8 กุมภาพันธ์ 2024
7 K

ไม่ใกล้ไม่ไกลจากโรงเรียนนารีวิทยา ซอยราษฎรยินดี 3 ในจังหวัดราชบุรี หากกวาดสายตาไปรอบ ๆ จะพบกับตึกเก่า 2 ชั้น สีเหลืองไข่ โครงสร้างสถาปัตยกรรมจีนสุดประณีต เมื่อเดินมาถึงหน้าประตู จะเจอกับป้ายสีขาวติดไว้ว่า ‘เช็งเต็กตึ๊ง’

ย้อนกลับไป พ.ศ. 2478 ที่นี่เป็นโรงเจเก่าแก่ตั้งแต่รุ่นปู่ย่า แต่ทว่ากาลเวลาผ่านไป ยุคสมัยเปลี่ยนแปลง โรงเจแห่งนี้จึงปิดตัวลงและกลายเป็นพื้นที่ร้าง ไร้คนดูแลเป็นเวลาหลายสิบปี

วันนี้เรามีนัดกับ หล้า-ศิริลักษ์ จันทร์ศิลป์ ผู้ค้นพบสถานที่นี้ด้วยความบังเอิญ และพลิกโฉมโรงเจประจำตระกูลอุดมศิริให้กลายเป็นคาเฟ่สุดเก๋ใจกลางเมืองราชบุรี

หล้าบอกกับเราก่อนว่า เธอเป็นคนราชบุรีตั้งแต่เกิด เติบโตในอำเภอสวนผึ้ง และไม่ได้มีเชื้อสายจีนแต่อย่างใด มีเชื้อสายกะเหรี่ยงเล็กน้อยด้วยซ้ำ เพียงแต่เธอคือบุคคลหนึ่งที่หลงใหลในเสน่ห์ของสถาปัตยกรรมเก่าเป็นทุนเดิม จึงทำให้การพลิกโฉมครั้งนี้ไม่ยากสำหรับเธอ

หลังจากใช้เวลาฟูมฟักโปรเจกต์อยู่สักพัก เมื่อปลายปีที่ผ่านมา จากตึกร้างถูกลืมจึงกลับมามีชีวิตชีวาและน่าจดจำอีกครั้ง

เช็งเต็กตึ๊ง (พ.ศ. 2478)

ก่อนที่จะไปรู้จัก ‘เช็งเต็กตึ๊ง’ ในปัจจุบัน หล้าเล่าถึงที่มาที่ไปของโรงเจนี้ให้เราฟังว่า

“ที่นี่สร้างมาตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.​ 2478 หรือ 88 ปีก่อน ก่อตั้งโดย แม่ชีท่อกี่ อุดมศิริ ของตระกูลอุดมศิริ ซึ่งเป็นคุณป้าของ อิทธิพล อุดมศิริ ทายาทรุ่นที่ 3 ที่เราติดต่อขอเช่าพื้นที่”

ที่นี่นับเป็นโรงเจหลักในจังหวัดเลยใช่ไหม – เราถามจากใจคนที่ไม่คุ้นเคยกับเมืองโอ่งมังกรแห่งนี้เลย

“ใช่ ถือเป็นอีกหนึ่งโรงเจหลัก ๆ ในจังหวัดที่คนไปมามากมาย เปิดให้คนเข้ามาทำกิจการ ให้ทาน ถือศีล สวดมนต์ มีห้องนอนสำหรับให้คนสัญจรผ่านไปมาด้วย”

“ลุงป้าข้างบ้านบอกว่าช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีสะพานเชื่อมไปกาญจนบุรีที่กำลังจะถูกทิ้งระเบิด โรงเจนี้กับสะพานนั้นห่างกันไม่ถึง 1 กิโลเมตร หากตรงนั้นบึ้ม ที่นี่ก็อาจบึ้มเหมือนกัน” 

เธอหัวเราะและเล่าต่อว่า ในวันที่สะพานจะถูกระเบิด ชาวราชบุรีที่อยู่ในละแวกต่างพากันมาหลบภัยอยู่ที่นี่ เพราะเชื่อกันว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่จะคุ้มครองพวกเขาให้รอดปลอดภัย

โรงเจเช็งเต็กตึ๊งจึงนับได้ว่าเป็นทั้งแหล่งพักกาย-พักใจ ของชาวเมืองในยุคนั้นเลยก็ว่าได้

สถานที่ไม่มีวันตาย

“เราอยากหาบ้านเช่าให้หลานที่กำลังจะย้ายโรงเรียน จากอำเภอสวนผึ้งมาที่อำเภอเมือง”

หล้าพูดถึงความตั้งใจแรกให้เราฟัง เพราะความจริงแล้ว ในขณะนั้นเธอไม่ได้มีความคิดอยากทำคาเฟ่เท่าไหร่นัก เพราะทำธุรกิจร้านอาหารที่อำเภอสวนผึ้งอยู่แล้ว

เราถามว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้เธอคิดเปลี่ยนโรงเจเป็นคาเฟ่ หล้าจึงพาเราย้อนกลับไปยังวันที่ความคิดนี้จุดประกายขึ้น

“ระหว่างขับรถหาบ้านเช่า เราบังเอิญผ่านตึกเก่า สภาพเป็นป่าทึบเลย เห็นป้ายติดประกาศว่าเป็นพื้นที่ให้เช่า จึงลองติดต่อเบอร์โทรที่แนบไว้”

“ครั้งแรกที่เห็นก็คิดว่าตึกนี้หน้าตาแปลกจัง แต่คุยไปคุยมาจึงได้รู้ว่าที่นี่เคยเป็นโรงเจมาก่อน”

ความเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นตระการตา และความประณีตของโครงสร้างภายในอาคารทำให้เราเกิดความคิดว่า น่าจะดีนะถ้าเราทำให้ที่แห่งนี้กลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง 

เมื่อคิดได้เช่นนั้น เธอจึงไม่รอช้า ตัดสินใจขอเช่าที่และดำเนินการปรับปรุงพื้นที่จนเกิดเป็น ‘CHENG TECK TUNG Cafe’ อย่างที่เราเห็นในตอนนี้

“และเราก็ได้บ้านเช่าให้หลานด้วยนะ ไม่ได้อยู่ในโรงเจ แต่อยู่ใกล้ ๆ กัน” หล้าเสริม

แน่นอนว่าการทำคาเฟ่แตกต่างจากธุรกิจร้านอาหารอย่างสิ้นเชิง เราจึงสงสัยว่าแล้วหล้าทำการบ้านอย่างไรก่อนเริ่มลงมือชุบชีวิตพื้นที่แห่งนี้ 

“อ่านหนังสือ ค้นหาในอินเทอร์เน็ต พินเทอเรสต์ และถามเพื่อน”

“ที่สวนผึ้งมีเพื่อนและกลุ่มคนรู้จักชื่อว่า ‘I Love สวนผึ้ง’ คอยสนับสนุนเราอยู่ เวลาต้องการความช่วยเหลือ พวกเขาจะคอยให้คำปรึกษาเสมอ”

“เราโชคดีที่คุณพ่อเป็นผู้รับเหมา จึงมีทีมช่างที่รู้ใจอยู่ในมืออยู่แล้ว”

นอกจากความตั้งใจในการเปิดคาเฟ่แล้ว เธอยังมีอีกหนึ่งความคิดที่อยากให้ทุกคนที่มาได้สัมผัส คือ ‘การชวนให้คิดถึงราชบุรีในสมัยก่อน’ หล้าจึงเลือกที่จะไม่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างเดิมมาก แค่ล้อไปตามกลิ่นอายสถาปัตยกรรมจีนดั้งเดิมตามที่เป็นอยู่ เพื่อให้ทุกคนที่เข้ามาได้ดื่มด่ำกับบรรยากาศเก่า ๆ

หวนคิดถึง

หลังจากสนทนากันพักใหญ่ เธอพาเราไปรู้จักที่นี่ให้ดีขึ้น โดยการแนะนำทั่วทุกมุมของคาเฟ่ 2 ชั้น

เริ่มจากชั้น 1 ตั้งแต่ทางเดินเข้าไปจะเจอกับห้องโถงกลางตึก มีเคาน์เตอร์สำหรับสั่งเครื่องดื่ม อาหาร และบรรยากาศที่เหมือนกับนั่งอยู่ในโรงน้ำชาจีนจริง ๆ 

ต่อกันด้วยชั้น 2 เมื่อขึ้นบันไดมาแล้วจะพบกับจิตรกรรมฝาผนังที่เป็นรูปคนชุดกี่เพ้าสีแดงคู่กับมังกร

“เพราะคนก่อตั้งโรงเจเป็นผู้หญิง จึงเลือกเพนท์ภาพนี้ให้เป็นผู้หญิงคู่กับมังกร เพื่อให้เป็นจุดเด่นของคาเฟ่”

เธอเล่าถึงที่มาของภาพวาด แต่ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เพราะการตกแต่งอย่าง ‘เฟอร์นิเจอร์’ ที่เราเห็นทั้งหมด หล้าได้แรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์เรื่อง ผู้หญิงข้า ใครอย่าแตะ ของหลิวเต๋อหัว เพื่อให้สอดคล้องกับสถานที่ ทำให้ทุกคนที่เข้ามาได้ดื่มด่ำกับบรรยากาศสมจริงราวกับอยู่ในหนังให้ได้มากที่สุด

ถัดจากภาพวาดฝาผนังหนัง จะพบกับโต๊ะรับแขกชุดใหญ่วางเด่น ข้าง ๆ กันคือศาลเจ้าแม่กวนอิมที่มีมาตั้งแต่เดิม 

ตอนนี้ยังมีคนมากราบไหว้ศาลอยู่ไหม – เราถาม

“ส่วนมากเป็นผู้สูงอายุที่มากราบไหว้ บางคนที่มาเขาเล่าให้เราฟังว่าเขาเคยอยู่ที่นี่มาก่อน ดีใจที่ได้เห็นโรงเจกลับมาเปิดอีกครั้ง แม้จะเป็นในรูปแบบคาเฟ่ก็ตาม อย่างน้อยเค้าโครงเดิมยังอยู่ จึงเป็นเรื่องน่ายินดีที่มีคนเข้ามาดูแลที่นี่” นอกจากศาลเจ้าแม่กวนอิมที่อยู่คู่โรงเจแล้ว ที่นี่ยังมีมุมเซียมซีอีกด้วย 

ใครที่อยากมาคาเฟ่เพื่อพักผ่อนหย่อนใจ บริเวณชั้น 1 ที่อบอวลไปด้วยบรรยากาศจีนตอบโจทย์แน่นอน ส่วนชั้น 2 เหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่ต้องการมากราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งคาเฟ่จากอดีตโรงเจแห่งนี้ยินดีต้อนรับคุณเสมอ 

รสชาติของวันวาน

อิ่มเอมกับบรรยากาศกันแล้ว ก็ถึงเวลาความอิ่มท้องกันเสียที 

“CHENG TECK TUNG Cafe มีทั้งเครื่องดื่ม อาหารว่าง อาหารคาว ทุกเมนูที่สร้างสรรค์ออกมา อ้างอิงจากวัฒนธรรมจีนตามคอนเซปต์ของสถานที่ ”

เราขอยกตัวอย่างสักหนึ่งเมนู อย่าง ‘ยกล้อ’ หากใครคิดว่านี่คือโอเลี้ยง บอกเลยว่าผิด! 

ยกล้อของเช็งเต็กตึ๊ง คือเอสเย็น เมนูกาแฟนมสัญชาติไทย และเครมบรูเล่ร้อน อีกหนึ่งเมนูที่ควรค่าแก่การสั่ง

ต่อด้วยอาหารคาว ห้ามพลาดข้าวผัดหนำเลี้ยบ ขาหมู หมั่นโถว เต้าหู้ทอด หมี่ผัดเบคอน และผัดหมี่ขี้เมา 

เมนูมากมายที่หล้าหยิบมานำเสนอในคาเฟ่แห่งนี้เป็นผลมาจากการทำร้านอาหารที่สวนผึ้งมาก่อน รวมถึงแพสชันในการสร้างสรรค์เมนูให้อิงกับวัฒนธรรมจีนตามความตั้งใจ แถมยังให้กลิ่นอายเมนูประจำบ้านของชาวราชบุรีในสมัยก่อยอีกด้วย 

“ในอนาคตเราอยากเปิดบริการจนถึงช่วงค่ำ อาจสัก 2 – 3 ทุ่ม เพื่อให้ที่นี่เป็นร้านอาหารเย็นสำหรับคนราชบุรี และเราอยากลองทำเมนูเล่มหนึ่งให้เป็นกาแฟเจ อาหารเจ เพื่อให้สมกับที่ที่นี่เคยเป็นโรงเจมาก่อน”

สะพานเชื่อมคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่

ด้วยความที่หล้าเติบโตในต่างอำเภอ เธอจึงไม่ได้เห็นถึงความสัมพันธ์ของคนที่นี่และโรงเจมากเท่าไหร่นัก แต่คนมากหน้าหลายตาก็มักแวะเวียนเข้ามาพูดคุยเสมอ เมื่อรู้ว่าสถานที่แห่งนี้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

“เราคิดว่าที่นี่คือตัวเชื่อมระหว่างคนรุ่นใหม่และเก่าเข้าด้วยกัน นอกจากสถาปัตยกรรมซึ่งเราอยากให้ทุกคนเข้ามาดูแล้ว ยังมีผู้สูงอายุจำนวนมากที่ผูกพันกับโรงเจแห่งนี้แวะเวียนเข้ามา บางคนพาลูกหลานมาแล้วเล่าให้ฟังว่าเคยเกิดเหตุการณ์อะไร หรือพวกเขามีความเกี่ยวข้องกับสถานที่นี้อย่างไร เคยใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ยังไง ไปจนถึงเล่าเรื่องราวว่าราชบุรีในยุคสมัยของพวกเขานั้นเป็นอย่างไร”

“นอกจากนี้ ที่นี่อยู่ไม่ไกลจากโรงเรียน หลังเลิกเรียนจึงมีเด็ก ๆ มาวิ่งเล่นกันที่สวนด้านหน้า มีผู้ใหญ่-วัยรุ่นแต่งตัวสวย ๆ มาทานอาหาร แล้วถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดีย”

เราว่า CHENG TECK TUNG Cafe คือสะพานเชื่อมคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ดังที่หล้าว่าไว้จริง ๆ เพราะที่นี่คือพื้นที่ที่คนทุกวัยตั้งแต่เด็กไปจนถึงอาม่ามาใช้เวลาร่วมกัน สร้าง-แบ่งปันความทรงจำและความประทับใจใหม่ ๆ ได้ เช่นเดียวกับเมื่อ 80 กว่าปีก่อนที่โรงเจแห่งนี้เคยเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนในย่าน และน่าดีใจที่สถานที่ดี ๆ แบบนี้ได้รับการชุบชีิวิตขึ้นใหม่อีกครั้ง

CHENG TECK TUNG Cafe

Writer

ชลิตา สามหาดไทย

ชลิตา สามหาดไทย

นักเล่าเรื่องจากเมืองหมอลำ มักกินส้มตำตอนเที่ยง เลี้ยงแมวชื่อหมิงเรน

Photographer

Avatar

หฤษฎ์ หอกเพ็ชร์

ถ่ายภาพตั้งแต่อยู่ปี 1 รู้ตัวอีกทีก็เป็นงานประจำไปซะแล้ว