ผมไม่ใช่นักพฤกษศาสตร์
แต่ผมเขียนเพราะอยากจะพาไปรู้จักทวีปแอฟริกา ผ่านต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ที่นั่น
ในฐานะคนที่อยากรู้จักแอฟริกา อยากรู้จักทวีปนี้อย่างที่เป็น ทั้งผู้คน ชีวิต ความคิด ประวัติศาสตร์ ความเป็นอยู่ของคนและสัตว์ ป่าเขาชายทะเล รวมทั้งต้นไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศโมซัมบิก ประเทศขนาดยาวกว่า 2,500 กิโลเมตรริมชายฝั่งทวีปแอฟริกาด้านตะวันออก ซึ่งที่ทำงานของผม-กระทรวงการต่างประเทศ ส่งไปทำงานครั้งล่าสุดเมื่อเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา
เพราะอยากให้คนอื่นๆ ได้รู้จักทวีปแอฟริกาผ่านต้นไม้ใบหญ้าเหมือนอย่างที่ผมได้เห็นด้วย
เคยสงสัยเหมือนผมบ้างไหมว่า หากเรานึกและมองแผนที่ดีๆ ทวีปแอฟริกาไม่ได้อยู่ไกลจากประเทศไทยเลย เราห่างไกลเพียงแค่มหาสมุทร (อินเดีย) กั้น แต่ทำไมเราถึงรู้จักและรับรู้เรื่องราวและความเป็นไปของประเทศนี้น้อยมาก
หรือจะเป็นดั่งที่เขาว่ากันว่า แอฟริกานั้น ‘Too near yet far – แม้ใกล้แต่กลับไกลแสนไกล’

ไม่เว้นแม้แต่ต้นไม้หลากหลายชนิดที่เราคุ้นเคย แต่เราอาจไม่รู้ว่า แท้จริงแล้วมีถิ่นกำเนิดอยู่ในแอฟริกา ยกตัวอย่างเช่นไม้ยอดนิยมอย่าง ‘ลิ้นมังกร’ หรือกวักมรกต ที่เราคงรู้จักดีเพราะเป็นไม้ใบชั้นเยี่ยมที่ปลูกได้ในออฟฟิศ บ้างก็ว่ามีสรรพคุณฟอกอากาศให้บริสุทธิ์ บ้างก็ว่าเป็นไม้มงคล กวักเรียกสารพัดโชคลาภให้เข้ามาหาต้นไม้อีกหลายชนิดที่เราเห็นจนชินตา และอยู่คู่กับบ้านทุกหลังมาอย่างยาวนานจนเราไม่เคยสังเกต ไม่ว่าจะเป็น ‘ชวนชม’ หรือ ‘ว่านหางจระเข้’ ก็มาจากแอฟริกาเหมือนกัน

เอาล่ะ พร้อมหรือยัง
ผมขอชวนไปดูต้นไม้เหล่านี้ รวมทั้งต้นไม้แปลกตาอื่นๆ ที่ถิ่นกำเนิดของมันอยู่ที่โมซัมบิกในแอฟริกากันเลย
สภาพทุ่งหญ้าป่าเขาในแอฟริกา
ก่อนอื่น ผมขอชวนหลับตาและนึกภาพตาม… แบบนี้
ในทวีปแอฟริกาอันกว้างใหญ่ ทุ่งหญ้าขึ้นเป็นพงแห้งอยู่ที่เส้นขอบฟ้าเมื่อฤดูกาลผลัดเปลี่ยน บ้านเรือนผู้คนสร้างขึ้นอย่างง่ายๆ ด้วยอิฐบล็อกและหลังคาสังกะสี ถนนฝุ่นสีน้ำตาลพาเราเข้าไปพื้นที่เขตชานเมือง

แต่เดี๋ยวก่อน เราอาจคิดแปลกใจไปแล้วล่ะสิว่า ทวีปแอฟริกาไม่ได้ร้อนและแห้งแล้ง มองไปทางไหนก็มีแต่ทรายและฝุ่นสีน้ำตาล ดั่งทะเลทรายที่ไม่มีแม้ชีวิตและสีเขียวของต้นไม้อย่างที่เรานึกกันสิ
ใช่ครับ แต่นั่นก็อาจจะถูกเพียงแค่เสี้ยวเดียว ภาพนั้นที่ผมยังบรรยายไม่จบไม่ได้ร้อนและแห้งแล้งอย่างที่ว่าสักทีเดียว
จริงอยู่ที่ประเทศแอฟริกามีเขตทะเลทรายเป็นดังว่า โดยเฉพาะในเขตทะเลทรายซาฮาราทางตอนเหนือที่กินพื้นที่ 1 ใน 3 ของทวีป และเขตทะเลทรายนามิบทางชายฝั่งด้านตะวันตกเฉียงใต้ติดกับมหาสมุทรแอตแลนติก
ครั้นพูดถึงทะเลทรายแล้ว ขอเปรยไว้ก่อนว่า ทะเลทรายที่แห้งแล้งนั้นก็ไม่ได้ปราศจากสรรพชีวิตสัตว์หรือต้นไม้ แต่กลับอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพรรณและนานาสัตว์ที่วิวัฒนาการปรับตัวได้อย่างดีในเขตแห้งแล้งแบบทะเลทรายเช่นนี้ เช่น อูฐป่าในทะเลทรายซาฮาราที่อดน้ำได้เป็นวันๆ หรือต้นไม้ในทะเลทรายนามิบที่มีใบหนาลดการระเหยของน้ำและเก็บน้ำไว้ที่ใบได้
เมื่อฤดูกลางผลัดเปลี่ยนเข้าสู่ฤดูฝน ความชื้นและเม็ดฝนจากฟากฟ้าทำให้เมล็ดหญ้าจิ๋วที่โปรยปลิวไปทั่วงอกขึ้นเป็นพงหญ้าเขียวขจี ภายในระยะเวลาสั้นๆ ต้นไม้แข่งกันเจริญเติบโต สร้างและเก็บกักตุนอาหารไว้ให้ให้ได้มากที่สุด

กลับมาที่กิจกรรมออกไปเดินเล่นมอง-เก็บต้นไม้ดอกไม้ในแอฟริกาของผม
ผมขอชวนให้ลองนึกบรรยากาศแบบนี้
แทบจะทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ในช่วงปีสุดท้ายของผมที่ทำงานอยู่ในกรุงมาปูโต เมืองหลวงของประเทศโมซัมบิก
ผมตื่นเช้า นัดหมายกับลูกชายเมื่อคืนก่อนว่าพรุ่งนี้เราจะตื่นเช้าไปดูต้นไม้กัน และก็ไม่ลืมนัดแนะกับพนักงานทำความสะอาดของคนสนิท พอเช้าวันรุ่นขึ้น ภรรยาเตรียมอาหารใส่กล่องเล็กๆ ให้ลูกชายคนเดียว ของผมมีแต่กล้วยและห่อบิสกิตสำเร็จรูป เมื่อสมาชิกหลัก 3 คนของเราพร้อมเพียง บางครั้งก็จะมีเพื่อนหรือแขกเหรื่อที่แวะผ่านมาทำงานพอดีไปด้วยกับเรา
ชุดดูต้นไม้ของเราง่ายๆ กางเกงขายาว สวมกับเสื้อยืดไม่ก็เสื้อเชิ้ตแขนยาวป้องกันแดดแผดเผาและหนามแหลมคมจากพงไม้เกี่ยว ผมเตรียมหมวกให้กับลูกชาย แต่สำหรับผมเอง แว่นตาดำกรองแสงจ้าป้องกันโรคไมเกรนโรคประจำตัวก็เพียงพอแล้ว


แล้วก็ขับรถออกเดินทางไปแถบชานเมือง ใกล้บ้าง ไกลบ้าง แต่อยู่ในรัศมีการเดินทางโดยรถยนต์ไม่เกิน 1 ชั่วโมงนิดๆ จากกรุงมาปูโต เพื่อที่จะกลับมาได้ก่อนหัวค่ำในวันเดียวกัน
ต้นไม้ในแอฟริกาไม่เหมือนใครและเท่ด้วย
ผมขอเล่าให้ฟังอีกนิดว่าสิ่งที่เราจะไปดูกันมันมีลักษณะเป็นอย่างไร
ต้นไม้ที่เราจะไปดูกันอาจเป็นเพียงแค่ ‘วัชพืช’ หรือไม่ก็ ‘ดอกไม้ริมทาง’

พวกมันคือต้นไม้ต้นเล็กที่ขึ้นอยู่ดาดๆ ไม่มีใครสนใจ เพราะอาจมิได้มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่ไม้ใหญ่ที่ให้เนื้อไม้แข็งแน่นหนานำมาทำบ้านเรือนหรือเฟอร์นิเจอร์ได้ อีกทั้งยังนำมากินหรือปรุงอาหารไม่ได้ นำไปให้สัตว์กินก็ไม่ได้


ใช่ครับ เราชอบไปดูต้นไม้เหล่านี้กันจริงๆ เพื่อนๆ หลายคนสงสัยว่าไปดูต้นไม้เหล่านี้ทำไม ไม่เห็นมีอะไรน่าดูเลย
เพราะผมรู้สึกว่า พวกมันน่าสนใจมาก อย่างแรกเลยคือมันมีลักษณะแปลกตา เพราะได้วิวัฒนาการสร้างอวัยวะและชิ้นส่วนของต้นให้เก็บน้ำไว้ได้ ไม่ว่าจะที่ราก ใบ หรือลำต้น จนอยู่ได้ในสภาพกึ่งแห้งแล้ง หรือที่เรียกว่าเขต Semi-arid ที่พบได้ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของทวีปแอฟริกา

เขตพื้นที่แบบนี้ในยามแล้งก็แล้งจัด แต่พอในยามฝนตกซู่ พวกมันก็งอกขึ้นจากเมล็ดที่โปรยปราย ร่วงหล่นและปลิวไปขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และออกดอกเป็นจำนวนมากเพื่อล่อแมลงให้มาผสมพันธุ์ ก่อนที่จะกลายเป็นเมล็ดพร้อมเพื่อสืบทอดเผ่าพันธุ์ในรุ่นต่อไป พอๆ กับที่ความแห้งแล้งจะเข้ามาเยี่ยมเยือนอีกครั้ง ชีวิตของมันแบบนี้ถือเป็นความน่าสนใจมากสำหรับผมในประการต่อมา
เท่เลยใช่ไหมครับ

แต่ในความเท่ก็มีความน่าสงสารอยู่ด้วย (ผมพยายามเลี่ยงไม่ใช้คำว่าสงสารกับธรรมชาติ เวลาลูกชายมาถามว่า สัตว์กินกัน สู้กัน ตัวที่แพ้น่าสงสารไหม ซึ่งนั่นเป็นวัฏจักรและความเป็นไปของธรรมชาติมากกว่า)
ต้นไม้เหล่านี้เป็นต้นไม้ต้นเล็กๆ ขึ้นอยู่สูงก็ไม่เกินระดับหัวเข่า ไม่ก็ระดับอกหรือเอว แถมในยามแล้ง พวกมันก็ทิ้งใบหรือไม่ก็ใบแห้งเหี่ยว จนกลายเป็นตอไม้หรือเศษไม้แห้งๆ ถูกกลืนไปกับพงหญ้าแห้ง ในยามหลังฤดูฝน ซึ่งส่วนมากกินระยะเวลาสั้นๆ 2 ครั้งต่อปี ดอกไม้สีสดที่สวยงามก็แย้มกลีบออกเพียงในช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะร่วงโรยพัฒนาต่อไป เพราะพวกมันจำเป็นที่จะต้องใช้เวลาที่มีอยู่สั้นๆ ก่อนที่ความแห้งแล้งจะมาเยือนอีกครั้งนี้ให้ได้ดีที่สุด จะมีใครเล่าสนใจคิดว่าพวกมันมีประโยชน์

เมื่อไม่มีใครเห็นต้นไม้เหล่านี้ จึงไม่มีใครสังเกต เมื่อไม่มีใครเห็นความสวยงามและคุณค่า แหล่งที่อยู่อาศัยของมันจึงถูกเผาเพื่อเปิดพื้นที่เพาะปลูกเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนที่ชาวบ้านจะย้ายไปปลูกในที่อื่น หรือที่เรียกว่า Slash and Burn หนำซ้ำ ความเป็นเมืองที่กำลังรุกคืบเข้ามายังเขตพื้นที่รอบๆ กรุงมาปูโต เช่นเดียวกับพื้นที่ในเขตเมืองอื่นๆ ในแอฟริกา ก็ทำให้ผู้คนเข้ามาจับจองซื้อขายแลกเปลี่ยนที่ดิน และถากถางพื้นที่ที่เต็มไปด้วยต้นไม้นานาชนิดเหล่านี้เพื่อสร้างเป็นที่อยู่อาศัย
ผมได้แต่เพียงมองอย่างเข้าใจ
และบอกตัวเองว่า อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจว่าอะไรถูกหรืออะไรผิด
แล้วก็ออกจากบ้าน ไปดูต้นไม้ในธรรมชาติต่อไป
ต้นไม้รูปร่างแปลกตาที่เห็นได้พาผมไปในที่แปลกๆ ได้ทำให้พบเจอกับผู้คนหลากหลาย ได้เห็นวิถีชีวิตของผู้คนที่เป็นจริง เหล่านี้ทำให้ชีวิตของผมในแอฟริกาที่โมซัมบิกแสนวิเศษ

ไม่ได้มีเพียงแค่เราที่ชอบไปดูต้นไม้
ผมไม่ได้เดียวดายอยู่คนเดียวที่ชอบไปดูต้นไม้ในธรรมชาติ
นอกจากคู่มือต้นไม้ Wildflowers of Southern Mozambique เล่มเล็กที่ตีพิมพ์ขึ้นและหนังสือคู่มือต้นไม้ของประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งมีชายแดนและลักษณะภูมิประเทศใกล้เคียงกับโมซัมบิกอีก 2 – 3 เล่ม ที่ผมใช้ในการจำแนกและทำความเข้าใจกับต้นไม้ชนิดต่างๆ แล้ว ผมยังโชคดีที่ได้รู้ว่ามีอีกหลายคนที่สายตาสอดส่องเห็นต้นไม้รูปร่างแปลกในธรรมชาติ เห็นดอกไม้ดอกจิ๋วสารพัดสีเหมือนกัน
ผมเข้าร่วมในกลุ่มเฟซบุ๊ก Flora of Tropical Africa ที่มีคนหลายสิบคนที่อาศัยอยู่ในแอฟริกาส่งรูปภาพ สภาพถิ่นที่อยู่ และแหล่งที่พบต้นไม้ชนิดนั้นๆ มาแบ่งปัน สอบถาม เล่าสู่กันฟังในชุมชนเสมือนแห่งนี้
เพื่อนสมาชิกที่ผมไม่เคยรู้จักและไม่รู้ค่าหน้าตากัน เป็นแรงบันดาลใจชั้นดี เพิ่มความกระเหี้ยนกระหือรืออยากรู้จักต้นไม้ให้มากขึ้น และได้รู้จักต้นไม้อื่นๆ อีกมาก
ผมออกไปดูต้นไม้ ถ่ายรูป และส่งภาพเข้าไปในกลุ่ม ถือเป็นกิจวัตรที่ผมทำแล้วสนุกและทำให้ไม่รู้สึกเดียวดาย เพื่อแบ่งปันกับสมาชิกของกลุ่มที่อยู่ทั่วแอฟริกา ไม่ว่าจะในแองโกลา แอฟริกาใต้ แทนซาเนีย เคนยา ซิมบับเว บอตสวานา และอีกหลายคนที่ไม่ได้อยู่ในแอฟริกา แต่มีความรู้และความสนใจในต้นไม้ของแอฟริกา ทั้งในยุโรปและเอเชีย
บ่อยครั้ง ผมส่งภาพต้นไม้ที่พบเจอแต่ไม่รู้จักชื่อเสียงเรียงนามไปสอบถามสมาชิกในกลุ่ม เพื่อให้ช่วยจำแนกชนิดให้
หลายครั้งที่ภาพต้นไม้ของผมได้เป็นข้อมูลใหม่ (new record) ของต้นไม้บางชนิดที่ไม่เคยมีรายงานว่า พบในเขตตอนใต้ของประเทศโมซัมบิก ที่ผมตระเวนดูต้นไม้ไปทั่ว อย่างเช่น ต้นกล้วยไม้ดินชนิด Eulophia angolaensis ที่ขึ้นในเขตชุ่มน้ำ ที่ไม่เคยมีรายงานว่าพบในประเทศโมซัมบิกหรือทางตะวันออกของทวีปแอฟริกามาก่อน ดังที่ชื่อชนิด angolaensis ที่แปลว่าพบในประเทศแองโกลา ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของทวีป

หรือต้นไม้ของต้นไม้ที่เป็นญาติๆ กับต้นแคบ้านเรา ชนิด Rhigozum zambesiacum ซึ่งไม่เคยมีรูปถ่ายในธรรมชาติจากโมซัมบิกมาก่อน ที่ผ่านมามีเพียงภาพที่พบในอุทยานแห่งชาติ Kruger ของประเทศแอฟริกาใต้


หลายครั้ง ภาพต้นไม้ที่ผมถ่ายด้วยกล้องจากโทรศัพท์มือถือแบบง่ายๆ และความรู้แบบมือสมัครเล่นที่ผมบันทึกไว้ กลายเป็นภาพต้นไม้ในธรรมชาติที่มีความสมบูรณ์ แสดงลักษณะของต้นไม้ชนิดนั้นๆ พอจะเป็นข้อมูลอ้างอิงได้ จึงได้ปรากฏอยู่บนเว็บไซต์ www.mozambiqueflora.com ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลออนไลน์ที่อาจสมบูรณ์ที่สุดที่รวบรวมพันธุ์ไม้ที่พบในโมซัมบิกไว้ด้วยกัน
ต้นไม้ที่เราได้เห็นกับตา ความรู้เกี่ยวกับนิเวศวิทยาและลักษณะทางสันฐานเกี่ยวกับต้นไม้ที่ได้เห็นและได้รับจากการอ่านหนังสือ รวมถึงข้อมูลที่ได้รับการแบ่งปันจากกลุ่มในเฟซบุ๊กและเว็บไซต์นี้ ทำให้ผมยิ่งสนุกและตื่นเต้นกับการดูต้นไม้
จนหลายครั้ง ผมเก็บเอาไปฝันเป็นเรื่องเป็นราว
เมื่อรู้จักต้นไม้แล้ว แอฟริกาอาจอยู่ใกล้กว่าที่คิด
ผมไม่เคยนึกถึงเรื่องแบบนี้เลย จนนึกถึงเรื่องนี้
ครั้งหนึ่ง พี่ก้อง-ทรงกลด บางยี่ขัน ที่เคยไปเยี่ยมเยือนเมื่อครั้งที่ผมทำงานอยู่ที่เคนยา ก็ทักขึ้นมาในทำนองว่า ในความแตกต่างของผู้คนและวัฒนธรรม แต่ต้นไม้ที่พี่ก้องเห็นในแอฟริกานั้นแทบไม่แตกต่างจากที่เห็นไทยเลย



จริง… ก็จริงอย่างที่ว่า
หลายปีต่อมาจนผมย้ายกลับกรุงเทพฯ และออกมาที่โมซัมบิกอีกทีแล้ว พี่ก้องคนเดิมซึ่งตอนนี้กำลังบ้าเลี้ยงต้นไม้ใบในบ้านก็ส่งข้อความมาเล่าให้ฟังว่า พี่ก้องอ่านหนังสือแล้วเห็นว่ามี ‘ต้นกวักมรกต’ ต้นไม้ชื่อมงคลให้โชคลาภแถมปลูกเลี้ยงง่ายของเมืองไทยที่มาจากโมซัมบิกด้วย
ผมอ่านด้วยความตื่นเต้น เพราะไม่เคยรู้มาก่อนว่ากวักมรกตเป็นต้นไม้ของแอฟริกา
แล้วก็ตอบกลับไปว่า เดี๋ยวผมจะลองชายตาดูว่าจะได้เจอบ้างไหม
จนวันหนึ่ง ผมก็นึกขึ้นมาได้ว่า ผมเคยเห็นต้นไม้รูปร่างหน้าตาคล้ายต้นกวักมรกตที่ผมเห็นทั่วไปที่เมืองไทย ขึ้นอยู่บนเนินทรายใกล้ๆ ที่พักของผม และเป็นที่ที่ผมออกไปดูต้นไม้เป็นประจำ เพียงแต่ที่ผมเห็นไม่ได้สวยงามสมบูรณ์แบบที่เรามาปลูกเลี้ยงกัน
แล้วผมก็กลับไปที่นั่น ที่ที่ผมคิดว่าเคยเห็นกวักมรกต เพื่อที่จะไปดูใกล้ๆ ให้เห็นจริงว่าใช่หรือไม่ ซึ่งปรากฏว่าก็ใช่จริงๆ ผมส่งข้อความพร้อมรูปถ่ายเป็นหลักฐานกลับไปบอกพี่ก้องว่า ผมเจอต้นกวักมรกตของโมซัมบิกแล้ว
ข้อมูลทางพฤกษศาสตร์ระบุว่า กวักมรกต ในชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Zamioculcas zamiifolia พบทั่วไปได้ในชายฝั่งแอฟริกาตะวันออก รวมไปถึงบนเกาะแซนซิบาร์ เกาะใหญ่ทางชายฝั่งประเทศแทนซาเนีย

อีกครั้งหนึ่งผมกลับมาพักที่เมืองไทย เดินเข้าร้านสะดวกซื้อ ก็เห็นยาสมุนไพร ‘เพชรสังฆาต’ หรือ Cissus quadrangularis วางขายในรูปแคปซูล ซึ่งทำให้นึกถึงต้นไม้ชนิดเดียวกันที่ขึ้นเป็นไม้เลื้อยอยู่แทบทุกที่ที่ผมไปในโมซัมบิก
ต้นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในแอฟริกาอย่างต้นเพชรสังฆาตนี้ อาจเข้ามาเมืองไทยผ่านยาตำรับอายุรเวทของอินเดีย ซึ่งได้มีการติดต่อกับแอฟริกามาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยก่อนอาณานิคม โดยเฉพาะในช่วงที่มีการค้าขายในมหาสมุทรอินเดียที่นำโดยชาวอาหรับ
เมื่อได้รู้จักต้นไม้ และพอนึกแบบนี้แล้ว แอฟริกาอาจอยู่ใกล้กว่าที่เราคิดไว้จริงๆ
