ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่โชห่วยเล็ก ๆ จะอยู่รอดในยุคที่โมเดิร์นเทรดยึดครองตลาด จนแทบไม่เหลือพื้นที่ให้ร้านค้าชุมชน แต่ ‘บิ๊กเต้’ โชห่วยขนาดจิ๋วแต่แจ๋วแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ที่บริหารด้วยกลยุทธ์แบบคนรุ่นใหม่ เป็นมิตรกับคนและชุมชนรอบข้าง มีสินค้าทุกอย่างให้เลือกสรร มีลีลาโฆษณาสินค้าอย่างซื่อตรงและคมคาย จนกลายเป็นร้านขายของในใจของลูกแม่โดมไปโดยปริยาย
เราอยู่กับ เต้-ศตวัสน์ และ ป็อก-สุธิดา ฝ่ายรีย์ สองผู้ก่อตั้งบิ๊กเต้ ที่จะมาเล่าถึงเส้นทางสุดโหด มัน ฮา ของร้านนี้ ตั้งแต่วันที่ยังเป็นเพียงน้องเล็กในวงการรีเทล มาจนถึงวันที่เติบโตเป็นวัยรุ่น พร้อมออกเดินทางไปเผชิญความเสี่ยงในโลกใบใหญ่กว่าเดิม
ถ้าพร้อมแล้วก็ผลักประตูเข้าร้าน นั่งคุยกับพวกเขากันเลย

เชื่อในสิ่งที่ทำ ทำในสิ่งที่เชื่อ
ร้านนี้เริ่มมาจากแม่ยายเต้ แกเล่าให้ฟังว่าขณะนั้น ญาติคนหนึ่งกำลังหาคนเซ้งโชห่วยใต้หอพักซันต้า ตรงข้ามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เหมาะกับเป็นแหล่งรายได้ให้คู่รักใหม่ได้ตั้งตัว
“เราก็ไม่ค่อยรู้จักร้านขายของ แต่คิดว่าธุรกิจนี้น่าจะสร้างรายได้ให้เรากับป็อกได้ เลยตัดสินใจลองดูสักตั้ง” เต้บอกให้เราฟัง
เต้เป็นเพียงพนักงานในบริษัทแห่งหนึ่ง เขาเปรียบเสมือนฟันเฟืองตัวน้อยในนาฬิกาเรือนใหญ่ ไม่มีอำนาจหรืออิสระมากพอที่จะเสนอความคิดหรือทดลองในสิ่งที่หัวใจเรียกร้อง การเป็นเจ้าของร้านโชห่วยจึงอาจเป็นโอกาสให้เขาได้ลองทำในสิ่งที่เชื่อ นี่เป็นโอกาสสำคัญที่เขาจะได้พิสูจน์เสียที
ก่อนเริ่มทำร้าน ทั้งคู่ทำการบ้านมาอย่างดี
ร้านมีความเสี่ยงด้านใด
กลุ่มลูกค้าคือใคร
สภาพแวดล้อมบริเวณร้านเป็นอย่างไร
และควรขายอะไร
จึงได้รู้ว่าการทำโชห่วยต้องทุ่มเทจริงจังเพื่อให้ร้านออกมาดีที่สุด นั่นหมายถึงการต้องลาออกจากงานประจำเพื่อมาดูแลเต็มตัว
“ทีแรกก็แอบกังวล เพราะเจ้าของเก่า 2 คนก่อนหน้าก็ล้มเลิกการทำร้านไป”

เต้ตัดสินใจลาออกจากงานเพื่อทุ่มเทให้ร้านบิ๊กเต้ ส่วนป็อกยังคงทำงานวิจัยและมาช่วยเป็นครั้งคราว
ถ้ามัวกังวลจนไม่ได้ลงมือทำ อาจเสียใจภายหลังก็ได้ ถ้าอย่างนั้นขอเสี่ยงสักหน่อยแล้วกัน
อ้าวเฮ้ย! ไม่เหมือนที่คิดนี่หว่า
การเปลี่ยนสถานะตัวเองจากลูกจ้างมาเป็นนายจ้างเป็นเรื่องใหม่และใหญ่
ภาระงานและปัญหาเข้ามาไม่ขาดสาย ชนิดที่พวกเขาไม่เคยพบเจอ เปรียบเหมือนนักมวยที่ถูกปิดตา ไม่รู้ทิศทาง แต่กลับต้องลงชกในสนามจริงทันที
ในตอนแรกไม่มีแม้กลยุทธ์ ไม่รู้ว่าร้านควรอยู่ในตำแหน่งใดในตลาดค้าปลีกนี้ ควรเปิด-ปิดร้านเวลาใด และขายอะไร สินค้าชนิดไหนจะตรงกลุ่มเป้าหมาย ความไม่รู้ด้านธุรกิจบังคับให้พวกเขาต้องลองผิดลองถูกอย่างทุลักทุเล จนเงินเก็บจำนวนมากละลายหายไปดังสายน้ำ
“ครีมบำรุงผิวสำหรับผู้สูงวัยคือหนึ่งในสินค้าที่ขายไม่ออก เพราะกลุ่มเป้าหมายหลักของเราคือนักศึกษา แต่เรากลับไปขายสินค้าของคนอีกวัยหนึ่ง” เต้หัวเราะให้กับความผิดพลาดที่กลายเป็นบทเรียนชั้นดีในอนาคต

ส่วนเรื่องเวลาเปิด-ปิด ร้านของเขามีเวลาให้บริการที่ไม่ตรงกับช่วงเวลาทองที่นักศึกษานิยมใช้บริการ ยิ่งนักศึกษายุคนี้ต่างเป็นอัศวินรัตติกาล ใช้ชีวิตกลางคืน การเปิดร้านในช่วงเวลาไม่เหมาะสมส่งผลให้รายได้ออกมาไม่ตรงตามที่หวัง
‘นักศึกษา’ คือกลุ่มเป้าหมายหลักของร้าน – พวกเขาลืมคิดส่วนนี้ไป
อีกทั้งเรื่องการจัดสินค้าบนชั้นวาง ก็มิได้มีกลยุทธ์จัดวางที่โน้มน้าวให้ลูกค้าหยิบสินค้าใส่ตะกร้า จากฟ้าวันใหม่ของร้านโชห่วยที่หมายมั่นจะให้ร้านเติบโต ก็ดำดิ่งเข้าสู่ยุคมืดอีกครั้ง
จะเซ้งร้านและกลับไปเป็นฟันเฟืองตัวเล็กในองค์กรอีกครั้ง หรือสู้ต่อถึงจะไม่รู้ว่าแสงปลายอุโมงค์จะเป็นเช่นไร คือทางเลือก ณ ตอนนั้น
แต่พวกเขาไม่สิ้นหวัง
เต้และป็อกยังมีพ่อแม่ มิตรสหายรอบตัวที่คอยยืนเคียงข้าง และพร้อมผลักดันสนับสนุน ทั้งคู่จึงต้องแก้เกมอย่างเร่งด่วนเพื่อให้ร้านนี้อยู่รอดต่อไปได้

Better Late than Never
ลูกค้าอยากได้อะไรต้องหามาให้ คือกลยุทธ์แก้เกมแรก
“เราเป็นคนขายที่ถามลูกค้าว่า อยากได้อะไร แบบไหน จะไม่คิดแทนลูกค้า ถ้าเขาต้องการอะไร เราต้องหามาให้ ซึ่งจะช่วยให้ขายได้และมีสินค้าตรงความต้องการของลูกค้าวางอยู่บนชั้นอยู่เสมอ
“แต่ก็ต้องดูอารมณ์ลูกค้าด้วยว่าเขายินดีจะตอบเราไหม” เต้หัวเราะดังลั่น
หากลูกค้าอยากได้อะไร แม้สินค้าจะอยู่บนยอดเขาเอเวอเรสต์หรืออยู่สุดขอบโลก ร้านบิ๊กเต้ก็จะพยายามเต็มความสามารถเพื่อหามาให้ แม้จะเป็นสินค้าเพียงชิ้นเดียวก็ตาม
หากสั่งมาเพื่อลูกค้าเพียงคนเดียว แล้วมันคุ้มต้นทุนหรือไม่ในทางธุรกิจ – เราเกิดข้อสงสัย
ในโลกทางธุรกิจ สิ่งที่พวกเขาทำนั้นไม่คุ้มทุนแน่ ผู้จัดจำหน่ายอาจไม่สะดวกใจที่จะส่งสินค้าให้เนื่องจากเป็นร้านเล็ก มีปริมาณการสั่งน้อย ดังนั้นหากหาสินค้าชนิดใดไม่ได้ ร้านบิ๊กเต้จะพยายามหาสินค้าอื่นมาเสนอแทน
แม้จะเหนื่อยสักหน่อยแต่เป็นความสุขใจและความคุ้มค่า สร้างความประทับใจในระยะยาว ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘การซื้อใจ’

ป็อกยื่นโทรศัพท์ให้เราดู แต่ละวันมีนักศึกษาและลูกค้าทั่วไปทักมาถามและขอสั่งสินค้าไม่ขาดสาย ตั้งแต่ข้าวปั้นญี่ปุ่น ขนมหวาน ไปจนถึงกาวดักแมลงสาบ
ส่วนกลยุทธ์อีกประการคือ การสร้างบรรยากาศร้านให้เป็นมิตรกับทุกคน ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่หาไม่ได้ทั่วไปจากร้านค้าเจ้าใหญ่อื่น ๆ
“ร้านเราจ้างนักศึกษามาทำงานเป็นประจำ ประกอบกับกลุ่มเป้าหมายหลักของร้านคือนักศึกษา เลยเป็นจุดเด่นที่ทำให้ลูกค้าเข้ามาที่ร้านมากขึ้น เพราะอยากมาเจอเพื่อน หรือแกล้งเพื่อนตัวเองที่ทำงานที่นี่ เวลามาที่ร้านก็จะซื้อของกลับออกไป”
อีกทั้งร้านยังพยายามมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าเสมอ ทั้งพูดคุยหยอกล้อ ทักทายเมื่อเจอหน้ากัน ทำให้ให้บรรยากาศเป็นมากกว่าโชห่วยทั่วไป แต่เป็นร้านค้าที่ลูกค้าได้ทั้งสิ่งของและความสุขกลับไปด้วยทุกครั้งที่แวะมา
“เพราะเป็นโชห่วยขนาดเล็ก เรียกว่าระดับจิ๋วในวงการนี้ เราเลยสะดวกใจในการเข้าถึงลูกค้า และสรรหาสินค้าต่าง ๆ มานำเสนอพวกเขา ต่างจากร้านโมเดิร์นเทรดอื่น ๆ ที่ยังมีข้อจำกัดเรื่องนี้”
กลยุทธ์ใหม่ สินค้าตรงตามกลุ่มเป้าหมาย มีของใช้สไตล์วัยรุ่น บรรยากาศเป็นมิตร ร้านบิ๊กเต้กดไลก์ นักศึกษากดเลิฟ ทำให้พวกเขาชื่นใจและธุรกิจเบ่งบานได้อีกครั้ง
โพสต์อิต โพสต์ใจ
‘โพสต์อิต โพสต์ใจ’ ป้ายแนะนำสินค้าที่เปรียบเสมือนผู้เชี่ยวชาญช่วยให้ลูกค้าช้อปปิ้งอย่างเพลิดเพลิน คลายความกังวลและไขข้อสงสัยไว้ด้านหลัง
เมื่อเต้และป็อกไม่อยู่ร้าน หากลูกค้าอยากสอบถามวิธีใช้หรือเรื่องอื่น ๆ บางครั้งพนักงานอาจตอบไม่ได้ การสื่อสารกับลูกค้าจึงน้อยลง ตัวแทนของพวกเขาในการแนะนำสินค้าให้ลูกค้าอย่าง ‘โพสต์อิต’ จึงเกิดขึ้น
“การเอาของไปวางพร้อมติดป้ายราคา ไม่สามารถสื่อสารกับลูกค้าได้เพียงพอ เราต้องช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจง่ายขึ้น ก็เลยเขียนโพสต์อิตอธิบาย เป็นการพูดกับลูกค้าโดยตรงว่า สิ่งนี้คืออะไร ใช้ยังไง” เต้อธิบายถึงเหตุผล

ทั้งสองได้ลองพิสูจน์ให้เห็น ต่อให้นำสินค้ามาวางขายในจุดที่มองเห็นชัดที่สุด ก็อาจขายไม่ได้ตามเป้า แต่การเขียนโพสต์อิตเอาไว้ทำให้ยอดขายพุ่งขึ้นก้าวกระโดดเทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้า
“ช่วงหลังเราเขียนบรรยายด้วยมุกตลก ส่วนใหญ่จะทำมุกแบบ Real-time Content ที่ใครมาอ่านก็เข้าใจ ไม่ว่าเวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ก็ยังตลก มุกตลกที่ทำให้ลูกค้าขบขัน ช่วยให้เขาจดจำสินค้าได้ง่ายและเป็นที่สนใจมากขึ้น”
“แต่สินค้าพวกสกินแคร์เหมือนเป็นอาถรรพ์ของร้านบิ๊กเต้ ทำทุกอย่างแล้วก็ยังขายไม่ดีตลอด น่าจะเป็นเพราะพี่เต้เป็นผู้ชาย จึงอาจไม่เข้าใจเรื่องนี้ดีเท่าผู้หญิง เพราะจะเขียนโฆษณาหรือบรรยายอะไรลงไปในโพสต์อิตเราต้องใส่จิตวิญญาณลงไปด้วย” ป็อกเล่าเรื่องนี้ด้วยเสียงหัวเราะ

“รักแท้ต้องการดูแล รักแร้ก็เช่นกัน” สำหรับโรลออนนีเวีย
“กำลังเหม็นความรักใช่ไหมครับ พี่เต้มีหน้ากากคาร์บอนจำหน่าย” สำหรับขายหน้ากากอนามัย
“นมนี้ราคาแพงหน่อย แต่อร่อยแสงพุ่ง” สำหรับขายนมแดรี่โฮม
“จะทำบุญทั้งที พี่เต้แนะนำให้ใช้ถังกรวดน้ำไปเลยครับ เพราะเจ้ากรรมนายเวรอาจเยอะกว่าที่คิดนะจ๊ะ” สำหรับขายถังน้ำ
“ยามรัก… น้ำต้มผักก็ว่าหวาน พี่เต้มีผักปลอดสารพิษขายให้ไปลองต้มดูนะครับ ทุกอย่างกำละ 10 บาท” สำหรับโฆษณาผักสด

ป๊อกเป็นคนดูแลป้ายสินค้าส่วนใหญ่ในร้านเพราะมีความเชี่ยวชาญกว่า แต่เรื่องอาหารต้องยกให้เต้ เราถึงกับต้องยอมรับในเรื่องนี้ เพราะหลังสัมภาษณ์ก็ได้ขนมและน้ำพริกกากหมูติดกลับบ้านจนล้นมือ
น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า
การตลาดปัง ยอดขายตามเป้า แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ลูกค้าคือแรงผลักดันที่ทำให้โชห่วยแห่งนี้เติบโตจนสมชื่อ ‘บิ๊ก’
โชห่วยเจ้านี้มีสินค้าจากนักศึกษาและผู้ประกอบการรายย่อยมากกว่าร้านอื่น ๆ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น
“ปกติของร้านค้า เงินจะไหลมาที่เรา แต่ถ้าเราเป็นฝ่ายรับเพียงอย่างเดียว สักวันเงินของลูกค้าจะหมด เราเลยต้องสร้างการหมุนเวียน คืนกำไร ตอบแทนเงินกลับไปหาลูกค้า”
นโยบายจ้างนักศึกษาทำงานพาร์ตไทม์จึงเกิดขึ้น
อีกทั้งโชห่วยเล็ก ๆ แห่งนี้ยังกระจายรายได้สู่ลูกค้า ผ่านการรับซื้อสินค้าจากนักศึกษาและชุมชนรอบข้าง
“นักศึกษาสมัยนี้มีศักยภาพมากกว่าที่เราคิด บางคนไม่ได้แค่มาทำงาน แต่พวกเขามีความสามารถที่จะผลิตสินค้า ขนม เครื่องดื่ม ได้ด้วยซ้ำ” โชห่วยย่านรังสิตแห่งนี้จึงรับซื้อสินค้าจากพวกเขามาขายต่อ

Playground คือนิยามที่ร้านบิ๊กเต้ให้โอกาสนักศึกษาได้มาปล่อยของ ทางร้านจัดสรรพื้นที่จำนวนหนึ่งให้นักศึกษาที่นำสินค้ามาขายได้ทดลองบริหาร เขียนป้ายตกแต่ง จัดวางและเช็กสต็อกสินค้าด้วยตัวเอง โดยคิดค่าบริการฝากขายต่ำกว่าสินค้าจากผู้ประกอบการที่ไม่ใช่นักศึกษา ช่วยให้นักศึกษามีรายได้เสริม และยังเป็นการฝึกฝนทักษะผู้ประกอบการให้พวกเขาต่อยอดเป็นอาชีพได้อนาคต
พวกเราเดินไปสะดุดตากับข้าวกล่องและเครื่องดื่มเรียงรายกันอยู่เต็มตู้แช่ ภาพบรรจุภัณฑ์ที่ไม่คุ้นตาทำให้เราตระหนักได้ว่าต้องเป็นสินค้าจากนักศึกษาแน่ ๆ
“สินค้าที่เห็นมาจากอดีตนักศึกษาที่เคยทำงานที่ร้าน เขาเริ่มทำข้าวกล่องขาย ตามมาด้วยพวกน้ำ แซนด์วิชต่าง ๆ จากพนักงานร้านปัจจุบัน เขากลายเป็นหนึ่งในซัพพลายเออร์ที่ส่งอาหารจนมีเงินเก็บซื้อบ้าน และเตรียมจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนแล้ว” คำพูดของเต้กับป็อกทำเราถึงกับอ้าปากค้างไปชั่วขณะ

หากจะฝากขายบ้างต้องทำอย่างไร – เราถามต่อ
หนึ่ง สินค้าต้องทำเอง ไม่ใช่การรับมาขายต่อ นี่คือเงื่อนไขสำคัญในการพิจารณา สินค้าส่วนใหญ่ของนักศึกษาจึงเป็นจำพวกอาหาร เนื่องจากทำได้ในพื้นที่เล็ก ๆ อย่างหอพัก
สอง สินค้าที่วางขายทุกชนิดต้องมีคุณภาพ หากชำรุดหรือไม่ตรงตามมาตรฐาน นักศึกษาจะเป็นผู้รับผิดชอบ เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าที่เข้าปากลูกค้าทุกคนจะอร่อยและได้มาตรฐาน
นอกจากนี้ สินค้าทุกชนิดต้องมีราคาที่เอื้อมถึง ระหว่างการขายต้องทดสอบว่าราคา ณ จุดใดคือจุดที่ซื้อง่ายขายคล่องสำหรับทั้งร้านค้าและลูกค้า
ร้านบิ๊กเต้ยังกระจายรายได้สู่ชุมชนด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 มีการรับสินค้าเข้ามามากกว่าปกติ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการแถบนั้นให้มีรายได้ในช่วงวิกฤต
‘ลูกค้าอยู่ได้ ร้านบิ๊กเต้ก็อยู่ได้’

หัวใจใหญ่กว่าตับ
ปัจจุบันร้านบิ๊กเต้มีทั้งหมด 3 สาขา สาขาแรกตั้งอยู่ใต้หอพักซันต้า สาขาที่สองบริเวณหอพัก 2B CASA และสาขาสามที่หอพักโซน B มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ทั้ง 3 สาขาตั้งอยู่ใกล้ร้านโมเดิร์นเทรดของกลุ่มทุนใหญ่ทั้งหมด
ทั้งคู่เล่าว่า 2 สาขาแรกบริเวณหอพักซันต้าและ 2B CASA ตั้งอยู่ก่อนที่ร้านโมเดิร์นเทรดเหล่านั้นจะเข้ามา
“เมื่อเขาย้ายมาตั้งติดกับเรา เราย้ายหนีไม่ได้เพราะเลือกสถานที่ไปแล้ว ทางเดียวที่จะอยู่รอดจึงเป็นการต่อสู้อย่างถึงที่สุด
“การมีร้านโมเดิร์นเทรดใกล้ ๆ เป็นยากระตุ้นชั้นดี นอกจากทำให้เราต้องเอาตัวรอดและตั้งใจศึกษาพัฒนาร้านให้ดีขึ้นอยู่เสมอ ยังเป็นข้อพิสูจน์ว่า ทำเลที่เราเลือกมีศักยภาพที่จะต่อยอดไปได้”
ส่วนร้านบิ๊กเต้สาขาหอพักโซน B มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เกิดขึ้นหลังร้านโมเดิร์นเทรด แล้วทำไมเขาถึงกล้าไปท้าทายส่วนแบ่งตลาดจากร้านค้าเจ้าใหญ่ ซึ่งอาจเป็นโจทย์หินที่สุดในชีวิตของพวกเขา
“เราเปิดหลังเขาก็จริง แต่มองว่ายังมีพื้นที่สำหรับร้านบิ๊กเต้ให้นำเสนอสินค้าตามที่ลูกค้าต้องการได้อยู่ ยังมีช่องว่างให้เราเติบโตได้”
ขณะสัมภาษณ์ เราเห็นภาพลูกค้าหยอกล้อ พูดคุยกับเพื่อนที่ทำงานอยู่ หรือภาพแปลกตาคือนักศึกษาหิ้วถุงมาเติมสินค้าในตู้ สิ่งเหล่านี้พบเจอได้ยากในร้านโมเดิร์นเทรดเจ้าอื่น โดยเฉพาะในยุคที่การใช้ชีวิตของคนเมืองรุดไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว

เปิดโชห่วยแล้วได้อะไร
การทำร้านมาหลายปีให้บทเรียนชีวิตและธุรกิจหลายข้อ
“ความเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้ คือสิ่งที่ยากที่สุดที่เราได้เรียนรู้” ทั้งคู่ในฐานะผู้มีประสบการณ์ทางธุรกิจจากการทำร้านก็ยังต้องปวดหัวกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะเมื่อเทรนด์การเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค ภาวะโรคระบาด และเงินเฟ้อที่ทั้งประเทศกำลังเผชิญ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ นอกจากเตรียมความพร้อมและรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
อีกเรื่องคือ ‘ความไม่รู้’ คำเล็ก ๆ ที่มีผลยิ่งใหญ่ต่อธุรกิจ
ของบางอย่างไม่คิดว่าจะขายได้แต่กลับขายได้ บางอย่างที่คิดว่าจะขายได้แต่กลับขายไม่ได้ ประสบการณ์และการสอบถามลูกค้าจึงเป็นเรื่องสำคัญ
“เมื่อก่อนที่ร้านมีขนมครันช์ชิปรสน้ำส้มสายชู สำหรับเราคือรสชาติแบบอิหยังวะ แต่เมื่อขายจริงมันเป็นรสที่ขายดีที่สุด เราจึงต้องติดร้านไว้”
บทเรียนสำคัญสุดท้าย “อย่าคิดแทนลูกค้า และจงเรียนรู้ที่จะรับฟังลูกค้าทั้งแง่บวก แง่ลบ พร้อมรับฟังด้วยความไม่ขุ่นเคืองใจ เสียงตำหนิ เสียงวิจารณ์ คือคำเตือนที่จะทำให้ร้านเราเป็นร้านที่ดีขึ้น เราต้องขอบคุณพวกเขา”
ทั้งคู่ฝากข้อคิดถึงคนรุ่นหลังที่จะทำธุรกิจเอาไว้ว่า “จะทำอะไรจงอย่าใจร้อน ธุรกิจจะประสบความสำเร็จต้องอาศัยเวลาและองค์ประกอบยิบย่อยมากมาย เราต้องเป็นทั้งผู้บริหารและนักประสานงานที่ดี มีเหตุผลอยู่เสมอ จงพูดกับทุกคนดี ๆ แล้วสิ่งดี ๆ จะตามมาในภายหลัง”
พวกเขาไม่รู้ว่าร้านบิ๊กเต้จะไปถึงจุดไหนในอนาคต กว่าจะมีวันนี้ได้ ไม่ได้เกิดจากแค่น้ำพักน้ำแรงของ 2 คน แต่รวมถึงครอบครัว ซัพพลายเออร์ที่ทำสินค้าส่ง น้องขนของ น้องสตาฟฟ์ในร้าน ที่ทั้งเต้และป๊อกรู้สึกขอบคุณในทุกวัน

Lessons Learned
- การรักษาความจริงใจในการให้บริการคือการตลาดที่ดีที่สุด
- จงรักษาความเป็นกันเองและความเป็นร้านค้าของชุมชนเอาไว้ ให้โชห่วยเป็นมากกว่าโชห่วย แต่เป็นเสมือนสมาชิกที่สำคัญของคอมมูนิตี้
- อย่าลืมที่จะคืนสิ่งดี ๆ กลับสู่ชุมชน ธุรกิจที่อยู่ได้ ลูกค้าอยู่ได้ คือธุรกิจที่ยั่งยืน