โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญของเด็กๆ แต่บางครั้ง เราก็หลงลืมไปว่าเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน
นอกจากบุคลิกและหน้าตา ยังหมายถึงข้อจำกัดที่แตกต่าง บางคนวิ่งเล่นกับเพื่อนได้ปกติ แต่บางคนอาจต้องนั่งอยู่ในรถเข็น
จะเป็นอย่างไร ถ้าโรงเรียนซึ่งเราเปรียบกันว่าเป็นบ้านหลังที่ 2 ของเด็กๆ โอบกอดนักเรียนทุกคนอย่างเสมอภาค
‘Bikurim Inclusive School’ ในประเทศอิสราเอล คือผู้ทดลองตอบคำถามนี้ให้เราเห็นเป็นรูปธรรม

โรงเรียนนี้ไม่ได้มีแค่เด็กธรรมดา
Bikurim Inclusive School เป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษาของอิสราเอลที่เปิดรับเด็กหลากหลายรูปแบบมาร่วมเรียนด้วยกัน (จากข้อมูล ค.ศ. 2019 ทั่วประเทศมีโรงเรียนแบบนี้อยู่เพียง 5 แห่งเท่านั้น) นอกจากเด็กทั่วไป นักเรียนประมาณ 1 ใน 4 ของโรงเรียนนี้จึงเป็นกลุ่มผู้พิการทางกายและผู้ที่อยู่บน Autistic Spectrum
เมื่อผู้เรียนมีความหลากหลาย และโรงเรียนอยากช่วยให้ทุกคนเรียนรู้ได้ดีอย่างเสมอภาค Bikurim Inclusive School จึงสนใจการออกแบบสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ที่เหมาะกับทุกคน
พวกเขาชวน Sarit Shani Hay มัณฑนากรและนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์มาร่วมออกแบบพื้นที่ชั้นล่าง พื้นที่ส่วนกลางที่ชั้น 2 และบรรดาห้องเรียน Hay เป็นนักออกแบบที่สนใจเรื่องการออกแบบที่มีเด็กเป็นศูนย์กลาง และสภาพแวดล้อมสำหรับจัดการเรียนการสอน แน่นอนว่าเธอเหมาะกับงานนี้เป็นที่สุด
Hay ระบุไว้ในเว็บไซต์ของเธอว่า Design Brief ครั้งนี้คือการช่วยให้เกิดประสบการณ์ Inclusive ผ่านการออกแบบภายในโรงเรียนด้วยวิธีคิดใหม่
แล้วจากโจทย์นั้น เธอก็ลงมือออกแบบภายในให้โรงเรียนนี้กลายเป็น Inclusive School ของจริง


โรงเรียนสำหรับเด็กทุกคน
Hay ทำงานนี้บนหลัก Universal Design หรือการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล กระบวนการทำงานของเธอเริ่มด้วยการนั่งคุยกับครูและผู้เชี่ยวชาญซึ่งเข้าใจเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ก่อนจะทำให้ไอเดียและหลักการกลายเป็นรูปธรรมผ่านคอนเซปต์การออกแบบ
เพราะอย่างนี้ Bikurim Inclusive School จึงมีสภาพแวดล้อมที่ตอบโจทย์การเรียนรู้ของเด็กทุกคน รวมถึงเด็กพิการ เมื่อเข้าไปข้างใน เราจะพบว่าโรงเรียนนี้ไม่มีสีสันฉูดฉาด แต่นำโทนสีอย่างฟ้าและเขียวมาใช้ ควบคู่กับวัสดุอย่างไม้ธรรมชาติ
“มีการใช้สีที่สงบและวัสดุไม้ธรรมชาติ เพื่อเลี่ยงไม่ให้เด็กๆ มีอารมณ์วุ่นวายมากเกินไป (Emotional Overload) ” Hay อธิบายเหตุผล โดยสีโทนนี้อยู่ทั้งในห้องเรียนปกติจนถึงห้องบำบัดอย่างห้องนั่งสมาธิ


มากกว่านั้น ในพื้นที่โรงเรียนยังมีมุมเรียนรู้ผ่านการเล่นที่ชวนเด็กมาสนุกกับลูกคิดยักษ์ ซึ่งช่วยสอนภาษามือและอักษรเบรลล์ รวมถึงมีการออกแบบให้ใช้พื้นที่ได้อย่างยืดหยุ่น ตอบรับความต้องการของผู้เรียน เช่น พื้นที่อเนกประสงค์สำหรับทำโยคะหรือพักผ่อน ซึ่งส่วนผนังบุด้วยวัสดุนุ่มๆ และมีเบาะวางไว้ให้ รวมถึงเฟอร์นิเจอร์แบบคิดถึงทุกคนอย่างม้านั่งรูปตัว U ซึ่งนำมาต่อกันให้เกิดการนั่งเรียนแบบเป็นวงกลมได้แบบยืดหยุ่น ช่วยให้เด็กๆ ที่นั่งรถเข็นเข้ามาแจมกับเพื่อนได้สะดวก

นอกจากนี้ Hay ยังใช้การตกแต่งภายในสะท้อนแนวคิด Inclusive เอาไว้ นั่นคือผนังลายจิ๊กซอว์ ซึ่งสะท้อนว่าเด็กแต่ละคนมีเอกลักษณ์ และเมื่อมาอยู่ร่วมกันก็จะช่วยให้เกิดภาพที่สมบูรณ์
เมื่อก้าวเข้ามายัง Bikurim Inclusive School ไม่ว่าเด็กทั่วไปหรือเด็กที่มีข้อจำกัดต่างจากคนอื่น จึงเล่นและเรียนรู้อย่างสนุกสนานไปด้วยกัน

โรงเรียนที่การออกแบบมาพบการเรียนการสอน
ใน ค.ศ. 2020 Bikurim Inclusive School คว้ารางวัล Frame Award 2020 สาขาเพื่อสังคม ซึ่งจัดโดย Frame บริษัทสื่อด้านการออกแบบและสถาปัตยกรรมจากเนเธอร์แลนด์
สำหรับ Hay ผลงานซึ่งเธอตั้งชื่อเล่นว่า First inclusive school นี้ คือตัวช่วยให้การออกแบบก้าวมาสู่มิติการศึกษา
“โครงการนี้ให้โอกาสเราได้สำรวจลงลึกว่า จะเกิดอะไรขึ้นถ้าการออกแบบมาเจอกับการเรียนการสอน และเราจะใช้การออกแบบเป็นเครื่องมือเปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างไร ในฐานะเครื่องมือส่งเสริม Inclusion และความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กๆ”
จะเป็นอย่างไร ถ้าโรงเรียนซึ่งเราเปรียบกันว่าเป็นบ้านหลังที่ 2 ของเด็กๆ โอบกอดนักเรียนทุกคนอย่างเสมอภาค
โรงเรียนที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ Bikurim Inclusive School เพียงแห่งเดียว

ข้อมูลอ้างอิง