คุณเรียกและนิยามสถานที่แห่งนี้ว่าอะไร

นั่นคือคำถามแรกที่เราถาม เจิน-ชัชวรรณ เฉลิมกิตติชัย ผู้จัดการของ Bedtime Storeys และเธอยังเป็น 1 ในหุ้นส่วนจากทั้งหมด 8 คนที่เกิดจากการรวมกันของ 3 ครอบครัว ตระกูล ‘เฉิน’ 

ที่ถามเช่นนั้น เพราะเมื่อเดินทางมาถึงโรงแรมน้องใหม่ย่านเจริญรัถแห่งนี้ เราเห็นด้านหน้าอาคาร กลมกลืนกับละแวกโดยรอบ และเมื่อได้เข้ามาเตรียมสัมภาษณ์ในห้องพัก ความรู้สึกของการเป็น ‘บ้าน’ ก็กระโจนเข้ามาในหัวทันที ดีไม่ดีจะเรียกว่าเป็น ‘บ้านเดี่ยว’ ก็ไม่ผิดนัก ซึ่งนั่นคือความตั้งใจของเจิน

“โจทย์แรกของการทำที่นี่ คือออกแบบให้เป็น ‘บ้าน’ เราเลยมีหลายชื่อเรียก ไม่ว่าจะเป็น Holiday Home, Vacation House แล้วก็ Family Hotel เพราะพื้นที่ที่เรามอบให้แขก ประกอบไปด้วยห้องนอน ห้องครัว แล้วก็สิ่งที่เราให้ความสำคัญที่สุด คือพื้นที่ส่วนกลางหรือห้องนั่งเล่นที่ค่อนข้างใหญ่เป็นพิเศษ”

เจินอธิบายว่าทำไมเราถึงควรมองที่นี่เป็นบ้านมากกว่าโรงแรมทั่วไป

แม้เจินบอกว่าโรงแรมแห่งนี้มีหลายชื่อเรียกตามใจสะดวก แต่ชื่อจริง ๆ ต้องยกเครดิตให้กับ เฮียชวน พี่ใหญ่ผู้ทำให้ชื่อที่ใช้เวลาคิดกันร่วม 6 ปี ตั้งแต่ตอนที่คิดจะเอาชื่อซอยมาตั้ง เอาบ้านเลขที่มาใช้ ไปจนถึงนำแซ่ของตระกูลมาต่อท้ายด้วย Hub จนท้ายที่สุด วันหนึ่งเฮียชวนก็โผล่ขึ้นมาในแชตกลุ่ม พร้อมกับชื่อ ‘Bedtime Storeys’ และทุกอย่างก็ลงล็อกพอเหมาะพอเจาะ เปลี่ยน ry เป็น rey ที่แปลว่า ชั้น เพราะที่พักบรรยากาศบ้านเดี่ยวแห่งนี้ คือห้องนอนที่มีหลายชั้น และในห้องเหล่านั้นก็มีชั้นอีกทีหนึ่ง

มอบชีวิต

ก่อนเข้าสู่ระยะเวลา 6 ปีในการก่อสร้าง เราคงต้องย้อนไปไกลกว่านั้น ราว 30 – 40 ปี เพราะตึกแถว 3 คูหา 4 ชั้นแห่งนี้สร้างมาตั้งแต่ พ.ศ. 2525 ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในอาคารพาณิชย์ย่านเจริญรัถที่ขึ้นชื่อด้านเครื่องหนังตามคำบอกเล่าของเจิน ซึ่งก็ไม่แน่ใจในความถูกต้องของประวัติศาสตร์อันยาวนานนัก เธอบอกว่าตึกนี้อยู่มาตั้งแต่ก่อนเธอเกิด จากโกดังด้านหลังก็พออนุมานได้ว่าที่นี่เคยมีสถานะเป็นโรงงาน

“ตึกนี้เปลี่ยนเจ้าของมาหลายมือมาก เหมือนก่อนหน้าที่รุ่นคุณพ่อคุณแม่จะมาเป็นเจ้าของ ไม่แน่ใจว่าเป็นโรงงานกระดาษหรือโรงงานผลิตเชือกนี่แหละ” เจินเล่าถึงตึกนี้ในวันที่ยังไม่รีโนเวต

ตึกนี้ทิ้งร้างมากว่า 20 – 30 ปี ในวันที่เจินเข้ามาดูสถานที่ ทุกอย่างทรุดโทรมมาก หลังคาโกดังห้อยต่องแต่ง ถ้าปล่อยให้ร้างคงน่าเสียดาย ญาติทั้ง 8 คนก็คิดเช่นนั้น พวกเขาเคยมีประสบการณ์รีโนเวตบ้านร้างให้เป็นที่พักสไตล์ Vacation House และมีบทเรียนเป็นพื้นที่ที่ไม่พอรองรับจำนวนแขกมาแล้ว 

ครั้งนี้จึงเป็นการขยายสถานที่และขยับสเกลงานมากไปกว่าที่พวกเขาคิดฝันเอาไว้ จากเดิม วางแผนจะเปิดในปี 2020 กลายเป็นต้องใช้เวลาก่อสร้างถึง 6 ปี ไล่เรียงไทม์ไลน์คร่าว ๆ ดังนี้

ปลายปี 2017 – 2019 เจินเล่าว่าพวกเขาใช้เวลา 1 ปีในการพัฒนาไอเดียร่วมกับทีม ตื่น ดีไซน์ สตูดิโอ ซึ่งมีโจทย์ตั้งต้นว่าพวกเขาต้องการที่พักที่รองรับกลุ่มคนหลากหลายและครอบครัวใหญ่ได้ แขกทุกคนที่มาพักต้องรวมตัวในห้องห้องเดียวกันได้ นั่นหมายถึงต้องมีห้องนั่งเล่นขนาดใหญ่พิเศษนั่นเอง

“โจทย์นี้บอกถึงสิ่งที่ครอบครัวเรากำลังประสบ การหาที่พักให้ครอบครัวไปเที่ยวพร้อมกันทีละ 20 กว่าคน ยากมาก” เจินพูดติดตลกขณะกำลังอธิบายถึงปัญหาใหญ่ของครอบครัวและญาติ ๆ 

ช่วงพัฒนาไอเดีย เจินบอกว่าเธอไม่ต้องการให้โรงแรมออกมาเรียบง่ายจนดูน่าเบื่อ การทดลองเข้าพักในหลาย ๆ โรงแรมจึงเป็นเหมือนการทำการบ้าน และหาข้อมูลอ้างอิง จนพบคำตอบว่า ถ้าธีมจัดจ้านเกินไปอาจไม่ตอบโจทย์เรื่องความสะดวกสบายของแขก ความคิดที่จะมีสไลเดอร์จึงถูกปัดทิ้งไป

สถาปนิกยกรูปแบบ ‘ตัวต่อ Tetris’ มาเป็นใช้ออกแบบ รื้อความแบนราบออก ต่อเติมแต่ละห้องให้มีชั้นบน-ล่าง เพิ่มมิติให้ทุกห้องขึ้น-ลงได้ คล้ายบล็อก ‘บ้านเดี่ยว’ 3 หลังที่ประกอบกันเป็นตึกแถว 

ปี 2019 – 2023 ก่อสร้าง ก่อสร้าง และก่อสร้าง แต่เส้นทางใช่ว่าจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ อุปสรรคเริ่มตั้งแต่เปลี่ยนผู้รับเหมา เจอระเบิดลูกใหญ่ที่ชื่อว่าโควิด-19 ทุกอย่างหยุดชะงัก โดนขโมยเวลาไป 2 ปี ทำได้เพียงขยับงานไปข้างหน้าทีละนิด จนเดือนตุลาคม ปี 2023 Bedtime Storeys ก็ได้ฤกษ์เปิดทำการ

“โครงการนี้เริ่มก่อนไอคอนสยาม แต่เสร็จหลังเขา” เจินเล่าถึงระยะเวลาก่อร่าง

3 ห้อง 3 ย่าน

“บ้านเรามีคน 3 รุ่น คืออากง พ่อ ลูก ทุกรุ่นอยู่ร่วมกันในที่ที่เดียวได้สบาย เรามั่นใจ” เจินพูดถึงภาพรวมของห้องพัก ที่ทุกคน ทุกรุ่น ทุกวัย เข้ามาอยู่ร่วมกันได้ โดย Bedtime Storeys ประกอบด้วยห้องพัก 3 ยูนิตที่หยิบยกชื่อของละแวกเพื่อนบ้านมาใช้ เพื่อนำเสนอถึงย่านนี้ให้ได้มากที่สุด ผ่านการออกแบบภายในและนำเสนอเรื่องราวของสถานที่ผ่านองค์ประกอบเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ตั้งใจใส่เข้าไป

ยูนิตที่ 1 : เจริญรัถ

เริ่มต้นชั้นแรกด้วยบรรยากาศอาคารพาณิชย์เก่าในย่าน ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงแรมแห่งนี้ ห้องนี้จึงมีกลิ่นอายของความเป็นบ้านคนไทยเชื้อสายจีน ทั้งพื้นหินขัด ความโค้งของวงกบประตู เฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ และการเล่นสีสัน เมื่อเข้าไปแล้ว ยังไง้ยังไงก็ต้องรู้สึกถึงสิ่งที่เจ้าบ้านต้องการจะสื่ออย่างแน่นอน

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ห้องนี้แตกต่างจากอีก 2 ห้อง คือเป็นห้องชั้นเดียว ไม่มีชั้นบนให้ขึ้น ไม่มีชั้นล่างให้ลง เพราะเจินตั้งใจออกแบบให้เหมาะกับผู้สูงอายุ อยู่ง่ายและสะดวกสบาย ปลอดโปร่งด้วยระเบียงที่ใหญ่กว่าทุกชั้น เชื่อมต่อกับห้องนั่งเล่นแบบเดินถึงกัน แถมยังมีต้นไม้ใหญ่ประดับอยู่นอกอาคารด้วย 

ยูนิตที่ 2 : วงเวียนใหญ่

นี่คือการดึงองค์ประกอบของสถานีรถไฟวงเวียนใหญ่มาใช้ ตั้งแต่เก้าอี้ในชานชาลา เตียง 2 ชั้นสำหรับนอนเล่น และใช้เฟอร์นิเจอร์ที่เป็นเหล็กโดยส่วนใหญ่ ซึ่งห้องนี้มี 2 ชั้น เดินขึ้นไปเจอกับห้องนอนและวิวที่ไม่ถูกตึกแถวรอบ ๆ บังสายตา และมองเห็นพลุในวันงานเทศกาลได้อย่างชัดเจน

เจินเล่าว่าห้องนี้เป็นที่นิยมในลูกค้ากลุ่มเพื่อนและครอบครัว เพราะพื้นที่แบ่งระดับให้ทุกคนกระจายตัวอยู่ในแต่ละโซนได้ โดยยังอยู่ห้องเดียวกัน ผู้ใหญ่ได้พักผ่อน เด็กโตได้พื้นที่ เด็กเล็กได้วิ่งเล่น 

ยูนิตที่ 3 : คลองสาน

ห้องบนสุดอยู่ติดกับดาดฟ้า เป็นห้อง 3 ชั้นพร้อมพื้นที่ส่วนกลางขนาดใหญ่ มีโต๊ะกลมในห้องครัว โซฟา เบาะนั่ง และเสื่อในห้องนั่งเล่น ลงไปชั้นล่างจะเจอกับอีก 2 ห้องนอน ขึ้นไปชั้นบนเป็นบ้านต้นไม้พร้อมที่นอน การันตีความสบายโดยลูกค้าชาวเยอรมันวัย 50 ปีที่ถูกใจพื้นที่ส่วนนี้มาก

ห้องนี้มีไอเดียตั้งต้นจากบ้านสวนริมน้ำในคลองสาน วัสดุส่วนใหญ่จึงเป็นไม้ที่ไม่ได้ดูเนี้ยบหรือเรียบหรู แต่เป็นไม้ที่โชว์ผิวไม้เปลือย ๆ ให้อารมณ์บ้านไม้ไทยสมัยก่อน ส่วนบ้านต้นไม้ยังคงดีไซน์เดียวกับบ้านไม้ไทย ๆ เพียงแต่ไม่อยากทำห้องด้านบนให้ทึบหรือปิดสนิท คนที่ขึ้นไปจะได้ไม่อึดอัด

ข้อสำคัญ ทุก ๆ ยูนิต มี 1 ห้องนอนที่ออกแบบให้เป็น Universal Design รองรับแขกผู้สูงอายุโดยเฉพาะ และยังครบครันด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก เตรียมให้ตั้งแต่ผ้าเช็ดตัวยันเครื่องซักผ้า

ชีวิตของอาคาร ชีวาของสถานที่

เราถามเจินว่า เสน่ห์ของพื้นที่นี้คืออะไร

เธอตอบว่า อย่างแรกคือความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ผสมปนเปกันตามแหล่งชุมชน คนที่อยู่อาศัยไม่ได้มีแค่คนไทย แต่ยังมีคนจีน คนมุสลิม รวมถึงโบสถ์ของคริสต์ศาสนา ล้อไปกับเสน่ห์ลำดับที่ 2 นั่นคือแม่น้ำ ซึ่งในอดีตเคยเป็นเส้นทางแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ส่วนปัจจุบันเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เจินอยากแนะนำให้แขกลองท่องเที่ยว 1 Day Trip ทางเรือสักครั้ง จาก Bedtime Storey เดินเท้าเพียง 10 นาทีก็ถึงท่าน้ำคลองสานแล้ว ถ้าไม่รู้จะไปไหน เธอก็ยินดีส่ง Guide Book ในระยะเดินถึงให้ด้วย

อีกแง่หนึ่ง เจินมองว่าการเกิดขึ้นของที่นี่เปรียบเสมือนการมอบชีวิตให้ตึกนี้

ไม่เพียงแค่ฟื้นชีวิต แต่ยังมอบชีวาให้กับย่านไปพร้อม ๆ กัน

“แค่ไม่เป็นตึกร้างก็ดีมาก ๆ แล้ว” เจินหัวเราะ “เพราะตึกร้างย่อมส่งผลต่อทัศนียภาพรอบข้าง รวมไปถึงความปลอดภัยของคนที่สัญจรไปมาด้วยทางเท้า แต่ตอนนี้ก็สบายตาและสวยงามขึ้นนะ”

แม้ทีแรกที่พักแห่งนี้ตั้งกลุ่มลูกค้าหลักไว้กับคนจีน แต่การมาของเทรนด์ Staycation ทำให้คนไทยไม่น้อยมาพักที่บ้านหลังนี้ พวกเขาจึงต้องต่อเติมที่จอดรถ และที่นี่ยังนำความคึกคักมาให้ย่าน อย่างร้านโชห่วยในชุมชนที่ Bedtime Storey ให้การสนับสนุนในฐานะคนเล็ก ๆ ที่ทำกิจการเล็ก ๆ เหมือนกัน 

บ้านสำหรับทุกคน

เราทำการบ้านก่อนมาสัมภาษณ์ว่า Bedtime Storeys ต้องการมอบ ‘ประสบการณ์พิเศษ’ ให้กับผู้เข้าพัก เราจึงเก็บสิ่งนี้มาถามเจินก่อนหยุดบันทึกเสียงว่า ประสบการณ์พิเศษที่ว่าคืออะไร

เจินตอบทันที เธอเชื่อว่านี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากตัวแขกเมื่อมาใช้เวลาร่วมกันในพื้นที่นี้ นั่นคือประสบการณ์ของการอยู่ร่วมกันจริง ๆ ไม่มีใครต้องแยกไปอยู่ห้องอื่น เพราะพื้นที่ที่นี่เชื่อมต่อกันหมด

บ้านหลังนี้มีพื้นที่สำหรับทุกคน ผู้ใหญ่นั่งร่วมกลุ่มอยู่ที่โต๊ะ เด็ก ๆ เล่นกันที่โซฟา

ถ้าอยากพักผ่อนก็แยกไปใช้เวลาส่วนตัวที่ห้องได้ (ถ้าเป็นชั้น 3 ก็ขึ้นบ้านต้นไม้โลด)

สุดท้าย การทำงานกับคนในครอบครัว การหาผู้รับเหมาที่ทำให้ภาพในหัวออกมาเป็นจริง การสู้รบปรบมือกับความไม่แน่นอนตลอดระยะเวลา 6 ปี และหลังจากเพิ่งเปิดทำการได้ 2 เดือน เราอยากรู้ว่า เจิน ในฐานะตัวแทนของคนทั้ง 8 ได้เรียนรู้อะไรจากการทำโรงแรมที่ยินดีต้อนรับทุกครอบครัว

“ได้เรียนรู้ว่า ชีวิตมันไม่ง่ายค่ะ” เจินพูดเบา ๆ และจบบทสนทนาลงด้วยเสียงหัวเราะ

3 Things

you should do

at Bedtime Storeys

01

ลองเดินทางและท่องเที่ยวสำรวจเมืองด้วยเรือโดยสาร

02

ลองเดินเที่ยวย่านเจริญรัถเวลากลางคืน

03

ลองดูพลุในช่วงเทศกาลจากห้องพักของ Bedtime Storeys

Bedtime Storeys

Writer

Avatar

พัทธนันท์ สวนมะลิ

เด็กกรุงเทพฯ ผู้เป็น Sneakerhead และ Cinephile ที่หอบเสื่อผืนหมอนใบมาเรียนเชียงใหม่ แล้วสุดท้ายก็กลับไปตายรังที่กรุงเทพฯ

Photographer

โตมร เช้าสาคร

โตมร เช้าสาคร

ชอบถ่ายวิวมากกว่าคน ชอบกินเผ็ดและกาแฟมาก เป็นคนอีโค่เฟรนลี่ รักสีเขียว ชวนไปไหนก็ได้ไม่ติด ถ้ามีตัง