วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีนอกจากจะเป็นวันพ่อแห่งชาติของประเทศไทยแล้ว ยังเป็น ‘วันดินโลก’ (World Soil Day) มาตั้งแต่ พ.ศ. 2555 ด้วย โดยเป็นวันที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ผลักดันให้ตั้งเพื่อรณรงค์ด้านทรัพยากรดินในทุกระดับ อีกทั้งยังตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการพัฒนาที่ดินมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ปรากฏผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์อย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและนานาชาติ

เราเลยอยากจะถือโอกาสเชิญชวนทุกคนพกความคิดถึงรัชกาลที่ 9 แล้วเดินทางมาที่พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ แหล่งเรียนรู้ที่ทำให้เห็นว่าพิพิธภัณฑ์ดีๆ ไม่จำเป็นจะต้องอยู่แต่ในตึก ในอาคาร เสมอไป

พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ

พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณตรงข้ามโรงพยาบาลการุญเวช นวนคร ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี บนพื้นที่กว่า 300 ไร่ แบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ ได้แก่ ‘พิพิธภัณฑ์ในอาคาร’ นำเสนอพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ด้านการเกษตรและวิถีเกษตรไทยผ่านสื่อผสมผสานที่ทันสมัย นอกจากจะได้เรียนรู้ทางทฤษฎีในตัวตึกแล้ว ก็ยังมี ‘พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง’ ซึ่งเป็นฐานเรียนรู้การทำการเกษตรต่างๆ เหมือนห้องเรียนที่มีชีวิต ได้เห็นตัวอย่างในสภาพแวดล้อมจริงและเลือกลงมือลองทำเองด้วย

“ภารกิจหลักๆ ของเราคือการเผยแพร่พระเกียรติคุณและพระอัจฉริยภาพของรัชกาลที่ 9 ในด้านการเกษตร และขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

คุณสหภูมิ ภูมิธฤติรัฐ ผู้อำนวยการสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ เล่าให้เราฟังอย่างภาคภูมิใจถึงการดำเนินงานที่สานต่อ ‘ศาสตร์พระราชา’ ในพิพิธภัณฑ์

“เราทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับนักเรียนนักศึกษา ประชาชน ผู้ที่สนใจเกี่ยวกับการเกษตรผ่านทั้งตัวนิทรรศการและหลักสูตรอบรมต่างๆ ซึ่งเรามีการประชาสัมพันธ์ทั้งออนไลน์และส่งไปตามเครือข่าย ทั้งโรงเรียนและหน่วยงานต่างๆ ได้เลือก ที่นี่ออกแบบทำหลักสูตรให้เขาได้อะไรกลับไปทั้งในสมองและความรู้สึกของเขาด้วย”

พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ

คอร์สอบรมเหล่านี้จะสอนกันในบริเวณฐานการเรียนรู้โซนต่างๆ อย่างโซนแรกที่เราไปเยี่ยมชมกันคือ ‘1 ไร่พึ่งตนเอง’ ซึ่งสอนเรื่อง ‘เกษตรทฤษฎีใหม่’ ตามแนวพระราชดำริ มีจุดประสงค์ให้เกษตรกรบริหารที่ดินที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยจะแบ่งสัดส่วนพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วนคือ 30 : 30 : 30 : 10

ส่วนแรกขุดเป็นสระสำหรับกักเก็บน้ำในฤดูฝนเพื่อนำมาใช้ในฤดูแล้งและเลี้ยงสัตว์น้ำ ส่วนที่สองทำนาข้าวให้พอกินได้ตลอดทั้งปี ส่วนที่สามปลูกพืชสวนพืชไร่ผลไม้สมุนไพรต่างๆ และอีก 10% ที่เหลือใช้สร้างบ้านไว้อยู่อาศัยและเลี้ยงสัตว์ การแบ่งสัดส่วนพื้นที่ใช้งานหลายๆ อย่างจะทำให้เกษตรกรมีผลผลิตที่หลากหลายและเก็บเกี่ยวผลิตภัณฑ์ได้ตลอดทั้งปีจนพึ่งพาตัวเองได้และพอมีพอกินตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง

พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ

ดังนั้น ใน 1 ไร่นี้เราจึงได้เห็นสวนสมุนไพรที่มีพืชครบทั้ง 4 รส คือ ขม (แก้ไข้) เผ็ด (ขับลม) ฝาด (สมานแผล) และเปรี้ยว (ขับเสมหะ) เพื่อสำหรับการดูแลรักษาตัวเองเบื้องต้น ใกล้ๆ กันก็มีแปลงผักปลอดสารพิษที่ปลูกไว้กินเองได้หลากหลาย ทั้งกะหล่ำ ผักสลัด บัตเตอร์เฮด ฯลฯ เก็บเกี่ยวได้ทุกๆ 30 วัน ส่วนตรงกลางเป็นแปลงนาอินทรีย์ เป็นข้าวนาปรังที่ไม่ต้องพึ่งแสงมาก และสามารถเก็บเกี่ยวได้ปีละ 3 ครั้ง คำนวณคร่าวๆ ต่อคนต้องปลูกประมาณ 30 – 40 ตารางเมตรก็สามารถเก็บกินได้พอดี

คูคลองรอบๆ นาก็เลี้ยงปลาไว้ และมีคอกหมูหลุมซึ่งเป็นวิธีเลี้ยงแบบที่ต่างจากคอกหมูพื้นปูน โดยสามารถนำดินและมูลหมูออกมาเป็นปุ๋ยใส่ในสวนได้นั่นเอง

ในพื้นที่นี้ยังมีตัวอย่างนวัตกรรมที่น่าสนใจอย่างเช่นการสร้างบ้านดิน การใช้โซลาร์เซลล์เพื่อสร้างพลังงานทดแทน หรือ ‘จักรยานรดน้ำ’ ที่เมื่อปั่นออกกำลังกายแล้วจะทำให้มอเตอร์รดน้ำแปลงผักไปในตัว เรียกได้ว่าทั้งหมดถูกออกแบบมาเพื่อสุขภาพที่ดีอย่างลงตัวจริงๆ

พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ

อีกสิ่งสำคัญคือ นอกจากแนวทางของพระองค์แล้ว เรายังสังเกตเห็นตัวอย่างการปรับใช้และต่อยอดโดยเกษตรกรด้วย อาทิ โรงเห็ดน็อกดาวน์ ที่สามารถเพาะเห็ดและมีผลิตผลอย่างต่อเนื่อง ไม่ต้องรอให้พื้นที่แห้งแบบโรงเพาะสมัยก่อน ซึ่งอันนี้เจ้าหน้าที่นำชมของเราบอกอย่างภูมิใจว่าเขาเป็นคนคิดเอง

หรืออีกอย่าง ‘การปลูกมะนาวลอยน้ำ’ ที่มาจากแนวคิดของหนึ่งในสมาชิกเครือข่ายในจังหวัดสงขลา เนื่องจากเขาต้องเจอน้ำท่วมทุกๆ ปี เขาจึงออกแบบการปลูกต้นไม้บนโฟมที่จะลอยขึ้นลงตามระดับน้ำ (!) ป้องกันการเสียหายของผลิตผลได้ดีเยี่ยม ในประเด็นนี้ท่านสหภูมิบอกเราว่า พื้นที่ของพิพิธภัณฑ์นี้ไม่ได้เป็นที่สำหรับการสอนอย่างเดียว แต่ยังเป็นพื้นที่จัดแสดง ติดตามผล และแลกเปลี่ยนกัน ระหว่างเครือข่ายด้วย โดยปัจจุบันมีมากกว่า 15 ศูนย์เครือข่ายใน 15 จังหวัดจากทุกๆ ภาคในประเทศไทย

พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ

“นอกจากที่เราจะออกไปประสาน ขอความร่วมมือ กับเครือข่ายต่างๆ พวกเขาก็เข้ามามีส่วนร่วมในการเผยแพร่ประสบการณ์และความรู้ที่เขาได้ทำกับพิพิธภัณฑ์ โดยที่เราจะจัดกิจกรรมรองรับพวกเขา เช่น การอบรมวิชาของแผ่นดิน มีอยู่กว่า 30 วิชา อีกทั้งยังมีการอบรมเชิงปฏิบัติการที่เชื่อมโยงกับองค์ความรู้นั้น ควบคู่กันไปด้วย เช่นการแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตรให้เขาไปต่อยอด ส่วนหนึ่งที่เครือข่ายเราเข้มแข็งก็เพราะเรามีการประสานกันอยู่ตลอดเวลา ทุกๆ เดือนที่เราจัดตลาดนัดเครือข่ายก็จะมาร่วม เอาผลผลิตของเขามาจำหน่ายในงานด้วย ทำให้มีความผูกพันและติดต่อกันตลอดเวลา

มีจัดอบรมส่งเสริมศักยภาพ เช่น การอบรมเทคโนโลยีการตลาด การใช้สื่อออนไลน์ให้สอดคล้องกับผลผลิตของเขาโดยไม่ต้องพึ่งพ่อค้าคนกลาง การสร้างเพจ สร้างไลน์ ใช้ QR Code หรือ PromptPay เวลามีงานมหกรรมเราจะให้เครือข่ายของเราในแต่ละภูมิภาคมาช่วยกันระดมความคิด และให้เขานำเอาความรู้ของเขามาแปรเป็นนิทรรศการด้วย” ท่านผู้อำนวยการกล่าว

พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ

“บางคนได้เรียนรู้จากเราไป แล้วกลับไปทำแล้วประสบความสำเร็จ พอเขาได้กลับมาตรงนี้ เขาก็รู้สึกอยากจะถ่ายทอดวิชาของเขาให้กับคนอื่นๆ ด้วย”

คุยกันมาถึงตรงนี้ทางทีมงานยื่นตารางกิจกรรมให้เราดูว่าเขาจัดงานกันบ่อยจริงๆ! ทั้งงานแบบตลาดนัดทุกๆ เสาร์-อาทิตย์แรกของเดือน และมหกรรมเศรษฐกิจพอเพียงขนาดใหญ่ที่มีทั้งการอบรม นิทรรศการพิเศษ สันทนาการ รวมถึงร้านค้าที่มาออกงานกว่า 300 ร้าน ซึ่งงานมหกรรมแนวนี้จะมีปีละประมาณ 5 ครั้งในวันสำคัญต่างๆ เช่น มหกรรมอนุรักษณ์มรดกไทย เน้นเรื่องอนุรักษ์พันธุกรรมพืชซึ่งตรงกับวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระเทพฯ ในช่วงเมษายน หรือช่วงเดือนธันวาคมนี้จะมีมหกรรมภูมิพลังแผ่นดินซึ่งสอดคล้องกับวันดินโลก เป็นต้น

โดยทีมงานบอกว่า กิจกรรมเหล่านี้ประสบความสำเร็จมาก ดึงคนได้หลายหมื่นคนต่อครั้ง

พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ

กลับมาที่อีกโซนการเรียนรู้อีกที่ อันนี้เราภูมิใจเสนอมาก นั่นก็คือการทำ ‘เกษตรเมือง’ โดยในโซนนี้มีการสาธิตวิธีการต่างๆ ที่จะช่วยคนเมืองสามารถเพาะปลูกได้ในข้อจำกัดต่างๆ อาทิ การปลูกพืชแนวตั้ง การปลูกผักในกระสอบ และการปลูกผักกลับหัว ที่ช่วยประหยัดพื้นที่ การทำกระถางแก้มลิงที่เก็บความชื้นด้วยหินกรวด ทำให้ไม่ต้องรดน้ำได้ถึง 10 วัน

การปลูกข้าวนอกนาในวงบ่อปูนที่คำนวณมาแล้วว่าถ้าจะให้กินพอ 1 คนจะต้องใช้ 30 วงบ่อ ซึ่งสามารถทำได้ไม่ยากบนลานจอดรถ อีกทั้งเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ อย่างการใส่แหนแดงไว้ในบ่อเพื่อคุมวัชพืชในน้ำและดึงก๊าซไนโตรเจนจากอากาศแบบที่ว่าไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีใดๆ ไปจนถึงการสอนรดน้ำผ่านระบบสมาร์ทโฟน ตอบโจทย์คนที่กลัวว่าจะกลับบ้านดึก ไม่สามารถดูแลได้เป็นเวลา

“อาจจะดูเหมือนยาก แต่ไม่ยากนะครับ เพียงแค่เราต้องใส่ใจมันหน่อย และต้องดูแล ก็สามารถมีผลผลิตที่บริโภคได้ตลอด” ท่านสหภูมิยิ้ม เน้นย้ำพระราชดำรัสที่ว่า “เราสามารถทำการเกษตรได้ในทุกๆ พื้นที่ของประเทศนี้ และข้อดีของการเพาะปลูกนั้นไม่ได้มีเพียงผักปลอดสารพิษไว้บริโภค แต่ยังเป็นการสร้างพื้นที่สีเขียว และสร้างกิจกรรมให้ใช้เวลาด้วยกันในครอบครัวเพื่อสุขภาพจิตที่ดีด้วย”

พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ

“สำหรับเด็กๆ เขาจะชอบการที่เขาได้ลงมือปฏิบัติจริง อย่างการโยนกล้าข้าว หรือเรื่องง่ายๆ อย่างการได้ไปสัมผัสกับดิน เด็กเมืองไม่ค่อยมีโอกาส เพราะเขาอาจจะถูกสอนมาว่าดินนั้นสกปรก ซึ่งตอนแรกๆ เด็กเขาก็จะกลัวๆ กล้าๆ แต่พอได้ลงไปเหยียบดินแล้วเขาจะมีความสุขมากเลย”  

ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะเป็นทั้งคนเมืองหรือนอกเมือง คนรุ่นใหม่หรือรุ่นเก๋า เด็กน้อยหรือผู้สูงอายุ ที่สนใจ อยากจะเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับเกษตรกรรมเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นล่ะก็ เราอยากจะชวนมาเริ่มเรียนรู้ด้วยการตามรอยและถอดบทเรียนจากพระอัจฉริยภาพของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงรักแผ่นดินผืนนี้ยิ่งกว่าสิ่งใด ไม่ว่าจะผ่านการชมนิทรรศการ ซื้อของในงานตลาดนัด พบปะและเรียนรู้จากเกษตรกรในเครือข่ายในงานมหกรรม หรือจะลองมาลงคอร์สอบรมเชิงปฏิบัติการก็ดี

เรามั่นใจว่าพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ จะสามารถจะทำให้พระราชกรณีกิจของรัชกาลที่ 9 เป็นเรื่องใกล้ตัวใกล้ใจสำหรับพวกเราทุกๆ คน

พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ

Writer

Avatar

Museum Minds

ทีมที่ปรึกษาเฉพาะทางด้านปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทย รับปรึกษาปัญหาหัวใจ (และคอลเล็กชัน และการสร้างสื่อศึกษา และวิเคราะห์ผู้เข้าชม และทำแบบประเมินนิทรรศการ) ให้มิวเซียมทั่วราชอาณาจักร

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล