ราว 5 – 6 ปีที่แล้ว เราได้ฟังเพลงเพลงหนึ่ง ถ้าเปรียบเพลงนั้นเป็นอาหารจานอร่อย

อาหารจานนั้นมีส่วนผสมของดนตรีฟังก์ โซล ฟังสนุก โยกสนุก เมื่อหูเพลิดเพลิน ความจริงก็เปิดเผย เมื่อเนื้อเพลงท่อนแรกเผลอเข้าปาก นี่มันภาษาใต้! ทันทีทันใด กลิ่นอายทิวทัศน์ของสวนยาง รถเครื่องซูซูกิรุ่นเก่า พี่บ่าว-สาวนุ้ย ก็คละคลุ้งอยู่ในโสตประสาท กลมกล่อมจนต้องอุทานว่า หรอยอย่างแรงนิ

ต้องยกคำชมให้ BOYJOZZ (บอยจ๊อส) หรือ ไชยวัฒน์ บุญสูงเนิน ศิลปินจากจังหวัดนครศรีธรรมราชที่ทำเพลงภาษาท้องถิ่นออกมาได้หรอยหนัด จนคนฟังทั่วฟ้าเมืองไทยยกนิ้วชื่นชม

BOYJOZZ ศิลปินชาวนครผู้ยกระดับเพลงใต้ด้วย Soul-Funk + ภาษาใต้ จนคนฟังบอกหรอยแรงพี่บ่าวเห้อ!

จุดประสงค์การทำเพลงของบอยจ๊อสคือการยกระดับเพลงภาษาถิ่น และเปลี่ยนภาพจำให้เพลงใต้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเพลงเพื่อชีวิตหรือเพลงลูกทุ่ง แต่เพลงใต้และภาษาใต้ก็มีศักยภาพที่จะกลายร่างเป็นฟังก์ เป็นโซลได้ ซึ่งเขาเป็นเพียงลูกคลื่นเล็ก ๆ ในมหาสมุทรดนตรีที่ทลายกรอบและข้ามพรมแดนภาษา-แนวดนตรี จนจุดประกายสร้างสรรค์และแสดงความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้วงการเพลงของประเทศไทย

นี่คือเบื้องหลังการปรุงพิซซาหน้าไตปลาตั้งแต่เริ่มจนยกเสิร์ฟ เอ้า Allez Cuisine!

จากคาราบาวถึงอัลเทอร์เนทีฟ

ก่อนจับไมค์ร้องเพลง คุณทำอะไรมาก่อน – เราเริ่มต้นบทสนทนา

“เราเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ ทำงานเบื้องหลังในวงการภาพยนตร์และโฆษณา เคยทำให้กับภาพยนตร์เรื่อง ผีช่องแอร์, วัยอลวน 4, สายลับจับบ้านเล็ก, แหยมยโสธร, ฟรีแลนซ์..ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ, Seasons Change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ฯลฯ เราอยู่วงการนี้มา 20 ปีพอดี” เขาตอบ

แล้วคุณมาสนใจด้านเพลงและดนตรีตั้งแต่ตอนไหน – เราถามต่อ

“เล่าตั้งแต่ตอนเด็กเลยไหม” เขาถามกลับพร้อมเสียงหัวเราะ เราพยักหน้าแทนคำตอบ

BOYJOZZ ศิลปินชาวนครผู้ยกระดับเพลงใต้ด้วย Soul-Funk + ภาษาใต้ จนคนฟังบอกหรอยแรงพี่บ่าวเห้อ!
BOYJOZZ ศิลปินชาวนครผู้ยกระดับเพลงใต้ด้วย Soul-Funk + ภาษาใต้ จนคนฟังบอกหรอยแรงพี่บ่าวเห้อ!

“น้าชาย-น้าสาวของเราเขาทำวงดนตรีในหมู่บ้านที่อำเภอทุ่งสง เล่นตามงานวัด งานบวช เวลามีงานแสดงเราก็ไปอยู่หน้าเวทีตลอด ยุคนั้นเขาเล่นเพลงของ คาราบาว ทำให้เราอินกับเพลงเพื่อชีวิตตั้งแต่นั้น แล้วเราก็สนุกและมีความสุขกับการเห็นน้า ๆ ซ้อมร้องเพลงและซ้อมเล่นดนตรีอยู่หลังบ้าน

“จน ป.3 เราสมัครเข้าวงดุริยางค์ของโรงเรียน เพราะจริง ๆ อยากเป็นดรัมเมเยอร์แต่ตัวเตี้ย เลยเล่นเมโลเดียน พอเข้า ป.6 ก็ขยับมาเล่นกลองแต๊ก เพราะอยากอยู่ด้านหน้าในพาเหรดกีฬาสี”

บอยซึบซับเสียงดนตรีมาตั้งแต่วัยเยาว์ แนวเพลงและดนตรีก็ขยับตามความสนใจ

“ช่วง ม.1 เราอยากเล่นกีตาร์ พี่ชายก็สอนคอร์ดง่าย ๆ เริ่มเล่นเพลงแรกของ น้าหงา คาราวาน เพราะแถวบ้านชอบฟังเพื่อชีวิต พอ ม.3 ก็เริ่มเล่นเพลงป๊อปของค่ายอาร์เอส แกรมมี่ เพราะไปจีบสาว เลยอยากเล่นโชว์เขา พอเราเรียนจบ ม.3 เป็นยุคของเพลงอัลเทอร์เนทีฟ จำได้เลยว่ากำลังดูรายการ ทไวไลท์โชว์ แล้ว ป๊อด โมเดิร์นด็อก มาเป็นแขกรับเชิญ เขาส่องแสงมาก คิดในใจว่าเราต้องมีวงดนตรีให้ได้ และ นั่นทำให้เราหลงใหลแนวดนตรีอัลเทอร์เนทีฟมาตั้งแต่ตอนนั้น” เขาเล่าด้วยแววตาประกาย

BOYJOZZ ศิลปินชาวนครผู้ยกระดับเพลงใต้ด้วย Soul-Funk + ภาษาใต้ จนคนฟังบอกหรอยแรงพี่บ่าวเห้อ!

หลังเรียนจบมัธยมต้น เขาเลือกเรียนต่อในกรุงเทพฯ เพราะฝันอยากมีวงดนตรีแบบโมเดิร์นด็อก และเขาทำฝันเป็นจริงในช่วงที่กำลังเรียน ปวช. ปี 2 ด้วยการตั้งวงดนตรีกับเพื่อน ๆ และซ้อมเล่นกันทุกเย็นหลังเลิกเรียน เพื่ออัดเทปส่งเดโมไปแข่งขันประกวดวงดนตรีของ Hot Wave Music Awards 

“ซึ่งผลการแข่งขัน คือ ตกรอบ” อดีตมือกีตาร์วงมะเขือพวงหัวเราะ 

“ตอนนั้นก็ผิดหวังนะ เรามีแค่ความฝันกับความมุ่งมั่น แต่ฝีไม้ลายมือยังไม่เก่งขนาดนั้น”

ช่วงชีวิตในกรุงเทพฯ ของเด็กเมืองคอนคนนี้ คลายเหงาด้วยการเกากีตาร์ไฟฟ้าทรง Gibson Les Paul (เขาขายรถชอปเปอร์คันเล็ก ๆ เพื่อซื้อกีตาร์ตัวนี้) และเสพเพลงสากลวงต่างประเทศ อย่าง Guns N’ Roses, Slash, Nirvana, Oasis, Blur, Radiohead ซึ่งได้อิทธิพลการฟังเพลงเหล่านี้จากพี่ชาย

จากนักเรียนช่างอิเล็กทรอนิกส์ เบนสายเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยที่คณะศิลปกรรมออกแบบประยุกต์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม เพราะเขาเชื่อว่าศิลปะกับดนตรีเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกัน

BOYJOZZ ศิลปินชาวนครผู้ยกระดับเพลงใต้ด้วย Soul-Funk + ภาษาใต้ จนคนฟังบอกหรอยแรงพี่บ่าวเห้อ!

จากทีมอาร์ตกองถ่ายถึงศิลปินเพลงใต้

บอยไม่เคยเรียนด้านศิลปะมาก่อน จนเริ่มอินกับประวัติศาสตร์ศิลปะ และสนุกกับการเรียนรู้ด้วยความรู้จากเพื่อนร่วมคณะ จวบจบปีสุดท้ายของการศึกษา เพื่อนของเพื่อนทำงานวงการภาพยนตร์ชักชวนเขาไปช่วยงานทีมศิลปกรรมในกองถ่ายภาพยนตร์ และภาพยนตร์เรื่องแรกที่เขาร่วมทำ คือ ผีช่องแอร์

“ทำงานครั้งแรกได้เงิน 500 บาท เยอะกว่าค่าแรงขั้นต่ำยุคนี้อีก พอทำหนังทั้งเรื่องระยะเวลา 3 – 4 เดือน เขาให้ค่าตัว 60,000 บาท สวรรค์เลย เราก็เอาสิ รออะไร ตอนนั้นดร็อปเรียนทันที” เขาเล่า 

หลังจาก พ.ศ. 2546 บอยก็โลดเล่นอยู่วงการเบื้องหลังภาพยนตร์และโฆษณาจวบจนปัจจุบัน 

“พ่อแม่ก็ถามนะ ทำไมลูกไม่เรียนให้จบ เพราะความภูมิใจของเขาคืออยากเห็นเรารับปริญญา เราก็ผิดหวังที่ทำให้เขาไม่ได้ แต่โชคดีที่พ่อแม่เป็นคนหัวสมัยใหม่ประมาณหนึ่ง รู้ว่าลูกชอบทำอะไรก็สนับสนุนให้ทำสิ่งนั้น เราดันไปเสพติดการทำหนัง เสพติดรายได้จากวงการนี้ แล้วมันก็ยาวเลย 20 ปี”

BOYJOZZ ศิลปินชาวนครผู้ยกระดับเพลงใต้ด้วย Soul-Funk + ภาษาใต้ จนคนฟังบอกหรอยแรงพี่บ่าวเห้อ!

แล้วคุณเอาเวลาที่ไหนไปนั่งทำเพลง – เราถามถึงความสนใจที่เขาพกติดตัวมาตั้งแต่เด็ก

“นี่มันคือข้อดีของการทำงานฟรีแลนซ์” เขายิ้ม “เราอาศัยช่วงว่างจากการรับงานมาทำเพลง เพิ่งทำจริงจังเมื่อปี 2017 มีน้องที่ทำงานจุดประกายให้เรา เขาบอกเราว่า แต่งเพลง ทำเพลงกันดีกว่าพี่”

บอยตอบสั้นกุดว่า “เอาดิ” หลังจากนั้นก็เกิด วง SWINGING ขึ้นมา ทำเพลงแนวป๊อปร็อกที่เขาทำร่วมกับกลุ่มเพื่อนในก๊วนเฟ็ดเฟ่ (Fedfe) ยูทูบเบอร์รุ่นบุกเบิกของแก๊งชายหนุ่มที่ทำคอนเทนต์พิศดาร 

เมื่อสมาชิกเฟ็ดเฟ่เริ่มขยับขยายไปทำสิ่งที่ตนชอบ วง SWINGING ก็เริ่มจางหายจากหน้าฟีดยูทูบ เหลือเพียงแนวดนตรีที่บอยทำเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ ประกอบกับช่วงนั้นเขาคลั่งซื้อแผ่นเสียงแนวแจ๊ส ฟังก์ บลูส์ และสนุกกับการเบลนด์กันของแนวดนตรีที่ว่า จนเกิดความคิดอยากทำเพลงฟังก์เป็นของตัวเอง

“เราไม่อยากทำเพลงป๊อป-ร็อกแล้ว มันมีเยอะในบ้านเรา ถ้าทำคงไม่ต่างจากคนอื่น งั้นทำเพลงแนวฟังก์ดีกว่า เริ่มจากทำดนตรีในแอปพลิเคชันมือถือ เคาะ ๆ วาง ๆ ฟังแล้วโคตรได้เลยว่ะ! ก็เอามาทำต่อในคอมพิวเตอร์ ทำดนตรีเสร็จสรรพ แต่ยังไม่มีเนื้อร้อง ก็เปิดให้ น้องกอฟฟู เฟ็ดเฟ่ ฟัง เขาบอกเราว่า เขามีอีสานโซลแล้ว ทำฟังก์ใต้เลยพี่ ไม่ต้องทำแล้ววง SWINGING เดบิวต์ออกศิลปินเดี่ยวไปเลย”

BOYJOZZ ศิลปินชาวนครผู้ยกระดับเพลงใต้ด้วย Soul-Funk + ภาษาใต้ จนคนฟังบอกหรอยแรงพี่บ่าวเห้อ!

ในฐานะคนใต้และคนทำเพลงภาษาใต้ คุณว่าเสน่ห์ของภาษาใต้คืออะไร

“ภาษาใต้เป็นภาษาที่ตลกนะ เราว่าเสน่ห์คือความห้วน เหมือนจะหยาบแต่ก็ไม่” เขายิ้ม

คำแนะนำสัมฤทธิ์ผล บอยเริ่มจากแต่งท่อนฮุกของเพลง เพราะเป็นหัวใจที่คนจำเพลงของเขาได้ ซึ่งแรงบันดาลใจไม่ได้มาจากแห่งหนใดที่ใกล้โพ้น แต่มาจากความทรงจำของเด็กใต้บ้าน ๆ คนหนึ่ง

“เรานึกถึงตอนเป็นวัยรุ่นสมัยอยู่นคร ขับมอเตอร์ไซค์ไปจีบสาว เราอยากให้เพลงเล่าเรื่องแบบนั้น เรื่องความรักของเด็กใต้ และเด็กคนนั้นต้องเป็นเรา ก็ลองใส่คำว่า ‘อีสาวเห้อ’ ลงไป เพราะอยากให้เกิดความคอนทราสต์ระหว่างแนวดนตรีกับภาษาท้องถิ่น มันเป็นคำบ้าน ๆ ที่ไปคู่กันกับดนตรีเท่ ๆ 

“หลังจากทำเสร็จก็เปิดให้กอฟฟูฟัง เขาก็บอกว่า โคตรได้เลยว่ะพี่ แต่เรายังไม่มั่นใจ ยังไม่กล้าปล่อยเพลง เพราะช่วงนั้นไม่มีคนทำเพลงแนวนี้ กลัวปล่อยออกไปแล้วคนฟังเขาจะไม่ชอบ”

ทำไมคุณคิดแบบนั้น ที่บอกว่า ‘ไม่มั่นใจ’ – เราถามทันที เพราะเพลงเขา โคตรได้เลยว่ะพี่ 

“เพราะเพลงใต้ที่เราทำไม่เหมือนเพลงใต้ที่คนฟังเสพกัน คนฟังมีภาพจำว่าเพลงใต้ต้องเป็นแนวเพลงลูกทุ่ง เพื่อชีวิต หรือไม่ก็เร็กเก้ เลยทำให้เราขาดความมั่นใจ และยึดติดว่าคนจะชอบไหมวะ”

แล้วอะไรเป็นจุดเปลี่ยนให้คุณกล้าปล่อยเพลงแรกที่คุณเองก็ไม่มั่นใจออกมา

“เรากลับมาคิดว่า แล้วกูจะแคร์อะไร เราชอบในสิ่งที่เราทำ เราโอเคกับเนื้อเพลง ก็ตัดสินใจปล่อยเพลง พอปล่อยออกมาได้กระแสดีเกินคาด ยอดวิวมาเร็วมาก มีคนมาขอเพิ่มเพื่อนในเฟซบุ๊กจนเรางง เราไม่เคยคาดหวังเลยว่าเพลงจะดัง เราทำด้วยความอยากทำจริง ๆ มันบริสุทธิ์มาก และเราอยากพัฒนาเพลงใต้ อยากโดดเด่นและไม่ยึดติดกับภาพเดิม เราอยากเป็นไตปลาในหน้าพิซซา” เขาหัวเราะ

BOYJOZZ ศิลปินชาวนครผู้ยกระดับเพลงใต้ด้วย Soul-Funk + ภาษาใต้ จนคนฟังบอกหรอยแรงพี่บ่าวเห้อ!
BOYJOZZ ศิลปินชาวนครผู้ยกระดับเพลงใต้ด้วย Soul-Funk + ภาษาใต้ จนคนฟังบอกหรอยแรงพี่บ่าวเห้อ!

“เพราะสิ่งที่เราอยากสื่อสาร คือการนำเสนอภาคใต้และภาษาพื้นบ้านให้ร่วมสมัย อยากให้คนภาคอื่นมาฟังแล้วบอกว่า เห้ย เพลงใต้เท่ว่ะ เพลงใต้ไม่ได้มีแค่เพื่อชีวิต เพลงใต้มีโซล มีฟังก์ได้

“เราเคยไปแสดงดนตรี แฟนคลับที่เป็นเด็กใต้บอกว่า พี่บ่าว ชอบมาก เติ้นหรอยจังนะ เพื่อนนักดนตรีเพื่อชีวิตจากภาคใต้ก็เคยบอกว่า หรอยจังเพลงนี้ โคตรเท่เลย ร้องได้แรงดี อีสาวเห้อ!

“พอได้ฟังก็อิ่มหัวใจนะ” ศิลปินชาวนครศรีธรรมราชส่งความอิ่มเอมผ่านรอยยิ้มและแววตา

หลังจากผลตอบรับของซิงเกิล อีสาวเห้อ ดีเกินศิลปินคาด เขาทยอยปล่อยเพลงลงแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งหลายแพลตฟอร์ม จนกระทั่ง Fungjai ส่งข้อความมาชวนบอยจ๊อสไปแสดงดนตรี

“ชิบหายแล้ว” เขาอุทานด้วยความดีใจ “ไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าต้องไปเล่นโชว์ด้วย คิดแค่อยากทำเพลง แล้วกูจะไปเล่นกับใครวะ ใจหนึ่งก็อยากเล่นนะ แต่เราดันมีเพลงเดียวนี่สิ” บอยจ๊อสหัวเราะ

“ตอนนั้นก็ไล่ถามเพื่อน ๆ จากวง SWINGING บ้าง จนได้มือกลอง มือกีตาร์ แต่มือเบสหายากมาก เขาแกะเพลงเราแล้วบอกว่า ใครจะเล่นได้ เพราะตอนนั้นโครงสร้างเพลงเราไม่ได้คิดให้คนเล่น แค่ชอบโน้ตนั้นแล้วตัดแปะ ผสมผสานจนออกมาเป็นเพลง แต่สุดท้ายก็ซ้อมกัน 3 เดือนกว่าจะขึ้นเวทีของฟังใจ”

BOYJOZZ ศิลปินชาวนครผู้ยกระดับเพลงใต้ด้วย Soul-Funk + ภาษาใต้ จนคนฟังบอกหรอยแรงพี่บ่าวเห้อ!

คุณขึ้นเวทีครั้งแรกในนาม มะเขือพวง ตอนนี้ขึ้นเวทีอีกครั้งในนาม บอยจ๊อส รู้สึกยังไง

“โคตรตื่นเต้นเลย ไม่คิดไม่ฝัน ทุกครั้งที่ขึ้นไปร้องบนเวทีใจเต้นตุ้บ ๆ แต่จะตื่นเต้นมาก ๆ ถ้าเวทีนั้นไม่มีแฟนคลับเราไปดู หรือคนฟังไม่รู้จักเรา เพราะเราเชื่อว่าปฏิกิริยาของคนฟังส่งมาถึงศิลปินได้”

ไม่เพียงแค่เวทีของฟังใจ แต่บอยจ๊อสพาเพลงภาษาใต้ไปแสดงศักยภาพมาแล้ว ทั้งเวทีเทศกาลดนตรี CAT EXPO เทศกาลดนตรี Big Mountain Music Festival เทศกาล Wonderfruit ฯลฯ

ณ วันนี้ เราเรียกบอยจ๊อสว่า ‘ศิลปิน’ ได้หรือยัง – เราถามคนทำเพลง

“เขิน ๆ นะ เราแค่สำเร็จกับการทำเพลงที่ชอบ ซึ่งเติมเต็มความฝันในวัยเด็กของเราด้วย”

จากซิงเกิล อีสาวเห้อ ถึงอัลบัมทำแต่สวน

“โคตรนานเลยนะ” เขากำลังพูดถึงอัลบัมแรกในชีวิตที่ใช้เวลาบ่มถึง 5 ปี 

“นานตรงคิดเนื้อเพลง ความยากคือภาษาใต้ จะร้องยังไงให้เข้ากับเมโลดี้” 

เมื่อเชฟชั่ง ตวง วัด ส่วนผสม จนไตปลามาอยู่บนแผ่นพิซซาได้อย่างกลมกล่อมลงตัว ถึงเวลาชิมรสชาติ 11 บทเพลง แต่เราขอให้เขาเลือก 5 เพลงที่ควรลิ้มรสเพื่อเปิดหูทางโลกดนตรีให้ทุกท่าน

อ้อ อัลบัมชื่อ ‘ทำแต่สวน’ แปลว่า ‘ทำคนเดียว’ ซึ่งจริงอย่างที่ว่า เขาทำทั้งหมดคนเดียว

หนึ่ง อีสาวเห้อ

เพลงแจ้งเกิดบอยจ๊อส เล่าถึงความรักของเด็กหนุ่มนครศรีธรรมราช

สอง พรกยาง

จากน้ำยางกลายเป็นน้ำตา บอยจ๊อสหยิบความดราม่าของวิกฤตราคายางตกต่ำมานำเสนอในเนื้อเพลง ซึ่งพ่อเฒ่า-แม่เฒ่าที่มีสวนยางต่างก็รอลูกหลานกลับมากรีดยาง แต่ด้วยราคายางตกต่ำ หนุ่มสาวไม่ออกมากรีดยาง อยากประกอบอาชีพอื่น คนในครอบครัวจึงต้องรอจนน้ำตาไหลเต็มพรกยาง

 สาม ใต้โคนพร้าว

บอยจ๊อสบอกว่านี่เป็นเพลงเกาหลี-ใต้ ความพิศดารและยียวนของคนทำเพลงที่แต่งเนื้อเพลงให้มีภาษาใต้สอดรับกับภาษาเกาหลี เป็นเรื่องราวความตลกปนความเศร้าของภาษาและความรัก

สี่ สาวนคร(ศรีเธอมราช)

เพลงนี้นำเสนอคาแรกเตอร์ของสาวนครศรีธรรมราชที่บอยจ๊อสหลงรัก สาวนครฯ คนที่ว่าก็คือแม่ของเขา ส่วนเนื้อเพลงยังคงเสน่ห์ภาษาท้องถิ่น ผสานกับดนตรีโซลสุดอินเตอร์แต่แสนนุ่มนวล

ห้า ปักหมุด ปักษ์ใต้ 

เพลงชวนเที่ยวปักษ์ใต้ผ่านเพลงแรปภาษาใต้ที่หนีร้อน (ไม่แน่ก็หนีรัก) ไปเที่ยวทะเลใต้ 

จากคนใต้ถึงคนใต้

หลังจากผลิตอัลบัมแรกจนสำเร็จ บอยจ๊อสกำลังทำอัลบัมที่ 2 อย่างตั้งใจ เราเลยชวนเขาคุยถึงแผนในอนาคต อย่างการวางแผนในฐานะศิลปิน และการวางแผนชีวิตในฐานะชายวัย 44 ปี

“เราตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะกลับบ้านไปทำสวนกับแฟน ในแง่การทำเพลง เราอยากเป็นโปรดิวเซอร์ให้เด็กรุ่นใหม่ในภาคใต้ ทำห้องอัดและแต่งเพลงเองในแบบของเรา ให้เด็กรุ่นใหม่ร้องลงช่องยูทูบ เพราะเราอยากเห็นซีนเพลงภาษาใต้ที่หลากหลายมากขึ้น และเกิดการแข่งขันกันของเพลงภาษาถิ่น”

เส้นทางศิลปินและการทำเพลงภาษาใต้ ฟังก์และโซล ของ BOYJOZZ หนุ่มนครศรีธรรมราชที่ตั้งใจยกระดับและเปลี่ยนภาพจำเพลงใต้
เส้นทางศิลปินและการทำเพลงภาษาใต้ ฟังก์และโซล ของ BOYJOZZ หนุ่มนครศรีธรรมราชที่ตั้งใจยกระดับและเปลี่ยนภาพจำเพลงใต้

พ่อกับแม่เคยฟังเพลงของคุณไหม เขาคิดเห็นอย่างไรบ้าง

“แม่ภูมิใจมากนะ เหมือนเราได้รับปริญญา” ลูกชายหัวเราะ

“ตอนนั้นเพลง สาวนคร(ศรีเธอมราช) เปิดในรายการวิทยุชุมชน แม่เราเปิดร้านขายน้ำชาตอนเช้า มีญาติพี่น้อง คนเฒ่าคนแก่ นั่งกินน้ำชาอยู่ แล้วแม่ได้ยินเพลงของเรา เขาก็โทรมาหา วิทยุเปิดเพลงมึงนิ เพลง สาวนครฯ เราได้ยินน้ำเสียงดีใจจากแม่เป็นครั้งแรก เพราะแม่รู้ว่าเราเล่นดนตรีมานานแล้ว

“มีภาพหนึ่งแม่เราอัดภาพจากฟิล์มไปใส่กรอบวิทยาศาตร์ติดไว้ข้างฝาบ้าน เป็นภาพวงดนตรีของเรากับเพื่อน ปวช. ที่กำลังเล่นกันอยู่ในห้องซ้อม สงสัยแม่คงภูมิใจในตัวเราจริง ๆ” เขายิ้ม

แล้วสิ่งที่คุณเรียนรู้จากการเป็นศิลปินในวัย 44 คืออะไร – เราถามคำถามสุดท้าย

“เยอะมาก เราเรียนรู้การเล่นคอนเสิร์ต การเจอแฟนคลับ การขอลายเซ็น วิเศษดีนะ เราชอบที่ได้เป็นศิลปิน แต่ชอบในแบบที่ไม่ต้องเป็นศิลปินดัง ถ้าเราอยากดัง เราคงทำเพลงอีกแนวหนึ่งไปแล้ว

“เราอยากให้คนฟังจดจำเราได้ในฐานะคนทำเพลงภาษาใต้กับดนตรีสมัยใหม่

“และเรามีความเชื่อว่า ดนตรีไม่ได้ทำให้เราอยู่รอด แต่เราอยู่รอดได้เพราะมีดนตรี”

เส้นทางศิลปินและการทำเพลงภาษาใต้ ฟังก์และโซล ของ BOYJOZZ หนุ่มนครศรีธรรมราชที่ตั้งใจยกระดับและเปลี่ยนภาพจำเพลงใต้

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล