พ.ศ. 2528 ‘Brown Sugar Jazz Pub & Restaurant’ บาร์แจ๊สในตำนานได้ถือกำเนิดขึ้นที่สารสิน และเมื่อ พ.ศ. 2540 ก็ได้รับเลือกจาก Newsweek นิตยสารระดับโลก ให้เป็น One of the Best Bars of the World

พ.ศ. 2555 เมื่อร้านเก่าหมดสัญญาเช่า Brown Sugar จึงกลับมาที่ถนนพระสุเมรุอีกครั้ง

ช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก ธุรกิจเล็ก ๆ ถึงคราวไปต่อไม่ได้ ร้านเก่าแก่ทั้งหลายทยอยปิดตัวกันไปราวกับใบไม้ร่วง Brown Sugar เองก็เป็นหนึ่งในร้านที่ผู้คนเป็นห่วง และพากันตกใจกันในทวิตเตอร์เมื่อเห็นร้านหน้าตาเปลี่ยนไป คล้ายจะเปลี่ยนกิจการไปซะแล้ว

แต่เมื่อเมืองเริ่มฟื้นตัว เดือนมีนาคมที่ผ่านมาเราได้เดินผ่านร้านใหม่เอี่ยมที่ซอยนานา เยาวราช พร้อมป้ายหน้าร้านเขียนว่า Brown Sugar Jazz Pub & Restaurant ชัดเจน

ชีวิตที่ 3 ของ Brown Sugar อยู่ที่นี่เอง

Brown Sugar ไม่ได้เป็นแค่ร้านที่เปิดมานาน แต่เป็นพื้นที่เล็ก ๆ ที่รับบทบาทใหญ่ในการเผยแพร่วัฒนธรรมเพลงแจ๊สไปสู่วงกว้างขึ้น ไม่จำเป็นต้องเป็นไฮโซหรือแต่งตัวหรูหราก็เพลิดเพลินกับดนตรีได้

พ่อแป๊ะ-แม่ปุ๊ กับชีวิตที่ 3 ของ Brown Sugar บาร์แจ๊สแห่งแรกในประวัติศาสตร์ของคนธรรมดา

ที่สำคัญ พี่แป๊ะ-พัฒน์ฑริก โรจนุตมะ มีสายญาติ กับ พี่ปุ๊-ฐิติวัลคุ์ รัศมีโกเมน คู่รักเจ้าของร้านที่เหล่าพนักงานเรียกว่า ‘พ่อ-แม่’ ก็เป็นผู้ร่วมเขียนประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของวงการแจ๊สประเทศไทย ซึ่งนอกจากทำร้านแล้ว ทั้งคู่ยังมีส่วนกับงานเพื่อสาธารณชนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดเทศกาลแจ๊สครั้งแรกในเมืองไทย หรือเรียกร้องให้หอศิลปฯ มีรูปแบบที่ส่งเสริมการแสดงออกทางความคิดสร้างสรรค์ จนแป๊ะได้รางวัล Lifetime Achievement Award 2023 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

ขอเชิญอ่านบทสนทนาเกี่ยวกับชีวิตมัน ๆ ของ 2 ตำนาน และความหวังของพวกเขาในฐานะคนผลักดันดนตรีและศิลปะ ก่อนโน้ตแรกของคำคืนจะเริ่มบรรเลง 

“หูย! เพลงแม่งโคตรเพราะ”

จุดเริ่มต้นของพี่ ๆ เป็นยังไงกัน

ปุ๊ : เราเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องกันที่สถาปัตยฯ ลาดกระบัง

แป๊ะ : พี่ปี 5 น้องปี 1 ไปชอบกันได้ยังไงไม่รู้ จำไม่ได้ (ยิ้ม)

ปุ๊ : เริ่มต้นเราเป็นสถาปนิกกันทั้งคู่ พี่จบมาก็ทำอยู่ในเครือออฟฟิศ Plan Group สักปีหนึ่งแล้วก็ไปญี่ปุ่น พี่อยากทำเซรามิก สุดท้ายไปทำ Stained Glass ฝึกงานในสตูดิโอกับอาจารย์ แล้วพี่แป๊ะก็ชวนมาเปิดร้าน

แป๊ะ : จากนั้นพี่ทำ 2 อาชีพพร้อมกันเลย เปิดร้านไปด้วย เป็น Production Designer ภาพยนตร์ต่างประเทศไปด้วย เรื่องแรกก็ The Killing Fields (1983)

ไม่ทำสถาปนิกแล้วเหรอ

แป๊ะ : เป็นสถาปนิกต้องเอาใจเจ้าของบ้าน แต่เป็น Production Designer ผู้กำกับเขาให้สิทธิ์ในการดีไซน์ว่าซีนจะออกมาเป็นยังไง สนุกกว่านะ

ยิ่งทำงานกับฝรั่งสมัยนั้น คนไทยก็มีอยู่ไม่กี่คน มี หนูเล็ก บุรณี, สมพล สังขะเวส, นิวัฒน์ สำเนียงเสนาะ ไปที่ไหนก็เป็นที่สนใจ

ดูมาสายออกแบบ เป็นไงมาไงถึงเข้าวงการแจ๊สได้

แป๊ะ : จริง ๆ เป็นคนฟังเพลงร็อกมาก่อน ตอนยุคปลาย 80 อายุ 20 กว่า ๆ นักดนตรีร็อกเมืองไทยนี่รู้จักกันเป็นเพื่อนหมดทุกคน เราชอบดนตรี (ผู้สัมภาษณ์ : เล่นดนตรีด้วยไหม) เมื่อก่อนเล่นกลอง เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้จับ เลยทำเป็นเพลงกับใครเขาไม่ค่อยได้ (หัวเราะ)

จนช่วงที่ Rock & Roll มันสุดแล้ว ไปต่อไม่ได้แล้ว และกลายเป็น Disco ก็มีมือกีตาร์แจ๊สคนหนึ่ง John McLaughlin เอาเพลง Little Wing ของ Jimi Hendrix ที่เป็นร็อกมาทำเป็นแจ๊ส ช่วงอิมโพรไวส์ที่สำคัญที่สุดก็เอาความเป็นเพลงร็อกมาใส่ เราก็ค้นคว้าว่าทำไมเขาทำเพลงได้ทะลุได้ขนาดนี้ ไล่ฟังไปจนรู้สึกชอบแจ๊สขึ้นมา

เราว่าดนตรีแจ๊สมันอิสระ ฟังแล้วไม่รู้สึกเก่า ตอนแรกเขาเล่นกับวง พอมาถึงท่อนแยก นักดนตรีเขาจะเล่นเดี่ยวไหลไปตามแต่สมองเขาจะไหล ก็มีความสวยงามของตัวโน้ตที่เขาไล่ไป โชว์เสร็จปั๊บคนก็ปรบมือ

ปุ๊ : มันเหมือนเป็นโชว์ของแต่ละคน และแต่ละครั้งก็ไม่เหมือนกันด้วย

มองว่าตัวเองใช้ชีวิตเหมือนดนตรีแจ๊สไหม

แป๊ะ : เหมือนนะ พี่ไม่ค่อยมีระบบระเบียบตายตัว ทั้งบ้าน 4 คนก็มีความคิด มีชีวิตของตัวเอง เราไม่บังคับลูก ให้เขาคิดเอง ผิดถูกก็รับกรรมกันไป

ปุ๊ : เราทำ ณ ปัจจุบันให้ลงตัวที่สุด แต่ละคนก็อิมโพรไวส์กันไปคนละทาง 

พ่อแป๊ะ-แม่ปุ๊ กับชีวิตที่ 3 ของ Brown Sugar บาร์แจ๊สแห่งแรกในประวัติศาสตร์ของคนธรรมดา

ทำไมถึงตัดสินใจเปิด Jazz Bar ด้วยกัน

แป๊ะ : ไอ้ความอยากเปิด Jazz Bar มาจากที่เราไปดูวิดีโอเมืองนอกจนชอบ คิดว่าถ้าวันหนึ่งเปิดที่เมืองไทยได้ก็อยากเปิด ตอนแรกยังไม่คิดเปิดเพราะมีอยู่แค่ 2 คนที่ทำหนังเมืองนอกได้ เราก็ต้องทำ แต่พอมีเยอะ เราไม่ต้องทำแล้ว ช่วงที่มาทำหนังไทยเลยเปิดร้านที่สารสิน

ปุ๊ : ตอนแรกเปิดเป็นร้านกาแฟชื่อ Brown Sugar สมัยก่อนทำออฟฟิศสถาปนิก ได้กินกาแฟที่ญี่ปุ่น เห็นน้ำตาลเป็นเกล็ดสวยดี เลยเอาน้ำตาลแบบนั้นมาใช้ในร้าน พี่ไปฝึกทำเซรามิก ทำ Stained Glass มาจากญี่ปุ่น ก็เอาของมาขายในร้านด้วย เปิดร้านตั้งแต่เช้าถึงเย็น ยังไม่ได้เป็น Jazz Pub

จากกลางวัน อยู่ ๆ กลายเป็นร้านกลางคืนได้ยังไง

ปุ๊ : เพื่อนฝูงมา!

แป๊ะ : เพื่อนเราไม่กินกาแฟหรอก กินเบียร์ หลัง ๆ ขายเบียร์กันไม่ไหวเลยล่ะ กลางวันก็ขาย กลางคืนก็ขาย นอนชั้น 3 แล้วตื่นมาขายของกันตั้งแต่เช้ามืด

จริงไหมที่แต่ก่อนเมืองไทยไม่เคยมี Jazz Bar 

ปุ๊ : จริง ๆ มีในโรงแรมโอเรียนเต็ล ชื่อ Bamboo Bar ยุคนั้นคนจะฟังแจ๊สทีหนึ่งต้องไปโรงแรม รู้สึกเหมือนเป็นของอีกชนชั้นหนึ่ง นักดนตรีก็จะเป็นคนต่างชาติ

แป๊ะ : แล้วก็มีที่พัฒน์พงษ์ 2 ร้าน ชื่อ Napoleon กับ Bobby’s Arms เป็นร้านผู้ใหญ่ไปฟัง วัยรุ่นไม่มี เราเลยอยากเปิดร้านที่เป็นผับธรรมดา ฟังได้ทุกรุ่น ทุกวัย คนแต่งตัวยังไงก็ได้ ปรากฏว่าเปิดร้านไม่กี่เดือนก็คืนทุนแล้ว คนแน่นทุกวัน หลังจาก 3 ร้านที่ว่ามา ร้านเราเป็นร้านที่ 4 ที่ตีตลาดได้ 

พ่อแป๊ะ-แม่ปุ๊ กับชีวิตที่ 3 ของ Brown Sugar บาร์แจ๊สแห่งแรกในประวัติศาสตร์ของคนธรรมดา
พ่อแป๊ะ-แม่ปุ๊ กับชีวิตที่ 3 ของ Brown Sugar บาร์แจ๊สแห่งแรกในประวัติศาสตร์ของคนธรรมดา

ตั้งแต่เปิดร้านมา มีแขกคนไหนที่ประทับใจบ้าง

แป๊ะ : ที่ประทับใจเป็นพิเศษคือกษัตริย์เนเธอร์แลนด์กับสวีเดน (ผู้สัมภาษณ์ : กษัตริย์เลยเหรอ!) กษัตริย์เนเธอร์แลนด์ตอนนั้นยังไม่ได้เป็นกษัตริย์นะ ยังเป็น Crown Prince พระองค์เป็นแขกอย่างเป็นทางการของรัชกาลที่ 10 มีองครักษ์มาเต็มเลย แต่อย่างกษัตริย์สวีเดนนี่มาลับ ๆ มากินเหล้าธรรมดา 

คือมันเป็นร้านที่ Talk of the Town ใคร ๆ ก็ต้องมา คุยกับลูกตอนนี้ เพื่อนลูกจะเล่าให้ฟังเหมือนกันหมดเลยว่าพ่อแม่เขาออกเดตที่ร้านเรา ดาราก็มี พอดีพี่ทำหนังฝรั่งด้วยไง พวกทำโปรดักชันที่สยามสตูดิโอก็เพื่อนกันทั้งนั้น พอเลิกงานเขาก็พาดาราฝรั่งมาต่อกันที่ร้านเก่าที่สารสิน

ปุ๊ : ดาราฮอลลีวูดที่มาถ่ายเมืองไทย Good Morning, Vietnam มี Willem Dafoe, Gregory Hines, Robin Williams คนหลังนี่มาหลายรอบเลย น่ารักมาก คุยก็น่ารัก กันเอง สนุกเฮฮา ไม่มีแบบ ฉันเป็นดารา เลย

ร้านนี้ 38 ปีแล้ว รุ่นน้อง ๆ ที่เคยเป็นนักศึกษา เก็บเงินเพื่อมา Brown Sugar ตอนนี้ทุกคนโตเป็นเศรษฐีกันหมดละ (หัวเราะ) น้องแตง น้องปัทม์ ที่ทำงานร้านเราก็เกิดไม่ทัน แต่ก็ชอบเล่าให้ฟังว่ามีแขกเก่า ๆ มาเล่าเรื่องสมัยก่อนให้ฟัง น้องก็ได้ข้อมูลจากลูกค้าทั้งนั้นเลย

นอกจากแขกแล้ว มีนักดนตรีคนไหนที่ตราตรึงใจเป็นพิเศษ

แป๊ะ : Larry Carlton นะ มีอยู่โมเมนต์หนึ่งที่อยู่ดี ๆ เขาก็วางช้อนกินข้าว แล้วคนที่พามาเขาก็กระซิบว่า เดี๋ยว Larry จะเล่นหน่อย สักพักเขาก็เดินไปหยิบกีตาร์อันหนึ่งที่พิงอยู่ เราบอกว่ามันพังนะพี่ เขาก็ไม่สนใจ แล้วเริ่มตั้งสาย พยักหน้าให้นักดนตรีแล้วก็ขึ้นเลย

หูย! คนกรี๊ดกันดัง เพลงแม่งโคตรเพราะ ขนาดกีตาร์เสีย ๆ นะ เนี่ย พูดแล้วยังรู้สึก (ทำท่าขนลุก)

ปุ๊ : เมื่อก่อนนักดนตรีที่มา Brown Sugar เขาจะมาขอแจมกัน บางคนเรามารู้ที่หลังว่าเป็นนักดนตรีแจ๊สชื่อดัง

รวมดาวร็อกรุ่นใหญ่ อุกฤษณ์ พลางกูร, หมู คาไลโดสโคป, กิตติพัฒน์ บีท และพี่จาก Sweat Rock
การรวมตัวอีกครั้งของวง VIP กับสหายมือเปียโน ‘พี่รอนิง’ ผู้กำลังป่วย

1-2-3!

ถ้านับดูนี่ก็เป็นร้านที่ 3 แล้ว ทำไม Brown Sugar ถึงย้ายบ่อยจัง

แป๊ะ : อันแรกเนี่ยอยู่มา 27 ปี จนหมดสัญญาเช่า แล้วเขาก็อยากจะขายให้เรา แต่มันอยู่ตรงถนนสารสิน ติดกับเพลินจิต ราคาก็เลยแพงมาก จะให้ลงทุน 30 ล้านเพื่อทำผับเนี่ยมันไม่ใช่ สุดท้ายเราก็ต้องไป

พอมาเปิดร้านที่ 2 ที่ถนนพระสุเมรุก็หลุดจากโซนเดิมเยอะ ตอนแรกเราคิดว่าไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่ายเลย (หัวเราะ) ลูกค้าเก่าทั้งฝรั่งทั้งคนไทยก็เลยมาเจอเราอีกทีที่ร้านที่ 3 เยาวราช เพราะมันยังอยู่ในโซนที่เขามาถึง เหมือนวาร์ปมาตั้งแต่ยุคหลังสวนลุมเลย แล้วพี่ว่าร้านที่ 2 มันก็ใหญ่เกินไปด้วย คนนั่งกันไกล ๆ ไม่ได้สัมผัสดนตรี

ตอนเข้ามาที่นี่ครั้งแรกก็รู้สึกแปลกใหม่ เพราะร้านเล็กลงเยอะเลย

แป๊ะ : ใช่ เราชอบมากกว่านะ แน่น ๆ

ปุ๊ : บรรยากาศตรงนี้มีความอบอุ่นใกล้ชิด คนฟังเพลงดูจะอิน สนุกง่ายกว่า ลูกมาเห็นแล้วก็กรี๊ดเลยเหมือนกัน เขาชอบที่แคบ มีซอก มีมุม มีเลเยอร์

แป๊ะ : พี่เป็นทั้งสถาปนิกและดีไซเนอร์ การทำร้านมันคือผลงานด้าน Installation ของอันหนึ่ง ที่นอกจากต้องมี 3 มิติ กว้าง ยาว ลึก ยังต้องมีดนตรี ชีวิต และอาหารเข้ามาเกี่ยว ใส่ตัวตนเราเข้าไป ปรึกษากัน แล้วก็ลูกด้วยอีก 2 เสียง ซึ่งพอลูกค้าลงไปจากร้านเขาก็ชื่นชมนะ

ปุ๊ : ลูกค้า Brown Sugar เก่าหลาย ๆ คน เขาจะใช้คำพูดซ้ำ ๆ กันว่า แม้จะเป็นร้านใหม่ แต่เข้ามานี่มีกลิ่น Brown Sugar เลย 

เล่าถึงการรีโนเวตที่นี่สักนิด

ปุ๊ : โอ้โห (หัวเราะ) ตอนแรกที่เข้ามานี่พี่มึนตึ้บเลย ตึกดั้งเดิมเขาขายวัสดุ ขายสังกะสีมานาน 50 ปี ของก็จะเต็มบ้านมาก ๆ ทุกซอกทุกมุมเลย ถ้าโชว์รูปแล้วน้องจะตกใจ พี่แป๊ะทำออกมาได้นี่น่านับถือนะ อาจารย์ปริญญา ชูแก้ว รุ่นน้องสถาปัตยฯ ที่เป็นสถาปนิกดีเด่นของสมาคมสถาปนิกฯ แกมา แกก็ชอบ แล้วก็พาลูกศิษย์มาดูด้วย

ตอนทำนี่พี่แป๊ะประสบอุบัติเหตุต้องผ่าตัด 3 – 4 เดือนแรกต้องดูผ่านโทรศัพท์แล้วโทรสั่งงานเอา สะลึมสะลือมาก (หัวเราะ) พี่ก็ต้องอยู่โรงพยาบาลด้วย ช่วงนั้นโควิด ถ้าจะออกก็ต้องขออนุญาต

คิดยังไงกับซอยนานา เยาวราช บ้าง พอมาอยู่จริง ๆ แล้วชอบกันไหม

แป๊ะ : มันเป็นเส้นใหม่ที่ก่อร่างสร้างตัวกันมา 4 – 5 ปี แต่เทพบาร์มาก่อนเป็นร้านแรก มีคนชวนมาดู เราเห็นสเปซแล้วชอบเลย พอมานั่งดูสเปซ ดูว่ามีร้านอะไรอยู่แถวนี้บ้าง ก็มีความรู้สึกว่าคล้าย ๆ สารสิน น่าจะสร้างชุมชนอะไรที่น่ารัก ๆ ได้

ปุ๊ : รู้สึกดีตรงที่แต่ละร้านมีเอกลักษณ์ของตัวเองกันหมด อย่าง ToT (Teens of Thailand) เขาก็จะมี Cocktail มี Gin เทพบาร์ก็แนวไทย ๆ Wallflowers Cafe ก็หวาน ๆ สวย ๆ Ba Hao ก็แนวจีน Píjiǔ Bar ก็มีคราฟต์เบียร์เยอะ

พอมาอยู่ตรงนี้ลูกค้าเปลี่ยนไปเยอะรึเปล่า

แป๊ะ : เราได้นักท่องเที่ยวมาเป็นผลพลอยได้ เป็นกำลังเสริมนอกจากลูกค้าประจำ แต่พวกนักท่องเที่ยวแย่อย่างหนึ่งคือมาเป็นช่วง บางช่วงก็มา แต่ช่วงนี้หาย พี่คิดว่าเดี๋ยวจะเปิดตั้งแต่กลางวันจนถึงกลางคืนเลย เพราะแขกของเราเยอะมาก แต่ก็ยังไม่ได้เปิดสักที ที่ตั้งชื่อร้านนี้เป็น Pub & Restaurant คือเราจะขายอาหารด้วย

ปุ๊ : ลูกเขามีอีกแบรนด์หนึ่งที่จะเปิดกลางวัน คือ Baby Brown มีอาหารการกินแนวสุขภาพ มีขนมปัง Sourdough มีขนม มีข้าวซอย ส่วนที่พี่ทำคือคอมบูฉะ เดี๋ยวให้ชิมไอศกรีมคอมบูฉะเจ้าแรกในไทย ฝีมือพี่ปุ๊เอง อยากจะเปิดกลางวันเร็ว ๆ แล้ว

พ่อแป๊ะ-แม่ปุ๊ กับชีวิตที่ 3 ของ Brown Sugar บาร์แจ๊สแห่งแรกในประวัติศาสตร์ของคนธรรมดา

แจ๊ส ฟอร์ พีเพิล

มองว่าดนตรีแจ๊สได้รับความนิยมในหมู่คนรุ่นใหม่แค่ไหน

แป๊ะ : ตอนที่ร้านเราดังและเริ่มมีกระแสแจ๊สขึ้นมา ก็เกิดวิทยาลัยดุริยางคฯ หลายที่ ศิลปากร มหิดล รังสิต บ้านสมเด็จฯ จนตอนนี้มีการสอนแจ๊สถึงปริญญาเอก แล้วก็มีนักดนตรีอายุน้อย ๆ เยอะขึ้น จากเมื่อ 20 ปีก่อนไม่ค่อยมีเลย ซึ่งสถาบันก็ช่วยได้เหมือนกัน

ปุ๊ : ตอนที่แป๊ะได้รางวัล Lifetime Achievement Award ของมหิดล เขาก็ไปเล่าว่าตอนเปิดร้านมีคนขอเพลง My Way เยอะ มันเป็นเพลงรุ่นคนแก่ชอบ แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีคนขอแล้ว มันเปลี่ยนไปแล้ว

รางวัลนี้เกี่ยวกับอะไร อยากให้พี่ ๆ เล่าให้ฟังบ้าง

ปุ๊ : ส่วนมากคอนเสิร์ตที่พี่แป๊ะจัดจะเป็นงานสาธารณะ การกุศล ไม่ได้จัดเพื่อหารายได้ เมื่อก่อนพี่แป๊ะกับพี่เป็นผู้ช่วยให้ อาจารย์ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ที่เสียไปแล้ว สมัยนั้นท่านเป็นที่ปรึกษาของ ดร.พิจิตต รัตตกุล ผู้ว่าฯ กทม. 

แป๊ะ : พี่ทำ All Night Jazz ครั้งที่ 1, 2, 3, 4 ซึ่งเป็น Jazz Festival แรกในเมืองไทย ดนตรีเล่นในสวนแล้วก็คนมาปูเสื่อ พาลูกหลานนั่งฟัง มีค่าบัตรเล็กน้อยเอง 

ปุ๊ : ตอนนั้นเราได้ทุนมา หักค่าใช้จ่ายไปแล้วเหลือ 4 ล้านกว่า ก็มอบเป็นเงินก้นถุงถวายในหลวง ร.9 ท่านก็พระราชทานกลับมาเป็นเงินสร้างหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ที่สี่แยกปทุมวัน 

ตอนนั้นผู้ว่าฯ กำลังเปลี่ยนแปลง จากเดิมที่ออกแบบหอศิลปฯ มาเป็นอย่างที่เห็น พอถึงยุคผู้ว่าฯ สมัคร สุนทรเวช ท่านก็จะเปลี่ยนเป็นตึกสูง และให้หอศิลปฯ อยู่แค่ประมาณ 2 ชั้นแรก เพราะตรงนั้นเป็นทำเลทอง พวกศิลปินทั้งหลายไม่ยอม เราก็สู้กันจนได้กลับมาเป็นอาคารรูปแบบเดิม

ช่วงปลาย ๆ พอ คุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน หมดวาระก็เริ่มมีการเอาพื้นที่คืนตามยุคสมัย หอศิลป

ฯ ถูกตัดงบ จากที่เมื่อก่อนเคยให้ 40 ล้าน เราก็ต้องสู้กันต่อ

แป๊ะ : สิ่งที่ทำมาส่วนใหญ่จะมีประโยชน์ส่วนหนึ่งเพื่อช่วยสาธารณะ 

เคยคิดไหมว่าทำไมถึงอยากทำประโยชน์เพื่อสาธารณะ

แป๊ะ : เรื่องเหล่านี้ควรเกิดขึ้นกับทุกคนนะ ใครที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจแล้ว ก็น่าจะมีใจคิดถึงสาธารณะบ้าง ไม่ว่าด้านใดก็ด้านหนึ่ง 

ปุ๊ : อย่างพี่แป๊ะเนี่ย เขาก็คนยุคตุลาฯ (แป๊ะ : พี่รุ่น 14 ตุลา) เราเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการนักศึกษานี่แหละ เมื่อก่อนนักศึกษาที่ต่อต้านเผด็จการทหารก็จะมียุคเข้าป่ากัน

ขบวนการนักศึกษายุคนั้นเฟื่องฟูมากนะ จาก 14 ตุลาฯ 16 มา 6 ตุลาฯ 19 ช่วง 3 ปีนั้นเป็นช่วงที่นักศึกษาเติบโตจริง ๆ ฉะนั้น พวกงานสาธารณะหรืองานสังคมมันจะดี

ศิลปะกับดนตรีสำคัญยังไงกับสาธารณะชน

ปุ๊ : สำคัญ อย่างลูกพี่อยู่เยอรมนี เขาเรียนมหาลัย Bauhaus ทุกอย่างเป็นแนวสาธารณะหมดเลยนะ สมัยที่ Mies van der Rohe เป็นผู้อำนวยการ ฮิตเลอร์ มองว่าเป็นคอมมิวนิสต์จนสั่งปิดเลย ตอนหลังถึงมาเปิดใหม่ ลูกเล่าให้ฟังว่าโรงอาหาร พอวันหยุดก็เปิดเป็นผับกระจุยกระจายเลย โห เอนเตอร์เทนเต็มที่ ครีเอทีฟก็เต็มที่ 

ความบันเทิงนำมาซึ่งความคิดสร้างสรรค์ แล้วก็สื่อให้คนมาจอยกัน ทำประโยชน์เพื่อสาธารณะกันได้ เช่น จัดงานดนตรีแจ๊สสนุก ๆ คนเสียเงินมาซื้อบัตร เราก็เอาเงินไปทำประโยชน์ได้ ตอนน้ำท่วมภาคใต้เมื่อ 3 – 4 ปีก่อน อาจารย์ไกรศักดิ์สนับสนุนให้เรารวบรวมเงินไปบริจาค สังเกตไหม เวลามีวิกฤตคนจะนึกถึงศิลปิน เพราะศิลปะเป็นตัวนำ เป็น Soft Power พอทำเป็นธุรกิจก็เหมือนไม่ใช่ทาง 

แป๊ะ : ตอนสึนามิเราก็ทำ Jazz for Andaman ทำเดือนเดียวเองนะ หาตังค์ได้เป็นล้าน

พ่อแป๊ะ-แม่ปุ๊ กับชีวิตที่ 3 ของ Brown Sugar บาร์แจ๊สแห่งแรกในประวัติศาสตร์ของคนธรรมดา
พ่อแป๊ะ-แม่ปุ๊ กับชีวิตที่ 3 ของ Brown Sugar บาร์แจ๊สแห่งแรกในประวัติศาสตร์ของคนธรรมดา

รู้มาว่าพี่ ๆ อยากตั้งสหภาพนักดนตรีด้วย

แป๊ะ : เคยคิดมาตั้งนานแล้ว จริง ๆ ไม่ใช่สหภาพนักดนตรี แต่เป็นสมาคมวิชาชีพทางดนตรีที่จะสร้างมาตรฐานให้กับวิชาชีพ แต่มีปัญหาหลาย ๆ อย่างที่ทำให้ตอนนี้ยังทำไม่ได้ กว่าจะหาจุดที่ลงตัวระหว่างสายศิลปะทั้ง 12 สายให้เข้ามารวมกันโดยใช้หลักการอันเดียวกันมันยาก นอกจากแยกไปทำ ดนตรีไทย ดนตรีสากล ละคร นักเขียน นักปั้น ไปเลย (ผู้สัมภาษณ์ : แต่ยังคิดจะทำอยู่เหรอ) ยังคิดจะทำอยู่ 

ปุ๊ : เห็นได้จากตอนโควิด นักดนตรีถูกทอดทิ้ง ค่ารักษาพยาบาลก็ไม่ได้ นักดนตรีต้องขายแฮมเบอร์เกอร์ ต้องหาทางช่วยเหลือตัวเอง รัฐบาลช่วยเหลือพวกเขาน้อยมาก

ตอนโควิดร้านนี้ลำบากเหมือนกัน

แป๊ะ-ปุ๊ : ปิด! 

ปุ๊ : ตอนนั้นปิดร้านที่พระสุเมรุไปเลย 

แป๊ะ : เปิดไปคนก็ไม่มา 

ปุ๊ : กลุ่มสถานบันเทิงนี่มาท้ายสุด ปิดก่อน เปิดท้ายสุด ตอนนั้นยังไม่เห็นแสงสว่างในอุโมงค์ว่าเมื่อไหร่จะได้เปิด เราไม่ไหว เพราะมีทั้งค่าใช้จ่าย ทั้งค่าเช่า (ผู้สัมภาษณ์ : แต่ก็คิดว่าถ้ามีโอกาสจะเปิดที่ใหม่) ใช่ ๆ

อนาคตข้างหน้าของ Brown Sugar

ปุ๊ : ก็คงต้องปรับตามยุคไป 38 ปี ลูกค้าเราไม่ใช่คนเดิมแล้ว บางคนบอกว่าลูกค้า Brown Sugar ตายไปครึ่งหนึ่งแล้ว (หัวเราะ) แต่สำคัญที่สุดคือสไตล์ที่เราออกแบบต้องร่วมสมัย ไม่ใช่คลาสสิกหรือโบราณที่ก้าวล้ำไม่ได้

คิดว่าลูกน่าจะมาทำ แต่ลูกคนเล็กที่เป็นนักดนตรีเขาก็มีทางของเขา เราจะบังคับมาช่วยก็ไม่ได้ เรารอคนโตที่เป็นสายเฮ้ว สายปาร์ตี้ ตอนนี้เขาอยู่เยอรมนี รับจ๊อบเป็นดีเจเปิดเพลงเทคโน-เฮาส์

ตอนเขากลับมาช่วงแรกก็อยากให้ร้านเรามีความผสมผสาน เป็นบาร์แจ๊สและตบท้ายด้วยดีเจเทคโน-เฮาส์ รอบดึก เขาบอกว่าสำหรับที่นู่นมันเวิร์กมาก แต่สำหรับแขกที่นี่ยังไม่ลงตัวเท่าไหร่ ตอนนี้ดึก ๆ ศุกร์-เสาร์ก็เลยเป็นหลานแป๊ะที่เปิด Acid Jazz อยู่

แป๊ะ : แต่ก็อาจเป็นไปได้นะ ต้องมีคนดูแล 

ยังอยากเห็นอะไรในวงการแจ๊สไทยอีกบ้าง

แป๊ะ : อยากให้เมืองไทยเกิด Bangkok Jazz Festival ซึ่งเป็นเทศกาลระดับสากลขึ้น มีนักดนตรีต่างชาติมาเล่น อาจจัดที่สวนหลวง ร.9 หรือพื้นที่ใหญ่ ๆ เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าได้ เมื่อก่อนเคยผลักดันกันอยู่ แต่แรงเริ่มหมด Thailand International Jazz Conference (TIJC) ที่มหิดลทำตอนนี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ แต่ยังอยู่แค่ในวงจรของมหาลัย

ตอนที่พี่ไปรับรางวัล TIJC ปีนี้ก็ได้คุยกับอาจารย์ที่มีส่วนสร้างสรรค์งานว่าอยากจัดงานของกรุงเทพฯ บ้าง ในสวนสักที่ตอนเย็น ๆ แดดร่มลมตก ช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ถ้าทำก็จะช่วยเรื่องการท่องเที่ยวได้ด้วย

ก่อนกลับแป๊ะแอบกระซิบว่าเขากำลังเขียนบทซีรีส์เน็ตฟลิกซ์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ยุคพระเจ้าเสือ ทั้งยังกำลังเสนอเรื่องเกี่ยวกับ ร.ศ. 112 ในอีกแพลตฟอร์ม คนเคยทำหนังยังไง จิตวิญญาณก็ยังอยากทำหนังอยู่อย่างนั้น

ส่วนปุ๊ก็กำลังฝันถึงการทำสวนที่จังหวัดจันทบุรี ไม่แน่ว่าอนาคต Brown Sugar อาจไปเปิดริมทะเล มีแม่ของร้านสร้างสรรค์เมนูคอมบูฉะจากมะพร้าว

เมื่อเราถามว่าหลังจากผ่านเรื่องราวต่าง ๆ มา ในอายุเท่านี้ พี่ ๆ มองชีวิตยังไงกันบ้าง พวกเขาก็พร้อมใจกันหัวเราะ แล้วตอบมาง่าย ๆ

“ชีวิตนี่ไม่รู้นะ พี่คิดแต่ว่าน่าจะเหลือเวลาให้เราเที่ยวกันบ้าง พี่ไม่เคยเที่ยวที่ไหนเลย” แป๊ะว่า ด้วยเหตุผลหลายอย่าง ทั้งเพิ่งผ่านเรื่องคุณพ่อปุ๊เสียเพราะโควิดเมื่อปีที่แล้ว ทั้งต้องดูแลคุณแม่ปุ๊ที่อายุ 98 ในปัจจุบัน หนำซ้ำแป๊ะยังเกิดอุบัติเหตุไปเมื่อปลาย พ.ศ. 2565 ต้องรักษาตัวอยู่นาน

“อยากไปญี่ปุ่น ไปหาเขาเมื่อ 40 ปีที่แล้ว” เขาพูดต่อ แล้วหันไปมองภรรยา

ชีวิตที่ 3 ของร้านเริ่มขึ้นแล้ว มากี่ทีก็เห็นพี่แป๊ะ พี่ปุ๊ นั่งอยู่หน้าร้านทุกครั้ง คงดีถ้าหลังจากนี้ ชีวิตอีกบทของทั้งคู่จะเริ่มต้นเหมือนกัน และมีโอกาสได้ออกเดินทางไปไหนต่อไหนที่พลาดไปในวัยเยาว์บ้าง

พ่อแป๊ะ-แม่ปุ๊ กับชีวิตที่ 3 ของ Brown Sugar บาร์แจ๊สแห่งแรกในประวัติศาสตร์ของคนธรรมดา

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล