หลังจากนั่งปิ้งย่างกันมา 1 ชั่วโมงเต็ม และอิ่มเอมกับข้าวกระเทียมหม้อร้อน 

เราวางตะเกียบ เก็บโต๊ะ นั่งคุยกันสบาย ๆ กับทายาทผู้ก่อตั้งบาร์บีคิวพลาซ่า เป้-ชาตยา สุพรรณพงศ์ คำทักทายแรกของบทสัมภาษณ์นี้ เราเริ่มต้นด้วยการสวัสดีปีมังกร 

เอ๊ะ หรือจะเรียกว่าปีของพี่ก้อนดี

ชาตยาตอบรับด้วยรอยยิ้มที่กว้างสุด ๆ “ดีใจมากค่ะที่เป็นปีของพี่ก้อนด้วย คนทักเยอะมากเลย จนทำให้เรารู้สึกว่ามีพลังงานซ่อนเร้นบางอย่างช่วยเรา เป็นปีที่เต็มไปด้วยความหวังและความตั้งใจให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ” ชาตยาตอบด้วยน้ำเสียงมั่นใจ 

จนเราตื่นเต้นตามว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นกับพี่ก้อน น้ำจิ้ม กะหล่ำ หมูกลม เกี๊ยวซ่า หรือข้าวกระเทียมถ้วยโปรดในปี 2024 กันแน่

ปีมังกรนี้พิเศษยังไง

สารภาพตามตรง หลังจาก 2 ปีที่โดนมรสุมโควิด-19 เข้าไป พอปี 2022 หลังฟื้นโควิดก็ยังเป็นปีที่แปลก ๆ งง ๆ เข้าสู่ปี 2023 ทุกอย่างเริ่มตั้งตัว เป็น New Normal ของการทำธุรกิจที่ไม่เคยเห็นมาก่อนตลอด 36 ปีของบาร์บีคิวพลาซ่า ทำให้เราต้องปรับตัวอยู่สักพักและตั้งสติว่าจะหาจุดยืนอย่างไร เพื่อเข้าสู่ปีมังกร 2024 อย่างมั่นคง

หลังจากทบทวนมาหลายรอบ ไม่ว่าจะพลิกไปพลิกมา ซ้ายขวาหน้าหลัง เรารู้แล้วว่าเปลี่ยนไปจากแนวคิดเดิมไม่ได้เลย อย่างที่เคยพูดเสมอว่า Best Me, Best You, Best Now

เวลาสำคัญที่สุดคือปัจจุบัน คนสำคัญที่สุดคือคนที่อยู่กับเราตรงหน้า และสิ่งสำคัญที่สุดคือทำดีกับคนตรงหน้า สุดท้ายก็กลับมาที่สโลแกนของเราคือ ทำมื้อนี้ให้ดีที่สุด เรามีอดีตหลายร้อยวันที่ผ่านไปแล้ว และจะมีอนาคตอีกหลายพันวันที่ยังมาไม่ถึง แต่เรามีปัจจุบันแค่วันเดียว เราจึงเชื่อมากกับการอยู่กับปัจจุบันและทำวันนี้ให้ดีที่สุด

แม้จะมีคนบอกว่าอยู่ในคอมฟอร์ตโซนไปเรื่อย ๆ ระวังเป็นกบต้มนะ

คำว่าคอมฟอร์ตโซนมี 2 นัย ลูกค้ามักจะพูดถึงบาร์บีคิวพลาซ่าว่าเป็นร้านที่เป็นความสบายใจ ไว้ใจ เชื่อใจ ซึ่งบนความสบายใจนี้ ถ้าเราไม่ทำอะไรเลยก็อาจจะกลายเป็นร้านที่ล้าหลังได้ แต่เราเชื่อว่าในความธรรมดาไม่หวือหวานั้น เราใส่รายละเอียดเข้าไปให้กลายเป็นร้านพิเศษได้ ปีนี้จึงเป็นปีที่เราอยากมอบประสบการณ์ธรรมดาที่แสนพิเศษ (Extraordinary Ordinary Experience) ไม่ต้องถึงขั้นพิเศษแบบ Extravaganza หรูหราเวอร์วังอลังการ แต่ความธรรมดาแบบของเรานี่แหละที่ทำให้เราได้ความถี่ในการมาเยือนของลูกค้าอยู่เสมอ

ยกตัวอย่างเรื่องราวธรรมดาที่แสนพิเศษมากขึ้นให้ฟังหน่อย

ข้าวกระเทียมหม้อร้อนค่ะ ซึ่งจะอะไรกันนักกันหนากับข้าวกระเทียมธรรมดา ๆ (หัวเราะ)

ข้าวกระเทียม คือเมนูประจำโต๊ะที่ลูกค้า 9 ใน 10 มาแล้วต้องสั่ง โจทย์คือทำอย่างไรให้เมนูพิเศษมากขึ้น แต่ยังคงความสบายใจในรสชาติที่คุ้นเคย จากการฟังคอมเมนต์ลูกค้าอยู่เรื่อย ๆ ก็พบว่าลูกค้าประทับใจในความร้อน หอมกรุ่น และอยากได้ท็อปปิงใหม่เพิ่มขึ้น 

จึงออกมาเป็น ‘ข้าวกระเทียมหม้อร้อน’ ที่เพิ่มประสบการณ์กลิ่น เสียง รสสัมผัสมากขึ้น เพิ่มท็อปปิงใหม่ คือข้าวโพด เบคอน และกากหมู และให้พนักงานมาคลุกเคล้าให้ถึงที่ โมเมนต์ของความตื่นเต้นจึงย้ายมาอยู่บนโต๊ะ ต่างจากเมื่อก่อนที่แค่เสิร์ฟแล้วก็ไป พนักงานต่างบอกว่าชอบที่ได้ดูแลลูกค้าใกล้ชิดมากขึ้น ส่วนผลตอบรับของลูกค้าก็ดีมาก ข้าวติดก้นหม้อคือทีเด็ด และกลายเป็นว่ากากหมูมาเป็นอันดับ 1 ยิ่งทำให้เราได้เรียนรู้ว่าลูกค้าชอบลองของใหม่ เราต้องนำเสนอสิ่งใหม่ไปเรื่อย ๆ 

ข้าวกระเทียมหม้อร้อน เลยถือเป็นการตัดริบบิ้นเปิดตัวเมนูใหม่รับต้นปีมังกร

ใช่ค่ะ และกำลังจะมีของปล่อยออกมาอีกตลอด 12 เดือน 

หลายคนอาจมองว่าธรรมดาจังเลย ออกโปรโมชันรับปีใหม่ทั้งทีต้องปังกว่านี้สิ แต่สิ่งที่เราปล่อยต้องมีความยั่งยืนอยู่ในนั้น เราไม่ได้อยากสร้างกระแสชนิดที่คนต้องมาต่อคิวเพื่อกินสิ่งนี้ ลูกค้าไม่ต้องสั่งอะไรที่หรูหราฟุ่มเฟือย จึงไม่ได้คาดหวังยอดขายแบบบุฟเฟต์ ข้าวกระเทียมคือสิ่งที่สั่งกันอยู่แล้วทุกโต๊ะ และเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของทุกมื้อ หม้อร้อนนี้จะอยู่บนเมนูตลอดไป

ปีที่ผ่านมาเราลองออกลูกเล่นใหม่ ๆ เยอะมาก อะไรที่หยิบจับขายได้เราก็ทำเพื่ออยู่รอดกันไป พนักงานงง ลูกค้าก็งง ขนาดตัวเราเองยังงงเลย ถึงได้กลับมาตั้งสติและโฟกัสกับสิ่งที่เป็นความเชื่อหลักของเรา สื่อสารออกไปให้พนักงานมากขึ้น ก็จะสับสนกันน้อยลง และทำให้ตัวตนเราชัดเจนยิ่งขึ้น 

นอกจากเมนูใหม่ ยังเห็นชุดพนักงานโฉมใหม่ด้วย

พอเรากลับมาถามตนเองเรื่อง Best Me, Best You, Best Now

Best You ขององค์กรเราคือพนักงาน ไม่ใช่ลูกค้า เมื่อพนักงานทำหน้าที่ของตัวเองได้ดีที่สุด ผลลัพธ์จะถูกส่งไปยังลูกค้าเอง นั่นเลยเป็นหัวใจที่เรากลับมาสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับพนักงานมากขึ้น เราเลยตัดริบบิ้นที่ชุดพนักงานก่อนเลย ให้ทุกคนเข้าใจความพิเศษแบบ Food Passion ที่ไม่ต้องเวอร์วัง แต่ใส่ใจในรายละเอียด

เมื่อ 11 ปีก่อนเกิดการรีแบรนด์ครั้งใหญ่ของบาร์บีคิวพลาซ่า มีการเปลี่ยนยูนิฟอร์มพร้อมปรับภาพลักษณ์จาก ‘แบรนด์ที่ดีเสมอต้นเสมอปลาย แต่เชย’ ให้กลายเป็น ‘แบรนด์ที่ดีและทันสมัย’ พนักงานปรับลุคภูมิฐานมากขึ้น เสื้อเชิ้ตแขนยาวพับแขน กางเกงสีเทาเข้ารูป ใส่แล้วดูโก้ แต่พอยุคสมัยเปลี่ยนไป เราจึงออกสำรวจความคิดเห็นของพนักงานในทุกตำแหน่งอีกรอบว่าชุดที่ใช้งานได้ดีควรเป็นอย่างไร จนได้ดีไซน์ใหม่ที่เชื่อว่าจะเป็นชุดที่พนักงานอยากใส่ ใครเห็นต้องอยากซื้อ 

เล่าให้ฟังหน่อย ‘ฟังฉันDESIGN’ รอบนี้มีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่หัวจรดเท้าอย่างไรบ้าง

เราอยากให้ชุดพนักงานสะท้อนถึง ‘แบรนด์ที่ดี ทันสมัย และใช้งานได้ดี’ เปลี่ยนดีไซน์ไป 3 รอบเลยนะ เพราะ 2 รอบแรกเราเองยังไม่กล้าใส่เลย ไม่เท่ แต่แบบสุดท้ายนี้ พี่พนักงานคนหนึ่งที่อยู่มา 20 กว่าปียังบอกเลยว่าใส่แล้วรู้สึกเด็กลง เรามีพนักงานทุกเพศทุกวัย อยากทำให้ชุดใส่ง่ายเพื่อรองรับความหลากหลาย เหมือนที่เราสื่อออกไปในวิดีโอโฆษณาก็เป็นพนักงานของเราเองจริง ๆ ทั้งหมด

  เสื้อพนักงานเปลี่ยนให้ใส่สบาย เนื้อผ้ายืด ระบายอากาศดี ไม่ต้องรีด ปรับโทนสีเขียวให้เก๋มากขึ้น เปลี่ยนปกคอให้เป็นแนวสตรีตขึ้นด้วยผ้ายืด ส่วนโลโก้ปรับขนาดให้เล็กลงจนแทบมองไม่เห็น ชนิดที่ว่าออกจากร้านไปไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป็นพนักงาน ตามคอนเซปต์ Anywhere ใส่ออกไปคาเฟ่หรือไปเที่ยวได้ด้วย

กางเกงก็ฉีกกรอบจากพนักงานร้านอาหารทั่วไปที่มีความเชื่อว่าต้องสีเข้ม ป้องกันการเลอะง่าย แต่เมื่อจับมาแมตช์กับเสื้อสีเขียวแล้ว สีเบจชนะขาดลอย เราเลยตัดสินใจใช้เนื้อผ้าสีเบจ แล้วค่อยไปเลือกเนื้อผ้าที่ซักง่าย ไม่กลัวเลอะ ออกแบบแนวบอยเฟรนด์สไตล์ ให้เอวปรับได้ มีกระเป๋าใบใหญ่ติดกางเกง ใส่ได้ทั้งผู้หญิง-ผู้ชาย

หมวกพนักงานมีถึง 3 แบบ เพราะเราชอบทั้ง 3 แบบเลย เลือกไม่ถูก ใครอยากใส่แบบไหนก็เลือกตามสะดวก และปรับปีกหมวกให้ระบายอากาศให้ดีขึ้น จะใส่คู่กับทรงผมแบบใดหรือสีไหนก็ย่อมได้ 

ส่วนรองเท้า สมัยก่อนเราก็มีรองเท้าให้ แต่พอมาถึงเจเนอเรชันใหม่ที่อยากแสดงออกถึงความเป็นตัวเอง เราเปิดกว้างให้อิสระในการสวมใส่ ขอให้เป็นรองเท้าผ้าใบที่ใส่สบาย สะอาดสะอ้าน สีอะไรก็ได้ 

สำหรับบางตำแหน่ง เช่น พนักงานในครัว อาจมีข้อจำกัดเรื่องมาตรฐานความสะอาดและความปลอดภัย ก็ใช้ยูนิฟอร์มสีดำ ไม่มีกระดุมหรือเข็มกลัด วันก่อนเราเพิ่งเจอน้องพนักงานในครัวใส่ชุดใหม่ พร้อมกับรองเท้าไนกี้จอร์แดนสีส้ม เห็นแล้วยังชอบเองเลย มันเท่มาก

เสื้อที่ใส่อยู่นี้ก็น่ารักมากเลย สเวตเตอร์บาง ๆ เหมาะกับอากาศเมืองไทย

ใส่เองยังชอบเองเลย (ยืดตัวโชว์เสื้อขึ้นมาทันที) จำได้ว่าเมื่อเดือนที่แล้วใส่ตัวนี้มาที่ร้าน มีน้องพนักงานผู้ชายวัยรุ่นคนหนึ่งบอกว่าชอบจัง มีให้ซื้อไหม เราแทบจะถอดให้เลย ดีใจมาก แต่เหตุผลที่ยังไม่ได้มอบให้ เพราะยังเป็นตัวต้นแบบและอยากใส่มาคุยกับ The Cloud ก่อน กะว่าจะยกให้น้องหลังสัมภาษณ์เสร็จนี่แหละ

เราทำชุดในลักษณะแบรนด์แฟชันออกมาด้วยนะ คล้าย ๆ กับรุ่น Limited Edition แต่จะจำกัดให้ซื้อได้เฉพาะตำแหน่งที่ระบุเท่านั้น เช่น เสื้อระดับผู้จัดการ คนระดับผู้บริหารก็ซื้อไม่ได้ กำลังจะออกของตกแต่งมาเพิ่มด้วย เช่น เข็มกลัด ตัวรีด ให้เอามาตกแต่งเล่นกัน ส่วนชุดเก่าที่ไม่ใช่แล้ว พนักงานเอามาคืนได้ทุกตัว ส่วนหนึ่งนำไปเผาเป็นพลังงาน อีกส่วนหนึ่งจะแปลงร่างกลายเป็นของที่ระลึกเซอร์ไพรส์พนักงานเร็ว ๆ นี้

นอกจากฟังก์ชันและดีไซน์ ชุดพนักงานที่ดีต้องมีอะไรอีก

เราไม่ได้อยากเปลี่ยนแค่เสื้อผ้าหน้าผม ต้องเปลี่ยนไปถึงทัศนคติข้างใน ชุดที่ดีคือชุดที่ใส่แล้วรู้สึกภูมิใจ เกณฑ์คือผู้บริหารต้องกล้าใส่ชุดนี้ออกไปใช้ชีวิต 

ถ้าเรายังไม่กล้าใส่แล้วไปบังคับให้คนอื่นใส่ เขาก็เหมือนเป็นแค่ลูกจ้างของแบรนด์นั้น แต่เราอยากให้พนักงานใส่แล้วรู้สึกภาคภูมิ ไม่ใช่แค่รับรู้ว่าเป็นพนักงานร้านอาหาร แต่ภูมิใจในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่ได้ทำงานอย่างมืออาชีพ เป้าหมายสูงสุดของเราคือการทำงานแบบคนเสิร์ฟคน คนที่อยู่ในระดับเดียวกับลูกค้า หลังเลิกงานออกจากร้านเราไป เขาก็ยินดีใส่ชุดนี้ออกไปเป็นลูกค้าของร้านอื่นเช่นกัน 

พนักงานในร้านบาร์บีคิวพลาซ่าได้อะไรมากกว่าการเป็นพนักงานในร้านอาหารบ้าง

พนักงานที่ดีมาจากการเป็นนักเรียนที่ดี

บาร์บีคิวพลาซ่า คือร้านอาหารที่ทุกคนรู้จักกันดี แต่ Food Passion ไม่ใช่ร้านอาหาร เราเป็นโรงเรียน

เราต้องการจะขยายธุรกิจไปเรื่อย ๆ จึงต้องการคนมาร่วมทีมอยู่เสมอ ถ้าเลือกได้ก็อยากได้คนเก่ง คนดี และมีความสุข เมื่อเราเอาคนมาพัฒนาเองได้ มั่นใจได้เลยว่าจะได้คนแบบที่ต้องการและมีโอกาสอยู่กับเรานานขึ้น 

เรามีศูนย์การเรียน Food Passion เป็นโรงเรียนระดับ ปวช. ที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อมาเรียนที่นี่ 3 ปี นอกจากได้เรียนรู้จากการทำงานจริง ได้รับวุฒิการศึกษา ได้ประสบการณ์มากขึ้น และยังได้รับเงินเดือนทุกเดือน เป็นโอกาสให้น้อง ๆ จากต่างถิ่น ต่างฐานะ ต่างเชื้อชาติ มาหาความรู้แบบฟรีค่าเทอม ฟรีค่าที่พัก ฟรีอาหารกลางวัน มาทำงานทุกวันก็เหมือนมาเรียนหนังสือ ถ้าจบตรีก็เหมือนได้มาต่อโท วันหนึ่งเขาก็กลับบ้านไปเปิดร้านอาหารเองได้

บางคนอาจคิดว่าการทำงานร้านอาหารเป็นงานซ้ำเดิมตลอด การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นมาจากตรงไหนบ้าง 

คนส่วนใหญ่คิดว่าการทำงานร้านอาหารเป็นงาน Routine เหรอ (น้ำเสียงตกใจ)

เชื่อไหมว่าเล่ม SOP หรือ Standard Operating Procedure ของเราปรับทุกเดือนเลย มีเรื่องใหม่เข้ามาตลอด หลักสูตรการบริหารจัดการร้านอาหารมีตั้งแต่เรื่องวัตถุดิบ วิธีการเตรียมอาหาร การเสิร์ฟลูกค้า การนับสต็อก ระบบในร้าน มาตรฐานความปลอดภัย ระบบชำระเงิน ยิ่งยุคนี้ต้องใช้ทักษะทางดิจิทัลเข้ามาช่วยด้วยหลายด้าน ไหนจะ E-menu โปรโมชันบัตรเครดิต ช่วงต้นปี 2024 ก็ต้องมาเริ่มเรียนรู้เรื่อง Easy E-receipt ตามนโยบายของรัฐบาล 

ไม่รู้ว่าลูกค้าจะสังเกตเห็นไหมว่าเตาทองเหลืองหรือท่อดูดควันเปลี่ยนมาแล้วหลายร้อยเวอร์ชัน แม้จะเป็นเพียงการปรับในระดับมิลลิเมตร แต่เราก็ทดลองปรับปรุงคุณภาพอยู่เสมอ ทำให้งานในร้านอาหารของเราไม่เคยหยุดนิ่ง 

กัปตันทีมที่ต้องบริหารสาขาทั่วประเทศและมีพนักงานกว่า 3,000 คน รับฟังอย่างไรให้ทั่วถึง

การรับฟังพนักงานเป็นหัวใจสำคัญของ Food Passion เราพยายามสร้างวัฒนธรรมให้ฟังด้วยตา บริการด้วยใจ สำหรับลูกค้าสแกนแล้วส่งคอมเมนต์มาได้ตลอด ภายในบริษัทเองก็มีช่องทางให้พนักงานสื่อสารมาถึงผู้บริหาร แต่ยอมรับอย่างไม่อายเลยว่าสิ่งนี้เริ่มเลือนหายไปช่วงโควิด ปีนี้จึงก็อยากกลับมาฟังเสียงของทุกคนให้มากขึ้น 

ผู้บริหารที่ชอบอ้างว่าไม่มีเวลาแล้ว ต้องรีบตัดสินใจ จริง ๆ คำว่าไม่มีเวลาคือข้ออ้างอย่างหนึ่ง นอกจากการจัดสรรเวลาและสภาพร่างกายที่พร้อม เราต้องมีถ้วยอารมณ์ที่พร้อมรับด้วย เหมือนแม่ที่อยากสอนให้ลูกโตมาเป็นคนดี แต่หากอ้างว่ายุ่ง ไม่มีเวลาอยู่ตลอด จะมาโทษลูกในท้ายที่สุดก็ไม่ได้ โชคดีที่เราเริ่มทำการบ้านตั้งแต่ก่อนเข้าปีมังกร ด้วยการวางแผนงานทั้ง 12 เดือน ช่วยให้จัดสรรเวลาในแต่ละเดือนได้ดีมากขึ้นในการลงพื้นที่พูดคุยรับฟังพนักงานได้โดยตรง

เมื่อวันก่อนเพิ่งมาเปิดตัวเมนูข้าวกระเทียมหม้อร้อนที่สาขาเซ็นทรัล เวสต์วิลล์ น้องพนักงานทักว่า เปลี่ยนประตูกระจกนี้เป็นประตูอัตโนมัติดีไหมคะ สาขานี้เด็กเยอะ กลัวจะวิ่งชนเพราะคิดว่าประตูจะเปิดให้เอง เราฟังก็ประทับใจมากที่พนักงานใส่ใจในรายละเอียดและกล้าบอกเราโดยตรง เรื่องนี้เอาเข้าที่ประชุมเรียบร้อย กำลังดำเนินการกันอยู่

คิดว่าพนักงานมองเราเป็นผู้บริหารสไตล์ไหน

(นั่งนึกอยู่นาน) ขอคิดก่อนนะ เพี้ยน ๆ มั้ง อันนี้อาจเป็นหนึ่งในจุดอ่อนของเราที่เป็นกระจกสะท้อนตัวเองไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เป็นผู้ฟังที่ดีหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ เพราะเป็นคนพูดเยอะ พูดเร็ว แต่มักจะสัมผัสความรู้สึกของคนอื่นได้ว่าเขาน่าจะตื่นเต้นหรือกังวลเรื่องอะไร ที่ผ่านมาคงเป็นแบบ Situational Leader แหละ ในบางช่วงบางตอนก็ต้องนำไปทางหนึ่ง แต่พอเรารู้ตัวว่าเอียงมากเกินไป ก็กลับมาปรับใหม่ให้สมดุลขึ้น

เมื่อชาตยายังให้คำตอบไม่ชัด วงสนทนาเราเลยหันไปถามพนักงานอีก 2 คนที่นั่งอยู่ด้วยกัน ทั้งคู่ให้คำตอบรวดเร็วแบบไม่ต้องคิดเลย 

“เป็นผู้บริหารที่เข้าถึงได้ง่ายมาก รับฟังคนอื่นเสมอ แม้เราจะยังเป็นระดับตัวเล็กตัวน้อย การคุยกับคุณเป้ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นเด็กเลย กลับรู้สึกว่าเป็นมืออาชีพในตำแหน่งที่เราอยู่”

“เป็นคนเกรงใจคนอื่นด้วย บางทีเกรงใจจนรู้สึกผิด เพราะเราคิดว่าเป็นสิ่งที่ควรทำอยู่แล้ว คุณเป้ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกว่าทำงานแบบถูกบังคับ แต่เราทำงานกันตามหน้าที่จริง ๆ ”

นอกจากคำตอบที่ชื่นใจของทีมงาน เรายังมี ‘พี่ก้อน’ มาร่วมวง นั่งจ๋องยิ้มให้ทุกคนอยู่กลางโต๊ะ เลยไม่พลาดที่จะขอทำความรู้จักพี่ก้อนให้มากขึ้น จะมีร้านอาหารสักกี่แห่งที่มีมาสคอตน่ารักน่ากอดขนาดนี้

แรกเริ่มเดิมที ชื่อของบาร์บีคิวพลาซ่าเป็นคำสามัญทั่วไปที่คนอาจสับสนกับร้านปิ้งย่างเจ้าอื่นได้ง่าย ด้วยวิสัยทัศน์ของทีมการตลาด ทำให้พี่ก้อนถือกำเนิดขึ้นมาเป็นสัญลักษณ์ทางการค้าของร้าน และยังเป็นมาสคอตที่คอยสื่อสารกับลูกค้าในทุกช่วงเวลา 

“เราโชคดีมากที่เลือกพี่ก้อน ลูกค้าชอบสื่อสารกับสิ่งมีชีวิตมากกว่าสื่อสารกับคนหรือโลโก้แบรนด์” ชาตยาวิเคราะห์

อิคิไกของพี่ก้อนและชาตยา

ทุกวันนี้พี่ก้อนมีอิคิไกของตัวเอง เชื่อในการส่งต่อความสุขเป็นภารกิจหลักของชีวิต เพราะพี่ก้อนต้องดูแลลูกค้าขาประจำที่เป็นสมาชิก GON Gang Club มากกว่า 3 ล้านคนทั่วประเทศ

หมูกระทะกินที่ไหนก็ได้ แต่ชาตยาวางตำแหน่งของบาร์บีคิวพลาซ่าเป็นมากกว่าร้านอาหาร และไม่ได้มีตำแหน่งพนักงานเสิร์ฟอยู่ในบริษัท พนักงานหน้าร้านมีชื่อตำแหน่งว่า Service Delighter ส่วนพนักงานในครัวมีชื่อตำแหน่งว่า Kitchen Delighter สะท้อนถึงภารกิจที่ลึกซึ้งยิ่งกว่า คือการส่งมอบบริการที่ทำให้ลูกค้าเบิกบานใจ 

ตำแหน่งของชาตยาในฐานะ CEO ก็ไม่ได้หมายถึงผู้บริหารระดับสูงส่งแต่อย่างใด แต่มาจากคำว่า Chief Engagement Officer ที่จะเป็นกัปตัน นำทีมสร้างการมีส่วนร่วมกับทุกคน

“เราคือฐานกระจายสุข” นี่คือข้อความที่ชาตยาสื่อสารกับพนักงานทุกระดับ แม้แต่คนขับรถส่งวัตถุดิบ ก็ย่อมมีความสำคัญในการส่งมอบความสุขไปให้ถึงหน้าร้าน หากไม่มีคนส่งของหรือคนขัดกระทะ คงไม่มีหมูกลมบนเตาทองเหลืองแวววาวและกะหล่ำปลีฝอยเต็มถ้วยอย่างแน่นอน

10 Things you never know

about Chataya Supanpong

1.  ความสุขในเวลางานของชาตยา

การได้อยู่ท่ามกลางทีมงานที่ Positive, Passionate, Creative และ Collaborative

2.  ความสุขนอกเวลางานของชาตยา

นั่งรถไปส่งลูก อ่านหนังสือให้เขาฟังทุกเช้า และเล่นสนุกบ้า ๆ บอ ๆ กับครอบครัวก่อนนอน

3.  เมนูที่ชอบสั่งในร้านบาร์บีคิวพลาซ่า

หมูกลม เบคอน กุ้ง ลิ้นหมู แมงกะพรุน เยอรมันเบคอน คามะจัง ลูกชิ้นชีส บูตะคอร์น เกี๊ยวซ่าทอด กระเทียมคั่วเนย ปลาไข่ทอด ข้าวกระเทียม ยำหมูยอไข่แดงเค็ม เยลลี่กาแฟ

4. มื้อที่ดีที่สุดเวลาอยู่บ้านกับครอบครัว หน้าตาเป็นอย่างไร

มื้อที่เรามีกิจกรรมร่วมกัน ทำไปกินไป ยืนรุมกินกันรอบ ๆ Island หรือปิ้ง ๆ ย่าง ๆ ในสวน

5.  อยากเปิดสอนวิชาอะไรใหม่ ๆ ในศูนย์การเรียนฟู้ดแพชชั่น

Mindfulness, ทักษะความสุข, Outward & Growth Mindset, Reframing the Problem

6.  หากไม่ได้เปิดร้านอาหาร อยากเปิดร้านอะไร

ร้านเฟอร์นิเจอร์ เคยเปิดจริง ๆ นะคะ เฟอร์นิเจอร์นำเข้าจากอินเดีย

7.  เรื่องเล่าของลูกค้าขาประจำ

มีครอบครัวหนึ่งที่อากงชอบทานมาก ต้องทานอาทิตย์ละอย่างน้อย 2 ครั้ง ทั้งทานที่ร้านและสั่งไปทานที่บ้าน ลูกหลานก็ติดใจมาทานกันทั้ง 3 เจเนอเรชัน หากต่างคนต่างไปทานก็จะส่งรูปมาอวดกันว่าสาขาไหนเรียงหมูกลมได้สวยที่สุด รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในมื้อดี ๆ ของครอบครัวแสนน่ารักนี้ค่ะ

8.  พี่ก้อนเคยผ่านมีดหมอมาหรือไม่

ยกกระชับ ร้อยไหม ตัดกราม เก็บหนวด ทำมาครบแล้ว แถมเพิ่มรอยยิ้มและลีลาให้สอดคล้องกับแคมเปญในแต่ละช่วงด้วย

9.  วันหนึ่งพี่ก้อนจะมีคู่ครอง ออกลูกออกหลานไหม

พี่ก้อนมีชีวิต คงปล่อยให้เขาใช้ชีวิตและดูตามความเหมาะสมของเวลาและสถานการณ์

10.  อวยพรตรุษจีนปีมังกรให้คุณลูกค้า

มังกรเป็นสัตว์ในตำนาน เป็นตัวแทนแห่งความยิ่งใหญ่และความเป็นไปได้ ขอพลังแห่งมังกรดลบันดาลให้เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ที่คุณฝันไว้จงเป็นไปได้ในปีนี้ค่ะ

Writer

ธันยมัย อนันตกรณีวัฒน์

ธันยมัย อนันตกรณีวัฒน์

นักข่าวเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยเชื่อว่า GDP คือคำตอบ แต่กลับชื่นชอบในแนวคิด Circular Economy ว่าจะสร้างอนาคตอันสดใสให้กับโลกที่ร้อนขึ้นทุกวัน

Photographer

Avatar

นินทร์ นรินทรกุล ณ อยุธยา

นินทร์ชอบถ่ายรูปมาตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ซื้อฟิล์มให้ไม่ยั้ง ตื่นเต้นกับเสียงชัตเตอร์เสมอต้นเสมอปลาย เพื่อนชอบชวนไปทะเล ไม่ใช่เพราะนินทร์น่าคบเพียงอย่างเดียวแน่นอน :)