ก่อนอื่นขอบอกก่อนเลยว่าเรื่องนี้วิชาการหน่อยนะครับ
คำถามคือ คุณเรียกตู้รถไฟว่าอะไร?
ตู้?
รถ?
โบกี้?
ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่จะตอบว่า โบกี้ เพราะเรียนรู้คำนี้ไปแล้วว่าต้องหมายถึงตู้รถไฟอย่างแน่แท้ แถมชื่อตู้รถไฟแต่ละอย่างของ รฟท. ก็มีคำว่าโบกี้อยู่ในชื่ออีกต่างหาก
ถ้าเราบอกว่าโบกี้ไม่ใช่ตู้รถไฟล่ะ พวกคุณจะเชื่อไหม
อันดับแรก ให้คุณเข้า Google แล้วพิมพ์คำว่า Bogie (ภาษาอังกฤษนะ) จากนั้นกดดูรูปภาพก่อนเลย ทำเลยครับ

เห็นไหม ภาพที่เห็นมันเป็นอุปกรณ์ชนิดหนึ่งหน้าตาแปลกๆ ดูแล้วเหมือนเป็นล้อรถไฟกับเหล็กครอบเอาไว้ นี่น่ะหรือโบกี้
ผมเคยเข้าใจว่าโบกี้คือตู้รถไฟมาก่อนเช่นเดียวกับคุณๆ ทั้งหลาย กว่าดวงตาจะเห็นธรรมก็เล่นเอาแปลความหมายผิดไปแล้วอย่างมหันต์ นับเป็นบาปหนึ่งในชีวิตเลยก็ว่าได้สำหรับคนที่อินรถไฟอย่างข้าพเจ้า
ความผิดพลาดครั้งแรกเกิดขึ้นสมัยฝึกงาน ผมเคยบอกผู้โดยสารต่างชาติกลุ่มหนึ่งว่า “ตั๋วของคุณน่ะอยู่โบกี้แรก” ผลคือฝรั่งทำหน้างงแต่ก็ดูเหมือนจะเข้าใจ ซึ่งตอนนั้นผมยังไม่เอะใจว่าฉันพูดอะไรผิดไปหรือเปล่า จนกระทั่งครั้งที่ 2 ที่ทำให้ดวงตาเห็นธรรม นั่นคือตอนแปลบทความภาษาอังกฤษที่เนื้อหาเกี่ยวกับการออกแบบรถไฟให้ทำความเร็วได้มากกว่าเดิม และอุปกรณ์สำคัญนั้นก็คือ โบกี้ของรถไฟ …เอ๊ะ ทำไมเขาใช้คำว่า Bogie และ Car Body ซ้ำซ้อนกันนะ จึงเกิดความสงสัยจนต้องคว้าดิกชันนารีมาเปิดดู
เมื่อพลิกไปถึงหน้าที่มีคำว่า Bogie Oxford Dictionary ก็ให้ความหมายไว้ว่า
Bogie (n.) British: An undercarriage with four or six wheels pivoted beneath the end of a railway vehicle.
แปลเป็นไทยแบบเข้าใจง่ายๆ คือ โบกี้ (น.) ภาษาอังกฤษแบบอังกฤษ อุปกรณ์ใต้รถพ่วงที่ประกอบด้วย 4 หรือ 6 ล้อ มีจุดหมุนอยู่บริเวณปลายตู้รถไฟ

หากให้สรุปความอย่างเข้าใจง่ายที่สุด โบกี้ก็คืออุปกรณ์ส่วนล่างที่รองรับน้ำหนักตู้รถไฟและลดแรงสั่นสะเทือนตอนวิ่งนั่นเอง
ฉันเข้าใจผิดมากี่ปีเนี่ย
ฉันนี่แหละโบกี้
โบกี้ที่ไม่ได้เป็นนักร้องดูโอ้ค่ายอาร์เอส ไม่ใช่ศัพท์ในวงการกอล์ฟ แต่โบกี้คำนี้เป็นศัพท์เทคนิคทางรถไฟที่ใช้กันมานานพอๆ กับการเกิดขึ้นของรถไฟบนโลก หมายถึงอุปกรณ์ถ่ายเทน้ำหนัก รองรับน้ำหนัก และลดแรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นระหว่างการวิ่งของตู้รถไฟ


เดิมทีตู้รถไฟตั้งแต่ยุคเริ่มแรกไม่ได้มีโบกี้เป็นส่วนประกอบ ตัวตู้รถไฟสั้นและรองรับไว้ด้วยเพลา 2 เพลา (4 ล้อ) ที่เสียบไว้กับโครงซึ่งยื่นมาจากใต้ท้องรถไฟ หน้าตัดของล้อรถไฟซึ่งเป็นทรงกรวยตัดไม่ได้ราบเรียบไปกับหน้าราง แต่มีองศาที่เชิดขึ้นมาเล็กน้อย มีหน้าสัมผัสกับรางรถไฟเพียงแค่บางส่วน นั่นทำให้เกิดการควงตัวของล้อรถไฟ ให้การเคลื่อนที่ส่ายเหมือนงูเลื้อย ส่งผลให้รถไฟประคองตัวอยู่บนรางรถไฟได้

การควงตัวของล้อทำให้ตัวตู้รถไฟเกิดการสั่นสะเทือน ในยุคแรก อุปกรณ์รองรับน้ำหนักตู้รถไฟเป็นเพียงแค่แหนบที่ลดแรงสั่นและแรงกระแทกที่เกิดขึ้นจากการวิ่งของรถไฟบนรางเหล็กที่ไม่ได้ราบเรียบตลอดทาง รถไฟจึงไม่ได้วิ่งเร็วไปกว่าม้าวิ่งเหยาะๆ สักเท่าไหร่
ล้อรถไฟไม่ได้มีหน้าที่เพียงแค่กลิ้งหลุนๆ ไปบนรางเหล็กเท่านั้น แต่ยังมีหน้าที่ในการถ่ายเทน้ำหนักของตัวตู้รถไฟที่กดไปบนราง เหมือนเป็นเท้าของตู้รถไฟแต่ละตู้ ยิ่งแรงกดมากเท่าไหร่ รางเหล็กก็ถูกกระทำมากขึ้นเท่านั้น การเพิ่มล้อรถไฟเข้าไปจึงเป็นอีกวิธีที่ทำให้เกิดการกระจายแรงกดจากล้อไปราง แต่ถึงกระนั้น รถไฟก็ยังคงได้รับแรงสะเทือนมากจากการควงตัวที่ส่งตรงขึ้นไปถึงตู้รถไฟ
การคิดค้นนวัตกรรมเพื่อทำให้รถไฟวิ่งได้นิ่มนวลขึ้นเกิดขึ้นภายใต้โจทย์ที่ว่า รางต้องไม่ถูกแรงกดมากเกินไป รถไฟต้องวิ่งได้นิ่มนวลขึ้น และความเร็วต้องเพิ่มขึ้น คำตอบของวิศวกรรมระบบรางในยุคนั้นคือการย่อขนาดรถไฟแบบ 4 ล้อ ให้เล็กลงเหลือเพียงแค่อุปกรณ์ชิ้นเดียว แล้วจับตู้รถไฟทั้งตู้ไปวางบนอุปกรณ์ตัวนั้นซะ
อุปกรณ์นั้นได้ชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า โบกี้

เมื่อโบกี้ได้ถูกบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของตู้รถไฟแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นคือ รถไฟวิ่งด้วยความเร็วที่มากขึ้นได้ แรงสั่นสะเทือนขณะวิ่งลดลง และรองรับน้ำหนักตู้รถไฟแต่ละตู้ได้มากขึ้น การกระจายน้ำหนักลงสู่รางก็ดีขึ้น รวมถึงเข้าโค้งรัศมีแคบๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะมีจุดหมุนตามสรีระของทางรถไฟ
โบกี้จึงกลายเป็นสิ่งสำคัญต่อวงการรถไฟโลกตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

รถกับรถโบกี้
ตู้รถไฟสมัยเริ่มแรกนั้นเป็นแบบสี่ล้อ ก่อนจะเป็นตู้รถไฟขนาดใหญ่ที่มีโบกี้เป็นส่วนประกอบในตู้ ซึ่งกรมรถไฟหลวง (ในขณะนั้น) ได้บัญญัติคำว่า โบกี้ เป็นภาษาไทยสั้นๆ ว่า ‘แคร่’ ตามลักษณะของมัน ที่เป็นอุปกรณ์รองรับตู้รถไฟทั้งตู้ เหมือนแคร่ที่รองรับการนั่งและนอนของคน
ลักษณนามของตู้รถไฟของไทย แต่ดั้งเดิมใช้คำว่า ‘หลัง’ อาจจะเพราะมันคล้ายบ้านหรือกระท่อมก็เป็นได้ ซึ่งไม่รู้เหมือนกันว่าวิวัฒนาการมาเป็น ‘คัน’ ตั้งแต่เมื่อไหร่
นอกจากนั้นแล้ว การบัญญัติคำเรียกตู้รถไฟก็ได้จำแนกออกเป็น 2 ลักษณะ ด้วยเช่นกัน โดยยึดส่วนประกอบสำคัญเป็นหลัก นั่นคือเจ้าโบกี้ที่รักนั่นเอง ตู้รถไฟที่มี 4 ล้อ กรมรถไฟเรียกมันว่า รถ เช่น รถชั้นสาม รถชั้นสอง รถสำหรับนอน รถตู้ใหญ่ รถสัมภาระ

แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เจ้ารถคันนั้นมี 8 ล้อ และมีโบกี้เป็นส่วนประกอบ ก็จะถูกเรียกว่า รถโบกี้ หมายความว่า เป็นตู้รถไฟที่มีโบกี้เป็นส่วนประกอบ เช่น รถโบกี้ชั้นสาม รถโบกี้ชั้นโท (สอง) รถโบกี้นั่งและนอน รถโบกี้ตู้ใหญ่ รถโบกี้สัมภาระ

หากจะว่ากันตรงๆ การใช้คำว่า รถโบกี้ เป็นการจำแนกประเภทของตู้รถไฟนั้นๆ ทางกายภาพว่าเจ้ารถคันนั้นเป็นรถแบบสี่ล้อ (รถ) หรือรถแบบแปดล้อ (รถโบกี้) กันแน่ เพราะนอกจากจะมีรายละเอียดทางเทคนิคที่ใช้จำแนกประเภทรถแล้ว ยังใช้ในการคำนวณความยาวของขบวนรถไฟ คำนวณน้ำหนักของขบวนรถไฟ ที่มีผลต่อการเดินรถ เช่น การเร่งตัว การเบรก หรือหน่วยลากจูง ได้อีกด้วย และไม่ว่าจะเป็นตู้รถไฟแบบไหน ลักษณนามของมันต้องใช้คำว่า ‘คัน’ หรือ ‘ตู้’ เช่นรถไฟขบวนนี้มี 8 ตู้ ในตั๋วของคุณจะระบุว่าเป็นคันที่ 2

เมื่อเวลาผ่านไป จากกรมรถไฟสู่การรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้ยืนหนึ่งเรื่องรถไฟมาตั้งแต่อดีต มีการใช้รถแบบมีโบกี้มากขึ้น ประชากรรถสี่ล้อก็เริ่มล้มหายตายจาก จนในที่สุดรถโดยสารแบบสี่ล้อก็สูญพันธุ์หมดสิ้น เหลือเพียงแต่รถสินค้าที่เหลืออยู่หรอมแหรม บวกกับคนไทยเองก็ยืนหนึ่งเรื่องการกร่อนคำมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ คำว่า รถโบกี้ เองก็ถูกกร่อนเหลือเพียงคำว่า โบกี้ โบกี้ โบกี้
จาก รถโบกี้ชั้นสาม ก็กลายเป็น โบกี้ชั้นสาม
จาก รถโบกี้สัมภาระ ก็กลายเป็น โบกี้สัมภาระ
จนในที่สุด คนไทยก็เข้าใจไปโดยอัตโนมัติว่าเจ้าโบกี้คือตู้รถไฟ
และสันนิษฐานว่าไทยน่าจะได้รับอิทธิพลศัพท์รถไฟจากภาษาอังกฤษแบบอินเดียมาไม่น้อย จึงเรียกตู้รถไฟว่าโบกี้ด้วยเช่นกัน น่าจะช่วงนั้นเองที่คำว่าโบกี้สำหรับคนไทยหมายถึงตู้รถไฟ
ยอมรับโดยดุษฎีว่าพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยเองก็ยังใช้คำว่า โบกี้ เรียกตู้รถไฟอยู่ เพราะความเข้าใจที่มีมาอย่างยาวนาน โดยไม่ได้ทราบความหมายที่แท้จริงเช่นเดียวกัน
รวมถึงคนที่ตั้งชื่อลูกหลานว่าโบกี้เพราะคิดว่ามันคือตู้รถไฟด้วยเช่นกัน
โบกี้ไม่ใช่ตู้รถไฟ
โบกี้ของรถไฟวิวัฒนาการขึ้นมาตามลำดับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่การรองรับน้ำหนักด้วยแหนบ สปริง ถุงลม จนถึงโบกี้ที่เอียงตัวเพื่อเข้าโค้งแคบๆ ได้โดยไม่สูญเสียความเร็ว จะว่าไปแล้ว บุญคุณของโบกี้มีมากมายเหลือคณานับที่ทำให้เราเดินทางด้วยรถไฟอย่างปลอดภัย สบาย ไม่หัวสั่นหัวคลอน
โบกี้มีหน้าตาและส่วนประกอบต่างๆ แตกต่างกันไป เช่น โบกี้ที่ใช้เฉพาะรถสินค้า โบกี้ที่ใช้เฉพาะรถโดยสาร โบกี้ที่ใช้กับรถนอน โบกี้ที่ใช้กับรถไฟความเร็วสูง ตามสมรรถนะและรูปแบบที่ถูกออกแบบไว้ให้ใช้งานได้เหมาะสมและปลอดภัย



สำหรับในประเทศไทย การใช้คำว่า รถโบกี้ ยังสร้างความสับสนให้ผู้ใช้งานรถไฟพอสมควร เพราะคำว่ารถโบกี้เป็นศัพท์เฉพาะทางที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้งานของผู้โดยสาร เอาจริงๆ ผู้โดยสารเองก็คงไม่ได้อยากรู้ว่ารถที่เขานั่งนั้นมีโบกี้หรือไม่ การมีคำว่า รถโบกี้ อยู่ในชื่อของประเภทตู้รถไฟอาจยากเกินไปสำหรับการสื่อสารเพื่อใช้บริการรถไฟในประเทศไทย
ผมคิดว่าการรถไฟควรจะเปลี่ยนคำเรียกขานตู้รถไฟใหม่ ให้เป็นมิตรต่อการใช้งานมากขึ้น เช่นรถโบกี้นั่งและนอนปรับอากาศชั้นสองก็เปลี่ยนเป็น ‘รถนอนชั้นสองปรับอากาศ’ หรือรถโบกี้สัมภาระมีเครื่องห้ามล้อก็เปลี่ยนเป็น ‘รถขนสัมภาระ’ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อความง่ายต่อการสื่อสาร โดยไม่ยึดติดกับชื่อทางการที่ใช้งานเฉพาะทางมากเกินไป
เมื่อถึงวันนั้นคำว่าโบกี้ที่เข้าใจกันว่าคือตู้รถไฟก็อาจจะค่อยๆ หายไป และในที่สุด คนจะเข้าใจความหมายที่แท้จริงของโบกี้ ว่ามันเป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งของตู้รถไฟเท่านั้น

อีกนิดอีกหน่อย
- ฟากอเมริกาเขาเรียกโบกี้ว่า Truck
- คำว่าตู้รถไฟ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Car หรือ Coach
- มีอินเดียเพียงชาติเดียวที่ใช้คำว่า Bogie หมายถึง ตู้รถไฟ โดยเป็นลักษณะเฉพาะของ Indian English
- สิ่งที่มีอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เหมือนโบกี้ก็มีนะ อุปกรณ์นี้สำหรับรถบรรทุกเราเรียกว่า Rolling Chassis ส่วนของเครื่องบินคือ Landing Gear
- ตู้รถไฟแบบสี่ล้อในปัจจุบันหาแทบไม่ได้แล้ว ใดๆ ในโลกล้วนใช้รถที่มีโบกี้ทั้งนั้น คงเหลือแต่พวกรถสินค้า แต่ก็น้อยนิดจริงๆ
- อย่าลืม โบกี้ไม่ใช่ตู้รถไฟ