กว่า 8 ปีแล้ว เราหมายถึงว่า ‘ห้องสมุดผีเสื้อ’ แห่งนี้ที่นำร้านกาแฟเล็ก ๆ มาปรับปรุงนั้นเปิดทำการมากว่า 8 ปีแล้ว โดยมี อ้อ-หทัยรัตน์ สุดา เจ้าของบ้านและเจ้าของห้องสมุดเป็นผู้ดูแล ก่อตั้ง และคอยขยับขยายหัวใจของห้องสมุดนี้ให้พองโต จนกินอาณาบริเวณทางจิตใจของผู้คนมากขึ้น
ถ้าไม่เล่าที่มาคงกระไรอยู่ เราขอย้อนกลับไปวันศุกร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2558
หลังจากที่อ้อลาออกจากงานประจำเป็นที่เรียบร้อย เธอตัดสินใจกลับมาอยู่บ้านที่จังหวัดศรีสะเกษ พร้อมความคิดว่า อยากจะทำบ้านให้เป็นพื้นที่สาธารณะ เพื่อแบ่งปันอะไรบางอย่างให้กับสังคม
เธอเริ่มสำรวจชุมชนรอบข้าง แล้วพบว่าชุมชนค่อนข้างคับคั่งไปด้วยเด็ก ๆ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงระดับมัธยมต้น และในปีเดียวกับที่เปิดห้องสมุด เธอยังไปเป็นหนึ่งในอาสาสมัครของ อาจารย์มกุฏ อรฤดี ผู้ร่วมก่อตั้งสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ด้วยการลงทุนเดินทางจากจังหวัดศรีสะเกษเพื่อไปดูและศึกษาการเปิดห้องสมุดผ่านโครงการหนังสือหมุนเวียนในมัสยิดที่เกาะลันตาน้อย จังหวัดกระบี่ อ้อพบว่าหนังสือเหล่านั้นไม่เข้ากับชุมชนของเธอ แต่อย่างน้อยก็ทำให้เธอรู้แนวทาง และได้แรงบันดาลใจในการสร้างห้องสมุดของตัวเองขึ้นมาในชื่อ ห้องสมุดผีเสื้อ (การที่เธอเคยเป็นบัณฑิตอาสาสมัครธรรมศาสตร์รุ่นที่ 24 ที่มีสัญลักษณ์เป็น ‘ผีเสื้อ’ ก็มีส่วน) ซึ่งสถานที่นี้ประกอบด้วย 2 ฟังก์ชัน
หนึ่ง เป็นห้องสมุดสำหรับเด็กทุกเพศทุกวัย ไม่จำเป็นต้องมาแค่อ่านหนังสือ แต่ยังมาเล่น มาเรียนรู้ หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ มากมายร่วมกับป้าอ้อได้ ทุกอย่างไม่มีค่าใช้จ่าย รวมถึงเปิดให้คุณครูจากโรงเรียนต่างอำเภอมายืมหนังสือไปให้เด็ก ๆ ได้อ่านทีละ 30 – 50 เล่ม โดยไม่มีค่าปรับ
สอง เธอมีอาชีพเป็นนักออกแบบการเรียนรู้และวิทยากรอบรม ตัวบ้านจึงถูกใช้เป็นพื้นที่ให้ครู เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือผู้สนใจอยากเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ มาเข้าอบรมได้ ตั้งแต่การสอนรูปแบบ Active Learning การผลักดันเรื่องเพศศึกษา รวมถึงเรื่อง HIV ตลอดจนการพูดคุยเรื่องอยู่ดี-ตายดี
ยุคเฟื่องฟู
อ้อเล่าว่า ช่วงเปิดแรก ๆ ด้วยความที่ตัวบ้านอยู่ห่างจากชุมชนราว ๆ 1 กิโลเมตร เด็ก ๆ เดินจูงมือกันมาห้องสมุดผีเสื้อได้สบาย ๆ เป็นช่วงเวลาที่มีเด็กในชุมชนแวะเวียนมาที่นี่ค่อนข้างเยอะ
…เยอะจนน่าคิดถึง
“เราจะอ่านนิทานให้พวกเขาฟัง กุศโลบายของเราคืออ่านช้า ๆ เพื่อกระตุ้นให้เขาอยากอ่านเอง ซึ่งได้ผลนะ มันทำให้เขาตั้งใจเรียนเพื่อกลับมาอ่านให้เราฟัง เหมือนอ่านหนังสือโชว์เรา”
ในยุคเฟื่องฟู ห้องสมุดมีกิจกรรมสำหรับเด็กค่อนข้างหลากหลาย ตั้งแต่กิจกรรมเล็ก ๆ อย่างวาดภาพ ระบายสี จนถึงกิจกรรมใหญ่ ๆ อย่างจัดค่ายระหว่างปิดเทอมให้เด็ก ๆ มาเรียนรู้ผ่านการอ่าน แน่นอนว่าไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อให้เด็กทุกคนจากทุกครอบครัวและทุกชนชั้นมีโอกาสเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน
“เรามักจำภาพตัวเองในวัยเด็กที่นั่งพิงชั้นหนังสือ แล้วอ่านหนังสือของพ่ออยู่คนเดียว เด็กเล็ก ๆ อ่านไปก็คงไม่เข้าใจหรอก แต่ทำให้เราผ่านช่วงเวลาของความเหงามาได้ หนังสือมีเรื่องราวต่าง ๆ ที่ทำให้รู้สึกว่าเรามีมันเป็นเพื่อน พอโตมา เวลาให้ของขวัญใครก็จะให้หนังสือ โดยเฉพาะกับเด็ก ๆ”
เธอยังเลือกไม่รับเงินบริจาค ถึงอย่างนั้น ถ้ามีคนที่สนใจอยากสนับสนุนจริง ๆ เธอก็มีวิธี คือให้สั่งหนังสือกับร้าน Fathom Bookspace แล้วทางร้านจะจัดส่งหนังสือมาให้กับห้องสมุดผีเสื้อ ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการเพิ่มจำนวนหนังสือ และส่วนหนึ่งเพื่อสนับสนุนร้านหนังสือทางเลือก
ผีเสื้อสัญจร
สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ห้องสมุดผีเสื้อได้รับผลกระทบอย่างจัง นั่นคือเด็ก ๆ ในชุมชนหายไป
“จากเดิมที่พ่อแม่เขายังอยู่ในชุมชนและทำมาหากินในจังหวัดศรีสะเกษ ก็จำเป็นต้องพาเด็กย้ายไปอยู่กับปู่ย่าตายายที่อยู่ไกลออกไป ไกลเกินกว่าจะจูงมือกันมาห้องสมุดได้เหมือนเดิม” อ้อเล่า
อย่างไรก็ตาม อ้อยังไม่ล้มเลิกความตั้งใจที่อยากแบ่งปันหนังสือและสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้กับเด็ก ๆ และนั่นก็ถึงเวลาของ ‘ผีเสื้อสัญจร’ โปรเจกต์การร่วมทำงานกับโรงเรียนระดับชั้นประถมศึกษาในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ (เพียงแต่ต่างอำเภอกัน) โดยให้คุณครูจาก 10 กว่าโรงเรียนมายืมหนังสือทีละ 30 – 50 เล่มต่อโรงเรียน เพื่อเอาไปให้เด็กนักเรียนได้อ่านหรือทำกิจกรรมตามความสนใจ
ข้อน่าตกใจ คือบางโรงเรียนมีระยะห่างจากบ้านอ้อราว ๆ 20 – 30 กิโลเมตร ไกลออกไปอีก 70 กิโลเมตรก็ยังมี จนเราอดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมคุณครูถึงต้องถ่อมาไกลขนาดนี้ แต่เมื่ออ้อเอารูปของเด็ก ๆ ที่กำลังถือหนังสือใหม่เอี่ยม พลาสติกยังไม่แกะ พร้อมรอยยิ้มและแววตาตื่นเต้นตั้งแต่ยังไม่ทันได้เปิดอ่าน เราก็เข้าใจถึงความตั้งใจของอ้อและคุณครูที่เรียกกันเองว่า ‘สายส่ง’ (ของห้องสมุดผีเสื้อ)
ชุมชนกรุณา
ขอย้อนกลับไปสมัยที่อ้อเพิ่งเรียนจบปริญญาตรีหมาด ๆ เธอมีโอกาสไปช่วย พระราชวิสุทธิประชานาถ (อลงกต ติกฺขปญฺโญ) ที่วัดพระบาทน้ำพุ ดูแลผู้ป่วยไข้ใกล้เสียชีวิต รวมถึงเตรียมพร้อมให้พวกเขาตายดี และช่วงเวลานั้นเองที่ทำให้เธอได้รู้ว่า การอยู่ดี-ตายดี เป็นเรื่องสำคัญ (อยู่ดี-ตายดี คือการทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด และจากไปอย่างไม่ทุกข์ทรมานในวาระสุดท้ายของชีวิต)
ขยับมาราว ๆ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562 อ้อมีโอกาสเยี่ยมชมบูท Peaceful Death (กลุ่มเพื่อนกิจกรรมที่ทำงานสนับสนุนการอยู่และตายดี) เนื่องจากการอยู่และตายดีเป็นหนึ่งในสิ่งที่เธอสนใจมาโดยตลอด ส่งผลให้ช่วงหลังโควิด-19 เป็นต้นมา ห้องสมุดผีเสื้อเริ่มมีการเพิ่มกิจกรรมในฐานะชุมชนกรุณา โดยเป็นการชวนคุณครูหรือคนที่สนใจมาพูดคุยกันเรื่องการอยู่-ตายดี โดยใช้เครื่องมือการชวนคุยของ Peaceful Death ประกอบด้วยไพ่ 4 แบบ สมุด 1 เล่ม นำมาใช้ตามแต่ประเภทของผู้เข้าร่วม
‘สมุดเบาใจ’ สมุดสำหรับเขียนเพื่อทบทวนว่าเราอยากทำอะไรก่อนตาย คุณค่าของเราคืออะไร ข้อสำคัญ เราอยากได้รับการรักษาในระดับไหน สิ่งนี้ไม่ใช่การการุณยฆาต แต่เป็นการแจ้งให้ทราบถึงระดับความต้องการในการรักษา เพื่อความตายดีของผู้เขียน และไม่ก่อให้เกิดความลำบากต่อผู้ดูแลในอนาคต
‘ไพ่ไขชีวิต’ มีคำอธิบายว่า เกมคำถามช่วยสร้างบทสนทนาเรื่องชีวิตและความตายกับครอบครัวหรือมิตรสหาย โดยคนนำคุยต้องมีองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ในชุดไพ่ เช่น ถ้าไพ่ถามว่า คุณคิดจะบริจาคร่างกายหรือไม่ คนนำคุยต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับการบริจาคร่างกายได้ ก่อนเริ่มเปิดไพ่ใบใหม่
‘ไพ่ฤดูฝน’ มีคำอธิบายว่า ชุดเครื่องมือประกอบกิจกรรมรับฟัง ระหว่างผู้นำกิจกรรมและผู้ป่วยหรือผู้ดูแลผู้ป่วย ไพ่จะทำหน้าที่เป็นตัวช่วยให้ผู้เล่นได้สำรวจความรู้สึก สำรวจความต้องการ
และจบด้วยไพ่รุ้งที่เป็นกำลังใจให้กับคนคนนั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยหรือผู้ดูแลก็ตาม
‘การ์ดแชร์กัน’ มีคำอธิบายว่า บัตรภาพ (Flash Cards) สำหรับชวนผู้สูงอายุหรือผู้ป่วย สนทนากันเรื่องการวางแผนดูแลล่วงหน้า ซึ่งการใช้บัตรภาพนั้นจะทำให้ผู้สูงอายุบางคนเข้าใจง่ายกว่าตัวหนังสือ ทั้งหมดนำไปสู่การเลือกแนวทางการรักษาตามความต้องการของผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยคนนั้น
‘ไพ่แคร์คลับ’ มีคำอธิบายว่า ชุดเครื่องมือสำหรับจัดกิจกรรมกลุ่มสนทนาและกิจกรรมผ่อนคลาย สำหรับชุมชนผู้ดูแลผู้ป่วยในครอบครัว หรือบุคลากรสุขภาพ เป็นไพ่สำหรับให้คนทำงานดูแลผู้ป่วยในครอบครัวและบุคลากรด้านสุขภาพมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน
ผีเสื้อตัวนี้พร้อมโอบกอดทุกคน
เราเอะใจนิดหน่อยว่าการทำห้องสมุดเด็กควบคู่กับเรื่องความตายไปด้วยกันได้ขนาดไหน
อ้อทั้งตอบและเชื่อว่าการที่เธอทำห้องสมุดสำหรับเด็ก พร้อมไปกับการพูดคุยเรื่องความตายนั้นไม่ใช่เรื่องขัดแย้งกันแต่อย่างใด กลับกัน หากลองสังเกตดี ๆ หนังสือนิทานสมัยนี้มีการเอ่ยถึงความตายค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะในทางตรงหรือทางอ้อม เพราะความตายเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย
แถมมันไม่เคยเรียงลำดับเพื่อรอให้เราแก่หรือเจ็บเสียก่อน
“เราพบว่าเด็กควรได้เรียนรู้จากการร่วงหล่นของใบไม้ เพราะจะทำให้เขาเข้าใจชีวิตและเห็นถึงการเปลี่ยนผ่าน มีเกิดก็ต้องมีตาย เราไม่ได้รู้สึกว่าเด็กเรียนรู้เรื่องความตายไม่ได้ เพราะเด็กเองก็ต้องอยู่กับความสูญเสียเหมือนผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ” เธอตอบคำถามคลายความสงสัยของเรา
โดยปริยาย อ้อบอกเราว่าเธอคงไม่ขยับขยายอะไรในแง่ของพื้นที่อีกแล้ว สิ่งเดียวที่จะขยายออกไปคือความเป็นห้องสมุดที่ติดตัวเธอไปในทุก ๆ ที่ การเดินทางไปอบรมพร้อมนำไพ่ทั้ง 4 ไปเล่นกับผู้คนที่พบเจอ ให้พวกเขายืมหนังสือเล่มที่เธอพกติดตัวไป แล้วค่อยส่งไปรษณีย์กลับมา แม้กระทั่งการเป็นบ้านหลังหนึ่งให้กับเด็ก ๆ ได้รู้ว่า ถ้าเขาไม่สบายใจ เขายังมีป้าคนนี้และห้องสมุดหลังนี้เป็นที่พึ่งเสมอ
“ตอนทำงานมีเงินเดือน ชีวิตเรามีมูลค่านะ แต่การมาเปิดห้องสมุดให้เด็ก ๆ พร้อมใช้ความรู้และประสบการณ์ 20 กว่าปีของเราช่วยเหลือคนอื่น มันทำให้ชีวิตเรามีคุณค่า ถ้าเราทำให้คน 1 คนรักการอ่านตั้งแต่เด็ก เมื่อเขาโตไป เราก็ไม่มีอะไรต้องห่วงแล้ว” หญิงสาวจากศรีสะเกษจบบทสนทนา