เรื่องราวของ จรัสภาวัน (Charras Bhawan Hotel & Residences) เริ่มต้นจากที่ดินว่างเปล่าติดชายหาดแห่งหนึ่งในหมู่บ้านเขาเต่า ซึ่งอยู่ห่างจากตัวอำเภอหัวหินมากกว่า 13 กิโลเมตร

พุทธศักราช 2465 คู่สามีภรรยาชาวเมืองกรุงนาม หม่อมหลวงทวีวัฒน์ สนิทวงศ์ และ คุณหญิงณพรัตน์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ร่วมกันสร้างบ้านพักตากอากาศของพวกตนบนที่ดินแปลงนั้น ก่อนที่มันจะกลายเป็นบ้านต่างจังหวัดที่ครอบครัวของทั้งคู่มักหลีกหนีชีวิตจำเจในเมืองหลวง มาพักผ่อนกินนอนเป็นประจำทุกวันหยุด

ทุกคราวที่ชายหญิงคู่นี้เดินทางมาถึงเขาเต่า ความเจริญจากพระนครก็ติดตามมา บ้านของพวกเขาจึงเป็นศูนย์กลางความศิวิไลซ์ของคนในท้องที่ รวมถึงเคยได้รับเกียรติเป็นสถานที่รับเสด็จของเจ้านายหรือพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ แต่เมื่อสิ้นบุญคุณหญิงผู้เป็นเจ้าของบ้าน ความรุ่งเรืองที่เคยดำเนินมานานกว่าค่อนศตวรรษก็พลอยเสื่อมลง สร้างความสังเวชใจแก่ลูกหลานเมื่อพวกเขาได้กลับมาเยี่ยมบ้านตากอากาศอันเป็นของดูต่างหน้าแทนตัวคุณย่าผู้ล่วงลับเสมอ

จรัสภาวัน (Charras Bhawan Hotel & Residences)

พุทธศักราช 2565 บ้านตากอากาศของตระกูลสนิทวงศ์ ณ อยุธยา จึงได้รับการพลิกโฉมใหม่เป็นรีสอร์ตริมหาดเขาเต่าที่ยังเก็บรักษาบรรยากาศเดิม ๆ ของการมาเที่ยวหัวหินเมื่อ 100 ปีก่อนได้เป็นอย่างดี ภายใต้การดูแลของทายาทคุณหญิงณพรัตน์อย่าง คุณจ๊อง-ณิศวัฒน์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา และพี่น้องซึ่งล้วนปรารถนาจะสืบสานคุณค่าของบ้านใหญ่ที่เคยเป็นที่พึ่งของชาวบ้านเขาเต่ามิให้เหลือเพียงตำนาน

บอกไว้ก่อนว่าสิ่งที่ทุกท่านจะได้อ่านต่อไปนี้ ไม่ใช่แค่บทความเล่าที่มาของโรงแรมธรรมดา หากเป็นภูมิหลังของบ้านเก่า ซึ่งเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์อำเภอหัวหินและประเทศไทยอีกด้วย

คุณจ๊อง-ณิศวัฒน์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา

คู่รักข้าหลวง

จากถนนเพชรเกษมที่ตัดเลียบทะเลอ่าวไทย ก่อนถึงอ่างเก็บน้ำเขาเต่า จะมีป้ายบอกให้เลี้ยวเข้าซอยทวีวัฒน์ซึ่งนำไปสู่จรัสภาวัน

ทั้งชื่อซอยและชื่อโรงแรมแห่งนี้มีประวัติเชื่อมโยงไปถึงคุณปู่กับคุณย่าของคุณจ๊องผู้ยืนต้อนรับอยู่ในล็อบบี้ที่แลลานตาไปด้วยรูปถ่ายเก่าแขวนผนัง

ในประดาภาพถ่ายที่ประดับอยู่นั้น มีภาพถ่ายฟิล์มสีขาวดำของคนคู่หนึ่งที่ดูเด่นชัดกว่าใคร

“ทวีวัฒน์ที่เป็นชื่อซอยมาจากชื่อคุณปู่ผม ส่วน จรัส เป็นชื่อเดิมของคุณย่า ตอนเกิดท่านชื่อ จรัส แล้วมาเปลี่ยนทีหลัง” หลานชายเล่าพลางนำชมภาพสมัยคุณปู่-คุณย่ายังหนุ่มยังสาว

ชีวิตช่วงต้นของ คุณย่าจรัส ค่อนข้างอาภัพ ด้วยท่านกำพร้าแม่แต่เด็ก ขณะที่พ่อรับราชการทหารเรือ ต้องเดินทางประจำ เป็นเหตุให้ดูแลลูกสาวอย่างใกล้ชิดไม่ได้ ญาติผู้ใหญ่จึงจัดแจงถวายท่านให้อยู่ในพระอุปถัมภ์ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท พระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 ตั้งแต่คุณย่าอายุได้ 3 ขวบ โดยที่เจ้านายพระองค์นี้มีพระอนุชาร่วมอุทร (น้องชายแม่เดียวกัน) 1 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร อดีตประธานองคมนตรีและเจ้าของวังที่หม่อมหลวงทวีวัฒน์ สนิทวงศ์ เติบโตมา

พระมารดาของทั้ง 2 พระองค์เป็นคนในราชสกุลสนิทวงศ์ เมื่อคนราชสกุลนี้มีบุตรหลานก็นิยมฝากฝังให้คนในวังของพระองค์เจ้าเยาวภาฯ และกรมพระยาชัยนาทฯ เลี้ยงดู กอปรกับการที่ทั้งสองเป็นพระเชษฐภคินีและพระอนุชาที่รักใคร่กลมเกลียวกันมาก มักเสด็จไปไหนต่อไหนด้วยกันเสมอ เหล่าข้าหลวงหรือบริวารก็มักได้พบเจอกันจากการตามเสด็จ คุณปู่กับคุณย่าของคุณจ๊องเลยได้รู้จักกันแต่เด็ก ในที่สุดความสนิทสนมนั้นก็ผลิบานเป็นความรักเมื่อทั้งคู่ย่างเข้าวัยหนุ่มสาว และได้สมรสกันเมื่อถึงวัยอันสมควร

บ้านของพ่อคุณ-แม่คุณ

หวนกลับไปเมื่อ 100 ปีก่อนหน้านี้ ชายทะเลหัวหินเคยเป็นที่พักเปลี่ยนบรรยากาศชั้นยอดของเหล่าผู้ดีมีสกุลจากพระนคร หาดทรายสีขาวหลายจุดถูกจับจองเป็นที่ปลูกเรือนไม้บังกะโล รอรับการมาเยือนของเจ้าบ้านซึ่งมักพาสมาชิกครอบครัวรวมถึงบ่าวไพร่ขึ้นรถไฟจากหัวลำโพงมาหัวหิน แล้วใช้เวลาทั้งวันไปกับการเล่นน้ำ ขี่จักรยาน จับกุ้งหอยปูปลา กินอาหารว่าง รวมถึงกิจกรรมสันทนาการอีกหลายอย่างที่ช่วยสร้างความเพลิดเพลินแก่พวกเขาตลอดแรมเดือนที่พักอยู่ที่นี่

สมัยรัชกาลที่ 7 ซึ่งคุณปู่และคุณย่าติดตามเสด็จเจ้านายของตนเป็นประจำนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จแปรพระราชฐานจากพระนครมาประทับที่วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน ตลอดทุกปี บรรดาเจ้าขุนมูลนายก็จะตามเสด็จมาพร้อมด้วยข้าทาสบริวารราวกับยกบ้านทั้งหลังมาอยู่หัวหินเป็นเวลา 2 – 3 เดือน กรมพระยาชัยนาทนเรนทรโปรดการผจญภัย จึงเสด็จออกสำรวจพื้นที่รอบหัวหินซึ่งยุคนั้นยังเป็นป่ารกชัฏ ทำให้ทรงค้นพบชายหาดเขาเต่าที่ทั้งสวยและเงียบสงบ ไม่มีคนพลุกพล่าน เป็นที่พึงพระทัยยิ่ง เหตุนี้พระองค์พร้อมด้วยบริวารจึงซื้อที่ดินจากชาวบ้านสำหรับสร้างบ้านไว้พักอยู่ยามตามเสด็จแปรพระราชฐาน

หม่อมหลวงทวีวัฒน์กับคุณหญิงณพรัตน์ (จรัส) ซึ่งมีอาวุโสน้อยกว่าคนอื่น เลือกได้ที่ดินไกลสุดชายหาด การจะมาเขาเต่าแต่ละครั้งเต็มไปด้วยความทุลักทุเล เพราะสมัยนั้นยังไม่มีการตัดถนนเพชรเกษม ส่วนรถไฟก็ยังไม่จอดที่สถานีเขาเต่า ต้องลงที่สถานีหัวหินแล้วนั่งเกวียนเทียมวัวเข้ามา ทุกวันนี้เกวียนเล่มนั้นก็ยังเก็บไว้เป็นอนุสรณ์เตือนให้ระลึกถึงความยากลำบากในการเดินทางสมัยก่อน

เขาเต่าเมื่อศตวรรษก่อนยังเป็นดินแดนไกลปืนเที่ยง ไม่มีแม้แต่ไฟฟ้าหรือน้ำประปาใช้ แต่คุณปู่-คุณย่าก็รักที่นี่มาก มักหาโอกาสมาพักผ่อนที่นี่เป็นประจำแม้ไม่มีหน้าที่ตามเสด็จ ไม่ช้าทั้งสองก็เป็นที่รักและที่พึ่งพาของชาวบ้านทุกคน เพราะเมื่อไหร่ที่พวกท่านมา หยูกยา อาหาร และเงินจากกรุงเทพฯ ก็จะตามมา ใครมีเรื่องเดือดร้อนหรือต้องการความช่วยเหลือก็จะบ่ายหน้ามาหาข้าหลวงสามีภรรยาที่พวกเขาขนานนามว่า ‘พ่อคุณ-แม่คุณ’ ร่ำไป บ้านนี้เลยกลายเป็นที่พึ่งพาของคนทั้งเขาเต่าโดยปริยาย

คุณย่าณพรัตน์ (จรัส) สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ถ่ายภาพที่ระเบียงบ้านพัก

“ใครไม่สบายก็มาหาพ่อคุณกับแม่คุณก่อนเลย เพราะรู้ว่าที่นี่มียา กินได้ทันที ลูกหลานใครอยากไปเรียนหรือไปทำงานกรุงเทพฯ ก็มาฝากพ่อคุณ-แม่คุณดูแล ท่านให้ที่อยู่อาศัย หาโรงเรียนให้ ใครเดือดร้อนเรื่องเงินก็มาบ้านนี้ คุณปู่กับคุณย่ามีเท่าไหร่ก็ให้ ไม่เคยปฏิเสธใคร ช่วยทุกคน” คุณจ๊องกล่าว

อย่างไรก็ดี บ้านที่เคยเป็นเสาหลักในการเผื่อแผ่ความช่วยเหลือแก่ชาวบ้านเขาเต่าก็มีอันต้องยุติบทบาทนั้นไป เมื่อพ่อคุณกับแม่คุณของพวกเขาถึงแก่กรรม

บ้านใหญ่ของคุณย่า

หม่อมหลวงทวีวัฒน์ สนิทวงศ์ ลาโลกนี้ไปนานหลายสิบปีก่อนที่คุณหญิงณพรัตน์ผู้เป็นคู่ชีวิตจะสิ้นใจตามไปใน พ.ศ. 2550 ช่วงนั้นรุ่นลูกมีอายุมากขึ้น ส่วนรุ่นหลานก็ไปศึกษาต่อในต่างประเทศหรือทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ เป็นส่วนใหญ่ ทิ้งให้บ้านตากอากาศที่คุณปู่-คุณย่าสร้าง ตกอยู่ในสภาพทรุดโทรม ผุพังตามกาลเวลา เพราะไม่มีคนใช้งานเหมือนเก่า จะมีก็แค่คนเฝ้าที่คอยดูแลบ้านตามยถากรรม 2 – 3 คน

เมื่อคุณจ๊องและพี่น้องหมดภารกิจเรื่องการเรียนและการงาน ทั้งหมดได้กลับมาตรวจดูบ้านนี้อีกครั้ง สภาพที่ปรากฏแก่สายตา 3 พี่น้องบ่งชัดว่าบ้านเสื่อมโทรมจนอยู่ไม่ได้แล้ว ชวนให้สะท้อนใจว่าภายในไม่กี่ปีที่ครอบครัวจากบ้านนี้ไปมันจะผุพังได้ถึงขนาดนี้

“เหมือนบ้านกำลังจะตายจากความทรงจำของเราตอนที่คุณย่ายังอยู่ เราเคยมาที่นี่ทุก ๆ ปี ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ทุกปิดเทอม มันไม่ใช่สภาพที่เราเห็นตอนที่เรามาดูครั้งนั้น”

จะทำอย่างไรให้บ้านกลับมามีชีวิตเหมือนเดิมตอนที่พวกเขาเคยอยู่ หลาน ๆ ทั้งสามถือเรื่องนี้เป็นวาระสำคัญที่ต้องปรึกษากันในหมู่พี่น้อง ในชั้นแรก ทุกคนมุ่งเป้าไปที่การบูรณะซ่อมแซม แต่พอนึกขึ้นได้ว่าคุณย่าไม่มีชีวิตอยู่แล้ว การซ่อมบ้านให้สวยเหมือนเก่าก็คงเปล่าประโยชน์ และสิ่งที่พวกตนควรรักษาไว้มากกว่าคือวิถีชีวิตของคุณย่าที่ท่านเคยใช้อยู่ที่นี่ ทั้งอาหารการกิน กิจกรรมที่ทำตั้งแต่เช้าจรดเย็น หากวิถีเหล่านี้ยังคงอยู่ จิตวิญญาณของคุณย่าก็จะยังคงอยู่ที่นั่น ไม่คลาไคลไปไหน

แผนการสร้าง ‘จรัสภาวัน’ จึงเกิดขึ้นด้วยข้อสรุปของหลานที่เห็นพ้องกันว่าควรเปิดโรงแรมที่ใส่วิถีชีวิตแบบที่คุณย่าเคยทำ เพื่อให้แขกที่มาพักได้สัมผัสการตากอากาศที่หัวหินในวันวาน

“สิ่งที่คุณย่าเคยทำคือวิถีชีวิตการตากอากาศแบบหัวหินแท้ ๆ เราคิดว่านี่คือหัวใจของหัวหิน ถ้าเป็นโรงแรมเฉย ๆ ก็มีทั่วแล้วในหัวหิน เป็นโรงแรมที่ตั้งอยู่ที่หาดหัวหิน แต่ไม่ได้นำเสนอวิถีของหัวหิน”

เพื่อให้ได้มาซึ่งชื่อที่สะท้อนถึงสิ่งที่ย่าของพวกเขาเคยทำ พี่น้องตระกูลสนิทวงศ์ ณ อยุธยา ก็ช่วยกันเฟ้นหาชื่อที่เหมาะสม จนได้ชื่อสุดพิเศษที่เกิดจากการผสมคำ

“ชื่อโรงแรมมาจาก จรัส ที่เป็นชื่อเดิมของคุณย่า ส่วน ภาวัน (भवन) เป็นภาษาฮินดี แปลว่า บ้านหลังใหญ่ รวมกันก็คือ ‘บ้านหลังใหญ่ของคุณย่าจรัส’ เราอยากสื่อว่ามันคือบ้านมากกว่าโรงแรม ไม่อยากให้คนคิดว่าเป็นสถานที่แค่เช็กอิน กิน นอน เช็กเอาต์ แต่อยากให้แขกที่มาสัมผัสได้ว่ามันคือบ้านใหญ่ที่มีวิถีของหัวหินอยู่ เลยหาคำที่แปลว่า บ้าน แล้วมาลงที่ ภาวัน”

วิลล่าตากอากาศ

เนื่องจากบ้านพักแต่ละหลังมีอายุค่อนข้างมาก โดยเฉพาะบ้าน 3 หลังที่ตั้งเรียงรายริมหาดทราย หลังเก่าสุดมีอายุเกือบ 100 ปีแล้ว แต่ได้รับการปรับปรุงต่อเติมมาหลายยุคตามจำนวนคนที่เข้ามาอยู่ ทีมวิศวกรและสถาปนิกที่เข้ามาดูให้คำแนะนำว่า ต้องรื้อทำใหม่ให้เป็นโครงเดียวกันทั้งหมด อะไรที่ยังพอเก็บของเก่าไว้ได้ค่อยเก็บไว้ ซึ่งได้แก่งานไม้ เช่น พื้น ประตู หน้าต่าง รูปแบบอาคารยึดตามรูปทรงเดิม ค่าที่กฎหมายผังเมืองกำหนดว่าตามระยะร่นจากหาดเท่านี้ห้ามก่อสร้าง รื้อถอน หรือต่อเติมใด ๆ วิธีเดียวที่ทำได้คือต้องคงรูปแบบเดิมเอาไว้ ทำให้มีสระว่ายน้ำเพียงส่วนเดียวที่เพิ่มเข้ามา

การก่อสร้างทั้งหมดใช้เวลาดำเนินการอยู่เพียง 1 – 2 ปี และแล้วจรัสภาวันก็เปิดบริการเต็มรูปแบบใน พ.ศ. 2565 อันเป็นวาระครบรอบ 100 ปีที่คุณปู่คุณย่าซื้อที่ดินแปลงนี้พอดี

บ้านพักแต่ละหลังได้รับการตั้งชื่อใหม่โดยยึดตามภูมิหลังของผู้อยู่อาศัย เริ่มจากบ้านหลังที่คุณปู่อยู่กับคุณย่าได้ชื่อว่า ‘วิลล่าทวีวัฒน์’ (Villa Taweevadh) ตามชื่อคุณปู่ แบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ห้องชุด โดยคุณจ๊องตั้งชื่อแต่ละห้องชุดเป็นชื่อเต่าทะเลที่พบในไทย ได้แก่ เต่าตนุ เต่ากระ เต่าหญ้า และเต่ามะเฟือง ทุก ‘เต่า’ มีเนื้อที่เท่ากันคือ 140 ตารางเมตร แบ่งเป็น 2 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ 1 ห้องนั่งเล่น 1 แพนทรี และมีอ่างจากุชชีให้ใช้ 1 อ่าง เฟอร์นิเจอร์หรือการตกแต่งบางอย่างยังใช้ของเดิมที่เก็บมาจากบ้านหลังเก่า เป็นต้นว่า ประตูสีสวาด ที่กั้นประตู เสาบ้าน ฯลฯ

ส่วนบ้านหลังที่ 2 ที่เล็กกว่าและอยู่ติดกันเรียกว่า ‘วิลล่าแค็กนีย์’ (Villa Cagney) ตั้งตามชื่อ คุณแค็กนีย์ ผู้เป็นพ่อของคุณจ๊อง แบ่งเป็นชั้นบนเรียกว่า แค็กนีย์แดนดี้สวีต (Cagney : Dandy Suite) กับชั้นล่างชื่อ แค็กนีย์แคแนรีสวีต (Cagney : Canary Suite) เนื้อที่แต่ละห้องชุดกว้าง 185 ตารางเมตร มี 2 ห้องนอน 3 ห้องน้ำ 1 แพนทรี 1 ห้องนั่งเล่น และอีก 1 จากุชชี

มีเรือนบริวารผู้ติดตามมาจากกรุงเทพฯ และเรือนหลังเล็กที่คนดูแลบ้านนี้ใช้อยู่ประจำ ก็ได้รับการปรับสภาพและเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ‘วิลล่าวัลล์’ (Villa Valaya) ซึ่งมีสระว่ายน้ำส่วนตัว รวมเนื้อที่ทั้งสิ้น 190 ตารางเมตร มีความเป็นส่วนตัวอยู่ท่ามกลางสวน และ ‘วิลล่าเดอจอง’ (Villa de Jong) ซึ่งมีเนื้อที่ 180 ตารางเมตร โดย 2 วิลล่านี้แยกห้องชุดออกเป็น 2 ห้องนอน 2 ห้องน้ำเท่ากัน

ความจริงยังมีเรือนรับรองแขกอีกหลังหนึ่ง แต่เพราะการทำเป็นโรงแรมต้องมีพื้นที่ร้านอาหาร ที่นั่นจึงได้รับการดัดแปลงเป็นห้องอาหารที่อยู่ใกล้ชิดติดชายหาดมากที่สุดในบรรดาอาคารทั้งหมด

ภายใน Villa de Jong

เหตุผลที่พี่น้องคุณจ๊องเลือกแบ่งพื้นที่ห้องพักขายในลักษณะห้องชุด แทนที่จะเป็นห้องเดี่ยวก็เพราะต้องการให้แขกที่เข้ามาพักได้ใช้เวลาร่วมกันเป็นครอบครัวเหมือนกับคนยุคก่อนที่มาพักผ่อนในหัวหินพร้อมกันยกบ้าน ทุกห้องชุดถึงได้ออกแบบมาให้นอนได้สูงสุด 5 คน แล้วแชร์พื้นที่ส่วนกลางร่วมกัน เสมือนว่าเป็นบ้านหลังหนึ่งนั่นเอง

อาหารชาววัง

เมื่อย้ายของเข้าห้องพักเป็นที่เรียบร้อย แขกหลายคนรวมทั้งเราคงมัวตื่นตากับความงดงามของเครื่องเรือนในห้องที่แลดูหรูหรามีระดับแบบบ้านตากอากาศย้อนยุค ตลอดจนความพิถีพิถันในการบริการของบรรดาพนักงานที่นี่ ซึ่งแสดงผ่านการ์ดในห้องพักที่เขียนต้อนรับผู้เข้าพักรายใหม่ด้วยลายมือบรรจงทุกการเช็กอิน เลยไม่ทันสังเกตความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นบริเวณสนามหญ้าหน้าวิลล่า

ใต้สนต้นใหญ่ที่ให้ร่มเงาอบอุ่น พนักงานโรงแรมหลายคนกำลังเคลื่อนย้ายโต๊ะเก้าอี้มาตั้งเป็นหมวดหมู่ พร้อมกับสำรับ ‘Afternoon Tea’ ทั้งแบบไทยและฝรั่ง หลายเมนูมีหน้าตาแปลกไปจากที่เคยเห็นเคยรับประทานจากร้านข้างนอก แต่สิ่งที่เหมือนกันทุกจานคือการตกแต่งที่ประณีตงดงามทุกกระเบียดนิ้ว ซึ่งถ้าได้รู้เบื้องหลังของคุณย่าจรัสผู้เป็นต้นตำรับอาหารพวกนี้ เราก็พลันสิ้นสงสัย

“เรื่องอาหารก็เป็นจุดเด่นอีกจุดหนึ่ง เพราะใช้สูตรดั้งเดิมของครอบครัว คุณย่าเป็นข้าหลวงในเสด็จเยาวภาพงศ์สนิท ท่านมีตำรับชื่อว่า ‘ตำรับสายเยาวภา’ คุณย่าได้รับถ่ายทอดมาเยอะ เป็นเรื่องที่คุณย่าเชี่ยวชาญที่สุด และเป็นสิ่งที่เราอยากนำเสนอ” หลานชายเท้าความด้วยน้ำเสียงบ่งบอกความภาคภูมิ

สมัยที่คุณหญิงกับสามีย้ายมาอยู่ที่นี่ใหม่ ๆ กระทั่งตลาดสักแห่งก็ไม่มีให้ซื้อหาวัตถุดิบมาปรุง ภาระจึงตกที่ผู้ชายอย่างหม่อมหลวงทวีวัฒน์ต้องคอยเข้าป่าไม่ก็ออกทะเลเพื่อหาเนื้อสัตว์ตามธรรมชาติมาให้ภรรยาแปรรูปเป็นอาหาร แม้เป็นถึงคุณหญิงคุณนาย แต่คุณย่าของคุณจ๊องก็ไม่เคยเกี่ยงที่จะเข้าครัว ลุยทำกับข้าวร่วมกับลูกมือทุกรอบอาหาร ตั้งแต่เช้า กลางวัน เย็น ยันอาหารว่างยามบ่าย

“เมนู Afternoon Tea เกิดจากการกินของว่างยามบ่าย เพราะคนแต่ละรุ่นที่มาอยู่ที่นี่ก็จะมีกิจกรรมต่างกัน อย่างรุ่นคุณปู่คุณย่า พอตกบ่ายเขาก็จะรำพัดกัน รุ่นคุณพ่อคุณแม่ไปเดินเล่น ขี่จักรยาน ไปเล่นน้ำ เด็ก ๆ เล่นปีนต้นไม้ ว่ายน้ำ จับปูปลามาทั้งวันแล้วบ่ายก็จะหิว เลยต้องมีอาหารให้กิน อาหารเลยเป็นจุดเชื่อมต่อของกิจกรรมในบ้าน”

คุณจ๊องเล่าต่อไปว่าเมื่อกว่า 60 ปีที่แล้ว ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จมาพบความกันดารที่เขาเต่า พระองค์มีพระราชดำริให้สร้างอ่างเก็บน้ำเขาเต่า นับเป็นอ่างเก็บน้ำในพระราชดำริแห่งแรกในรัชสมัย นำพาความเจริญจากตัวเมืองหัวหินให้แพร่ขยายมาสู่เขาเต่า คุณปู่กับคุณย่าที่เป็นข้าหลวงเก่าในวังได้มีส่วนร่วมในการสร้างสถานีอนามัย โรงเรียนประถม โรงทอผ้า รวมถึงจัดหาไฟฟ้าและน้ำประปาให้กับชุมชน

เมื่อพระองค์ท่านเสด็จฯ มาทรงงานแถบนี้บ่อยเข้า คุณย่าซึ่งเป็นชาววังเก่ามีหน้าที่ตั้งโรงครัวและพลับพลารับเสด็จ ปรุงพระกระยาหารกลางวันถวายอยู่เป็นประจำ นานวันทั้งคุณปู่และคุณย่าก็ตัดสินใจเปิดร้านอาหารที่ใช้รับเสด็จเป็น ‘ร้านรสทิพย์’ ร้านอาหารชื่อดังของเขาเต่าที่ถ่ายทอดสูตรอาหารชาววังให้กับแม่บ้านและเด็ก ๆ ได้ใช้เป็นวิชาเลี้ยงตัว หนึ่งในเมนูขึ้นชื่อคือกะปิรสทิพย์ เป็นกะปิสูตรโบราณ ใช้ส่งเข้าวังสมัยก่อน เนื้อกะปิมีความสะอาดและพิถีพิถันกว่ากะปิชาวบ้านธรรมดา

อาหารที่โรงแรมจรัสภาวันทำส่วนมากก็มีที่มาจากร้านรสทิพย์ ซึ่งสืบทอดสูตรมาจากตำรับสายเยาวภาของพระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิทอีกชั้นหนึ่ง

“คุณปู่จับอะไรมา ล่าอะไรมาได้ คุณย่าก็ต้องแปรรูปทั้งหมด เมนูใหม่ ๆ จะเกิดขึ้นที่นี่เยอะ เพราะมีสัตว์ต่าง ๆ นานามาให้ทำอยู่ตลอด” คุณจ๊องยกตัวอย่าง ‘ยำเนื้อ’ ที่คนทั่วไปเรียก

ของที่นี่เรียกว่า ‘เนื้อสันผักชี’ เหตุที่ผักชีเป็นส่วนประกอบสำคัญของเมนูนี้ ก่อนที่แถบเขาเต่าจะมีเนื้อวัว คุณปู่ก็ต้องจับเก้งหรือกวางที่หาพบในป่ามาให้คุณย่าทำ ด้วยธรรมชาติของสัตว์ป่าที่มีกลิ่นเหม็นสาบติดตัว คุณย่าเลยต้องพึ่งผักชีที่มีกลิ่นฉุนในการยำกลบกลิ่น เป็นที่มาของชื่อเมนูที่แปร่งไปจากชาวบ้าน

“รสชาติอาหารหรือวิธีทำของที่นี่อาจไม่เหมือนที่อื่น แต่หลายคนไม่รู้ว่าบางเมนูที่เรากินกันอยู่ทุกวันเกิดมาจากครัวที่นี่แหละ”

หัวใจแห่งเขาเต่า

ตลอดเวลาที่เราย้ายตัวเองมานอนกินลมชมทะเลอยู่ที่จรัสภาวัน เราสังเกตว่าสับปะรดคือผลไม้อันดับ 1 ที่ตกถึงท้องเรามากที่สุด พวกมันแทรกตัวอยู่ทุกมื้ออาหาร แม้เมื่อถึงเวลาเช็กเอาต์ คุณผู้จัดการโรงแรมยังนำสับปะรดแห้งใส่ชะลอมใบน้อยมากำนัลเราก่อนจากลา

นั่นก็เพราะสับปะรดคือพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญมากของเขาเต่าและประจวบคีรีขันธ์ ชาวบ้านในย่านนี้หลายครัวเรือนประกอบอาชีพทำไร่สับปะรดเลี้ยงตัว ที่เราได้กินเข้าไปในแต่ละมื้ออาหารก็มาจากสวนของชาวไร่ที่ครอบครัวคุณจ๊องเป็นเจ้าของที่ดิน

“อย่างที่บอกว่าบ้านนี้เหมือนเป็นหัวใจของหมู่บ้าน ใครต้องการอะไร มีงานอะไร ที่นี่เป็นศูนย์กลาง พอท่านเสียไป สิ่งเหล่านี้หายไปจากเขาเต่า ร้านรสทิพย์ก็ดรอปลง คนที่นี่เขาก็ใจหายเหมือนกันว่าบ้านที่เคยมีชีวิตชีวาเวลาพ่อคุณ-แม่คุณมามันร้างไปเลย พอเห็นที่นี่เปิด คนเขาก็ดีใจที่บ้านนี้ฟื้นขึ้นมาแล้ว”

จากแบบอย่างที่คุณปู่คุณย่าเคยทำให้เห็นมาแต่เล็ก คุณจ๊องและพี่น้องก็หวังว่าการเปลี่ยนบ้านตากอากาศเป็นโรงแรมจะช่วยเป็นที่พึ่งพิงให้กับชาวบ้านเขาเต่าได้เหมือนกัน

ใช่เพียงแค่ผลไม้ที่มีไว้เสิร์ฟลูกค้า แต่ยังรวมไปถึงของใช้ที่มีผ้าเป็นส่วนประกอบ อย่างผ้าถุงที่พนักงานสวม เสื้อคลุมอาบน้ำในห้องพัก และถุงใส่เครื่องอาบน้ำ ส่วนใหญ่เป็นผลผลิตจากโรงทอผ้าเขาเต่าที่เป็นโครงการศิลปาชีพแห่งแรก ๆ ตั้งขึ้นเพื่อสร้างอาชีพแก่กลุ่มสตรีโดยเฉพาะ

ยิ่งไปกว่านั้น พนักงานใส่ยูนิฟอร์มจรัสภาวันแทบทุกคนที่เราได้เห็นก็เป็นคนในพื้นที่หรือมีพื้นเพอยู่แถบนี้ คุณจ๊องเผยว่าต้องการจ้างงานคนเขาเต่าก่อน เพื่อให้คนที่นี่มีรายได้ เหมือนกับที่คุณย่าของเขาเคยจ้างเด็กและผู้หญิงมาทำงานในร้านรสทิพย์เมื่อหลายสิบปีก่อน

“เราทำอย่างที่คุณย่าเคยทำ เพราะพี่น้องเราเห็นตรงกันว่าสิ่งที่คุณย่าทำมันมีคุณค่ากับครอบครัว กับเพื่อนฝูง และญาติที่เคยมาอยู่ที่นี่ ทุกคนจำได้ว่าบ้านคุณย่าที่เขาเต่ามาแล้วมีความสุขมาก ทุกคนอยากมา เพราะมาแล้วอยู่สบาย อาหารอร่อย คุณย่าใจดีดูแลทุกคน เป็นที่รักในความทรงจำใครหลายคน”

สุ้มเสียงคุณจ๊องเครือลงทุกครั้งที่เขาได้ย้อนระลึกถึงญาติผู้ใหญ่ที่ตนเคารพรักไม่เคยเสื่อมคลาย

“ถึงแม้ตอนนี้ยังทำได้ไม่เต็มร้อยเหมือนที่คุณย่าทำ แต่ก็พยายามเต็มที่ เพราะมองว่าบ้านสำคัญกว่ามูลค่า ถ้าเป็นคนอื่นเขาอาจบอกว่าขายที่ก็ได้ หรือว่ารื้อแล้วทำเป็นโรงแรมปกติเลยก็ได้ แต่เรามองว่าไม่มีประโยชน์ ถึงมีเงินก็จริง แต่มันไม่มีคุณค่าครับ”

3 Things you should do

at Charras Bhawan

01

อยู่กับความสงบของธรรมชาติแบบคนเมื่อก่อนที่มาหัวหินเพื่อแค่นอน กิน เดินเล่น

02

ไปดูและช่วยอุดหนุนผ้าทอของกลุ่มสตรีทอผ้าเขาเต่าที่ทางโรงแรมสนับสนุน

03

ชิมอาหารของที่นี่ หลายอย่างชื่อเหมือนที่อื่นแต่กินแล้วไม่เหมือน แถมมีประวัติซ่อนอยู่แทบทุกเมนู

Charras Bhawan

Writer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์