“เป็นลูกของคุณพ่อคุณแม่ เป็นนักการทูต เป็นนักเขียน เป็นสามีของภรรยา เป็นพ่อของลูก ๆ เป็นเพื่อนเป็นมิตรกับทุกคน และเป็นคนที่ทำความรู้จักกันได้ครับ” คือคำจำกัดความของ กอล์ฟ-ชาครีย์นรทิพย์ เสวิกุล ผู้ชายหลายบทบาทที่เขากล่าวแนะนำตนเอง

ในบทบาทของลูก คอนวนิยายรุ่นเก่าคงรู้จักเขาในฐานะลูกชายคนโตของ ประภัสสร เสวิกุล นักประพันธ์ชั้นครูผู้ล่วงลับ ผู้ได้รับเลือกให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำ พ.ศ. 2554 กับ ชุติมา (วรฉัตร) เสวิกุล นักเขียนเจ้าของนามปากกา นิลุบล นวเรศ, นริศรา, แมนสรวง แดนสยาม, นิ’ภัส และอื่น ๆ อีกมากมาย

ในบทบาทของนักการทูต เขาคือผู้อำนวยการกองตะวันออกกลาง ในสังกัดกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา ผู้ดูแลความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับอีก 15 ประเทศได้อย่างยอดเยี่ยมจนได้รับรางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่น ประจำ พ.ศ. 2565

ชีวิตเดินตามฝันของชาครีย์นรทิพย์ข้าราชการดีเด่น-นักเขียนคนดังแห่งกระทรวงต่างประเทศ
กอล์ฟ-ชาครีย์นรทิพย์ เสวิกุล

ในบทบาทของนักเขียน ชื่อจริงอันเพราะพริ้งของเขายังถูกใช้เป็นนามปากกาที่ปรากฏบนปกหนังสือหลายเล่ม ทั้งนวนิยาย ตำราประวัติศาสตร์ ด้วยความถี่ในการออกผลงานใหม่ปีละ 3 เล่มโดยเฉลี่ย ส่งผลให้หนังสือที่เขาเขียนและแปลได้เผยโฉมผ่านตานักอ่านมานักต่อนัก อาทิ น้ำผึ้งพระจันทร์ในรอยทราย, หัวใจติดปีกรัก, รถไฟขบวนสุดท้ายสู่อิสตันบูล, ประวัติศาสตร์แมว หรือ ประวัติศาสตร์ตุรกี

ในบทบาทของสามีและคุณพ่อ เขาคือหัวหน้าครอบครัวผู้ไม่เคยลืมที่จะเขียนชื่อภรรยา ลูกชาย และลูกสาวของตน บนหน้าคำนำหนังสือทุกเล่มที่ได้รับการตีพิมพ์ ด้วยถือว่าทั้ง 3 คนคือแสงสว่างนำทางสู่ทุกความสำเร็จในชีวิต

และในบทบาทของคนที่ทำความรู้จักกันได้ ขอนำผู้อ่านทุกคนไปรู้จักกับ ‘นักการทูต-นักเขียน’ ซึ่งเป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจชั้นเลิศของคนล่าฝันหลาย ๆ คน รวมถึงผู้เขียนบทความนี้ด้วย

หน้าที่ในปัจจุบันที่คุณทำอยู่ในกระทรวงการต่างประเทศคืออะไร

ตอนนี้ผมเป็นผู้อำนวยการของกองตะวันออกกลางในกระทรวงการต่างประเทศครับ ที่กองดูแล 15 ประเทศ เรื่องความสัมพันธ์ทวิภาคีกับประเทศต่าง ๆ 3 ประเทศหลัก ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน และอิสราเอล และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ยังมีองค์การระหว่างประเทศของโลกมุสลิมอย่าง OIC ที่ต้องดูแลด้วยครับ

ทำไมคุณถึงนิยามตัวเองว่า ‘ชาครีย์นรทิพย์ คนช่างฝัน’

ผมคิดว่าชีวิตของคนเราอยู่ได้ด้วยความหวังและความฝันครับ ความฝันเป็นสิ่งที่เรามีเสรีภาพ จะฝันยังไงก็ได้ เราฝันอยากเป็นคนรวย อยากมีครอบครัวใหญ่ ๆ อยากมีความสุขยังไงก็ได้ เป็นเรื่องของตัวเราแต่ละคน ทุกคนมีความฝันเป็นของตัวเอง และไม่มีใครมาทำลายฝันนั้นได้ 

ฉะนั้น ผมเลยมองว่าเราเป็นคนช่างฝัน ไม่ได้ยึดติดหรือตีกรอบด้วยอะไรก็ตาม ความฝันของผมยังคงมีอานุภาพอยู่ แม้ว่าป่านนี้อายุใกล้จะ 50 ปีแล้วก็ตาม แต่ก็ยังคงเป็นคนช่างฝัน เพราะฝันเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตมีรสชาติ มีพัฒนาการ มีพลวัต

ชีวิตเดินตามฝันของชาครีย์นรทิพย์ข้าราชการดีเด่น-นักเขียนคนดังแห่งกระทรวงต่างประเทศ

ที่คุณฝันอยากทำงานในกระทรวงการต่างประเทศ เป็นเพราะคุณพ่อคุณแม่หรือเปล่า

มีส่วนครับ เพราะคุณพ่อกับคุณแม่ของผมเป็นนักการทูต เพราะงั้นมันจึงคล้าย ๆ กับการซึมซับมา

ผมโตมากับการติดตามคุณพ่อคุณแม่ไปประจำการในต่างประเทศตลอด ตัวผมเกิดที่ประเทศลาวซึ่งเป็นการออกโพสต์ที่แรกของคุณพ่อ ก่อนจะตามไปที่เยอรมนี แล้วก็ตุรกี จากนั้นก็ไปเรียนที่นิวซีแลนด์ ก่อนที่คุณพ่อจะได้ตามไปในการออกโพสต์

ทั้งหมดนี้ ประเทศใดที่คุณรู้สึกผูกพันที่สุด

คงจะเป็นตุรกี เพราะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อพอดี ตอนที่คุณพ่อประจำอยู่ที่ลาวหรือเยอรมนี เราก็เด็กเกินไป อย่างที่เยอรมนี ความทรงจำที่มีต่อที่นั่นไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าโรงเรียนอนุบาล แต่ที่ตุรกีเราไปถึงก็ 10 ขวบแล้ว เริ่มรู้เรื่อง มีความสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ ที่โตมาด้วยกัน 4 ปี เลยผูกพันมาก

ภาพจำที่คุณมีต่อตุรกีเป็นอย่างไร

ในโลกมุสลิม ผมรู้จักตุรกีก่อน ซึ่งเป็นประเทศที่ไม่ได้เคร่งมากเหมือนอย่างในตะวันออกกลาง ความประทับใจของผมคือการได้ไปตามมัสยิดต่าง ๆ ไปเรียนรู้ตั้งแต่อายุ 10 กว่าขวบ ไปสังเกตวัฒนธรรมของเขา อย่างเช่นช่วงอีดใหญ่ที่เขามีการเชือดแพะ เชือดแกะ คุณพ่อบอกว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเขา ของศาสนาเขา คนตุรกีก็เหมือนกับคนไทย มีจิตใจโอบอ้อมอารี มีเมตตา ให้ความสำคัญกับครอบครัว เด็กวัยนั้นไม่ได้รู้สึกแบ่งแยกว่าเพื่อนคนตุรกีของเราเป็นมุสลิม เราเป็นพุทธ ซึ่งเรามองว่าความดีของคนอยู่ที่จิตใจ ทำให้ศาสนาไม่ได้เป็นประเด็นครับ

ตอนไหนที่คุณฝันอยากเป็นนักการทูต

ตอนเด็ก ๆ เคยมีคนถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร สมัยก่อนโลกเรายังไม่ได้ใกล้ชิดกันขนาดนี้ เราเห็นว่านักการทูตไปสร้างความผูกพันที่ดี สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศ พอผู้ใหญ่เขาถามว่าอยากเป็นอะไร ผมก็บอกเขาว่าอยากเป็นนักการทูต

ที่จริงพอเรียนจบมา ผมเคยไปเป็นนักข่าวสำนักข่าวญี่ปุ่น 1 ปี อยู่กับ TV Asahi วันดีคืนดีเจ้านายก็เรียกมาบอกว่า ยูไปเป็นนักการทูตเถอะ ยูไม่ค่อยเหมาะกับการเป็นนักข่าวเท่าไหร่ (หัวเราะ) ผมก็เลยลาออกมาเตรียมตัวสอบเข้ากระทรวง ได้เริ่มทำงานโพสต์แรกเป็นทีมเปิดสถานทูตที่ประเทศบาห์เรนเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว เป็นจังหวะที่ทำให้ได้รู้จักกับโลกมุสลิมมากขึ้น

ชีวิตเดินตามฝันของชาครีย์นรทิพย์ข้าราชการดีเด่น-นักเขียนคนดังแห่งกระทรวงต่างประเทศ

ซึ่งคุณก็ได้ไปอยู่ตุรกีอีกครั้งตอนที่คุณได้ออกโพสต์เอง

ใช่ครับ ตอนเด็กที่ผมกำลังจะกลับมา เขาเพิ่งเปิด Atakule หอคอยสูงสุดในกรุงอังการา หลังจากนั้นเขาก็ปิดซ่อมแซมไป แล้วก็เปิดใหม่อีกครั้ง พอกลับไปเขาก็เพิ่งเปิด ผมเลยพูดติดตลกว่าตอนจะจากมาคือตอนที่เขาเพิ่งเปิด พอกลับไปครั้งนี้เขาก็เปิดอีกรอบหนึ่ง

30 ปีที่เว้นช่วงไป ตุรกีเปลี่ยนไปมาก เรียกว่าหน้ามือเป็นหลังมือเลย ทั้งในแง่การพัฒนาของประเทศและเศรษฐกิจของเขา ผู้นำของตุรกีอยู่ในอำนาจมาจะ 20 ปีแล้ว เป็นช่วงที่ประเทศเขาพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ในแง่มุมมองหรือสังคมก็เปลี่ยนด้วย อย่างตอนผมเด็ก ๆ สตรีก็ไม่ได้คลุมผมเยอะเท่าปัจจุบัน

ในบทบาทการเป็นนักการทูตต้องมีภาพลักษณ์และการวางตัวอย่างไรบ้าง

ในแง่การเป็นตัวแทนประเทศ เวลาออกไปประจำการต่างประเทศ เราแยกตัวเราจากการเป็นตัวแทนประเทศไม่ได้ ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน เขาไม่ได้มองนายชาครีย์นรทิพย์ว่าเป็นนายชาครีย์นรทิพย์ แต่เขามองว่าเราเป็นตัวแทนประเทศไทย นั่นคือความกดดันที่มีอยู่ เราพูดอะไรในฐานะตัวเราไม่ได้ ฉะนั้นก็ต้องคอยระมัดระวังตัวเองตลอดเวลา คอยตระหนักอยู่เสมอว่าเราไปทำงานในฐานะตัวแทนประเทศ หน้าที่ของเราคือเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

นอกจากเป็นนักการทูตแล้ว คุณยังเป็นนักเขียนด้วย อะไรคือสาเหตุที่คุณคิดว่าทำงานทั้ง 2 อย่างนี้ไปด้วยกันได้

มันเป็นความท้าทายนะ ระบบราชการ เอกสารราชการ มีกรอบของมันว่าต้องใช้คำประมาณนี้ เนื้อหาก็ประมาณนี้ ไม่มีพื้นที่ให้กับความคิดสร้างสรรค์ บางทีเราเผลอใส่คำที่มีเสียงสัมผัสลงไปแล้วดูไม่ใช่ระบบราชการ (หัวเราะ) 

ฉะนั้น เราก็ต้องรู้ว่าในฐานะที่เราทำงานราชการ เราต้องเขียนแบบหนึ่ง ในฐานะที่เราเป็นคนชอบเขียน ทำงานเขียน เราก็เขียนอีกแบบหนึ่ง แต่ว่าหลักคือการสื่อสารสิ่งที่เราต้องการจะสื่อออกไป ไม่ว่าจะเขียนในกรอบของราชการก็ดี หรือการเขียนแบบสร้างสรรค์ก็ดี

ชีวิตเดินตามฝันของ ‘ชาครีย์นรทิพย์’ ข้าราชการดีเด่น-นักเขียนคนดังแห่งกระทรวงต่างประเทศ
ชีวิตเดินตามฝันของ ‘ชาครีย์นรทิพย์’ ข้าราชการดีเด่น-นักเขียนคนดังแห่งกระทรวงต่างประเทศ

เคยได้ยินว่าตอนเด็กคุณเขียนภาษาไทยไม่ได้เลย

ใช่ครับ ตอนเด็กที่อยู่เมืองนอก ที่บ้านจะพูดภาษาไทยกัน แต่ตัวผมกับน้องชายจะพูดภาษาอังกฤษ ผมกลับมาเรียนภาษาไทยใหม่ตอนอายุ 14 ปีที่โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี เทอมแรกที่เรียนผ่านคือภาษาอังกฤษ นอกนั้นตกระนาวเลย ต้องมาเรียน ก ไก่ ข ไข่ ตอนอายุ 14 ปีเนี่ย

ทั้งที่จริง ๆ แล้วคุณพ่อคุณแม่คุณก็เขียนหนังสือเยอะ คุณไม่ได้อ่านงานเขียนของพวกท่านหรือ 

อ่าน อ่านงานเขียน อ่านภาษาไทยออก แต่เขียนไม่ได้ มาอ่านจริง ๆ ก็ช่วง 14 นี่แหละ ที่พอเริ่มอ่านภาษาไทยออก

คุณประภัสสร เสวิกุล คุณพ่อของคุณก็เป็นทั้งนักการทูตและนักเขียนมาก่อนเหมือนกัน ไม่ทราบว่าคุณรู้สึกอย่างไรกับการทำงานที่เหมือนกับเดินตามทางของคุณพ่อตัวเอง

ตั้งแต่เล็ก ๆ ผมเปรียบว่าคุณพ่อเป็นเหมือนต้นไม้ต้นใหญ่ มีร่มเงาแผ่ขยายกว้างมาก และให้ร่มเงากับตัวผมในฐานะลูกมาตลอด คุณพ่อเป็นตัวอย่างที่ดีของคนที่เป็นทั้งผู้นำครอบครัว ข้าราชการ และนักเขียน เราเห็นตัวอย่างนี้และรู้สึกว่าอย่างน้อยให้ได้สักครึ่งหนึ่งของคนคนนี้เราก็ดีใจแล้ว

ผมยึดคุณพ่อเป็นแบบอย่างมาตลอด แต่แน่นอนว่าในบริบทการทำงานก็แตกต่างกัน ถามว่าในฐานะคนชอบเขียนกดดันไหม กดดันตลอดเวลา ตั้งแต่เด็ก ๆ จนถึงปัจจุบันก็ยังกดดันอยู่ เพราะทุกคนก็จะรู้ว่าชาครีย์นรทิพย์เป็นลูกประภัสสร เสวิกุล เขียนหนังสือไหม เขียนแล้วเป็นไง สู้คุณพ่อได้ไหม มันเป็นเรื่องปกติที่ผมไม่ได้รู้สึกอะไร เพราะมันก็คือความจริง คุณพ่อเคยพูดเสมอว่าไม่อยากให้ผมเป็น ‘ประภัสสร เสวิกุล คนที่ 2’ แต่อยากให้ผมเป็น ‘ชาครีย์นรทิพย์ เสวิกุล ตัวจริง’

เมื่อเป็นเช่นนี้ คุณชาครีย์นรทิพย์มีวิธีรับมือความกดดันนี้อย่างไร

ผมคิดว่าในเรื่องเหล่านี้เรามีทางออก คนเรามีทางออกเสมอ โดยมากมีกันอยู่ 2 ทางเท่านั้น คือไปต่อกับถอย ผมก็มองว่าคุณพ่อเป็นตัวอย่างที่ดี เป็นคนที่ได้รับการยอมรับทั้งในแง่ของตัวบุคคลและหน้าที่การงาน มันไม่มีเหตุผลที่เราจะต้องรู้สึกต่อต้าน เวลามีคนบอกว่าคุณพ่อเป็นนักเขียนที่เก่ง เราไม่ต้องไปต่อต้านว่าไม่จริง ไม่ใช่ เพราะความจริงมันก็ชัดอยู่แล้วว่าท่านมีความสามารถด้านวรรณศิลป์ สิ่งที่เราทำคือมองเป็นเป้าและพัฒนาตัวเองไปให้ถึงจุดนั้น 

ในแง่การเป็นข้าราชการก็เช่นกัน คุณพ่อเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องการบริหารจัดการเวลา ทำงานราชการไม่เสียหาย ทำงานเขียนก็ไม่ได้กระทบอะไร ผมก็ยึดเป็นหลักว่าต้องทำให้ได้ประมาณนี้

ชีวิตเดินตามฝันของ ‘ชาครีย์นรทิพย์’ ข้าราชการดีเด่น-นักเขียนคนดังแห่งกระทรวงต่างประเทศ

งานเขียนประเภทแรกที่คุณเริ่มเขียนคืออะไร

สมัยเด็กคุณพ่อคุณแม่จะให้ผมมีดินสอกับกระดาษอยู่ใกล้ตัวเสมอ คือรู้สึกยังไงก็เขียนออกไป หรือว่าจะโกรธ จะมีความสุข จะเศร้า อะไรก็แล้วแต่ ให้ถ่ายทอดลงไปในกระดาษ ผมจะมี 2 สิ่งนี้เป็นเพื่อนตลอด เวลาโกรธก็ขีด เวลาเศร้าก็เขียน มันก็ค่อย ๆ พัฒนาออกมาจนยุคที่เป็นวัยรุ่นก่อนไปเรียนที่นิวซีแลนด์ เริ่มมีความรู้สึกแบบแอบรัก แอบชอบคนบางคน ก็เริ่มเขียนเป็นกลอน เริ่มจากกลอนเปล่าก่อน รู้สึกยังไงก็เขียนไป เพื่อน ๆ ก็มาไหว้วานให้ช่วยเขียนหน่อย จะเอาไปจีบสาว (หัวเราะ)

แล้วเมื่อไหร่ที่ผลงานชิ้นแรกของคุณได้รับการเผยแพร่

ตอนที่คุณพ่อคุณแม่ส่งไปเรียนต่อที่นิวซีแลนด์ ตอนนั้นอายุ 14 ปีพอดี กลับจากตุรกีมาเรียนที่ประเทศไทยประมาณ 1 ปี 1 เทอมก็ไปอยู่ที่นิวซีแลนด์ต่อ

สมัยก่อนมีนิตยสาร เธอกับฉัน ที่ดังมาก ผมเขียนโปสต์การ์ดส่งไป เป็นกลอนบรรยายความเหงา กะว่าจะให้เขาไปลงใน Section ของกลอน แต่ปรากฏว่าเขาลงใน Section จดหมายจากทางบ้าน ทำให้มีเพื่อน ๆ จากเมืองไทยเขียนส่งกลับไปนิวซีแลนด์เยอะมาก ผมอยู่หอพัก ธรรมดาพวกเด็ก ๆ เขาจะรอจดหมายจากทางบ้าน ปรากฏว่าของผมไม่มีที่คุณพ่อคุณแม่ส่งมาเลย มีแต่จากคนที่อ่าน เธอกับฉัน แล้วส่งมา เป็น Pen Friends อะไรอย่างนี้หมด (หัวเราะ)

จากเขียนกลอนอยู่ดี ๆ คุณเปลี่ยนมาเขียนงานชนิดอื่นได้อย่างไร

มันมาถึงจุดหนึ่งที่เริ่มอิ่มตัว เราพัฒนาจากกลอนเปล่า กลอนมีสัมผัส มาเป็นเรื่องสั้น ซึ่งมันเป็นแค่ตัวกลางตัวหนึ่งในการถ่ายทอดความรู้สึก เรื่องสั้นเรื่องแรกของผมเป็นความสัมพันธ์ระหว่างพี่กับน้อง คือตัวผมกับน้องชายจริง ๆ มันมีบางสิ่งบางอย่างที่มากระทบความรู้สึกของเรา จะหงุดหงิด อึดอัด โกรธ อะไรก็แล้วแต่ เราก็ถ่ายทอดมันออกมาในรูปแบบของเรื่องสั้น

เขียนส่งไปตอนนั้น คุณป้า บ.ก. ท่านก็ลงให้ เป็นเรื่องสั้นเรื่องแรกที่ได้รับการตีพิมพ์ เราก็ภูมิใจ เพราะเขียนเรื่องสั้นครั้งแรกแล้วได้รับการตีพิมพ์เลย เราก็หลงอยู่กับภาพนั้น เขียนเยอะ เจออะไรก็เขียน เขียนทุกวัน ส่งประจำ จนถึงจุดที่เราไม่ได้เน้นเรื่องคุณภาพ ไม่เน้นเนื้อหา ไม่เน้นเรื่องสาร เน้นแต่ปริมาณ ฉะนั้นเลยปรับเปลี่ยน เรียนรู้กันไปกับงานเขียนครับ

ชีวิตเดินตามฝันของ ‘ชาครีย์นรทิพย์’ ข้าราชการดีเด่น-นักเขียนคนดังแห่งกระทรวงต่างประเทศ

คุณเขียนงานมาเยอะ เขียนมาตั้งแต่เด็ก มีงานไหนที่ชอบเป็นพิเศษไหม

งานหลาย ๆ ชิ้นที่ผ่านมา เรากลับมาดูก็คือ โอ้โห! สมัยก่อนเขียนไปได้ยังไง (หัวเราะ)

แต่จริง ๆ ก็รู้สึกดีใจและภูมิใจกับงานทุกชิ้น เพราะกว่าที่มันจะกลั่นกรองออกมาได้ กว่าจะตบให้มันเข้าที่ กว่าจะเกลาให้มันลงตัว ก็เรียกได้ว่าทุ่มเทกับมันทุกชิ้น มีความผูกพันกับทุกเรื่อง

ณ ตอนนี้ที่รู้สึกภูมิใจหรือผูกพันมากเป็นพิเศษ ผมคิดว่าเป็นเรื่อง ประวัติศาสตร์เปอร์เซีย ยุคอะคีเมนิด เพราะว่าตอนนั้นไม่ได้คิดจะเขียนเปอร์เซียเลย วุ่นอยู่กับประวัติศาสตร์ออตโตมันเป็นหลัก แล้วพอดีพี่ที่สำนักพิมพ์ยิปซีไปที่ตุรกี แกไปงานหนังสือที่เยอรมนี แล้วขากลับมาแวะที่อิสตันบูล เลยได้มาเจอกัน แล้วได้คุยกันเรื่องประวัติศาสตร์ ผมพูดว่าประวัติศาสตร์เปอร์เซียน่าสนใจ แกบอก เฮ้ย! เขียนหน่อย น่าสนใจ ลองดูสิ

ตอนนั้นหนังสือประวัติศาสตร์เปอร์เซียในไทยยังไม่เยอะมาก ผมก็ลองเขียนดู พอรับปากแล้วมานั่งคิด ประวัติศาสตร์เปอร์เซียมันยาวมากนะ เลยเจาะจงว่าเริ่มที่ยุคอะคีเมนิดก่อน สาเหตุที่ภูมิใจเพราะได้นำเสนอในหลาย ๆ แง่มุมฮะ ทั้งเรื่องของตัวจักรวรรดิเปอร์เซียด้วย ตัวของผู้นำด้วย พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ซึ่งเราก็ชอบเป็นการส่วนตัว ได้นำบางประเด็นของ มหากาพย์ชาห์นาเมห์ (Shahnameh) มาใส่ในเล่มนี้ได้ นำบางแง่มุมของศาสนาโซโรอัสเตอร์ที่คนไทยมองแค่ว่าเป็นศาสนาบูชาไฟมาใส่ไว้ได้

นั่นคือ 1 ปีกว่าที่ผมรู้สึกว่าโอเคที่ได้ทุ่มเทกับการเขียนหนังสือเล่มนี้ไป พอมาดูแล้วเราก็ดีใจที่ทำมันได้ เพราะฉะนั้น ถ้า ณ ตอนนี้จะเป็นเล่มนี้ที่มีความชอบและผูกพันมากเป็นพิเศษ

ชีวิตเดินตามฝันของ ‘ชาครีย์นรทิพย์’ ข้าราชการดีเด่น-นักเขียนคนดังแห่งกระทรวงต่างประเทศ

เมื่อเป็นทั้งข้าราชการและนักเขียน คุณมีการจัดตารางชีวิตทั้ง 2 ด้านนี้อย่างไร

ผมโชคดีครับที่มีคุณพ่อเป็นตัวอย่าง คุณพ่อพูดเสมอว่าท่านเป็น ‘นักการทูตเต็มเวลาและนักเขียนเต็มราตรี’ ผมก็ยึดตรงนี้ว่าในช่วงเวลาการทำงาน เราก็เป็นนักการทูตและข้าราชการเต็มที่ พอช่วงเย็นไปแล้วเป็นเวลาส่วนตัวของเรา เราจะใช้เวลาตรงนั้นทำอะไรก็เป็นเรื่องของเรา

สิ่งที่จะเชื่อมโยงกับบทบาทนี้คือหลักการเคารพตัวเอง เคารพในผู้อ่าน และเคารพในผลงาน นี่คือ 3 เคารพที่คุณพ่อสอนแบบไม่ได้สอน เราเรียนรู้มาจากการซึมซับ

เคารพแรก เคารพตัวเอง คือต้องรู้ว่าเราในแต่ละบทบาทเราทำอะไรอยู่ เพราะเมื่อเราเคารพตัวเองในฐานะบทบาทของนักการทูต เราก็จะทำหน้าที่นักการทูตอย่างเต็มที่ เราจะไม่ว่อกแว่ก แล้วพอเราเคารพตัวเองในฐานะนักเขียน เราก็ต้องผลิตงานเขียนที่ได้คุณภาพที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

เคารพสอง เคารพผู้อ่าน เคารพคนที่ร่วมงานด้วย ถ้าเราเขียนอย่างสมัยก่อนที่เรื่องสั้นสักแต่จะเขียน มันไม่ได้เคารพผู้อ่าน การกระทำอย่างนั้นคือเราส่งอะไรก็ไม่รู้ออกไปให้ผู้อ่าน ผู้อ่านอ่านแล้วเขาได้อะไรหรือเปล่า ได้สาระอะไรหรือเปล่า มันไม่ใช่ มันเป็นอันตรายมากกว่า

เคารพสาม เคารพผลงาน เราต้องเคารพในสิ่งที่เราจะมอบให้ผู้อ่านว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว สิ่งที่เราตั้งใจอย่างเต็มที่ กลั่นกรองมาดีที่สุดแล้ว ดีที่สุดเท่าที่ความสามารถเราในตอนนั้นจะทำได้แล้ว

กลับมาถึงการใช้เวลา พอเป็นนักการทูตช่วงกลางวัน เราทำงานราชการอย่างเต็มที่ งานการประสานงาน การติดต่อ การดูแล ตอนนี้พอเป็นผู้อำนวยการก็ต้องมีน้อง ๆ ในกองที่ต้องดูแล ให้ไกด์ทิศทาง บอกว่าโอเค เรื่องนี้ต้องทำอย่างนี้ เรื่องนั้นควรต้องทำอย่างนั้น ฉะนั้นในช่วงของการทำงานช่วงกลางวัน เราจะทุ่มเทให้อย่างเต็มที่กับเรื่องนี้ 

แน่นอน มันมีบ้างที่นั่ง ๆ อยู่แล้วคิดว่าอันนี้ก็อาจเป็นประเด็นที่น่าจะเอาไปเขียนได้ ก็เป็นเรื่องปกติ เพียงแต่เราไม่ได้หันมาเปลี่ยนทำเลย มันไม่ได้ เพราะเท่ากับว่าเราไม่เคารพงานที่ทำอยู่ ไม่เคารพตัวเองด้วย อาจจะเอากระดาษมาจดไว้ว่า โอเค นี่เป็นคอนเซปต์ที่น่าสนใจ แล้วมาเก็บไว้ มาพัฒนาต่อเมื่อถึงเวลาจังหวะของมัน

เปิดมุมมองความคิดและเส้นทางฝันของ ชาครีย์นรทิพย์ เสวิกุล นักการทูต-นักเขียน ผู้ปรารถนาจะเป็นลูกไม้ใต้ต้นของคุณพ่อ

ถ้าสมมติว่าต้องเลือกแค่อาชีพเดียว คุณคิดว่าจะเลือกอาชีพข้าราชการหรือนักเขียน

ต้องเลือกไหม ผมคิดว่าอาจไม่ต้องเลือกก็ได้ เพราะคนเรา ถ้าเคารพตัวเองได้ เคารพในสิ่งที่ทำได้ ผมคิดว่าเราทำได้ทั้ง 2 ทางนะ ในต่างประเทศก็มีนักการทูตนักเขียนมากมาย จะฝรั่งเศสก็ดี ชิลีก็ดี ที่เขาทำได้ทั้ง 2 งานและทำได้ดีด้วย ได้รับคำชื่นชมด้วย ส่วนตัวผมก็คิดว่าอาจยังไม่ถึงจังหวะที่ต้องเลือก ไปได้ทั้ง 2 อย่างโดยเคารพในทุกงานที่เราทำ

ทุกครั้งที่คุณประสบความสำเร็จทั้งในงานนักการทูตและนักเขียน คุณมักขอบคุณภรรยาและลูกเสมอ แสดงว่าครอบครัวมีผลต่อตัวคุณไม่น้อยเลย

ทั้งหมดทั้งปวงต้องย้อนมาที่คุณพ่อกับคุณแม่เหมือนเดิม คุณพ่อเป็นคนที่ให้เกียรติคุณแม่ ให้เกียรติครอบครัว รวมถึงผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการนักเขียนด้วย พอถึงเวลาที่มีครอบครัวของตัวเอง ผมก็เห็นความสำคัญ ถ้าเกิดปัญหากับครอบครัว มีประเด็นให้เป็นห่วงกังวล ก็จะกระทบกับการทำงานของเราทั้งในชีวิตข้าราชการและนักเขียนด้วย

ซึ่งผมก็โชคดีมากที่ ต่าย ภรรยาของผมเข้าใจผมดี เขาสนับสนุนทุกอย่าง ทุ่มเทมาก และเสียสละมาก ผมบอกทุกคนเสมอว่าการที่เขาแต่งงานกับนักการทูตที่เป็นนักเขียนด้วยนี่เป็นปัญหาใหญ่มาก เพราะนักการทูตนี่เราไม่ค่อยพูดอะไรตรง ๆ ไม่เคยเลือกหรือปฏิเสธอะไรชัดเจน เลยจะมีความคลุมเครือตลอดเวลา ส่วนในแง่นักเขียน เรามีโลกส่วนตัวสูงมาก เวลาเราเขียน เราต้องอยู่กับตัวเอง ต้องมีสมาธิ เขาต้องเจอคนที่ทั้งพูดอ้อม ๆ และมีโลกส่วนตัวสูงอยู่ในตัวคนเดียว ผมเลยคิดว่าเขาต้องทุ่มเทและเสียสละมาก ผมเลยชื่นชม ขอบคุณในสิ่งที่เขาทำมาก

เหตุการณ์ใดที่ทำให้คุณเริ่มรู้สึกว่าคู่ชีวิตคนนี้ทุ่มเทให้กับคุณมาก

ตอนแต่งงานกัน ผมเข้ากระทรวงใหม่ ๆ ต่ายเขาก็ทำงานอยู่ และทำงานดีด้วย พอแต่งงานกันเสร็จ ปลายปีนั้นก็ต้องออกเลย ไปประจำการที่สถานทูตบาห์เรนกัน หน้าที่การทำงานของเขาดีอยู่ มีอนาคตอยู่ ก็ต้องหยุดชะงักไป เพื่อที่จะไปประจำการกับเรา

ที่จริงก็ไม่ใช่แค่ต่ายคนเดียว แต่ภรรยานักการทูตทุกคนก็ด้วยครับ พวกเธอต้องเข้าใจกับบริบทการทำงานที่ไม่เป็นเวลา เจอผู้คนมากมาย หลายฝ่าย หลายเรื่องราวในหลายวัฒนธรรม นี่จึงเป็นความสำคัญของคู่สมรสครับ

นอกจากคุณต่ายแล้ว ลูกทั้ง 2 คนมีความสำคัญอย่างไรกับตัวคุณ

การมีลูกคือการเติมเต็มครอบครัวให้สมบูรณ์ พอเราทำงานมาเหนื่อย ๆ มีเด็กมาคอยอยู่ใกล้ ๆ มาคอยเล่นด้วย ทำให้เรารู้สึกชุ่มชื่นใจ อย่างวันดีคืนดี ลูกชายที่ตอนนี้เขาอายุ 18 แล้ว ทำกาแฟมาให้ ถึงมันจะไม่อร่อยเลย แต่มันก็เป็นกาแฟที่ทำให้เรารู้สึกดีใจ หรือลูกสาวที่เขาตามเราไปที่ทำงาน เห็นว่าเราทำงานหนัก พอเรากลับมาที่ทำงาน ปรากฏว่าเห็นเขาติดโน้ตไว้ ให้กำลังใจเรา ทำให้เรามีกำลังใจ รู้ว่าการทำงานต่าง ๆ นี่เราทำไปเพื่ออะไร

ผมบอกเสมอว่าต่ายกับเด็ก ๆ เป็นประภาคารของผม ทำให้ไม่ว่าข้างนอกจะปั่นป่วนแค่ไหน เจอมรสุมยังไง มองกลับมาก็จะเห็นแสงไฟที่นำทางกลับมาให้ถูกที่ได้ มาสู่ความสงบของที่บ้าน พอได้อยู่ด้วยกัน ได้ใช้เวลาร่วมกัน ก็จะเติมเต็มเราเอง

คุณเคยฝันอยากให้ลูก ๆ เจริญรอยตามคุณหรือคุณปู่ของพวกเขาบ้างหรือเปล่า

คุณพ่อคุณแม่ให้เกียรติผมในฐานะลูก แล้วก็ให้เรามีเสรีภาพอย่างเต็มที่ในการเลือกใช้ชีวิตรูปแบบของตัวเราเอง ผมก็ให้เกียรติลูก ๆ แล้วให้สิทธิเสรีภาพพวกเขาอย่างเต็มที่ในการใช้ชีวิตแบบที่เขาอยากจะเป็น แน่นอน เราก็ดูแลเขาอยู่ห่าง ๆ อย่างห่วง ๆ แต่ก็อยากให้เขารู้ว่าเราจะอยู่ข้างเขาเสมอ เขาล้มเราจะไม่วิ่งไปอุ้มเขาขึ้นมา ถึงเวลาที่เขาพร้อมให้เราช่วย ก็จะช่วยฉุดเขาขึ้นมา นี่ก็คือเรื่องหนึ่ง

ส่วนในแง่อนาคตของเขา เราในฐานะผู้ปกครอง ในฐานะพ่อ ก็อยากเห็นลูกที่ดีกว่าเรา มีชีวิตที่ดีขึ้น ทำงานที่ดีขึ้น ถามว่าอยากให้ลูกเข้ากระทรวงไหม ถ้าเป็นไปได้ ผมอยากให้เขาไปทำงานที่อินเตอร์ไปเลย เข้า UN ไปเลย เป็นการพัฒนาในอีกระดับหนึ่ง ในรุ่นคุณพ่ออยากเห็นเราที่ดีขึ้นยังไง เราก็อยากเห็นรุ่นลูกเราที่มีชีวิตที่ดีขึ้น ก้าวไปข้างหน้าได้มั่นคงยิ่งขึ้นเช่นกัน

คนช่างฝันอย่างชาครีย์นรทิพย์มีวันนี้ได้เพราะอะไร

ความฝันเป็นสิ่งสำคัญ เราไม่ควรให้ใครมาทำลายความฝันหรือมาบอกว่าความฝันของเราเป็นไปไม่ได้ แต่สิ่งสำคัญคือเราฝันได้ แต่เราต้องลงมือทำด้วย เพราะไม่งั้นจะเป็นความฝันตลอดเวลาครับ

เปิดมุมมองความคิดและเส้นทางฝันของ ชาครีย์นรทิพย์ เสวิกุล นักการทูต-นักเขียน ผู้ปรารถนาจะเป็นลูกไม้ใต้ต้นของคุณพ่อ

Writer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์