1 เมษายน 2024
2 K

ทุกวันนี้บริษัทหรือองค์กรขนาดใหญ่มักมีการทำกิจกรรมเพื่อสังคม หรือที่รู้จักกันในนามของ CSR (Corporate Social Responsibility) คือ กิจกรรมที่บริษัทหรือองค์กรจัดขึ้นภายใต้แนวคิดในการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

การทำ CSR ส่วนใหญ่ที่เรามักได้ยิน คือการปลูกป่า แจกอาหาร แจกสิ่งของให้กับผู้ยากไร้ตามชุมชน หรือบริจาคอุปกรณ์การเรียน การสอน เครื่องกีฬาให้กับโรงเรียน ฯลฯ

แต่ในจังหวัดสมุทรปราการ มีการทำกิจกรรม CSR แห่งหนึ่งที่มีแนวคิดแหวกแนว

โรงเรียนเฉลิมมณีฉายวิทยาคาร อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ เป็นโรงเรียนระดับชั้นอนุบาล-ประถมศึกษา มีนักเรียนทั้งหมด 67 คน ตั้งอยู่ท่ามกลางนากุ้งและเขตโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่ง เป็นพื้นที่สำหรับบรรดาโรงงานรอบ ๆ มาทำกิจกรรม CSR หลายครั้ง อาทิ ทาสีรั้วโรงเรียน บริจาคศาลา บริจาคห้องน้ำ-ห้องส้วมสำเร็จรูป ฯลฯ

ต่อมา บริษัท ยูนิคอุตสาหกรรมพลาสติก จำกัด ที่เคยมาทำกิจกรรม CSR กับโรงเรียนแห่งนี้หลายครั้ง มีแนวคิดอยากจะทำโครงการที่โรงเรียนได้ประโยชน์แบบยั่งยืน โดยเล็งเห็นว่าที่ผ่านมาเวลามีบริษัทมาทำกิจกรรม CSR ให้โรงเรียน งบประมาณทั้งหมดจะทุ่มไปที่เด็กนักเรียน ไม่ค่อยได้นึกถึงครู เพราะการบริจาคหรือทำกิจกรรมกับเด็กได้ภาพลักษณ์ที่ดีกว่า บริษัทจึงอยากลงงบประมาณให้บ้านพักครู เพราะครูมักถูกลืมตลอดและไม่ค่อยมีใครสนใจ โดยทางบริษัทมีแนวคิดว่า ถ้าดูแลครูให้ดีแล้ว ครูจะได้มีกำลังใจไปดูแลเด็กให้มีคุณภาพต่อไป

“ทางบริษัทจึงมาปรึกษากับพวกผมที่เป็นบริษัทสถาปนิกว่าอยากจะเอางบประมาณในการทำ CSR ของหลายปีมารวมกันเป็นก้อน เพื่อทำเป็นโครงการปรับปรุงอาคารมากกว่า พวกผมมาสำรวจดู เห็นบ้านพักครูอยู่ในสภาพทิ้งร้าง ชำรุดทรุดโทรม บริเวณรอบ ๆ ก็รกรุงรัง และมีบ่อคอนกรีตปลูกผักจากการทำ CSR ของบางบริษัท แต่ถูกปล่อยทิ้งร้างไว้ จนทำให้โรงเรียนเสียพื้นที่ไม่ก่อประโยชน์มาก จึงเสนอว่าน่าจะใช้เงินมาปรับปรุงบ้านพักครู” 

ลีโอ-ศุภวุฒิ ธีระวัฒนชัย สถาปนิกหนุ่มแห่งสตูดิโอ Parin + Supawut ซึ่งมีหุ้นส่วน 2 คน คือตัวเขาและ ปิง-ปรินทร์ นวชาตโฆษิต ที่เพิ่งจบการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จาก University College of London (UCL) เล่าที่มาของโครงการให้ฟัง

อาคารเรียนและบ้านพักครูของโรงเรียนเฉลิมมณีฉายฯ สร้างขึ้นพร้อมกันจากแบบสำเร็จเมื่อ พ.ศ. 2513 โดยเป็นอาคารเรียนแบบที่ 017 และบ้านพักครูแบบกรมสามัญตามพิมพ์เขียวที่ใช้กันในอีกหลายโรงเรียนทั่วประเทศไทย

แต่เมื่อเวลาผ่านไป 50 กว่าปี บ้านพักครูชำรุดทรุดโทรม บางปีอาจได้งบประมาณมาซ่อมแซม บางปีไม่ได้ เมื่อเกิดการชำรุดมาก ๆ จนพักอาศัยไม่ได้ ครูก็ต้องย้ายออกไปเสียเงินพักข้างนอก เพราะไม่มีงบประมาณซ่อมแซม บ้านพักครูก็ถูกทิ้งร้าง ไม่มีใครสนใจ เป็นปัญหาแบบนี้เหมือนกันหลายแห่งทั่วประเทศ

“สิ่งแรกที่เราทำคือเริ่มจากการค้นคว้าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของอาคารเรียน พบว่าบ้านพักครูหลังนี้ถูกสร้างขึ้นพร้อมกับแบบสำเร็จจากกรมสามัญศึกษา ทำให้เรารู้สึกว่าโจทย์ของงานออกแบบในครั้งนี้ใหญ่กว่าการซ่อมบ้าน 1 หลัง เราก็มาตั้งคำถามกันว่า จะเป็นไปได้ไหมที่กระบวนการออกแบบจะทำให้เราเจอวิธีการทำงานที่เป็นแนวทางหรือเป็นโมเดลซ่อมบ้านพักครูที่มีรูปแบบขนาดสัดส่วนเหมือนกันหลาย ๆ แห่งทั่วประเทศไทย”

ลีโอยอมรับว่าความตั้งใจของพวกเขา คือออกแบบการซ่อมบ้านพักครูแห่งนี้ให้เป็นต้นแบบของการซ่อมแซมบ้านพักครูทั่วประเทศ

โครงการนี้มีงบประมาณทั้งสิ้นเพียง 600,000 บาท และการก่อสร้างใด ๆ ก็ตาม งบประมาณเป็นตัวกำหนดเงื่อนไขหลายอย่าง อาทิ ทุบทิ้ง สร้างใหม่ หรือซ่อมแซม

“พอลงไปดูสภาพบ้านจริง ๆ โครงสร้างเดิมของบ้านหลังนี้ยังอยู่ในขอบเขตที่ซ่อมแซมได้ และประกอบกับเราเห็นความสำคัญของพื้นที่ภายในบ้านมาก ๆ เลยเลือกใช้แนวทางการออกแบบที่ใช้วิธีการคิดจากพื้นที่ด้านในออกมาสู่พื้นที่ด้านนอก แทนที่จะคิดออกแบบจากอาคารด้านนอกเข้าไปพื้นที่ด้านใน จึงเรียกโครงการนี้ว่า Patch House หรือ บ้านปะ

เราใช้แนวคิดการออกแบบสเปซจากด้านในแล้วปล่อยให้เกิดช่องเปิดต่าง ๆ จากการปรับขนาดหน้าตาหรือประตู หรือเจาะบางส่วนของบ้านออก เราปล่อยให้ตัวบ้านภายนอกถูกออกแบบจากพื้นที่ใช้งานและฟังก์ชันข้างใน”

แนวคิดการออกแบบจึงพัฒนาโดยมุ่งเป้ามายไปที่การออกแบบวิธีการซ่อมแซมจากโครงสร้างเก่าของบ้านแทนการออกแบบอาคารใหม่ขึ้นทั้งหมด โดยสร้างขึ้นด้วยแบบก่อสร้าง 2 ชุด

แบบชุดแรกกำหนดวิธีการซ่อมแซม เสริม และลดทอนโครงสร้าง รวมถึงขนาดช่องเปิดทั้งหมดของบ้าน โดยอ้างอิงระยะที่แบ่งได้เป็นสัดส่วนง่าย ๆ เมื่อเทียบกับโครงสร้างเก่า ในขณะที่แบบชุดที่ 2 บอกสัดส่วนและวิธีการแบ่งแผ่นไม้อัด โดยคำนวณจากขนาดมาตรฐาน พร้อมทั้งกำหนดจุดที่ควรเริ่มติดแผ่นไม้อัดก่อนบนผนังแต่ละแผงเพื่อให้เหลือเศษวัสดุน้อยที่สุด

“เราคิดถึงเรื่องของวิธีการแบ่งไม้ ตัดยังไงช่างจะเหลือเศษไม้น้อยที่สุด และปกติการที่กรุบ้านด้วยไม้อัดต้องใช้ไม้อัดคุณภาพสูง แต่พอไม่ได้มีงบประมาณมาก เราใช้วิธีการย้อมไม้แทนโดยเอาสีหมึกมาผสมกันแล้วก็ให้ช่างค่อย ๆ เอาสีย้อมลงไปกับเนื้อไม้ ช่วยแบ่งพื้นที่ภายในให้เป็นสัดส่วน ทำให้ช่างใช้ผนังไม้ที่เป็นวัสดุเกรดต่ำลงมาหรือบางทีอาจจะใช้ของเก่าได้”

ผนังภายในถูกปิดด้วยไม้อัดเกรด B-C ซึ่งโดยทั่วไปมีราคาถูกและไม่ได้มีผิวไม้ที่สวยเสมอกันมาผ่านกระบวนการย้อมไม้โดยทดลองส่วนผสมจนเกิดเป็นโทนสีเฉพาะที่ช่วยพรางตำหนิของวัสดุ และช่วยแบ่งพื้นที่ภายในให้ดูเป็นสัดส่วนที่สวยงามมากขึ้น

“ถ้าเราไม่ทุบบ้าน แต่เราหาวิธีการทำงานกับโครงสร้างเดิมของบ้านแล้วก็คิดการออกแบบควบคู่ไปกับการทำความเข้าใจอาคารเดิมได้ สิ่งที่เราออกแบบมาจะเป็นวิธีการที่เอาไปใช้งานได้จริง”

จากกระบวนการออกแบบและแนวคิดการบริหารจัดการงบประมาณที่ให้ความสำคัญกับพื้นที่อยู่อาศัยภายในเป็นหลัก ภายนอกตัวบ้านจึงเป็นส่วนเดียวที่ทีมออกแบบเห็นตรงกันว่าไม่จำเป็นต้องออกแบบ โดยได้เก็บรูปแบบผนังไม้เฌอร่าชนิดและสีเดียวกับของเดิมเอาไว้ สลับด้วยหน้าต่างและช่องแสงหลากหลายขนาดที่เจาะจากด้านใน

งานออกแบบปรับปรุงบ้านพักครู สะท้อนถึงแนวคิดการออกแบบที่ให้ความสำคัญกับการผสมผสานกระบวนการออกแบบเข้ากับการซ่อมแซม และการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่มากกว่าการสร้างใหม่

ผ่านไป 6 เดือน บ้านพักครูแห่งนี้ก็กลับมาชีวิตอีกครั้งหนึ่ง โดยมีครู 3 คนเข้ามาพักอาศัยเมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566

“การที่มีบ้านพักช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายต่อเดือนสำหรับคุณครูคนหนึ่งได้หลายพันบาท ทั้งค่าที่พักและค่าเดินทางทำให้คุณครูมีที่อยู่อาศัยที่ที่ปลอดภัยขึ้นนะครับ” ลีโอเล่าถึงความรู้สึกต่อโครงการบ้านปะของเขา

ขณะที่เจ้าของเงินก็เห็นชัดว่างบประมาณ CSR ได้ใช้ประโยชน์คุ้มค่าส่งตรงไปถึงครูและนักเรียนอย่างยั่งยืน

สตูดิโอ Parin + Supawut ยังได้ออกแบบห้องเรียนอนุบาลและสนามเด็กเล่นมุมตึกของโรงเรียนแห่งนี้ด้วย ภายใต้แนวคิดหลักการออกแบบที่เรียกว่า Research Base

“การทำความเข้าใจบริบทของงานลูกค้าที่ไม่จำกัดอยู่แค่สถาปัตยกรรม คือเวลาคิดงาน เราคิดรวมไปหมด ทั้งด้านการเมือง สังคม สิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์ เราใช้มันเป็นวัตถุดิบในการพัฒนาทั้งกระบวนการทำงานออกแบบ แล้วค่อยพัฒนาเป็นการออกแบบชิ้นงาน ทำให้กระบวนการพวกนี้พาไปได้ทุกรูปแบบของงาน งานที่สตูดิโอเลยไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นสถาปัตยกรรมภายนอกหรือภายใน เป็นบ้านแค่นั้น เป็นอะไร แต่พอเราพากระบวนการไปในทุกที่ อาจกลายเป็นแค่การออกแบบมุมหนึ่งของบ้าน เป็นหน้าต่าง เก้าอี้ตัวหนึ่ง หรือเป็นที่จับประตูก็ได้ครับ”

ไม่แปลกใจที่เมื่อเข้าไปในสตูดิโอแห่งนี้แล้ว เราจะพบเอกสารงานวิจัยด้านต่าง ๆ มากพอ ๆ กับแบบแปลนสถาปัตยกรรมบนโต๊ะทำงาน

ภาพ : สตูดิโอ Parin + Supawut

Writer

Avatar

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

นามปากกา วันชัย ตัน นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี อดีตรองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งประเทศไทย (THAIPBS) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTVHD36 มีผลงานเขียนตีพิมพ์เป็นหนังสือ 28 เล่ม เป็นนักเดินทางตัวยง จากความเชื่อที่ว่า การใช้ชีวิตให้มีความสุขควรประกอบด้วยสามสิ่ง คือ ทำงานที่ใจรัก ช่วยเหลือคนรอบข้าง และเดินทางท่องเที่ยว