“มาถูกทางแล้ว” สาธุชนชาวเน็ตกระหน่ำแสดงความเห็นต่อภาพ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อุ้มแมวน้อยในอิริยาบถผ่อนคลายหลังพ่ายศึกเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ตัดภาพไปที่สนามหญ้าหน้าทำเนียบรัฐบาล ปลายเดือนมีนาคม สื่อตีข่าว ‘แมวดำวิ่งตัดหน้านายกฯ วิจารณ์แซด! ลางไม่ดีงานไม่ราบรื่น’ น่าสนใจที่อากัปกิริยาเล็กๆ น้อยๆ ที่คนกระทำกับแมวหรือแมวกระทำกับคนจะกลายเป็นกระแสช่วงชิงพื้นที่สื่อได้อย่างน่าหมั่นไส้ ไม่เพียงแต่ปัจจุบันนี้เท่านั้นที่กระแสทาสแมวเป็นที่นิยมชมชอบ จากเรื่องแมวๆ ในประวัติศาสตร์วัฒนธรรม ทำให้ทราบว่ามนุษย์ให้ความหมายความสำคัญกับเพื่อนสี่ขาผู้นี้มานับพันๆ ปี

เมื่อแมวเป็นพระเจ้า

ประมาณ 55 ล้านปีก่อนบรรพบุรุษของแมวได้ถือกำเนิดขึ้นในโลก เริ่มจากการดำรงชีพในป่า นักนักชีววิทยา นักโบราณคดี กับทั้งผู้เชี่ยวชาญ ศึกษาจนพบว่าแมวกลายมาเป็นสัตว์เลี้ยงของมนุษย์ไม่ต่ำกว่า 12,000 ปีแล้ว

ตลอดระยะเวลาอันยาวนาน มนุษย์ได้สถาปนาให้แมวเป็นทั้งเทพเจ้าผู้เมตตาและปีศาจร้าย อย่างชาวอียิปต์ที่นับถือเทพีบาสเทต (ฺBastet) เทพแห่งความรักเและความอุดมสมบูรณ์ที่ปรากฏกายอยู่ในร่างแมวทั้งตัวหรือในร่างเทพสตรีที่มีศีรษะเป็นแมว เนื่องจากแมวมีคุณในการคุ้มครองป้องกันผลผลิตทางการเกษตรโดยการช่วยจับหนู การกระทำนี้ยังช่วยลดพาหะของกาฬโรคอันเป็นโรคระบาดร้ายแรงในสมัยโบราณ กฎหมายอียิปต์โบราณจึงบัญญัติไว้ว่า ผู้ใดฆ่าหรือทำร้ายแมวจะต้องถูกประหารชีวิต

ด้วยเหตุนี้อริราชศัตรูแห่งอาณาจักรอียิปต์จึงผุดไอเดียอุ้มแมวไปรบ ซึ่งก็เหมือนจะได้ผล เพราะทำให้ทหารอียิปต์ไม่กล้าต่อกรด้วย นอกจากนี้ ยังมีธรรมเนียมสำหรับบ้านไหนที่มีแมวตายสมาชิกทุกคนในบ้านต้องไว้ทุกข์โดยการโกนคิ้วและนำศพแมวไปทำมัมมี่

ฝั่งเอเชียของเราก็ไม่น้อยหน้า ในตำนานฮินดูกล่าวถึงพระษัษฐี เทวีแห่งความตายของทารก พระองค์มีบริวารเป็นแมว ตำนานเล่าว่า หญิงสาวคนหนึ่งมีนิสัยเสียชอบลักขโมยข้าวปลาอาหาร เมื่อของกินหายไปก็โทษให้เป็นความผิดของแมวดำเสมอๆ กระทั่งนางมีครรภ์จนถึงคราวคลอดลูกก็เกิดเรื่องประหลาด คือลูกทุกคนของนางจะหายไปอย่างไร้ร่องรอย จนชาวบ้านเริ่มลือว่าเธอเป็นแม่มดหมอผี

ด้วยความตื่นตระหนกตกใจหญิงสาวจึงหนีไปร้องไห้ในป่ามะม่วง ณ ที่นั้นพระษัษฐีปรากฏกายต่อหน้าเธอและกล่าวว่า นี่คือโทษทัณฑ์ของการลักขโมยแล้วโยนความผิดไปให้แมวซึ่งเป็นบริวารของท่าน หญิงสาวสำนึกผิดและสัญญาว่าจะบูชาพระษัษฐีและบูชาแมว นางจึงได้รับลูกๆ คืนในที่สุด นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ทำผิดอย่าโทษแมว

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก, แมว

ภาพวาดพระษัษฐี ประมาณปี 1880
ภาพ : Philadelphia Museum of Art
www.philamuseum.org


จากเทวีเป็นปีศาจ

นักวิทยาศาสตร์แห่งสถาบันสมิธโซเนียนวิจัยจนได้ข้อสรุปว่า แมวเป็นภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ของสัตว์และสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ตลอดช่วง 5 ศตวรรษที่ผ่านมา เจ้าแมวทำให้สัตว์ชนิดต่างๆ ทั้งสัตว์ปีก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก สัตว์ฟันแทะ สัตว์เลื้อยคลาน หรือสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สูญพันธุ์ไปจากโลกนี้แล้วถึง 430 ชนิด ในอดีตคริสตจักรยังให้ความหมายแมวว่าป็นสัญลักษณ์แห่งความเกียจคร้านและตัณหาราคะ

ในยุคกลางของยุโรปแแมวถูกยัดข้อหาว่าเป็นสัตว์เลี้ยงของแม่มด ธรรมชาติที่คล่องแคล่วว่องไวในยามราตรีถูกผูกโยงกับความเป็นปีศาจร้าย แมวจำนวนมากถูกเผาทั้งเป็นในช่วงเวลานี้ ในฝรั่งเศสถึงกับเผาแมวเป็นการละเล่นกันเลยด้วยซ้ำ

ปัจจุบันนักวิชาการขยายความว่าสาเหตุที่แมวถูกตีตราเกิดขึ้นเพียงเพราะความเป็นอิสระตามธรรมชาติของมันทำให้มนุษย์หวาดระแวง ศาสนิกชนยุคกลางเชื่อว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้างสัตว์ทั้งหลายเพื่อให้รับใช้มนุษย์ และมนุษย์เป็นผู้ปกป้องคุ้มครองสัตว์เหล่านั้น

ในกรณีของแมว แม้จะนำมาเลี้ยงไว้ในบ้าน แต่แมวกลับไม่ได้เชื่องและภักดีกับมนุษย์อย่างสมบูรณ์แบบเช่นหมา มันยังคงรักษาโลกส่วนตัวและพฤติการอันเร้นลับ ความกระด้างกระเดื่องของแมวทำให้มนุษย์รู้สึกสูญเสียความเป็นเจ้านายเนื่องด้วยมิสามารถปกครองมันได้สยบราบคาบ

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก, แมว

รายละเอียดจากภาพวาด The Witches’ Cove โดยสานุศิษย์ของศิลปิน Jan Mandijn สมัยศตวรรษที่ 16 แสดงภาพหมู่แมวที่สาวกของแม่มดกำลังล้อมวงทำกิจกรรมปริศนา
ภาพ : www.morbidanatomy.org/

ฌัก แดร์ริดา (Jacques Derrida) ปรัญชาเมธีคนสำคัญของโลกร่วมสมัยบรรยายถึงภาวะการมองของสายตาแมวไว้ว่าเป็น “การจ้องมองที่ว่างเปล่า ลึกไม่มีที่สิ้นสุด อาจเป็นสายตาที่อ่อนไหวและเย็นชา ทั้งดีและเลว ขบไม่แตก อ่านไม่ออก จำแนกไม่ได้ ลึกล้นและเร้นลับ” สายตาดังกล่าวทั้งสร้างความฉงนฉงายและยั่วล้อให้มนุษย์ตีความ นักปรัชญาผู้นี้เห็นว่าการจ้องมองดัังกล่าวทำให้เขาตระหนักถึงขีดจำกัดของความเป็นมนุษย์

‘Ailurophobia’ เป็นชื่อของอาการกลัวเฉพาะทางอย่างหนึ่ง ใช้เรียกอาการหวาดกลัวแมว ในผู้มีการบางรายอาจไม่รุนแรงถึงขั้นกลัว อาจจัดอยู่ในขั้นรังเกียจแบบเดียวกับที่คนจำนวนมากรู้สึกอย่างเดียวกันกับงูหรือหนู เชื่อกันว่าผู้ยิ่งใหญ่ของโลกอย่างจูเลียส ซีซาร์ จักรพรรดิเจงกิสข่าน จักรพรรดินโปเลียน หรือกระทั่งอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ก็ล้วนแต่มีพฤติกรรมที่ทำให้เชื่อว่าพวกเขานั้นกลัวหรือรังเกียจแมว

แมวเอ๋ยแมวเหมียว ที่ข้องเกี่ยวกับชาวไทย

แม้จะยังไม่ทราบแน่ชัดว่าคนไทยเลี้ยงแมวมาตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ก็ปรากฏหลักฐานเก่าแก่เป็นสมุดไทยตำราสัตว์ ที่นอกจากจะมีตำราช้าง ตำราม้า ยังปรากฏตำราแมวด้วย โดยรวบรวมภาพวาดและโคลงกลอนบรรยายลักษณะแมวมงคลและแมวอัปมงคลไว้รวม 23 ชนิด ผู้สนใจสามารถศึกษาตำราแมวฉบับคัดลอกจากสมุดไทยได้ที่นี่

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา สิ่งก่อสร้างสำคัญของพระนครอย่างหอกลองก็มีบันทึกว่าทหารยามผู้เฝ้ารักษาหอเลี้ยงแมวไว้เพื่อป้องกันมิให้หนูมาทำลายกลอง

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก, แมว

ตัวอย่างภาพแมวในตำราแมวของไทย

นอกจากแมวจะมีบทบาทสำคัญในประเพณีราษฎร์อย่างการแห่นางแมวขอฝนแล้ว เจ้าเหมียวยังมีบทบาทในประเพณีหลวงด้วย เมื่อพระมหากษัตริย์รัชกาลใหม่เสด็จขึ้นครองราชย์จะทรงตั้งการพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร ซึ่งเป็นหนึ่งในพิธีเกี่ยวเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก การพระราชพิธีดังกล่าวคือการสมโภชปราสาทราชมณเฑียรสถานที่ประทับดั้งเดิมของพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี หากเทียบกับประเพณีชาวบ้านก็เปรียบได้กับการขึ้นบ้านใหม่

ในพิธีนี้บัญญัติให้มีพระราชวงศ์หรือเชื้อพระวงศ์สตรีจำนวนหนึ่งเป็นผู้อัญเชิญเครื่องราชูปโภคและสิ่งอันเป็นมงคล วิฬาร์หรือแมวเป็นหนึ่งในสิ่งมงคลที่จะอัญเชิญในพิธีนี้ด้วย ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 บรรยายถึงพิธีนี้ว่า “ครั้งได้ฤกษ์เจ้าพนักงานจึงประโคมดุริยางคดนตรีแตรสังข์พิณพาทย์มโหรีมี่สนั่นประนังเสียงศัพทนฤนาท เสด็จพระราชดำเนินขึ้นสู่พระมหามณเฑียร ทรงโปรยดอกพิกุลทอง พิกุลเงิน มีนางชำระพระบาท ๒ นางเชิญเครื่องราชูปโภค และนางเชื้อพระวงศ์ ๖ อุ้มวิฬาร์ ๑ อุ้มศิลาบด ๑ อุ้มฟักเขียว ๑ ถือขันข้าวเปลือก ๑ ถือขันถั่วทอง ๑ ถือขันงา ๑”

พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) อธิบายว่า แมวที่เข้าพระราชพิธีต้องเป็นแมวคราว คือแมวแก่ ตัวใหญ่ หนาวยาว อยู่ติดถิ่น ณัฏฐภัทร จันทวิช อธิบายเพิ่มเติมไว้ในหนังสือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก จัดพิมพ์โดยกรมศิลปากรว่า แมวเป็นสัญลักษณ์ของโชคลาภและความร่มเย็น อีกทั้งยังมีความเชื่อว่าแมวสามารถขับไล่ภูตผีปีศาจและสิ่งชั่วร้ายเพราะแมวมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ในเวลากลางคืน (ซึ่งตรงนี้ชาวยุโรปยุคกลางตีความตรงกันข้ามกับคนไทย คือตีความว่าแมวนั่นแหละที่เป็นภูตผีปีศาจ) และความเชื่อที่ว่าแมวมี 9 ชีวิตก็เป็นตัวแทนของความยั่งยืนสถาพรและความเป็นอมตะ

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก, แมว

ภาพเมื่อครั้งพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรในรัชกาลที่ 7 หม่อมเจ้าหญิงสุริยนันทนา สุริยง (ลำดับที่ 2 จากขวา) อุ้มวิฬาร์
ภาพ : หนังสือ ประมวลภาพประวัติศาสตร์ไทย พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยรัตนโกสินทร์

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของรัชกาลที่ 9 เมื่อ 69 ปีที่แล้ว พระราชวงศ์และเชื้อพระวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าและหม่อมราชวงศ์ในราชสกุลต่างๆ ได้รับหน้าที่อัญเชิญเครื่องราชูปโภคและของมงคล หม่อมราชวงศ์กิติวัฒนาจากราชสกุลไชยันต์ ผู้มีอายุเพียง 16 ในขณะนั้นรับหน้าที่อุ้มวิฬาร์เข้าขบวน คุณหญิงกิติวัฒนาเล่าถึงความทรงจำครั้งนั้นไว้ในหนังสือ เขียนถึงสมเด็จฯ ไว้ว่า

“เรื่องที่เป็นปัญหาอยู่คือว่าจะมีการอุ้มวิฬาร์ (แมว) เข้าขบวนด้วย การอุ้มวิฬาร์นี้ไม่มีผู้ใดขันอาสาเพราะทราบอยู่แก่ใจว่าจะต้องยุ่งยากนานาประการ ซ้ำหลายคนได้รับคำแนะนำจากผู้ใหญ่มาก่อนว่าให้หลีกเลี่ยงการอุ้มวิฬาร์ถ้าเป็นไปได้ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี (พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7) เมื่อไม่มีผู้กราบบังคมทูลอาสา จะทรงคิดอย่างใดก็มิอาจทราบได้แต่ทรงหันพระพักตร์มาตัสถามดิฉันว่า ‘อุ้มแมวได้ไหม’ ดิฉันค่อนข้างตกใจ เพราะไม่คาดว่าจะทรงเจาะจงมาที่ตัวเอง หากโดยธรรมชาติแล้วดิฉันเป็นคนรักสัตว์แทบทุกประเภท จึงกราบบังคมทูลตอบรับโดยไม่รีรอ”

หม่อมราชวงศ์กิติวัฒนาเล่าถึงแมวที่ได้รับเลือกให้เข้าร่วมพระราชพิธีไว้ในนิตยสาร พลอยแกมเพชร ฉบับที่ 105 ปี 2539 ไว้ว่า

“ตอนแรกในวังเขาให้แมวตัวผู้สีสวาดตัวใหญ่ อ้วนมากเลยค่ะ อุ้มไม่ไหว ก็ไปหาตัวใหม่มา สีเดียวกัน ในวังเขาก็ทราบว่าเราเปลี่ยนตัวแมว เพราะเจ้าตัวนั้นมันไม่ไหวเลยนะคะ ทั้งตัวใหญ่แล้วก็ดุ โดนกัดด้วย เป็นแมวแก่ ตัวมันก็ดูน่าเกลียด เรื่องน่าเกลียดนี่ไม่ว่า แต่จับมันไม่ได้ จับก็จะกัด มันไม่ทำอะไรเลย มันนั่งเฉยๆ แต่ว่ามีลักษณะดี ปากก็ขาว เท้าสี่เท้าด่าง ละหางดอก ส่วนตัวที่เอามาแทนเป็นตัวเมียค่ะ สีเดียวกัน แต่ว่าหางก็ไม่ดอก ปากก็ไม่ขาวหรอกค่ะ แต่ว่านิสัยดี ตัวนี้อุ้มได้ สนิทสนมคุ้นเคยกัน นอนด้วยกัน (ยิ้ม)”

และเมื่อวันพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรมาถึง

“ก่อนที่ทั้งสองพระองค์จะเสด็จลง จำได้ว่าไปคอยกันนานเหมือนกัน แมวเขาก็วุ่นวาย ทีนี้แมวตัวนี้ชอบกินเนื้อย่าง ไม่กินปลาทู ก็เอาเนื้อย่างห่อกระดาษไปคอยป้อนเขา เกาคอกันไปเพราะคุ้นเคยกัน ก่อนพาแมวมาก็ต้องอาบน้ำให้เนื้อตัวสะอาด เสร็จแล้วก็ใส่เครื่องประดับ ใส่เครื่องเพชรเพียบเลยและสวยมาก เป็นเครื่องประดับของแมวโดยเฉพาะ เพราะพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรทำมาหลายรัชกาลแล้ว มีสังวาลอันใหญ่ ฝังเพชรซีก แมวใส่แล้วรำคาญมาก มีสร้อยด้วย มีกำไลใส่ข้อเท้าทั้งสี่ขา ข้างละ 4 – 5 อัน ใส่ซ้อนๆกัน …พอในหลวงและสมเด็จฯ เสด็จเวลาประมาณ ๑ ทุ่มได้ รู้สึกว่ามีอะไรไม่ทราบทำให้แมวสงบคงจะเป็นความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีก็ได้ คือทั้งคนทั้งแมวตื่นเต้นตกใจกันหมด แต่แมวกลับเงียบ ซึ่งตามธรรมดาเขาจะไม่อยู่นิ่งเลย”

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก, แมว

พระราชวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าและเชื้อพระองค์ในกระบวนอัญเชิญเครื่องราชูปโภคและเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียรในรัชกาลที่ 9 น่าเสียดายที่มองไม่เห็นแมว
ภาพ : หนังสือ ประมวลภาพประวัติศาสตร์ไทย พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยรัตนโกสินทร์

นอกจากแมวที่ได้เข้าพิธีสำคัญแล้ว ยังมีอีกหนึ่งสิ่งมีชีวิตได้เข้าร่วมขบวนในฐานะสัตว์มงคลเช่นกัน ในคราวพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้ปรากฏตำแหน่งนางอัญเชิญไก่ขาวในขบวนด้วย อาจเป็นเพราะไก่เป็นสัตว์ที่สวยงามน่ารักและมีคุณช่วยขันบอกเวลาและออกไข่เป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นสิ่งใหม่ ตามความเชื่อของชาวจีนไก่ขาวยังสามาถขับไล่สิ่งชั่วร้ายได้

หม่อมราชวงศ์บุษบา พระขนิษฐาในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 รับหน้าที่ผู้อุ้มไก่ขาวและอัญเชิญธารพระกร (ไม้เท้า) ในพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร ปี 2493 หม่อมราชวงศ์กิติวัฒนา ผู้อุ้มแมวเล่าถึงหน้าที่ของหม่อมราชวงศ์บุษบาไว้ว่า “ท่านผู้หญิงบุษบาอุ้มไก่ ตอนนั้นเห็นบ่นว่าไก่อึใส่ เป็นไก่ขาวตัวเบ้อเร่อเลย มีอยู่สองคนที่รู้สึกว่าจำลำบากกว่าเพื่อนเลย แต่ท่านผู้หญิงจะลำบากมากกว่า เพราะต้องถือไม้เท้าอีกอัน มือหนึ่งถือไม้เท้า มือหนึ่งอุ้มไก่” (ย้อนกลับไปดูภาพสมัยรัชกาลที่ 7 ด้านบน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพิสิษฐสบสมัย ลำดับที่ 4 จากขวา เป็นผู้อัญเชิญธารพระกรและอุ้มไก่ขาว)

ราชสีห์ ญาติผู้พี่ของแมว

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก, แมว

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับพระมหาชัยมงกุฎ โดยทรงประทับนั่งอยู่บนพระราชอาสน์เก่าแก่ที่มีชื่อว่า พระที่นั่งภัทรบิฐ
ภาพ : หนังสือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดย ณัฏฐภัทร จันทวิช

จะว่าไปแล้วแมวกับสิงโตเป็นญาติร่วมวงศ์กัน (ทั้งคู้จัดอยู่ในวง Felidae ซึ่งเป็นวงศ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประเภทเสือ สิงโต ลิงซ์ และแมว) ญาติผู้ใหญ่ของแมวอย่างสิงโตมีบทบาทสำคัญเชิญสัญลักษ์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเช่นกัน กล่าวคือในพระราชพิธีนี้พระมหากษัตริย์จะทรงรับพระมหาพิชัยมงกุฏและเครื่องราชกกุธภัณฑ์อันเป็นเครื่องแสดงความเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ราชพระอาสน์เก่าแก่ มีชื่อว่าพระที่นั่งภัทรบิฐ พระราชอาสน์ดังกล่าวตามธรรมเนียมจะต้องลาดปูด้วยหนังราชสีห์

ต้องบอกก่อนว่าตามความคิดดั้งเดิมแล้วราชสีห์เป็นสัตว์ในจินตนาการ (รูปร่างแบบโลโก้เบียร์สิงห์) คนโบราณน่าจินตนาการต่อยอดมากจากสิงโต ราชสีห์อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์และเป็นเจ้าแห่งสัตว์ทั้งปวง ในพระราชพิธีจึงจำลองหนังราชสีห์ด้วยการใช้แผ่นทองคำเขียนรูปราชสีห์ปูลาดพระที่นั่งภัทรบิฐแทน ดังปรากฏในพระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ 1 ว่า “แล้วเสด็จพระราชดำเนินมายังพระที่นั่งภัทรบิฐ พระมหาราชครูจึงประคองพระองค์ขึ้นเสด็จประทับพระที่นั่งภัทรบิฐเหนือแผ่นทองรูปราชสีห์อันมีมหันตเดช”

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก, แมว

แผ่นทองคำเขียนรูปราชสีห์ที่ใช้ปูพระที่นั่งภัทรบิฐ
ภาพ : หนังสือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดย ณัฏฐภัทร จันทวิช

อย่างไรก็ตาม ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งรัชกาลที่ 6 ได้มีการลาดหนังสิงโตทั้งตัวในฐานะราชสีห์ไว้บนพระที่นั่งพุดตานทองคำ สำหรับเป็นที่ประทับเสด็จออกรับถวายชัยมงคล ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยดังที่ปรากฏในรูปด้วย

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก, แมว พระราชพิธีบรมราชาภิเษก, แมว

หนังสิงโตทั้งตัวได้นำมาใช้ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 6
ภาพ : หนังสือ ประมวลภาพประวัติศาสตร์ไทย พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยรัตนโกสินทร์ และหนังสือ เฉลิมฟิล์มกระจก ฉลองมรดกความทรงจำแห่งโลก

เมื่อคราวพระมหากษัตริย์เสด็จออกยังมุขหรือบัญชร ที่แห่งนั้นจะเรียกว่า ‘สีหบัญชร’ อันมีความหมายว่า หน้าต่างที่มีสัณฐานประดุจกรงเล็บแห่งสิงห์ มีศัพท์โบราณเรียกพระราชดำรัสของพระองค์ว่า ‘สีหนาท’ หรือ ‘สิงหนาท’ มีความหมายตามรูปศัพท์ว่า ดำรัสอันเป็นที่น่าเกรงขามของคนทั้งปวง เหมือนเสียงของราชสีห์เป็นที่น่าเกรงขามของสัตว์ทั้งปวง

เนื่องจากสิงโตแสดงพระบรมเดชานุภาพอันยิ่งใหญ่ของพระมหากษัตริย์ ในพระบรมสาทิสลักษณ์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเจ้าเกล้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงจ้าง เอ็ดวาร์โด เยลลี ศิลปินชาวอิตาลีวาดขึ้น จะเห็นได้ว่าพรมเสือดาวในภาพถ่ายต้นแบบได้ปรับเปลี่ยนเป็นพรมหนังสิงโตในภาพเขียนจริง มิได้มีบันทึกว่าเป็นด้วยพระราชดำริหรือเกิดจากความคิดของศิลปินเอง หนังสิงโตก็ดูน่าเกรงขามคู่ควรกับบรรยากาศขึงขังของภาพสำคัญยิ่งภาพนี้

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก, แมว

ภาพ : หนังสือ จิตรกรรมและประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนัก โดยศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์

สิงโตตัวแรกในสยาม

ย้อนกลับไปยังสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ พระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งกรุงศรีอยุธยา พระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์บันทึกเหตุการณ์นายกำปั่นชื่ออะลังกะปูนีนำสิงโตกับนกกระจอกเทศอย่างละตัวเข้ามาถวายพระเจ้าเอกทัศน์ นั่นเป็นครั้งแรกที่คนไทยได้เห็นสิงโตตัวเป็นๆ ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการวาดภาพเหตุการณ์นี้และแต่งโคลงประกอบไว้ว่า

คนไทยพึ่งแรกได้

เหนสิง โตนอ

แตกตื่นดื่นชายหญิง

มากยั้ง

ดูนกเทศโตจริง

ปลาดแปลก เพรงพ่อ

ต่างเล่าต่างฦๅตั้ง

แต่นั้นต่อมา

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก, แมว

ภาพวาดจารึกโคลงบริเวณกรอบภาพ แลเห็นกรงสิงโตในด้านขวาสุดของภาพ
ภาพ : หนังสือ โคลงภาพพระราชพงศาวดาร พร้อมบทขยายความและบทวิเคราะห์

ร่องรอยของสิงโตตัวดังกล่าวอาจตกทอดมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ เรื่องมีอยู่ว่า ในสมัยรัชกาลที่ 2 เฒ่าสา หญิงชราผู้หนึ่งให้การว่าตนเองครอบครองหนังประหลาดอยู่ผืนหนึ่ง โดยตนได้รับมาจากนายอูผู้เป็นสามี นายอูรับราชการใกล้ชิดในราชสำนักพระเจ้าเอกทัศน์เมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยา ก่อนที่พระเจ้าเอกทัศน์จะเสด็จหนีออกจากพระราชวัง พระองค์ส่งหนังผืนนี้ให้นายอูแล้วกล่าวว่าเป็นหนังราชสีห์ ให้เก็บไว้ให้ดีอย่าให้พม่าเอาไปได้ เฒ่าสาถวายหนังปริศนาผืนนั้นแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยในที่สุด สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวินิจฉัยว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาด แต่ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าเป็นหนังของสิงโตสมัยอยุธยาจริง

การน้อมเกล้าฯ ถวายสิงโตเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อราชทูตฝรั่งเศสแห่งจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ส่งสิงโตสตัฟฟ์และหนังสิงโตอีก 1 ผืนเข้ามาถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อปี 2405 ปรากฏหลักฐานอยู่ในภาพวาดสีน้ำมันประดับอยู่ ณ ท้องพระโรงกลางพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทจนถึงปัจจุบันนี้

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก, แมว

ขอขอบคุณ: หนังสือ จิตรกรรมและประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนัก โดยศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์

บรรณานุกรม

กิติวัฒนา ปกมนตรี, หม่อมราชวงศ์. เขียนถึงสมเด็จ. กรุงเทพฯ : เลมอนที, 2548.

เกริกฤทธี ไทคูนธนภพ. เรื่องอื้อฉาวและคดีความในอดีต. กรุงเทพฯ :

สยามความรู้, 2555. ณัฏฐภัทร จันทวิช. พระราชพิธีบรมราชาภิเษก. กรุงเทพฯ :

กรมศิลปากร, 2530.

ณัฏฐภัทร จันทวิช. พระราชพิธีบรมราชาภิเษก. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2530.

ดาวรัตน์ ชูทรัพย์. หมื่นร้อยพันผสาน เล่ม 4 :

บันทึกสิ่งดีวัฒนธรรมประเพณีวิถีไทย. กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและ.

ประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2549.

นนทพร อยู่มั่งมี และ พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์. เสวยราชสมบัติกษัตรา. กรุงเทพฯ :

มติชน, 25ุ62.

เฟอร์กูสัน, จอร์จ เวลลส์. เครื่องหมายและสัญลักษณ์ในคริสตศิลป์. พิมพ์ครั้งที่ 7.

กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2556.

วรรณทอง ผมทอง. แมวครองโลก. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2559.

ศิลปากร, กรม. โคลงภาพพระราชพงศาวดาร

พร้อมบทขยายความและบทวิเคราะห์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปาการ, 2550.

ส.พลายน้อย (นามปากกา). สัตวนิยาย. กรุงเทพฯ : ยิปซี, 2555.

สุทธิพันธ์ ขุทรานนท์, บรรณาธิการ. เกร็ดความรู้จากประชุมพงศาวดาร

ฉบับกาญจนาภิเษก. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร,

2550.

สุรเดช โชติอุดมพันธ์. สัตว์ศึกษา: สู่โลกหลังภาพแทน ในสิงสาราสัตว์ :

มานุษยวิทยาว่าด้วยสัตว์และสัตว์ศึกษา /

สุดแดน วิสุทธิลักษณ์, บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ :

มูลนิธิเพื่อการศึกษาประชาธิปไตยและการพัฒนา (โครงการจัด

มพ์คบไฟ), 2560.

อภินันท์ โปษยานนท์, จิตรกรรม และประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนัก.

พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : อมรินทร์,

2537.

เอนก นาวิกมูล. นิทานมิบ. กรุงเทพฯ : พิมพ์คำ, 2557.

Writer

Avatar

นักรบ มูลมานัส

นักคุ้ยของเก่าผู้เล่าเรื่องผ่านการสร้างภาพ (ประกอบ) ที่อยากจะลองเล่าเรื่องผ่านตัวอักษรดูบ้าง