“พอดีก็…เออ………….พอดี…ก็…….”

กระอักกระอ่วนใจอย่างบอกไม่ถูก ขณะที่เขายังขยับปากมุ่ยม่ายรีดเค้นคำตอบจากความทรงจำระยะสั้น 10 วินาทีของภาวะเงียบเชียบก่ออาการตรึงเครียด ผ่อนคลายและพ่ายแพ้ “…ถึงไหนแล้วนะ”

‘ความฉับไว’ เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดของช่างภาพ เขากล่าวออกมาเช่นนั้น แต่สำหรับอดีตบรรณาธิการและช่างภาพเกษียณอายุวัย 95 ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกอะไรที่ห้วงคำนึงและถ้อยคำจะพลันหล่นหาย เขาตัดสินใจใช้ตัวช่วยด้วยการหยิบเหตุการณ์ออกมาวางกางลงเบื้องหน้า แล้วอธิบายกับเราว่า นอกจากความทรงจำ ภาพถ่ายเป็นเครื่องมือบันทึกเหตุการณ์สำคัญที่มั่นคงและยืนยาว จบประโยคเรื่องราวอันงดงามก็พรั่งพรูดังตาธารใน พ.ศ. 2503 เด่นชัดราวกับเพิ่งผ่านมาเมื่อไม่นาน

ในหลวงรัชกาลที่ 9, วิจิตร ไชยวัณณ์ ในหลวงรัชกาลที่ 9, วิจิตร ไชยวัณณ์

ช่วงชีวิตวัยหนุ่มที่หนักหนาเอาการและเอางานไม่เลือกของ วิจิตร ไชยวัณณ์ เริ่มต้นด้วยความฝันเป็นนักศึกษาแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พังทลาย เมื่อประสบเคราะห์กรรมรีไทร์เพียงเรียนได้ปี 2 ล้มเหลวจากการเป็นครูพิเศษประจำโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัยที่ตนเรียนมาค่อนชีวิต ก่อนตัดสินใจกลับมาเมืองกรุงรับเงินเดือน 700 บาท ในตำแหน่งเสมียนประจำสำนักงานบริษัทคาลเท็กซ์ เมื่อประสบการณ์แน่นอนจึงขอย้ายไปประจำการเชียงใหม่ ไต่เต้าสู่ตำแหน่งผู้จัดการด้วยความสามารถผสมโรงกับดวง แต่อยู่ได้ไม่นานกิจการก็ล้มเลิก ถูกโยกไปรับตำแหน่งเดิมที่จังหวัดชลบุรี เงินเดือนสุดท้ายหรูหรา 3,000 บาท ทว่าแพ้พ่ายต่อความคิดถึงบ้าน ก่อนเดินทางกลับสู่มาตุภูมิ

แล้วเรื่องราวชีวิตของวิจิตรก็ดำเนินมาถึงจุดที่อาจเรียกได้ว่าพลิกผันอย่างน่าสนใจ เมื่อมีเหตุให้ได้รับโอกาสจาก คุณเรือง นิมมานเหมินท์ หุ้นส่วนใหญ่ และ คุณสงัด บรรจงศิลป์ บรรณาธิการคนแรกของ หนังสือพิมพ์คนเมือง อันเลื่องชื่อของเชียงใหม่ในยุคนั้น เขาคว้าโอกาสและอุตสาหะเรียนรู้งานไวจนกลายเป็นคุณสมบัติที่ทำให้ได้รับตำแหน่งหัวเรือใหญ่คนที่ 2  สิบปีผ่านไปกับการทำงานด้านสื่ออย่างโชกโชน จนในปลายฤดูร้อนของ พ.ศ. 2503 โชคที่คนข่าวตัวเล็กๆ คาดไม่ถึงก็เดินทางมาถึง พร้อมกับคำเชื้อเชิญจากสถานกงสุลใหญ่สหรัฐฯ เชียงใหม่ ที่มอบภาระหน้าที่ให้ไปแสวงหาประเด็นน่าสนใจในสหรัฐอเมริกามาเผยแพร่

“เขาออกตั๋วเครื่องบินชั้น First Class ให้ แต่เราขอเปลี่ยนเป็น Tourist Class เพราะสามารถที่จะ Extend ในยุโรปได้ แล้วก็ออกค่าเบี้ยเลี้ยงให้อีกวันละ 17 เหรียญฯ ตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่เราเดินทาง รวมถึงค่าที่พักหรือค่ามัคคุเทศก์ก็สามารถเบิกจ่ายได้ บังเอิญในช่วงที่เราไปตรงกับช่วงที่ในหลวงและพระราชินีมีหมายกำหนดการจะเสด็จฯ เยือนสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรกพอดี ก็เลยอยากจะติดตาม และขอล่วงหน้าไปก่อน 1 เดือนเพื่อไปดูลาดเลา”

ในหลวงรัชกาลที่ 9, วิจิตร ไชยวัณณ์

เงินสดส่วนตัวจำนวน 10,000 ที่พกติดตัวมาจากเมืองไทยถูกควักจ่ายทันทีที่ถึงฮ่องกง หน้าตู้กระจกบานใหญ่ เขายืนกวาดสายตามองหากล้องคู่ใจตัวใหม่ที่ไว้ใจได้ว่าจะสามารถบันทึกภาพหลักฐานประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญของประเทศได้อย่างฉับไว ไร้บกพร่อง เขาชี้นิ้วไปยังกล้องตัวหนึ่งบนชั้นวางและอีกตัวหนึ่งที่แลดูกะทัดรัดกว่า พ่อค้าเลื่อนบานกระจกแล้วเอื้อมหยิบมันมาให้ทดสอบ เขารู้สึกถูกชะตากับ Yashica MG-1 เป็นพิเศษและวางแผนใช้มันกับฟิล์มสี และก็รอบคอบพอจะติด Olympus Pen EE-3 กล้อง Half Frame ที่ถ่ายได้กว่า 72 ภาพ อีกตัวไว้สำหรับสแนปเหตุการณ์ทันด่วนด้วยฟิล์มขาวดำ

จากฮ่องกง สู่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ต่อไปยังโฮโนลูลู เพียง 3 วันโบกมือลาเกาะสวรรค์หัวใจรัฐฮาวาย แล้วเข้ามาทางตอนเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส ก่อนสิ้นสุดจุดหมายปลายทางที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประจวบกับที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ เยือนประเทศสหรัฐอเมริกา ตามหมายกำหนดการระหว่างวันที่ 14 มิถุนายน – 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2503

เขาศึกษารายการเสด็จพระราชดำเนินและติดตามเสด็จเพื่อบันทึกเรื่องราวในทุกสถานที่ โดยในช่วงระหว่างติดตามเสด็จนั้น ทุกๆ วันวิจิตรจะต้องกลับมาเขียนรายงานบันทึกเหตุการณ์ประจำวัน พร้อมทั้งส่งรูปภาพกลับมายังเมืองไทยผ่านช่องทางขนส่งทางอากาศที่ใช้ระยะเวลารวดเร็วเพียง 3 วัน เพื่อให้ หนังสือพิมพ์คนเมือง ได้ตีพิมพ์รายงานพระราชกรณียกิจ และนี่ก็คือผลงานภาพถ่ายบางส่วนแห่งความภาคภูมิใจที่ตราตึงเด่นชัดในความทรงจำของนักหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเพียงหนึ่งเดียวของประเทศไทยที่ได้รับเกียรติในครั้งนี้

ในหลวงรัชกาลที่ 9

สนามบินแมทส์ (MATS : Military Air Transport Service Terminal) คือสถานที่แห่งแรกที่ในหลวงเสด็จฯ ภาพนี้ถ่ายทอดเรื่องราวที่ดูเป็นทางการด้วยพิธีต้อนรับจาก จอมพลดไวต์ เดวิด ไอก์ ไอเซนฮาวร์ (Dwight David “Ike” Eisenhower) ประธานาธิบดีคนที่ 34 ของสหรัฐอเมริกา และแถวทหารกองเกียรติยศสง่างาม ทว่าเบื้องหลังของภาพนี้ วิจิตรเล่าให้ฟังด้วยยิ้มร่าว่า เขาเป็นช่างภาพเพียงคนเดียวที่ได้รับอนุญาตให้วิ่งไปมาเพื่อจับภาพเหตุการณ์นี้อย่างใกล้ชิด พิเศษกว่านักข่าวรายอื่นๆ ที่จำต้องยืนอยู่บนสแตนด์ไม้เบื้องหลัง คอยบันทึกภาพจากเลนส์เทเลโฟโต้

ในหลวงรัชกาลที่ 9

“สมเด็จพระราชินีทรงสง่างามมาก” เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาเลือกภาพนี้เป็นอีกหนึ่งภาพในดวงใจ ณ สนามบินแมทส์ (MATS : Military Air Transport Service Terminal) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จอมพล ดไวต์ เดวิด ไอก์ ไอเซนฮาวร์ และ ดร.ถนัด คอมันตร์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ขณะกำลังยืนทำความเคารพเพลงชาติสหรัฐอเมริกา

ในหลวงรัชกาลที่ 9

เหตุการณ์ที่ในหลวงพระราชทานเครื่องราชย์แก่อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ณ ไวท์เฮาส์ ครั้งนี้เป็นที่จดจำของวิจิตรเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุผล 2 ประการ ประการแรก มาจากเกียรติอันหาได้ยากของนักหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่จะมีโอกาสได้เยือนถึงห้องประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประการสองคือ ก่อนที่ในหลวงจะเสด็จพระราชดำเนินออกจากห้องท่านได้ตรัสกับเขาว่า “อย่าคุยกัน” เพียง 3 คำสั้นๆ ซึ่งตักเตือนให้เขาได้สำรวมกิริยามารยาท เป็นทั้งเหตุการณ์ที่ชวนรู้สึกผิดในขณะนั้น และกลายเป็นเรื่องราวสุดพิเศษในชีวิตของเขา

ในหลวงรัชกาลที่ 9

ในวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2503 พระองค์ท่านได้เสด็จฯ มายังโรงพยาบาลเมาต์ออเบิร์นในเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ซึ่งเป็นสถานที่พระบรมราชสมภพ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470

ในหลวงรัชกาลที่ 9

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรทะเบียนพระบรมราชสมภพของพระองค์ ที่ทางโรงพยาบาลจัดเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

ในหลวงรัชกาลที่ 9

รอยแย้มพระสรวลประทับใจของในหลวงเมื่อเสด็จฯ มายังห้องที่พระราชมารดามีพระประสูติกาล ซึ่งทางโรงพยาบาลได้เก็บรักษาไว้ให้เฉพาะพระองค์เท่านั้น

ในหลวงรัชกาลที่ 9

นางพยาบาล 4 คนซึ่งเป็นผู้ถวายการทำประสูติกาลพระองค์ท่าน มองตลับของที่ระลึกที่พระองค์พระราชทานให้ด้วยความปลื้มปีติ โดยมุมซ้ายสุดของภาพคือ ดร.สจวร์ต วิตมอร์ (Stewart Whittemore) แพทย์ผู้ถวายการทำประสูติกาล ท่านผู้นี้รู้สึกปลาบปลื้มใจไม่แพ้กัน เมื่อได้รับพระราชทานของขวัญอันล้ำค่าซึ่งมีถ้อยความเปี่ยมความหมายจารไว้ว่า “To Doctor Whittemore, My first friend in the world”  หรือ “แด่คุณหมอวิตมอร์ เพื่อนบนโลกคนแรกของฉัน”

ในหลวงรัชกาลที่ 9

บนจุดยอดสุดของตึกเอ็มไพร์สเตท สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ กำลังทรงสนทนากับ จอมพลดไวต์ เดวิด ไอก์ ไอเซนฮาวร์ ส่วนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรทิวทัศน์อันตระการตาของแมนฮัตตัน

ในหลวงรัชกาลที่ 9

วิจิตรในวัย 36 ปีเมื่อครั้งเดินทางไปยังอนุสาวรีย์ลินคอล์น อนุสรณ์สถานของรัฐบุรุษที่ชาวอเมริกันรักและเคารพ ภาพนี้ถ่ายโดยเพื่อนนักข่าวจากสื่ออื่นๆ ที่ทำหน้าที่ติดตามเสด็จ

เมื่อเสร็จภารกิจวิจิตรเลือกใช้โอกาสนี้แสวงหาประสบการณ์และเปิดมุมมองใหม่ๆ ต่อจนครบกำหนดวีซ่า 6 เดือนเต็ม เขาออกตระเวนไปทั่วทั้งสหรัฐอเมริกา สวีเดน เดนมาร์ก โคเปนเฮเกน ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมนี และกรุงโรม อิตาลี เป็นสถานที่สุดท้าย ก่อนเดินทางกลับมายังประเทศไทย พร้อมกับความทรงจำงดงามที่ยากจะลบลืม

“ชอบที่สุดคือ สวีเดน เดนมาร์ก โคเปนเฮเกน เพราะเมืองมันเงียบสงบดี” เขากล่าวเมื่อเราถามเกี่ยวกับเมืองประทับใจจากทริปในวัยหนุ่ม

ปัจจุบัน วิจิตร ไชยวัณณ์ ในวัย 95 ปี ย้ายมาพำนักในที่ดินส่วนตัวอำเภอดอยหล่อ เขาต่อเติมโรงครัวให้กลายเป็นบ้านพักขนาดย่อมเคียงมะขามต้นใหญ่ มีโต๊ะไม้หน้าบ้าน เก้าอี้ไม้สำหรับเอนหลังเรียบง่าย และเลือกที่จะอยู่อาศัยตัวคนเดียว แม้ว่าบ้านหลังใหม่ของลูกชายจะสะดวกสบายและอยู่ห่างออกไปไม่ไกลนักด้วยเหตุผลประการเดียวกัน

Writer

Avatar

คุณากร

เป็นคนอ่านช้าที่อาศัยครูพักลักจำ จับพลัดจับผลูจนกลายมาเป็นคนเขียนช้า ที่อยากแบ่งปันเรื่องราวบันดาลใจให้อ่านกันช้าๆ เวลาว่างชอบวิ่งแต่ไม่ชอบแข่งขัน มีเจ้านายเป็นแมวโกญจาที่ชอบคลุกทราย นอนหงาย และกินได้ทั้งวัน