‘babygreenblood’ คือชื่อ TikTok ฝ่าย HR บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด
ถ้ากร่อนชื่อบริษัทเหลือแค่ Bitkub คนในแวดวงสกุลเงินดิจิทัลร้องอ๋อทันที
บิทคับเป็นหนึ่งในบริษัทที่โด่งดังเรื่องสวัสดิการ ครั้งหนึ่งฝ่ายบุคคลเคยโพสต์คลิปให้พนักงานเล่าสวัสดิการของบริษัทลง TikTok ยอดขึ้นหลักแสนวิวอย่างรวดเร็ว
ในช่วงเดือน Pride Month บิทคับมีสวัสดิการเด่น 1 อย่าง คือการอนุญาตให้พนักงานลาไปผ่าตัดแปลงเพศ ซึ่งตามปกติใช้เวลาทำและพักฟื้นหลายสัปดาห์ ถือว่าเป็นสิทธิ์ที่พนักงานพึงได้รับ
ช่วงหลัง เมื่อเรื่อง LGBTQ+ เป็นกระแส หลายบริษัทมีสวัสดิการข้อนี้ ส่วนหนึ่งเพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้มาสมัคร อีกส่วนคือเพื่อประกาศว่าบริษัทสนับสนุนเรื่องความเท่าเทียมหรือหลากหลาย ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยชี้วัดความสำเร็จขององค์กรชั้นนำ
เมื่อเดินเข้ามาในบิทคับ ได้คุยกับพนักงานข้ามเพศ เรารู้สึกว่าที่นี่ไม่ได้เด่นแค่สวัสดิการข้อนั้น แต่ยังสร้างความรู้สึกปลอดภัยในที่ทำงานได้
บางคนเคยทำงานมาหลายแห่ง บอกกับเราว่าทำงานที่นี่มีความสุขที่สุด
ยุคสมัยเปลี่ยน คนมองเรื่องงานกับชีวิตเปลี่ยนไป การทำให้คนมีความสุขในที่ทำงานเป็นเรื่องท้าทายมากขึ้นเรื่อย ๆ บิทคับสร้างบรรยากาศแห่งความสุขแบบที่รู้สึกได้ทันทีที่เดินเข้ามา
บ่ายนี้เรามานั่งคุยกับ สุชาติ ภวสิริพร ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด
หลายคนเรียกเขาว่า พี่เนตร ถ้าสนิทหน่อยก็เรียกว่า ‘แด๊ดดี้’ อย่างคุ้นเคย

บิทคับมีสัดส่วนพนักงาน LGBTQ+ เกือบครึ่งของพนักงานทั้งหมด 780 คน ทุกคนเป็นตัวของตัวเองได้ตั้งแต่วันแรกที่มาทำงาน ตั้งแต่เรื่องการใช้คำลงท้ายระหว่างทำงาน การแต่งตัว ไปจนถึงเรื่องการให้ความเคารพกันและกัน
การทำแบบนี้เป็นการสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่ส่งเสริมบรรยากาศความหลากหลาย ความเท่าเทียมในที่ทำงานที่จับต้องได้ และเห็นได้ชัดว่าทำให้ที่ทำงานมีชีวิตชีวา
การมีสัดส่วนพนักงานแบบนี้ ทำให้เกิดความครึกครื้น สดใส ในสถานที่ทำงาน เราคงเคยได้ยินว่า LGBTQ+ มีความคิดสร้างสรรค์ที่พิเศษกว่าคนอื่น สุชาติยืนยันว่าจริง และเป็นสิ่งที่บิทคับต้องการมาก
ปัจจุบันบริษัทสกุลเงินดิจิทัลถูกควบคุมด้วยกฎเกณฑ์ที่เข้มงวด ปัจจัยนี้ทำให้องค์กรต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ หาทางออกให้ตอบโจทย์ลูกค้า ตอบรับกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนตลอดเวลา ในขณะเดียวกันก็ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบชุดเดียวกับสถาบันการเงินรูปแบบเดิม
นอกจากนี้การมีพนักงานที่หลากหลาย ยังทำให้เข้าใจมุมของลูกค้าทั้งชาย หญิง และกลุ่มลูกค้า LGBTQ+ อีกด้วย
สวัสดิการลาผ่าตัดแปลงเพศเริ่มตั้งแต่กลางปีที่แล้ว พนักงานที่ใช้สิทธิ์นี้ลาได้ตามจำนวนวันตามที่แพทย์ระบุในใบรับรองแพทย์เลยและยังใช้สิทธิ์วันลาต่อเนื่องจากสิทธิ์การลาป่วยต่อได้อีก
สำหรับ LGBTQ+ กลุ่มอื่น ๆ บริษัทจะเน้นเรื่องความเท่าเทียม ในประกาศรับสมัครงานของบิทคับจะไม่มีระบุเพศในแต่ละตำแหน่งที่เปิดรับสมัคร ซึ่งเป็นแบบนี้มานาน ไม่ได้เพิ่งมาปรับเปลี่ยนในช่วงที่กระแส LGBTQ+ ได้รับการยอมรับ
ความโชคดีอีกข้อ คือบิทคับตั้งอยู่ในตึกสำนักงาน FYI Center ที่มีห้องน้ำแบบพิเศษ นอกจากแบ่งเป็นห้องน้ำชาย ห้องน้ำหญิง ยังมีห้องน้ำที่เข้าได้สำหรับทุกเพศ ลดความไม่สบายใจในการใช้ห้องน้ำที่ไม่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเอง


แผนต่อไปของสุชาติ คือคุยกับบริษัทประกันชีวิตเพื่อให้พนักงานกลุ่ม LGBTQ+ ซื้อประกันให้กับคู่รักของตัวเองได้ นอกเหนือจากประกันปกติที่ซื้อเพิ่มให้คู่สมรสเฉพาะที่เป็นชายหรือหญิงเท่านั้น
บิทคับทำแบบนี้ได้เพราะความเชื่อของคณะผู้บริหาร ให้ความสำคัญกับ DEI (Diversity, Equity & Inclusion) ที่เปิดรับกับความหลากหลาย ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียม และตอบรับการมีส่วนร่วมของพนักงานอย่างเต็มที่
โลกของ Bitcoin หมุนเร็ว เปลี่ยนแปลงเพียงชั่วข้ามคืน วัฒนธรรมการทำงานที่นี่จึงเน้นความเร็วและยืดหยุ่น บริษัทจึงเน้นปรับองค์กรให้เข้ากับคนรุ่นใหม่ อายุเฉลี่ยของพนักงานคือ 29 ปี
บิทคับเน้นผลลัพธ์ในการทำงานสูงมาก แต่ก็ยังมีช่องว่างให้กับความสนุกสนานและสร้างการมีส่วนร่วมจากพนักงาน สุชาติเล่าว่าสวัสดิการหลายข้อพนักงานเป็นคนเสนอ มีระบบการให้รางวัลที่เรียกว่า Small Recognition โดยบริษัทจะแจกเหรียญ Kuber ให้พนักงานทุกเดือน คนละ 100 เหรียญ แทนคำขอบคุณให้กับเพื่อนร่วมงาน เหรียญ Kuber แลกเป็นบัตรรางวัลซื้อสินค้าต่าง ๆ ได้ นอกจากนี้ยังมีชมรมให้เลือกตามความสนใจถึง 14 ชมรม สร้างทั้งความสุขและความสัมพันธ์ไปพร้อม ๆ กัน
HR ที่นี่ไม่เน้นการบังคับ แต่ใช้การพูดคุยขอความร่วมมือ หาจุดพอดี และปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม

แด๊ดดี้ยกตัวอย่างเมื่อบริษัทอยากให้คนกลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศ อย่างน้อยอาทิตย์ละ 1 ครั้ง HR จึงจัดกิจกรรมเรียกว่า All in Activities ในทุกวันศุกร์สิ้นเดือน บริษัทสื่อสารเชิญชวนให้พนักงานได้มาเจอเพื่อนร่วมงานมากกว่าพูดเรื่องงาน
นโยบายนี้มีการปรับเปลี่ยนหลายรอบ สุชาติเล่าว่าเคยมีเคสพนักงานที่ทำงานต่างจังหวัด ขอเข้ามาออฟฟิศ 4 วันติดใน 1 เดือน นอกนั้นทำงานที่บ้านตลอด เพราะการเข้ามาพักรวดเดียวประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่า บริษัทก็รับฟังและอนุญาตเช่นกัน
การเข้ามาออฟฟิศอาทิตย์ละครั้งไม่เหมาะกับทีมพัฒนาระบบ เพราะงานเขียน Code โปรแกรมต้องทำงานกับคอมพิวเตอร์หลายหน้าจอ การทำงานในออฟฟิศผ่านเครื่องโน้ตบุ๊กนั้นไม่สะดวก บริษัทเลยอนุญาตให้ทีมเข้ามาหลังจบขั้นตอนที่เรียกว่า Sprint เป็นการเร่งเขียนโปรแกรมตามโจทย์ที่มอบหมาย
รอบการ Sprint จะเกิดขึ้นทุก 2 อาทิตย์ เมื่อทำเสร็จก็มาฉลองความสำเร็จร่วมกันที่ออฟฟิศ เปลี่ยนบทบาทของสำนักงานซึ่งเคยเป็น ‘ที่ทำงาน’ ให้เป็นสถานที่ให้รางวัลทีม
ถือเป็นแนวคิดที่ไม่ค่อยมีใครกล้าทำ ได้ทั้งงาน และได้ใจคน
นอกจากจะต้องหาความลงตัวระหว่างผู้บริหารและพนักงานแล้ว การดูแลเอาใจใส่พนักงานก็สำคัญไม่แพ้กัน ฝ่าย HR ที่นี่ต้องดูแลทั้งพนักงานทั้งในออฟฟิศและคนที่ทำงานจากที่บ้าน ระบบงานและรูปแบบการทำงานของ HR จึงต่างออกไป เช่น มีการคิดโปรแกรม HR on Tour ไปเยี่ยมเยียนพนักงานที่อยู่ต่างจังหวัด ล่าสุดบริษัทเพิ่งเดินทางไปเชียงใหม่ มีพนักงานบิทคับจำนวนกว่า 30 คน หรือเรื่องอาหารการกินก็ได้รับการดูแลด้วยสวัสดิการ Food Delivery Credit ให้พนักงานเลือกสั่งอาหารออนไลน์ได้ 2 ค่าย โดยเปลี่ยนได้ปีละ 1 ครั้ง
ถึงงาน HR จะมีหลากหลายหน้าที่ แต่บทบาทที่สำคัญสุดสำหรับงาน HR ที่บิทคับ คือการสื่อสารอย่างครบถ้วน ตรงไปตรงมา ช่องทางการสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลเหล่านี้ทำได้ทั้งออนไลน์และเจอตัวกันที่ออฟฟิศ ทั้งแบบเปิดเผยตัวตนและไม่เปิดเผยตัวในกรณีการร้องเรียนเรื่องต่าง ๆ
การสื่อสารเป็นจุดแข็งของบิทคับ ผู้บริหารทุกคนสื่อสารกับทีมได้อย่างใกล้ชิด เพราะโครงสร้างบริหารที่ไม่ซับซ้อน พนักงานกับผู้บริหารวัยไม่ห่างกันมาก


แม้แต่ผู้บริหารระดับสูงอย่าง ท็อป-จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ก็เปิดโอกาสให้พนักงานทุกระดับมานั่งกินกาแฟและพูดคุยในรูปแบบที่เรียกว่า Coffee Chat พนักงานทุกระดับนัดคุยกับจิรายุเป็นการส่วนตัวเพื่อให้ฟีดแบ็กในการทำงานร่วมกัน แม้แต่การทำงานร่วมกับจิรายุสเองก็พูดได้
เวลาเห็นบริษัทที่ให้สวัสดิการเยอะ ๆ คำถามคือ แล้วประสิทธิภาพของงานมีมากเท่าความสุขของพนักงานไหม
คำตอบนี้ดูเหมือนจะอยู่ในสโลแกนการทำงานของทีม HR ที่บอกว่า ‘Maximize People’s Productivity and People’s Satisfaction’ ทำให้พนักงานสร้างผลงานให้ได้เต็มที่สุดพอ ๆ กับที่ทำให้พนักงานพึงพอใจสูงสุด สร้างสมดุลระหว่างผลการปฏิบัติงานผ่านกลไกการบริหารผลงาน (Performance Management)
บิทคับจะตั้งเป้าหมายการทำงานของพนักงานแต่ละคน แต่ละทีม และแต่ละแผนก เป้าหมายเหล่านี้ต้องสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กร รวมถึงเชื่อมโยงกันระหว่างทีมงานและระหว่างแผนก ในขณะเดียวกัน พนักงานก็ต้องมีความสุขในการทำงานด้วย
HR จึงเป็นเหมือนตาชั่งที่ต้องรักษาสมดุลระหว่าง 2 ฝั่งให้พอดี เพื่อให้พนักงานมีความสุขมากที่สุดและทำงานได้มีประสิทธิภาพสูงสุด
เพราะบิทคับเชื่อว่า พนักงานไม่จำเป็นต้องเลือกระหว่างชีวิตที่ดีกับผลงานที่ดี เรามีทั้งสองอย่างในเวลาเดียวกันได้
