ทุกวันนี้ตัวเลข 112 เป็นที่รู้จักกันดีอย่างกว้างขวางในสังคมไทย ในฐานะเป็นมาตราหนึ่งของประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ เรียกว่า ม.112 ซึ่งน่าจะเป็นกฎหมายที่คนไทยรู้จักมากกว่ากฎหมายอื่นใด
และเป็นสาเหตุสำคัญทำให้พรรคก้าวไกล พรรคแกนนำอันดับ 1 จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ และ คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่ได้
แต่คนจำนวนมากยังไม่รู้ว่าตัวเลข 112 ยังเป็นปีสำคัญในประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเอกราชของสยามในอดีต ยุคที่ประเทศมหาอำนาจตะวันตกแผ่ขยายอิทธิพลมาล่าอาณานิคมในแถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เหตุการณ์เกิดขึ้นใน ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) เรียกกันว่า ‘วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112’ หรือ ‘สงครามฝรั่งเศส-สยาม’ เกิดการสู้รบระหว่าง 2 ประเทศบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา อันเป็นความขัดแย้งระหว่างสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 3 และราชอาณาจักรสยามในสมัยรัชกาลที่ 5
ปีนี้ (พ.ศ. 2566) เป็นปีครบรอบ 130 ปีของวิกฤตการณ์สำคัญ ร.ศ. 112
เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนมีโอกาสไปเยี่ยมชมป้อมพระจุลจอมเกล้า บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ตำบลแหลมฟ้าผ่า จังหวัดสมุทรปราการ สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นป้อมปราการสำคัญในการป้องกันผู้รุกรานจากท้องทะเล โดยมีอาวุธสำคัญประจำป้อมคือปืนใหญ่จำนวน 7 กระบอกตั้งอยู่บนป้อม หันออกมาทางแม่น้ำ และได้ฉายาว่า ‘ปืนเสือหมอบ’ เนื่องจากเวลายิงต้องใช้แรงดันน้ำยกปืนใหญ่ขึ้นจากปากหลุม พอยิงเสร็จก็จะลดระดับลงมาในหลุมตามเดิม เพื่อความปลอดภัย
ทุกวันนี้ป้อมพระจุลฯ ได้รับการบูรณะเป็นอย่างดี โดยเฉพาะปืนเสือหมอบ หลักฐานทางประวัติศาสตร์สำคัญที่ครั้งหนึ่งเคยลั่นกระสุนออกไปสู้รบกับเรือรบฝรั่งเศสหลังจากป้อมสร้างเสร็จได้แค่ 3 เดือน
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นยุคสมัยที่ชาติมหาอำนาจตะวันตกต่างพากันออกล่าประเทศอาณานิคมทั่วโลก โดยเฉพาะในทวีปเอเชียที่มหาอำนาจอย่างอังกฤษและฝรั่งเศสพยายามแผ่อิทธิพลมาตลอด เพื่อการแสวงหาวัตถุดิบ ทรัพยากรธรรมชาติสำคัญ และการเป็นตลาดระบายสินค้าที่ชาติตะวันตกผลิตได้มากขึ้น หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในยุโรป มีการประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำและเครื่องจักรทางอุตสาหกรรมหลายชนิด ทำให้ผลิตสินค้าจำนวนมากได้สะดวกสบายขึ้น
ในเวลานั้น ดินแดนที่ล้อมรอบสยามล้วนตกเป็นอาณานิคมของชาติมหาอำนาจทั้งสิ้น พม่าและมลายูตกเป็นของอังกฤษ ขณะที่เวียดนาม เขมร ลาว ตกเป็นของฝรั่งเศส
ลาวในเวลานั้นยังเป็นพื้นที่ความขัดแย้งระหว่างสยามกับฝรั่งเศสมาหลายปีแล้ว
จนกระทั่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2435 รัฐสภาฝรั่งเศสมีมติเห็นชอบให้ใช้กำลังจัดการกับสยามประเทศ หากรัฐบาลสยามไม่ยอมรับสิทธิของฝรั่งเศสเหนือดินแดนลาวที่เคยเป็นของเวียดนาม
สรุปสั้น ๆ คือในเวลานั้น ลาวเคยเป็นประเทศราชของเวียดนามมาก่อน และเมื่อฝรั่งเศสยึดเวียดนามเป็นอาณานิคมได้สำเร็จ ดังนั้นดินแดนของเวียดนามในส่วนที่ยึดครองลาวทั้งหมด (หรือดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง) ต้องตกเป็นของฝรั่งเศสด้วย แต่รัฐบาลสยามไม่ยินยอมในข้ออ้างนี้ เพราะยังไม่ได้ปักปันเขตแดนอย่างชัดเจน และยังตกลงกับฝรั่งเศสที่มีอำนาจเหนือดินแดนแห่งนี้ไม่ได้
10 กรกฎาคม พ.ศ. 2436 ทางการฝรั่งเศสแจ้งว่าจะส่งเรือรบ 2 ลำเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยามาจอดบริเวณหน้าสถานทูตฝรั่งเศส ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แต่รัฐบาลสยามตอบปฏิเสธไป เพราะถือว่าเป็นการคุกคามอธิปไตยของสยามชัดเจน
ก่อนหน้านั้นรายงานลับจากสถานทูตฝรั่งเศสในสยามได้แจ้งข้อมูลให้กับรัฐบาลฝรั่งเศสว่า
สยามยังไม่มีกองทัพประจำการที่ทันสมัย และมียุทโธปกรณ์อยู่อย่างจำกัด อีกทั้งการคมนาคมขนส่งก็เพิ่งพัฒนาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ถนนหรือทางรถไฟเชื่อมกับหัวเมืองก็มีเพียงสายโทรเลขที่เชื่อมกับหัวเมืองสำคัญ กองทัพสยามจึงไม่มีความพร้อมที่จะเผชิญหน้าทางทหารกับกองทัพฝรั่งเศสที่ทันสมัย แต่สำหรับฝรั่งเศส ช่วงเวลานี้คือโอกาสที่ต้องหยิบฉวยไว้ เพื่อสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของสยามและอังกฤษให้ไกลที่สุดจากเวียดนาม
ฝ่ายสยามมีการเตรียมตัวป้องกันเต็มที่ โดยให้ป้อมพระจุลจอมเกล้าและป้อมผีเสื้อสมุทรเป็นปราการสำคัญในการป้องกันศัตรูจากภายนอกร่วมกับเรือรบขนาดเล็ก และวางทุ่น กับดัก เครื่องกีดขวางต่าง ๆ ที่ปากน้ำเจ้าพระยา ในขณะเดียวกัน ทางสยามก็ส่งหนังสือประท้วงไปยังรัฐบาลฝรั่งเศส เมื่อมั่นใจว่าเรือรบฝรั่งเศส 2 ลำกำลังเดินทางออกจากท่าเรือในเมืองไซง่อนของเวียดนาม
วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2436 เรือรบฝรั่งเศส 2 ลำที่ทันสมัยที่สุดในเวลานั้นพร้อมเรือนำร่อง ได้ออกมาจากท่าเรือเวียดนาม แล่นเข้าสู่ปากน้ำเจ้าพระยา
ในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวานนั้น มีความพยายามทางการทูต จนกระทั่งวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2436 ม.เดอแวลล์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ฝรั่งเศส) มีโทรเลขถึง โอกุสต์ ปาวี ราชทูตฝรั่งเศสประจำกรุงเทพฯ ถึงเรื่องที่กองทัพสยามได้วางลูกตอร์ปิโดไว้ในร่องน้ำ ให้แจ้งแก่กองเรือฝรั่งเศสทราบว่ารัฐบาลฝรั่งเศสตกลงจะยับยั้งไม่ให้เรือลำใดข้ามสันดอนเข้าไปก่อนเวลานี้ แต่ยังมิได้ดำเนินการทางการทูตเพื่อยับยั้งความขัดแย้ง เกิดการปะทะกันบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นเสียก่อน และตอนเย็นถึงค่ำ การสู้รบยิ่งทวีความรุนแรงท่ามกลางที่ฝนตกลงมาอย่างหนัก เมื่อเรือรบฝรั่งเศส 2 ลำและเรือนำร่องแล่นเข้ามาในปากน้ำเจ้าพระยา
พลเรือโท พระยาชลยุทธโยธินทร์ ชาวเดนมาร์ก รองผู้บัญชาการการรบของสยามในวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 และเป็นผู้ออกแบบป้อมพระจุลจอมเกล้า บันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนั้นว่า
ขณะนี้เวลาคือ 17.45 น. และฟ้าเริ่มมืด เมื่อเราเห็นเรือฝรั่งเศส 3 ลำออกมาจากกลุ่มฝนที่หนาแน่น และแล่นมาด้วยความเร็วเต็มที่ โดยกระแสน้ำที่พัดเข้ามาอย่างแรงยิ่งเร่งความเร็วมากขึ้น เรือ 2 ลำเป็นเรือรบทาสีขาวขนาดใหญ่ชื่อ ‘แองกองสตังค์’ (Inconstant) และ ‘โคเมต’ (Comete) และทั้ง 2 ลำมีอาวุธหนัก ติดตั้งปืนใหญ่ทั้งบนดาดฟ้า
ข้าพเจ้าออกคำสั่งให้นำกระสุนปืนใหญ่ 2 กระบอกซึ่งติดตั้งแล้วเสร็จพอจะยิงได้ กัปตันวอน ฮอล์ค ถามว่า เราควรใช้กระสุนจริงหรือไม่ เพราะนี่หมายถึงสงคราม ข้าพเจ้าตอบว่า เราควรจะยิงด้วยกระสุนจริง แล้วอะไรจะเกิดต้องเกิด…
เกือบ 6 โมงเย็นและเริ่มมืดแล้ว เรายิงเตือน 3 นัดตามกฎการปะทะในสงคราม ฝ่ายฝรั่งเศสยังคงแล่นเรือเข้ามาใกล้อย่างรวดเร็ว แต่เมื่อนัดที่ 4 ถูกยิงออกจากป้อม แล้วกระสุนที่ตกลงน้ำนั้นเฉียดไปทางหัวเรือของเรือลำแรก ก็มีการชักธงฝรั่งเศสขึ้นมาบนเสากระโดงเรือทุกลำและเริ่มยิงปืนใหญ่ใส่เรา ทั้งลูกปืนใหญ่ ทั้งกระสุนเป็นห่าส่งเสียงหวิดหวิวรอบตัวเรา
จากนั้นเรายิงให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ไปที่เรือรบฝรั่งเศสซึ่งแทบจะมองไม่เห็นเลยเนื่องจากเริ่มมืดแล้ว และเรือโดนปกคลุมไปด้วยควันจากดินปืนที่ยิงออกมาจากเรือและควันจากไอเสียของเรือ และท่ามกลางความมืดยามพลบค่ำที่โรยตัวลงมา เราจะยิงตอบโต้ได้ก็ต่อเมื่อเราเห็นแสงไฟที่วาบขึ้นมาจากปากกระบอกปืนใหญ่ของฝรั่งเศสที่ยิงออกมา
ผลของสงครามครั้งนั้น ทหารฝรั่งเศสเสียชีวิต 3 นาย บาดเจ็บ 3 นาย ฝ่ายไทยเสียชีวิต 8 นาย บาดเจ็บ 40 นาย และเรือรบถูกกระสุนปืนได้รับความเสียหาย 4 ลำ แม้เรือนำร่องของฝรั่งเศสเสียหาย ท้องเรือทะลุ ต้องแล่นไปเกยตื้น แต่เรือรบใหญ่ 2 ลำก็แล่นเข้ามาจอดที่หน้าสถานทูตฝรั่งเศส สมทบกับเรือปืน ‘ลูแตง’ ที่มาจอดเทียบท่าอยู่ก่อนหน้านั้นแล้วได้ เพื่อเป็นการกดดันให้รัฐบาลสยามยอมทำตามข้อเรียกร้องของรัฐบาลฝรั่งเศส โดยยื่นคำขาดที่สำคัญคือ
ยอมเสียดินแดนทั่วไปทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง (ลาวทั้งหมด) เป็นพื้นที่ประมาณ 143,000 ตารางกิโลเมตรให้กับฝรั่งเศส
ชดใช้ค่าปรับ 3 ล้านฟรังก์ให้กับฝรั่งเศสเพื่อชดใช้ค่าเสียหายต่าง ๆ และเป็นเงินค่าทำขวัญ
ฝรั่งเศสจะยึดเมืองจันทบุรีไว้ในอารักขานานกว่า 10 ปี (ระหว่าง พ.ศ. 2436 – 2447) จนกว่าสยามจะชดใช้ค่าเสียหายจนครบ
นอกจากนั้นขณะที่การเจรจาต่อรองยังไม่จบสิ้น ฝรั่งเศสเพิ่มความกดดันด้วยการส่งเรือรบมาจอดคุมเชิงปากแม่น้ำเพิ่ม และส่งทหารจำนวนหนึ่งขึ้นยึดเกาะสีชัง แล้วออกประกาศปิดอ่าวสยามเป็นเวลา 12 วัน สั่งการให้บรรดาเรือต่างชาติออกจากบริเวณนี้ภายใน 3 วัน มิฉะนั้นจะไม่รับประกันความปลอดภัย
ฝรั่งเศสระดมแสนยานุภาพทางทะเลครั้งใหญ่เพื่อปิดอ่าว โดยใช้เรือรบ 12 ลำ รวมถึงเรือรบหุ้มเกราะขนาดใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศส ลูกเรือ 4,000 คน และปืนใหญ่ทุกขนาด 160 กระบอก กดดันให้สยามแทบไม่มีโอกาสต้านทานอำนาจของมหาอำนาจทางทะเลได้เลย
ในที่สุดรัฐบาลสยามไม่มีทางเลือก แม้ตอนแรกยังคิดว่าอังกฤษจะเข้ามาแทรกแซงหรือมาช่วยเจรจาในฐานะมหาอำนาจและคู่แข่งสำคัญของฝรั่งเศส แต่ไม่มีสัญญาณใด ๆ เกิดขึ้น สยามจึงต้องยอมทำตามข้อเรียกร้องทั้งหมดเพื่อยอมแลกกับอธิปไตยของชาติ ในช่วงเวลาที่ประเทศเพื่อนบ้านตกเป็นเมืองขึ้นของชาติมหาอำนาจหมดสิ้น
หลังจากเหตุการณ์ ร.ศ. 112 ไม่นาน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นความจำเป็นในการสร้างนายทหารเรือให้มีความรู้ในการป้องกันประเทศทางทะเล จึงส่ง พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ หรือในเวลาต่อมาคือ นายพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ไปศึกษาที่โรงเรียนนายเรืออังกฤษ และพระองค์มีส่วนสำคัญในการสร้างกองทัพเรือสยามให้ทันสมัยขึ้น จนได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘องค์บิดาแห่งทหารเรือไทย’
และในช่วงเวลานั้นสยามยังโดนฝรั่งเศสถือโอกาสบุกยึดจังหวัดตราด ทำให้กรมหลวงชุมพรฯ ทรงบัญชาให้ลูกศิษย์ของพระองค์สักหน้าอกไว้เป็นคำว่า ‘ร.ศ. 112 ตราด’