3 กุมภาพันธ์ 2023
2 K

ที่ผ่านมา สังคมไทยพยายามผลักดัน Soft Power ที่เป็นเรื่องศิลปะ วัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยว วัดวาอาราม อาหาร ฯลฯ แต่ในความเป็นจริง เมืองไทยเรายังมี Soft Power ที่ดีและหลากหลาย ซึ่งน่าหยิบยกมาผลักดันและส่งเสริมกันอย่างจริงจัง หนึ่งในนั้นคือ ‘การท่องเที่ยวดูนก’

นกไม่เพียงทำหน้าที่สำคัญในห่วงโซ่อาหาร แต่พวกมันยังเป็นนักปลูกป่า นักกระจายพันธุ์พืช นักปราบแมลง ทำหน้าที่สำคัญให้กับระบบนิเวศ และพวกมันคือเพื่อนของมนุษย์ที่มีสีสันสวยงาม มีเสน่ห์ มีพฤติกรรมชวนให้เกิดความเพลิดเพลิน เป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ 

หลายประเทศรู้จักนำการดูนกมาเป็น Soft Power บริหารจัดการจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ Scoop รอบนี้จึงขอยกตัวอย่างประเทศต่าง ๆ ที่หยิบยกกิจกรรมดูนกมาเป็นวาระสำคัญ เพื่อผลักดันให้สิ่งนี้ขับเคลื่อนผู้คน สังคม และเศรษฐกิจของประเทศได้ในทางใดทางหนึ่ง 

จีน

วิธีทำให้การดูนกสร้างรายได้กว่า 120 ล้านหยวน

สาธารณรัฐประชาชนจีน บริเวณทะเลสาบโผหยาง ทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ของจีนในมณฑลเจียงซี เทียบเท่ากับจังหวัดระยองของไทย เป็นที่อยู่อาศัยของนกอพยพ 500,000 – 1,000,000 ตัว รวมทั้งนกที่อาศัยอยู่กว่า 500 สายพันธุ์ ทำให้ที่แห่งนี้กลายเป็นแหล่งดูนก ซึ่งทางการจีนมองว่ากิจกรรมนี้ไม่เพียงสร้างความเพลิดเพลิน แต่เป็นการปลูกฝังจิตสำนึกการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมความสัมพันธ์ของคนในชุมชนกับระบบนิเวศ เกิดการจัดตั้งสมาคมอนุรักษ์ เกิดนวัตกรรมการดูนก อีกทั้งช่วยกระจายรายได้ให้ชุมชน 

การดูนก : ประสิทธิภาพ-ความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยมี จนน่าผลักดันสิ่งนี้เป็น Soft Power
ภาพ : birdingbeijing.com/education

หรืออย่างในนครเฉิงตู ตัวอย่างสำคัญที่แสดงถึงวิธีทำให้การชมนกได้รับความนิยมมากขึ้นในรูปแบบของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ นครเฉิงตูได้รับเลือกให้เป็นเมืองสาธิตด้านวัฒนธรรม การท่องเที่ยว และการบริโภคเป็นกลุ่มแรกในประเทศจีน เน้นดึงดูดผู้คนด้วยการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และมีการพัฒนาระบบนิเวศวิทยาอย่างต่อเนื่อง จึงอุดมไปด้วยนกสวยงามนานาชนิด โดยสมาคมชมนกนครเฉิงตูเปิดเผยว่า ปัจจุบันมีนกอาศัยอยู่มากถึง 511 สายพันธุ์ นักท่องเที่ยวจากทั่วสารทิศจึงเดินทางไปเยือนเพื่อชมนก ชมไม้ ชมหิ่งห้อย นอกจากนี้ ภายในสวนสาธารณะชิงหลงหู ยังมีเกาะนกที่เลี้ยงนกแบบอยู่ร่วมกับธรรมชาติ โดยเปิดให้นักท่องเที่ยวชมได้ในระยะไกล เพื่อไม่ให้มนุษย์เข้าไปรบกวนชีวิตของนกมากเกินไป

เมื่อการชมนกได้รับความนิยมมากขึ้น นอกจากจะสร้างรายได้ให้ประเทศถึง 120 ล้านหยวน การปรับปรุงระบบนิเวศวิทยายังช่วยส่งเสริมการพัฒนาเมือง และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้นด้วย 

ภาพ : thaibizchina.com

สหรัฐอเมริกา

อุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องจากกิจกรรมของคนรักนก

เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา มีการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติ ส่งเสริมการดูนกจนเกิดเป็นอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องตามมา ทั้งหนังสารคดี อุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น กล้องดูนก การบันทึกภาพนก อาชีพผู้นำดูนก ซึ่งสร้างรายได้หลายล้านบาทต่อปี

การดูนก : ประสิทธิภาพ-ความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยมี จนน่าผลักดันสิ่งนี้เป็น Soft Power
ภาพ : birdwatchingdaily.com

ญี่ปุ่น 

หมุดหมายที่คนรักนกจำนวนมากอยากไปเยือน

ญี่ปุ่นก็เป็นอีกประเทศอันดับต้น ๆ ที่ผู้ชื่นชอบนกจำนวนมากอยากไปเยือน เพราะมีสภาพภูมิอากาศตั้งแต่แบบกึ่งเขตหนาวไปจนถึงกึ่งเขตร้อน เมื่อรวมความหลากหลายนี้เข้ากับลักษณะภูมิประเทศและฤดูกาลทั้ง 4 จึงกลายเป็นประเทศที่มีสภาพแวดล้อมที่ต้อนรับสัตว์ป่าหลากประเภทให้มาเยือนได้เป็นอย่างดี 

การดูนก : ประสิทธิภาพ-ความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยมี จนน่าผลักดันสิ่งนี้เป็น Soft Power
การดูนก : ประสิทธิภาพ-ความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยมี จนน่าผลักดันสิ่งนี้เป็น Soft Power
ภาพ : Japan.travel

การดูนกที่ญี่ปุ่นที่ถือว่ามีคุณค่ามากที่สุดอาจเป็นการดูนกกระเรียนมงกุฎแดง นกที่ใคร ๆ ก็ยกให้โดดเด่นเรื่องความสง่างาม เป็นสัญลักษณ์ของความสุขและอายุยืนยาว นกชนิดนี้มีเรื่องราวปรากฏอยู่ในศิลปะของญี่ปุ่นมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ดังที่พบได้บนกิโมโนของเจ้าสาว ขวดสาเก และฉากกั้นกระดาษ 

นกกระเรียนมงกุฎแดงเป็นที่รู้จักมากที่สุดจากการเต้นหาคู่ ซึ่งมีท่าทางงดงามราวกับได้รับการออกแบบท่าเต้นมา โดยพวกมันจะเต้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 

ฮอกไกโด ถือเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ดีที่สุดของโลกในการดูนก เนื่องจากมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรนกกระเรียนมงกุฎแดงในโลกอาศัยอยู่ที่นี่ จากความพยายามอนุรักษ์และฟื้นฟูจำนวนประชากรนกกลับมาหลังจากถูกล่าจนเกือบสูญพันธุ์ จนสุดท้ายจำนวนนกในพื้นที่ชุ่มน้ำคุชิโระของฮอกไกโดเพิ่มขึ้นจากประมาณ 20 ตัว เป็นกว่า 1,300 ตัว และเกิดพฤติกรรมที่เหล่านักดูนกให้ความสนใจ นั่นคือพวกมันไม่ย้ายถิ่นฐาน หรือย้ายห่างออกไปเพียง 150 กิโลเมตรเท่านั้นในฤดูหนาว ซึ่งเป็นปรากฏการณ์พิเศษที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักในนกกระเรียนมงกุฎแดง

ด้วยเหตุนี้ ฮอกไกโดจึงกลายเป็นแหล่งรวมสายพันธุ์นกครึ่งหนึ่งของประเทศ รวมถึงกลายเป็นภูมิภาคยอดนิยมสำหรับนักดูนกและนักท่องเที่ยว 

หรือนกกระสาในโทโยโอกะ เมืองชายฝั่งของญี่ปุ่น อยู่ห่างจากเกียวโตไปทางตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง ภูมิภาคนี้ทุ่มเททรัพยากรจำนวนมากในการฟื้นฟูจำนวนประชากรนกกระสาป่าซึ่งสูญพันธุ์ไปแล้ว ตัวสุดท้ายเสียชีวิตที่นี่ในปี 1971 และในปี 1985 นกกระสาฝูงใหม่ได้ถูกนำเข้ามาจากรัสเซีย จากนั้นจำนวนประชากรนกจึงฟื้นตัวมาเป็นประมาณ 170 ตัว 

หนึ่งในวิธีที่ใช้ฟื้นฟูจำนวนประชากรนกกระสา คือการปลูกข้าวออร์แกนิกในทุ่งนา ให้ผืนดินเต็มไปด้วยสัตว์ที่เป็นอาหารของพวกมัน ซึ่งผลพลอยได้ที่ตามมา นอกจากจำนวนนกที่เพิ่มขึ้น ยังเกิดพืชผลที่กลายเป็นผลิตภัณฑ์ระดับพรีเมียม ชื่อว่า ‘โคะ โนะ โทะริ-ฮะกุคุมุ-โอะโคะเมะ’ (ข้าวนกกระสา)
ในประเทศญี่ปุ่น การดูนกถูกยกให้เป็น Soft Power และการปกป้องแหล่งที่อยู่อาศัยของนกนั้นถือเป็นงานสำคัญ มีสถานที่ที่ได้รับการกำหนดว่าเป็นพื้นที่สำหรับนกและความหลากหลายทางชีวภาพถึง 160 แห่ง ซึ่งได้รับการระบุโดย BirdLife International ตามข้อมูลขององค์กรการกุศลนี้ ญี่ปุ่นมีนก 446 สายพันธุ์ ซึ่ง 49 สายพันธุ์ในนั้นอยู่ในสถานะถูกคุกคามทั่วโลก และ 21 สายพันธุ์เป็นนกเฉพาะถิ่น ซึ่งพื้นที่สำหรับนกเฉพาะถิ่น 3 แห่ง ได้แก่เกาะอิซุ เกาะโอกะซะวะระ และเกาะนันเซ

สิงคโปร์

การสร้าง Jurong Bird Park สวนนกที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย

แม้สิงคโปร์ที่ถึงจะมีทรัพยากรธรรมชาติไม่มากนัก แต่กลับสร้างสวนนกชื่อดังอย่าง ‘Jurong Bird Park’ ด้วยความตั้งใจให้เป็นสวนนกใหญ่ที่สุดในเอเชีย มีนกกว่า 5,000 ตัว จาก 400 สายพันธุ์

บนพื้นที่ 20.2 เฮกตาร์ นับว่าเป็นสถานที่รวบรวมสัตว์ปีกแทบทุกสายพันธุ์ รวมถึงมีการแสดงที่สนุกสนาน โชว์แบบอินเทอร์แอคทีฟ โดยทั้งหมดมีนกเป็นพระเอกในทุกกิจกรรม 

การดูนก : ประสิทธิภาพ-ความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยมี จนน่าผลักดันสิ่งนี้เป็น Soft Power
ภาพ : visitsingapore.com

อาณาบริเวณกว้างขวางของ Jurong Bird Park มีส่วน Waterfall Aviary หนึ่งในกรงนกใหญ่ที่สุดในโลกที่เดินเข้าไปชมได้ ที่นี่คือบ้านของนกกว่า 600 ตัว มีน้ำตกสูง 30 เมตร และมีกรงนกโนรีแบบวอล์กอินที่ใหญ่ที่สุดในโลก สูงกว่าตึก 9 ชั้น นักท่องเที่ยวจะได้ใกล้ชิดกับนกโนรีสีสันสวยงาม 15 สายพันธุ์ และเพนกวินโคสต์อีกหลากหลายสายพันธุ์ Flamingo Lake ที่เต็มไปด้วยเจ้านกจอมวางมาดนับร้อยตัว และใกล้กันยังมี Pelican Cove รวบรวมนกกระทุงครบทุกสายพันธุ์ มีการบินโชว์ของนกอินทรี เหยี่ยวฟัลคอน เหยี่ยวฮอว์ก การแสดงใน High Flyers Show และยังมีบริการพักค้างคืนที่แคมป์ของสวนนก ซึ่งอยู่ใกล้กับที่อยู่ของนกเพนกวินและนกชนิดอื่น ๆ กิจกรรมค้างคืนนี้จัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ หรือใครอยากแอบดูนกเกิดใหม่ก็ไปที่ Breeding & Research Centre ได้ ไฮไลต์อยู่ที่ห้องฟักไข่ ห้องอนุบาล และห้องหย่านม

ไทย

วามเป็นไปได้ที่การดูนกจะกลายเป็นอีกหนึ่ง Soft Power 

สำหรับประเทศไทย เราตั้งอยู่ในเขตตะวันออก มีลักษณะเด่นทางชีวภูมิศาสตร์หลายประการ และได้ชื่อว่าเป็นศูนย์รวมความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งมีนกเป็นต้นทุนทางธรรมชาติที่มีคุณค่ามากมาย ประเทศไทยมีนกกว่า 986 ชนิด ทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพ รวมถึงนกจาก 2 คาบสมุทร คือคาบสมุทรอินโดจีนและคาบสมุทรมาลายู นกเหล่านี้ช่วยสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับเมืองไทยมานาน มีทั้งนกป่า นกน้ำ นกชายเลน นกทุ่ง แม้แต่นกเมือง

ทั่วทุกภูมิภาคของไทยมีแหล่งที่นักดูนกไปเยือนได้ หรือแม้แต่พื้นที่ชานเมืองกรุงเทพฯ อย่างสถานที่ตากอากาศบางปู จ.สมุทรปราการ หรือ ชายทะเลบ้านกาหลง จ.สมุทรสาคร ที่ส่วนใหญ่เป็นนกชายเลนและนกทะเล มีบ้างที่เป็นนกป่าโกงกาง ก็ยังพบกับนกนางนวล นกซ่อมทะเลอกแดง นกยางเขียว นกกระจ้อยป่าโกงกาง เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฤดูกาล สถานที่ และปัจจัยอื่น ๆ 

การมาดูนกในเมืองไทยถือเป็นหนึ่งในโปรแกรมที่นักดูนกจากทั่วโลกให้ความสนใจ เช่น การดูนกที่ดอยอินทนนท์ เทศกาลนับนกเหยี่ยวที่ชุมพร นกเงือกรวมฝูงที่เขาใหญ่ นกชายเลนปากช้อนซึ่งเหลือไม่ถึง 400 ตัวแถวนาเกลือ จ.สมุทรสาคร เป็นต้น 

ตัวอย่างสถานที่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ที่นักท่องเที่ยวสามารถปักหมุดเดินทางไปดูนกได้ ได้แก่ 

การดูนก : ประสิทธิภาพ-ความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยมี จนน่าผลักดันสิ่งนี้เป็น Soft Power
การดูนก : ประสิทธิภาพ-ความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยมี จนน่าผลักดันสิ่งนี้เป็น Soft Power

ภาคเหนือ ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง พื้นที่สูงที่สุด 2,565 เมตรอยู่ที่ดอยอินทนนท์ ประกอบด้วย ป่าเต็งรัง ป่าโปร่ง ป่าดิบชื้น ป่าสน ป่าดิบเขา มีแหล่งดูนก เช่น ดอยอินทนนท์ ดอยปุย-สุเทพ ดอยเชียงดาว ดอยอ่างขาง ดอยผ้าห่มปก แม่ฝาง ท่าตอน เชียงแสน ดอยม่อนจอง แม่ปิง ลุ่มน้ำปาย สาละวิน แม่เมย ดอยขุนตาล ดอยผาเมือง ดอยผาช้าง ดอยลังกา ดอยภูคา 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีที่ราบสูง พื้นที่สูงสุดที่บริเวณดงพญาเย็น สูงประมาณ 1,200 – 1,500 เมตร ประกอบด้วย ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง ป่าดิบบางส่วน มีแหล่งดูนก เช่น เขาใหญ่ ปางสีดา ทับลาน ภูหลวง น้ำหนาว ภูหินร่องกล้า ภูเขียว 

ภาคตะวันออก เป็นที่ราบและภูเขาสูงอยู่ที่เขาสอยดาว สูงประมาณ 1,670 เมตร ประกอบด้วย ป่าดิบฝน ป่าดิบแล้งบางส่วน และป่าชายเลนริมชายฝั่งทะเล มีแหล่งดูนก เช่น เขาสอยดาว เขาอ่างฤาไน เขาเขียว บางพระ

ภาคตะวันตก มีผืนป่าที่สมบูรณ์และกว้างใหญ่ที่สุดในประเทศ มีเทือกเขาตะนาวศรีเป็นเส้นเขตแดนจนถึงภาคใต้ พื้นที่สูงน้อยกว่าภาคเหนือ ภูเขาสูง 1,811 เมตร ประกอบด้วย ป่าดิบแล้ง ป่าดิบ ป่าเต็งรัง ป่าไผ่ ป่าเบญจพรรณ มีแหล่งดูนก เช่น อุ้มผาง ทุ่งใหญ่นเรศวร ห้วยขาแข้ง เกริงกระเวีย ทองผาภูมิ แก่งกระจาน แม่น้ำภาชี เขาสามร้อยยอด 

ตัวอย่างการสร้างรายได้จาก 'กิจกรรมดูนก' ของจีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อเมริกา เพื่อชี้ว่าไทยก็ชูสิ่งนี้เป็น Soft Power ได้
ตัวอย่างการสร้างรายได้จาก 'กิจกรรมดูนก' ของจีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อเมริกา เพื่อชี้ว่าไทยก็ชูสิ่งนี้เป็น Soft Power ได้

ภาคใต้ ส่วนใหญ่เป็นที่ราบต่ำและภูเขา พื้นที่สูงสุด 1,835 เมตรอยู่ที่เขาหลวง ฝนตกชุกทำให้พื้นที่ประกอบไปด้วยป่าดิบฝนและป่าชายเลนริมฝั่งทะเล ปัจจุบันพื้นที่สมบูรณ์หลายแห่งถูกตัดถางเป็นสวนยางและปาล์ม มีแหล่งดูนก เช่น คลองนาคา คลองแสง-เขาสก เขาหลวง คลองพระยา เขาพนมเบญจา เขานอจู้จี้ บ้านในช่อง เขาปู่-เขาย่า เขาช่อง โตนงาช้าง ทะเลบัน บูโด-สุไหงปาดี ฮาลาบาลา เกาะลิบง ทะเลน้อย 
หรือหากไม่อยากเดินทางไกล พื้นที่ใกล้กรุงเทพฯ ซึ่งมีสภาพแวดล้อมเหมาะสมกับกิจกรรมดูนกก็มีให้เลือกหลากหลาย 

ทั้งสถานที่ตากอากาศบางปู จ.สมุทรปราการ ส่วนใหญ่เป็นนกชายเลนและนกทะเล มีบ้างที่เป็นนกป่าโกงกาง นกที่น่าสนใจคือ นกนางนวล นกซ่อมทะเลอกแดง นกยางเขียวนกกระจ้อยป่าโกงกาง และนกนางนวลแกลบ 

ชายทะเลบ้านกาหลง จ.สมุทรสาคร กลางเดือนกันยายนจะเริ่มมีนกชายเลนทยอยย้ายถิ่นฐานมาที่นี่ นกที่พบได้แก่ นกตีนเทียน นกหัวโตทรายเล็ก นกอีก๋อยเล็ก นกทะเลขาแดงลายจุด นกชายเลนปากโค้ง นกพลิกหิน และฝูงนกนางนวลแกลบ นอกจากนี้ หาดโคลนที่นี่ยังเป็นทำเลที่พบนกหายากของโลก 3 ใน 51 ชนิดที่ขึ้นบัญชีไว้ใน Red Data Book คือ นกชายเลนปากช้อน นกทะเลเขาเขียวลายจุด และนกซ่อมทะเลอกแดง

หรือวัดไผ่ล้อม จ.ปทุมธานี เป็นแหล่งที่นกปากห่างทำรังและวางไข่ และยังพบนกกระเต็นหัวดำ นกเด้าลมดง นกเค้าจุด บางครั้งอาจพบนกกระทุงและนกกุลาได้ด้วย 

ตัวอย่างการสร้างรายได้จาก 'กิจกรรมดูนก' ของจีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อเมริกา เพื่อชี้ว่าไทยก็ชูสิ่งนี้เป็น Soft Power ได้

ในช่วง 20 – 30 ปีที่ผ่านมา คนไทยตื่นตัวและให้ความสำคัญกับเรื่องนกมากขึ้น มีการจัดกิจกรรมแข่งขันดูนกระดับโลก เพื่อชวนนักดูนกจากทั่วโลกมาเยือนเมืองไทย มีชมรมดูนกเกิดขึ้นมากมาย เกิดโครงการอนุรักษ์ ทั้งนกเงือก นกแต้วแร้วท้องดำ โครงการปล่อยนกกระเรียนคืนสู่ธรรมชาติ และยังมีข่าวการพบนกที่หาดูยาก ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณดีที่จะนำไปสู่การผลักดันให้สิ่งนี้กลายเป็น Soft Power ของประเทศ เป็นโอกาสสร้างเศรษฐกิจสีเขียว ต่อเนื่องไปถึงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงและกระจายรายได้สู่ชุมชน เช่น สร้างอาชีพผู้นำดูนก มัคคุเทศก์ท้องถิ่น รวมถึงภาคส่วนอื่น ๆ ก็อาจใช้โอกาสนี้ได้เช่นเดียวกับตัวอย่างในต่างประเทศที่กล่าวไปข้างต้น

ทั้งนี้ สิ่งที่อยากให้ตระหนักถึงกิจกรรมดูนกก็คือ นี่ไม่ใช่เพียงกิจกรรมที่ทำแล้วเพลิดเพลิน แต่การดูนกจะพาทุกคนออกไปสัมผัสอากาศบริสุทธิ์ เชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อม ช่วยสร้างความเข้าใจถึงความสัมพันธ์และความสำคัญของสรรพชีวิต และจะเป็นการดีอย่างยิ่ง หากการดูนกในเมืองไทยซึ่งนับว่าเพียบพร้อมไม่แพ้แหล่งดูนกติดอันดับโลกอื่น ๆ ถูกหยิบยกมาเป็นยุทธศาสต์ชาติ หรือได้รับการผลักดันให้เป็น Soft Power ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างชาติได้เช่นเดียวกับวัฒนธรรมอันดีงามอื่น ๆ 

ข้อมูลอ้างอิง
  • Thaibizchina.com
  • Japan.travel
  • visit Singapore.com
  • TNN News
  • จารุจินต์ นภีตะภัฏ, กานต์ เลขะกุล และวัชระ สงวนสมบัติ. คู่มือศึกษาธรรมชาติหมอบุญส่ง เลขะกุล นกเมืองไทย.

Writer

เกษม ตั้งทรงศักดิ์

เกษม ตั้งทรงศักดิ์

นักกิจกรรมสังคม สิ่งแวดล้อม เขียนหนังสือเป็นงานหลังเกษียณ