25 พฤศจิกายน 2022
2 K

ใครจะเดือดร้อนก่อน ถ้าโรงงานอุตสาหกรรมปล่อยน้ำเสียลงสู่ลำคลองจนเสียสมดุล ตัวเราหรือปลาในแม่น้ำ

ใครจะเดือดร้อนก่อน จากปัญหา PM 2.5 เราหรือนกที่พึ่งพาอากาศในการโบยบิน

ใครจะเดือดร้อนก่อน กับปัญหาขยะล้นโลกที่มนุษย์ทิ้งไว้ เราหรือสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในธรรมชาติ 

การตั้งคำถามด้านบนเกิดขึ้นระหว่างที่เราสนทนากับ เต๋า-นพเก้า สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานสื่อสารองค์กรและพัฒนาเพื่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เธอชวนขบคิดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยเลนส์ความเห็นอกเห็นใจที่มนุษย์เราควรมองใหม่ให้ใกล้ตัว และตระหนักถึงบ่อเกิดความเสี่ยงเหล่านี้ว่าเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่เรื่องที่ไกลห่างออกไปหลายพันไมล์

Care the Bear กลุ่มคนที่ออกแบบงานอีเวนต์ไทยให้กรีนขึ้นด้วยการลด Carbon Footprint

Care the Bear หรือ ‘Care the Bear : Change the Climate Change’ โครงการของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) จึงเกิดขึ้นในปี 2018 ด้วยความตั้งใจลดสภาวะโลกร้อนโดยการลดก๊าซเรือนกระจกจากการจัดกิจกรรมหรืออีเวนต์ 

บางคนอาจจะสงสัยว่า SET องค์กรด้านการระดมทุนและการลงทุน ฟังดูไม่ได้เกี่ยวข้องกับการดูแลสิ่งแวดล้อมสักเท่าไหร่ ทำไมถึงหันมองตัวเองใหม่ในฐานะสมาชิกในสังคม ว่าจริง ๆ แล้วมนุษย์ทุกคนต่างเกี่ยวเนื่องกับสิ่งแวดล้อม และหลายคนก็อาจเผลอเป็นบ่อเกิดของปัญหาสิ่งแวดล้อมจากพฤติกรรมบางอย่างของตัวเอง ซึ่งคำตอบก็อยู่ในคำถาม เพราะ SET มองว่าในภาคธุรกิจเอง ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะต้องมีการจัดกิจกรรมหรืออีเวนต์ขึ้นมาในแง่ของการตลาด แน่นอน จัดแต่ละทีก็สร้างขยะบานปลาย เปลืองพลังงานสุดขีด และปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากในแต่ละครั้ง

ตลอด 4 ปี ‘Future is Now’ คือแกนหลักที่ Care the Bear ยึดมั่น เพราะการจะเปลี่ยนอนาคตอันไกล เริ่มจากปัจจุบันอันใกล้ก่อนเสมอ พวกเขาออกแบบหลักปฏิบัติ 6 Cares ง่าย ๆ สำหรับงานอีเวนต์ ให้สมาชิกที่เข้าร่วมโครงการเข้าใจง่าย เรียนรู้ง่าย เอาไปใช้ได้ง่าย ๆ และวัดผลได้จริง โดยปัจจุบัน Care the Bear ลดก๊าซเรือนกระจกไปได้แล้ว 17,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือคิดให้ง่ายกว่านั้นคือเทียบเท่าการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปีของต้นไม้ 1.8 ล้านต้น

และกรณีการจัดการประชุม APEC 2022 ในไทยที่เพิ่งผ่านมา งานระหว่างประเทศสเกลใหญ่ขนาดนี้ Care the Bear ก็ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินการร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศและพันธมิตร ได้แก่ กลุ่มบริษัทบางจาก เอสซีจี และโออาร์ โดยทำให้พื้นที่ศูนย์ข่าว ชั้น LG เป็น “ศูนย์ข่าวสีเขียว” ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปได้ 30,295.40 กิโลคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่ไม่น้อย

Care the Bear กลุ่มคนที่ออกแบบงานอีเวนต์ไทยให้กรีนขึ้นด้วยการลด Carbon Footprint

องค์กรการเงินที่สร้างหมีมาลด Carbon Footprint

‘หมี’ เป็นสัตว์ที่ได้รับผลกระทบจากถิ่นที่อยู่อาศัยที่สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปเพราะ Climate Change กลายเป็นแรงบันดาลใจมาสคอตหมีสีขาว สัญลักษณ์ของ Care the Bear ที่ SET ออกแบบขึ้นมาให้มองแวบเดียวก็รู้สึกเป็นมิตร ขณะที่การเรียกร้องเรื่องภาวะโลกร้อนมากขึ้นทั้งไทยและต่างประเทศ เราเห็นว่าสภาพภูมิอากาศที่ผันผวน พื้นที่ที่เคยหนาวมาก ๆ ก็เริ่มร้อน พื้นที่ที่ร้อนอยู่แล้วก็ยิ่งแล้ง พ่วงด้วยปัญหาขยะล้นโลก มาสคอตหมีที่ทำจากขวดพลาสติก 1,071 ขวด ตั้งอยู่ภายในบริเวณบูท SET งาน APEC สะท้อนเรื่องราวเหล่านี้

ความตื่นตัวเรื่องรักษ์โลก เป็นส่วนหนึ่งที่ภาคเอกชนควรให้ความสำคัญ สำหรับ SET แล้ว จุดเริ่มต้นของโครงการเกิดขึ้นท่ามกลางการทำกิจกรรมเพื่อสังคมที่พวกเขาทำมาโดยตลอด ผ่านการเป็นคลังความรู้ทางการเงิน และมีมูลนิธิที่สนับสนุนสังคมในเชิงเงินทุน สิ่งที่ SET เห็นคือกิจกรรมหรือการบริจาค มักมีประเด็นสิ่งแวดล้อมซ่อนอยู่ในทุกสถานที่ที่ไป ไม่ว่ากิจกรรมปลูกต้นไม้ กิจกรรมเก็บขยะ ซึ่งคนไทยได้ยินหรือได้ทำจนชิน แต่พอหันกลับมาดูการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจ กลายเป็นว่ายังบางตา 

Care the Bear กลุ่มคนที่ออกแบบงานอีเวนต์ไทยให้กรีนขึ้นด้วยการลด Carbon Footprint

5 – 6 ปีให้หลัง SET จึงตั้งคำถามกันเองในองค์กรว่า พวกเขาจะค้าขายเพียงอย่างเดียว โดยไม่สนสิ่งแวดล้อมได้จริงหรือ และบทบาทของตลาดหลักทรัพย์ที่มีคำว่า ‘แห่งประเทศไทย’ ห้อยท้าย สามารถเป็นประโยชน์กับประเทศมากกว่าที่เป็นอยู่ไหม

“ก่อนหน้านี้คนส่วนใหญ่ไม่เคยรู้สึกเดือดร้อนจากฝุ่น PM 2.5 ไม่เคยรู้สึกว่าขยะเริ่มทำให้ปวดหัว แทบไม่มีใครสังเกต Carbon Footprint บนผลิตภัณฑ์ แม้กระทั่งเขาหัวโล้นเกิดขึ้นได้อย่างไรก็ไม่รู้ ขับรถผ่านไปก็แค่มองว่าสวยดี แต่ไม่รู้ว่าจริง ๆ มีความโหดร้ายหรือความไม่สมดุลเกิดขึ้นกับธรรมชาติ” คุณเต๋าผู้ดูแลโครงการ Care the Bear แบเรื่องราวให้ฟัง ด้วยวิสัยทัศน์ของ SET ทำให้เราพยายามมองเรื่องรอบตัวให้ใกล้ตัวมากขึ้น และคิดลึกไปถึงผลกระทบว่านอกจากมนุษย์แล้ว สิ่งที่จะได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาสิ่งแวดล้อมมากกว่า มักเป็นสัตว์ทั้งหลายและธรรมชาติเสมอ

แต่องค์กรที่ความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ได้เก๋าเกม ถ้าจะมาทำเรื่องสิ่งแวดล้อมโดยขาดความรู้ก็คงจะไปไม่ถึงฝัน สิ่งที่คุณเต๋าและทีมงานทำคือ เรียน เรียน เรียน แล้วก็เรียน ไม่ใช่แค่เรียนรู้ แต่ต้องเรียนทำด้วย

“ตอนนั้นเราไปลงคลาสเรียนกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เขาก็มีการจัดอบรม เวิร์กชอป และลงมือปฏิบัติจริง สอนเราคำนวณค่าต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งพอจะเข้าใจว่าค่าเหล่านี้กระทบกับโลกอย่างไรบ้าง แต่ออกตัวไว้ก่อนว่าเราไม่ได้เรียนแบบลึกมาพอที่จะพัฒนาเครื่องจักรเพื่อลดคาร์บอนไดออกไซด์แต่อย่างใด เราเพียงเรียนเพื่อให้รู้ประเด็น เห็นประโยชน์ และกลับมาออกแบบกลยุทธ์ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งทีมเราตั้งใจกันไว้ว่า กลยุทธ์ที่จะดึงออกมา ต้องทำให้คนรู้สึกว่าใกล้ตัวและง่ายที่สุด

“เหมือนเรือใหญ่เวลาจะเลี้ยว มันเลี้ยวได้ไม่เร็วหรอก จึงต้องหาเครื่องมือที่มีความหลากหลายมาช่วย ต้องตอบโจทย์ทั้งระยะสั้นและการเปลี่ยนแปลงระยะยาว รวมถึงระยะที่คุณต้องเปลี่ยนเลยวันนี้ ตอนนี้ เดี๋ยวนี้ จึงเกิด Care the Bear ขึ้นเมื่อปี 2018 เพื่อค้นหาคำตอบว่าสิ่งที่เริ่มได้เลยทันทีคืออะไร ซึ่งเราอยากเริ่มจากการลด Carbon Footprint ในสายงานเราเอง นั่นคือภาคธุรกิจ”

Care the Bear กลุ่มคนที่ออกแบบงานอีเวนต์ไทยให้กรีนขึ้นด้วยการลด Carbon Footprint

6 Cares ที่ช่วยลดการทำลายโลกจากงานอีเวนต์

ช่องว่างใหญ่ที่ภาคธุรกิจหลายคนมองข้ามไป คือเวลาจัดงานอีเวนต์หรือกิจกรรมที่สอดคล้องกับแนวทางการตลาด หลายเจ้ามักโฟกัสแค่สิ่งที่ต้องการจะสื่อสารและผลลัพธ์ที่อยากให้เกิดขึ้น จนลืมไปว่า ‘ขยะ’ จากงานนั้นสร้างความเดือดร้อนมากขนาดไหน ซึ่งอีเวนต์ Carbon Footprint เป็นประเด็นที่ทำน้อยกันมาก ๆ คุณเต๋าและทีม SET เล็งเห็นช่องว่างนี้ และพบว่ามีแนวทาง 6 เรื่อง ซึ่งในตอนนั้น SET ได้ทำงานร่วมกับองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีมาตรฐานไว้อยู่แล้ว โดยนำมาปรับใช้ให้ง่ายขึ้น และสอดคล้องกับการจัดกิจกรรมของภาคธุรกิจ ไม่ว่าการทำกิจกรรม สร้างบูท จัดนิทรรศการ มีตติ้ง เอาต์ติ้งของบริษัท หรือตลาดนัดแบบไม่เบียดเบียนโลกและตอบโจทย์ชีวิตประจำวันของผู้คน ซึ่ง SET จะเข้าไปพูดคุย เวิร์กชอป และช่วยกันระดมความคิดร่วมกับสมาชิกในโครงการด้วยหลักปฏิบัติ 6 Cares

แคร์ที่หนึ่ง เดินทางโดยรถสาธารณะ 

“ลองคิดสิว่า คนจะมาร่วมกิจกรรมกับเราเขาจะมาด้วยวิธีการอะไรที่จะลดโลกร้อนได้ ขับรถมาด้วยกันได้ไหม มารถสาธารณะเองได้ไหม หรือทำอะไรได้บ้าง ซึ่งพอภาคธุรกิจจัดเกิดกิจกรรมขึ้น ต้นเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็จะมาจากพวกเราเอง คนที่มาร่วมเขามาเพราะเรา เราเลยต้องโน้มน้าวให้เขาเดินทางมาหาเราโดยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยที่สุด” 

Care the Bear กลุ่มคนที่ออกแบบงานอีเวนต์ไทยให้กรีนขึ้นด้วยการลด Carbon Footprint

แคร์ที่สอง ลดการใช้กระดาษและพลาสติก

“เวลาจัดกิจกรรม เรามีขวดน้ำ มีของแจก มีกระดาษเอกสาร เช่น แผ่นพับประชาสัมพันธ์ ใบปลิว เราเป็นตัวการในการสร้างขยะ ซึ่งถ้าคิดมุมกลับ งั้นเราเปลี่ยนเป็น QR Code ได้ไหม ให้ข้อมูลเขาบนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ไหม แม้กระทั่งขวดน้ำพลาสติก ถ้าเราแจกเป็นขวดน้ำใช้ซ้ำให้เขาเติมน้ำได้หรือเปล่า ทำให้คนที่มางานเรามีส่วนร่วมกับเราไปด้วย

“เหลือส่วนที่ยังลดไม่ได้ จะนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อย่างไร เหมือนในงาน APEC ที่มี โออาร์ มาเป็นพันธมิตรนำขยะพลาสติกไปรีไซเคิลและอัพไซคลิ่ง”

Care the Bear กลุ่มคนที่ออกแบบงานอีเวนต์ไทยให้กรีนขึ้นด้วยการลด Carbon Footprint

แคร์ที่สาม งดการใช้โฟม 

“การเลิกใช้โฟมไปเลย เรามองว่าไม่ใช่เรื่องยากอะไร แค่คุณต้องหาวัสดุทางเลือกมาให้ผู้บริโภคได้ เช่น อาหารอย่าใส่กล่องโฟม การตกแต่งงานอย่าให้มีโฟม ของแจก ป้าย เป็นอย่างอื่นได้ไหมที่เก๋กว่าโฟม จริง ๆ มีวัสดุทดแทนมากมายที่นำมาใช้ได้ ซึ่งเราก็ช่วยสมาชิกโครงการวางแผนตรงนี้ให้มากขึ้น”

แคร์ที่สี่ ลดการใช้พลังงานจากอุปกรณ์ไฟฟ้า

“ไฟที่ส่องสว่างอาจจะหันมาพึ่งหลอดประหยัดพลังงาน หรือถ้ามีส่วนที่เป็นเอาต์ดอร์ เราก็จะช่วยออกแบบให้คุณไม่ต้องใช้ไฟฟ้าเยอะ หรือหาทางชดเชยพลังงาน เช่น APEC ที่เป็นการจัดกิจกรรมครั้งใหญ่ มีทั้งแอร์ ไฟฟ้า เราเลี่ยงได้ยากมาก เราก็ร่วมกับพันธมิตรอย่างกลุ่มบริษัทบางจากประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมจัดหาคาร์บอนเครดิตผ่าน Carbon Markets Club มาชดเชย”

แคร์ที่ห้า เลือกใช้วัสดุตกแต่งที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ 

“เราจะตกแต่งพื้นที่ไม่ให้กวนสิ่งแวดล้อม ไม่ให้เป็นขยะ และนำกลับมาใช้ใหม่อย่างไรได้บ้าง การก่อสร้างพื้นที่ต้องใช้วัสดุทางเลือกอย่างไร เช่น ไม่ใช้ไม้อัดบาง ๆ ที่สุดท้ายมันไม่คงทน และต้องเอาไปทิ้งอย่างเดียวภายหลัง ซึ่งการให้ความรู้เหล่านี้ สุดท้ายก็จะเกิดการเรียนรู้ของเจ้าหน้าที่ พนักงาน หรือคนที่คิดจะทำเรื่องนี้ งาน APEC เอง เราก็ร่วมกับพันธมิตรอย่าง SCG ที่ช่วยดูการใช้วัสดุรีไซเคิลทั้งงานและจุดแยกขยะ โดยปลายทางจะนำขยะตรงนั้นไปทำเป็นเฟอร์นิเจอร์”

6 แนวทางลดโลกร้อนที่ทำตามได้จริงเมื่อต้องจัดอีเวนต์ โดย SET Social Impact ที่ทำให้การจัดกิจกรรมลดขยะได้มหาศาล

แคร์ที่หก ลดขยะจากอาหาร

“เราพยายามอย่างยิ่งไม่ให้เกิดอาหารเหลือทิ้ง เชิญชวนให้เกิดการตักแต่พอดี ไม่ว่าจะคิดถึงปริมาณอาหารที่ให้กับลูกค้าว่ามากไปหรือน้อยไป หากเป็นบุฟเฟต์ ป้ายประชาสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์ที่บอกให้เขารู้ว่าขยะเหลือทิ้งสร้างผลกระทบอย่างไรก็อาจช่วยได้บ้าง หรืออย่างงาน APEC เราก็ร่วมกับศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นำขยะเศษอาหารไปอัดเม็ดเป็นอาหารสัตว์ต่อไป”

6 แนวทางลดโลกร้อนที่ทำตามได้จริงเมื่อต้องจัดอีเวนต์ โดย SET Social Impact ที่ทำให้การจัดกิจกรรมลดขยะได้มหาศาล

ทั้งหมดนี้คือหลักปฏิบัติ 6 Cares ที่ SET ใช้มาตลอด และนำไปสู่การสร้างเว็บเบสที่ให้สมาชิกของ Care the Bear เข้าไปกรอกรายละเอียดข้อมูลการจัดกิจกรรมซึ่งคำนวณรวมออกมาได้ว่า 6 เรื่องที่คุณพยายามร่วมกันในการลดโลกร้อน ลดคาร์บอนไดออกไซด์ หรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปได้มากแค่ไหนหลังสิ้นสุดงาน เพื่อให้เห็นว่าเราได้ทำอะไรไปบ้างและรบกวนโลกประมาณไหน จนเกิดแรงกระเพื่อมในการปรับตัวสำหรับการจัดกิจกรรมครั้งต่อ ๆ ไป เช่นเดียวกับงาน APEC ที่ Care the Bear สามารถลดก๊าซเรือนกระจกไปได้ 30,295.40 กิโลคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งถือเป็นความภูมิใจของ SET

สร้าง Empathy ลงในใจคน ด้วยตัวเลขที่วัดผลได้ 

 “We are on a highway to climate hell”

คุณเต๋ายกคำพูดของ อันโตนิโอ กูเทอเรซ (Antonio Guterres) เลขาธิการใหญ่ UN ที่บอกถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมตอนนี้ สั้นแต่เห็นภาพว่า Climate Change เป็นเรื่องใหญ่ซึ่งไม่ควรละเลยมันอีกต่อไป แต่พฤติกรรมของมนุษย์ที่จะหันมาใจดีกับโลกมากขึ้น ต้องมาจากความคิดที่เปลี่ยนไปก่อน 

Care the Bear นับเป็นจุดสตาร์ทด้วยหลักปฏิบัติ 6 Cares ที่เรากล่าวไปด้านบน ให้คนรู้สึกว่าเอาไปปรับใช้ได้ง่าย ๆ และส่งต่อไปยังพฤติกรรมของพนักงานในองค์กร ผู้บริหาร เพื่อน ครอบครัว คนรอบตัว เพิ่มจำนวนคนที่เข้าร่วมขึ้นมาเรื่อย ๆ เพราะทุกคนเห็นพ้องตรงกันว่า Care the Bear วัดผลได้ ทำให้ปัจจุบันโครงการนี้มีสมาชิกไม่ใช่แค่บริษัทจดทะเบียน แต่รวมถึงบริษัทจำกัด มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และอื่น ๆ เข้ามาร่วมด้วยมากมาย

“เราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญไปเสียทุกเรื่อง เราจึงต้องมีทั้งกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคมหรือทีมงานจากสถาบันการศึกษาที่เข้ามาเป็นพันธมิตรในการพัฒนาโครงการไปด้วยกัน เพราะสำคัญมาก เวลาที่เราจะไปให้ความรู้ใคร เราต้องรู้จักเรื่องนี้อย่างดีก่อนว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากโลกแปรปรวนมีอะไรบ้าง ซึ่งหลักสำคัญคือเราคิดว่าทุกคนควรมีความเห็นอกเห็นใจต่อธรรมชาติ

“คุณรู้หรือเปล่าว่าน้ำยาเคมีที่อยู่ในไส้ปากกาจำเป็นต้องเอาไปเผา มีส่วนที่ทำให้คุณมีการปนเปื้อนอย่างไรบ้าง สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่มองข้ามกันมาก ๆ และไม่มีวันเข้าใจ จนถึงวันหนึ่งที่คุณต้องหันมาตระหนัก วันที่เราอยู่บนทางแยกที่วิกฤต”

สิ่งหนึ่งที่ SET เรียนรู้คือหลายคนที่เพิกเฉยต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะพวกเขาต่างมองไม่ออกว่าตัวเองจะมีบทบาทอะไรในการช่วยโลกได้ พอพูดว่าวันนี้ลดคาร์บอนไดออกไซด์ไปจำนวนหนึ่ง คนก็อาจจะไม่เข้าใจว่าเยอะหรือน้อย หรือจะช่วยเปลี่ยนแปลงอะไรได้จริง ๆ Care the Bear เลยคำนึงถึงสิ่งนี้ ออกแบบ Climate Care Calculator เพื่อใช้คำนวนปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจก โดยเปรียบเทียบกับจำนวนการปลูกต้นไม้ จุดประสงค์เพื่อให้คนเห็นภาพว่า การเพิ่มขึ้นของต้นไม้จะช่วยให้เราลดโลกร้อนได้จริง

6 แนวทางลดโลกร้อนที่ทำตามได้จริงเมื่อต้องจัดอีเวนต์ โดย SET Social Impact ที่ทำให้การจัดกิจกรรมลดขยะได้มหาศาล

“ณ วันที่เราเปรียบเทียบอะไรง่าย ๆ แบบนี้ โดยไม่ต้องเน้นความเป็นนักวิชาการนำหน้าเสมอ พูดออกมาง่าย ๆ เลยว่า ถ้าคุณมีต้นไม้ใหญ่อยู่ 1,800,000 ต้น คุณจะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปได้เท่าไหร่ คุณจะเห็นพื้นที่สีเขียวเท่าไหร่ มันอาจจะเข้าใจได้หรือดูจับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรมกว่าการพูดถึงคำว่า ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งคนอาจจะงงว่าคืออะไร หรือการที่คนเก็บขยะไปรีไซเคิลแต่ไม่รู้ว่ามันช่วยลดโลกร้อนไปเท่าไหร่แล้ว

“ถ้าเรามีส่วนในการส่งเสียงในเรื่องที่ไม่เป็นรูปธรรมให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น คนจะรู้สึกว่าฉันอยากจะทำ เขาได้รู้ว่าวันหนึ่งคนไทยทิ้งขยะ 10 ชิ้น กรุงเทพฯ มีคน 8 ล้านคน สร้างขยะวันละ 80 ล้านชิ้น ภาพที่เห็นชัดแบบนี้อาจทำให้คนมองมันเป็นเรื่องใหญ่ เร่งด่วน และเกี่ยวข้องกับตัวเอง”

สำหรับการประชุม APEC เมื่อวันที่ 14 – 19 พฤศจิกายน ที่เพิ่งจบไป บทบาทของ Care the Bear คือการสนับสนุนการจัดการพื้นที่ในศูนย์ข่าวสีเขียว 22,000 ตารางเมตร เพื่อให้เกิดการประหยัดพลังงาน และทรัพยากรในการจัดกิจกรรม ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งคุณเต๋าเล่าว่านี่ถือเป็นอีกก้าวของ SET ที่ได้เข้าไปหารือร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเปิดรับแนวคิด Carbon Footprint อีเวนต์ให้ผนวกร่วมกับงานใหญ่ครั้งนี้ และเรายังได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากพันธมิตรตลาดทุน ทั้งกลุ่มบริษัทบางจาก เอสซีจี และโออาร์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าก้าวเล็ก ๆ ของ Care the Bear หากหลายภาคส่วนร่วมกันนำไปปรับใช้ จะสร้างอิมแพคที่ยิ่งใหญ่ได้แน่นอนในอนาคต

สิ่งสำคัญที่สุดที่ Care the Bear และทีมผู้บริหาร SET ในปัจจุบัน อยากฝากทิ้งท้าย คือ ‘ความหวัง’ มันอาจไม่ดีกับทุกคนหากคิดไปว่าเราต่างหมดโอกาสที่จะเห็นโลกน่าอยู่ขึ้น หมดความหวังถึงความเป็นไปได้ในการเห็นโลกสมดุล การได้เห็นว่ายังมีคนรอบข้างลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง อย่างน้อยก็อาจเป็นแรงบันดาลใจ หรือเพิ่มเชื้อเพลิงความตั้งใจของใครสักคนให้ลุกขึ้นมาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงเรื่องเล็ก ๆ เหล่านี้ หรือพยายามช่วยกันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เหมือนที่ Care the Bear ทำมาโดยตลอด 4 ปี

6 แนวทางลดโลกร้อนที่ทำตามได้จริงเมื่อต้องจัดอีเวนต์ โดย SET Social Impact ที่ทำให้การจัดกิจกรรมลดขยะได้มหาศาล

Writer

Avatar

พัชญ์สิตา ไพบูลย์ศิริ

นัก (ชอบ) เขียนบ้ากล้องที่ชอบถ่ายรูปตัวเองเป็นพิเศษ เสพติดเสียงธรรมชาติ กลิ่นฝน และสีเลือดฝาดบนใบหน้า ที่ใช้เวลาเขียนงานไปพร้อมๆ กับติ่งอปป้าอย่างใจเย็น

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ