12 พฤศจิกายน 2019
26 K

“เมื่อไหร่ที่คิดถึงการไปแคมป์ คนส่วนใหญ่จะมีคำว่าลำบากพ่วงตามมาเสมอ” ปุ้ย-ชัญญา เตรียมเพชร และ บ๋ำ-ปุริม ไกรยา สองนักออกแบบผู้คร่ำหวอดในวงการแคมเปอร์ ซึ่งควบตำแหน่งเจ้าของและผู้ก่อตั้งของ CAMP STUDIO ร้านนำเข้าอุปกรณ์ออกแคมป์จากญี่ปุ่นและอเมริกา บอกเรา

ปุ้ย-ชัญญา เตรียมเพชร และ บ๋ำ-ปุริม ไกรยา CAMP STUDIO

The Cloud มีนัดกับพวกเขาหลังช่วงวันหยุดยาวที่เห็นเพื่อนรอบตัวเก็บเต็นท์ไปทำกิจกรรมกลางป่า

ลองนึกถึงอุปกรณ์ออกแคมป์ท่ามกลางธรรมชาติ ถุงนอนแบบบาง เต็นท์ทหารกางลำบาก หรือเก้าอี้สนามตัวหนัก CAMP STUDIO ทำให้เราลืมสิ่งเหล่านี้ และชวนพบกับความสนุกสนานขนานใหญ่ผ่านอุปกรณ์สารพัดนึกที่ไม่เพียงใช้ดีแต่ยังเก๋ใช้ได้

ยิ่งกิจกรรมขณะออกแคมป์ท่ามกลางธรรมชาติ ที่ไม่ใช่การร้องเพลงเต้นรำ หรือการแสดงละครรอบกองไฟสมัยเป็นลูกเสือเนตรนารี ซึ่งอาจเป็นการออกแคมป์ครั้งแรกและครั้งล่าสุดของหลายคน การพูดคุยกับพวกเขาทำให้รู้ว่า กิจกรรมกลางธรรมชาติอาจจะเป็นอะไรง่ายๆ อย่างการพูดคุย ทำอาหาร และชวนกันกินชาบูกลางป่า ก็ย่อมทำได้

CAMP STUDIO ร้านอุปกรณ์เอาต์ดอร์ที่เปลี่ยนการตั้งแคมป์ตากอากาศลำบากให้เป็นเรื่องสนุก

จากความชอบเที่ยวท่องไปตามธรรมชาติในวัยเด็ก สู่การเป็นผู้นำเข้าอุปกรณ์แคมปิ้งดีไซน์สวย ใช้งานดี จากญี่ปุ่นและอเมริกา ต่อยอดเป็นธุรกิจที่ผสานงานออกแบบงานรัก และงานอดิเรกอย่างแคมเปอร์อย่างลงตัว 

ต่อให้ไม่ชอบเดินป่า หรือไม่เคยคิดจะพาตัวเองออกจากห้องแอร์เย็นไปสู่เขาสูงเบื้องหน้า เราก็อยากให้คุณลองฟังแผนการและวิธีคิดเบื้องหลังร้านอุปกรณ์แคมป์และสารพัดกิจกรรมกลางแจ้งอยู่ดี 

อากาศเริ่มดีแล้ว เราก็เลยแอบเช็กวันลาที่เหลือไว้ ขาดก็แต่คนช่วยหุงข้าวกลางป่านั่นแหละ

CAMP STUDIO ร้านอุปกรณ์เอาต์ดอร์ที่เปลี่ยนการตั้งแคมป์ตากอากาศลำบากให้เป็นเรื่องสนุก

การรวมตัวของคนช่างแคมป์

เมื่อเทียบกับนานาประเทศ ดูเหมือนวัฒนธรรมการแคมปิ้งของไทยจะยังไม่แพร่หลายเท่า อาจเพราะอากาศที่ร้อน สิ่งอำนวยความสะดวกตามสถานที่ท่องเที่ยวยังน้อย และเพราะการแคมปิ้งดูจะเป็นเรื่องลำบากเพราะคนไทยยังไม่รู้จักอุปกรณ์แคมปิ้งมากนัก 

ปุริมเล่าให้ฟังว่า การแคมปิ้งในหลายประเทศถือเป็นชีวิตและจิตวิญญาณของพวกเขา อย่างประเทศญี่ปุ่นเจ้าของแบรนด์อุปกรณ์แคมปิ้งดังๆ ที่ทั้งคู่รัก ก็เชื่อว่าการแคมปิ้งไม่ใช่สิ่งจำเป็น แต่เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิต

“สำหรับญี่ปุ่น การออกแคมป์คือวัฒนธรรมที่เติมเต็มส่วนหนึ่งในวงจรชีวิตเจ็ดวันของพวกเขา ถ้ามีเวลาเขาก็เก็บของไปออกแคมป์กันเป็นครอบครัว ในแคมป์มีเเต่เด็กๆ วิ่งกันเต็มเลย เพราะทุกอย่างมันเอื้อให้เกิด เช่น สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ”

ปุริมเล่าว่า ส่วนประกอบหลักๆ 2 อย่างที่จะทำให้วัฒนธรรมแคมปิ้งเกิดขึ้นได้คือ สิ่งอำนวยความสะดวก และอุปกรณ์เพิ่มความสนุก

“แล้ววัฒนธรรมการแคมป์ของไทยล่ะ” เราสงสัย 

ปุ้ย-ชัญญา เตรียมเพชร และ บ๋ำ-ปุริม ไกรยา

“บ้านเรายังไม่มีวัฒนธรรมแบบต่างชาติที่จะรวมตัวแคมเปอร์ทั้งหมดมาอยู่ด้วยกัน แต่เราว่ามันพัฒนาขึ้นมาก คนเริ่มเข้าใจวัฒนธรรมการแคมป์มากขึ้นระดับหนึ่ง อาจเพราะอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกในไทยเริ่มมีมากขึ้น” ชัญญาเล่า

เธอบอกว่า สมัยก่อนมีสถานที่ให้ออกแคมป์น้อย ส่วนใหญ่คนจึงมักออกแคมป์ตามสถานที่ราชการอย่างอุทยานแห่งชาติ แต่ตอนนี้ เพียงขับรถ 2 ชั่วโมง ก็ไปเที่ยวได้แล้ว เพราะมีแคมป์เอกชนเยอะขึ้น แถมแคมป์เหล่านั้นยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้เหล่าแคมเปอร์ได้สนุกและสบาย เพราะสร้างขึ้นเพื่อการตั้งแคมป์โดยเฉพาะ เช่น มีลานโล่งกว้างสำหรับกางเต็นท์ มีไฟให้ใช้ และมีห้องน้ำเพียงพอ 

จากปกติที่คนไทยมักออกแคมป์ช่วงหน้าหนาว ก็เริ่มท้าอุณหภูมิหน้าร้อน แต่ติดเครื่องทำความเย็นเคลื่อนที่ไป และแม้จะร้อนก็ยังซื้อเตาทำความร้อนไว้ก่อกองไฟเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างกัน จนบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นสงสัยว่าเหตุใดเมืองร้อนจึงขายเตาฟืนได้ดี 

CAMP STUDIO ร้านอุปกรณ์เอาต์ดอร์ที่เปลี่ยนการตั้งแคมป์ตากอากาศลำบากให้เป็นเรื่องสนุก
CAMP STUDIO ร้านอุปกรณ์เอาต์ดอร์ที่เปลี่ยนการตั้งแคมป์ตากอากาศลำบากให้เป็นเรื่องสนุก

เดี๋ยวนี้เด็กๆ ก็เป็นคนออกปากอยากไปแคมป์เอง คุณพ่อคุณแม่พร้อมจะคิดกิจกรรม ไม่ว่าจะทำอาหาร ช่วยกันกางเต็นท์สร้างบ้าน ก่อกองไฟ แชร์ประสบการณ์ เป็นการได้เชื่อมสัมพันธ์และสร้างมิตรภาพใหม่ๆ ท่ามกลางธรรมชาติอย่างที่หาได้ยากในการพักผ่อนแบบอื่น เหล่านี้ล้วนมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกและเสริมความสนุกเป็นปัจจัยสำคัญ

เพราะปุริมและชัญญาเข้าใจปัญหาดังกล่าวดี CAMP STUDIO ของทั้งคู่จึงนำเข้าอุปกรณ์แปลกใหม่จากญี่ปุ่นอย่าง Snow Peak เป็นรายแรกของไทย จากนั้นจึงเริ่มมีแบรนด์อื่นๆ ตามความต้องการของลูกค้า เพื่อแนะนำของดีน่าใช้แบบที่ทั้งคู่ถูกใจให้แคมเปอร์ไทยรู้จัก และเพื่อเป็นส่วนสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมแคมปิ้งไทยด้วย

สวัสดีชาวโซเชียลแคมป์

ย้อนกลับไปสมัยปุริมเป็นหนุ่มมัธยมวัยเป้งที่อยากกระโดดขึ้นรถไฟ โบกรถใครต่อใครแล้วไปเที่ยวกลางป่าตามอย่างมิวสิกวิดีโอทำกัน เขาและเพื่อนสมัยนั้นพากันไปตั้งแคมป์ครั้งแรกที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ชนิดที่ยิ่งกว่าเสื่อผืนหมอนใบ เพราะพกเพียงถุงนอนไปคนละถุงเท่านั้น 

“เราชอบที่ได้ไปอยู่กับธรรมชาติ ตอนนั้นรู้สึกสนุกมาก เพราะความเป็นเด็กอยู่ได้ทุกที่ ที่นั่นจึงเหมือนสนามเด็กเล่น”

สายตาปุริมยามเล่าถึงบรรยากาศการออกแคมป์ครั้งแรกดูสนุกสนานเหมือนสายตาเด็กวัยรุ่น เขาเล่าต่อว่า แม้จะชอบเที่ยวท่องตามธรรมชาติ แต่ก็เที่ยวในจุดที่อุทยานแห่งชาติจัดไว้ให้ ไม่ได้บุกป่าฝ่าดงออกไปไหน และยังมีร้านอาหารชาวบ้านบริการ แม้จะมีเพียงถุงนอนคนละถุงก็ไม่ได้ลำบากมากนัก 

CAMP STUDIO ร้านอุปกรณ์เอาต์ดอร์ที่เปลี่ยนการตั้งแคมป์ตากอากาศลำบากให้เป็นเรื่องสนุก

“ตอนที่เราไปกับเพื่อนสองคน เรานอนในถุงนอนแล้วรูดซิปปิดเหลือแค่ตา ตื่นเช้าขึ้นมามีผู้ใหญ่ที่เขามีเตนท์เดินเอาขนมปังมาให้ เพราะคิดว่าเราไม่มีเงิน” ปุริมเล่าติดตลก ก่อนส่งไมค์ให้เพื่อนมหาลัยและเพื่อนร่วมธุรกิจอย่างชัญญาเล่าถึงการออกแคมป์ครั้งแรกบ้าง 

“เราสองคนรู้จักกันสมัยเรียนคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มาด้วยกัน ก่อนที่เราจะย้ายไปเรียนสถาปัตย์ เขาก็ชวนเราไปด้วย แม้ตอนที่เราไปแมลงจะเยอะมากแต่ก็สนุกมากเช่นกัน เพราะได้ไปอยู่กับธรรมชาติและได้ใช้เวลากับเพื่อน” ชัญญาย้อนเวลาพาเรากลับไปสมัยมหาวิทยาลัยด้วยน้ำเสียงสนุกสนาน

ความทรงจำในการออกแคมป์ครั้งแรกของทั้งคู่ต่างเป็นความทรงจำที่ดีมาก จนทำให้พวกเขาเริ่มเปลี่ยนสถานะจากแคมเปอร์มือสมัครเล่นมาเป็นแคมเปอร์มืออาชีพ จากถุงนอนถุงเดียวตอนนั้น ก็พัฒนามานอนเปล และเปลี่ยนมานอนเต็นท์ จนมีอุปกรณ์สารพัดในวันนี้

เจอแบรนด์ที่ทำให้การออกแคมป์เท่ากับความสบายและความสนุกที่ได้ใช้อุปกรณ์

แม้จะอยู่ในวงการนี้หลายสิบปี แต่ชัญญาและปุริมก็ไม่ใคร่ถูกใจอุปกรณ์จากแบรนด์ใดเป็นพิเศษ จนกระทั่งทั้งคู่ไปออกแคมป์ที่ประเทศญี่ปุ่น และได้ลองใช้ไม้เทรกกิ้งไทเทเนียมจากแบรนด์สัญชาติญี่ปุ่น Snow Peak ที่ขึ้นชื่อเรื่องการออกแบบและการใช้งาน ทั้งคู่ก็หลงรักแบรนด์นี้ทันที

“ตอนนั้นอุปกรณ์แคมปิ้งในไทยมักเป็นอุปกรณ์เพื่อใช้งานอย่างเดียว ไม่ค่อยสวยเท่าไร แต่ด้วยความที่เราเป็นดีไซเนอร์ พอเจอ Snow Peak ที่มีดีไซน์สวยงาม ไอเดียเจ๋ง และเหมาะกับการใช้งานจริงๆ จากที่ไม่เคยคลิกกับแบรนด์ไหนเลยก็ชอบแบรนด์นี้มาก เพราะทำให้คาแรกเตอร์การเป็นแคมเปอร์ของเราชัดเจนขึ้น” ปุริมเล่าให้ฟังถึงรักแรกใช้ครั้งนั้น 

CAMP STUDIO ร้านอุปกรณ์เอาต์ดอร์ที่เปลี่ยนการตั้งแคมป์ตากอากาศลำบากให้เป็นเรื่องสนุก
ปุ้ย-ชัญญา เตรียมเพชร และ บ๋ำ-ปุริม ไกรยา CAMP STUDIO

ส่วนชัญญาก็บอกกับเราด้วยสีหน้าสนุกสนานอย่างอุปกรณ์ที่เธอรักว่า “Snow Peak ทำให้คำว่า ‘แคมป์’ กับคำว่า ‘ลำบาก’ ตัดขาดจากกัน พอใช้แบรนด์นี้ กลายเป็นว่าการออกแคมป์คือความสบายและความสนุกที่จะได้ออกไปใช้อุปกรณ์”

ทั้งคู่ยกตัวอย่างความเจ๋งให้เราตื่นเต้นพอเป็นพิธีด้วยโคมไฟจิ๋วลูกกลมที่ทางแบรนด์ออกแบบให้มีสีใกล้แสงเทียน ทั้งไฟยังเคลื่อนไหวและสั่นไหวเหมือนเปลวเทียนตามเสียงพูดคุยของคน หากเมื่อใดที่เราหยุดคุยหรือรูดซิปเต็นท์ เจ้าเทียนเล่มน้อยก็จะดับลง ทั้งยังสามารถวางบนพื้นก็ได้ หรือจะห้อยเชือกเวลาไปอาบน้ำก็ดี

ไม่เพียงดีไซน์ที่สวยและใช้งานได้จริง แต่เพราะแนวคิดเบื้องหลังการออกแบบของแบรนด์และทั้งคู่ตรงกัน Snow Peak จึงครองใจสองดีไซเนอร์ได้ไม่ยาก 

ปุ้ย-ชัญญา เตรียมเพชร และ บ๋ำ-ปุริม ไกรยา

“เหมือนเราคุยภาษาเดียวกันกับแบรนด์ แนวคิดในการออกแบบของเขาตรงกับที่เราร่ำเรียนมาและใช้ในการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ของเราทุกอย่าง เช่นเขาออกแบบให้ต้องตั้งโต๊ะสูง 83 เซนติเมตร สำหรับยืนทำครัว แบบที่พวกเรารู้ เราจึงอธิบายดีไซน์และการใช้งานให้ลูกค้าได้”

ปุริมบอกอีกเรื่องสำคัญที่ทำให้ทั้งคู่ติดใจแบรนด์ Snow Peak และเสริมอีกว่า นอกจากลูกค้าจะทราบข้อมูลเชิงลึกของอุปกรณ์จากปากทั้งคู่แล้ว ก็ยังได้ฟังเบื้องหลังการผลิตจากประสบการณ์การเป็นดีไซเนอร์ของพวกเขาด้วย 

CAMP STUDIO ร้านอุปกรณ์เอาต์ดอร์ที่เปลี่ยนการตั้งแคมป์ตากอากาศลำบากให้เป็นเรื่องสนุก

ตั้ง CAMP (STUDIO) 

หลังจากสะสมอุปกรณ์หลากชนิดคล้ายเป็นกระเป๋าโดราเอมอนฉบับแคมเปอร์มาสักพัก ทั้งคู่ก็เริ่มอยากส่งต่ออุปกรณ์ที่ไม่เคยใช้และไม่ใช้แล้วสู่มือแคมเปอร์คนอื่น ปุริมและชัญญาจึงเปิดกลุ่มขายอุปกรณ์ออกแคมป์ในเฟซบุ๊กและได้รับผลตอบรับดีเกินคาด ประกอบกับเห็นว่าในไทยยังไม่มีอุปกรณ์ที่ดีไซน์สวยแต่ใช้ดี 

พวกเขาเชื่อว่าจะต้องมีแคมเปอร์ที่ตามหาอุปกรณ์แบบ Snow Peak เหมือนๆ กันเป็นแน่ จึงเริ่มทำโปรไฟล์ส่งไปให้ทางแบรนด์พิจารณา แจ้งความประสงค์ต้องการนำเข้าอุปกรณ์สุดเจ๋งเหล่านี้มาเปิดตลาดในไทย

แม้จะต้องไปเจรจาถึงประเทศแม่อย่างญี่ปุ่น ทั้งคู่ก็พร้อมจองตั๋วเครื่องบินไปพูดคุย ก่อนการตกลงสัญญา บริษัทแม่พาไปชมเทศกาลการออกแคมป์ของญี่ปุ่นที่คึกคักและเต็มไปด้วยอุปกรณ์เสริมความสนุกมากมาย ยิ่งเพิ่มความรู้สึกของทั้งคู่ที่อยากเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างวัฒนธรรมแคมปิ้งไทย 

CAMP STUDIO ร้านอุปกรณ์เอาต์ดอร์ที่เปลี่ยนการตั้งแคมป์ตากอากาศลำบากให้เป็นเรื่องสนุก

แม้ชัญญาจะต้องขายคอนโดฯ และปุริมจะต้องขายรถที่ซื้อไว้เป็นทุนชีวิตหลังจากทำงานดีไซเนอร์มานาน พวกเขาก็พร้อมจะเริ่มชีวิตบทใหม่

จากกลุ่มเฟซบุ๊กเล็กๆ ที่ขายเพียงอุปกรณ์มือสอง ก็กลายเป็นกลุ่มเปิดโลกอุปกรณ์แคมปิ้งแบรนด์ Snow Peak ให้คนไทยได้รู้จัก ช่วงแรกเป็นการนำเข้าไม้เทร็กกิ้งและเตาฟืนที่ทั้งคู่ได้ทดลองใช้ จากนั้นจึงเริ่มขยายเป็นอุปกรณ์อื่นๆ

จากที่เคยแต่คิดงานออกแบบ ทั้งคู่ต้องเริ่มการเป็นแม่ค้าพ่อค้าเองทุกอย่าง ตั้งแต่ติดต่อกับแบรนด์ต่างๆ ว่าต้องการนำเข้าสินค้าแบบใดบ้าง

CAMP STUDIO ร้านอุปกรณ์เอาต์ดอร์ที่เปลี่ยนการตั้งแคมป์ตากอากาศลำบากให้เป็นเรื่องสนุก

จากนั้นจึงขอตัวอย่างสินค้ามาทดลองใช้ก่อนทุกครั้งเพื่อให้มั่นใจว่าจะให้รายละเอียดแก่ลูกค้าได้ ทั้งยังผสานงานเดิมอย่างดีไซเนอร์และกราฟิกดีไซเนอร์มาออกแบบเว็บไซต์เองทุกขั้นตอน 

เมื่อ CAMP STUDIO เติบโตขึ้น พวกเขาก็เริ่มติดต่อกระจายสินค้ากับลูกค้ารายย่อย  ซึ่งส่วนมากเป็นคนที่รู้จักจากการไปแคมป์ ปุริมเล่าว่า แม้กระทั่งสร้างเพจ คิดคอนเทนต์และตอบลูกค้าบนเฟซบุ๊ก พวกเขาก็ทำเองทั้งสิ้น

CAMP STUDIO ร้านอุปกรณ์เอาต์ดอร์ที่เปลี่ยนการตั้งแคมป์ตากอากาศลำบากให้เป็นเรื่องสนุก

“จริงๆ ไม่ควรทำแบบนี้ แต่ทำเพราะชอบ เรื่องออกแบบเว็บและถ่ายรูปนั้น เราเรียนดีไซน์มา เราชอบแบบของเรา เมื่อก่อนก็ถ่ายรูปลงเว็บไซต์เอง หลังๆ เราใช้ภาพที่ทางบริษัทส่งมาซึ่งถูกต้องที่ต้องใช้และถูกต้องที่ต้องสื่อภาพในแบบที่เขาตั้งใจ เราต้องเก็บตัวตนของแบรนด์” ชัญญาเล่าถึง To-do list ที่ต้องทำทั้งหมดกับเราและแม้จะยึดรูปแบบของทั้งคู่เป็นหลักแต่ก็ยังคงภาพลักษณ์ของแบรนด์ไว้ 

อุปกรณ์ออกแคมป์ โดยคนช่างแคมป์ เพื่อคนช่างแคมป์

แม้อุปกรณ์ส่วนใหญ่จะเป็นอุปกรณ์จากแบรนด์ Snow Peak ที่เป็นแบรนด์ไฮเอนด์ราคาสูง แต่เพราะอยากขยายวัฒนธรรมการออกแคมป์ให้เข้าถึงทุกคน พวกเขาจึงสรรหาแบรนด์อื่นที่ดีไซน์สวย รวยฟังก์ชัน และไม่ทำลายโลกแต่ราคาเข้าถึงได้มาเสนอด้วย เช่น แบรนด์ DoD ที่ทั้งคู่บอกว่าสวยและดีเหมือน Snow Peak แต่ราคาน่าเข้าถึงกว่ามาก 

เมื่อพูดถึงหลักในการเลือกอุปกรณ์ ทั้งคู่บอกกับเราว่าอุปกรณ์ที่นำเข้ามาล้วนเป็นสิ่งที่พวกเขาใช้แล้วชอบ นั่นหมายถึงก่อนที่จะวางขายในไทยจริงๆ พวกเขาจะต้องใช้จนแน่ใจว่า นี่แหละ คือสิ่งที่อยากส่งต่อ ซึ่งสิ่งที่ใช้แล้วชอบของทั้งคู่ต้องประกอบด้วยหลักสำคัญ 3 หลัก

หลักการข้อแรก ดีไซน์ต้องสวย

CAMP STUDIO ร้านอุปกรณ์เอาต์ดอร์ที่เปลี่ยนการตั้งแคมป์ตากอากาศลำบากให้เป็นเรื่องสนุก

ถ้ากวาดสายตารอบร้าน เราจะเห็นว่าอุปกรณ์ในร้านดูเหมือนของแต่งบ้านมากกว่า เพราะความแตกต่างทางด้านดีไซน์ที่ไม่ค่อยมีแบรนด์ไหนในไทยนำเสนอ ทั้งคู่จึงเข้าถึงทั้งลูกค้านักแคมเปอร์และนักแต่งบ้าน

ในฐานะที่เป็นดีไซเนอร์ ปุริมยกตัวอย่างเก้าอี้ Kermit Chair ให้เรายลโฉม เก้าอี้ตัวนี้เกิดขึ้นจากคุณลุง Kermit ผู้รักการขี่มอเตอร์ไซค์เที่ยวทั่วอเมริกา อยากได้เก้าอี้พับนั่งสบายติดตัวไป เผื่ออยากนั่งชมพระอาทิตย์ตกที่ใดก็จอดรถและกางนั่ง เก้าอี้พับได้ตัวนี้จึงใช้ไม้น้อย ทำให้เบาแต่รับน้ำหนักได้มากถึง 150 กิโลกรัม ทั้งยังถอดประกอบได้ ง่ายต่อการขนย้ายด้วยมอเตอร์ไซค์ 

CAMP STUDIO ร้านอุปกรณ์เอาต์ดอร์ที่เปลี่ยนการตั้งแคมป์ตากอากาศลำบากให้เป็นเรื่องสนุก

“เรายกให้เป็นสุดยอดดีไซน์ ที่คนออกแบบเฟอร์นิเจอร์มาหลายปีอย่างเราเจอตัวนี้เข้าไปก็รู้สึกว่าตัวเองจะทำดีไซน์ต่อดีไหม เก้าอี้ตัวนี้ออกแบบไม่ง่าย ดูบางแต่สัดส่วนลงตัว กระบวนการผลิตก็ไม่ธรรมดา เป็นไม้ที่ดัดรูปทรงด้วยความร้อนทำให้แข็งแรงและไม่เปลืองไม้จากการตัดให้ได้ทรง” ปุริมปรับเปลี่ยนรูปทรงเก้าอี้และเล่ากระบวนการผลิตให้เราฟังอย่างเข้าใจง่ายสมกับเป็นดีไซเนอร์มือดี

หลักการข้อที่สอง ร่ำรวยฟังก์ชัน 

ชัญญายกตัวอย่างอุปกรณ์หลายอย่างให้เราชม แต่ดูเหมือนสิ่งที่เธอจะติดใจมากที่สุดคือ Sierra Cup ถ้วยรูปทรงกึ่งจานกึ่งแก้วแต่ใช้งานได้สารพัดทั้งเอาไว้ชงกาแฟ ดื่มน้ำ หรือแม้แต่ถือไปขอชาบูจากเต็นท์ข้างๆ โดยไม่ต้องใช้กระดาษและพลาสติก

ชัญญาเสริมว่า เมื่อมีถ้วยทานชาบูแล้วจะขาดช้อนส้อมก็กระไร เธอจึงหยิบ Spork ช้อนผสานส้อม ทีนี้ ไม่ว่าจะกินเส้นหรือซดน้ำซุปก็ครบจบในคันเดียว เหล่านี้เป็นสิ่งที่ทั้งคู่ค้นพบและนำมาเล่าต่อให้ลูกค้าได้ทราบถึงสรรพคุณ

CAMP STUDIO ร้านอุปกรณ์เอาต์ดอร์ที่เปลี่ยนการตั้งแคมป์ตากอากาศลำบากให้เป็นเรื่องสนุก

จากถ้วยและช้อนสารพัดนึก เธอยังหยิบกล่องไม้บรรจุมีดด้านในที่เมื่อกลับด้านและกางออกจะได้เขียงไม้คู่ใจที่ไม่เพียงเก็บมีดได้แต่ยังมีแม่เหล็กป้องกันมีดหล่น เธอนำเสนอสารพัดอุปกรณ์อย่างละเอียดลึกซึ้งแต่สนุกจนเราอยากลองซื้อไปใช้บ้าง

หลักที่สาม ไม่ทำลายโลก 

เพราะการออกแคมป์ครั้งหนึ่งต้องใช้อุปกรณ์จำนวนมาก หากไม่คัดกรองให้ดี เหล่าแคมเปอร์ก็อาจกลายเป็นผู้สร้างขยะทันที ปุริมยกตัวอย่างหลอดซิลิโคนที่คลี่ออกมาล้างทำความสะอาดได้หมดจดให้เราดู พร้อมบอกว่า พวกเขากำลังทดลองใช้เพื่อดูว่าจะใช้ได้นานและใช้ได้จริงแค่ไหน

ทั้งสามหลักล้วนผ่านการคิดมาอย่างดีว่าในฐานะแคมเปอร์คนหนึ่งจะต้องการอะไรบ้าง คล้ายว่าให้ความต้องการของทั้งคู่นำพาการเลือกสินค้า เพราะความฉลาดเลือกและการใช้หัวใจแคมเปอร์ในการคัดกรองผลิตภัณฑ์ หลายครั้งพวกเขาจึงเป็นผู้นำอุปกรณ์ฮิตๆ ในวงการ แต่บางครั้งอุปกรณ์ที่นำเข้าก็เลือกจากความต้องการของลูกค้าโดยตรง

ปุ้ย-ชัญญา เตรียมเพชร และ บ๋ำ-ปุริม ไกรยา

จากการยกตัวอย่างสารพัดอุปกรณ์และความตั้งใจในการเลือกสินค้า ทำให้เราเชื่อได้จริงๆ ว่าพวกเขาไม่ได้ต้องการให้คนจดจำว่า CAMP STUDIO คือร้านของคนอยากขายของ แต่เป็นแหล่งรวมอุปกรณ์แคมปิ้งขั้นพื้นฐานและอุปกรณ์เสริมเพิ่มความสนุกที่แคมเปอร์คนหนึ่งอยากส่งต่อและเปิดโลกการแคมปิ้งคนไทยให้กว้างและสนุกขึ้น

การไปเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ โดยไม่ทำลายธรรมชาติ

CAMP STUDIO แตกต่างจากที่อื่นอย่างไร ในเมื่อใครๆ ก็นำเข้าและขายอุปกรณ์เหล่านี้ได้

“นอกจากหลักในการเลือกอุปกรณ์ เรายังนำเสนอเรื่องราวและแนวคิดต่างๆ ให้ลูกค้า พยายามสื่อสารว่าการไปแคมป์ไม่ได้ไปลำบาก แต่คือการไปอยู่กับอีกโลกที่เหมือนอยู่บ้านเเค่เราย้ายไปอยู่กับธรรมชาติ” ปุริมเฉลยแนวคิดสำคัญในการรบริหารจัดการและสื่อสารกับลูกค้า 

เพราะพวกเขาเชื่อว่าการออกแคมป์ คือการไปเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติไม่ใช่การทำลายธรรมชาติ การไม่สร้างขยะนั้นหลีกเลี่ยงยากแต่เราเลือกที่จะกำจัดขยะอย่างถูกวิธีได้ นอกจากการนำเสนอเนื้อหาไลฟ์สไตล์และการใช้งานอุปกรณ์ การกำจัดขยะก็เป็นอีกสิ่งสำคัญที่พวกเขาพยายามทำ 

CAMP STUDIO ร้านอุปกรณ์เอาต์ดอร์ที่เปลี่ยนการตั้งแคมป์ตากอากาศลำบากให้เป็นเรื่องสนุก

หากเราเปิดเฟซบุ๊กแฟนเพจของ CAMP STUDIO จะพบว่าส่วนหนึ่งเป็นโพสต์รายละเอียดสินค้า บางส่วนสอนวิธีใช้ และอีกส่วนคือการสอนวิธีกำจัดเมื่อใช้แล้ว 

“อย่างกระป๋องแก๊สที่เป็นวัตถุอันตราย คนไปเที่ยวและเจ้าหน้าที่ก็ไม่ทราบวิธีกำจัด ซึ่งอาจทำให้ระเบิดได้ เพราะแก๊สไม่ได้หมดจริงๆ แต่เรามีอุปกรณ์เจาะกระป๋องแก๊สให้ระบายแรงดันทำให้กระป๋องอันตรายกลายเป็นเศษเหล็กที่ไม่ว่าจะโดนความร้อนหรือแรงกดทับก็ไม่ระเบิด” ชัญญาเล่าถึงภารกิจสำคัญของพวกเขา ที่ว่า CAMP STUDIO ไม่ได้เป็นเพียงร้านขายของแต่ยังให้ความรู้และคอยช่วยเหลือลูกค้า เพื่อผลักดันให้วัฒนธรรมการออกแคมป์ของไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้น

“ถ้า CAMP STUDIO เป็นคน เขาจะเป็นคนแบบไหน” เราถาม 

“เป็นคนสนุกแบบเรา เป็นคนเมืองที่เสพติดธรรมชาติ รักการเที่ยวธรรมชาติแต่ต้องสะดวกสบายและไม่รบกวนธรรมชาติ” ปุริมสรุปภาพลักษณ์ของ CAMP STUDIO ให้เราฟังด้วยรอยยิ้ม

เพื่อนนักออกแคมป์คนหนึ่ง

ตั้งแต่วันที่นำเข้า Snow Peak จนวันนี้ บทเรียนสำคัญในการทำธุรกิจนี้คืออะไร เราถาม

“เราไม่ได้มองว่าเป็นปัญหามากขนาดนั้น สมมติคนในวงการหรือลูกค้าไม่เข้าใจสิ่งที่เราจะสื่อ เราก็ค่อยๆ อธิบายให้เขาเข้าใจ ไม่วู่วาม” ปุริมตอบ

“การขายคือผลพลอยได้ สิ่งที่เราต้องการคือการสร้างวัฒนธรรมการแคมปิ้ง ถ้าเราเน้นงานขาย CAMP STUDIO คงไม่ได้ขายของแบบนี้ เราชอบงานที่มีดีไซน์และเรื่องราว แม้กลุ่มที่จะเข้าถึงสิ่งที่เราชอบจะไม่ใหญ่ แต่เราก็ภูมิใจที่ได้นำเสนอ คนที่ซื้อก็ซื้อด้วยความภูมิใจ แม้ของเหล่านี้ราคาสูง แต่เพราะใช้งานได้ดีสมราคาจริงๆ เราเชื่อว่าของที่เราขายไม่ใช่ของแพง ของแพงคือของราคาสูงที่ใช้ไม่ดี” ชัญญาเล่า

ปุ้ย-ชัญญา เตรียมเพชร และ บ๋ำ-ปุริม ไกรยา

นอกจาก CAMP STUDIO จะเป็นช่องทางสำหรับการเชื่อมคนและสร้างมิตรภาพใหม่ๆ ก็ยังทำให้แนวคิดการออกแบบของทั้งคู่เปลี่ยนไป จากเดิมที่พวกเขาวิ่งตามกระแสโลก การคลุกคลีในวงการอุปกรณ์แคมปิ้งทำให้ทั้งคู่มีความฝันอยากออกแบบเฟอร์นิเจอร์ให้ใช้ได้หลากหลายอย่างอุปกรณ์แคมปิ้งบ้าง

“เดิมเราออกแบบและผลิตเฟอร์นิเจอร์ในไทยแล้วส่งออกต่างประเทศ พอมานำเข้าอย่างนี้ ก็อยากกลับไปจุดที่เราภูมิใจในงานที่ออกแบบเอง เราอยากนำเสนออุปกรณ์แคมปิ้งดีไซน์คนไทยส่งไปให้ประเทศอื่นๆ รู้จัก” ปุริมเล่าถึงแผนการในอนาคตที่ผสมผสานความเป็นดีไซเนอร์และแคมเปอร์ได้อย่างลงตัว 

ตลอดการสนทนาปุริมและชัญญาดูสนุกที่จะเล่าและนำเสนออุปกรณ์แคมปิ้งแบบต่างๆ ให้เรารู้จัก คล้ายว่าเราเป็นเพื่อนนักออกแคมป์คนหนึ่ง สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นถึงความตั้งใจสำคัญตั้งแต่เริ่มทำ CAMP STUDIO ของสองดีไซเนอร์ว่า พวกเขาต้องการให้ที่นี่เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างประสบการณ์ดีๆ ให้แคมเปอร์และต้องการขยายวงการออกเเคมป์ของไทยให้กว้างขึ้น 

ฟังปุริมและชัญญาเล่าก็ชักอยากเก็บของแล้วชวนเพื่อนๆ ไปออกแคมป์บ้างแล้ว


Lesson Learnt

“ถ้ารอจะทำธุรกิจเมื่อพร้อม สุดท้ายก็อาจจะไม่ได้ทำ การลงมือทำจะทำให้เห็นข้อผิดพลาดและพัฒนาต่อได้เร็ว” ชัญญาบอกเราทันทีที่ถามถึงบทเรียนสำคัญในการทำ CAMP STUDIO

“เราไม่ได้มองว่ามันคือธุรกิจขนาดนั้น แต่คือสิ่งที่เรารัก ตอนเริ่มทำ เราไม่ได้มีเงินลงทุนมากแต่ตัดสินใจทำเพราะรักการแคมปิ้งจริงๆ ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าจะเดินหน้าหรือถอยหลัง ปัจจุบันไม่ได้บอกว่าเป็นกำไรแต่คือการเติบโตและเรียนรู้ไปเรื่อยๆ” ปุริมเสริมจากประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้รับในการทำธุรกิจครั้งนี้

Facebook : CAMP STUDIO Website : CAMP STUDIO

Writer

Avatar

ฉัตรชนก ชัยวงค์

เด็กเอกไทยที่สนใจประวัติศาสตร์ งานคราฟต์ และเรื่องท้องถิ่น เวลาว่างชอบกิน เล่นแมว และชิมโกโก้

Photographer

Avatar

The Cloud

นิตยสารออนไลน์ที่เล่า 3 เรื่องหลักอย่าง Local, Creative Culture และ Better Living ส่งเนื้อหารายวัน แต่เสิร์ฟความประณีตแบบนิตยสารรายเดือน