ดิฉันรู้จักชื่อบริษัท ComeLuck ครั้งแรก ตอนที่บริษัทนี้ได้รับรางวัลพิเศษ ‘บริษัทที่ประเทศญี่ปุ่นควรให้ความสำคัญมากที่สุด’ เมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา 

ที่สะดุดตา เพราะบริษัทนี้ไม่เพียงช่วยแก้ปัญหาในวงการอุตสาหกรรม แต่ยังช่วยกลุ่มคนที่ไม่ค่อยมีใครเหลียวแล นั่นคือ ‘ผู้พิการ’ ให้มีงานทำได้ ขณะเดียวกันก็ยังเติบโตและสร้างกำไรได้อย่างต่อเนื่อง จนมีจังหวัดอื่น ๆ ในญี่ปุ่นขอนำวิธีการทำธุรกิจของบริษัทนี้ไปใช้ 

จุดเริ่มต้นของบริษัทนี้เป็นอย่างไร เติบโตอย่างแตกต่างได้อย่างไร ติดตามอ่านกันค่ะ

อดีตหนุ่ม IT ผู้เคยมั่นใจในตนเองอย่างเหลือล้น

เคน คามุระ เคยทำงานในบริษัท IT ที่โตเกียวมาก่อน เขามีรายได้สูงมาก จนเผลอคิดไปว่าตัวเองสำคัญในการขับเคลื่อนบริษัท เขาเริ่มมีอีโก้มากขึ้นเรื่อย ๆ จนวันหนึ่งภรรยาของเขาซึ่งเป็นคนฟุกุโอกะคลอดลูก ทั้งครอบครัวจึงตัดสินใจย้ายถิ่นฐานไปอาศัยอยู่ที่ฟุกุโอกะแทน 

คามุระก็หางานด้าน IT ที่ฟุกุโอกะทำ เขามั่นใจในประสบการณ์และความสามารถที่มี แต่ความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น

แม้ฟุกุโอกะจะเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของภูมิภาคคิวชู ทางตอนใต้ของญี่ปุ่นก็จริง แต่บริษัทส่วนใหญ่ล้วนมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่โตเกียว เวลาแต่ละบริษัทจะตัดสินใจทำระบบ IT หรือพัฒนาซอฟต์แวร์อะไร สำนักงานใหญ่ในโตเกียวก็มักมีบริษัทเจ้าประจำอยู่แล้ว การที่คามุระเคยคิดว่าเขาเป็นคนสำคัญในบริษัทนั้น จริง ๆ แล้วเพราะมีทีมอื่น ๆ คอยสนับสนุน เขาถึงทำสัญญาและได้โปรเจกต์ต่าง ๆ ต่างหาก

ภาพ : biblion.jp/tags

คามุระได้เรียนรู้ว่าการจะทำงานด้าน IT และอยู่รอดในฟุกุโอกะได้ ต้องอาศัยการแนะนำ การบอกต่อ และสายสัมพันธ์ที่ดี เขารู้สึกขอบคุณบุคคลหลายคนที่เขาได้เจอและแนะนำงานให้เขา นั่นเป็นจุดแรกที่ทำให้คามุระเริ่มสนใจในการจับคู่ เหมือนที่มีใครหลายคนได้จับคู่เขากับบริษัทที่ต้องการระบบ IT ดี ๆ ได้ 

ขณะเดียวกัน หลังจากมีลูกและย้ายมาอยู่ฟุกุโอกะ คามุระก็อยากสร้างประโยชน์อะไรบางอย่างให้กับเมืองนี้ อยากให้เมืองนี้เป็นเมืองที่ดีและดีกับลูกเขาซึ่งกำลังจะเติบโตที่นี่ เขาจึงคิดอยากสร้างธุรกิจสักอย่างขึ้นมา

ด้วยความที่เขาทำงานในบริษัท IT มานาน เขาเห็นว่าวงการนี้ยังขาดแคลนคนทำงานอยู่มาก เมื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมก็เห็นว่ามีหลายบริษัทพยายามจ้างงานผู้พิการให้เข้ามาช่วยทำงานด้านนี้ แต่เกิดปัญหาหลายประการ เช่น โปรเจกต์ไม่ค่อยคืบหน้า หรือเมื่อพัฒนาแอปฯ บางอย่างออกมาก็ไม่ค่อยมีคนใช้ 

จริง ๆ แล้วนี่ไม่ใช่ปัญหาการจ้างผู้พิการ แต่เป็นปัญหาการบริหารจัดการที่ไม่ค่อยดีของผู้ว่าจ้างเสียมากกว่า 

ผู้พิการที่มีเพื่อนร่วมงานที่ดี แต่ก็ยังลาออก

คามุระเริ่มเห็นว่าจริง ๆ แล้วผู้พิการมีความสามารถ เข้ามาช่วยเหลือวงการ IT ที่กำลังขาดแคลนคนได้ แต่ความต้องการของนายจ้างกับความสามารถของผู้พิการนั้นไม่ค่อยตรงกันเท่าไรนัก

มีหญิงสาวผู้พิการท่านหนึ่ง มีความสามารถทางด้าน IT เป็นอย่างดี เธอสอบเข้าทำงานในบริษัททั่วไปได้ เธอเข้าทำงานพร้อมกับเด็กจบใหม่คนอื่น ๆ 

ตอนแรกเธอมุ่งมั่นตั้งใจมาก ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป เธอได้รับแต่งานง่าย ๆ แสนสบาย ทั้งที่คนรอบตัวเธอดูยุ่งกับงานกันหมด เธอลองถามเจ้านายดูว่ามีงานอะไรให้เธอช่วยหรือเปล่า แต่เจ้านายตลอดจนคนในทีมก็บอกเธอว่าไม่เป็นไร ๆ และยังคงให้เธอทำแต่งานเดิม ๆ ไม่ซับซ้อน และแทบไม่เกี่ยวกับด้าน IT เลย

หลังจากนั้นไม่นาน เธอตัดสินใจลาออกจากบริษัทนี้ ทั้งที่เพื่อนร่วมงานและหัวหน้าใจดีกับเธอ 

เมื่อได้เห็น ได้ยินเรื่องราวของผู้พิการเหล่านี้มากเข้า คามุระตัดสินใจสร้างบริษัท ComeLuck ขึ้นมาในวัย 40 ปี 

ชื่อบริษัท ComeLuck นี้ ภรรยาเขาเป็นคนช่วยคิดให้ เพราะพ้องกับชื่อ คามุระ และมีความหมายตรง ๆ ว่า ‘โชคที่เดินทางมาหา’

บริษัทนี้จะเป็นช่วยแนะนำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานด้าน IT ให้แก่ผู้พิการ และมีหลักสูตรอบรมทักษะต่าง ๆ ให้ทั้งหมด เพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้พิการทำงานในบริษัททั่วไปได้ ตลอดจนจ้างผู้พิการเป็นพนักงานประจำ และเป็นตัวกลางป้อนงานด้าน IT จากบริษัทต่าง ๆ ให้พนักงาน

ลักษณะงานที่บริษัทรับค่อนข้างหลากหลาย ตั้งแต่ทำเว็บไซต์ เขียนโปรแกรมเพื่อทำระบบ พัฒนาแอปพลิเคชัน ตลอดจนการทำ Mail Marketing 

จุดแตกต่างของ ComeLuck

บริษัททั่วไปมักมีแค่การแนะนำหรือช่วยหางานให้ผู้พิการ บางบริษัทก็มีแค่บริการให้คำปรึกษา แต่ที่นี่มีตั้งแต่คอร์สอบรมทักษะพื้นฐานที่จำเป็น บริการช่วยจัดหางาน ตลอดจนบริการให้คำปรึกษา แต่บริษัท ComeLuck มีจุดเด่นอยู่ที่การช่วยเหลือผู้พิการอย่างครบวงจร

เนื้อหาที่จัดอบรมมีตั้งแต่วิธีการเขียนโปรแกรม ทักษะพื้นฐานในการใช้โปรแกรม Microsoft Word และ Microsoft Excel ทักษะการออกแบบ

บรรยากาศการเรียน
ภาพ : comelucknishijin.hp.peraichi.com 

นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรเกี่ยวกับวิธีการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ มารยาททางธุรกิจ วิธีดูแลสุขภาพตนเอง ตลอดจนทักษะการทำงานเป็นทีม ซึ่งล้วนสำคัญต่อการทำงานในบริษัทเป็นอย่างยิ่ง 

แผนที่ออกแบบชีวิต

เวลาบริษัท ComeLuck สัมภาษณ์พนักงาน คำถามสำคัญคำถามหนึ่ง คือ อยากให้อนาคตของตนเองเป็นอย่างไร ทางบริษัทจะออกแบบโปรแกรมอบรมให้เหมาะกับเป้าหมายและทักษะของผู้สมัครแต่ละคน
พนักงานที่นี่ต้องเขียน ‘แผนที่ชีวิต’ ของตนเอง โดยวางเป้าหมายระยะสั้น เช่น ฝึกโปรแกรม Microsoft PowerPoint จนถึงระดับใช้งานในบริษัทได้ และเป้าหมายระยะยาว เช่น ใช้โปรแกรมนำเสนองาน นำเสนองานได้อย่างคล่องแคล่วต่อหน้าผู้คน 

รูปแบบของแผนที่ชีวิต
ภาพ : biblion.jp/articles

นอกจากนี้ ยังมีช่อง ‘การสนับสนุนด้านการงาน’ เช่น คำแนะนำให้ลงเรียนเรื่องมารยาทธุรกิจเพิ่มเติม และช่อง ‘การสนับสนุนด้านชีวิต’ เช่น หากมีปัญหาสุขภาพหรือสิ่งที่ไม่สบายใจ จะปรึกษาใครได้ และมีการระบุผู้รับผิดชอบการสนับสนุนทั้ง 2 ด้าน คือทั้งงานและทั้งด้านชีวิตว่าจะให้ใครเป็นคนให้คำแนะนำหรือรับฟังผู้พิการ
สิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง คือการช่วยให้ผู้พิการเห็นภาพตนเองในอีก 6 เดือน หรือ 1 ปีข้างหน้าให้ชัดเจน หากฝั่งนายจ้างเป็นผู้กำหนดแผนจะไม่เกิดผล ต้องให้เจ้าตัวเห็นภาพ เกิดความรู้สึกมุ่งมั่นและพยายามทำให้สำเร็จ พนักงานต้องเห็นภาพอนาคตชัดเจน เช่น แทนที่จะมองแค่การได้เข้าทำงานที่บริษัทเอกชนทั่วไป ตัวพนักงานต้องระบุได้ว่าอยากทำงานประเภทไหน อยากทำเป้าหมายให้สำเร็จภายในกี่ปี และมีอะไรที่ตนเองทำได้ในปัจจุบันได้บ้าง 

เป้าหมายคือการทำให้พนักงานเสียภาษีให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

เนื่องจาก ComeLuck ตั้งใจอบรมให้พนักงานเป็นอย่างดี ทั้งทักษะสำคัญต่อการทำงานและทักษะด้านการสื่อสาร ตลอดจนการทำงานร่วมกับผู้อื่น อีกทั้งยังมีบริการให้คำปรึกษาแก่ผู้พิการโดยเฉพาะ พนักงานที่เป็นผู้พิการจึงสร้างผลผลิตได้แทบไม่ต่างกับพนักงานทั่วไปเลย

ผู้พิการที่เคยทำงานที่อื่นและเคยได้รับเงินเดือนเพียงเดือนละ 6,000 เยน เมื่อมาทำที่ ComeLuck กลับได้รับค่าตอบแทนสูงถึง 120,000 เยน มากกว่าที่เดิม 20 เท่า

ที่สำคัญ ผู้พิการที่ได้รับการจัดประเภทว่าอยู่ในสภาพที่ทำงานลำบากหรือมีอาการพิการค่อนข้างมาก ปกติทำงานได้วันละ 4 ชั่วโมงเท่านั้น แต่เมื่อมาอยู่ที่ ComeLuck พวกเขาได้ทำงานที่เหมาะกับทักษะตนเอง จึงทำงานได้ถึงวันละ 6 ชั่วโมง แทบไม่ต่างกับพนักงานทั่วไปเลย

ก้าวถัดไปของ ComeLuck คือการได้เป็นพันธมิตรกับบริษัทเอกชนรายอื่น เช่น ร้านขายยาโอกะ โดยมอบหมายพนักงานให้ช่วยระบบ IT ของร้านขายยานี้ หากพนักงานทำงานได้ดี ผ่านมาตรฐาน ทางร้านขายยาโอกะก็จะพิจารณารับพนักงานเข้าเป็นพนักงานบริษัทตน เป็นการสร้างงานที่ยั่งยืนให้กับผู้พิการ

คามุระมีความตั้งใจอย่างหนึ่งในการทำธุรกิจ คือการพยายามสร้างผู้พิการที่เสียภาษีให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ใช่ค่ะ ‘เสียภาษีให้มากที่สุด’

ปัจจุบันผู้พิการยังได้รับค่าแรงน้อยกว่าคนทั่วไป รายได้จึงไม่ถึงรายได้ขั้นต่ำที่ต้องเสียภาษี แต่ ComeLuck จะช่วยให้ผู้พิการเหล่านี้มีทักษะที่ดี ได้รับงานดี ๆ ทำ ได้ค่าจ้างที่สูงขึ้นมาก ๆ และท้ายสุดคือพึ่งตนเองได้นั่นเอง

บทเรียนจาก ComeLuck

  1. เริ่มทำธุรกิจจากความปรารถนาดี ตั้งใจช่วยชุมชน ช่วยผู้พิการ และช่วยอุตสาหกรรม IT 
  2. มีจุดเด่นที่ชัดเจน กล่าวคือ ให้ความช่วยเหลือผู้พิการครบวงจร มีการฝึกอบรมทั้ง Hard & Soft Skill 
  3. พัฒนาคนจากการถามว่า เขาอยากเป็นอะไรในอนาคต ก่อนเริ่มพัฒนาทักษะที่จำเป็น ทำให้พนักงานเกิดความกระตือรือร้น

Writer

Avatar

เกตุวดี Marumura

อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นผู้หลงใหลในการทำธุรกิจแบบยั่งยืนของคนญี่ปุ่น ปัจจุบัน เป็นอาจารย์สอนการตลาดที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย