ทุกครั้งที่ใครก็ตามรู้ว่าเราเลี้ยงแมว ก็มักถูกถามเสมอว่าเลี้ยงพันธุ์อะไร
แล้วทำไมกันนะ คนที่เลี้ยงแมวไทยถึงต้องตอบอย่างคลุมเครือว่าเลี้ยงแมวจรไปเสียหมด
คงจะดีไม่น้อย ถ้าหากวันหนึ่งคำตอบว่าแมวจร จะถูกแทนที่ด้วยชื่อสายพันธุ์ที่น่าภาคภูมิใจอย่างวิเชียรมาศ โคราช ศุภลักษณ์ โกญจา หรือขาวมณี ได้อย่างเต็มปาก เหมือนที่เราตอบใคร ๆ อย่างปกติว่าเปอร์เซีย บริติช ชอร์ตแฮร์ หรือสกอตติช โฟลด์ – เพราะอะไรกันนะ คำถามนี้วนเวียนอยู่ในหัวเรา
แต่แล้ววันหนึ่งคำถามนั้นก็คลายความสงสัย เมื่อเราได้รู้จักกับ ‘ชมรมผู้นิยมแมวแห่งประเทศไทย (Cat Fanciers’ Club of Thailand : CFCT)’ ผู้อยู่เบื้องหลังการพยายามขึ้นทะเบียนสายพันธุ์และพัฒนาการเพาะพันธุ์แมว รวมไปถึงพัฒนาคุณภาพชีวิตพวกมันมาตลอด 20 ปี นับตั้งแต่ พ.ศ. 2545 ที่ชมรมก่อตั้งขึ้น ด้วยการรวมตัวกันของกลุ่มคนที่ยกใจให้เจ้าเหมียว
หลายคนอาจเคยคุ้นหน้า คุ้นตา หรือคุ้นหูชื่อชมรมนี้มาบ้าง อาจเพราะเคยเห็นอีเวนต์ผ่านตาตามห้างสรรพสินค้า กิจกรรมจัดประกวด หรือแม้แต่เป็นผู้อยู่เบื้องหลังบริการตรวจสุขภาพและทำหมันแมวจร ส่วนใครที่ยังไม่รู้จักไม่เป็นไร เราขอเพียงคุณมีใจเอ็นดูเจ้าเหมียว เดี๋ยว เล็ก-สุนันท์ โซวประเสริฐสุข ประธานชมรมฯ จะมาช่วยเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ฟัง
ทะเบียนราษฎร์แมว
“เมื่อก่อนพี่เป็น Breeder เป็นคนเพาะเลี้ยงแมวปกตินี่แหละ แต่สมัยนั้น เวลาคนนำเข้ามักไม่มีประวัติสายพันธุ์พ่อหรือแม่มาด้วย ใบเพ็ด (Pedigree) ที่เขาเอาให้เราดูก็ไม่จริง ส่วนแมวไทยก็เจอปัญหาการ Inbreeding เยอะมาก” เล็ก หนึ่งในผู้ก่อตั้งเกริ่นถึงที่มาของชมรม
การ Inbreeding หรือ ‘การผสมพันธุ์แบบเลือดชิด’ คือการผสมพันธุ์ระหว่างแมวที่มีสายเลือดใกล้ชิดหรือเป็นเครือญาติกัน ทำให้ร่างกายไม่แข็งแรง บกพร่อง อ่อนแอ หรือพิการ และมีส่วนน้อยที่ลูกแมวจะเกิดและเติบโตมาด้วยร่างกายที่ปกติ ซึ่งความบกพร่องนั้นส่งต่อไปยังเด็ก ๆ รุ่นถัดไปได้
“พี่เลยรวมกลุ่มกับเพื่อนที่เป็น Breeder เหมือนกัน เพราะเราต้องทำอะไรสักอย่างให้กลายเป็นศูนย์กลางการจดทะเบียน เพื่อให้แมวไทยไม่ Inbreed และดูแลเรื่องทะเบียนแมว”
ด้วยหน้าตาและลักษณะที่คล้ายคลึงกันสุด ๆ ทำให้แมวไทยมักแยกยาก ถ้าไม่ใช่เจ้าของที่คลุกคลีและใช้เวลาอยู่ด้วย ยิ่งยากที่จะแยกว่าตัวไหนเป็นตัวไหน ดังนั้น การขึ้นทะเบียนเลยทำให้แมวแต่ละตัวมีประวัติของตัวเองที่สืบค้นได้อย่างเป็นหลักแหล่ง เช่นเดียวกันกับทะเบียนราษฎร์ ช่วยให้รู้ที่มาของแต่ละตัว ว่ามีพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์จากไหน สายพันธุ์ปู่ย่ามาจากไหน ช่วยลดปัญหาเรื่องการผสมพันธุ์แบบเลือดชิดหรือในสายเลือดเดียวกันได้ตั้งแต่ต้นตอ รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งที่คอยช่วยพัฒนาการเพาะพันธุ์ให้ตรงตามมาตรฐานของแต่ละสายพันธุ์อีกด้วย เพราะการ Breeding แมว หากเป็นต่างประเทศต้องดูว่าสายพันธุ์ไหนผสมกันได้ สายพันธุ์ไหนไม่ได้ ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ของสมาคมแมวในแต่ละประเทศ
พี่เล็กเล่าให้เราฟังด้วยน้ำเสียงสนุกว่า ในสมัยก่อนเวลามีการจัดประกวดแมวไทย ฟาร์มต่าง ๆ มักเชิญทาสแมวรุ่นเก๋ามาเป็นกรรมการ ทั้งคุณลุง คุณตา รวมถึงชมรมแมวไทยโบราณ มาเป็นผู้ตัดสิน เมื่อชมรมผู้นิยมแมวฯ เกิดขึ้น จึงช่วยนำความรู้ด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาร่วม สมทบกับกรรมการรุ่นเก๋าผู้เซียนสนาม การประกวดแมวไทยจึงดำเนินมาได้ยาวนานและน่าสนุกขึ้นทุกปี
ด้วยความตั้งใจอยากให้มาตรฐานการประกวดทัดเทียมสากล เริ่มแรกมีการเชิญกรรมการจากต่างประเทศมาช่วยเป็นกรรมการสำหรับการตัดสินแมวต่างถิ่น แต่ปัจจุบันเมื่อมีการกระจายความรู้อย่างแพร่หลาย จึงมี Breeder ชาวไทยฝีมือดีที่สอบผ่านและเลื่อนขั้นเป็นกรรมการตัดสินด้วย
“ถ้าอยากพัฒนาสายพันธุ์แมว เราจะพัฒนาโดยไม่มีคนคอยให้ความรู้ไม่ได้ ชมรมเลยมีการจัดสัมมนาอยู่เรื่อย ๆ ด้วยการเชิญกรรมการจากต่างประเทศ Breeder ผู้เชี่ยวชาญ ไปจนถึงสัตวแพทย์ ที่มาคอยให้ความรู้เกี่ยวกับสายพันธุ์แมว อัปเดตเรื่องวัคซีนหรือยาชนิดใหม่ ๆ ไปจนถึงโรคประจำสายพันธุ์ที่ต้องระวัง ซึ่งเราทำทั้งสองอย่างควบคู่กันไปกับงานประกวดด้วย” เธอเล่าด้วยน้ำเสียงจริงจัง
เพราะอย่างน้อย หากเรามีความรู้เรื่องสายพันธุ์ แยกแมวพันธุ์แท้พันธุ์ทางออก รู้ว่าหากเจ้าเหมียวที่อยู่กับเราเป็นพันธุ์แท้ จะดูแลและอนุรักษ์อย่างไร สายพันธุ์ไหนแสบ ซื่อ ดื้อ ซน อย่างไร พันธุ์ไหนกันนะที่เหมาะสมกับการใช้ชีวิตของเรา ไปจนถึงลดการโดนย้อมแมว (ที่หมายถึงแมวจริง ๆ) เพราะหาข้อมูลอ้างอิงสายพันธุ์แท้จากฟาร์มที่ขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงกับแต่ละสมาคมได้ สบายใจทั้งคนทั้งแมว
“มีปีหนึ่งพี่จัดดีเบตให้ผู้ว่าฯ กทม. ด้วยนะ ให้แต่ละพรรคมาพูดเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาเรื่องแมวจร สนุกมาก เพราะได้เห็นว่าเขามีนโยบายอะไรบ้างที่เอื้อต่อพวกมันบ้าง” เธอเล่าทำเอาเราฉุกคิดต่อ
เพราะเจ้าแมว เจ้าหมา รวมไปถึงสัตว์เลี้ยงชนิดอื่น ๆ ก็เป็นสิ่งที่อาศัยอยู่ร่วมกับเรามาโดยตลอดนี่นา คงจะดีไม่น้อยหากมีนโยบายที่คิดมาเพื่อสัตว์เลี้ยงให้พวกเราชาวนุดเห็นบ่อย ๆ บ้าง
สายกว่านี้ไม่ดีแล้ว
“มีแค่วิเชียรมาศ โคราช ขาวมณี ส่วนโกญจากับศุภลักษณ์เหลือน้อยมากแล้ว”
นี่คือคำตอบเมื่อเราถามถึงสายพันธุ์แมวไทยในปัจจุบัน ก่อนพี่เล็กเสริมต่อว่า
“สายพันธุ์ขาวมณีมีปัญหาตรงที่เขามักหูหนวก เพราะถ้าอิงข้อมูลตามสมุดข่อย ต้องนำไปผสมพันธุ์กับสีขาวด้วยกันอย่างเดียวเท่านั้น ถ้าอิงความรู้จากต่างประเทศ เขาศึกษาออกมาแล้วว่า ถ้าผสมพันธุ์กับสีขาวไปตลอดจะมีปัญหาเรื่องหู ดังนั้น ต้องเอาแม่สีอื่นเข้ามาผสมด้วย จริง ๆ เราอยากจัดสังคายนาแมวไทยด้วย เคยจัดไปนานมากแล้วหนหนึ่งว่าจะทำยังไงกับแนวทางของขาวมณี”
“พี่ว่าสายพันธุ์แมวไทยแท้ ๆ จะสูญพันธุ์ไปเรื่อย ๆ นะ มันเหลือน้อยเต็มทีแล้ว”
ด้วยการเลี้ยงระบบเปิด พฤติกรรมการติดสัดที่เกิดขึ้นบ่อยถึง 2 อาทิตย์ครั้ง ประชากรแมวจรหลายแสนตัวจึงเกิดการผสมพันธุ์อย่างไร้กฎเกณฑ์ในเวลารวดเร็ว แมวสายพันธุ์แท้จึงหายากขึ้นทุกที
ถ้าการจดทะเบียนแมวเป็นไปอย่างแพร่หลาย มีนโยบายรองรับ หรือวิธีการจัดการดูแลประชากรแมวจร เพื่อป้องกันการผสมพันธุ์แบบเลือดชิดหรือข้ามสายพันธุ์ รวมถึงสร้างความเข้าใจและวิธีการเลี้ยงที่ถูกต้อง ส่งเสริมให้คนเลี้ยงแมวระบบปิดมากขึ้น ก็อาจทำให้แมวสายพันธุ์แท้ดำรงอยู่ได้
“พี่เคยเข้าไปประชุมเรื่องมรดกโลก อยากทำให้แมวไทยกลายเป็นมรดกโลก แต่พอเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ เรื่องมันก็ตก ต้องยื่นใหม่ เรื่องเลยไม่ไปไหนสักที ทั้ง ๆ ที่วิเชียรมาศของเราเป็นต้นสายของแมวต่างประเทศหลายสายพันธุ์มากนะ ทั้ง Siam Siamese หรือ Oriental เขาก็เอาของเราไปเป็นต้นสาย เพราะเป็นประเทศเดียวที่มีพอยต์สี มีสายพันธุ์เดียวในโลกนี้นะ แตกไปเป็นอะไรได้ตั้งหลายอย่าง
“แต่ในประเทศของเราเองกลับไม่มีใครมาพัฒนาเลย น่าเสียดาย” เธอเล่า
รักกัน-เข้าใจกัน
เราชวนพี่เล็กสนทนาต่อถึงปัญหาแมว ๆ ที่คนมักเข้าใจผิด มีอะไรบ้าง
สาวผู้คลุกคลีกับแมวมากว่า 20 ปีเล่าว่า การฮีต (Heat) หรือช่วงเจริญพันธุ์ เป็นสิ่งที่คนมักเข้าใจผิดมากสุด เพราะแมวเกิดการฮีตได้มากถึงอาทิตย์ละ 2 ครั้ง และแมวไม่มีประจำเดือนแบบน้องหมา เป็นเพียงน้ำสีขาวเท่านั้น ประจวบเหมาะกับนิสัยรักความสะอาด หมั่นเลียขนบ่อยครั้งของเจ้าเหมียว จึงทำให้หากไม่ได้ใช้เวลาด้วยกันบ่อยนัก แถมเลี้ยงด้วยระบบเปิดอีก ก็อาจสังเกตท่าทางของเขาไม่ได้เลย เพราะเจ้าเหมียวมีเพียงเสียงร้อง หง่าววว และท่าทางยกก้นสุดเซ็กซี่เป็นเพียงการบอกเท่านั้น
ปัญหาช่วงเจริญพันธุ์มาพร้อมปัญหาการฉีดยาคุมในแมว (รวมถึงหมาด้วย) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“การให้แมวกินยาคุมไม่ควรจะมีแล้วนะ และไม่ควรจะมีจำหน่ายด้วย เพราะบางทีความรู้เรื่องนี้อาจไปไม่ถึงคนเลี้ยง เราก็ได้แต่รณรงค์ว่า อย่านะ อย่ากินยาคุมเลย มาหาเรา พาไปทำหมันดีกว่า ยังดีที่เราทำโครงการร่วมกับมูลนิธิรักษ์แมว ปันน้ำใจให้แมวจร ทำหมันสัญจรไปต่างจังหวัดบ้าง มีหมอ มีสัตวแพทย์ ทีมงานไปแนะนำให้ความรู้ ยิ่งถ้าออกหน่วย เราทำหมันให้ฟรีเลย”
อีเวนต์ในแต่ละครั้งของชมรมนิยมแมวฯ จึงมีกิจกรรมและบริการครบครัน ตั้งแต่จัดประกวดแมว ขั้นตอนการให้ความรู้ที่จำเป็นแก่คนเลี้ยง ทั้งเลี้ยงเล่นเป็นแมวในครอบครัว ไปจนถึง Breeder มือใหม่ที่อยากมางานเพื่อหาความรู้ หาบ้านให้แมวจร รับทำหมัน และเคยเป็นสถานที่ฉีดวัคซีนด้วย
“ทำหมันครั้งหนึ่งในงานประมาณ 400 ตัว พี่ว่ามันได้ผลมากนะ ช่วยลดปริมาณแมวจรลงได้บ้าง และอาจช่วยแก้ปัญหาทางสังคมที่เกิดขึ้นจากแมวจรจัดได้เยอะมากด้วย
“อีกเรื่องคือโรค บางคนคิดว่าเลี้ยงในบ้าน ไม่จำเป็นต้องฉีดก็ได้ ก็เหมือนคนที่ต้องฉีดวัคซีน แมวก็มีเหมือนกัน” รวมถึงอาหารการกินต่าง ๆ ด้วย ก่อนเธอเล่าเสริมให้เราฟังถึงโรคต่าง ๆ
“อย่าง FIP (โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบในแมว) อันตรายมาก รักษายากสุด เมื่อก่อนรักษาไม่ได้ เป็นแล้วตายอย่างเดียว และส่วนใหญ่เกิดจากการทุพโภชนาการ รวมถึงความเครียด ดังนั้นอย่าเลี้ยงแบบใส่กรงเล็ก ๆ ให้แมวได้มีพื้นที่ผ่อนคลายหน่อย มีบริเวณของตัวเอง น้ำต้องสะอาด อาหารก็สำคัญ”
การมีความรู้เกี่ยวกับแมวจึงเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้น ๆ ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องโรคหรือการฮีต แต่รวมไปถึงขั้นตอนแรกอย่างการเลือกสายพันธุ์แมวที่เหมาะกับเราด้วย เพราะแต่ละสายพันธุ์ก็มีวิถีชีวิต ลักษณะนิสัยที่ต่างกันออกไป การไปคาดหวังว่าพวกมันจะเป็นตามภาพที่วาดฝันไว้จึงไม่ถูกต้องนัก
“ถ้าไปในงาน เขาจะได้เจอฟาร์มของแมวแต่ละสายพันธุ์เลย เข้าไปคุยกับ Breeder ได้เลยว่าสายพันธุ์นี้เป็นยังไง เหมาะกับคุณไหม บางทีพันธุ์เดียวกัน แต่เลี้ยงมาไม่เหมือนกัน นิสัยเขาก็อาจไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูของคนเลี้ยงด้วย คนเลี้ยงก็สร้างนิสัยแมวตัวเองด้วย ใช่ไหม”
พี่เล็กอธิบายให้เราฟัง ก่อนเราจะพยักหน้าแสดงความเห็นด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น พี่เล็กยังเล่าให้ฟังถึงโอกาสเกิดโรคที่ต่างกันของแต่ละสายพันธุ์ด้วย อย่างเจ้าแมวหูพับหน้ากลมอย่าง Scottish Fold มักมีปัญหาเกี่ยวกับข้อต่อของกระดูก โครงสร้างของกระดูกส่วนต่าง ๆ
“อย่างแมวหิมาลายัน อาจเกิดโรคไตได้มากกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ ของเปอร์เซียหรือ Scottish Fold เราก็เพิ่งจัดสัมมนาให้ความรู้ไป ดังนั้น ควรมีความรู้เพื่อจะระวังมากขึ้นในการ Breed”
เวทีแจ้งเกิด
นอกจากกิจกรรมการให้ความรู้ ทำหมัน หรือหาบ้านใหม่ให้แมวจรแล้ว กิจกรรมที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือการจัดประกวดแมว ชมรมผู้นิยมแมวฯ ริเริ่มจัดประกวดตั้งแต่แมวไทยจนถึงแมวเทศ จนได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม และกลายเป็นกิจกรรมชื่อกวนโอ๊ยที่มาพร้อมคำโปรยแบบน่ารักน่าชัง
เช่น ..
สลิดบางใหญ่ – การประกวดแมวหนุ่มสาวลายสลิด มาพร้อมคำโปรยสุดน่ารัก
‘สลิดบางบ่อ บางบ่อก็ไม่สลิด เพราะนี่คือสลิดบางใหญ่!’
ดำดีสีไม่ตก – การประกวดแมวดำ
‘แม้จะดำสนิทจนเห็นบ้างไม่เห็นบ้าง แต่ไม่เป็นไร กรรมการจะต้องเห็นหนูค่ะลูก’
ตัวตึงวัยรุ่นส้ม – การประกวดเฟ้นหาแมวส้มสุดซ่า
‘เพราะมันจะมาส้มเหมือนกันไม่ได้!’
แม่วัวตัวงาม – การประกวดแมวลายวัว จะเป็นวัวใส่แว่น วัวมีหนวด หรือวัวมีไฝ ก็เข้ามา!
แมวบ้านชั้นหนึ่ง – เวทีแจ้งเกิดของแมวบ้าน ขอเพียงสุขภาพดี ขนนุ่มสวย และเป็นมิตรก็เพียงพอ
“นอกจากจัดการประกวดแมวสายพันธุ์แล้ว เราก็มีกิจกรรมสำหรับแมวจรด้วย ถ้าแมวพันธุ์มันมีเวทีของเขา แมวจรก็ต้องมีเหมือนกัน เพราะถ้าปล่อยไว้เฉย ๆ ก็คงไม่มีใครอยากเอาไปเลี้ยง
“อย่างแมวดำ คนชอบทิ้งพันธุ์นี้กัน เพราะมีความเชื่อและความคิดที่ไม่ดีกับแมวดำ คนชอบกลัวกันเองว่ามันคือแมวผี แต่จริง ๆ เขาสวยนะ มีเสน่ห์ด้วย” พี่เล็กเล่าถึงวัตถุประสงค์
งานจัดประกวดแมวจึงมาพร้อมกิจกรรมหาบ้านใหม่ให้แมวจรเสมอ โดยก่อนนำมาแจ้งเกิดเพื่อหาทาสผู้โชคดีคนใหม่ ทีมงานอาสาจะพาน้องเหมียวไปให้วัคซีน ดูแลรักษากายและใจจนสุขภาพดี ก่อนนำมาเปิดตัวในงาน ซึ่งการหาบ้าน พี่เล็กย้ำว่าคัดบ้านแล้วคัดบ้านอีก ทั้งต้องผ่านการสอบข้อเขียน ผ่านการสัมภาษณ์จากเจ้าหน้าที่ มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ทำอาชีพอะไร พร้อมเลี้ยงดูระบบปิดหรือเปล่า
“เชื่อไหม คนจะมารับแมวในงานนี้เยอะมาก บางคนโทรเข้ามาก่อนจัดงานอีก ขอจองไว้ก่อน ก็เลยเป็นธรรมเนียม ไม่ว่างานไหน ใครจัด ต้องมีการหาบ้านให้แมวทุกงานเลย ผลตอบรับดีมาก” เธอเล่าความเป็นไปได้ในการพัฒนาความเป็นอยู่ของแมวจรให้ดีขึ้น โดยไม่กระจุกภาระอยู่ที่ใครคนใดคนหนึ่ง
ไปจนถึงกิจกรรมสุดสร้างสรรค์อย่าง ‘แต่งกรงและแต่งกลอน’
แต่งกรง – ประกวดการประดิษฐ์ที่นอนแมวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสำหรับนุดสายคราฟต์
แต่งกลอน – ประกวดแต่งกลอนสำหรับนุดสายเจ้าบทเจ้ากลอน
“เมื่อก่อนมีกิจกรรมประดิษฐ์บล็อกแมวจากอุปกรณ์รีไซเคิลด้วย อีกอันที่เคยคิดไว้ คือเราจะมีพื้นที่ให้ แล้วให้เขาลองมาจัดห้องแมว ว่าในความคิดของเขา ห้องแมวควรมีอะไรบ้าง ตกแต่งอย่างไร จะได้เห็นไปเลยว่าการที่คุณจะเลี้ยง 1 ตัว คุณต้องมีอะไรบ้าง จัดพื้นที่อย่างไรบ้าง” เธอเล่าเสริมอย่างสนุก ก่อนเราพยักหน้าตามเป็นครั้งที่ 101 เพราะอดเห็นด้วยในความน่าสนุกของแต่ละกิจกรรมไม่ได้
ยิ่งถ้ามีหน่วยงานหรือพื้นที่เพียงพอที่จะซัพพอร์ตจริง ๆ การได้ที่นอนหรือบล็อกแมวจากวัสดุรีไซเคิล นอกจากได้ที่หลบฝนหลบแดดให้หมาแมวจร ยังอาจช่วยลดปริมาณขยะในชุมชนด้วย
นอกจากเป็นพื้นที่กระจายความรู้ เวทีแจ้งเกิดของแมวจร ไปจนถึงสถานที่ทำหมันและตรวจร่างกายให้เจ้าเหมียวแล้ว ชมรมผู้นิยมแมวฯ ยังเป็นพื้นที่เปิดกว้างให้เหล่ามนุดที่มีใจรักแมวเหมือนกัน มาพบปะ แลกเปลี่ยนความคิดข้อมูลกัน เพื่อเปิดโลกของคนเลี้ยงแมวให้กว้างขึ้น… กว้างขึ้นไปอีก
ดีกว่านี้ได้
“พี่อยากเห็น Shelter สำหรับแมวนะ กระจายตามเขตตามอำเภอ ปรับปรุงพื้นที่ให้ดี ๆ ดูแลเขาโดยสัตวแพทย์และบุคลากรที่รักแมว เมื่อสุขภาพดีแข็งแรง ก็ค่อยให้คนไปรับเลี้ยงจากตรงนั้น
“แม้แต่กฎหมายการเลี้ยงก็ควรจะมีนะ สมมติคุณมีแมว การจะเลี้ยงให้ถูกสุขลักษณะต้องทำยังไงบ้าง หรือถ้าเป็นฟาร์มต้องจัดการอย่างไร ไปจนถึงสวัสดิการสัตว์เลี้ยง เรื่องพัฒนาสายพันธุ์ ไม่ยากหรอก เรามีสมาคมแมวโลก แต่ที่ยากคือปัญหาแมวบ้าน แมวจร พี่อยากให้มันลดลงอีก ทำยังไงให้เขาเลี้ยงแล้วไม่ทิ้ง ตระหนักถึงโรคต่าง ๆ มากกว่านี้ เอกชนตัวเล็ก ๆ ทำกันยาก ถ้ามีการสนับสนุนหรือนโยบายอะไรที่คิดเผื่อแมวน่าจะดีกว่านี้ อย่างเรื่องวัคซีนพิษสุนัขบ้า แจกได้ก็ยิ่งดี แต่นี่จะหาซื้อยังขาดเลย”
นี่คือสิ่งที่พี่เล็กตอบ เมื่อเราถามถึงการแก้ปัญหาประชากรแมวจรและสิ่งที่อยากเห็นในอนาคต
เมื่อรู้ถึงสาเหตุและปัญหาของชาวแมว วิธีการแก้ไขน่าจะเป็นไปได้ไม่ยาก เราเห็นหนทางที่เป็นไปได้ทั้งเรื่องของประชากรแมวจร จนถึงหนทางการรักษาและพัฒนาสายพันธุ์ และแน่นอนว่าหากเจ้าเหมียวพูดได้เหมือนมนุษย์เรา ก็อาจจะได้ยินเสียงเรียกร้องและความต้องการของเขาชัดเจนกว่านี้
เอ๊ะ หรือจริง ๆ อาจจะพูดมาโดยตลอด
“เหมียว เหมียว เหมียว หง่าว”
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
Facebook : CFCT Club ชมรมผู้นิยมแมวแห่งประเทศไทย
Website : www.cfct-cat.com/th