ใครเคยเข้าร้าน สำรับสำหรับไทย ร้านอาหารของ เชฟปริญญ์ ผลสุข ย่านศาลาแดง คงจำโต๊ะอาหารขนาดใหญ่ตรงหน้าครัวได้ 

นี่คือสนามเด็กเล่นของ สาม-ธีป์ ผลสุข ลูกชายวัย 2 ขวบกว่าของพ่อปริญญ์และ แม่มิ้น-ธัญญพร จารุกิตติคุณ 

ด้วยความจำเป็นทางวิชาชีพ ทั้ง 2 คนต้องเลี้ยงลูกในร้านอาหารเป็นหลัก ไปไหนไปกัน สามโตมากับทีมงานก้นครัว รับรู้กลิ่นอาหาร รวมไปถึงได้ชิมอาหารอันหลากหลาย

ทั้งหมดนี้หล่อหลอมให้สามเป็นเด็กกล้า ไม่กลัวอะไร ชวนให้คนรอบข้างหวาดเสียวเป็นระยะ 

เหมือนที่เราสัมภาษณ์พ่อ แม่ ลูก บ้านนี้บนโต๊ะอาหาร และต้องคอยจับสามที่วิ่งสุดแรง แล้วไปหยุดที่ขอบโต๊ะ 

ผู้ใหญ่ 3 – 4 คนหวาดระแวงสุด ๆ แต่เด็กน้อยหัวเราะเอิ๊กอ๊าก สนุกที่ได้แกล้งพวกเราเต็มที่

1

จิรณรงค์ วงษ์สุนทร บรรณาธิการไลฟ์สไตล์ของเรา แนะนำบ้านนี้ว่า ‘เขาให้ลูกกินทุกอย่าง’

ไม่ได้หมายความว่าเชฟปริญญ์และมิ้นไม่ใส่ใจ ให้กินอะไรแบบไม่คิด แต่หมายถึงการให้ลูกได้ลองประสบการณ์ใหม่ ๆ ทางรสชาติ ผ่านการกินวัตถุดิบอาหารอันหลากหลาย

ยิ่งพ่อและแม่คือคนทำร้าน สำรับสำหรับไทย ร้านอาหารที่นำสูตรประจำบ้านจากตำราอาหารเก่าแก่มาปรุงใหม่ให้คนยุคนี้กิน ในครัวจึงประกอบไปด้วยวัตถุดิบสนุก ๆ มาจากหลากหลายภูมิภาค 

มะแปบ สะตอ มะนาว มะม่วงเบา ถั่วแระญี่ปุ่น มะพร้าวคั่ว ตับบด มิโสะ นี่คือตัวอย่างสิ่งที่ลูกสามเอาเข้าปากเป็นประจำ

บางทีเชฟก็ลองให้เขาชิมของอย่างเบียร์หรือสเต๊กแบบ Rare บ้าง แตะ ๆ พอให้รู้ว่ามันยังไม่ถึงเวลาที่จะลิ้มลอง

บางครั้งเชฟปริญญ์ต้องไปทำงานทั้งในและต่างประเทศ พามิ้นและสามไปด้วย ลูกชายยิ่งได้ลิ้มลองอาหารต่างชาติหลากภูมิภาคมากขึ้น 

มิ้นเปิดภาพถ่ายในโทรศัพท์มือถือ เธอเพิ่งพาลูกไปเกาะหลีเป๊ะ สามสนุกมาก ได้ลองตกปลา กินอาหารท้องถิ่น บางบ้านอาจไม่กล้าให้เด็กเล็กกิน แต่บ้านนี้ให้ลูกลองชิมเหมือนที่พ่อแม่กิน 

“เราเลี้ยงลูกเหมือนลิง” เชฟพูดยิ้ม ๆ ชวนให้สงสัยว่าหมายถึงอะไร

2

Baby-led Weaning หรือ BLW คือเทรนด์หนึ่งในการเลี้ยงลูกเรื่องการกิน 

หัวใจของมันคือการให้ลูกเลือกกินอาหารเอง โดยปราศจากการโน้มนำจากพ่อแม่ เพื่อให้ลูกได้หยิบอาหาร พัฒนากล้ามเนื้อ เสริมสร้างความกล้าเผชิญโลก 

ใครเชื่อแบบนี้ จะไม่มีการชวนลูกว่าลองกินอันนี้สิ ถ้าผู้อาวุโสหยิบอะไรให้ลองชิม แนวคิดนี้จะปฏิเสธ มีกฎและข้อห้ามจำนวนหนึ่งให้ปฏิบัติ เพื่อให้ลูกได้คิดเอง กินเอง 

ออกจะสุดโต่งไม่น้อย เชฟปริญญ์และมิ้นจึงไม่ได้ทำตามแนวคิดนี้ขนาดนั้น เคยศึกษามาบ้าง ปรับใช้บางข้อ แต่ที่เลี้ยงลูกแบบนี้ ส่วนหนึ่งเพราะเงื่อนไขในการเลี้ยงลูกกับทีมพ่อครัว อยู่ใกล้อาหารหลากหลายแต่เด็ก สามจึงได้สัมผัสและใกล้ชิดอาหารลึกซึ้งกว่าเด็กคนอื่น

เลี้ยงลูกเหมือนลิง เชฟหมายถึงการไม่กำหนดกฎเกณฑ์มากมายว่าเวลานี้ต้องกินอะไร ทำอะไร เหมือนที่หลายบ้านทำ เขาชอบการให้ลูกโตตามธรรมชาติมากกว่า

“ผมรู้สึกว่าการเลี้ยงลูกแต่ละวัน มีวิธีการที่เหมาะกับแต่ละช่วงเวลา เราบอกว่า 8 โมงต้องทำแบบนี้ไม่ได้ ถ้าเขาหิว ก็กิน เราทำร้านอาหาร เขามีอะไรกินอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าเราปล่อยตามยถากรรมนะ มันเป็นความรู้สึก ถ้าเขาอยากกิน เขาก็หยิบกินเอง บางอย่างที่เขารู้สึกว่าไม่ใช่ก็คายทิ้ง” เชฟเล่า

ทุกวัน เชฟปริญญ์ตื่นแต่เช้า ทำอาหารให้ลูก พ่อแม่ลูกเล่นด้วยกันถึงช่วงสาย ถ้าวันไหนมีเรียนในระดับเตรียมอนุบาลก็จะไปส่งลูก ถ้าไม่มีก็ทำกิจกรรมด้วยกัน ช่วงร้านเปิดยามเย็นถึงค่ำ พ่อแม่ต้องมาอยู่ร้าน ฝากลูกสามไว้กับผู้ใหญ่ ได้เจอกันอีกทีก็ตอนเข้านอนใกล้เที่ยงคืน 

เวลาทำอาหารให้สาม เชฟปริญญ์ดูแค่ว่าช่วงนั้นลูกชอบกินอะไร ถ้าชอบกินเส้น เขาก็ทำสปาเก็ตตีง่าย ๆ ให้ สามชอบกินถั่ว ผัก และผลไม้มากกว่าเด็กทั่วไป ส่วนหนึ่งเพราะอาหารในร้านสำรับสำหรับไทยเป็นน้ำพริกซะเยอะ มีผักและผลไม้แนมตลอด สามเลยได้แอบหยิบกินจนชินตาทั้งคนครัวและแขกที่มาร่วมร้าน

มิ้นเล่าว่าสามกินนมแม่จากเต้าเท่านั้น ไม่กินขวด เธอแทบไม่ได้ใช้เครื่องปั๊มนมที่เตรียมไว้ ราว 3 เดือนก็เริ่มกิน Finger Food ที่เด็กหยิบกินได้ด้วยมือ อย่างที่บอกว่าคุณแม่ไม่ได้ทำตามกฎ BLW ขนาดนั้น หลายครั้งเธอให้ลูกได้ลอง เพื่อที่เขาจะได้รู้ว่าชอบและไม่ชอบอะไร

“ตอนนั้นเชฟเสิร์ฟอาหารใต้เยอะ เราก็เซอร์ไพรส์ที่ลูกชอบกินสะตอ ก่อนหน้านี้เขากิน Edamame (ถั่วแระญี่ปุ่น) อยู่แล้ว ในร้านจะมีถั่วพื้นบ้านที่เชฟชอบนำมาใช้ เช่น มะแปบ เพราะว่าแม่เชฟอยู่ที่เชียงใหม่ ปลูกผักเอง ก็ไปตลาดกัน พอเจอสะตอก็อาจคิดว่าเป็นประเภทเดียวกัน คือแกะกินทุกวัน” มิ้นเล่า

ถึงจะสนุกกับการกิน แต่มีช่วงหนึ่งที่แม่มิ้นเครียดเพราะลูกเหมือนจะตัวเล็ก แต่เมื่อเช็กกับคุณหมอแล้วไม่พบความผิดปกติ ลูกโตตามเกณฑ์กำลังดี จะมีก็แต่เรื่องสนุกกับการกินที่ดูจะพุ่งทะลุเพดานกว่าบ้านอื่น

ให้ลูกกินแบบนี้ เชฟเชื่อว่าส่วนหนึ่งช่วยเรื่องภูมิต้านทาน ป่วยยากกว่าคนอื่น แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่น สามเป็นเด็กชอบเล่นกลางแจ้งมาก เรื่องคลุกดินทราย กระโจนลงน้ำ อะไรที่เป็นธรรมชาติขอให้บอก 

“ผมเป็นคนโบราณ บ้านอยู่ลำปาง ครอบครัวเป็นชาวนา สิ่งที่ได้กินประจำคือกล้วยบด ไข่บด ไม่มีอาหารสำหรับเด็ก คนยุคนี้บางทีให้อะไรที่เด็กเล็กไม่ต้องเคี้ยว กลืนอย่างเดียว แต่พอไม่เคี้ยว การพัฒนาของฟันก็ช้ากว่า ร่างกายมนุษย์พัฒนาตามการใช้งาน ตอนนี้ฟันเขาขึ้นไวมากเพราะให้เคี้ยวบ่อย การพัฒนาเกิดจากการทำซ้ำ ถ้าใช้มือประจำมันก็ใช้ได้เก่ง 

“เราไม่อยากให้ลูกกินอาหารซ้ำ จะได้ไม่รู้สึกว่ามีของกินแค่นี้ ให้เขารู้สึกว่าถ้าเขาชอบ ก็กิน ไม่ชอบเขาก็คาย พอแล้ว ไม่อยากให้เขารังเกียจที่จะกินสิ่งที่ไม่ชอบ ลูกไม่เคยพูดว่าไม่ชอบ ไม่กิน พอกินเข้าไปถ้าสำหรับเขากินไม่ได้ เช่น มันบด เขาก็จะคายทิ้ง เราก็เห็นจากวิธีการที่เขาทำโดยไม่ต้องบอก” เชฟเล่า

“ตอนนี้ชอบกินไอติมมะม่วงเบา กินได้ทั้งวัน” พูดจบ สามยิ้มกว้างให้พวกเราหนึ่งที พร้อมไอติมเลอะเต็มปาก

3

เรื่องกินเรื่องใหญ่สำหรับเด็กเสมอ

เราจึงได้เห็น อ่าน ฟังการสอนลูกให้กินตามหลากหลายความเชื่อ 

ถ้าจะมีสักเรื่องที่บ้านเชฟปริญญ์และแม่มิ้นเชื่อ คือความเป็นธรรมชาติ เด็กมีความคิดของตัวเอง เราแค่บอกทาง เขาเลือกได้ว่าอยากไปทางไหน

การกินก็เช่นกัน บางครั้งมีร้านอาหารมากมาย แต่เราก็ยังบ่นว่า กินอะไรดี 

ขอให้เชื่อในความคิดของลูก ให้ลิ้นเขาได้ลองบ้าง แบบที่ไม่อันตรายน่าห่วงเกินไป 

บ้านนี้เชื่อว่าการเปิดโลกให้ลูกด้วยอาหาร ยังไงก็ดีกว่าปิดกั้นไม่ให้เขาได้ชิมอะไรที่อยากกินเลย

Writer

ศิวะภาค เจียรวนาลี

ศิวะภาค เจียรวนาลี

บรรณาธิการที่ปั่นจักรยานเป็นงานหลัก เขียนหนังสือเป็นงานอดิเรก

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ