โรงงาน BMW Group Manufacturing Thailand มีพนักงานกว่า 720 คน ผลิตรถยนต์และมอเตอร์ไซค์กว่า 19 รุ่นเพื่อขายในประเทศและส่งออก

คนในแวดวงรถยนต์คงรู้ว่า เมื่อธุรกิจรถยนต์ชั้นนำมาตั้งโรงงานสาขา ความสามารถในการผลิตของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของพนักงาน ความพร้อมของสถานที่ ไปจนถึงนโยบายภาครัฐ สารพัดปัจจัยที่มีผลต่อการทำงาน

โรงงานรถยนต์ยุโรปในไทยผลิตยานยนต์ได้จำนวนเท่านี้ถือว่าไม่ธรรมดา

หัวใจความสำเร็จของธุรกิจ เริ่มต้นจากสิ่งเล็ก ๆ ที่บางคนมองข้าม

เล็กในระดับที่มองตาเปล่าไม่เห็น อัดแน่นอยู่ในจานอาหารของพนักงานที่เปี่ยมด้วยโภชนาการทุกมื้อ

ใส่ใจในต้นทาง

ความทุ่มเทจัดสวัสดิการอาหารการกินของพนักงานของโรงงานผลิตรถยนต์แห่งนี้ดูพิเศษมากทั้ง ๆ ที่บริษัทไม่ได้ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับอาหารหรือสินค้าสุขภาพแต่อย่างใด

เราอดสงสัยไม่ได้ว่าสวัสดิการนี้มีที่มาอย่างไร ทำไมบริษัทถึงเอาใจใส่ใจเรื่องการกินอยู่ของพนักงานมากกว่าบริษัทอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน

ในหน้าเว็บไซต์สำนักงานใหญ่ของ BMW มีส่วนที่พูดถึงการดูแลสุขภาพของพนักงานหรือ Health Management Program ซึ่งไม่ได้มีแค่ตรวจสุขภาพและประกันภัยเหมือนบริษัททั่วไป แต่ครอบคลุมไปถึงการจัดการโภชนาการ สุขภาพจิต รวมถึงมีหน่วยแพทย์ในบริษัทคอยดูแลอย่างใกล้ชิด

วรรณโศภิน พูลเกิด ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย เล่าให้เราฟังว่าเป็นนโยบายของบริษัท BMW สำนักงานใหญ่ที่ประเทศเยอรมนีที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพของพนักงาน ดูแลใส่ใจเรื่องนี้มาตลอด 26 ปีที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย

การดูแลใส่ใจพนักงานเป็นนโยบายสำคัญที่ทาง BMW ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เครือข่ายการผลิตมากกว่า 30 แห่งใน 15 ประเทศทั่วโลกถือคู่มือการบริหารดูแลพนักงานแบบเดียวกันหมด รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ อาจแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศตามความเหมาะสม แต่เพื่อให้คุณภาพและมาตรฐานเดียวกัน

ทุกปีจะมีพนักงานจากสำนักงานใหญ่ที่ประเทศเยอรมนีมาตรวจสอบให้คะแนน มีการแลกเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติงานระหว่างโรงงานต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ผ่านการรับรองการตรวจติดตาม Food Safety จากสำนักงานใหญ่ และผู้ให้บริการอาหารผ่านการตรวจรับรองมาตรฐาน ISO 22000 ระบบการบริหารงานความปลอดภัยด้านอาหาร ใน พ.ศ. 2565 

ภารกิจการดูแลเรื่องปากท้องพนักงานที่เล่ามาทั้งหมดนั้น ดูแลโดยฝ่ายทรัพยากรบุคคล ซึ่งพนักงานที่ดูแลจะถูกส่งไปดูงาน Internal Food Conference ทุกปีที่เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี นอกจากนี้ยังได้บริษัทคู่ค้าที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามารับช่วงช่วยดูแลงานเหล่านี้ในรายละเอียด เพื่อให้ได้คุณภาพอาหารที่ดีที่สุด

กินดี อยู่ดี

โรงอาหารของ BMW ต่างจากบริษัทอื่นอย่างไร

พื้นที่ห้องอาหารขนาด 1,060 ตารางเมตร เป็นที่ฝากท้องให้กับพนักงานทั้งหมด นอกเหนือจากอาหารปกติ เราจะได้เห็นเมนูอาหารวีแกน (Vegan) ที่ใช้วัตถุดิบจากผัก ผลไม้ และกำลังมองหาแหล่งวัตถุดิบไข่แบบ Cage-free Eggs ไข่ที่ได้จากแม่ไก่ที่เลี้ยงแบบปล่อยอิสระ

แต่ละวันจะมีอาหารให้เลือกหลากหลายเมนู มีทั้งอาหารจานเดียว อาหารพื้นถิ่นของแต่ละภาค รวมถึงขนมหวานซึ่งจะมีสัปดาห์ละ 1 อย่าง ไม่หวานมาก เป็นเมนูฮีลใจตามคำเรียกร้องของพนักงาน ข้าวและผลไม้มีให้ทานฟรี

วัตถุดิบแต่ละชนิดต้องมีแหล่งที่มาที่ตรวจสอบได้ ไม่ใช่แค่ซื้อจากบริษัทที่เชื่อถือได้เท่านั้น แต่ต้องรู้แหล่งที่มาของวัตถุดิบชัดเจน เพื่อให้ตรวจสอบย้อนกลับไปได้กรณีที่มีปัญหา ผักทุกชนิดที่ใช้ประกอบอาหารเป็นผักปลอดสารพิษ

กระบวนการจัดเก็บวัตถุดิบก็ความสำคัญไม่แพ้กัน นอกจากจัดวางวัตถุดิบที่สั่งมาก่อนให้หยิบใช้ง่าย เพื่อนำมาใช้ก่อนแล้ว ยังจัดห้องเย็นเก็บวัตถุดิบประเภทเนื้อสัตว์และผักแยกออกจากกัน เพื่อให้ถูกหลักอนามัยและคงคุณค่าของวัตถุดิบที่จะใช้ประกอบอาหาร เศษอาหารที่เกิดขึ้นในครัว รวมถึงเศษอาหารที่ทานเหลือในห้องอาหารจะนำไปทำปุ๋ยหมักสำหรับใส่ต้นไม้ภายในบริเวณโรงงาน

อาหารทุกมื้อดูแลโดยเชฟมืออาชีพ 3 คนและนักโภชนาการ 1 คนที่จ้างเป็นพนักงานของ BMW ทำงานประจำอยู่ในแผนกทรัพยากรบุคคล คอยคิดเมนูอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ คำนวนแคลอรีสารอาหาร ทุกเมนูนอกจากต้องมีสารอาหารครบถ้วน ยังต้องมีสีสันจากผักหลากหลายชนิดที่ทำให้อาหารจานนั้นดูน่ากินยิ่งขึ้น

ทุกอาทิตย์นักโภชนาการจะแจ้งเมนูประจำสัปดาห์ พร้อมรายละเอียดของส่วนประกอบของอาหารให้พนักงานทราบล่วงหน้า เพื่อพนักงานจะได้วางแผนเตรียมอาหารมาทานล่วงหน้าได้ หากเป็นเมนูที่ไม่ชอบหรือเป็นอาหารที่มีส่วนผสมที่ตนเองแพ้

ช่วงที่โรงงานมีการผลิตนอกเวลาแบบ Overtime ห้องอาหารจะขายอาหารเพิ่มในช่วงเย็นอีก 1 มื้อ ทั้งหมดที่ว่ามารวม ๆ แล้วแต่ละวันบริษัทต้องหุงข้าวกันจำนวนไม่น้อย ถึงขั้นต้องใช้หม้อหุงข้าวระบบไอน้ำขนาดใหญ่ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งนอกจากหุงข้าวได้ปริมาณมากในแต่ละครั้งแล้ว ยังรักษาคุณค่าสารอาหารได้ดีกว่าหม้อหุงข้าวทั่ว ๆ ไปอีกด้วย

ชนิตรา เนื่องจำนงค์ ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู พาร์ทส์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด เล่าเพิ่มว่าพนักงานจะได้เงินอุดหนุนค่าอาหารวันละ 45 บาทในบัตรเติมเงินทุกวัน ถ้าใช้ไม่หมดก็เก็บไว้ใช้ในวันต่อไปได้ หากใช้ไม่พอก็เติมเงินได้ เลือกซื้ออาหารทานที่นี่หรือจะซื้อกลับบ้านก็ได้

มินิมาร์ตขนาดกลางที่มีทั้งอาหารกินเล่นและอาหารพร้อมรับประทานไม่ต่างจากมินิมาร์ตทั่วไป เป็นแหล่งฝากท้องอีกแห่งหนึ่งของพนักงานที่ได้รับการดูแลใส่ใจอย่างคงเส้นคงวา เพื่อรักษามาตรฐานการกินอยู่ที่ดีของพนักงาน

ทุกชั้นวางสินค้าจะมีป้ายสีแดง สีเหลือง และสีเขียว แสดงประเภทปริมาณน้ำตาลที่มีมากน้อยแตกต่างกันในสินค้าแต่ละชนิดบนชั้นวาง เพื่อให้พนักงานได้ชั่งใจก่อนตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าที่ดีต่อสุขภาพ การทำแบบนี้เป็นการช่วยส่งเสริมการกินอาหารที่มีปริมาณน้ำตาลน้อย ซึ่งดีต่อร่างกายทางอ้อมผ่านการให้ข้อมูลของสินค้าแต่ละอย่างผ่านป้ายสีบนชั้นวาง

บางคนอาจคิดว่าเยอะไปมั้ย – ความจริงกิจกรรมและสวัสดิการที่เล่ามาบางส่วนมีที่มาจากพนักงาน บางส่วนเกิดจากการคิดร่วมกันของฝ่ายทรัพยากรบุคคล เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของพนักงาน

ตัวอย่างเช่น การเตรียม Infused Water หรือน้ำผสมผลไม้หรือสมุนไพรไว้ให้พนักงงาน มีจุดเริ่มต้นจากพนักงานฝ่ายผลิตขอให้ฝ่าย HR จัดน้ำหวานเย็น ๆ ไว้บริการเพื่อน ๆ พนักงานในช่วงหน้าร้อนปีที่แล้ว ทางทีม HR เห็นว่าน้ำหวานแม้จะช่วยให้สดชื่นจริง แต่ไม่มีประโยชน์ด้านโภชนาการและไม่ดีต่อสุขภาพของพนักงาน จึงจัดให้เป็น Infused Water แทน ซึ่งช่วยให้ความสดชื่น ยังมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และมีการขอให้นักโภชนาการคิดสูตร Infused Water ที่แตกต่างกันในแต่ละวัน

ช่วงแรกพนักงานฝ่ายผลิตหลายคนไม่คุ้นเคยกับน้ำแบบนี้ มีเสียงบ่นให้ได้ยินอยู่บ้าง แต่หลังจากนั้นก็ได้รับความนิยมจากพนักงาน จนต้องเตรียมไว้ให้บริการทุกวันในห้องอาหารแม้ไม่ใช่ช่วงหน้าร้อน

กิจกรรมการออกกำลังกายก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน ในพื้นที่โรงงานมีทั้งอุปกรณ์ออกกำลังกายในฟิตเนส สนามฟุตบอล และสนามเปตอง ยังมีแคมเปญส่งเสริมให้พนักงานออกกำลังกายในแบบอื่น ๆ เช่น กิจกรรม Virtual Run สะสมแต้มการวิ่งในระยะ 50 กิโลเมตร และ 100 กิโลเมตรในระยะเวลา 1 เดือน โดยใช้รูปถ่ายอุปกรณ์จับระยะทางการวิ่งมาแลกรับของรางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ

สำหรับปีนี้ปรับเปลี่ยนรูปแบบจากการวิ่งคนเดียวเป็นกิจกรรมทีมไตรกีฬาที่มีวิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน และขยายระยะเวลาโดยยังคงเป็นลักษณะ Virtual เหมือนปีที่แล้ว

นอกจากนี้ ในปีนี้ทางสำนักงานใหญ่ที่ประเทศเยอรมนีมี Healthy Heart Campaign รณรงค์ดูแลหัวใจพนักงาน ดูแลใจพนักงานทั้งที่เป็นสุขภาพกาย สุขภาพใจ เริ่มมีกิจกรรมสอนพนักงานฝึกสมาธิ และกำลังติดตั้งเครื่องวัดความดันไว้ให้พนักงานมาวัดความดันได้ด้วยตัวเอง เพื่อให้ทุกคนตรวจเช็กความผิดปกติของการทำงานหัวใจเบื้องต้น ผ่านค่าความดันที่เป็นเกณฑ์หนึ่งของความผิดปกติของหัวใจ

หัวใจดี

ทำไมต้องทำขนาดนี้

BMW เชื่อว่าคุณภาพของงานที่ดี มาจากต้นทางที่ดี 

สุขภาพของพนักงานคือสิ่งจำเป็น บริษัทยินดีลงทุน การผลิตยานยนต์ 1 คันมีรายละเอียดแสนซับซ้อน หากพนักงานมีสุขภาพกายและใจที่แข็งแรงสมบูรณ์ โอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดย่อมมีน้อยลง

ฝ่าย HR ของ BMW ที่ให้ความสำคัญกับ Employee Experience ตั้งแต่วันแรกที่พนักงานก้าวเข้ามา บริษัทเชื่อว่าพนักงานทุกคนรับรู้ รู้สึกได้ และทุ่มเทตอบแทนกลับมาเป็นความตั้งใจทำงาน แม้แต่พนักงานที่ฝ่ายผลิตเข้ามาใหม่ก็พยายามนำเสนองานสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษให้กับพนักงานต่างชาติเข้าใจ และเมื่อได้รับโอกาสไปเรียนรู้งานที่ประเทศเยอรมนี ก็นำความรู้ที่ได้กลับมาถ่ายทอดให้เพื่อนร่วมงานอย่างเต็มที่ 

ปัจจุบันโรงงาน BMW Group Manufacturing Thailand เป็นโรงงานเดียวของ BMW Group กว่า 30 แห่งทั่วโลกที่ประกอบได้ทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นความภูมิใจของพนักงาน BMW

ที่มาของความสำเร็จนี้ ย้อนกลับไปหาสิ่งเล็ก ๆ ที่ตามองไม่เห็น แต่อยู่ในจานข้าวของพวกเราทุกคน

Writer

เพชร ทิพย์สุวรรณ

เพชร ทิพย์สุวรรณ

อดีต Corporate HR ที่ชอบอ่านหนังสือ ดื่มกาแฟกับเค้กอร่อยๆ พอๆ กับเล่า Tips and Techniques การทำงานผ่านงานเขียน ปัจจุบันเป็นวิทยากรและที่ปรึกษาด้านการคัดเลือก พัฒนาบุคคลากรของ ALERT Learning and Consultant