ช่วงเดือนที่ผ่านมา ใครไปเดินตลาดต้นไม้ ไม่ว่าจะตลาดไหนๆ (ไปจนถึงปากคลองตลาด!) คงได้เห็นปรากฏการณ์ที่อยู่ดีๆ ก็มีบอนสีวางขายเต็มไปหมด จนหลายคนสงสัยว่า มาได้ยังไง ไปจนถึงเริ่มมีคำถามว่า มันกำลังจะกลายเป็นเทรนด์หรือ บอนเหล่านี้มาจากไหน เทรนด์นี้จะอยู่ไปอีกนานไหม และถ้าเราอยากโดดเข้ามาเล่นบอนด้วย เราควรซื้อต้นไหนดี
คอลัมน์ตอนนี้มีคำตอบ
ก่อนอื่น เราเคยเขียนถึงบอนยุคใหม่สกุล Alocasia กับ Colocasia มาตอนหนึ่งแล้ว 12 ต้นไม้ตระกูลบอนยุคใหม่ที่เลี้ยงง่าย มีลวดลายเฉพาะตัว ตั้งแต่ต้นจิ๋วยันสูงท่วมหัว ย้อนกลับไปอ่านกันได้
ตอนนี้บอนกลุ่ม Alocasia และ Colocasia ยังคงฮิตอย่างต่อเนื่อง เรียกได้ว่าชาวบ้านขุดบอนป่ามาขาย สร้างรายได้กันมากมายทั้งข้างทางไปจนถึงออนไลน์ เช่น บอนสตูลดำ
แต่บอนที่เราจะคุยกันในตอนนี้เป็นบอนสี หรือสกุล Caladium ซึ่งเล่นกันในเมืองไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตอนที่ ร.5 เสด็จประพาสยุโรป ก็นำ ‘บอนฝรั่ง’ กลุ่มที่พื้นใบเป็นสีแดง เข้ามาในเมืองไทยเมื่อ พ.ศ. 2440 เช่น แดงสรรพศาสตร์ แดงภาณุรังษี และไก่ราชาวดี
น่าสนใจว่า อะไรทำให้ไม้ยุคคุณปู่กลับมาฮิตอีกครั้ง

บอนสีคือต้นไม้กลุ่มไหน
บอนสีเป็นพืชสกุล Caladium เป็นไม้ล้มลุกที่มีลำต้นใต้ดินแบบหัวมันฝรั่ง มีใบหลายรูปทรง ทั้งรูปหัวใจ รูปกลม รูปแถบ มีสีสันที่หลากหลายกว่าไม้ใบอื่นๆ มีทั้งแดง เหลือง ชมพู ขาว ม่วง น้ำตาล เขียว ลวดลายบนใบก็มีทั้งแบบ ‘เม็ด’ หรือลายจุด และแบบ ‘ป้าย’ หรือแถบสี


ถ้าแบ่งประเภทตามสี ก็จะแบ่งได้เป็น บอนไม่กัดสี คือบอนที่มีสีคงที่ตลอด บอนกัดสี ตอนเล็กๆ ใบเป็นสีหนึ่ง พอโตเต็มที่ใบจะกลายเป็นอีกสี (ตามร้านจะบอกว่า กัดสีแล้ว แปลว่า เป็นสีจริงแล้ว) บอนป้าย คือมีแถบสีบนใบ และบอนด่าง คือมีลักษณะด่างแบบไม้ด่างซ้อนไปบนลวดลายของบอน
จุดเด่นของบอนสีคือขยายพันธุ์ง่าย ทั้งการแยกหน่อ ผ่าหัว และผสมเกสร ซึ่งการผสมเกสรข้ามชนิดนี่เองที่ทำให้เกิดบอนสีลวดลายใหม่ๆ เพิ่มขึ้นตลอดเวลา

ทำไมช่วงนี้ถึงฮิต
เป็นธรรมดาของต้นไม้ที่มียุคสมัยของมัน วนไป เดี๋ยวก็วนมา แต่กระแสของบอนสีถือว่าต่อเนื่องมาจากกระแสไม้ใบ พอมีคนเล่นไม้ใบมากขึ้น ศึกษาหาข้อมูลมากขึ้น มีร้านให้เลือกซื้อมากขึ้น ก็เริ่มมีทางเลือกมากกว่าไม้ใบฮิตๆ อย่างมอนสเตอร่าหรือฟิโลเดนดรอน บวกกับกระแสไม้ด่างที่มาแรงเหลือเกิน ทำให้บอนเสือพรานกลายเป็นกระแสขึ้นมาก่อน อีกกระแสมาจากบอนอิเหนาที่มีสีขาวเกือบทั้งใบ ซึ่งฝรั่งปลูกกันเยอะ คนก็เลยเริ่มซื้อหาบอนสีมาปลูก


ส่วนปัจจัยที่ทำให้บอนสีครองใจนักปลูกด้วยความรวดเร็วนั้น คือสีสันที่หลากหลายมาก มีสีหวานๆ ให้สาวๆ เลือกมากมาย และปัจจัยสำคัญก็มี ช่วงนี้มีการนำเข้าบอนสีจำนวนมากจากประเทศจีน ราคาขายต่อต้นจึงอยู่แค่ 150 – 500 บาท เป็นราคาเบาๆ ที่ชวนให้หยิบติดมือกลับบ้านไปด้วยสักต้น

บอนสีพวกนี้มาจากไหน
บอนที่เราเห็นในตลาดตอนนี้มีอยู่ 3 กลุ่มหลักๆ
บอนไทย อยู่ในเมืองไทยมาเนิ่นนาน มีชื่อไทย เป็นบอนที่มีการประกวด มีคนสะสม บางต้นเมื่อก่อนปลูกกันแทบทุกบ้าน บางต้นตอนนี้ราคาหลักหมื่น หลักแสน

บอนจีน เป็นกลุ่มที่เห็นเยอะที่สุด พอเริ่มเปิดประเทศก็มีการไหลเข้ามาของต้นไม้จำนวนมากจากต่างประเทศ ไม้ใบหลายชนิดเลยมีราคาไม่แรงเหมือนก่อน บอนจากประเทศจีนเป็นสายพันธุ์สากลที่ปลูกกันทั้งโลก เพียงแต่จีนขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ จึงทำจำนวนได้มากและกดราคาลงมาได้ต่ำ พ่อค้าต้นไม้ชาวไทยเรานำเข้าบอนสีจากจีนเข้ามาเจ้าละตู้คอนเทนเนอร์ บอนสีในตลาดก็เลยมีจำนวนเพิ่มขึ้นหลายหมื่นต้น พันธุ์ที่เห็นกันมากๆ ก็อย่างเช่น Strawberry Star หรือ New Wave

บอนฮอลแลนด์ เป็นบอนที่เลี้ยงและส่งมาจากเนเธอร์แลนด์ ประเทศผู้ส่งออกไม้ใบจำนวนมากเข้ามายังประเทศไทย บอนฮอลแลนด์มักจะเป็นบอนพันธุ์หายาก แพ็กใส่กล่องแล้วขึ้นเครื่องบินมา จึงมีจำนวนไม่มาก ด้วยความพิเศษเหล่านี้ก็เลยทำให้มีราคาที่ค่อนข้างสูง ต้นที่คนพูดถึงกันมากเป็นพิเศษในช่วงนี้ ก็คือบอนที่ตอบโจทย์คนรักไม้ด่างสุดๆ อย่าง Frog in a Blender หรือกบปั่น

ทำความรู้จักบอนไทยกันอีกหน่อย
วงการบอนสีไทยแข็งแรงมาก มีการพัฒนาสายพันธุ์และประกวดกันมาร้อยกว่าปีตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ สิ่งที่แตกต่างจากไม้ชนิดอื่นๆ ก็คือ มีสมาคมบอนสีแห่งประเทศไทย ใครก็ตามที่ผสมพันธุ์ใหม่ได้ ซึ่งตอนแรกยังไม่มีชื่อ จะเรียกรวมๆ ว่า ‘ลูกไม้’ ฟาร์มหรือร้าน ไม่มีสิทธิ์ตั้งชื่อเองตามใจชอบเหมือนต้นไม้ชนิดอื่น ต้องนำมาจดทะเบียนและตั้งชื่ออย่างเป็นทางการกับสมาคมเท่านั้น

ชื่อบอนไทยนั้นก็แสนสนุก เพราะตั้งชื่อเป็นกลุ่ม หรือเรียกกันว่า ‘ตับ’ อย่างตับรามเกียรติ์ ก็จะมีชื่ออย่าง สหัสเดชะ โคบุตร หนุมานเข้าเฝ้า ทศกัณฐ์ แล้วก็มีตับสามก๊ก ตับจังหวัด ตับราศี ตับวัน ตับดาว ตับเพลงบรรเลง ตับนักร้องลูกทุ่ง ตับวีรชน ตับหมอ ตับเทพ และอีกมากมายหลายตับ
บอนไทยเป็นไม้สะสมซึ่งอยู่ในตลาดมานาน จึงมีพันธุ์ที่หายาก หาง่าย และราคาสูงต่ำไม่เท่ากันอยู่แล้ว และด้วยความที่ทำจำนวนยาก (ขยายพันธุ์ในปริมาณมากไม่ได้) และต้องใช้เวลา ต้นที่มีราคาแพง จึงราคาตกไม่ง่าย ราคาของบอนสีที่กำลังฮิตในตอนนี้อย่างชายชลจึงขึ้นเอาๆ

วิธีดูแลบอนสี
บอนสีเป็นต้นไม้ที่เลี้ยงไม่ยาก ชอบแดด แต่ถ้าได้รับแดดตรงๆ ใบอาจจะไหม้ แต่ถ้าโดนแดดน้อยไปใบจะซีด ไม่ชอบลมแรงเพราะจะทำให้ใบฉีก ชอบความชื้นในอากาศ ยิ่งชื้นยิ่งโตเร็ว ในช่วงหน้าหนาวและฤดูร้อนที่ความชื้นในอากาศต่ำบอนสีจะ ‘ยุบตัว’ คือทิ้งใบเหลือแต่หัว หรือไม่ก็ไม่แตกใบใหม่ ทรงๆ อยู่แบบเดิม วิธีแก้อย่างง่ายคือ เลี้ยงโดยการหล่อน้ำไว้ที่จานรองเพื่อเพิ่มความชื้น วิธีแก้ที่นักเล่นบอนสายประกวดทำกันคือ การเลี้ยงในโรงเรือน หรือเลี้ยงใน ‘ตู้อบ’ ซึ่งนักเลี้ยงไม้ใบน่าจะคุ้นเคยกันดี ก็คือเลี้ยงในถุงพลาสติก หรือกล่องพลาสติก หรือเต็นท์ ที่ควบคุมไม่ให้ความชื้นออก โดยที่ยังมีแสงเข้าได้ บอนบางชนิดถ้าเลี้ยงนอกตู้ เราอาจะเห็นใบพร้อมกันแค่ 3 – 5 ใบ ถ้าอยากให้ใบมากกว่านั้น ต้องเลี้ยงในตู้อบเท่านั้น

ฟังดูเหมือนยาก แต่ก็ยังมีอีกทางแก้คือ เลี้ยงพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพอากาศบ้านเรา อย่างเช่นพันธุ์คลาสสิกอย่างฮกหลง ที่คนนิยมปลูกไว้หน้าบ้าน

สิ่งสำคัญมากอีกอย่างคือ ดิน ส่วนใหญ่นิยมให้ดินที่ผสมไม้ใบ เพื่อให้ระบายน้ำได้ดีและมีสารอาหาร ใบไม้ที่นักเล่นบอนยุคก่อนนิยมใช้คือ ใบมะขาม เพราะจะช่วยบอนมีสีสันสดใส แต่ถ้าใช้ใบมะขามล้วนๆ บอนก็จะเน่า ส่วนนักเล่นบอนยุคใหม่ นิยมใช้ดินผสมใบจามจุรีหรือใบทองหลาง ช่วยเรื่องสีได้เช่นกัน อ่านคำแนะนำในการเลี้ยงบอนแบบละเอียดได้จากหนังสือเรื่อง บอนสี : Caladium โดยสมาคมบอนสีแห่งประเทศไทย สำนักพิมพ์บ้านและสวน
จะเลือกซื้ออย่างไร
หลักง่ายๆ ก็คือ เลือกตามความชอบในสีสันและลวดลาย ยิ่งบอนรุ่นใหม่ๆ มีการผสมจนลายบนใบสวยเหมือนงานศิลปะ ซึ่งเราไม่เจอในต้นไม้ชนิดอื่น


ถัดมาก็ต้องดูเรื่องความทนทานของบอนชนิดนั้น และความพร้อมในการดูแลของเรา
สุดท้าย ดูว่าเรารับราคานี้ได้ไหม ราคาของบอนสีนั้นกว้างมาก มีตั้งแต่หลักสิบไปจนถึงหลักแสน สำหรับคนที่ กำลังเก็งว่า จะซื้อตัวไหนเพื่อทำกำไร ขอแนะนำว่าควรเลือกต้นที่คนยังเล่นไม่มาก หลีกเลี้ยงพันธุ์ที่มีล้นตลาด แต่ไม่ว่าอย่างไร ราคาต้นไม้ก็เหมือนของทุกอย่าง มีขึ้นและมีลง ดังนั้น เราควรเลือกต้นที่ชอบก่อน เพราะไม่ว่าราคาจะเปลี่ยนไปอย่างไร เราก็ยังมีความสุขกับการเฝ้ามองดูมันเจริญเติบโต
