15 พฤษภาคม 2019
18 K

เธอๆ… 18 พ.ค. – 19 มิ.ย. นี้ไปวัดสุทธิวรารามกันมั้ย

น่ะๆๆ… อย่าเพิ่งรีบส่ายหัวไป เราไม่ได้จะชวนไปเพิ่มแต้มบุญสวดมนต์นั่งสมาธิ แต่เราอยากชวนไปเพิ่มแต้มประสบการณ์ชีวิต กับนิทรรศการศิลปะดิจิทัลฉายบนผนังโบสถ์ครั้งแรกในเมืองไทย! …ที่สำคัญคือมันฟรีนี่แหละเธอ

ถ้าไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร จงดูวิดีโอนี้

รับรองว่านี่จะเป็นการเข้าโบสถ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุด เพราะเธอจะได้เห็นแสงสีตระการตาจากเทคโนโลยี Projection Mapping ฉายลงบนผนังโบสถ์แทนจิตรกรรมฝาผนัง จะได้ยินซาวนด์เท่ๆ ของ ‘บทสวดมนต์ชยมงคลคาถา หรือ พาหุง’ แทนบทสวดมนต์ขลังๆ แบบเดิมๆ เพราะกลุ่มคนทำเขาตั้งใจให้ผู้ชมทั้งหลายเข้าถึง ‘แก่นธรรมะดั้งเดิม’ ใน ‘เปลือก’ ที่เข้าถึงคนรุ่นใหม่มากกว่าเดิม

ซึ่งกลุ่มคนทำนี่ก็ธรรมดาซะที่ไหน มีหัวเรือใหญ่คือ อู๋-ธวัชชัย แสงธรรมชัย แห่งเอเจนซี่ WHY NOT Social Enterprise เอเจนซี่โฆษณาใช้งานครีเอทีฟเพื่อเล่าประเด็นสังคม ฮ่องเต้-กนต์ธร เตโชฬาร เจ้าของเพจ Art of Hongtae คาแรกเตอร์ดีไซเนอร์ที่มักจะใช้เรื่องราวไตรภูมิมาดีไซน์ ป้อง-ปานปอง วงศ์สิรสวัสดิ์ Design Director แก่น-สารัตถะ จึงเสถียรทรัพย์ Animator แห่ง Another Day Another Render ที่สร้างผลงานวิชวลอาร์ตไว้มากมาย เช่น โปสเตอร์และไตเติลของซีรีส์ เลือดข้นคนจาง จั้ม-ก่อเกียรติ ชาติประเสริฐ และ Korky นักแต่งเพลงโฆษณาแห่ง mellotunes

Bodhi Theatre

ห้าชายนี้มารวมตัวกันได้เพราะเสมอกันในเรื่อง ‘ความเนิร์ดธรรมะ ศิลปะไทย มีเดียใหม่ๆ และอะไรที่อลังการ’

และนี่คือที่มาของความอลังการครั้งแรกของเมืองไทยที่พวกเขาสรรค์สร้างขึ้นในนาม ‘โพธิเธียเตอร์: แก่นเดิม เปลือกใหม่ ของพุทธศาสน์’ (BODHI THEATER BUDDHIST PRAYER : RE-TOLD)

Bodhi Theatre

ขอวัดขอทุนขอแค่คนศีลเสมอกัน

โรงละครในโบสถ์ครั้งนี้เริ่มต้นจากคำถามในใจอู๋ที่ว่า…จะทำยังไงให้คนเข้าวัดมากขึ้น

เขาออกตัวว่าตนเองไม่ใช่คนธรรมะธัมโมขนาดนั้น แต่เขาเชื่อมั่นในศาสนาในแง่ของหลักการดำเนินชีวิตให้มีความสุข และรู้สึกเสียดายทุกครั้งเวลาผ่านวัดช่วงบ่ายแล้วพบว่าพื้นที่นี้ไม่ถูกใช้ ทั้งที่สมัยก่อนวัดใกล้ชิดกับวิถีชีวิตคนไทย แต่ตอนนี้วัดอยู่ตรงไหน  เอ…มันต้องแก้ที่คนหรือแก้ที่วัด หรือวัดต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย

เขาเลยคิดถึงหนังสือเรื่อง ธรรมโฆษณ์ และวิธีโฆษณาธรรมะของท่านพุทธทาสผ่านงานศิลปะในโรงมหรสพทางวิญญาณ ซึ่งเป็นที่ฮือฮาและทำให้คนเข้าถึงธรรมะได้ในสมัยนั้น เลยคิดว่าสมัยนี้ล่ะ… เราควรโฆษณาธรรมะยังไงให้คนเข้าถึงแก่นจริงๆ

ว่าแล้วจึงคุยกับป้อง แก่น ฮ่องเต้ จนผุดไอเดียฉายแมปปิ้งลงผนังวัดไทย ก่อนหอบไอเดียไปปรึกษา คุณพงศ์-ธรากร กมลเปรมปิยะกุล แห่ง Awakening Creative ให้ช่วยหาวัด คุณพงศ์บอกว่า เจ้าอาวาสวัดสุทธิวรารามท่านหัวก้าวหน้าที่สุด น่าจะทำได้ แล้วก็เป็นอย่างที่คุณพงษ์ว่า เพราะแค่ปรึกษาเจ้าอาวาสก็ยินดีไฟเขียว อู๋จึงเริ่มขอทุนสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และ Epson แล้วก็ตามหาคนศีลเสมอกันมาทำงาน

Bodhi Theatre Bodhi Theatre

“ก่อนหน้านี้ฮ่องเต้ ป้อง กับศิลปินอีก 14 คน เคยช่วยกันทำนิทรรศการชื่อว่า ‘กลับตาลปัตร’ เอาตาลปัตรมาเล่าใหม่ เป็นโปรเจกต์แมปปิ้งนี่แหละฉายลงใบตาลปัตร เราพบว่าคนดูเข้าถึงบทสวดงานศพ อนิจจา วต สังขารา ในแบบที่มันไม่ขลัง เขาไม่กลัว แต่เขาเข้าใจว่าชีวิตคือการเปลี่ยนแปลง เราเลยอยากทำงานใหญ่กว่างานนั้น” อู๋เล่า

ซึ่งจริงๆ พวกผมเนิร์ดมากนะ เราคุยกันเรื่องนี้มานาน ผมเคยไปเที่ยวกับพี่ป้องแล้วคุยกันเมื่อ 3 ปีที่แล้วว่าวันหนึ่งเราอยากเอาพวกศิลปะไทยมาทำแมปปิ้งแบบที่ญี่ปุ่น ฉายลงในวัดเลย ถ้าทำที่ไทยได้มันคงดีมากๆ” จั้มกล่าว  

ซึ่งช็อตที่อู๋มาบอกว่ามีโอกาสนี้มาแล้วนะ ขอทุนได้แล้ว ในหัวเรามันคอนเนกต์ได้หมดเลยว่าใครต้องทำงานนี้บ้าง มันเหมือน Avengers กลายๆ (หัวเราะ)” ป้องเล่า

Bodhi Theatre Bodhi Theatre Bodhi Theatre

เลือกแก่นที่อยากสื่อสาร

หลังจากขอวัด ขอทุน และขอคนศีลเสมอกันมาร่วมงาน สิ่งที่พวกเขาทำต่อมาคือ การเลือกแก่นธรรมะที่อยากสื่อสาร แม้จั้ม ฮ่องเต้ จะเคยบวช และคนอื่นๆ จะพอมีประสบการณ์กับธรรมะมาบ้าง แต่พวกเขาก็พบว่าหลักธรรมทั้งหมดนั้นมีมากมายใช่เล่น แค่พระไตรปิฎกหนาๆ เล่มเดียวก็ใช้เวลาอ่านนาน จุดนั้นฮ่องเต้เลยเสนอว่าอาจจะลองเริ่มจากบทสวดมนต์เหมือนโปรเจกต์กลับตาลปัตร หากเรานำบทสวดมนต์ที่คุ้นเคยมาทำให้คนเข้าใจความหมายมันได้จริงๆ…เขาอาจจะนำสิ่งนี้ไปใช้ในชีวิตได้

หาไปหามาแล้วมันก็มาลงเอยที่บทพาหุงหรือชยมงคลคาถา ที่พูดเรื่องชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้าทั้งแปดครั้ง เป็นเมดเลย์ชัยชนะของพระพุทธเจ้าว่าท่านชนะอะไรบ้างและชนะด้วยอะไร”

ตอนนั้นเรามานั่งตีความแล้วพบว่าสิ่งนี้น่าสนใจมาก เพราะชัยชนะทั้งแปดจริงๆ คือชัยชนะเหนือกิเลสอกุศลบางอย่างด้วยคุณธรรมบางอย่างทั้งนั้นเลย ตัวละครในบทสวดเหล่านั้นเป็น Representative ของความโลภ โกรธ หลง อวิชชาต่างๆ ซึ่งพระพุทธเจ้าใช้คุณธรรมชนะได้ พวกเรารู้สึกว่ามันเอามาประยุกต์ใช้กับปี 2019 ได้ คือมันอกาลิโกมาก (ไม่มีกาลเวลา) เราไม่ได้จะเชิดชูอิทธิฤทธิ์ของพระพุทธเจ้าที่สู้พญานาค แต่เรากำลังบอกว่า เห้ย ถ้ามีคนมาใส่ร้ายเรา สิ่งที่เราต้องทำคือแบบนี้ว่ะ” อู๋กล่าว

แล้วบทพาหุงนี้ยังลงตัวในแง่ของการดีไซน์อีกต่างหาก เพราะมี 8 ตอน เราทำเป็นเรื่องสั้น 8 เรื่อง ทำภาพออกมา 8 สไตล์ได้เลย หลังจากนั้นก็เลยเข้าสู่กระบวนการดีไซน์ทั้งหมด” ป้องเล่า

Bodhi Theatre Bodhi Theatre Bodhi Theatre

ดีเบตและดีไซน์จนได้เปลือกที่เข้าถึงคนรุ่นใหม่

4 เดือนก่อนฉายจริง อู๋ ป้อง แก่น  ฮ่องเต้ รวมตัวกันนั่งอ่านประวัติศาสนาพุทธ ศิลปะ เนื้อหา แก่นของบทสวด และแยกกันไปตีความหรือจินตนาการภาพในแบบของแต่ละคน แล้วเอากลับมาถกกันเพื่อสร้างคาแรกเตอร์และทำสตอรี่บอร์ดของทั้งแปดตอน โดยก่อนจะออกแบบคาแรกเตอร์ สิ่งที่พวกเขาจะยึดเป็นหลักคือการเข้าใจแก่นของแต่ละตอนอย่างถ่องแท้

ก่อนจะออกแบบคาแรกเตอร์เราต้องตีความแก่นของเรื่องนั้นให้ออกก่อน อย่างตอนที่ยักษ์มาสู้ เรารู้สึกว่าในเชิง Symbol ของยักษ์นี่มันคือความป่าเถื่อน มันคือสันดานดิบของมนุษย์ เราเลยไม่ใช้ยักษ์ แต่ใช้ร่าง Primitive ของมนุษย์ ก็คือลิงแทนสันดานดิบ แทนจุดตั้งตนของมนุษย์เรา เพื่อพูดว่าเวลาเราโมโหจะดีลกับสิ่งนี้ยังไง” Animator หนุ่มอธิบาย

Bodhi Theatre Bodhi Theatre

และจาก 8 ตอนก็มีตอนหนึ่งที่พวกเราสะดุด คือตอนพรหม ท้าวพกาพรหมคิดว่าตัวเองเจ๋งที่สุดในจักรวาลเลยท้าต่อสู้กับพระพุทธเจ้า แต่สุดท้ายก็ได้รู้ว่าตัวเองเล็กมาก ตอนนั้นพวกเราเห็นภาพต่างกันหมดเลย เราเลยต้องจับให้แน่นว่าแก่นของมันคือการชนะ Pride and Ego (อัตตาตัวตน) ในมนุษย์นี่แหละ สุดท้ายแล้วเราก็ทำสตอรี่บอร์ดออกมาแล้วดีเบตกัน” ฮ่องเต้เล่า

ผมว่านี่แหละความสนุกของโปรเจกต์นี้ เพราะทุกคนจะตีความคนละแบบ อย่างตอนแรกพี่ฮ่องเต้ก็มองแบบตัวพรหมเป็นแบบหนึ่ง ผมได้ฟังตอนแรกเป็นฉากแบตเทิลระหว่างสิ่งเหนือจักรวาล ผมคิดแล้วว่า โอโห เพลงมันต้องยิ่งใหญ่ สุดท้ายพี่ป้องมาตีความอีกแบบ ทุกอย่างที่ผมคิดไว้โดนล้มหมด ทำใหม่” จั้มกล่าว

และในเรื่องการดีไซน์มันก็ท้าทายนะ จริงๆ ดั้งเดิมเราเอาพระพรหมของอินเดียมา อินเดียเอามาจากกรีก ไทยรับมาผ่านพราหมณ์และทำใหม่ในแบบไทย ยุคนั้นทรงนั้น แต่ยุคนี้เราก็คิดว่าเราทำทรงใหม่ได้มั้ย หน้าท่านต้องเรียง 1 2 3 4 เหมือนเดิมมั้ย มี 4 หน้า อยู่ตรงไหนได้บ้าง เราน่าจะดีไซน์ได้ใหม่หมดเลย การ์ตูนญี่ปุ่นเคยดีไซน์พระศิวะใหม่ อย่างเท่ เราก็ต้องถกกันเรื่องนี้ด้วยว่าจะดีไซน์ยังไงในจุดที่มันท้าทายความเชื่อความคุ้นเคย” ฮ่องเต้เล่าให้ฟังเพิ่มเติม

Bodhi Theatre Bodhi Theatre

ระหว่างที่ป้อง แก่น และฮ่องเต้ ทำสตอรี่บอร์ดและหาคาแรกเตอร์ จั้มก็เข้ามาช่วยวิเคราะห์ตีความและเริ่มทำเพลงประกอบ ความพิเศษของเพลงที่จั้มตั้งใจทำคือเพลงต้องเล่าเรื่องและสะท้อนแก่นเรื่องได้แม้ไม่มองภาพ เขาเลยทำทุกอย่างตั้งแต่ไปลองฟังซาวนด์ใหม่ๆ ขออัดเสียงพระสวดมนต์ และอื่นๆ อีกมากมาย

ขั้นตอนทำเพลงสนุกมากเพราะทุกขั้นตอนสนุกหมด มันเป็นโปรเจกต์ที่ทุกคนได้ทำในสิ่งที่จินตนาการไว้แบบไม่มีฟิลเตอร์เลย คือด้วยการที่เจ้าอาวาสไฟเขียวทุกขั้นตอนจนเราทำได้เลย อย่างความตั้งใจคือผมอยากทำให้มันไปไกลกว่านั้น เลยลองคิดให้แบบฟังเพลงนี้เพลงก็จะเล่าเรื่องในแบบของมัน อย่างฉากแรก ‘พญามารบุก’ ทำยังไงให้อยู่ในรูปแบบของเพลงที่ฟังแล้วมันมีมุมของกองทัพจริงๆ เกิดขึ้น ค่อยๆ มา แล้วปะทะ และทุกอย่างต้องซัพพอร์ตภาพ เมกเซนส์ ไม่ใช่เก๋ๆ แล้วจบไป” จั้มเล่า

Bodhi Theatre Bodhi Theatre Bodhi Theatre

สนุกกับการปรับแก้จนนาทีก่อนฉาย

อย่างที่บอกไปว่างานนี้เป็นการฉาย Projection Mapping ลงผนังโบสถ์ครั้งแรกของเมืองไทย และเป็นครั้งแรกของทุกคนที่ทำงานขนาดใหญ่แบบนี้ วันแรกที่นำมาซ้อมฉายพวกเขาพบว่าไม่มีอะไรเป็นอย่างที่คิดเลย…แก้ยับ

จุดที่ยากที่สุดในงานนี้คือฉายจริงครับ เหมือนตอนวางแผนการทำงานเราต้องทำหลายส่วนให้มันเสร็จก่อนที่เราจะมาลองกับสถานที่จริง เพราฉะนั้น พอมาลองแล้วมันก็คลาดเคลื่อนแบบฉายลงหน้าต่างไม่ได้นะ ทับลาย โปรเจกเตอร์วางสูงกว่านี้ไม่ได้ ฉายลงบนพระคิดว่ารอด พอโดนแสงสีทองมันสะท้อนกลับ มองไม่เห็น เราต้องปรับตามโบสถ์ไปเป็นฉากๆ เลย มันก็ท้าทายทุกวินาที” แก่น

แต่จริงๆ โปรเจกต์นี้มันก็ยังสนุก ขนาดแก้ก็สนุก” ป้องว่า  

แล้วผมชอบที่งานนี้มันน่าจะเป็นงานแรกผมที่เคยทำแล้วมันเบสจากจินตนาการเราร้อยเปอร์เซ็นต์เลย เราทำไปด้วยกัน มันมาจากที่เราคิดเราจินตนาการกัน บางทีผมเปิดเพลงมาก่อน พี่ป้องก็แบบนี่เพลงอะไร ไหนคิดภาพจากเพลงสิ โชคดีที่ทีมนี้เราซิงก์กันมาก” จั้มเล่า  

แล้วจริงๆ เราก็ไม่ได้มีแค่ความเหมือน ความต่างเราก็มีซึ่งมันทำให้งานที่ออกมามันโดนคัดกรองผ่านความแตกต่างเราแล้ว มันโดนจากคนที่มีรสนิยม ความชอบ กรอบประสบการณ์แตกต่างกัน มันน่าจะดีเลย

“จริงๆ อีกสิ่งที่เราเตรียมรับแน่ๆ คือเรื่องความคาดหวังและคำวิจารณ์ คือพอมันเป็นเปลือกใหม่แบบนี้ ฉายลงผนังโบสถ์ อาจขัดกับกรอบความเชื่อเดิมๆ  แต่เราอยากส่งต่อแก่นจริงๆ และเรื่องที่เรารับรองกับท่านได้คือเราไม่ทำมั่ว เราทำมาด้วยการศึกษามาจริงๆ จนเรากล้าที่จะตีความในแง่ดีไซน์ที่ค่อนข้างใหม่ เราไม่กล้าแตะขนาดนี้ถ้าเราไม่รู้อะไร” ฮ่องเต้เล่า

และต่อให้มีการวิจารณ์เราก็ยินดีนะ เพราะมันหมายถึงท่านได้เอาวัดมาอยู่ใกล้ชิดกับชีวิตมากขึ้น มาอยู่ในบทสนทนา อยู่ในเฟซบุ๊ก วิจารณ์จากแง่มุมใหม่ๆ คนก็จะได้รู้อะไรที่กว้างขึ้น ซึ่งมันตอบโจทย์ที่เราคิดไว้ว่าทำยังไงให้วัดมาใกล้ชีวิตคนมากขึ้น นั่นแหละโพธิ เธียเตอร์ โพธิ แปลว่า Wake up แปลว่า ตื่นรู้ แปลว่า เห็นความจริง เราก็อยากจะให้เห็นความจริงและเห็นคำสอนที่มันเป็นแก่นจริงๆ และคำว่า Theatre ก็มาจากแนวคิดโรงมหรสพทางวิญญาณที่สวนโมกข์ เราอยากโฆษณาให้คนเข้าใจแก่นธรรมะมากขึ้นครับ” อู๋กล่าวปิดท้าย

Bodhi Theatre

ภาพ : bodhi theatre

จองตั๋วล่วงหน้า (ชมฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย) ได้ที่ https://www.eventpop.me/e/5816-bodhitheater

Writer

Avatar

วิภาดา แหวนเพชร

ขึ้นรถไฟฟ้าหรือไปไหนจะชอบสังเกตคน ชอบคุยกับคนแปลกหน้าโดยเฉพาะ homeless ชีวิตมนุษย์นี่มหัศจรรย์มากๆ เลย ชอบจัง

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan