เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสมาดูนกอพยพที่บ้านปากทะเล อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เพิ่งได้ความรู้ใหม่ว่า เพชรบุรีได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงของนกในเมืองไทย

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

ในบรรดานก 1,060 ชนิดที่พบในเมืองไทย มีการพบว่านกกว่า 400 ชนิดอาศัยอยู่ในจังหวัดเพชรบุรี เรียกว่ามากกว่าจังหวัดอื่นใดในประเทศ เพราะเพชรบุรีมีทั้งป่าผืนใหญ่หลายแห่ง อาทิ ป่าแก่งกระจานและชายทะเล ทั้งหาดเลน หาดทรายหลายแห่ง แหล่งอาศัยชั้นดีของนกชนิดต่างๆ โดยเฉพาะนกอพยพ

บ้านปากทะเล ในจังหวัดเพชรบุรี เป็นแหล่งทำนาเกลือสำคัญของประเทศ และเป็นบริเวณที่มีนกอพยพหนีความหนาวเย็นจากขั้วโลกเหนือบินมาอาศัยพักพิงจำนวนมาก อาทิ นกทะเลขาเขียวลายหลายจุด นกตีนเทียน นกอีก๋อยใหญ่ นกน็อทใหญ่ นกปากช้อนหน้าดำ นกชายเลนปากช้อน ฯลฯ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-เมษายน ของทุกปี

เช้าตรู่วันรุ่งขึ้น ผู้เขียนมาเดินอยู่กลางบ่อนาเกลืออันเวิ้งว้าง เดินไปเรื่อยๆ ส่องกล้องดูนก สำรวจหานกหายากที่สุดในโลกชนิดหนึ่ง คือนกชายเลนปากช้อน ปะปนอยู่กับนกอพยพหลายพันตัวชนิดอื่นๆ ที่กำลังเดินหากินตามพื้นหาดเลนปนหาดทราย

หลายชั่วโมงผ่านไป ก็ยังไม่มีวี่แววจะเห็นนกชนิดนี้

นกชายเลนปากช้อน เป็นนกชายเลนในกลุ่มนกสตินท์ ตัวเล็กมาก ขนาด 14 – 17 เซนติเมตรเอง แต่เชื่อไหมว่า มันอพยพมาจากฝั่งตะวันออกของรัสเซีย ใกล้วงกลมอาร์กติก (Arctic Circle) บินไกลเป็นระยะทางถึง 7,900 กิโลเมตร ปลายทางคือหาดเลนหาดทราย ตั้งแต่อ่าวเบงกอล ประเทศบังกลาเทศ ไปจนถึงหลายประเทศในอาเซียนและชายทะเลชายฝั่งจังหวัดเพชรบุรี 

บ้านปากทะเล ความสำเร็จของคนรักนกทั่วไทย ที่ลงขันซื้อที่ดินนาเกลือให้นกอพยพ

ทำไมเราถึงทราบว่านกตัวเล็กนี้บินมาไกลจากไหน 

เพราะนักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซียได้เคยทาเครื่องหมายธงสีนกชายเลนปากช้อนหลายตัว จากตอนใต้ของเมืองชูคอตคา (Chukotka) สหพันธรัฐรัสเซีย และนักดูนกเมืองไทยเคยพบนกทาเครื่องหมายธงสีนี้ อพยพมายังอ่าวไทยตอนใน บริเวณโคกขาม จังหวัดสมุทรสาคร และบ้านปากทะเล จังหวัดเพชรบุรี ประเทศไทย

นกชายเลนปากช้อนตัวเล็ก ตัวเล็กกว่านกอพยพเกือบทุกชนิด แต่สามารถบินทางไกลเป็นระยะทางเกือบ 8,000 กิโลเมตร ทำให้มันได้ฉายาว่าเป็น Queen of Flyway หรือราชินีแห่งเส้นทางนกอพยพ

การเดินทางอย่างยาวนานของนกอพยพระยะไกลสุดขอบโลก ข้ามมหาสมุทรและทวีป ต้องอาศัยแหล่งพลังงานสะสมและความสามารถด้านการนำทางอย่างล้ำเลิศ ความสามารถนี้ถูกฝังอยู่ในตัวนกอพยพ อันประกอบด้วยการสังเกตดวงอาทิตย์และดวงดาว เพื่อนำพาตนเองไปในทิศทางที่ถูกต้อง การสังเกตจุดเด่นบนภูมิประเทศ เช่น เทือกเขา แม่น้ำ และแนวชายฝั่ง ในการนำทาง เป็นเส้นทางที่คุ้นเคยในการกลับไปยังแหล่งเดิม

แต่น่าเสียดายที่ทั่วโลกเหลือนกชายเลนปากช้อนประมาณ 456 ตัวเท่านั้น เรียกว่าอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์เต็มที สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) เลื่อนสถานภาพของนกชนิดนี้จากใกล้สูญพันธุ์ เป็นใกล้สูญพันธุ์เป็นอย่างยิ่ง เพราะพื้นที่ธรรมชาติหลายแห่งที่เคยอาศัย ได้เปลี่ยนเป็นที่ตั้งของเมืองและประชากรในแหล่งทำรังวางไข่ทางตะวันออกของรัสเซีย มีจำนวนลดลงอย่างมีนัยสำคัญเหลือร้อยกว่าคู่เท่านั้น จากการถูกคุกคามถิ่นอาศัย

สายๆ ของวันนั้น หลังจากซุ่มดูนกอยู่นานในช่วงที่น้ำทะเลเริ่มลดลง เป็นหาดเลน นกชายเลนปากช้อนก็ปรากฏตัวขึ้น ขนาดตัวเล็กมาก ปากและขาค่อนข้างสั้น คอสั้น มีขนาดและสัดส่วนของร่างกายเท่าๆ กันนกสติ๊นท์ (Stint) มันใช้จะงอยปากจิกหาอาหารก้มๆ เงยๆ ตลอดเวลา เราก็ยังสังเกตเห็นปลายปากแบนแบบช้อน จนมีชื่อเรียกว่า Spoon-billed Sandpipers 

บริเวณหาดเลนของเมืองเพชรบุรีเป็นที่แหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์สำหรับนกอพยพ แต่ในอนาคต ไม่แน่ว่าระบบนิเวศแบบนี้จะคงสภาพอยู่ไปได้นานเพียงใด นอกจากจะอนุรักษ์พื้นที่เหล่านี้ให้เป็นถิ่นอาศัยของนกอพยพต่อไป

และพบว่ามีผู้คนจำนวนหนึ่งตั้งใจอนุรักษ์ที่ดินตรงนี้จริงๆ หากใครเดินผ่านพื้นที่แห่งหนึ่งของบ้านปากทะเล จะพบป้ายติดประกาศว่า เป็นพื้นที่อนุรักษ์บ้านปากทะเล เพื่อให้เป็นถิ่นอาศัยของนกอพยพ 

บ้านปากทะเล ความสำเร็จของคนรักนกทั่วไทย ที่ลงขันซื้อที่ดินนาเกลือให้นกอพยพ

ต้องขอบคุณสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติที่ได้จัดการให้เกิดพื้นที่อนุรักษ์แห่งนี้ขึ้น เมื่อ 3 – 4 ปีก่อน สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติได้รณรงค์และขอรับบริจาคเพื่อซื้อที่ดินนาเกลือติดทะเลจำนวน 49 ไร่ ทำเป็นพื้นที่อนุรักษ์ เพื่อให้นกอพยพหลายสิบชนิดได้อาศัย โดยเฉพาะนกชายเลนปากช้อนที่ใกล้สูญพันธุ์

จากการเก็บข้อมูลนกชายเลนอพยพในพื้นที่นี้ มาตั้งแต่ พ.ศ. 2545 ของทางสมาคมฯ พบว่า บ้านปากทะเลเป็นจุดที่นกชายเลนปากช้อนมารวมตัวกันมากที่สุดในประเทศไทย เคยมีบันทึกไว้มากถึง 16 ตัว

หลังระดมรับเงินบริจาคกว่า 3 เดือน สมาคมฯ ระดมทุนได้ 8 ล้านบาท จนสามารถซื้อที่นาเกลือจากเอกชนสำเร็จ อาจเป็นเหตุการณ์ครั้งแรกๆ ในเมืองไทย ที่ภาคเอกชนซื้อที่ดินให้นกอาศัยอยู่เพื่อการอนุรักษ์ แทนการนำไปทำประโยชน์เชิงพาณิชย์

ขณะนี้ สมาคมฯ ยังคงเปิดรับบริจาคสำหรับผู้ที่ต้องการสนับสนุนโครงการ เพื่อนำไปเป็นทุนในการบริหารจัดการพื้นที่ ได้แก่ การปรับพื้นที่ให้เหมาะสมสำหรับนกชายเลน การผันน้ำเพื่อสร้างแหล่งอาหาร การสร้างบังไพรดูนก การเก็บข้อมูลนกและระบบนิเวศในพื้นที่ และที่สำคัญคือ การป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง เนื่องจากที่ดินแปลงนี้ถูกกัดเซาะไปแล้วประมาณ 22 ไร่ จึงต้องฟื้นฟูและป้องกันอย่างเร่งด่วน

บ้านปากทะเล ความสำเร็จของคนรักนกทั่วไทย ที่ลงขันซื้อที่ดินนาเกลือให้นกอพยพ

การจัดซื้อที่ดินของเอกชนเพื่อการอนุรักษ์ แบบที่สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติปฏิบัตินั้น ทำให้ผู้เขียนนึกถึง National Trust ในประเทศอังกฤษ

หากใครมีโอกาสไปประเทศอังกฤษ ได้เดินทางไปตามสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ โบราณสถาน และเดินป่า ท่องทะเลหลายแห่งในเกาะอังกฤษ จะสังเกตว่าสถานที่หลายแห่งมีป้ายเขียนว่า สถานที่เหล่านี้อยู่ภายใต้การดูแลของ National Trust

ตามความเข้าใจเดิมๆ ของคนทั่วไป หากเป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าเหล่านี้ น่าจะอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาล แต่ National Trust ไม่ใช่ของรัฐบาล

National Trust เป็นองค์กรเอกชนหรือ NGO (Non-Government Organization) ขนาดใหญ่ ก่อตั้งขึ้นมา 100 กว่าปี ตั้งแต่ ค.ศ. 1895 ในประเทศอังกฤษ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำการปกป้องพื้นที่เก่าแก่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ หรือมีความงดงามตามธรรมชาติ ไม่ให้เสื่อมทรามไปตามกาลเวลาหรือไม่ได้รับการดูแล และเป็น NGO ที่มีการออกพระราชบัญญัติรองรับใน ค.ศ. 1905

บ้านปากทะเล ความสำเร็จของคนรักนกทั่วไทย ที่ลงขันซื้อที่ดินนาเกลือให้นกอพยพ

ในอดีตนับพันปี พื้นที่ส่วนใหญ่ในประเทศอังกฤษล้วนมีคนครอบครองหรือใช้ประโยชน์มานาน ส่วนใหญ่หากไม่ใช่พื้นที่ของกษัตริย์ ก็เป็นที่ดินของชนชั้นศักดินา บรรดาเจ้าชาย เจ้าหญิง ท่านลอร์ด ท่านเซอร์ ฯลฯ แต่ละคนล้วนมีปราสาท พื้นที่ป่าส่วนตัวครอบครองกันนับร้อย นับพันเอเคอร์ เราจึงเห็นประเทศนี้มีปราสาท อาคาร หรือบ้านขนาดใหญ่ หลายร้อยแห่งกระจายไปทั่วเกาะ ล้อมรอบไปด้วยพื้นที่ป่าหรือที่ดินขนาดใหญ่ คำว่า Landlord ที่แปลว่า เจ้าที่ดิน คงจะมาจากลักษณะแบบนี้

ต่อมาพื้นที่เหล่านี้ได้ตกทอดเป็นมรดกของคนรุ่นต่อๆ มา แต่บางคนอาจจะรักษาไว้ไม่ได้ เพราะค่าใช้จ่ายในการดูแลสูง ปราสาทแต่ละแห่ง ยิ่งเก่าแก่ยิ่งต้องมีการบูรณะตลอด และการซ่อมแซมเป็นเรื่องที่ใช้เงินทองมากมาย คนรุ่นหลังไม่มีเงินสดพอจะดูแลได้ทั่วถึง

แต่สิ่งสำคัญคือภาษีมรดกในประเทศอังกฤษสูงมาก ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่ามรดกที่ได้รับมา ผู้คนจำนวนมากจึงเลือกบริจาคให้ National Trust ดูแลเพื่อความยั่งยืนต่อไป มากกว่าจะเก็บไว้ดูแลเอง National Trust ได้รับการบริจาคที่ดิน ปราสาท ป่า พื้นที่ชายหาดส่วนตัวจำนวนมาก จนระยะหลัง ไม่สามารถรับบริจาคได้หมด ต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไปว่าบ้าน ปราสาท พื้นที่ป่า ชายหาด ฯลฯ มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์เพียงพอหรือไม่

ทุกวันนี้องค์กรแห่งนี้มีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ไม่ว่าปราสาท บ้าน โรงงาน อาคารสวยงามเก่าๆ อยู่ภายใต้การดูแลประมาณ 500 แห่ง มีป่าธรรมชาติ 1,500,000 ล้านไร่ และชายหาดยาว 960 กิโลเมตรทั่วประเทศให้ผู้คนได้เข้าไปท่องเที่ยวอย่างเพลิดเพลิน ได้เห็นคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ความงดงามตามธรรมชาติ เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน  ไม่มีป้าย ‘เขตที่ดินส่วนตัว ห้ามเข้า’

บ้านปากทะเล ความสำเร็จของคนรักนกทั่วไทย ที่ลงขันซื้อที่ดินนาเกลือให้นกอพยพ

น่าสนใจว่า ป่าธรรมชาติหลายแห่งในประเทศนี้อยู่ภายใต้การดูแลของเอกชน ไม่ใช่ของรัฐบาล

National Trust อยู่ได้ด้วยการบริจาคของประชาชน และค่าสมาชิก ทุกวันนี้มีสมาชิก 5.6 ล้านคน หรือประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากร มีรายได้ปีละประมาณ 17,000 ล้านบาท มากกว่าบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเสียอีก

มีคนทำงาน 12,000 คน และอาสาสมัคร 61,000 คน จากสาขาทุกอาชีพ หมอ วิศวกร ชาวนา นายธนาคาร ศาสตราจารย์ ไปจนถึงแม่บ้าน ช่างซ่อมประปา ฯลฯ หมุนเวียนมาเป็นอาสาสมัคร คอยทำสวน ตัดกิ่งไม้ พนักงานขายหนังสือในร้านขายของที่ระลึก ไปจนถึงพนักงานทำความสะอาด

คนอังกฤษถือคติว่า การทำงานด้วยการใช้แรงานทำเพื่อส่วนรวมเป็นสิ่งที่น่าสรรเสริญ ถือเป็นพลเมืองดีของสังคม เราจึงเห็นประเทศนี้มีอาสาสมัครหลายสิบล้านคนทั่วประเทศใช้เวลาทำงานเพื่อสังคม และคนอังกฤษเชื่อว่า มรดกของชาติที่ตกทอดสืบกันมาหลายชั่วอายุคนจะยั่งยืนอยู่ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชน ไม่ใช่ของรัฐบาลฝ่ายเดียว 

เพราะพวกเขาเชื่อว่า ประชาชนคือหัวใจสำคัญในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสมบัติของชาติ มากกว่ารัฐบาล

บ้านปากทะเล ความสำเร็จของคนรักนกทั่วไทย ที่ลงขันซื้อที่ดินนาเกลือให้นกอพยพ

Writer & Photographer

Avatar

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

นามปากกา วันชัย ตัน นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี อดีตรองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งประเทศไทย (THAIPBS) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTVHD36 มีผลงานเขียนตีพิมพ์เป็นหนังสือ 28 เล่ม เป็นนักเดินทางตัวยง จากความเชื่อที่ว่า การใช้ชีวิตให้มีความสุขควรประกอบด้วยสามสิ่ง คือ ทำงานที่ใจรัก ช่วยเหลือคนรอบข้าง และเดินทางท่องเที่ยว