หากมองภาพรวมของตลาดกาแฟ ประเทศที่มีการส่งออกเมล็ดกาแฟกาแฟสูงสุดในอาเซียน ได้แก่ ประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย ลาว และไทย สาเหตุที่ไทยจัดอยู่ในอันดับ 4 สืบเนื่องมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนแรงงาน พื้นที่ทำการเกษตรที่มีจำกัด และอีกปัจจัยที่มีผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ ภาวะโลกร้อน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศที่แปรเปลี่ยนเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดการชะลอผลผลิต ผลผลิตกาแฟลดลงกว่า 40% และมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างต่อเนื่องถึง 50% ในปี 2050

นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเกษตรที่จะพลิกวิกฤตวงการกาแฟไทยในสายตา อ้วน ลลิดา

หากเราตามหานวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเกษตร เพื่อนำมาแก้ไขภาวะข้างต้น

ในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีทางการเกษตรพัฒนาอย่างก้าวกระโดด จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะนำนวัตกรรมที่ทำให้แตกต่างมาประกอบในงานทางการเกษตร โดยเฉพาะในภาคส่วนกาแฟ ยกตัวอย่างเช่น Digital Agriculture เพื่อเสริมสร้างระบบการจัดการฟาร์มที่ดี ฟาร์มกาแฟที่นำเทคโนโลยีนี้มาใช้จะจำลองสภาวะภูมิอากาศที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของต้นกาแฟ จัดการเรื่องโรคแมลง และลดการใช้แรงงานเฉพาะทางได้ สืบเนื่องมาจากการปลูกกาแฟสายพันธุ์พิเศษจำเป็นต้องใช้ทักษะทางการเกษตรเชิงลึก เพื่อบำรุงดูแลต้นกาแฟ รวมไปถึงการจัดการเก็บเกี่ยวผลผลิต

นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเกษตรที่จะพลิกวิกฤตวงการกาแฟไทยในสายตา อ้วน ลลิดา

หนึ่งในเทคโนโลยีทางการเกษตรที่น่าสนใจคือ ‘AgroPad’ ซึ่งพัฒนามาจากระบบ AI โดยนักวิจัย BIM นับว่าเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยวัดค่าสภาพน้ำและสภาพดินในฟาร์ม เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุและแก้ไขปัญหาที่เกิดในฟาร์มได้ทันเวลา 

AgroPad เหมาะกับการทำฟาร์มกาแฟขนาดย่อมจนถึงฟาร์มกาแฟขนาดใหญ่ ซึ่งเกษตรกรจัดการทำได้เองผ่านมือถือ ไม่จำเป็นต้องนำไปตรวจในห้องแล็บซึ่งใช้เวลารอผลตรวจนานหลายวัน นี่เป็นอีกหนึ่งในนวัตกรรมที่ช่วยทำให้เกษตรกรควบคุมการใช้ปริมาณน้ำและปุ๋ยที่ต้นกาแฟสายพันธุ์พิเศษต้องการต่างกันออกไปในแต่ละช่วงฤดูกาล ซึ่งนับว่าคาดเดาได้ยาก เนื่องจากสภาวะโลกร้อนและสภาพอากาศแปรปรวน และนี่อาจช่วยทำให้ต้นกาแฟออกรอบผลผลิตใกล้เคียงกันได้ไม่มากก็น้อย

นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเกษตรที่จะพลิกวิกฤตวงการกาแฟไทยในสายตา อ้วน ลลิดา

ผู้บริโภคนิยมกาแฟสายพันธุ์พิเศษมีมากขึ้น แต่ผลผลิตกาแฟกลับมีปริมาณน้อยลง

เป็นเรื่องน่ายินดีที่ช่วงเวลานี้ผู้บริโภคเข้าถึงกาแฟสายพันธุ์พิเศษได้มากขึ้น แต่ก็อาจเป็นอุปสรรคของเกษตรกร เนื่องจากความหวังหลักของพวกเขาคือผลิตกาแฟออกมาให้ได้ปริมาณมาก มีคุณภาพดี ได้มาตรฐาน ป้อนสู่ตลาดทันเวลา แต่ด้วยหลาย ๆ ปัจจัยกลับทำให้กระบวนการผลิตกาแฟยากขึ้น 

ยกตัวอย่างในประเทศแถบอเมริกากลาง ผู้บริโภคเริ่มต้องการบริโภคกาแฟสายพันธุ์พิเศษสูง จึงมีการออกแบบสร้างโรงเรือนจำลองที่เรียกว่า Indoor Farming สร้างในลักษณะโดมสำหรับพื้นที่พิเศษ ปลูกต้นกาแฟโดยคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีความทนทานต่อโรคต่ำกว่าปกติ และต้องการการดูแลให้อยู่ภายใต้สภาวะควบคุมสูง มีเทคโนโลยีติดตั้งที่ตั้งอุณหภูมิได้ สร้างสภาวะซึ่งเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของกาแฟ เนื่องจากเมื่อปลูกกาแฟในพื้นที่เปิด จะควบคุมอุณหภูมิที่สูงขึ้นไม่ได้ จึงส่งผลให้ศัตรูพืชและโรคแมลงเจริญเติบโตได้ไว นับเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะอันตราย นี่จึงเป็นการป้องกันปัจจัยเสี่ยงที่จะทำลายผลผลิตกาแฟ และเพิ่มมูลค่าให้กับกาแฟได้อีกด้วย แต่น่าเสียดายที่เกษตรกรน้อยกลุ่มจะเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ได้

ปัจจุบันจึงมีการนำกาแฟสายพันธุ์ดั้งเดิมมาดัดแปลง ปรับปรุง และพัฒนา เพื่อทำให้ต้นกาแฟทนทานต่อสภาวะอากาศที่มีอุณหภูมิต่ำมากหรือสูงมากในระหว่างฤดูกาล มากไปกว่านั้น ต้นกาแฟที่พัฒนาขึ้นมายังมีประสิทธิภาพทนทานต่อโรคร้ายได้ดี ซึ่งได้ผลจริง โดยสายพันธุ์เหล่านั้นยังคงลักษณะที่แสดงให้เห็นว่าเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิม และเราหวังว่าการพัฒนาสายพันธุ์เหล่านี้จะถูกนำมาเพาะพันธุ์อย่างแพร่หลายมากขึ้น เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงได้มากพอ

นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเกษตรที่จะพลิกวิกฤตวงการกาแฟไทยในสายตา อ้วน ลลิดา

รู้เท่าทันปัญหา พัฒนานวัตกรรม มีเทคโนโลยีตอบโจทย์

แม้ว่าจะมีเทคโนโลยีที่ช่วยให้เพาะปลูกกาแฟได้ดีขึ้นในหลาย ๆ ปัจจัย แต่ภาพกระบวนการผลิตและแปรรูปกาแฟที่พัฒนาแล้วกลับปรากฏสู่สายตาชาวโลกในปริมาณไม่ถึง 1% ต่อมวลรวมเท่านั้น 

ดังนั้น การร่วมช่วยกัน การสร้างแรงจูงใจในการพัฒนา การสร้างกระบวนการให้เกษตรกรผู้ผลิตเกิดความหยั่งรู้ถึงปัญหา การพัฒนานวัตกรรมสำหรับผู้ประกอบการ รวมถึงการสื่อสารวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมกาแฟให้ผู้บริโภครับทราบไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง ล้วนเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเพิ่มความรู้ความเข้าใจเรื่องราวของกาแฟตั้งแต่ต้นจนถึงปลายน้ำ ซึ่งจะทำให้เกิดความยั่งยืนและนำไปสู่การพัฒนาวงการกาแฟไทยได้ทันสถานการณ์ต่อไป 

นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเกษตรที่จะพลิกวิกฤตวงการกาแฟไทยในสายตา อ้วน ลลิดา

เช่นเดียวกับ Thailand Coffee Fest 2023 : Good Coffee for Everyone งานมหกรรมกาแฟที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งปีนี้ตั้งใจจัดงานเพื่อสร้างความตระหนักรู้ต่อผลกระทบที่โลกกาแฟกำลังเผชิญ ไม่ว่าคุณจะเป็นใครในเส้นทางนี้ ชวนมาร่วมส่งต่อวัฒนธรรมกาแฟที่ดีให้ดำเนินไปได้อย่างยั่งยืนด้วยกัน ในวันที่ 13 – 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 เวลา 10.00 – 20.00 น. ณ IMPACT Exhibition Hall 5 – 8 เมืองทองธานี ลงทะเบียนเข้าร่วมงานล่วงหน้าได้แล้วที่ thailandcoffeefest.org/register

Writer

ลลิดา สิทธิพฤษทานนท์

ลลิดา สิทธิพฤษทานนท์

เจ้าของร้าน OMNiA Cafe & Roastery, SCA Instructor, Arabica and Robusta Q grader