผ้า และอาจจุดประกายให้วงการศิลปวัฒนธรรม รวมถึงอุตสาหกรรมผ้าท้องถิ่นของประเทศไทย
ท้ายที่สุด การทำให้ศิลปะเข้าถึงง่าย คือด่านแรกที่ทำให้ศิลปะเหล่านั้นคงอยู่และเติบโตต่อไปได้
ทั้งดีไซเนอร์และผู้ประกอบการต่างเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ทั้งสองได้มาเจอกัน มีโอกาสทำงานร่วมกัน ทั้งคู่ต่างได้เรียนรู้เทคนิคจากความถนัดของแต่ละคน มากกว่าเรื่องการออกแบบที่ทั้งคู่ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ยังมีเรื่องการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม เพราะการร่วมงานกับคนต่างถิ่นต่างภาษา ต้องมีการปรับตัว เข้าใจ และยอมรับ อีกสิ่งที่สำคัญ คือเมื่อนักออกแบบได้ร่วมงานกับผู้ประกอบการ ทำให้ได้แลกเปลี่ยนเทคนิค ทั้งสองฝ่ายจะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เอาไปปรับใช้จนเพิ่มมูลค่าของงานได้
เมื่องานมีคุณค่าเพิ่มขึ้น คนเข้าถึงมากขึ้น ศิลปะก็มีพื้นที่ให้แสดงกว้างขึ้น
ซึ่งสิ่งนี้คือการเติบโตอย่างยั่งยืนที่ควรได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง