21 กรกฎาคม 2023
618

สารภาพตรง ๆ ว่าเรารู้จักคาร์เทียร์แค่ผ่าน ๆ รู้ว่าเป็นแบรนด์เครื่องเพชรประวัติยาวนานที่ยังรุ่งเรืองไม่แผ่ว แต่เราไม่รู้มาก่อนว่าแบรนด์นี้จะมีเรื่องเล่าที่สนุกและลึกล้ำขนาดนี้ 

ถ้าไม่ได้ไปทริปนี้ก็คงพลาดอะไรไปเยอะ

นิทรรศการที่ได้ไปเยี่ยมเยียนที่พิพิธภัณฑ์พระราชวังฮ่องกงในครั้งนี้ชื่อว่า ‘Cartier and Women’ ซึ่งถือเป็นนิทรรศการใหญ่ครั้งแรกของโลกที่นำเสนอบทบาทและอิทธิพลของผู้หญิงในประวัติศาสตร์ของคาร์เทียร์ เริ่มตั้งแต่ก่อตั้ง ปี 1847 ยาวมาจนถึงปัจจุบัน การเดินดูเครื่องเพชรของจริงจาก Cartier Collection จึงเหมือนได้เดินดูความเป็นไปของโลกไปด้วย 

คาร์เทียร์เป็นทั้งเครื่องประดับสำหรับผู้หญิง แสดงถึงวิถีชีวิต ถึงอิสรภาพที่ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นของผู้หญิงแต่ละยุค ทั้งยังมีผู้หญิงรับบทบาทสำคัญในการพัฒนาแบรนด์ และยิ่งกว่านั้นคือการปฏิวัติวงการจิวเวลรี่สมัยใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่พิเศษมากในโลกที่ชายเป็นใหญ่ หายากที่แบรนด์ยุคเก่าจะมีเบื้องหลังแบบนี้

ไม่ได้ไปฮ่องกงก็ไม่เป็นไร เราเก็บบรรยากาศและเรื่องราวน่าสนใจมาไว้ให้ที่นี่แล้ว 

เยือนฮ่องกง ชม Cartier and Women นิทรรศการที่เล่าการต่อสู้และอิสระของสตรีผ่านเครื่องประดับ

พิพิธภัณฑ์พระราชวังฮ่องกง หรือ Hong Kong Palace Museum เป็นแหล่งเรียนรู้ใหม่เอี่ยม เพิ่งเปิดได้ราว 1 ปี โดยตั้งใจว่าจะเป็นสถาบันทางวัฒนธรรมที่ตระหนักถึงคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมจีน และผลักดันให้เกิดบทสนทนาเรื่องอารยธรรมทั่วโลกในขณะเดียวกัน

นี่เป็นครั้งแรกในชีวิตที่เราได้มาเยือนที่นี่ แต่ก็เล็งไว้แล้วว่าถ้ามาฮ่องกงอีกต้องมาซ้ำ จะมาเที่ยวทั้งทีก็ต้องมีช่วงเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นเสียหน่อย

เมื่อไกด์สาวชาวฮ่องกงแนะนำตัวและแจกหูฟังให้เราโดยทั่วกันแล้ว เธอเดินนำเราเข้าไปในห้องมืด ปรากฏภาพหญิงสาวสะสวยในเครื่องประดับเรียงรายกัน จังหวะนั้นยังไม่มีใครรู้ตัวว่าเรากำลังเข้าสู่ 2 ชั่วโมงที่ข้อมูลถาโถมใส่ไม่หยุดหย่อน ทว่าทุกคนก็เอนจอยกับคลื่นราวกับกำลังเล่นเซิร์ฟ มีข้อมูลอีกไหม ขออีก!

เยือนฮ่องกง ชม Cartier and Women นิทรรศการที่เล่าการต่อสู้และอิสระของสตรีผ่านเครื่องประดับ

นิทรรศการส่วนแรกที่เราได้ชม เรียกว่า ‘Royal and Aristocratic Women: Elegance and Prestige’ นำเสนอเรื่องราวยุคแรกของคาร์เทียร์ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวของสตรีชั้นสูงและเชื้อพระวงศ์ 

เข้ามาก็ตื่นตาตื่นใจด้วยเครื่องประดับโบราณของจริงที่รายล้อมอยู่รอบตัวทันที

ที่ชอบเป็นพิเศษคือคอลเลกชัน ‘Tiara’ หรือเครื่องหัวของสตรีเชื้อพระวงศ์ในศตวรรษที่ 19 พวกเธอต้องม้วนผมให้เป็น Chignon ก่อนปัก Tiara ลงไปให้สวยงามสมเกียรติ

ไม่รู้ว่าผู้ร่วมทัวร์คนอื่นคิดยังไงกัน แต่สำหรับเรา การได้เห็น Tiara ของจริงสภาพวิ้งวับตั้งอยู่ตรงหน้า สลับกับดูภาพเหล่าเจ้าหญิงสมัยก่อนใส่ Tiara อยู่นั้นเป็นโมเมนต์ที่น่าอัศจรรย์ เหมือนกับได้ท่องไปในอดีตแล้วครึ่งหนึ่ง

เยือนฮ่องกง ชม Cartier and Women นิทรรศการที่เล่าการต่อสู้และอิสระของสตรีผ่านเครื่องประดับ
เยือนฮ่องกง ชม Cartier and Women นิทรรศการที่เล่าการต่อสู้และอิสระของสตรีผ่านเครื่องประดับ

นิทรรศการส่วนที่ 2 คือ ‘New Women: Breaking with Tradition’ เมื่อก้าวเข้าไปในส่วนนี้ ดนตรีก็เปลี่ยนไปร่าเริงทันใด สื่อให้เห็นถึงต้นทศวรรษที่ 20 ที่บทบาทของสตรีในสังคมเริ่มเปลี่ยนไป มีอิสระมากขึ้น ไม่ต้องยึดติดกับม่านประเพณีเดิม ๆ หรือรับบทเป็นความสดใสของโลกใบนี้ การออกแบบจิวเวลรี่ก็สะท้อนถึงการปลดแอกสตรีตามไปด้วย

Cafe Society หรือวงสังคมของหญิงสาวอีลีตยุโรปและอเมริกาเกิดขึ้นช่วงนั้น ซึ่งอีลีตที่ว่าก็คือคนในแวดวงอุตสาหกรรม นักธุรกิจ เหล่าผู้มีความรู้ทั้งหลาย และเทรนด์การแต่งตัวก็มาจากแวดวงนั้น

ในยุคของ Modern Femininity บุคคลที่มีอิทธิพลกับคาร์เทียร์มากคือ ฌานน์ ตูแซงต์ (Jeanne Toussaint) Creative Director คนแรกของแบรนด์ ผู้มาด้วยพลังของ Women Empowerment นำมาสู่สไตล์ที่แปลกใหม่ของคาร์เทียร์และของโลก จะเรียกเธอว่า Trendsetter ก็ไม่เกินจริง

เมื่อตูแซงต์มีบทบาท จากเดิมที่ดีไซน์ของคาร์เทียร์ค่อนข้างนามธรรมและเป็นรูปทรงเรขาคณิต เริ่มมีดอกไม้บ้าง สัตว์บ้าง โดยเฉพาะ ‘The Panther’ เสือที่แสดงถึงความแข็งแกร่งและจิตวิญญาณอิสระของผู้หญิง ทุกวันนี้เสือก็ยังอยู่คู่คาร์เทียร์ไปเคยหนีไปไหน

เยือนฮ่องกง ชม Cartier and Women นิทรรศการที่เล่าการต่อสู้และอิสระของสตรีผ่านเครื่องประดับ

ยังไม่พอ เธอยังถูกจดจำในด้านการเคลื่อนไหวทางการเมือง ตอนที่เยอรมนียึดครองฝรั่งเศสในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เธอออกแบบเครื่องประดับเป็น ‘นกในกรง’ ไปจัดแสดงในปารีสจนถูกนาซีเพ่งเล็ง จากนั้นเมื่อฝรั่งเศสได้อิสระ เธอก็ออกคอลเลกชันใหม่ที่นกน้อยตัวนั้นบินออกจากกรงไปแล้ว

และที่สำคัญไม่แพ้ชิ้นอื่น คือเข็มกลัดปองแตร์ (Panthère) ที่ตูแซงต์ออกแบบไว้เมื่อปี 1949 และ ดัชเชสแห่งวินด์เซอร์ ซื้อไปครอบครอง สำหรับคาร์เทียร์ นี่เป็นผลงานที่กำหนดนิยมใหม่ว่าจิวเวลรี่มีความหมายอย่างไรต่อผู้หญิงเลยทีเดียว

หากส่วนแรกคือจุดเริ่มต้นอันสง่างามของแบรนด์ เราคิดว่าส่วนที่ 2 คือจุดสำคัญที่ส่งผลกับตัวตนของคาร์เทียร์จนถึงปัจจุบัน ทั้งแนวคิดของ Creative Director คนสำคัญ แนวทางการออกแบบ และยังเป็นช่วงที่สื่อให้เห็นว่าแบรนด์อยู่กับความเป็นไปของโลกด้วย

เยือนฮ่องกง ชม Cartier and Women นิทรรศการที่เล่าการต่อสู้และอิสระของสตรีผ่านเครื่องประดับ
เยือนฮ่องกง ชม Cartier and Women นิทรรศการที่เล่าการต่อสู้และอิสระของสตรีผ่านเครื่องประดับ

พวกเราใช้เวลาเดินดูส่วนนี้นานเป็นพิเศษ ก่อนตัดใจและไปต่อที่นิทรรศการส่วนที่ 3 ‘Inquisitive Women: Cross-cultural Inspirations’

ในอดีต หญิงชนชั้นสูงในยุโรปและอเมริกามักถูกเปรียบเปรยเป็นนกสวย ๆ ในกรงทอง แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ผู้หญิงมีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น ออกเดินทางไปเห็นโลกกว้างได้สะดวกกว่าเดิม คาร์เทียร์ซึ่งพัฒนาไปพร้อมกับความเป็นไปของสังคมจึงเริ่มออกแบบโดยมีอิทธิพลจากหลากหลายวัฒนธรรมตามไปด้วย (โดยมีตูแซงต์คนเก่งคนเดิมเป็นผู้นำทาง)

เราค่อย ๆ ไล่ดูกันไปทีละประเทศ จีน อียิปต์ อินเดีย ญี่ปุ่น รัสเซีย และอีกมากมาย บางชิ้นก็ให้ความรู้สึกของประเทศนั้น ๆ ด้วยลวดลาย รูปทรง บางชิ้นก็เป็นเรื่องของวัสดุและการใช้สี

ด้วยความที่จัดแสดงที่ฮ่องกง ส่วนที่โดดเด่นเป็นพิเศษนั้นเล่าเรื่องว่าศิลปวัฒนธรรมจีนให้แรงบันดาลใจกับการสร้างสรรค์ผลงานของดีไซเนอร์คาร์เทียร์และส่งผลกับแฟชั่นทั่วโลก อย่างกระเป๋าใส่ของสไตล์จีน ๆ จี้หยิน-หยาง หรือเข็มกลัดมังกรคู่ไล่ไข่มุก

พอได้ดูนิทรรศการส่วนนี้ก็เข้าใจถึงความ Worldwide คาร์เทียร์ไม่ใช่แค่ประวัติศาสตร์ของชาวตะวันตกอย่างเดียวแล้ว

เข้าพิพิธภัณฑ์พระราชวังฮ่องกง ชม Cartier Collection Exhibition นิทรรศการที่เล่าอิทธิพลของผู้หญิงตั้งแต่ศตวรรษที่ 19
เข้าพิพิธภัณฑ์พระราชวังฮ่องกง ชม Cartier & Women นิทรรศการที่เล่าอิทธิพลของผู้หญิงตั้งแต่ศตวรรษที่ 19

นิทรรศการส่วนสุดท้ายคือ ‘Influential Women: Glamorous Legends’ สื่อถึงยุค 1950 – ปัจจุบัน ที่ผู้หญิงมีสถานะทางสังคมดีขึ้นและการแบ่งเพศในแฟชั่นที่เลือนรางลงไป

ในห้องนี้เราได้ชม Tiara ที่ออกแบบเฉพาะของผู้หญิงผู้ทรงอิทธิพล 3 คน ได้แก่ แพนซี่ โฮ (Pansy Ho) ผู้อยู่ในวงการธุรกิจ-การเมือง และ หลิน ชิงเสีย (Brigitte Lin Ching Hsia), หลิว เจียหลิง (Carina Lau Ka Ling) ที่เป็นซูเปอร์สตาร์แห่งยุค

‘Make Yourself Royal’ เป็นคีย์เวิร์ดหนึ่งบนแผ่นป้ายที่สะดุดตาสะดุดใจ จากส่วนแรกที่ Tiara เป็นของเหล่าเจ้าขุนมูลนาย ส่วนสุดท้ายนี้แสดงให้เห็นว่าคนธรรมดาก็เป็นเจ้าของมงกุฎสวย ๆ ได้เช่นกัน

เข้าพิพิธภัณฑ์พระราชวังฮ่องกง ชม Cartier & Women นิทรรศการที่เล่าอิทธิพลของผู้หญิงตั้งแต่ศตวรรษที่ 19

สิ่งที่ประทับใจมากในการเดินชมนิทรรศการครั้งนี้ คือคุณไกด์ผู้เรียนมาด้านประวัติศาสตร์

นี่คือนิทรรศการของคาร์เทียร์ และแบรนด์จะต้องเทรนไกด์ให้เข้าใจเรื่องราวของเครื่องประดับในยุคต่าง ๆ จนแม่นเป๊ะ แต่ที่พิเศษกว่านั้นคือความรู้พื้นหลังของคุณไกด์ของเรา เธอเล่าได้ทั้งประวัติศาสตร์โลกในแต่ละยุค ชีวิตของเชื้อพระวงศ์แต่ละคน ไปจนถึงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของเครื่องประดับ

เกร็ดหนึ่งที่คุณไกด์เล่าให้ฟังแล้วเราสนใจเป็นพิเศษ คือในอดีต ผู้หญิงชนชั้นสูงแสดงความต้องการออกมาตรง ๆ ไม่ได้ หากเริ่มเหนื่อยกับงานสังคมและอยากกลับบ้าน ก็จะส่งสัญญาณให้ผู้ชายรู้ ด้วยการพลิกเข็มกลัดที่อกเสื้อให้คว่ำลง เท่านั้นก็รู้กัน

ตอนที่ยืนดู Hidden Watch คุณไกด์เล่าว่าการดูนาฬิกานั้นเป็นกิริยาที่ไม่งามนักสำหรับผู้หญิง (คงเพราะดูเหมือนอยากรีบกลับบ้านอีกนั่นแหละ) คาร์เทียร์จึงต้องมีกำไลซ่อนนาฬิกาไว้ให้ผู้หญิงแอบเปิดดูเวลาเนียน ๆ

เข้าพิพิธภัณฑ์พระราชวังฮ่องกง ชม Cartier & Women นิทรรศการที่เล่าอิทธิพลของผู้หญิงตั้งแต่ศตวรรษที่ 19
เข้าพิพิธภัณฑ์พระราชวังฮ่องกง ชม Cartier & Women นิทรรศการที่เล่าอิทธิพลของผู้หญิงตั้งแต่ศตวรรษที่ 19

ไม่น่าเชื่อว่าคอลเลกชันเครื่องประดับเก่า ๆ จะฉายภาพชีวิตที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดของสตรีในอดีตได้ ตลอด 2 ชั่วโมงนี้ทำให้เรารู้สึกว่า ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นสูงในภูมิภาคไหนก็ยังต้องประพฤติตนตามกรอบที่สังคมคาดหวัง ยังดีที่เมื่อเวลาผ่านพ้นไป ผู้หญิงได้รับอิสระมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งก็ต้องพึงระลึกว่านั่นเป็นสิ่งที่ไม่ได้มาโดยอัตโนมัติ หากมาจากการต่อสู้ของผู้หญิงในแต่ละยุคทั้งนั้น

เมื่อถึงวันที่ปัจจุบันเป็นอดีต เราก็อยากให้เครื่องประดับคอลเลกชันปี 2023 แสดงให้คนรุ่นหลังเห็นถึงอิสระที่ผู้หญิงในยุคสมัยของเราต่อสู้จนได้รับมาเช่นกัน

บุคคลอีกกลุ่มที่ต้องชื่นชมก็คือเหล่าคิวเรเตอร์ Cartier and Women ที่คิดคอนเซปต์อันแข็งแรงนี้ขึ้น และจัดเรียงเนื้อหา จัดแสดงเครื่องประดับ ได้เข้ากับประเด็นที่ตั้งไว้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเรื่องราวของตูแซงต์ ซึ่งเราเชื่อว่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กผู้หญิงที่ได้มาดูอย่างแน่นอน

ท่ามกลางสังคมปิตาธิปไตยเข้มข้น เธอหยัดยืนในตำแหน่งผู้นำได้ด้วยความสามารถ ทั้งยังส่งอิทธิพลความคิดและอุดมการณ์ของเธอให้วงการแฟชั่นทั้งโลก แม้ตอนนี้ตูแซงต์จะจากไปแล้ว แต่จิตวิญญาณของเธอก็ยังอยู่กับคาร์เทียร์อย่างนั้น

อย่างที่กล่าวในตอนแรก คาร์เทียร์เป็นแบรนด์ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมาก นอกจากประเด็นของผู้หญิงแล้ว ถ้ามีโอกาสได้ชมนิทรรศการในธีมอื่น ๆ ของคาร์เทียร์ก็คงได้เรียนรู้โลกในแง่มุมที่กว้างขึ้นไม่รู้จบ ศึกษาเรื่องเครื่องประดับก็สนุกดีเหมือนกันนะ

เข้าพิพิธภัณฑ์พระราชวังฮ่องกง ชม Cartier Collection Exhibition นิทรรศการที่เล่าอิทธิพลของผู้หญิงตั้งแต่ศตวรรษที่ 19

นิทรรศการ Cartier and Women 

เปิดให้เข้าชมวันนี้ถึง 14 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ที่พิพิธภัณฑ์พระราชวังฮ่องกง (Hong Kong Palace Museum)

ค่าเช้าชม 120 ดอลลาร์ฮ่องกงสำหรับผู้ใหญ่ และ 60 ดอลลาร์ฮ่องกงสำหรับผู้ได้รับการยกเว้นพิเศษ

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ cartierandwomen.hk

ภาพ : Cartier, The Telegraph, D2Line

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน