ศิลปินด้วยกันรู้ดีว่า เซ็นทรัลพัฒนา หรือที่เรารู้จักกันดีในนามของผู้บริหารศูนย์การค้าเซ็นทรัลทั่วประเทศ ขับเคลื่อนวงการภาพไทยมาหลายสิบปี
ผู้บริหารและทีมงานศูนย์การค้านี้รักศิลปะ มองว่าพื้นที่ศูนย์การค้าเป็นดั่งแคนวาสที่เหมาะมากสำหรับการให้โอกาสศิลปินและนักวาดภาพประกอบได้แจ้งเกิด หลายปีที่ผ่านมาเราจึงได้เห็นเซ็นทรัลพัฒนาชวนศิลปินและนักวาดภาพประกอบมาร่วมงานด้วย ทั้งทำ Key Visual ในวาระพิเศษ Festive Campaign เพื่อสร้างงานร่วมกัน และนำมาจัดแสดงในพื้นที่ศูนย์การค้าแบบจัดเต็ม รวมทั้งส่งเทียบเชิญศิลปินต่างประเทศดี ๆ มาร่วมงานอย่างต่อเนื่อง เช่น ที่เซ็นทรัลเวิลด์ เป็นต้น หากไม่เห็นความสำคัญ คงไม่ทุ่มทุนต่อเนื่องยาวนานขนาดนี้
เซ็นทรัลพัฒนาเลือกศิลปินดีมาก ส่วนมากจะเป็นศิลปินเลือดใหม่ที่สะท้อนเทรนด์และพฤติกรรมของคนในยุคสมัย กลายเป็นที่แจ้งเกิดของศิลปินมาหลายรุ่น
‘Central Westville’ ศูนย์การค้าใหม่ล่าสุดย่านถนนราชพฤกษ์ ซึ่งเป็นโครงการลำดับที่ 40 ของเซ็นทรัลพัฒนา งานนี้เซ็นทรัลเลือกนักวาดภาพประกอบ 4 คนมาสร้างงานด้วยโจทย์ที่ต่างกัน
พวกเขาคือใครบ้าง ตีโจทย์อย่างไร ได้เรียนรู้อะไรจากงานนี้ The Cloud สรุปมาให้อัปเดตกัน
The Destination
เอ่ยเชื่อ เบนซ์-ธนวัต ศักดาวิษรักษ์ คงไม่ร้องอ๋อเท่าชื่อ Bloody Hell Big Head
เขาเคยวาดภาพปกนิตยสารดังอย่าง POPEYE, WIRED, ELLE Men เคยวาดให้ Mac App Store ร่วมงานกับแบรนด์ดังอย่าง IDEO, OPPO, สายการบิน Lufthansa และอีกมากมายนับไม่ถ้วน
เซ็นทรัลพัฒนาแตกจุดเด่นของ Central Westville ให้นักวาดออกมาเป็น 4 ประเด็น เบนซ์เล่าว่าเขาได้เรื่องเกี่ยวกับครอบครัว หรือ Best for Family
หากเป็นเราได้โจทย์นี้ คงเลือกวาดภาพคนเป็นหลัก แต่นักวาดหนุ่มใช้วิธีวาดภาพ Central Westville ออกมาเป็นโครงสร้างใหญ่ มีองค์ประกอบและโครงสร้างที่ลดทอนจากของจริง แต่มีความน่ารักแบบภาพประกอบ จากนั้นเขาใส่ภาพคาแรกเตอร์ของคนที่เป็นภาพแทนของ ‘ครอบครัว’ ในยุคปัจจุบัน ซึ่งแตกต่างหลากหลายด้วยบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป
ใครเคยตามงานเบนซ์จะรู้ว่าจุดเด่นเขาคือภาพที่ผสมระหว่างงานเชิงสถาปัตยกรรมและคาแรกเตอร์ที่มีเสน่ห์ งานของเบนซ์จะเปล่งประกายที่สุดเมื่อได้โจทย์เกี่ยวกับเมือง กับงานนี้แม้ไม่ได้เป็นเรื่องเมืองโดยตรง แต่เขาตีความว่าการที่พื้นที่ศูนย์การค้าถูกคิดให้เหมาะสำหรับครอบครัว ส่งผลให้เป็นที่รวมตัวของผู้คนที่หลากหลาย สะท้อนความยืดหยุ่นของเซ็นทรัลที่ออกแบบอย่างเข้าใจรสนิยมของคนยุคนี้
The Tree
หลังฝากผลงานในภาพโปสเตอร์งาน Thailand Coffee Fest 2023 วิน-ศรณ์ศีล อภิจิระโภคี หรือ Livelyhood ก็บินสูงด้วยการถูกเลือกในโปรเจกต์นี้ และงานเขายังคงลายเซ็นที่ชัดมากเช่นเคย
โจทย์ของวินคือ Central Westville เป็นศูนย์การค้าที่มีความเป็นธรรมชาติ ดีต่อการใช้ชีวิตและสิ่งแวดล้อม เขาตีความโจทย์นี้ออกมาให้ Central Westville เป็นเหมือนต้นไม้ใหญ่ ซัพพอร์ตชีวิตผู้คนในทุกแง่มุม จุดเด่นของงานคงเป็นการเล่าเรื่องสิ่งแวดล้อมซึ่งถูกเล่าบ่อยมากให้คนยิ้ม ภาพออกมาน่ามอง เล่าเรื่องยาก ๆ ผ่านภาพที่เรียบง่าย รูปร่างของต้นไม้และคาแรกเตอร์เป็นซิกเนเจอร์ของวินที่ชัดเจนมาก
ช่วงหลังเราไม่ค่อยเห็นนักวาดภาพประกอบแนว Feel-good มากนัก งานของวินถือว่าเตะตาจนเป็นนักวาดเลือดใหม่ในสายนี้ที่น่าจับตามาก
The Urbanist
นักวาดที่ได้โจทย์การใช้ชีวิตในเมืองหรือ Urban นับว่าน่าเห็นใจมาก เพราะงานแนวนี้มีคู่แข่งเยอะ มุก-มานิตา บุญยงค์ หรือ mntttk ตีโจทย์นี้ออกมาได้อย่างงดงาม
นักวาดหญิงมองว่าเมืองคือสีสัน คือความหลากหลายที่ยากจะจับกลุ่ม มุกจึงอัดสีที่จัดจ้านที่สุดใน 4 งานนี้ เพื่อเล่าว่า Central Westville ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนเมืองอย่างไร เราจึงได้เห็นกิจกรรมของคนเมืองแห่งยุคสมัยในพื้นที่แห่งนี้ เล่าเรื่องชีวิตคนออกมาได้ป๊อปมาก ๆ
มุกคือนักวาดที่ใช้สีเก่งมาก โดยเฉพาะการเล่นแสงและเงาซึ่งเธอฝึกฝนจนเชี่ยวชาญสุด นอกจากนี้ยังใช้มุมกล้องและเล่นกับระยะของภาพได้น่าสนใจ สะท้อนความกล้าลองแบบที่ไม่ค่อยได้เห็นในงานของนักวาดไทยยุคหลัง
The Connect
กล้วย-นฤมล ยิ้มฉวี หรือ Banana Blah Blah ได้โจทย์เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงที่เข้าทางสุด ๆ (เธอเป็นทาสแมวขั้นเทพ) แต่ก็ยากสุด ๆ เช่นกัน เพราะประเด็นนี้ช้ำมาก
กล้วยเลือกเล่ามุมที่น่าสนใจ คือการมองว่าคนและสัตว์เลี้ยงนั้นเท่ากัน ในภาพจึงไม่ได้มีคนจูงหมาหรือแมวปกติ เธอยังวาดให้สัตว์เล่นกับคนอย่างใกล้ชิด อยู่ในระนาบเดียวกัน ทำกิจกรรมสนุก ๆ ที่ปกติมนุษย์จะทำคนเดียว เพิ่มความน่าสนใจให้คาแรกเตอร์ในภาพ
นอกจากนี้ยังได้เห็นคนมารู้จักกันผ่านสัตว์เลี้ยง สะท้อนว่า Central Westville เป็นศูนย์การค้าที่ไม่เพียงเป็นมิตรต่อสัตว์เลี้ยง แต่ยังออกแบบให้มี Vibe อย่างเข้าใจคนรักสัตว์ จนทำให้พื้นที่ตรงนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่ศูนย์การค้า แต่ยังเป็นคอมมูนิตี้ของทั้งคนและสัตว์ไปพร้อมกัน
“สำหรับเรา สัตว์เลี้ยงทำให้มนุษย์มีชีวิต บางคนอาจไม่ได้มองสัตว์เลี้ยงเป็นสิ่งที่อยู่ต่ำกว่าเรา มันเท่าเทียมกับเรา เป็นเพื่อนเราได้ บางทีเขาก็รักษาหรือ Healing ใจเรา ถ้าเขานั่งเก้าอี้ได้ เขาก็จะนั่งข้างเรา” กล้วยเล่าความคิดเบื้องหลังงาน
Soft Power ที่ถูกมองข้าม
แนวคิดของ Central Westville คือ West at its Best หมายถึงการเป็นศูนย์การค้าที่ทำให้ชีวิตดีขึ้นแบบสุดทุกด้าน
ที่นี่เป็นตัวแทนศูนย์การค้าเซ็นทรัลยุคใหม่ ใส่แนวคิดที่เป็นตัวแทนรสนิยมของผู้บริโภควันนี้ เช่น การออกแบบให้มีพื้นที่กลางแจ้ง เน้นช่องทางเดินลมใหญ่เพื่อให้ศูนย์การค้าเย็นไม่ต้องเปิดแอร์ มีโซลาร์เซลล์ มีโซนให้สัตว์เลี้ยงได้ ‘เดินศูนย์การค้า’ ร่วมกับคน
แม้จะเป็นแนวคิดใหม่ แต่สิ่งที่เซ็นทรัลไม่เปลี่ยน คือการเล่าเรื่องศูนย์การค้าให้คนเข้าใจง่าย ภาพประกอบเป็นสื่ออันดับต้น ๆ ที่เซ็นทรัลเลือกในการสื่อสาร
หากคนเห็นภาพจริงของศูนย์การค้า จะนึกออกว่ามาที่นี่ต้องทำอะไร แต่การเล่าภาพศูนย์การค้าด้วยภาพประกอบหรืองานศิลปะเป็นการให้ข้อมูลที่รื่นรมย์ ทำให้คนรู้สึกดีกับสถานที่ตามไปด้วย
“สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากงานนี้ ต้องย้อนไปถึงคำว่านักวาดภาพประกอบเลย เป็นหน้าที่ของอาชีพเราที่ต้องสร้างภาพขึ้นมา เป็นภาพศูนย์การค้าที่ยังไม่เปิด คนยังไม่เคยไป ไม่รู้ว่าชีวิตข้างในจะเป็นอย่างไร สิ่งที่เราต้องทำคือสื่อสารให้ชัดเจน ทำให้เขาเห็นภาพว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง” กล้วยเป็นตัวแทนนักวาดเล่าเรื่อง
การแตกโจทย์ให้นักวาด 4 คนทำงานในประเด็นที่ต่างกัน ช่วยให้งานน่าสนใจขึ้นมาก วินเล่าว่าเซ็นทรัลทำงานหนักในการเลือกเฉพาะข้อมูลสำคัญจริง ๆ มาให้วาด ไม่มีการหว่าน ยิ่งทำให้งานดีขึ้น หน้าที่ของนักวาดคือการเลือกใช้ ตัดออก เสริมเท่าที่จำเป็น การได้ทำงานแบบมีโจทย์ช่วยให้นักวาดภาพพัฒนาตัวเองยิ่งขึ้น
ภาพทั้งหมดจะถูกนำไปใช้ทั้งสื่อประชาสัมพันธ์ในศูนย์การค้าแสดงตามพื้นที่โดยรวม ใช้งานในลักษณะของ Key Visual ของศูนย์การค้า นอกจากนี้ยังมีเนื้อหาที่จะโปรโมตศิลปิน 4 คนให้เป็นที่รู้จักยิ่งขึ้น
อีกเหตุผลหนึ่งที่เซ็นทรัลเลือกใช้ภาพประกอบ เพราะต้องการบอกว่าที่นี่คือศูนย์การค้าสำหรับคนรุ่นใหม่ ด้วยภาพและตัวตนของศิลปินสะท้อนเรื่องนี้ได้ดี
ศูนย์การค้าในปัจจุบันเปลี่ยนไปมาก ไม่ใช่แค่สถานที่ช้อปปิ้ง แต่มีฟังก์ชันหลากหลาย มีองค์ประกอบของพื้นที่แตกต่างกัน เราจึงได้เห็นคนจูงหมามาศูนย์การค้ามาออกกำลังกาย มาประชุมออนไลน์ ศูนย์การค้ากลายเป็นพื้นที่บรรจุหลายมิติของการใช้ชีวิต
หากมองภาพรวม Central Westville จึงไม่ใช่แค่ศูนย์การค้าใหม่ ไม่ได้เป็นศูนย์การค้าที่กำลังถดถอยตามกระแสรีเทลทั่วโลก แต่เป็นโครงการขับเคลื่อนวงการภาพประกอบไทย อีกหนึ่ง Soft Power ที่สำคัญของเรา เพิ่มมิติของการใช้ชีวิต กลายเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบการพัฒนาย่านแบบไทย ๆ ในวันนี้